ThaiPublica > เกาะกระแส > ก.ล.ต.-ตลท.จับมือ 9 องค์กรแถลง เรียกความเชื่อมั่นตลาดทุน กรณี Stark

ก.ล.ต.-ตลท.จับมือ 9 องค์กรแถลง เรียกความเชื่อมั่นตลาดทุน กรณี Stark

26 มิถุนายน 2023


วันที่ 26 มิถุนายน 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ 9 องค์กรในตลาดทุน ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการดำเนินการด้านต่าง ๆ ในกรณีของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) พร้อมทั้งเปิดเผยแนวทางการดำเนินการเพื่อยกระดับธรรมาภิบาลและการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน

โดยผู้เข้าร่วมการแถลงข่าวประกอบด้วยนายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย นายสุพจน์ สิงห์เสน่ห์ เลขาธิการ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายไพศาล ธรสารสมบัติ กรรมการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ ประธานกรรมการ ชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย นายศักดิ์ดา พงศ์เจริญยง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคม สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และนางสิริพร จังตระกุล เลขาธิการ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย

นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ ภาพรวมของเหตุการณ์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกรณีของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ Stark ต้องยอมรับว่ามีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อการลงทุนหลายเรื่องในตลาดทุน “พวกเราในฐานะที่เป็นองค์กรในตลาดทุนต่างตระหนักดีในเรื่องนี้ ดังนั้นด้วยความร่วมมือต่างๆ จึงเกิดเป็นการแถลงข่าวในวันนี้”

นายธวัชชัยกล่าวว่า กรณีบริษัท Stark เกิดขึ้นจากการไม่ส่งงบการเงินจนกระทั่งตลาดหลักทรัพย์ฯขึ้นเครื่องหมาย SP ห้ามทำการซื้อ-ขาย สิ่งต่างๆที่หน่วยงานได้ช่วยกันดำเนินการไม่ว่าก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ปรากฎในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลมาเป็นลำดับ จนขณะนี้ได้เห็นว่า มีความผิดปกติในข้อมูลที่บริษัทได้เปิดเผยต่อประชาชนอยู่เป็นระยะหนึ่ง ซึ่งสรุปโดยภาพกว้างคือ ในการรายงานรายได้รวม ในงบการเงินรวมมีการปรับจาก 27,000 กว่าล้านบาทเป็น 9,000 กว่าล้านบาท กำไรสุทธิเดิมจาก 2,700 กว่าล้านบาทเป็นขาดทุนสุทธิเกือบ 6,000 ล้านบาท รวมถึงมีการเปิดเผย special audit ก็พบความผิดปกติต่างๆ

“ในเรื่องนี้ ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆประกอบด้วย ก.ล.ต., ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย, สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย, สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน, ชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย, บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด, สมาคมบริษัทจัดการลงทุน, สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ในวันนี้พวกเราจะมาชี้แจง เล่าให้ฟังในส่วนที่เกิดขึ้นตลอดจนเรื่องของความร่วมมือประสานงานกันต่อไปว่า เราจะร่วมมือยกระดับแนวทางต่อกรณีที่เกิดขึ้น” นายธวัชชัยกล่าว

จากนั้นได้เข้าสู่การแถลงข่าว ที่มุ่งให้ข้อมูลถึงบทบาทของแต่ละหน่วยงานที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และแนวทางการดำเนินการเพื่อยกระดับธรรมาภิบาลและการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน โดยการแถลงข่าวแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกเป็นเน้นถึงบรรษัทภิบาลกับการส่งเสริมความเชื่อมั่นในตลาดทุน จากนายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และนายสุพจน์ สิงห์เสน่ห์ เลขาธิการ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ช่วงที่ 2 เกี่ยวกับการดำเนินการของผู้ประกอบการและสถาบันตัวกลางในธุรกิจตลาดทุน จากนายไพศาล ธรสารสมบัติ กรรมการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ ประธานกรรมการ ชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และนายศักดิ์ดา พงศ์เจริญยง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ส่วนช่วงที่ 3 เกี่ยวกับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับผู้ลงทุนจากนางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคม สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และนางสิริพร จังตระกุล เลขาธิการ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย

ก.ล.ต.ดำเนินการ 3 ส่วน

นายธวัชชัยกล่าวว่า บทบาทของก.ล.ต.ที่ได้ดำเนินการไปแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก
ส่วนที่หนึ่ง การกำกับดูแล ก.ล.ต.เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจจะเห็นบทบาทของก.ล.ต. ค่อนข้างชัดกว่าเรื่อง ก.ล.ต.เพราะเป็นเรื่องที่ปรากฎ ก.ล.ต.ได้สั่งให้บริษัททำการเปิดเผยข้อมูลและชี้แจงเรื่องผ่านตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งมีการสั่งให้ทำ special audit หรือในขณะที่บริษัทจะมีการชี้แจงต่อประชาชน ในการทำ pubic presentation ที่ผ่านมาได้สั่งบริษัทให้ความสำคัญชี้แจงข้อมูล การเผยแพร่ข้อมูล ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯเพื่อให้ทุกคนได้ข้อมูลตรงกัน รวมทั้งมีการสั่งspecial audit งบการเงินตามที่ปรากฎ

“ข้อมูลที่ปรากฎ เนื่องจากมีความผิดปกติในข้อมูลที่บริษัทได้เปิดเผยไว้ก่อนหน้า สำนักงานก.ล.ต.ได้มีการตรวจสอบในเรื่องการกระทำความผิดด้วย ซึ่งได้ทำมาตลอด”

ส่วนที่สอง การดูแลผู้ลงทุน การที่บริษัทไม่ส่งงบการเงินเป็นเหตุให้เกิดผิดนัดชำระหุ้นกู้ บริษัทมีการออกหุ้นกู้หลายรุ่น ข้อมูลที่เปิดเผยไว้ก่อนหน้าก็มีปัญหาดังนั้นก.ล.ต.ได้มีการประสานในการช่วยเหลือแนะนำ ได้ประสานกับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ในการช่วยดูแลด้านต่างๆ มีศูนย์ในการให้ข้อมูลผู้ลงทุน ให้คำแนะนำว่า จะดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ในเรื่องนี้ได้มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการขายหุ้นกู้ ซึ่งมีผู้ลงทุนหลายรายที่ไม่ควรจะมาซื้อหุ้นกู้ ก.ล.ต.ก็เข้าไปตรวจสอบดูแลส่วนนี้ด้วย

การดูแลผู้ถือหุ้นไม่ได้มีเฉพาะหุ้นกู้ แต่มีผู้ถือหุ้นด้วย ก.ล.ต.ในการบังคับใช้กฎหมายได้คำนึงถึงว่า ถ้ามีส่วนใดที่จะสามารถเยียวยาสิทธิของผู้ลงทุน ก็ได้มีการหารือกับหน่วยงานต่างๆด้วย ทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย

ส่วนที่สาม การบังคับใช้กฎหมาย เป็นเรื่องที่ปรากฎน้อยที่สุด เพราะให้ข้อมูลไม่ค่อยได้มากนัก แต่ในภาพรวมการตรวจสอบมีความคืบหน้าไปมาก มีการประสานกับทั้ง DSI บก.ปอศ.

