ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ งดตอบคำถามสื่อ มั่นใจคุมโควิดฯ รอบใหม่ได้ – มติ ครม. ลดเงินสมทบ สปส. เหลือ 3% ต่ออีก 3 เดือน

นายกฯ งดตอบคำถามสื่อ มั่นใจคุมโควิดฯ รอบใหม่ได้ – มติ ครม. ลดเงินสมทบ สปส. เหลือ 3% ต่ออีก 3 เดือน

22 ธันวาคม 2020


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

นายก ฯงดตอบคำถามสื่อ มั่นใจคุมโควิดฯรอบใหม่ได้ – มติ ครม.ลดเงินสมทบ สปส.เหลือ 3% ต่ออีก 3 เดือน-จ่ายเยียวยาผู้ประกันตนว่างงานจากโควิดฯ 50% ของค่าจ้าง-เด้งอธิบดีกรมบัญชีกลางเข้ากรุ โยก “ประภาศ คงเอียด” นั่งแทน

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน โดยวันนี้นายกรัฐมนตรีงดตอบคำถามสื่อมวลชน โดยกล่าวสั้นๆ ระหว่างเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าภายหลังการประชุม ครม. ว่า รอฟังเย็นนี้จะมีแถลงการณ์เรื่องสถานการณ์โควิด-19 ขอให้เชื่อมั่นว่าเรายังควบคุมได้อยู่ และเมื่อวานตนได้บอกไปแล้วว่าขอดู 7-10 วัน ในเรื่องระยะความปลอดภัย

มติ ครม. มีดังนี้

คงเป้าเงินเฟ้อปี 64 ร้อยละ 1-3 ใกล้เคียงปี 63

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าครม.มีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2564 โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน โดยกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2564 ในช่วงร้อยละ 1–3 ให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อปี 2563

นายอนุชากล่าวต่อว่า การกำหนดอัตราเงินเฟ้อในลักษณะนี้จะช่วยให้สามารถดูแลเป้าหมายด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงิน ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนและความไม่แน่นอนสูงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะต่อไปอาจมีความผันผวนจากความไม่แน่นอนของราคาพลังงานและอาหารสด ความเสี่ยงจากต่างประเทศ การกีดกันทางการค้า เป็นต้น

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ณ เดือน กันยายน 2563 เท่ากับ -0.9 และคาดการณ์ว่าในปี 64 อัตราเงินเฟ้อจะเท่ากับ 1.0

จัดทำงบฯ บูรณาการ 11 แผนงาน ภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ชาติ

นายอนุชากล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำงบประมาณ 2565 จำนวน 11 แผนบูรณาการ ภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติบทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564–2565 แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) และนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

โดยยุทธศาสตร์ทั้งหมด ได้แก่ ด้านความมั่นคง ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ และ 11 แผนงาน ดังนี้

  1. แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
  2. แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด
  3. แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต
  4. แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
  5. แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์
  6. แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
  7. แผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
  8. แผนงานบูรณาการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก
  9. แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
  10. แผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ
  11. แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล

เห็นชอบกรอบบริหารนโยบายการคลัง 4 ปี

นายอนุชากล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบ แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2565–2568) รายละเอียด ดังนี้

  1. สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2565 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.0–4.0 และปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.7–3.7 โดยจะเร่งขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 2.9–3.9 ในปี 2567 และร้อยละ 3.2–4.2 ในปี 2568 ตามลำดับ
  2. สถานะและประมาณการการคลัง ประมาณการรายได้สุทธิ ปี 2565–2568 จะอยู่ที่ 2,400,000 ล้านบาท 2,490,000 ล้านบาท 2,619,500 ล้านบาทและ 2,750,500 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนประมาณการงบประมาณรายจ่าย ปี 2565–2568 อยู่ที่ 3,100,000 ล้านบาท 3,200,000 ล้านบาท 3,310,00 ล้านบาท และ 3,420,000 ล้านบาท ตามลำดับ
  3. เป้าหมายและนโยบายการคลัง เป้าหมายการคลังในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลังทั้งด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะ ขณะที่เป้าหมายระยะยาว ยังกำหนดให้มีการปรับลดขนาดการขาดดุลและมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในที่สุด

