ThaiPublica > เกาะกระแส > 30ปี ก.ล.ต. รวมอดีตเลขาธิการ เสวนาตลาดทุนไทยในทศวรรษหน้า “ต้องยืน 3 โจทย์หลัก”

30ปี ก.ล.ต. รวมอดีตเลขาธิการ เสวนาตลาดทุนไทยในทศวรรษหน้า “ต้องยืน 3 โจทย์หลัก”

8 ตุลาคม 2022


วันที่ 7 ตุลาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดงานเสวนา “ก้าวต่อไปของตลาดทุนไทยในทศวรรษหน้า” ในโอกาสครบรอบก่อตั้ง 30 ปี โดยอดีตเลขาธิการที่มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น มุมมอง และข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยในอนาคต คือ นายเอกกมล คีรีวัฒน์, นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยธยา, ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล, นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล, นายวรพล โสคติยานุรักษ์, นายรพี สุจริตกุล โดยมีนายวีระ ธีรภัทร เป็นผู้ดำเนินรายการ

ตลาดดิจิทัลจะกำกับอย่างไร-กฎเกณฑ์คือความมั่นคงยั่งยืน

อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต. ได้ร่วมให้มุมมองและความท้าทายของ ก.ล.ต. ในทศวรรษหน้า โดยนายเอกกมล คีรีวัฒน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. คนแรกช่วงปี 2535-2538 กล่าวว่า ก.ล.ต. อยู่มาครบ 30 ปี แล้ว แต่หากให้มองไปใน 10 ปีข้างหน้าไม่สามารถคาดคาดเดาได้ว่าเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก ความท้าทาย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ความยั่งยืนของเศรษฐกิจคงจะไม่คงที่และยาก ฉะนั้น ขอให้คำนึงไว้ตลอดถึง Black Swan (เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อน)

“ผมอยากจะให้อ่านหนังสือชื่อ Black Swan ที่ถือว่าเป็นธรรมะของผู้อยู่ในธุรกิจหรือบริหารประเทศ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่น่าเชื่อและไม่มีสถิติที่จะบอกได้ แต่ในตลาดทุน การเปลี่ยนแปลงในอนาคต เชื่อว่าจะอยู่ที่กฎเกณฑ์ วิธีการ การดำเนินงาน ซึ่งมั่นคงเสมอ ”

นายเอกกมลกล่าวว่า แนวคิดที่เชื่อกันว่าจะต้องมีความโปร่งใส และ fairness (ความเป็นธรรม) ความเข้าใจในธุรกิจนี้ ได้พัฒนามาอย่างดีมาตลอด 30 ปี เมื่อประเมินแต่ละตลาด โดยตลาดหลักทรัพย์ หรือตลาดหุ้น (equity market) ซึ่งเป็นตัวเริ่มต้นของทั้งหมด มีแนวคิดนี้มาก่อนหน้า (ก่อนการจัดตั้ง ก.ล.ต.) และมีการจัดระเบียบเมื่อ 30 ปีก่อน มีการแยกออกมา มีการพัฒนาซึ่งสร้างความมั่นคงในอนาคต

ตลาดหลักทรัพย์ หรือตลาดหุ้น เริ่มต้นตั้งแต่หุ้นเข้าตลาด มีการวางกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนด้วยความโปร่งใส ใช้ fairness มีความร่วมมือขององค์กรอิสระ เช่น สมาคมบัญชี สมาคมประเมินค่าทรัพย์สิน มีการวางระบบและพัฒนาได้เทียบเท่าสากล มีการพัฒนามาตลอดมีการปรับปรุงแก้ไขต่อเนื่อง เมื่อเข้าตลาดมีการควบคุมด้วยกฎเกณฑ์ กำหนดการรายงานเป็นระยะ ดูแลกำกับบริษัทจดทะเบียน มีการพัฒนาจนเข้าหลักสากล มีการปราบปรามการกระทำไม่ถูกต้องในตลาด

นายเอกกมล คีรีวัฒน์ เลขาธิการ ก.ล.ต. (พ.ศ. 2535 – 2538)