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ได้ไล่ลำดับเหตุการณ์กรณีบริษัท Stark พร้อมกับแนวทางการดำเนินการว่า บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็น Holding Company มีบริษัทย่อยทั้งที่ในประเทศไทยและเวียดนาม ทำธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิล เข้าจดทะเบียนในเดือนกรกฎาคม 2562 ด้วยการ backdoor listing จากการเทคโอเวอร์บริษัท SMM ที่ผลิตสื่อและสิ่งพิมพ์

ในช่วงปี 2563-2564 ไม่มีเหตุการณ์อะไรที่จะแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติเพราะงบการเงินไม่มีเงื่อนไข หลังจากนั้นไตรมาสที่ 4 ปี 2565 บริษัทส่งงบการเงินล่าช้าและยังไม่ได้ส่งงบการเงินประจำปี 2565 สิ่งที่เกิดขึ้นตามลำดับจะเห็นได้ว่าช่วงพฤษภาคม 2565 บริษัทมีการแจ้งมติคณะกรรมการเรื่องลงทุนในบริษัทLEONI ในต่างประเทศ หลังจากนั้นมีการเพิ่มทุนแบบ Private Placement(PP) ต่อมามีการแจ้งไม่ลงทุนในช่วงเดือนธันวาคม 2565

เผย 5 ปมใหญ่หลังปรับงบการเงิน

ดร.ภากรให้ข้อมูลว่า….

“หลังจากนั้นเราเริ่มเห็นความไม่ปกติ คือ auditor แจ้ง audit committee เรื่องอันควรสงสัยตามมาตรา 89/25 ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2566 และในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ บริษัทประกาศส่งงบล่าช้า โดยจะส่งในวันที่ 31 มีนาคม 2566 หลังจากนั้นประธาน audit committeeของบริษัทได้แจ้งก.ล.ต. เรื่องมีการจ้าง special audit และอยู่ระหว่างการตรวจสอบในวันที่ 27 มีนาคม 2566 หลังจากนั้นแจ้งเลื่อนส่งงบอีกเป็น 21 เมษายน 2566 และมีแจ้งเลื่อนครั้งที่ 2 ในวันที่ 19 เมษายน ขอเลื่อนส่งเป็นพฤษภาคม หลังจากนั้นก.ล.ต.ได้สั่งทันทีว่าให้ Stark ชี้แจงข้อเท็จจริง และสั่งให้จัดทำ special audit เป็น extended scope ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 หลังจากนั้นตลาดฯได้ทำการขึ้นเครื่องหมาย SP เรื่องการไม่ส่งงบในปี 2565 ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 และมีการขึ้นเครื่องหมาย C ในวันที่ 19 พฤษภาคม จากการที่ก.ล.ต.สั่ง special audit มีการติดตามให้บริษัทเผยแพร่คำชี้แจงของก.ล.ต.ในวันที่ 23 พฤษภาคม”

ตลาดหลักทรัพย์ฯได้มีการหารือกับก.ล.ต.ก่อนเปิดการซื้อขายชั่วคราวและมีการประสานงานกับบริษัทให้จัดให้มี public presentation ในวันที่ 30 พฤษภาคมก่อนการเปิดซื้อขายชั่วคราว 1 เดือนในวันที่ 1 มิถุนายน ซึ่งบริษัทได้มาชี้แจงข้อมูล หลังจากนั้นได้มีการตรวจสอบว่าจะสามารถออก financial report ได้ในวันที่เท่าไร ซึ่งบริษัทไม่สามารถยืนยันได้ ภายหลังได้ออกมาในวันที่ 16 มิถุนายน ซึ่งก็เห็นข้อมูลว่ามีการปรับตัวเลขต่างๆ ในงบการเงินย้อนหลังกลับไป

“ผลกระทบจากการปรับ financial statement ย้อนหลัง จะเห็นได้ว่ามี 5 เรื่องใหญ่ๆที่เกิดขึ้น” ดร.ภากรกล่าว

1) การสั่งซื้อวัตถุดิบและการชำระหนี้กับบริษัทของผู้ถือหุ้นใหญ่ในช่วงพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2565 มีการปรับตัวเลขถึง 10,451 ล้านบาทในปี 2565
2) การรับรู้รายได้จากการขายและลูกหนี้จากการค้าสูงเกินความเป็นจริง เกิดขึ้นในหลายๆปี ก่อนปี 2564 จำนวน 597 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 1,763 ล้านบาท ปี 2565 จำนวน 5,399 ล้านบาท รวมทั้งหมด 7,759 ล้านบาท
3) มีการตัดจำหน่ายภาษีขายที่เกิดขึ้นหรือ VAT ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ก่อน 2564 จำนวน 16 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 85 ล้านบาท ปี 2565 จำนวน 569 ล้านบาท รวมทั้งหมด 670 ล้านบาท
4) การตั้งค่าเผื่อลูกหนี้การค้าเพิ่มขึ้นจากการ aging ลูกหนี้ที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้นในปี 2564 และ 2565 ปี 2564 จำนวน 729 ล้านบาท ปี 2565 จำนวน 65 ล้านบาท รวมทั้งหมด 794 ล้านบาท
5)การขาดทุนจากสินค้าคงเหลือหายในปี 2565 จำนวน 1,790 ล้านบาท

สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ได้ดำเนินการไปและจะทำเพิ่มเติมในอนาคต ดร.ภากรกล่าวว่า ได้แก่
1) ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ทำงานร่วมกับสมาคมนักลงทุนรายย่อยในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นในการติดต่อกับ Stark และการดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action ซึ่งสมาคมฯได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ถือหุ้น Stark ได้แจ้งความเสียหาย ข้อมูลมาที่สมาคมฯแล้วในช่วงวันที่ 19-25 มิถุนายน
2) ได้ทำงานร่วมกับกลุ่มนักลงทุนสถาบัน เช่น สมาคมบลจ. เป็นตัวแทนในการหาแนวทางในการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิด
3) อยู่ในระหว่างการตรวจสอบการกระทำความผิดของผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการซื้อขายหลักทรัพย์ที่อาจเข้าข่ายความผิดพรบ.หลักทรัพย์ฯ
4) ยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนตั้งแต่กระบวนการรับหลักทรัพย์ จนถึงการดำรงอยู่ เพื่อให้สามารถดูแลบริษัทจดทะเบียนมีความเข้มแข้งขึ้นและจะมีการเพิ่มเครื่องมือในการเตือนผู้ลงทุน ในกรณีที่หุ้นอาจมีสัญญานของปัญหา ซึ่งจะมีการรายงานเพิ่มเติมในระยะต่อไป