นายอนุชากล่าวต่อว่า ประมาณการรายได้สุทธิมีสมมติฐานด้านนโยบายภาษีที่สำคัญ ได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-service) รายได้จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งผลจากการปรับเปลี่ยนระบบสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมเป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (production sharing contract: PSC)

ทั้งนี้ ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นงบประมาณ 2563 จำนวน 7,848,156 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 49.3 ต่อ GDP และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2565–2568 เท่ากับร้อยละ 57.6, 58.6, 59.0 และ 58.7 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบแนวทาง 3Rs เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ประกอบด้วย (1) Reform ปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ (2) Reshape ปรับเพื่อควบคุมการจัดสรรงบประมาณและให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชะลอปรับลดยกเลิกโครงการที่ไม่มีความจำเป็น และ (3) Resilience การบริหารหนี้สาธารณะให้รองรับต่อความเสี่ยงต่างๆ

นายกฯ สั่งทุกกระทรวงจัดของขวัญปีใหม่เกือบ 100 ชิ้น

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้สั่งการให้ทุกกระทรวงจัดทำของขวัญปีใหม่สำปรับปี 2564 ให้ประชาชนชาวไทย ร่วม 100 ชิ้น โดยมีตัวอย่างเบื้องต้น ดังนี้

  1. กำหนดให้สถาบันการเงินของรัฐ 7 แห่งให้ของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน ตัวอย่างเช่น ธนาคารออมสินมอบเงิน 500 บาทให้ลูกค้ารายย่อยที่ใช้บริการสินเชื่อ ในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท และมีประวัติการส่งเงินชำระหนี้ดีไม่น้อยกว่า 3 ปี, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนคืนดอกเบี้ยเงินกู้เข้าบัญชีเงินฝากให้แก่ลูกค้าหนี้เงินกู้จากชั้นปกติหรือ NPL
  2. เพิ่มรางวัลพิเศษสลากออมสินดิจิทัล จำนวน 20 รางวัล รางวัลละ 1 ล้านบาท สำหรับการออกรางวัลในเดือนมกราคม–กุมภาพันธ์ 2564 โดยจะเริ่มจำหน่ายสลากตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2563
  3. โครงการส่งการ์ดอวยพรช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 64 ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยโครงการดังกล่าวจะงดเว้นค่าตราไปรษณีย์อากรผ่านบริการไปรษณีย์
  4. โครงการบำรุงรักษารถยนต์เพื่อลดฝุ่น PM2.5 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้บริการตรวจสภาพรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป และมอบส่วนลดน้ำมันเครื่อง
  5. มาตรการช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระทางการเงิน ของกระทรวงการคลัง โดยเป็นขวัญจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เช่น มาตรการลดเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 100 สำหรับผู้กู้ยืมเงินทุกกลุ่มที่ชำระหนี้ปิดบัญชี และเพิ่มอัตราการลดเงินต้นจากเดิมร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 5 กรณีชำระหนี้ปิดบัญชีในคราวเดียวและเป็นผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้
  6. กระทรวงมหาดไทยมอบของขวัญ เช่น สถานธนานุบาล ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ลดดอกเบี้ย สำหรับเงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท ใน 2 เดือนแรกไม่คิดดอกเบี้ย หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อเดือน ส่วนเงินต้นเกินว่า 5,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน

เยียวยาผู้ประกันตนว่างงานจากโควิดฯ 50% ของค่าจ้าง

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. …. ทั้งนี้เนื่องจากสถานการ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ครม. จึงเห็นชอบในการจ่ายเงินเยียวยาในกรณีมีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง เนื่องจากต้องกักตัว หรือ นายจ้างหยุดกิจการตามคำสั่งของราชการ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. กำหนดให้กฎกระทรวงฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป
  2. กำหนดนิยามคำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายถึง ภัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชน และถึงขณะที่ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ
  3. กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยและหน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตราย อันส่งผลให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ให้ลูกจ้างดังกล่าวมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน หรือ 15,000 บาทของค่าจ้างขั้นต่ำ ตามมติคณะกรรมการประกันสังคม โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่สั่งปิดพื้นที่ ทั้งนี้ ภายในระยะเวลา 1 ปีปฏิทิน จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนดังกล่าวทุกครั้ง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 90 วัน