“แนวคิดนี้เป็นตัวหลักสำคัญในตลาดหุ้น แม้มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าเราจับหลักนี้ก็เป็นความมั่นคง เหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นในโลก เกิดการดิสรัปต์ เช่นในปี 2008 ก็จัดว่าดิสรัปต์ วิกฤติต้มยำกุ้งก็ดิสรัปต์ แต่ถ้ามีกฎเกณฑ์ก็ไม่มีปัญหาอะไร” นายเอกกมลกล่าวและว่า ดังนั้น ในแง่ความมั่นคง การพัฒนาไม่มีปัญหา

นายเอกกมลกล่าวว่า ปัจจุบันมีการพัฒนาตลาดดิจิทัลขึ้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของตลาดทุนได้อย่างไร เพียงแต่ในประเทศไทยไม่มีองค์กรอื่น ก.ล.ต. ก็ต้องไปรับทำหน้าที่กำกับดูแล กฎเกณฑ์ต่างๆ สร้างขึ้นมาใหม่ การควบคุมกฎเกณฑ์ไม่เหมือนเดิม และมี state of flux (การเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง) เป็นความท้าทาย เพราะควบคุมต้นน้ำไม่ได้

นายเอกกมลยกตัวอย่างคริปโทเคอร์เรนซี ที่มองกันว่าเป็นสกุลเงิน ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าเรียกคริปโทเคอร์เรนซีเป็นเคอร์เรนซีได้อย่างไร เป็นแนวคิดที่สลับกับดิจิทัลเคอร์เรนซีที่พัฒนาโดยธนาคารกลาง คริปโทเคอร์เรนซีมีศูนย์ซึ่งมักเป็นบริษัทเสียส่วนใหญ่ เพราะเป็นระบบ decentralization ตัดตัวกลางออก ต่างจากตลาดหลักทรัพย์ ก.ล.ต ที่ได้รับมอบหมายจึงต้องทำหน้าที่ ความยั่งยืนของตลาดนี้จะเป็นอย่างไรไม่สามารถบอกได้ และปัจจุบันบางประเทศ เช่น จีน ห้ามพัฒนาเงินคริปโท ขณะที่สหรัฐฯ เองให้ทำ แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าจะจัดให้อยู่ในภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรใด ซึ่งไม่ใช่ SEC

นายเอกกมลกล่าวว่า สินทรัพย์ดิจิทัลเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีบล็อกเชน แต่ละประเทศคุมสินค้านี้ไม่ได้เลย ต่างจากหุ้น ตราสารหนี้ ที่ต้องผ่าน ก.ล.ต. และมีการซื้อขายในประเทศ แต่สินค้านี้ผ่านคอมพิวเตอร์ ซื้อขายผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน เพียงแต่มีศูนย์ซื้อขายแห่งหลายเพราะเป็น decentralize finance มีการซื้อขายทั่วโลก

“หน้าที่เราที่ทำได้คือคุมในไทย ความเข้าใจต้องมากขึ้น ธุรกิจพวกนี้ individual (บุคคล) เป็นเจ้าของ อยู่ในคอมพิวเตอร์อยู่ในบล็อกเชน ฉะนั้น ต้องคุมที่ transaction (การทำรายการ) เพราะ ก.ล.ต. ไม่ได้คุมที่การเข้าตลาด ไม่ได้คุมผลิตภัณฑ์ เป็นสิ่งที่ท้าทาย” นายเอกกมลกล่าว

“เพราะฉะนั้นอันนี้คือความท้าทาย ต่อกฎเกณฑ์ที่ใช้กันมา เทรนกันมา แต่ผมเชื่อในเรื่อง black swan ซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอด แต่หากมีกฎเกณฑ์ซึ่งเรามีในปัจจุบันนี้ มีการปรับปรุงแก้ไขบ้างเล็กน้อย เราจะเดินหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

นายเอกกมลกล่าวอีกว่า ก.ล.ต. มีการสร้างด้านประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือและความสะดวกได้ดีตลอด 30 ปีไม่ด้อยกว่าตลาดทุนอื่นในโลก และในทศวรรษหน้าก็ต้องยึดไว้เป็นหลักของตลาดทุน เป็นความยั่งยืน มีการปรับปรุงบ้างก็จะไม่มีปัญหา