ด้านนายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวว่า สมาคมฯมีหน้าที่ให้ความรู้และสร้างความตระหนักถึงการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ซึ่งได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง ใน 2 ปีที่แล้วได้มีการจัดทำคู่มือกรรมการ 17 เล่ม ในจำนวนนี้หลายเรื่องมีเรื่องการบริหารความเสี่ยง บทบาทของaudit committee และได้บรรจุไว้ในหลักสูตรอบรมด้วย บางหลักสูตรที่เป็นหลักสูตรของกรรมการชื่อ DCP(Director Certification Program) ได้อบรมมากว่า 300 รุ่นแล้วรุ่นละ 30 คนคิดเป็นจำนวน 10,200 คน

ด้านหน้าที่กรรมการ สมาคมฯได้มีการปลูกฝังต่อเนื่อง และจากวันนี้ไป ก็จะนำเรื่องนี้ไปเป็นกรณีตัวอย่าง เป็นบทเรียน สร้างความตระหนักให้กับคณะกรรมการ และขอให้กำลังใจกรรมการอิสระที่ตอนนี้กำลังทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ในบริษัทต่างๆอย่างต่อเนื่อง

สภาวิชาชีพฯชี้ถ้าผู้สอบบัญชีบกพร่องถูกพัก/ถอนใบอนุญาต

นายสุพจน์ สิงห์เสน่ห์ เลขาธิการ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า บทบาทของสภาวิชาชีพบัญชีในเรื่องแรก คือ การจัดทำมาตรฐานการทำงานของผู้สอบบัญชี ซึ่งมาตรฐานนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเอง แต่เป็นมาตรฐานสากลที่ใช้ทั่วทั้งโลก โดยได้นำมาจากหน่วยงานที่จัดทำ เพียงแต่สภาวิชาชีพบัญชีจัดในภาษาไทยเพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติของผู้สิบบัญชี

“ถ้าจะถามว่ามาตรฐานปฏิบัติงานนี้ดีหรือไม่ดี ก็ต้องบอกว่า เป็นมาตรฐานที่ผู้สอบบัญชีทั่วทั้งโลกใช้กัน เพราะเรามีภาระผูกพันที่จะทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน มาตรฐานนี้มีการปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะ แทบทุกปี เพื่อสอดรับกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป”

บทบาทที่สอง การจัดทดสอบผู้ที่ต้องการจะเข้ามาเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ใครก็ตามที่จะเข้ามาเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้นั้นจะต้องจบการศึกษาด้านบัญชีระดับปริญญาตรี จากสถาบันการศึกษาที่สภาวิชาชีพยอมรับ ซึ่งก็มีจำนวนมาก จากนั้นต้องฝึกงานอย่างน้อยเป็นเวลา 3 ปีและต้องการผ่านการสอบภาควิชา โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละคนกว่าจะได้ใบอนุญาตใช้เวลา 5 ปี และแม้ว่าจะได้ใบอนุญาตแล้วก็จะต้องอัปเดตความรู้อย่างต่อเนื่องทุกปีปีละ 40 ชั่วโมงเพื่อให้ใบอนุญาตคงอยู่ เพราะฉะนั้นเป็นมาตรฐานที่เชื่อถือได้ สำหรับผู้ที่ได้ใบอนุญาตแล้วต้องการที่จะเป็นผู้สอบบัญชีในตลาดทุน ก็ต้องผ่านความเห็นชอบของสำนักงานก.ล.ต.

สภาวิชาชีพบัญชียังได้มีการติดตามประสานงาน โดยทุกๆปีผู้สอบบัญชีที่จะให้บริการลูกค้ารายใดต้องแจ้งต่อสภาวิชาชีพฯ เพื่อจะได้ประสานงานกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าซึ่งควบคุมดูแลงบการเงิน ว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่ เพื่อป้องกันการถูกอ้างชื่อ แต่ไม่ได้ทำงานจริง และสามารถที่จะรู้จำนวนลูกค้าที่ผู้สอบบัญชีแต่ละรายให้บริการ

“ในภาพรวม สิ่งที่สภาฯทำอยู่นั้นเป็นสื่งที่หน่วยงานกำกับดูแลผู้สอบบัญชีทั้งโลกทำอยู่ ทุกครั้งที่เกิดปัญหาขึ้น สภาวิชาชีพฯเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และสภาฯมีคณะกรรมการจรรยาบรรณ ซึ่งใครก็ตามที่ได้รับผลกระทบจากผู้สอบบัญชีนั้นสามารถร้องเรียนกล่าวโทษกับคณะกรรมการจรรยาบรรณได้ ถ้าคณะกรรมการฯพบว่ามีข้อบกพร่องจริง ก็มีลงโทษตามลำดับ คือพักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาต”

สภาวิชาชีพฯพร้อมที่จะร่วมงานกับหน่วยงาน ไม่ว่าหน่วยงานใดก็ตามเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับงานของสภาวิชาชีพฯมากยิ่งขึ้น

นายไพศาล ธรสารสมบัติ กรรมการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยกล่าวว่า สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สมาชิกของสมาคมฯได้มีการพูดคุย หารือกัน และได้ทำงานกับหน่วยงานกำกับดูแล ทั้งก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯอย่างใกล้ชิดมาต่อเนื่องยาวนาน

“สมาคมฯเห็นว่าการกำกับดูแลของหน่วยงานมีคุณภาพเพียงพอ และค่อนข้างจะเข้มงวดด้วยซ้ำ รวมทั้งมีการรณรงค์ส่งเสริมธรรมาภิบาลในองค์กรต่างๆมาตลอด
กรณีนี้ถือว่าเป็นกรณีที่ผู้ประกอบการต้องนำไปถอดบทเรียน ระหว่างการทำงานของกรรมการเอง ฝ่ายบริหาร รวมทั้งระบบ เรื่องของการตรวจสอบ ทำให้เห็นถึงข้อพึงระวัง ข้อคิด แม้จะไม่ได้กำหนดจากกฎระเบียบ แต่ในการปกป้องผลประโยชน์ของตัวผู้ถือหุ้นเองก็ตาม เรื่องนี้คงต้องทำงานกันอย่างใกล้ชิดและให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูล ความถูกต้องของข้อมูล ซึ่งสิ่งเหล่านี้สมาคมฯจะไปหารือกัน แต่ยินดีที่จะให้ความร่วมมือหากหน่วยงานกำกับดูแลต้องการให้ผู้ประกอบการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง”

เตรียมติวเข้มนักวิเคราะห์หลุมพรางทางบัญชี

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าสมาคมฯเป็นผู้วิเคราะห์ เขียนบทวิเคราะห์หุ้น แต่นักวิเคราะห์แต่ละสำนักมีปริมาณไม่มากนัก จึงต้องมีการคัดเลือกหุ้นและมีกระบวนการคัดเลือกหุ้น เป็นหุ้นที่ดีที่จะแนะนำ