“จากการประเมินสถานการณ์ของกระทรวงแรงงาน ร่างกฎกระทรวงนี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่อยู่ในสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่รัฐบาลสั่งปิดกิจการ โดยในเบื้องต้นคาดว่ามีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ อาทิ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ราชบุรี และสมุทรสงคราม รวมกันแล้วประมาณ 5.7 ล้านคน คิดเป็นเงินกว่า 5,225 ล้านบาท”

ด้านายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวเพิ่มเติมว่า การจ่ายเงินเยียวยาครั้งนี้จะสอดคล้องกับที่เคยจ่ายในครั้งก่อนที่เคยจ่ายให้ 62% ที่มีการจ่ายให้ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2563 – 31 สิงหาคม 2563 แต่เพื่อให้สอดคล้องและเป็นมาตรฐานเดียวกับกับมาตรการที่สำนักงานประกันสังคมมีอยู่คือ กฎกระทรวงที่จะดูแลเยียวยาผู้ประกันตนที่หยุดงานจากเหตุสุดวิสัยเช่น อุทกภัย หรือวาตาภัยต่างๆ ที่มีอัตราการจ่ายเงินเยียวยาอยูที่ 50%

“ครั้งก่อนนั้นเคยให้ 62% นั้นเนื่องจากรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วทั้งประเทศที่หยุดอยู่บ้าน 3 เดือน ในจำนวนเงิน 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งหากจ่าย 50% ของค่าจ้างขั้นต่ำ เช่น รายได้ 313 บาทต่อวัน คูณ 26 วัน จะมีเงินได้ประมาณ 8,000 บาทต่อเดือน ทำให้ประชาชนจะได้รับเงินเพียง 4,000 กว่าบาท หากคิดเพียง 50% ทางกระทรวงแรงงานจึงปรับเกณฑ์ขึ้นมาเป็น 62% ซึ่งหากมีเหตุการณ์เหมือนครั้งที่ผ่านมาที่รัฐบาลได้ดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ขาดรายได้เราก็ต้องปรับเกณฑ์ตามให้ได้ไม่น้อยกว่ากัน” นายสุชาติ กล่าว

เมื่อถามว่าวงเงินที่กระทรวงแรงงานได้ตั้งไว้เพื่อรับมือสถานการณ์ในครั้งนี้ตั้งไว้ที่เท่าไร นายสุชาติ ระบุว่า ได้ตั้งงบประมาณไว้ทั้งหมด 10,000 ล้าน ซึ่งเป็นเงินกองทุนประกันสังคมในส่วนของชดเชยการว่างงาน

นอกจากนี้ นายสุชาติเปิดเผยว่า ตอนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาถึงมาตรการที่จะให้คนงานผู้ประกันตนทั้งคนไทยและคนต่างด้าวที่อยู่ในระบบประกันสังคมให้สามารถตรวจคัดกรองโควิดฯ ฟรี โดยใช้โรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมทั้งหมด เพื่อแบ่งเบาภาระของกระทรวงสาธารณสุข

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ www.thaigov.go.th

ลดเงินสมทบ สปส.เหลือ 3% ต่ออีก 3 เดือน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  1. ลดอัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 จากเดิมร้อยละ 5 ลดเหลือร้อยละ 3 สำหรับฝ่ายรัฐบาลส่งเงินสมทบอัตราเดิม คือร้อยละ 2.75 ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 ให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม จากเดิมเดือนละ 432 บาท เหลือเดือนละ 278 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564
  2. ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 ให้รัฐบาล นายจ้างและผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ฝ่ายละร้อยละ 1.05
    • การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละร้อยละ 1.85 และรัฐบาลปรับเป็นร้อยละ 1.45
    • การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละร้อยละ 0.1 และรัฐบาลปรับเป็นร้อยละ 0.25
  3. ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 เป็นต้นไป ให้รัฐบาล นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ฝ่ายละร้อยละ 1.5
    • การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนฝ่ายละร้อยละ 3 และรัฐบาล ร้อยละ 1
    • การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละร้อยละ 0.5 และรัฐบาลร้อยละ 0.25

“การลดอัตราเงินสมทบจะส่งผลดีต่อผู้ประกันตนและนายจ้าง โดยช่วยให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินไปใช้จ่ายเสริมสถาพคล่อง ประมาณคนละ 460–900 บาท เป็นเวลา 3 เดือน คิดเป็นมูลค่ารวม 8,248 ล้านบาท สำหรับนายจ้าง จะทำให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบลดลง รวม 7,412 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและช่วยรักษาการจ้างงานต่อไปได้”

เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรผู้ประกันตนเป็นเดือนละ 800 บาท เริ่ม 1 ม.ค. 2564

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร พ.ศ. 2561 สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ทำให้รายได้ลดลงหรือไม่มีรายได้ เนื่องจากต้องหยุดงานหรือต้องออกจากงาน ในขณะที่รายจ่ายเกี่ยวกับเด็กแรกเกิดเป็นรายจ่ายที่จำเป็น ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระของผู้ประกันตนให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  1. เพิ่มอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรเหมาจ่าย จากเดิม 600 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน เพิ่มเป็น 800 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป
  2. ผู้ที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร ตามกฎกระทรวงฯ ฉบับเดิม (พ.ศ. 2561) จะยังคงได้รับสิทธิตามอัตราที่กำหนดใหม่ในกฎกระทรวงฉบับนี้ นับตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ

แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ บังคับแจ้งเหตุ-ฝ่าฝืนมีโทษ

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เกี่ยวกับการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ เพื่อให้มาตรการทางกฎหมายมีความเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และโรคติดต่ออื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รวมทั้งกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่ให้แยกกักหรือกักกันโรค หรือผู้ที่ไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคเมื่อพบว่า ตนเป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อ เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศหลีกเลี่ยงการกักตัวโดยหน่วยงานของรัฐ ซึ่งหลังจากครม.อนุมัติหลักการแล้วจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมมีดังนี้

  1. กำหนดให้อธิบดีกรมควบคุมโรคมีอำนาจประกาศท้องที่หรือเมืองท่านอกราชอาณาจักรที่พบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อหรือโรคระบาดเฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือฉุกเฉินอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดต่อไม่ให้แพร่เข้ามาในราชอาณาจักร
  2. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การได้มา เข้าถึง การเก็บรักษา การนำไปใช้ การกำกับดูแล หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ของผู้ที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ผู้ที่เป็นผู้สัมผัสโรคหรือผู้ที่เป็นพาหะ
  3. กำหนดให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีอำนาจกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่กักกัน หรือ แยกกักโรค และมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขซึ่งมีอำนาจดำเนินการในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข หรือในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเกิดขึ้น และแพร่อย่างรวดเร็วหรือกว้างขวาง
  4. กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีอำนาจสั่งการหรือมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในพื้นที่ของตน รวมทั้งมีอำนาจสั่งการผู้ใดหรือกลุ่มบุคคลใดให้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค
  5. กำหนดเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะทำงานประจำช่องทางเข้าออกให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
  6. ในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเกิดขึ้น กำหนดให้ผู้ที่พบว่าตนเป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคดังกล่าวมีหน้าที่แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
  7. กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งห้ามผู้ใดทำกิจกรรมหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดการแพร่ของโรค รวมทั้งมีอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้ควบคุมสถานประกอบการหรือสถานที่ใดๆ ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันการแพร่ของโรค
  8. กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด หรือกรณีที่โรคได้แพร่อย่างรวดเร็วหรือกว้างขวาง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งให้ผู้ใดหรือกลุ่มบุคคลใดดำเนินการ หรือละเว้นการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม และ
  9. กำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ดำเนินการตามคำสั่ง หรือข้อกำหนดตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้

ขยายเวลาลดหย่อนภาษี หนุนอมรม-สัมมนา ถึง 30 ก.ย. 2564

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. เห็นชอบการขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ต่อไปให้ครอบคลุมรายจ่ายที่บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 – 30 กันยายน 2564 โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือ รายจ่ายที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนําเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนําเที่ยว และมัคคุเทศก์ เพื่อการอบรมสัมมนาภายในประเทศ เป็นจํานวน 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง

ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้สูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 500 ล้านบาท แต่จะทําให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม เพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง และยังจะช่วยส่งเสริมการดําเนินงานของโครงการกระตุ้นการเดินทาง “Workation Thailand ทํางานเที่ยวได้ รวมใจช่วยชาติ” และสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยด้วย