เทคโนโลยีมีบทบาทแทนคน ก.ล.ต.ต้องเปลี่ยนเป็น Orchrestrator

นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ทำหน้าที่เลขาธิการ ก.ล.ต ปี 2538-2542 กล่าวว่า ตลาดเงินตลาดทุนมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลายรอบ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินตลาดทุน เช่น บิตคอยน์ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากโรคระบาด และจากความรู้พื้นฐานด้านโหราศาสตร์ที่มีจึงขอทำนายว่า ในปีหน้าจะมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบการเงิน ตลาดเงินตลาดทุนของไทย แต่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่เกิดขึ้นแล้วก็จะพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้น

มองไปข้างหน้า 10 ปี บทบาทเทคโนโลยี AI, data analytics จะมีผลต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยหลายด้าน

    1) การวิเคราะห์แนวโน้มตลาดและกลไกการเทรด (trading mechanism) ต่างๆ มีความซับซ้อนมากขึ้น และจะเข้าแทนที่คน ทำให้บรรยากาศการแข่งขันเปลี่ยนแปลงอยางมาก เป็นการแข่งขันในเชิงพัฒนาเทคโนโลยี
    2) ความจำเป็นในการทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ผู้ที่ทำหน้าที่ต่างๆ เช่น นักวิเคราะห์การลงทุน สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ จะเปลี่ยนแปลงเพราะเทคโนโลยีจะทำหน้าที่แทนคน มีความรวดเร็วกว่า มีความแม่นยำสูงกว่า บทบาทของคนที่ทำหน้าที่เหล่านี้ เปลี่ยนไปประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแทนการทำด้วยตัวเอง
    3) การทำธุรกรรมทางการเงิน ในรูปแบบกระจายศูนย์และลดบทบาทตัวกลางลง decentralization เป็นแนวคิดที่ต้องพัฒนามากขึ้นทำให้ผู้ประกอบการ ผู้กำกับดูแล ผู้เล่นในสังคมต้องเข้าใจแนวคิดใหม่ในตลาดการเงิน

แต่หน้าที่ของเงิน เงินทุน ไม่เปลี่ยนไป เพราะเงินยังทำหน้าที่หลักเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ การกำหนดค่า การเก็บรักษามูลค่าเหมือนอย่างที่เป็นมา รูปแบบของเงินคงจะเปลี่ยนแปลงไป เช่น การเกิดขึ้นของดิจิทัลเคอร์เรนซี หน้าที่ของเงินทุนหรือ capital ก็ยังต้องมีหน้าที่เป็นปัจจัยการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางทางเศรษฐกิจ แต่รูปแบบเปลี่ยนไป เช่น utility-based token, tokenization

“ผมคิดว่า function หรือ substance ของเงินทุนจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่รูปแบบเปลี่ยนตามเทคโนโลยีที่ใช้ เช่น บล็อกเชน” นายปกรณ์กล่าว

นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา เลขาธิการ ก.ล.ต. (พ.ศ. 2538 – 2542)

นายปกรณ์กล่าวว่า สิ่งที่ ก.ล.ต. ต้องทำเพิ่มเติม คือ

    1) เพิ่มคุณภาพบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ทำอยู่แล้ว แต่ต้องทำให้มากขึ้น ซึ่งมีหลายวิธี วิธีแรกคือกระตุ้นบริษัทจดทะเบียนเข้าเป็นแนวร่วมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของภาคเอกชน ปฏิบัติตามแนวทางต่อต้านการคอร์รัปชัน สร้างการรับรู้ในทุกระดับทุกวงการ เพื่อยกระดับดัชนีการรับรู้การคอร์รัปชัน (Corruption Perception Index) ซึงเป็นปัญหาของไทยในสายตาชาวโลก
    2) ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนยึดหลัก ESG ในการบริหารจัดการเพื่อยกระดับคุณภาพบริษัทจดทะเบียนให้เป็นที่ยอมรับในสากล
    3) เพิ่มบริษัทจดทะเบียนในอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าธุรกิจและทำให้บริษัทจดทะเบียนเป็นที่น่าสนใจและแข่งขันได้ในระดับภูมิภาคและระดับโลก
    4) ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย ด้วยการส่งเสริมให้ตลาดทุนช่วยผู้ประกอบการที่มีขนาดเล็ก สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นนอกเหนือจากการใช้บริการทางการเงินจากสถาบันการเงิน เช่น การออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุน (debt financing) ควรเตรียมกลไกไว้รองรับทั้งผู้ที่จะระดมทุนและผู้ลงทุน
    5) ศึกษาและส่งเสริมการสร้าง venture capital ที่ประเทศไทยยังขาดเพื่อให้มี venture capital ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
    6) ส่งเสริมด้าน buy-side ส่งเสริมความรู้บริหารการเงินส่วนบุคคล ทักษะการเงินที่จำเป็น ส่งเสริมนักลงทุนบุคคลให้เข้าใจเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ให้นักลงทุนรู้จักประเมินความมเสี่ยง ใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยง และขยายนักลงทุนบุคคลให้มากขึ้น