สำหรับหุ้น Stark ช่วงที่เกิดเหตุ ก็ได้ไปตรวจสอบ โดยได้ข้อมูลจากนักวิเคราะห์จากหลายสิบแห่งที่เข้ามารวมกันและนำไปใส่ไว้ใน IAA Concensus บนเว็บไซต์ SETTRADE.com โดยการสนับสนุนของตลาดหลักทรัพย์มีจำนวน 300 กว่าหุ้น แต่เท่าที่ตรวจดูข้อมูลย้อนไปไม่ไกลมาก ตั้งแต่ต้นปีบทวิเคราะห์คงค้าง 3-4 เดือนไม่มีหุ้น Stark แต่รายที่ยังมีก็ไม่ได้เขียนวิเคราะห์แบบจริงจังมากไม่มีคำแนะนำrecommendation และจากการสอบถามหลายทางก็อาจจะมีผู้เขียนอีกสักหนึ่งราย แต่จะมากกว่านี้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าไม่ทราบ นอกจากนี้พบว่าบางสำนักไม่ค่อยได้เขียนและมีบางรายเคยเขียนเมื่อ 3 ปีก่อนและไมไ่ด้เขียนอีกเลย บางรายบอกว่าได้มีโอกาสเข้าไปศึกษา ไปฟังแต่ไม่ได้เลือกมาเขียน เพราะมีหุ้นอื่นที่น่าเขียนกว่า

ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ได้มีการพูดคุยกับนักวิเคราะห์ และกรรมการอาวุโสของสมาคม ได้ข้อสรุปว่า งบการเงินที่เกิดการแก้ไขจากกำไรเป็นขาดทุน ตัวเลขรายการต่างๆเปลี่ยนไปเยอะ โดยเฉพาะลูกหนี้และสินค้าคลังเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เพราะนักวิเคราะห์และนักลงทุนเอง ในฐานะเป็นผู้ใช้ข้อมูล ในสถานะผู้ที่เอาข้อมูลมาใช้ ถือว่าเป็นข้อมูลสำคัญ องค์ประกอบหนึ่งในการตั้งต้นประเมินธุรกิจ มูลค่าหุ้น ถ้าได้ข้อมูลที่มาแล้วไม่ตรงก็คงลำบากมาก

“อย่างไรก็ตามพบว่า นักลงทุนและนักวิเคราะห์ไม่มีโอกาสได้เห็นหลักฐานยืนยันในตัวเลขบัญชีต่างๆเลย ในสภาพของการเป็นผู้ใช้ เราทำได้เต็มที่คือการซักถาม ให้อธิบาย แต่ไม่เคยได้เห็นหลักฐาน เช่น หลักฐานยอดขาย หลักฐานเสียภาษี หลักฐานเกี่ยวกับสินค้าคงคลัง เป็นเรื่องที่ยากลำบากมากทั้งนักวิเคราะห์และนักลงทุน”

นายสมบัติกล่าวว่า สมาคมฯก็มาคิดว่าวันข้างหน้า ก็ต้องหากระบวนการที่จะทำให้รัดกุม ปกป้องนักลงทุนให้มากกว่านี้ ของเดิมก็ถือว่าทำได้ค่อนข้างมาก แต่ยังมีเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาบ้าง สมาคมฯก็เริ่มมีการหารือ แต่ยังไม่ตกผลึก นอกเหนือจากการหาวิธีทำให้ตรวจสอบความถูกต้องของบการเงินได้ โดยองค์กรใดก็ตามที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้หารือกับหน่วยงานของตลาดหลักทรัพย์ฯได้แล้ว 2 สายงาน และเห็นว่าความรู้ของนักลงทุนที่จะได้เทคนิคการวิเคราะห์งบการเงินอย่างง่ายๆ อย่างเร็วและตรงไปตรงมา ก็ได้จัดทำบทความขึ้นเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ตลาด www.set.or.th ในหมวด SET Source ในวันนี้(26 มิ.ย.) แต่คงช่วยไม่ได้ทั้งหมดหากเจอบริษัทที่ส่งงบการเงินหรือใช้งบที่ไม่ตรง

สมาคมฯก็ได้หารือกับตลาดหลักทรัพย์ฯที่จะติวเข้มทั้งะนักวิเคราะห์และนักลงทุนในเร็วๆนี้ ในเรื่องหลุมพรางทางบัญชี หรือประเด็นที่อาจจะถูกตกแต่ง โดยผู้เชี่ยวชาญ ในการตรวจสอบบัญชี หรือการตรวจจับ เพื่อให้มีความรู้ต่อไป

เกณฑ์ IPO สกรีนเข้มข้นบจ.ไทยได้คุณภาพ

นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ ประธานกรรมการ ชมรมวาณิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า ชมรมฯในฐานะที่มีบทบาทการดูแลสมาชิกที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ให้การปรึกษาบริษัทต่างๆในเรื่องการระดมทุนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งในกรณีนี้อาจจะมีผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน อาจะมีคำถามในเรื่องของคุณภาพของบริษัทที่กำลังจะทำ IPO เพื่อเข้าตลาดหรือบริษัทที่กำลังจะออกหุ้นกู้

“ที่ปรึกษาทางการเงินทำหน้าที่ในแง่การทำงาน การตรวจสอบบริษัทต่างๆที่จะระดมทุน โดยเฉพาะ IPO เราทำงานเข้มข้นอย่างละเอียด ชมรมเองมีมาตรฐานการปฏิบัติงานให้กับสมาชิกไม่วาจะเป็นเรื่องการทำคูมมือการทำ Due Diligence ซึ่งถือว่าเป็นขั้นต่ำ รวมถึงการทำ KYC กับลูกค้า การตรวจสอบ การที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งจะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ ไม่ได้ใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ แต่โดยเฉลี่ย 2-3 ปี เพราะฉะนั้นกว่าจะผ่านการตรวจสอบเริ่มต้นจากที่ปรึกษาทางการเงินเข้ามาสู่กระบวนการก.ล.ต.จนถึงตลาดหลักทรัพย์ฯ ผ่านการตรวจสอบการคัดกรองที่เข้มข้นมาก” นายสมภพกล่าว

“ในกรณีนี้ อยากให้ทุกคนมอง ต่อให้เรา screen ยังไง คุณภาพดีที่สุดยังไง เวลาเปลี่ยน คนมันเปลี่ยนได้ เมื่อเข้าไปแล้ว เราคงต้องกลับมาดูเหมือนกันว่า มาตรการในการติดตาม มาตรการในการที่จะdetect หรือป้องกันเราจะมีอะไรเพิ่มเติมขึ้นมา”

นายสมภพกล่าวว่า กฎเกณฑ์ต่างๆปัจจุบันนี้มีค่อนข้างเยอะมากอยู่แล้ว “ตลอดระยะเวลาที่ผมทำงานด้านที่ปรึกษาทางการเงิน ผมคิดว่าเพิ่มขึ้นจนกระทั่งจำไม่ได้ว่ามีเยอะแค่ไหน” ซึ่งกฎเกณฑ์เหล่านี้ ในการที่จะออกหรือเพิ่ม ก็ได้มีการพูดกันหลายครั้งว่า ถ้าจะออกมาแล้วก็ต้องดูด้วยว่า “กระทบกับคนที่ดี 99 คน หรือไม่ต้องมีความสมดุล”

