ThaiPublica > เกาะกระแส > ก.ล.ต. กับการบังคับใช้กฎหมายหลักทรัพย์ให้เท่าทันพลวัตโลก

ก.ล.ต. กับการบังคับใช้กฎหมายหลักทรัพย์ให้เท่าทันพลวัตโลก

15 กันยายน 2021



วันที่ 15 กันยายน 2564 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เผยแพร่บทความ เรื่อง มองไปข้างหน้ากับการบังคับใช้กฎหมายหลักทรัพย์

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นหน่วยงานของรัฐจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มีหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนกำกับดูแลตลาดทุน นับแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 2535 บทบาทหน้าที่ของ ก.ล.ต. เพิ่มขึ้นตามลำดับผ่านการเป็นผู้กำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายจนรวมเป็น 6 ฉบับในปัจจุบัน ได้แก่
(1) พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
(2) พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นนายทะเบียนตั้งแต่ปี 2543
(3) พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546
(4) พระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550
(5) พระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 และ (6) พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เป็นลำดับ

จากการผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนจะมีอายุครบ 3 ทศวรรษในปีหน้า (2565) ก.ล.ต. ตระหนักและเข้าใจความคาดหวังที่สังคมมีต่อบทบาทขององค์กรในการบังคับใช้กฎหมายที่อยากเห็นความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายที่เฉียบขาด รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสามารถนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษด้วยมาตรการที่สามารถป้องปรามผู้กระทำความผิดหรือบุคคลอื่น ๆ ในการที่จะกระทำความผิดเช่นนั้น (deterrence)

ในขณะที่เศรษฐกิจและสังคมโลกปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นำไปสู่ความไม่แน่นอนและความผันผวนสูง ในส่วนของการทำธุรกรรมทางการเงินและในตลาดทุนมีความซับซ้อนมากขึ้นเป็นลำดับ และมุ่งไปสู่ลักษณะที่ไร้พรมแดน นับเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วน

ในภาคตลาดทุนเองก็พบลักษณะการกระทำผิดที่มีการวางแผน การอำพรางพยานหลักฐาน และปิดบังซ่อนเร้น เพื่อให้ยากต่อการติดตามตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมเงินสด การใช้อินเทอร์เน็ตในการซื้อขาย ใช้บัญชีในการซื้อขายหลักทรัพย์จำนวนมากในหลายบริษัทหลักทรัพย์ และใช้บัญชีธนาคารจำนวนมาก รวมทั้งการส่งคำสั่งซื้อขายมีความซับซ้อน

ซึ่ง ก.ล.ต. ได้คาดการณ์ทิศทางความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ ในเชิงรุก นำมาวางแผนและพัฒนาการทำงานมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเท่าทันความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายนั้นๆ ด้วยการปรับปรุงกระบวนการทำงาน และนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ “การป้องกัน” และ “การตรวจจับ” โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานคดีแพ่งและสำนักงานการบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์

โดยได้มีการลงนาม MoU ระหว่างกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย ในด้านการบังคับใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดในตลาดทุน การตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการป้องกันการใช้ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เป็นช่องทางในการฟอกเงินหรือสนับสนุนการก่อการร้าย

ในด้านการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียน ก.ล.ต. ได้หารือและประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในการใช้มาตรการขึ้นเครื่องหมายเพื่อเตือน การปรับมาตรการกำกับดูแลต่างๆ เพื่อป้องปรามการสร้างราคา รวมทั้งการร่วมหารือตั้งแต่เริ่มเกิดเคส เพื่อให้สามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น เช่น การทบทวนความเหมาะสมของสัดส่วนจำนวนหุ้นที่หมุนเวียนอยู่ในตลาด (Free Float) การปรับปรุงปัจจัยที่จะทำให้ใช้มาตรการต่าง ๆ ได้รวดเร็วและเหมาะสมมากขึ้น การเพิ่มบทบาทให้บริษัทหลักทรัพย์กำกับดูแลเข้มงวดมากขึ้น ในการทำความรู้จักลูกค้าและกำกับดูแลลูกค้าเพื่อป้องกันการกระทำที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น และในส่วนของ ก.ล.ต. ก็ได้ดำเนินการปรับปรุงกระบวนการทำงานและพัฒนาเครื่องมือที่ทันสมัย(e-enforcement) เพื่อใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลและตรวจจับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม รวมทั้ง หาความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มคนได้เร็วขึ้น