“ในสายตาของผม สำนักงาน ก.ล.ต. เป็นองค์กรดีเด่น เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีความแข็งขัน ซื่อสัตย์ ไม่มีเรื่องมัวหมองเกี่ยวกับทุจริตคอร์รัปชัน ในทศวรรษหน้าจะมีการปฏิรูป ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงงครั้งใหญ่ของไทยและของโลก ดังนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. ควรปรับเปลี่ยนบทบาทมาเป็น orchrestrator เป็นผู้ประสานงานให้มากขึ้น การเป็นผู้ประสานที่จะมายืนแถวหน้าได้ต้องทำให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลาย เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างภาพตลาดทุนที่ทุกคนมีมุมมองร่วมกัน การเกิดขึ้นของนวัตกรรมไม่ใช่บทบาทของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นการสอดประสานเพื่อให้มีประสิทธิภาพ และระบบนิเวศที่เหมาะกับการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันในประเทศ” นายปกรณ์กล่าว

3 โจทย์หลัก ทั่วถึง-ประสิทธิภาพ-พัฒนายั่งยืน

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล รับตำแหน่งเลขาธิการก.ล.ต. ปี 2542-2546 กล่าวว่า พัฒนาการของตลาดทุนมีความต่อเนื่อง ช่วงที่จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในปี 2535 ภารกิจของ ก.ล.ต. ค่อนข้าง focus ตามกฎหมายที่เขียนไว้มีด้วยกัน 2 ข้อ ข้อแรกคาดหวังให้ ก.ล.ต. วางกฎเกณฑ์ในตลาด การระดมทุน โดยเฉพาะการระดมทุนจากมหาชนหรือ public market เนื่องจากตอนนั้นไม่มีองค์กรใดทำหน้าที่โดยตรง

ตลาดหลักทรัพย์เกิดขึ้นก่อน ก.ล.ต. แต่ในขณะนั้นก็มีกฎหมายอีกหนึ่งฉบับคือ พ.ร.บ.บริษัทมหาชน ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูของกระทรวงพาณิชย์ที่มีผลบังคับใช้ในปี 2521 แต่ดูเหมือนว่ากฎหมายฉบับนั้นนำมาใช้ก่อนเวลาอันควร ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากว่าทำให้บริษัทปฏิบัติได้ลำบาก ก็มีการเลี่ยงกันว่า หากเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามฎหมายฉบับนั้น

ตลาดหลักทรัพย์จึงต้องรับสองบทบาท คือ เป็นที่สำหรับการซื้อขาย และเป็นทั้งผู้กำกับดูแล ดังนั้น เมื่อมีการตั้ง ก.ล.ต. ก็มีการเขียนกฎหมายว่า ข้อแรกกำกับดูแลตลาดแรกให้ดี เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาตราสารที่หลากหลาย

ภารกิจข้อที่สอง คือ สร้างเอกภาพในการกำกับดูแลธุรกิจหลักทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน และการคุ้มครองผู้ลงทุน

“ผมคิดว่า ก.ล.ต. ทำภารกิจสองข้อนี้สัมฤทธิ์ผลดี ดีทีเดียว แต่ปัญหาความท้าทาย คือ ตลาดทุนมีวิวัฒนาการที่กว้างขึ้น โจทย์ต่างๆ มากกว่าสองข้อนี้ แต่ 30 ปีที่ผ่านมาตลาดทุนเติบโตคู่เศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันอยู่ในอันดับผู้นำของอาเซียน ถ้าวัดจากการระดมทุนในตลาดแรก สภาพคล่องในการซื้อขายติดอันอันดับต้นๆ แต่ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์น้อยกว่า” ดร.ประสารกล่าว