สำหรับกรณีนี้ที่เกิดขึ้นแล้วก็ต้องมีการดำเนินการ ในเรื่องของเกณฑ์ที่จะเข้มงวดมากขึ้น และกรณีเป็นการเข้าตลาดแบบ backdoor listing และมีการออกหุ้นกู้และทำPP เพราะฉะนั้นก็อาจจะต้องทบทวน backdoor listing ว่า เกณฑ์ปัจจุบันเพียงพอหรือไม่ จะต้องปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอย่างไร รวมถึงเกณฑ์ PP ต่างๆ

“IPO ใหม่ที่จะเกณฑ์งบฉบับเต็มจะเริ่มต้นในปีหน้า ก็จะยิ่งทำให้เกณฑ์เข้มข้นขึ้นไปอีก ส่วน PP เองก็มีเกณฑ์การให้ความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินเข้ามา ซึ่งจะเริ่มใช้ 1 กรกฎาคมนี้ ทุกอย่างมีการเพิ่ม มีการปรับปรุงตามสถานการณ์ ตามสิ่งที่เราเจอ ส่วนคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรายังมีบริษัทจดทะเบียนคุณภาพดีมากมาย ส่วนที่เราเจอวันนี้เป็นส่วนน้อย เป็นส่วนเฉพาะตัวเฉพาะกรณีเฉพาะคนและเป็นส่วนที่มีความตั้งใจที่อาจจะเจตนาที่จะทำข้อมูลไม่ครบถ้วน หรือไม่เป็นจริง ก็เป็นกระบวนการที่จะต้องดำเนินการต่อไป”

3 ข้อสังเกตเคสที่พบบ่อยจากทริส

นายศักดิ์ดา พงศ์เจริญยง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด กล่าวว่า บทบาทของทริสฯคือ จัดอันดับเครดิตให้กับบริาัทที่ออกหุ้นกู้ หลังจากที่เกิดกรณีนี้ ก็ได้มีการประชุมภายในถึงการให้เรตติ้งกรณีนี้ ว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ จากกระบวนการทั้งหมด เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของสถาบันจัดอันดับ คือมีคณะกรรมการอันดับเครดิต มีขั้นตอนภายใน มีการทบทวนอันดับที่ให้ไป ไม่มีอะไรที่ผิดปกติ

การให้เรตติ้งก็เหมือนกับนักวิเคราะห์หุ้น คืออาศัยข้อมูล ในการประมวลความเสี่ยงทางการเงิน ถ้าข้อมูลทางการเงินไม่สะท้อนสถานะความเป็นจริงของบริษัท เรติ้งที่ออกมาก็ไม้สะท้อนความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นกู้นั้น

สำหรับแนวทางแก้ไข ในการวิเคราะห์ต้องยอมรับว่ายาก หากบริษัทมีเจตนาที่จะทำรายได้ด้วยการสร้างรายการขึ้นมา แต่ก็พอที่จะเทคนิคในการdetect ได้ อันนี้ต้องรองดุว่าข้อใูลที่ออกมาว่า รายการที่ทำ ทำกันอย่างไร เป็นกรณีตัวอย่างที่จะนำไปศึกษา ผู้ที่มีความรู้ด้านบัญชีอาจจะให้ความรู้แก่นักวิเคราะห์

ในด้านผู้ออก ก็มีข้อสังเกตว่า ในกรณีที่เกิดขึ้นในอดีตมักจะมีลักษณะเดียวกัน คือ 1)ให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริงในงบการเงิน และ2)มักเป็นบริษัท backdoor listing ซึ่งอาจจะเป็นส่วนที่อาจจะเพิ่มความเข้มงวดในการที่จะคัดกรองบริษัทที่จะมาจัดอันดับเครดิต และ 3)มักเป็นบริษัทที่ลักษณะเน้นการเติบโตด้วยการซื้อกิจการ เป็นข้อสังเกตที่พบบ่อยในลักษณะนี้ เจตนาอาจจะไม่ได้พยายามที่จะสร้างธุรกิจด้วยตัวเอง แต่มุ่งหวังสร้างราคาหุ้น เป็นข้อสังเกตที่จะต้องระวังมากขึ้น

ในระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนด้วยกันก็อาจจะมี early warning ตลาดหลักทรัพย์ฯน่าจะมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ จากการ detect ก็อาจะนำมาแชร์กัน ก็จะช่วยป้องกันก่อนที่เหตุจะเกิด

กองทุนยันปกป้องนักลงทุนเต็มที่

นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคม สมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า ในมุมตัวแทนนักลงทุน บลจ.ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่เทาที่กองทุนจะทำได้ในการคัดหุ้นมาลงทุน โดยหลักการวิธีการและแนวทางที่ถูกควบคุมดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแนงทางนี้กองทุนได้มช้ข้อมูลที่เป็น public information จากหน่วยงานที่ได้รับการรับรองเป็นเป็นที่น่าเชื่อถืออยู่แล้ว และมีเกณฑ์ภายใน ประกอบกับข้อมูลต่างๆที่ใช้ ที่อุตสาหกรรมให้กับผู้จัดการกองทุน

เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ไม่คาดฝันอยู่แล้ว วันนี้ผู้จัดการกองทุนที่เป็นตัวแทนนักลงทุนได้เข้าไปฟังผู้บริหารของ Stark เอง วันที่เราลงทุนไป เราคาดหวังว่าเงินที่เราส่งไปให้ จะเป็นการตอบรับและเป็นการดำเนินการอย่างโปร่งใส มีการลงทุนที่ถูกต้องตามที่สัญญา วันที่เข้าไปประชุมกับผู้บริหาร สิ่งที่พบคือไม่สามารถดำเนินการตามที่สัญญากับนักลงทุนได้ ฉะนั้นวันนั้นผู้จัดการกองทนหลังจากที่หารือในคณะกรรมการ ก็พบว่าทุกคนมีการ take action เพราะความสงสัยนำมาซึ่งการตัดสินใจที่จะลดบทบาทในการเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท เนื่องจากความไม่ชัดเจน ในแนวทางปฏิบัติของผู้บริหารของ Stark เอง วันนั้น เราเริ่มต้นลดบทบาทการเป็นผู้ถือหุ้นของStark มาถ้วนหน้า ตามความเหมาะสมของแต่ละบริษัทที่ดำเนินการ ก่อนที่เกิดเหตุการณ์ไม่ส่งงบตามปกติ

“เมื่อเกิดเหตุการณ์วันที่ไม่ส่งงบ ปกติที่ไม่สามารถรายงานได้ ในอุตสาหกรรมซึ่งมีคณะกรรมการที่เรียกว่า ESG Collective Action ทำหน้าที่เป็นคนเฝ้าระวังให้กับนักลงทุนในเรื่อง E S G ในกรณีนี้เป็นเรื่องของ G คณะกรรมการมีการหารือภายในว่าหลังจากที่ไม่ส่งงบนานเกินไป สิ่งที่ต้องทำคือ คงต้องทำจดหมายถึงผู้บริหารว่า ให้ชี้แจงว่าทำอะไรบ้าง จะทำอะไรต่อไป ในฐานะที่เราเป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งเมื่อทำจดหมายไปแล้วก็ไม่ได้รับผลตอบรับอะไร เนื่องจากบริษัทมีปัญหาและมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร เราพยายามทำดีที่สุดในวันนั้น”