ในการทำงานของ ก.ล.ต. ที่เน้นในเชิงรุก และมุ่งผลสำเร็จของการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ตลาดทุนมีความน่าเชื่อถือนั้น ก.ล.ต. ยึดมั่นในการดำเนินการทุกขั้นตอนโดยชอบด้วยกฎหมาย (Due Process of Law) เปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงแสดงพยานหลักฐานตามสิทธิอันพึงมี มีการดำเนินการรวบรวมข้อมูลโดยรอบด้านด้วยความรอบคอบและรัดกุม มีกระบวนการพิจารณาที่ผ่านการกลั่นกรองและรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ ตั้งแต่กลางปี 2562 ก.ล.ต. สามารถดำเนินการแล้วเสร็จไปหลายกรณี ทั้งการดำเนินคดีอาญาและการดำเนินคดีทางแพ่ง ในฐานความผิดต่าง ๆ เช่น สร้างราคาหลักทรัพย์ ใช้ข้อมูลภายใน แพร่ข่าวเท็จ และทุจริต

การปรับปรุงการทำงานทั้งในภาพของการบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ และในองค์กร ก.ล.ต. ที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น ยังไม่อาจจะสนับสนุนการทำงานของ ก.ล.ต. ให้เท่าทันพลวัตของโลกไปได้ทั้งหมด เนื่องจากการทำงานของหน่วยงานกำกับและพัฒนาตลาดทุนต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานในด้านกฎหมายเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานขององค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ก.ล.ต. จึงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการพัฒนากฎหมายให้ทันสมัยและสอดรับกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา แม้จะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาพอสมควรที่จะให้ผลสำเร็จ แต่ก็ต้องดำเนินการ

โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เพื่อส่งเสริมตลาดทุนดิจิทัลและยกระดับประสิทธิภาพการกำกับดูแลให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี รวมทั้งสภาพแวดล้อม (ecosystem) ของตลาดทุนในยุคดิจิทัล และให้ความคุ้มครองผู้ลงทุน พร้อมกับส่งเสริมการระดมทุนและการประกอบธุรกิจในตลาดทุน และการปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงกระบวนการบังคับใช้กฎหมายในชั้นก่อนฟ้องคดี

โดยให้เจ้าหน้าที่ของ ก.ล.ต. เป็นพนักงานสอบสวนและมีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในความผิดฐานใช้ข้อมูลภายในซื้อขายหลักทรัพย์ความผิดฐานสร้างราคาหรือปริมาณหลักทรัพย์ และความผิดฐานบอกกล่าวเผยแพร่หรือรับรองข้อความเท็จ เนื่องจาก ก.ล.ต. มีความเชี่ยวชาญและมีความพร้อมในการตรวจสอบการกระทำความผิดเกี่ยวกับหลักทรัพย์ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในชั้นก่อนฟ้องคดีต่อศาล และยังมีการเสนอแก้ไขกฎหมายโดยกำหนดให้มีการคุ้มครองพยานในชั้นการตรวจสอบของ ก.ล.ต. เพื่อสนับสนุนให้การบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยปิดการรับฟังความเห็นร่างกฎหมายไปเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 และขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอร่างกฎหมายไปยังกระทรวงการคลัง

เพื่อให้บรรลุพันธกิจขององค์กรที่ว่า “กำกับและพัฒนาตลาดทุนให้น่าเชื่อถือ มีประสิทธิภาพ และสังคมทุกภาคส่วนเข้าถึงได้” ผู้บริหารและพนักงาน ก.ล.ต. มุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มความสามารถ เรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต พร้อมเปิดรับความคิดเห็นและมุมมองที่หลากหลาย ตลอดจนคาดการณ์ทิศทางของความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ ไปข้างหน้า เพื่อนำมาวางแผนและพัฒนาการทำงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมการแสวงหาและประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยให้ความสำคัญกับการป้องกัน การป้องปราม และการตรวจจับ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายควบคู่ไปกับการให้ความรู้แก่ผู้ลงทุน ทั้งหมดนี้ทำด้วยความยึดมั่นในการทำงานบนกระบวนการ ที่ชอบด้วยกฎหมาย และหลักการทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส และตรวจสอบได้