ตลาดทุนมีบทบาทในการจัดสรรทรัพยากร ในการพัฒนาสำคัญๆ เช่น การพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด หรือการฟื้นตัวจากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ตลาดทุนมีบาทในการระดมทุนอย่างมาก หรือล่าสุดหลังการระบาดของโควิด ตลาดทุนก็ยังระดมทุนได้ดี

ปัจจุบันหากนำมูลค่าตลาดหุ้น ตลาดตราสารนี้ สินเชื่อธนาคารพาณิชย์รวมกันแล้วจะมีมูลค่าถึงกว่า 50 ล้านล้านบาทหรือกว่า 200% ของ GDP เพิ่มขึ้นมากจากปี 2554 ที่มี 25 ล้านล้านบาท สิบปีที่ผ่านมาเติบโตถึง 2 เท่า

“โจทย์เรื่องนี้เป็นเรื่องต่อเนื่องก็จะมีความท้าทายต่อเนื่องไป แต่ผมคิดว่าโจทย์เผชิญอยู่ในเวลานี้หรือแกนหลักที่ตั้งไว้ยังใช้ได้” ดร.ประสารกล่าว

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. (พ.ศ. 2542 – 2546)

แกนหลักที่หนึ่งที่มักพูดถึงเสมอ คือ ความทั่วถึง และเป็นโจทย์ร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่ผ่านมาหลายอย่างเจริญเติบโต แต่ผลประโยชน์ของการเติบโตนี้ไปทั่วถึงหรือไม่ ในแกนนี้จะมีแกนย่อย 2 แกน คือ

  • หนึ่ง คือ ประเภทธุรกิจ กิจการที่สามารถเข้ามาใช้ประโชน์จากตลาดทุน ก็ยังไม่ทั่วถึงดีพอ
  • ผู้ที่ที่ใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้ดีมาก และกิจการเจริญเติบโตคือคือ ธุรกิขนาดใหญ่ แต่ไม่ใช่ทุกราย และรายใหญ่ที่สามารถใช้ประโยชน์และศักยภาพ ทำประโยชน์ให้กับกิจการได้มาก เช่น ธุรกิจซีเมนต์ ปิโตรเคมี บรรจุภัณฑ์ อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก ศูนย์การค้า ได้ประโยชน์จากตลาดทุนเยอะ และได้ประโยชน์

    แต่ยังมีธุรกิจขนาดใหญ่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากตลาดทุน กลุ่มหลังเสียเปรียบอย่างน้อยในเชิงการแข่งขัน อย่างไรก็ตามธุรกิจใหญ่ทั้งสองกลุ่มนี้ไม่น่าห่วง เพราะมีกลกไตลาด กลไกการแข่งขันที่ทำให้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้

    สำหรับธุรกิจที่มีขนาดเล็กลงมาใช้ประโยชน์จากตลาดทุนน้อย ธุรกิจขนาดเล็กมีหลายแบบ บางแบบไม่เหมาะที่จะใช้เพราะแพง เข้ายาก และลักษณะธุรกิจอาจจะไม่มีศักยภาพการเติบโตที่จะดึงดูดผู้ลงทุน

    ขณะเดียวกัน มีธุรกิจที่มีขนาดเล็กลงมามีศักยภาพที่จะใช้ตลาดทุน แต่ยังไม่ได้ใช้ตลาดทุนเต็มที่ ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ยังเล็กแต่มีโอกาสเติบโตในอนาคต กลุ่มที่ยังเล็กต้องรวมกันคนอื่นถึงจะเติบโตได้ หรือกลุ่มที่ยังเล็กเพราะธรรมชาติของประเภทธุรกิจ หรือเล็กแบบสตาร์ตอัป แต่มีความรู้ และหากพัฒนาต่อก็อาจจะเติบโตเป็นที่น่าสนใจของผู้ลงทุน