นางชวินดากล่าวว่า หลังจากที่มีการเปิดให้ซื้อขาย และมีการชี้แจงบครั้งสุดท้ายที่ผ่านมา กองทุนได้มีการประชุมภายในอีกครั้ง ว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งมีความชัดเจนว่าแนวทางที่จะทำ Class Action น่าจะเป็นวิธีการที่จะนำมาใช้ ขึ้นอยู่กับว่านักกฎหมายที่จะว่าจ้างให้คำแนะนำให้กับอุตสาหกรรมอย่างไร สำหรับกองทุนที่เป็นตราสารหนี้ ก็มีการทำหน้าที่แทนนักลงทุนอยู่แล้ว จึงไม่มีอะไรนอกเหนือจากปัจจุบันเป็นประจำอยู่แล้ว

“ข่าวที่ออกมาค่อนข้างสร้างความปั่นป่วนให้กับการลงทุน แต่ข้อเท็จจริงคือ ในฐานะที่เราลงทุนในฐานะนักลงทุน การกระจายการลงทุนถือว่าเราทำได้ดีที่สุด อันนี้ในมุมของอุตสาหกรรม ว่าแม้การเข้าไปลงทุนในการตัดสินใจ ณ วันนั้น บริษัทมีการนำเสนอตัวเองได้อย่างชัดเจนและผู้บริหารตอบโจทย์ผู้จัดการกองทุนได้เยอะ ในการลงทุนที่เราคาดหวังผลตอบแทนที่เกิดการเติบโตให้กับอุตสาหกรรม”

“โดยที่การลงทุนมีการควบคุม เราเชื่อว่าเรามีการกระจายการลงทุนที่เหมาะสม การลงทุนใน Stark เองหรืออะไรก็ตามเป็นการกระจายการลงทุนให้กับนักลงทุนอย่างเหมาะสม แม้ในแง่ good governance มีความชัดเจนว่า ต้องมีการติดตามและตรวจสอบต่อไป action ที่ชัดเจนในฐานะตัวแทนผู้ลงทุนก็ต้องทำให้เหมาะสมกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพระาฉะนั้นเราถือว่าเราพยามยามอย่างเต็มที่ที่จะปกป้องการลงทุนให้นักลงทุนเท่าที่เราจะสามารถทำได้ในวันนี้”

ระบบเปิดผู้ถือหุ้นกู้ร่วมตัดสินใจ

ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA ในฐานะ Bond Information Center หน้าที่หลักคือ การให้ข้อมูลนักลงทุนในการที่จะเข้าใจสถานการณ์ เข้าใจถึงบทบาทผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ในการที่จะประสานงานกับผู้ออกและผู้ถือหุ้นกู้ในการตัดสินใจต่างๆกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 เรื่องของการไม่ได้ส่งงบการเงินประจำปีต่อมา ก็ไม่ได้ส่งรายงานประจำปีหรือ แบบ 56-1 ซึ่งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ก็ได้จัดการตามเหตุการณ์ในแต่ละครั้ง และผู้ถือหุ้นกู้ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยมีรายละเอียดดังนี้

วันที่ 28 เมษายน ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่นมีมติยกเว้นเหตุผิดนัดอันเนื่องมาจากการส่งงบการเงินล่าช้า
วันที่ 31 พฤษภาคม ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ยกเว้นเหตุผิดนัด 3 รุ่น แต่เรียกชำระโดยพลัน 2 รุ่น ซึ่งมีมูลค่า 2,241 ล้านบาท

“กระบวนการทีมีอยู่นั้นทำให้เกิดความชัดเจนระดับหนึ่ง และผู้ถือหุ้นกู้มีสิทธิที่จะได้มาร่วมการจตัดสินใจว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไรในอนาคต เรารู้ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการที่จะเร่งรัดในทันทีกับการที่จะให้โอกาสในการดำเนินการต่อไปโดยเฉพาะในช่วงที่อึมครึมเพราะงบการเงินยังไม่ออกมา แต่อย่างน้อยการที่ในกระบวนการนั้นผู้ถือหุ้นกู้มีสิทธิที่จะรับรู้และร่วมการตัดสินใจ และจะเห็นการตัดสินใจนั้นเปลี่ยนไปตามภาพที่ชัดขึ้นที่ละนิด”

ภาพที่สำคัญอีกด้านคือ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนรายงานการตรวจสอบได้ออกมาแม้เป็นรายงานการตรวจสอบที่ผู้ตรวจสอบไม่ได้แสดงความเห็นอย่างไรก็ตาม ตัวเลขงบการเงินที่ออกมาอยู่ในลักษณะที่ส่วนของทุนติดลบ ซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดโอกาสของการ default ขึ้นในอีกลักษณะหนึ่งคือ cross default อันเนื่องจากการขาดส่งดอกเบี้ย 24.7 ล้านบาทในวันที่ 22 มิถุนายน

ดังนั้นในข้อกำหนดสิทธิที่ระบุไว้ว่า ถ้าหากว่ามีการผิดนัดเกินกว่า 3% ของส่วนของทุนก็จะ trigger cross default ซึ่งจะทำให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ได้แจ้งเหตุผิดนัดในวันที่ 20 กรกฎาคมสำหรับหุ้นกู้ 3 รุ่นที่ได้ยกเว้นเอาไว้จำนวน 6,957 ล้านบาท และทำให้ตอนนี้หุ้นกู้ที่เข้าข่าย default จะมีทั้งหมด 9,198 ล้านบาทสำหรับหุ้นกู้ทั้ง 5 รุ่น และเราต้องยอมรับเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่อยากเห็นให้เกิดขึ้น เพราะความเดือดร้อนในกลุ่มผู้ถือหุ้นกู้นั้น มีทั้ง High Networth และสถาบัน มีจำนวน 4,528 รายที่มีการลงทุนในหุ้นกู้เหล่านี้

อย่างไรก็ตามโดยระบบเชื่อว่าตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ สำนักงานก.ล.ต.และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะต้องร่วมกันทำหน้าที่ในการดำเนินการในสิ่งเหล่านี้ต่อไป ThaiBMA ในฐานะ Bond Information Center จะพยายามเต็มที่ในการที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ สำนกังานก.ล.ต.ในการให้ข้อมูล ในการประชาสัมพันธ์อย่างรวดเร็วแก่ผู้ลงทุนผ่านช่องทางต่างๆ นอกจากนี้บินดที่จะให้ข้อมูลต่างๆ เหตุแห่งการผิดนัด ชำระหนี้ สิทธิและขั้นตอนการดำเนินการของผู้ถือหุ้นกู้ทั้งที่เป็นการตอบข้อสงสัยที่ส่งเข้ามา รวมถึงการสื่อสารกับสื่อมวลชนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ข้อมูลกับผู้ลงทุนในวงกว้าง