ขึ้น “มอเตอร์เวย์” ฟรี 30 ธ.ค.-4 ม.ค.ปีหน้า

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครกาญจนาพิเศษ ตอนบางปะอินถึงบางพลี เป็นการเพิ่มเติมการจ่ายเงินแบบระบบอัตโนมัติไม่มีไม้กั้น

ทั้งนี้ จะใช้วิธีการชำระค่าธรรมเนียมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถระบายรถยนต์ได้มากกว่า 2,000 คันต่อช่องต่อชั่วโมง โดยใช้เทคโนโลยีเอไอ (ปัญญาประดิษฐ์) ระบบการจ่ายเงินแบบเอ็มโฟร์ ที่สามารถอ่านทะเบียนรถยนต์อัตโนมัติ ร่วมกับการตรวจจับยานพาหนะอัตโนมัติเพื่อเชื่อมต่อกับเครื่องตรวจสอบยานพาหนะเพื่อตรวจสอบตัวตนผู้ใช้บริการและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมผู้ใช้บริการภายหลังผ่านช่องทางต่างๆ เช่น บัตรเครดิต บัตรเครดิต คิวอาร์โค้ด ซึ่งจะเปิดให้บริการราวต้นปี 2564

นอกจากนี้ในช่วงปีใหม่ ครม. ได้ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 4 มกราคม 2564 ซึ่งถือเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน

ผ่านร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยฯ เปิดทางผู้รับทุนเป็นเจ้าของผลงาน

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งเป็นการกำหนดกลไกให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากเงินสนับสนุนของภาครัฐ เพื่อให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งการต่อยอดการวิจัยและต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมและสร้างแรงจูงใจให้มีการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพิ่มขึ้น

โดยร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีสาระสำคัญดังนี้ คือ กำหนดให้ใช้บังคับเฉพาะกับการให้ทุนของหน่วยงานของรัฐที่มีวัตถุประสงค์หรือหน้าที่และอำนาจในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ยกเว้นกรณีการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานตามหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานรัฐ การวิจัยและนวัตกรรมซึ่งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐให้ทุนโดยใช้เงินรายได้ของตน การวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธยุทโธปกรณ์ การวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติหรือประชาชนชาวไทยโดยรวม หรือจะต้องใช้เป็นพื้นฐานสำคัญของการวิจัยอื่นซึ่งไม่สมควรให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นของบุคคลใดหรือองค์กรใดเป็นการเฉพาะ

ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้จะกำหนดให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนได้ รวมทั้งกำหนดหน้าที่ในการบริหารจัดการและการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ การจัดสรรรายได้จากการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และกลไกของหน่วยงานภาครัฐในการติดตามและประเมินผลการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการโอนผลงานวิจัยและนวัตกรรมของผู้รับทุนหรือนักวิจัยที่เป็นเจ้าของผลงานให้แก่บุคคลอื่น และกำหนดหน้าที่ของผู้รับโอนผลงานวิจัยด้วย และกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะใช้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมสามารถขออนุญาตใช้ประโยชน์ได้โดยเสนอเงื่อนไขและค่าตอบแทนที่เพียงพอ รวมทั้งกำหนดให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาคดีตามพระราชบัญญัติฉบับนี้

ประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจปี 62 – กำไรลดต่อเนื่อง

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. รับทราบผลการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจประจำปี 2562 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในระบบประเมินผลจำนวน 53 แห่ง พบว่า ณ สิ้นปีบัญชี 2562 รัฐวิสาหกิจมีสินทรัพย์รวม 15.90 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี2561 ร้อยละ 4.37 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 4.79 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.55 ค่าใช้จ่ายลดลงร้อยละ 1.37 ส่งผลให้กำไรสุทธิโดยรวมลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามความสามารถในการทำกำไรได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง

โดยในปี 2562 อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อรายได้รวมคิดเป็นร้อยละ 6.46 ลดลงจากปี 2561 ที่อยู่ที่ร้อยละ 6.62 และอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 3.94 ลดลงจากปี 2561 ที่อยู่ที่ร้อยละ 4.37 สำหรับสาขาที่มีกำไรสุทธิมากที่สุดคือ สาขาพลังงาน สาขาสถาบันการเงิน และสาขาขนส่ง ตามลำดับ โดยรัฐวิสาหกิจที่มีกำไรสูงสุด 3 อันดับแรกคือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่มีผลขาดทุนสุทธิปี 2562 มีจำนวน 15 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 11 แห่ง ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ขนส่ง จำกัด, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ, การรถไฟแห่งประเทศไทย, องค์การจัดการน้ำเสีย, องค์การตลาด, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.), องค์การสะพานปลา, องค์การคลังสินค้า (อคส.), การยางแห่งประเทศไทย, องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่สำคัญเช่น รัฐวิสาหกิจในสาขาเกษตรทั้งหมดมีผลการประเมินในระดับต่ำ โดย อ.ต.ก. และ อคส. มีปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง ซึ่ง อ.ต.ก. ประสบปัญหาสภาพคล่องและ อคส. มีปัญหาการจัดทำรายการทางการเงิน รวมทั้งภารกิจด้านการบริหารตลาดสินค้าของ อ.ต.ก. และการบริหารคลังสินค้าของ อคส. มีเอกชนดำเนินการได้ดี จึงต้องเร่งทบทวนบทบาทหรือพิจารณาการคงอยู่ของรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่ง ก่อนที่จะเกิดความเสียหายด้านงบประมาณแผ่นดิน

ขยายเวลาให้คนต่างด้าวอยู่ไทยได้ 45 วัน

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเพิ่มระยะเวลาการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจําพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เนื่องจากคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ทั้งประเภทที่ต้องได้รับการตรวจลงตราจากสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลและประเภทที่ได้รับยกเว้นการตรวจลงตรา

ซึ่งมีระยะเวลาการพํานักในราชอาณาจักรไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่เดินทางเข้ามา โดยคนต่างด้าวต้องเข้ารับการกักกันเป็นเวลา 14 วัน ทําให้มีระยะเวลาไม่เพียงพอ สําหรับการดําเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับอนุญาต จึงเห็นควรขยายระยะเวลาการพํานักในราชอาณาจักรของคนต่างด้าวประเภทดังกล่าวอีก 15 วัน รวมเป็น 45 วัน ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564

เด้งอธิบดีกรมบัญชีกลางเข้ากรุ โยก “ประภาศ” นั่งแทน

นางไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง ดังนี้

  • เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอการโอนข้าราชการพลเรือนสามัญในสังกัดกระทรวงการคลัง ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย
    1. นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลัง
    2. นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลาง
    3. นางปานทิพย์ ศรีพิมล รองปลัดกระทรวงการคลังไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สคร.

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

  • เห็นชอบตามที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
    1. นายฐนัตถ์ สุวรรณานนท์ ผู้อำนวยการสำนัก 1 สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบงานการข่าว (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2563
    2. นายกฤษฎา อักษรวงศ์ ผู้อำนวยการสำนัก 6 สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการดำเนินงานข่าวกรองในต่างประเทศ (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2563
    3. นายรุ่งศักดิ์ ปิยะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนัก 11 สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2563

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

  • เห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้ง นายโสภณ เมฆธน เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้ง

นายกฯ สั่งลงดาบแรงงานต่างชาติทำผิด กม.

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวถึงกรณีการล็อกดาวน์ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ว่า “ณ วันนี้ ท่านนายกก็ขอให้ดูสถานการณ์อีกนิด เพราะการหยุดกิจกรรมช่วงปีใหม่มีผลกระทบหลายด้าน เพราะฉะนั้นการตัดสินใจก็จะต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ”

นอกจากนี้ ผศ. ดร.รัชดา ยังกล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากกรณีแรงงานต่างชาติว่า นายกรัฐมนตรีและที่ประชุมครม.ได้รับทราบการดำเนินงานจากผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และจะให้ความร่วมมือในการจัดการแรงงานที่กระทำผิดกฎหมาย

“นายกรัฐมนตรีสั่งให้จัดการแรงงานต่างชาติที่กระทำผิดกฎหมาย ขอให้จัดการให้สิ้นซากด้วยกฎหมาย ขาดเหลือเรื่องไหนก็ให้รายงานขึ้นมาก็พร้อมให้การดูแล เพราะทุกวันนี้ก็มีการประสานงานทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น กลาโหม ตำรวจ สาธารณสุข ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ด้วยความเต็มใจและตั้งใจอยากให้สถานการณ์ดีขึ้น”

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 22 ธันวาคม 2563เพิ่มเติม