    “พวกเหล่านี้เป็นโจทย์ที่ 10 ปีข้างหน้าต้องช่วยกันคิด และอาจจะปรับมุมมอง ปรับกรอบความคิดและตีความในลักษณะที่ยืดหยุ่น อุปสรรคที่เห็นชัดมากคือ เช่น คำเรียกของ ก.ล.ต. ของตลาดหลักทรัพย์ ที่มีคำว่าหลักทรัพย์ และกรอบคิดของตลาดทุน การเกิดขึ้นของตลาดทุนด้วนภารกิจสองข้อทำให้มองไปที่ตลาดที่เป็นตลาดมหาชน ตลาดที่มีตราสารเปลี่ยนมือ” ดร.ประสารกล่าว

    หากมองอีกด้านหนึ่งจะมีคำหนึ่งที่กว้างกว่า คือ ตลาดทุน และมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ไม่ใช่หลักทรัพย์ ที่ไม่ใช่บริษัทมหาชน เช่น private equity market, prive equity market, venture capital ทำให้ชวนคิดว่า อาจจะต้องปรับให้ยืดหยุ่นว่า ไม่ใช่ตลาดหลักทรัพย์ ไม่ใช่ตลาดของการกำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งมอง value chain ของธุรกิจว่ามีการเติบโตตามขั้นตอนต่างๆ อย่างไร และควรเข้าเกื้อหนุนอยางไร

  • สอง มาจากผู้ลงทุน ระยะหลังมีผู้ลงทุนเข้าตลาดมหาชนมากขึ้นแต่สัดส่วนยังน้อย
  • ดร.ประสารกล่าวว่า ยังมีคนอีกมากที่ไม่สามารถเข้ามาในตลาดมหาชน แต่ในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเพียงปีเดียวมีคนเข้าร่วมถึง 2 ล้านบัญชี อะไรดึงดูดให้เข้ามา จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่ามีผลิตภัณฑ์อะไร มีวิธีการนำเสนออย่างไรที่สามารถเข้าถึงความทั่วถึงเหล่านี้ ถือเป็นบทเรียน
    ก็ต้องวิเคราะห์ลึกลงมาในกลุ่มคนแต่ละกลุ่ม เช่น คนมีเงิน คนมีเงินน้อย คนเพิ่งเริ่มทำงาน รวมทั้งวัย เป็นเรื่องน่าคิดในแกนย่อยที่สอง

    สำหรับแกนหลักที่สอง ประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือ ความสะดวก ซึ่งมักจะมี trade-off (ได้อย่างเสียอย่าง) เสมอ ซึ่งในแกนนี้ก็มี 2 แกนย่อย ได้แก่

    หนึ่ง บทบาทของเทคโนโลยี อันที่จริงเทคโนโลยีเข้ามาในตลาดทุนตลอด ไม่ได้เพิ่งเกิด เช่น การเปลี่ยนจากเคาะกระดานซื้อขายมาเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ การตั้งบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TSD รับฝากหุ้นทำให้เปลี่ยนจากใบหุ้นมาเป็นระบบ scripless ในช่วงโควิดก็มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นแบบออนไลน์ เป็นการปรับใช้ดิจิทัล

    “ตัวนี้เป็นโจทย์สิบปีข้างหน้าต้องคิดเยอะ ต้องดูวิวัฒนาการที่ไปเร็วมาก แต่ประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือ ความสะดวกที่มักจะเกิด trade-off ต้องคิดให้รอบคอบ อย่างการเกิดเหตุการณ์โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจในตลาดดิจิทัล” ดร.ประสารกล่าว

    ข้อนี้เกี่ยวข้องกับ ก.ล.ต. เยอะด้วยกฎเกณฑ์ กฎระเบียบ สาเหตุเพราะว่าเวลาเขียนกฎหมาย อย่างกฎหมายปี 2535 บางอย่างเห็นชัด บางอย่างเห็นแต่ไม่ชัด บางอย่างรู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงเร็วในอนาคต แต่เวลาเขียนกฎหมายเพื่อให้ตั้ง ก.ล.ต. ก็จะออกมาในลักษณะว่าเขียนให้ทำงานได้ เมื่อเขียนให้ทำงานได้ สิ่งที่เห็นชัดก็เขียนได้ แต่ที่ยังไม่ชัดก็ต้องมาขอใบอนุญาต หรือสามารถออกกฎได้ในภายหลัง การเขียนแบบนี้ข้อดีคือทำให้ทำงานได้ แต่ข้อเสีย เมื่อเกิดเหตุการณ์จริงก็จะเกิด mismatch

    ช่วงนี้ mismatch มาได้หลายรูปแบบ ซึ่งตามภารกิจที่สองของ ก.ล.ต. คือ การสร้างเอกภาพในการดูแลธุรกิจหลักทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐานและการคุ้มครองผู้ลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีความจำเป็นนอกจากตรากฎหมายหลักทรัพย์แก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์ และออกกฎหมายซื้อขายล่วงหน้า ระยะหลังก็มีกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล

    “เราจะเห็นว่าแต่ละกฎหมายวางกรอบเป็นบล็อก แต่ละบล็อกมีตัวกลาง ก็มีคำถามว่าทำไมตัวกลางจึงไม่ข้ามบล็อก (cross-block) กันได้ เช่น เวลาซื้อกองทุนรวม และตลาดอยู่ในสถานะ long อย่างเดียวจะมีประสิทธิภาพดีหรือไม่ ถ้าเป็นตลาดที่ใช้ประโยชน์จากสัญญาล่วงหน้าได้ จะเป็นอย่างไร จะมีโอกาสบูรณาการหรือไม่ ต้องฝากให้คิด landscape ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะรวมกฎหมายที่ออกเป็นชุดๆ ที่ผ่านมาเพื่อประสิทธิภาพ” ดร.ประสารกล่าว

    สอง การธุรกรรมทางการเงินที่ต้องมีการขออนุญาต การใช้ระบบแบบนี้ความเร็วในการพัฒนา จึงขึ้นอยู่กับศักยภาพของผู้ใช้อำนาจ หรืออีกนับหนึ่งศักยภาพของผู้อำนาจเป็นเพดาน จะทำอะไรที่เกินเพดานความสามารถของผู้มีอำนาจทำไม่ได้ แล้วจะมีวิธีอะไรที่จะทำให้เกิดนวัตกรรม

    ด้านแกนหลักที่สาม คือ การพัฒนาที่ยั่งยืนจะมีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่ความคิดใหม่ทั้งหมด แต่ทำให้สร้างกรอบที่ชัดเจน เกิด common vision วิสัยทัศน์ร่วมกัน เป็นการพัฒนาที่กว้างกว่า บรรษัทภิบาล ครอบคลุมไปถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม

    ในด้านนี้มีสองข้อที่ต้องคำนึง คือ หนึ่งหาแนวทางให้เดินหน้าไปกับ mainstream ของธุรกิจ และอาศัยกลไกตลาด ถ้าทำให้จะมีพลังอย่างมาก ไม่ใช่กิจกรรมพิเศษ แต่เรื่องจะทำได้ต้องมีฐานข้อมูลที่ดี เพื่อให้กลไกทำงานและ และให้ธุรกิจรู้สึกว่าในธุรกิจหลักทำได้ไม่ใช่เป็นเพียงแผนกหนึ่ง เช่น ธุรกิจซีเมนต์ที่ผลิตปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ หรือผลิตพลาสติกที่รีไซเคิลได้

    สอง การส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับความยั่งยืน เพราะยังมีความเข้าใจที่แตกต่างกัน

    ดร.ประสารปิดท้ายว่า “ขอฝาก ก.ล.ต. ในแกนหลักที่สอง และสองแกนย่อย บทบาทดิจิทัลที่เป็นเรื่องใหม่ และพัฒนาอย่างรวดต่อเนื่อง แต่ ก.ล.ต. ก็ทำงานด้านนี้ได้ดี สินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายที่เป็น token ไม่มีปัญหา เพราะอ้างอิงมูลค่ากับสินทรัพย์บางประเภท แต่ปัญหาใหญ่คือ คริปโทเคอร์เรนซีไม่มีการอ้างอิงมูลค่ากับอะไร ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ซื้อผู้ขาย และอ้างว่าเป็นวิธีชำระเงิน ใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้า แต่ราคาแกว่งตามความพอใจของผู้ซื้อผู้ขาย”

    นอกจากนี้ ในเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ ก.ล.ต. ต้องฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ “ต้องไม่ใช้ศักยภาพของ ก.ล.ต. เป็นเพดานของความก้าวหน้าของตลาดทุน”