“สิ่งที่สำคัญมากคือการที่จะให้นักลงทุนตระหนักถึงความเสี่ยง การตัดสินใจลงทุน การกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม ในขณะเดียวไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้ลุกลามจนเสียความเชื่อมั่น โดยเฉพาะเป็นความบกพร่องเฉพาะขององค์กรซึ่งอาจจะมีข้อมูลที่เราเริ่มเห็นว่า มีการกระทำอันไม่ชอบ ตลาดทุนของเราจะเดินหน้าต่อไปก็คือ การมีความตระหนักที่เหมาะสมของความเสี่ยงของการลงทุน ความร่วมมือของทุกภาคส่วน” ดร.สมจินต์กล่าว

สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยรับเป็นตัวกลางดูแลผู้ลงทุนหุ้นสามัญ

นางสิริพร จังตระกุล เลขาธิการ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย กล่าวว่า สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยได้รับการสนับสนุนอย่างใกล้ชิดจากทั้งตลาดหลักทรัพย์และสำนักงานก.ล.ต. เป็นองค์กรสนับสนุนผู้ลงทุนรายบุคคล โดยภาระกิจหลักคือ การเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนทั้ง 800 กว่าบริษัททั้ง SET และ Mai ซึ่งแต่ละบริษัทจะถือเพียง 1 บอร์ดล็อต ทำหน้าที่ตามโครงการประเมินคุณภาพการประชุมผู้ถือหุ้นผ่านนักลงทุนที่ผ่านการอบรมจากสมาคม เป็นอาสาพิทักษ์นักลงทุน ทำหน้าที่ประเมิน 2 ข้อ คือ
1) การเปิดเผยข้อมูลตามเกณฑ์ของการเป็นบริษัทจดทะเบียน 2) ความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นสองข้อหลักในการนำไปประเมินธรรมาภิบาลบริษัทจดทะเบียน ซึ่งสมาคมฯได้ทำงานด้านนี้มา 18 ปีตั้งแต่ปี 2549

นอกจากนี้ยังได้เตรียมจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าเดือนธันวาคม 2567 จะเปิดตัว

แต่ในระหว่างนี้กรณีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น สมาคมฯมีแผนเผชิญเหตุรองรับ โดยเปิดให้นักลงทุนผู้เสียหายจากหุ้นสามัญลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ในช่วง 19-25 มิถุนายน พบตัวเลขเบื้องต้นที่ต้องมีการตรวจสอบต่อไป ว่ามีผู้เสียหายจากหุ้นสามัญ Stark จำนวน 1,759 ราย มูลค่าความเสียหาย 4,063 ล้านบาท

จากข้อมูลเบื้องต้นนี้ สมาคมฯจะดำเนินการ 3 ข้อ คือ 1) นำข้อมูลมาตรวจสอบโดยคำนึงถึงการคุ้มครองข้อมุลส่วนบุคคลหรือ PDPA อย่างเข้มงวด 2) จะให้ความรู้เกี่ยวกับการฟ้องคดีแบบกลุ่ม Class Action ในเรื่องกระบวนการตามกฎหมาย 3)จะเป็นตัวกลางให้ผู้เสียหายได้มาพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการดำเนินการต่อไป

สมาคมฯจะรายงานความคืบหน้าผ่านเว็บไซต์สมาคมคือ http://www.thaiinvestors.com/

ซักการบังคับใช้กฎหมาย-ผู้สอบบัญชี

จากนั้นเป็นช่วงให้สื่อมวลชนซักถาม โดยส่วนใหญ่เป็นคำถามในเรื่อง การดำเนินการกับผู้กระทำผิด การบังคับใช้กฎหมายและความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชี

นายธวัชชัยกล่าวว่า ปัญหามี 2 เรื่อง เรื่องแรกสถานการณ์เฉพาะหน้าของกรณีนี้ ในมุมของก.ล.ต.ก็เข้าใจว่ามีความคาดหวัง ทีมงานก.ล.ต.เร่งดำเนินการแต่ไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เพราะมุ่งหวังให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในกระบวนการขั้นสุดท้าย กระบวนการมีความคืบหน้าไปมาก แต่ไม่ใช่ก.ล.ต.ทำคนเดียว เรื่องนี้มีการประสานกับหน่วยงานกฎหมายมาเต็มที่เพื่อให้การเชื่อมต่อ และเมื่อมีการส่งต่อก็จะสามารถทำให้ทำได้เร็วขึ้น

แม้ก.ล.ต.ไม่มีอำนาจในการฟ้องคดีแทนผู้ถือหุ้น แต่ไม่ได้จำกัดตัวเอง แต่ให้การช่วยเหลือด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานในตลาดทุนครบ และได้หารือกันแล้ว หากการบังคับใช้กฎหมายของก.ล.ต. หากมีส่วนใดที่จะเชื่อมในการช่วยผู้ลงทุนได้ในการเยียวยา ก.ล.ต.ก็จะช่วย ซึ่งการดำเนินการในลักษณะ Class Action ก.ล.ต.ได้มีการให้ความรู้ มีการศึกษาอยู่แล้ว

โดยหลักการการตรวจสอบดำเนินการก.ล.ต.จะดูทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีที่เกิด ว่ามีการกระทำที่เกี่ยวข้องหรือไม่

ในการบังคับใช้กฎหมาย นายธวัชชัยกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะเห็นว่าเป็นเรื่องความผิดปกติของข้อมูลที่บริษัทเปิดเผย มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการกระทำที่มิชอบในบริษัท บทกำหนดโทษเป็นเรื่องการกระทำความผิด โทษจำคุกสูงสุด 10 ปี เป็นบทกำหนดโทษที่มีความรุนแรงเพราะฉะนั้น การดำเนินการตามกฎหมายก็จะมีหลายขั้นตอน จะครอบคลุมใครบ้าง ใครที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด

“อันนั้นไม่ใช่กรณีแรก ที่ผ่านมาเคยมีกรณีที่การกระทำผิดที่เกี่ยวกับข้อมูลมาแล้ว ก.ล.ต.ก็ดำเนินการไป แต่กรณีนี้ไม่สามารถตอบเฉพาะเจาะจงได้ เพียงแต่ตอบได้ในขั้นตอน”

สำหรับความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) ปปง. บก.ปอศ นายธวัชชัยกล่าวว่า ก.ล.ต.ได้มีการประสานงานไป คดีที่ก.ล.ต.ทำไม่ได้ไปปปง.ทั้งหมดมีทั้ง บก.ปอศ.. DSI เวลาที่ยังไม่เห็นว่า DSI จะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ก.ล.ต.ก็ประสานไว้ทั้งหมด เมื่อมีการดำเนินการก็จะได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้การดำเนินการในแต่ละกรณี ก็มีความแตกต่างกันทั้งฐานความผิด ลักษณะการกระทำ พยานหลักฐานและความเกี่ยวข้องของบุคคล ส่วนการยึดอายัดทรัพย์กฎหมายไม่ได้อำนาจหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งสามารถยึดอายัดทรัพย์ได้ง่ายๆ