    Disintermediation ขาดเครื่องมือกำกับดูแล

    นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. (พ.ศ. 2558 – 2562)
    นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. ปี 2558 – 2562 ภารกิจของ ก.ล.ต. เกี่ยวข้องบริษัทตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงบริษัทใหญ่ข้ามชาติ นักลงทุนรายเล็กรายใหญ่ นักลงทุนต่างประเทศ ตลาดตราสารหนี้ การกระทำผิดที่เกี่ยวกับตลาดหุ้น และล่าสุดได้ดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มเติม

    มองไปข้างหน้าภารกิจของ ก.ล.ต. ก็ยังคงมีมาก แต่เรื่องสำคัญมีด้วยกัน 3 เรื่อง

      1) Interconnectedness ความเชื่อมโยงของตลาดทุน ตลาดเงิน ระบบสถาบันการเงิน ตลาดตราสารหนี้ไทยเติบโตเร็ว กองทุนรวมก็เติบโตเร็วมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ถึง 8 ล้านล้านบาท ซึ่งผู้เล่นหลักทั้งสองตลาด คือ สถาบันการเงิน ลูกค้าที่ซื้อคือลูกค้าของสถาบันการเงิน ถ้าอะไรเกิดขึ้น สถาบันการเงินจะได้รับผลกระทบหนัก
      2) Disintermediation การไม่มีตัวกลาง เมื่อเกิดขึ้นสิ่งที่ผู้กำกับดูแลขาด คือ ขาดเครื่องมือในการที่จะกำกับดูแล เพราะที่ผ่านมาผู้กำกับดูแลให้ตัวกลางกลั่นกรองผลิตภัณฑ์ ให้ตัวกลางให้คำแนะนำ ให้ดูแลความมั่นคงของระบบส่งมอบ ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไม่ต้องการให้ตัวกลางเข้ามา จึงมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามา ซึ่งไม่คุ้นเคยกับระบบบริหารความเสี่ยง ไม่เคยเจอกับการล่มสลายของสถาบันการเงิน ขณะเดียวกันลูกค้าก็เป็นลูกค้ารายใหม่ ไม่มีประสบการณ์ขาดทุนจากการลงทุนมาก่อนแต่เข้ามาเพื่อหวังผลตอบแทน ก็จะเป็นความท้าทายในระยะต่อไป
      3) อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำนาน ทำให้เกิดพฤติกรรม search for yield ไปลงทุนในสิ่งที่ไม่รู้จักไม่เข้าใจ

    “การพัฒนาตลาดทุนไทยในช่วงทศวรรษหน้าจะมีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพเศรษฐกิจและสังคม ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนจึงต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ว่าจะ ก.ล.ต. เอง ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลและส่งผ่านนโยบายที่สำคัญ ตัวกลางซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ให้บริการและคำแนะนำแก่ลูกค้า แต่ที่สำคัญที่สุด ก็คงเป็นการเตรียมตัวของนักลงทุนซึ่งจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องสินค้าที่จะนำเงินไปลงทุน รวมทั้งความเสี่ยงที่จะตามมาด้วย”

    คลังย้ำต้องแก้กฎหมายคุมสินทรัพย์ดิจิทัล

    นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
    สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ โดยได้กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การพัฒนาตลาดทุนไทยเพื่อก้าวต่อไปในทศวรรษหน้า” ว่า ในปัจจุบันนอกจากตลาดเงินและตลาดทุนแล้ว ยังมีตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนเพิ่มจากบริบทเดิม เป็นสิ่งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ก.ล.ต. หารือร่วมกันมาโดยตลอดถึงขอบเขตการกำกับดูแลภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ เพื่อปิดช่องว่างที่มีอยู่ ซึ่งต้องมีปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในบางประเด็น

    โดยกฎเกณฑ์ที่มีอยู่นั้น เป็นไปเพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจของภาคเอกชน แต่ขณะเดียวกันจะต้องไม่เอาเปรียบประชาชน จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลในการรักษาสมดุลให้ได้ นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระดมทุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ผ่านผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ในตลาดทุน รวมทั้งการดำเนินนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (bio-circular-green economy — BCG) ของภาครัฐ”