ดร.ภากรเสริมว่า กรณี Stark ต่างจากกรณีของ More ที่สามารถยึดอายัดทรัพย์ได้เร็ว เนื่องจาก กรณีของ More มีผู้เสียหายจำนวนไม่มากเพียงกว่า 10 ราย ทำให้สามารถรวบรวมข้อมูลได้เร็วที่จะส่งให้หน่วยงานสอบสวนทำให้มีการฟ้องและใช้กฎหมายต่างๆได้เร็ว ส่วนกรณี Stark ต้องรวบรวมผู้เสียหาย ผู้เสียหายต้องมาพิสูจน์หลักฐาน หลักฐานต่างๆเก็บได้ยากกว่ากรณีของ More เยอะ ความรวดเร็วจึงไม่เหมือนกัน

ส่วนกรณีที่ DSI ได้อนุมัติให้รับกรณีการตรวจพบความผิดปกติของงบการเงินของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK เป็นคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ก่อนที่ก.ล.ต.จะดำเนินการตามกฎหมายนั้นนายธวัชชัยกล่าวว่า ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะก.ล.ต.เมื่อใช้อำนาจตามกฎหมาย แต่ไม่ใช่พนักงานสอบสวนก็ต้องไปกล่าวโทษกับ DSI อยู่ดี สมมติในกรณีนี้หากพบการกระทำผิดก็ไปกล่าวโทษที่ DSI

“ก.ล.ต. ผนึกกำลัง DSI และ บก.ปอศ. ร่วมหารือแนวทางดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกรณี STARK”
ก.ล.ต. ผนึกกำลัง DSI และ บก.ปอศ. ร่วมหารือแนวทางดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกรณี STARK

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) บูรณาการความร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ในการดำเนินการร่วมกันด้านการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดกรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 ณ กรมสอบสวนคดีพิเศษ

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ ก.ล.ต.นางพัฒนพร ไตรพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. ประชุมร่วมกับ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และ พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผู้อำนวยการกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน และ พ.ต.อ.อภิชน เจริญผล รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ซึ่งได้รับมอบหมายโดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง) โดยคณะผู้บริหารทั้งสามหน่วยงานได้หารือเกี่ยวกับการบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดกรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) เพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

“กรณี STARK ซึ่งอยู่ในกระบวนการการบังคับใช้กฎหมายโดยเป็นไปตามขั้นตอนปกติ อย่างไรก็ดี ก.ล.ต.ได้เร่งดำเนินการกับกรณีนี้อย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับผู้ลงทุนเป็นจำนวนมากและอาจมีผลกระทบต่อตลาดทุนในภาพรวม นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้ประสานงานกับ DSI และ ปอศ. เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง DSI ได้รับกรณีดังกล่าวเข้าเป็นคดีพิเศษแล้ว ซึ่ง ก.ล.ต. มีความยินดีที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนการปฏิบัติงานของ DSI อย่างเต็มที่ต่อไป สำหรับการร่วมประชุมในครั้งนี้ ทั้ง 3 หน่วยงานได้แลกเปลี่ยนข้อมูล รวมทั้งหารือเกี่ยวกับแนวทางการทำงานร่วมกันต่อไปเพื่อให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดที่ทำได้อย่างรวดเร็วและรัดกุมและช่วยยับยั้งความเสียหายต่อประชาชนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยหลังจากนี้จะมีการประสานงานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันต่อไปอีกด้วย” รักษาการแทนเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว

ส่วนประเด็นผู้สอบบัญชีมีคำถามอยู่มาก นายธวัชชัยกล่าวว่า ก.ล.ต.เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลผู้สอบบัญชีในตลาดทุน โดยบทบาทหน้าที่ต้องเข้าไปดู แต่ต้องตั้งต้นจากการเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกฝ่ายก็มีโอกาสที่จะชี้แจงแสดงหลักฐานของตัวเอง ต้องมีการพิจารณาตามกระบวนการ ซึ่งก.ล.ต.ทำงานร่วมกับสภาวิชาชีพบัญชี ทุกการดำเนินการ ก.ล.ต.รับผิดชอบตามพรบ.หลักทรัพย์อย่างต็มที่ และร่วมมือกับหน่วยงานอื่นอย่างเต็มที่

สำหรับกรณีเรียกร้องให้เอาผิดกับสำนักงานสอบบัญชี นายธวัชชัยกล่าวว่า ก.ล.ต.ไม่มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบสำนักงานสอบบัญชี แต่เป็นการให้ความเห็นชอบตัวบุคคล เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำได้ คือต้องแก้ไขกฎหมาย ซึ่งก.ล.ต.ได้เสนอไปแล้ว และผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปเมื่อต้นปี แต่การแก้ไขกฎหมายเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาจากครม.ต้องไปสำนักงานกฤษฎีกา ตรวจร่างเสร็จก็ส่งกลับมาที่ครม.ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของสภา

นายสุพจน์กล่าวว่า ตามพรบ.สภาวิชาชีพบัญชีทำได้เพียงพักใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาตเท่านั้น

นายธวัชชัยกล่าวเสริมว่า ผู้สอบบัญชีเห็นได้ชัดว่าเป็นหนึ่งบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ แต่ชวนมองในอีกแง่หนึ่งว่าคนที่เป็นผู้สอบบัญชี อาชีพของเขาทั้งชีวิตคือต้องสอบวิชาชีพถึงจะสอบบัญชีได้ การที่ถูกพักหรือเพิกถอนเส้นทางที่บุคคลนั้นจะประกอบวิชาชีพของตัวเองไป เป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากแล้ว ในกรณีที่เป็นข้อบกพร่องธรรมดา แต่ประเด็นจากคำถามที่ตั้งขึ้นมาเลยจากจุดนี้ไปอีกว่าหากผู้สอบบัญชีมีการเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมากไปกว่าการบกพร่องในมาตรฐานในการทำงาน ก็จะเป็นเหมือนบุคคลอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สอบก็ได้ ใครๆก็ตามที่มีส่วนร่วมในลักษณะดังกล่าวย่อมมีโทษตามกฎหมาย

“สิ่งที่ปรากฎกับผู้ลงทุนคือ ใช้ข้อมูลและข้อมูลไม่ถูก ใครเป็นคนทำข้อมูลนั้น ในมุมก.ล.ต. กรณีนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะเอาผิดใคร โดยกระบวนการ หลายคนอาจจะมองว่าข้อมูลไม่ถูกแล้ว แก้มาแล้ว ทำไมไม่สรุป ประเด็นสำคัญของการตรวจสอบการกระทำความผิดคือ ข้อมูลไม่ถูก เกิดจากอะไร ใครเป็นทำ มีใครที่มีส่วนร่วม เกี่ยวอะไรกับใครบ้าง ในส่วนนี้เป็นส่วนที่ต้องรวบรวมพยานหลักฐานตามกระบวนการ จะเห็นภาพมากขึ้น ขั้นตอนมีอยู่”

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังกำหนดแนวทางในการยกระดับการกำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนและเสริมสร้างบทบาทหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยได้ดำเนินการภายใต้โครงการ “บริษัทจดทะเบียนเข้มแข็ง” ซึ่งริเริ่มขึ้นเมื่อปลายปี 2565 และคาดว่าจะเสนอต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้ในช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป