ThaiPublica > คอลัมน์ > บทเรียนและทิศทางประชาสังคมในการกู้วิฤติโควิด(ตอน2)

บทเรียนและทิศทางประชาสังคมในการกู้วิฤติโควิด(ตอน2)

25 กันยายน 2021


กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

ต่อจากตอนที่ 1 บทเรียนและทิศทางประชาสังคมในการกู้วิฤติโควิด (ตอน1)

เบื้องหลังการขับเคลื่อน

ในกระบวนการทำงานภาคประชาสังคมที่เกิดขึ้นมีบทเรียนที่น่าสนใจ คือ ทุนทางสังคมที่สั่งสม ก่อให้เกิดผลงอกเงยและสามารถทำให้เกิดความเข้มแข็งดำรงอยู่ได้ อันเกิดจากการทำงานใกล้ชิดกับชุมชน/คนเปราะบางที่มีอยู่เดิมอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายเดิมและขยายงานไปสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ เช่น มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ทำงานกับกลุ่มแรงงานทั้งในชนบทและในเมือง แต่กลุ่มเหล่านี้เขามีทุนความรู้ ทุนทางเครือข่าย และทุนทางบุคลากรที่สั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น เมื่อเกิดสถานการณ์ใหม่ๆ จึงสามารถยกระดับการทำงานจากกลุ่มเป้าหมายเดิมไปสู่กลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ได้มากขึ้น ความสัมพันธ์ทางสังคมแบบไม่ทางการ ทำให้เกิดการเชื่อมต่องาน หนุนเสริมกันได้อย่างรวดเร็ว ถ้าเทียบกับการจะต้องมาจัดตั้งระบบ ออกแบบกำหนดบทบาท ทำกติการ่วม หรือกลไกประสานงานกลาง อันนั้นยังเป็นสิ่งที่ช้าและมาทีหลัง การทำงานแบบเครือข่ายที่ไม่มีศูนย์กลางเดี่ยว ตายตัว และเชื่อมต่อไปอย่างกว้างขวาง มีประสิทธิภาพดีกว่าการออกแบบระบบอย่างเป็นทางการ เช่น คลองเตยดีจังเชื่อมไปถึงการทำงานกับภาคีสังคมและรัฐมากมาย

สภาพของการรวมพลังในการเชื่อมต่อเหล่านี้ดีกว่าการออกแบบระบบที่เป็นทางการ การทำให้เรื่องโควิดเป็นเรื่องบทสะท้อนและทิศทางการเผชิญความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ที่นำมาสู่ภาวะเสี่ยงจากแรงกระแทก ความเปราะบาง และการขาดภูมิคุ้มกัน จะเห็นได้ว่าภาคีที่จับเรื่องโควิดบทบาทจะไม่ได้อยู่ที่การแก้ไขปัญหาเยียวยาอย่างเดียว แต่ยังชี้ให้เห็นความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และอื่นๆ ที่พวกเขาเผชิญกับโครงสร้างเหล่านี้ เพราะฉะนั้นมันก็เลยสื่อไปถึงนัยยะความไม่เป็นธรรมที่ปรากฏเหล่านี้ด้วย

ก้าวต่อไปที่ควรคิดคำนึง

(1) เรายังอยู่ในภาวะ “แปรปรวน” ของโควิดที่ยังมีอัตราเร่งที่รุนแรง และคาดการณ์ได้ยาก บทเรียนในวันนี้อาจใช้ไม่ได้ทั้งหมดสำหรับวันพรุ่งนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับภาวะโลกร้อนเรายังแปรปรวนไปได้อีกเป็นร้อยปี โควิดก็เช่นกัน ที่แม้อาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่เรายังอยู่ในภาวะแปรปรวนที่มีอัตราเร่งรุนแรง และคาดเดาได้ยาก บทเรียนที่เกิดขึ้นเมื่อวาน วันนี้ อาจจะใช้ไม่ได้ทั้งหมดสำหรับวันพรุ่งนี้หรือในอนาคตก็ได้

(2) การจัดการเชิงซ้อน การแก้ปัญหาเร่งด่วนจะเชื่อมโยงกับการสร้างภูมิกันคุ้มกันจากสภาพแวดล้อม ระบบ ในแบบพหุเวลา หรือดำเนินไปพร้อมกันอย่างไร เราไม่สามารถจัดการความคิดแบบเส้นตรงได้ เพราะว่ามันจะทำให้แก้ปัญหาไม่สอดคล้องกับชีวิตของประชาชนจริงๆ

(3) แรงเสียดทานของระบบ พลังถ่วงรั้ง เสียดทานของสถานการณ์ และระบบ (ภาคี แหล่งทุน กลไกสังคม รัฐ สาธารณะ) ซึ่งหากระบบสนับสนุนไม่ปรับตาม ก็จะทำให้เกิดแรงเสียดทาน เช่น กลับสู่ระบบรวมศูนย์ การจัดการเชิงเดี่ยว หรือระบบแบบที่มักใช้ในสถานการณ์ปรกติ มันมีพลังถ่วงรั้งมากมายที่สร้างแรงเสียดทาน ไม่ว่าจะเป็นตัวเราเอง ระบบสนับสนุนของภาคี แหล่งทุน กลไกที่เราทำงานร่วม หรือกลไกที่ทำหน้าที่หลักในการแก้ปัญหา เราจะเห็นความขัดแย้ง เช่น ความไม่เข้าใจ ความไม่สอดคล้องกับหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ ซึ่งถ้าระบบสนับสนุนมันไม่ปรับตามก็จะก่อให้เกิดแรงเสียดทานมากขึ้น แล้วจะพาเรากลับไปหาการจัดการรวมศูนย์แบบเชิงเดี่ยว และเป็นระบบที่ออกแบบไว้ใช้ในสถานการณ์ปกติที่เราเห็นเกิดขึ้นอยู่มาก แรงเสียดทานอันนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะไปมีจุดจบที่ไหน พลังสังคมจะเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ได้มากหรือไม่

(4) ภาวะ “ยกเว้น” ที่ยืดเยื้อ หลายระลอก อาจทำให้ความร่วมมือเฉพาะกิจตามสถานการณ์ ยุทธศาสตร์ ที่มีอยู่ (คน ความรู้ เครือข่าย ช่องทาง ทรัพยากร) ไม่เพียงพอต่อคลื่นระลอกใหม่ เรามักจะคิดว่าภาวะโควิดยกเว้นจากภาวะปกติ ช่วงนี้ออกจากบ้านไม่ได้ต้องประชุมผ่านโปรกรมซูม ต้องสั่งอาหารทางออนไลน์ หรือจะต้องทำงานพัฒนาสังคมและขับเคลื่อนสังคมผ่านออนไลน์ไปด้วย แต่การยกเว้นเหล่านี้จะกลายเป็นภาวะปกติมากขึ้นเพราะภาวะที่ยืดเยื้อยาวนานมากขึ้น หมายความว่าพลังความร่วมมือภายใต้หน้าตักที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคน สมาชิกเครือข่าย ความรู้ จะเพียงพอหรือไม่ต่อคลื่นระลอกใหม่

(5) เราเป็นแค่กลุ่มพลังเล็กๆ ในจักรวาลสังคมสุขภาวะ (นอกปริมณฑล สสส.) เราจะมีการเชื่อมต่อปฏิสัมพันธ์สร้างสรรค์ที่มีพลังทวีคูณได้อย่างไร จำเป็นต้องมีการออกแบบจัดการขับเคลื่อนพลังสังคมระดับประเทศ มีการเคลื่อนไหวมากมายหลายกลุ่มทั่วประเทศไทย เช่น กลุ่มโอบใจ กลุ่ม Thai.care กลุ่มเส้นด้าย และกลุ่มต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งยังไม่ค่อยเชื่อมต่อกัน แต่ละกลุ่มก็มีหน้างาน มีแอปพลิเคชันของตนเอง กลุ่มวงแชร์สร้างสุขเป็นเพียงแค่กลุ่มพลังเล็กๆ ในจักรวาลการขับเคลื่อนที่ใหญ่โต ถ้าเราพบว่าทุนทางสังคมไม่พอ ปัญญาความรู้ยังจำกัด ภายใต้สถานการณ์ที่คาดหวังอะไรไม่ได้แน่นอน เราจะเชื่อมต่อเอาพลังจากกลุ่มต่างๆ ให้เกิดปฏิสัมพันธ์สร้างสรรที่มีพลังทวีคูณมากขึ้นได้อย่างไร ซึ่งจำเป็นต้องมีการออกแบบระบบการขับเคลื่อนที่ใหญ่โตมากขึ้น ที่เป็นการระดมพลังทางสังคมในการขับเคลื่อนระดับประเทศ

ยุทธวิธีการขับเคลื่อน

(1) การทำงานร่วมกับกลุ่มเป้าหมายในการประเมินสถานการณ์ที่จะมากระทบในปัจจุบันและอนาคต ความเปราะบางที่มีอยู่ในกลุ่ม และดำเนินการจัดการปัจจุบันอย่างเฉพาะเจาะจง พร้อมกับสร้างภูมิคุ้มกัน และความสามารถปรับตัวได้อย่างยืดหยุ่น ในสภาวะการเปลี่ยนแปลง การทำงานของภาคีสามารถเข้าไปส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายประเมินสถานการณ์ที่มากระทบกับเขาได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทำให้เห็นความเปราะบางของตัวเองที่มีอยู่ และดำเนินการจัดการกับปัจจุบันอย่างเฉพาะเจาะจง ไม่ว่าจะเป็นชุมชน ท้องถิ่น คนไร้บ้าน คนจนเมือง และกลุ่มอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าแต่ละกลุ่มมีขีดความสามารถประเมินตัวเองอย่างเฉพาะเจาะจง พร้อมกับออกแบบสร้างภูมิคุ้มกันตัวเองอย่างเฉพาะเจาะจงของตัวเองด้วย ก็จะสามารถปรับตัว มีภาวะยืดหยุ่นได้มากขึ้น

(2) จัดตั้งระบบ กลไก พื้นที่การเชื่อมพลังทางสังคมให้กว้างขวางที่สุด โดยอาศัยวิกฤติมาเป็นเป้าหมายร่วมกัน โดยเป็นกลไกที่ไม่รวมศูนย์ ยืดหยุ่น มีระบบหนุนเสริม และเชื่อมต่อความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราเป็นแค่กลุ่มเล็กๆ ในจักรวาลการขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่ จะมีกลไกที่เปิดกว้างการมีส่วนร่วมได้อย่างไร ไม่ใช่ไปดึงคนอื่นมาผนวกกับเราอย่างเดียว แต่เราอาจจะไปร่วมกับวงอื่นๆ แล้วมีแพลตฟอร์มกลางบางอย่างร่วมกันในบางลักษณะ บางประเภท ได้หรือไม่

(3) สร้างชุดความรู้ที่ผ่านการสังเคราะห์ เช่น การช่วยเหลือเยียวยาคนเปราะบาง การสร้างความมั่นคงการดำรงชีพ (ใจ อาหาร ปากท้อง สังคม ฯลฯ) การปรับตัวทางเศรษฐกิจ การสร้างพลังร่วมชุมชน การเชื่อมภาคี การสื่อสารสาธารณะ การเข้าถึงทรัพยากรและสาธารณูปโภค การจัดการความรู้ การจัดการเครือข่าย การผลักดันนโยบาย เป็นต้น ควรมีการถอดบทเรียนโดยให้แต่ละกลุ่มมาสะท้อนบทเรียนของตัวเอง ความรู้เหล่านี้ต้องลับให้คม ถกให้ชัด แล้วเอามาปรับเป็นข้อเสนอที่ชัดเจน ถ้าจะมีวงแชร์ฯ ครั้งต่อไปอาจจะเอาประเด็นที่เฉพาะเจาะจงมาถกกัน ว่าอะไรคือองค์ความรู้ของสิ่งเหล่านี้ ทั้งที่เหมือนและต่างกัน เช่น การช่วยเหลือเยียวยาคนเปราะบาง แต่ละกลุ่มก็อาจจะมีประสบการณ์ต่างกัน แต่น่าจะสังเคราะห์ให้ตรงกัน ให้มีจุดร่วมกันได้ การสร้างความมั่นคงในการดำรงชีพ ไม่ว่าจะเป็นความมั่นคงทางภาวะจิตใจ ความมั่นคงทางด้านอาหาร ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ ปากท้อง และอื่นๆ การสร้างพลังรวมกลุ่มของชุมชนในภาวะที่เรายังรวมกลุ่มกันไม่ได้ แต่บางบทเรียนอาจจะบอกว่าทำได้ในบางลักษณะ หรือองค์ความรู้เรื่องการปรับตัวทางเศรษฐกิจ การหาอาชีพทางเลือก ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ และการแสวงหาจุดที่มีความเข้มแข็งในเศรษฐกิจของตัวเอง

(4) สร้างสังคมตื่นตัวด้วยอาศัยวิกฤติโรคภัยและวิกฤติเศรษฐกิจ สังคม ทำให้สังคมตื่นตัวและหันมาทบทวนต่อสภาวะเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ที่สร้างความเสี่ยง เปราะบางให้กับผู้คน และออกแบบสังคมร่วมกัน คนตื่นตัวเรื่องโควิดอยู่แล้วแต่จะโยงมาเห็นถึงคนชายขอบ เห็นความเหลื่อมล้ำ และเห็นถึงโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมได้อย่างไร อาจจะต้องชวนตั้งคำถาม และหาทางคลี่คลายจากเรื่องนี้

(5) ทำให้สังคมเห็นคุณค่าของคนชายขอบ คนเปราะบาง ที่มีต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนจนเมือง แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ คนไร้บ้าน เกษตรกรรายย่อย ฯลฯ พวกเขามีบทบาทต่อการสังคมในหลายๆ ด้าน แต่คุณค่าเหล่านี้กลับไม่ได้รับการมอง ทำให้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความเหลื่อมล้ำ สังคมจะตื่นตัวเรื่องเหล่านี้ได้ต้องเห็นคุณค่าของคนชายขอบ แรงงานพม่า ว่าเขาสำคัญอย่างไรกับเรา ในฐานะไม่ใช่แค่เป็นแรงงาน เกษตรกรรายย่อยซึ่งอยู่ในสถานะสังคมสูงวัยมีความหมายอะไรบ้างในวิถีชีวิตของคนเมืองมากกว่าแค่การผลิตอาหารเอามาขายให้คนเมือง คุณค่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิ่งที่เขาสร้างประโยชน์ให้กับภาคสาธารณะเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะมันจะนำมาสู่การทำความเข้าใจมากยิ่งขึ้น มากกว่าจะมองคนชายขอบเป็นเรื่องของการสงเคราะห์ ต้องช่วยเหลือ แต่ว่าที่ผ่านมาสังคมอาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องนี้มากพอ

ความหวัง การฟื้นพลัง และบทบาทพลเมือง

“ความหวัง ทำให้เห็นสิ่งที่มองไม่เห็น รู้สึกถึงสิ่งที่สัมผัสไม่ได้ และบรรลุสิ่งที่เป็นไปไม่ได้” (เฮเลน เคลเลอร์, นักวรรณกรรมสตรีอเมริกันที่ตาบอดหูหนวกตั้งแต่เด็ก)

กลุ่มประชาสังคมต่างๆ ไม่ได้แค่แบ่งปันประสบการณ์ บทเรียน แต่ยังแบ่งปันและร่วมสร้างความหวังที่จะเปลี่ยนผ่านสังคมวิกฤติโควิดสู่ความสุข ความยั่งยืน และเป็นธรรม และที่สำคัญกว่านั้นจะสร้างความหวังให้กับคนเปราะบาง ที่ไร้หวัง ให้กลับมามีหวัง มีอนาคตได้อย่างไร
“ดูราวกับว่า โลกแห่งจินตนาการได้สร้างขึ้นเพื่อที่จะถูกทำลายลงครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อที่โลกใบใหม่จะถูกสร้างขึ้นอีกครั้ง จากชิ้นส่วนที่แตกสลายเหล่านั้น” (ฟรานซ์ โบแอส, นักมานุษยวิทยาอเมริกัน)

ในความทุกข์ทน จากความหวังในชีวิตของคนเปราะบางที่พังทลายลง นั่นอาจเป็นบทบาทของกลุ่มประชาสังคมที่จะสร้างพลังให้ผู้คนเหล่านั้นนิยาม ออกแบบความหวัง และเชื่อมพลังทางสังคมใหม่ๆ ขึ้นมา โดยใช้รูปธรรม เช่น อาหาร เหล้า การอ่าน อาสาสมัคร ฯลฯ

“อย่าสงสัยว่า พลเมืองช่างคิดและแสนมุ่งมั่นกลุ่มเล็กๆ จะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไร เพราะแท้ที่จริงแล้ว พวกเขาเป็นเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น ที่ทำได้จริง”…(มาร์กาเรต มี้ด, นักมานุษยวิทยาอเมริกัน)

แม้ความรุนแรงจากโควิดยังอาจมีคลื่นใหญ่กว่านี้อีกหลายระลอก แม้โครงสร้างความเหลื่อมล้ำยังดำรงอยู่มากมายและขยายตัว แต่พลังของประชาสังคมกลุ่มต่างๆ จะขยายผลได้จากความมุ่งมั่นในจินตนาการเพื่อการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ซึ่งหาได้ยากจากพลังทางสังคมที่ขาดกระบวนการเรียนรู้เชิงคุณภาพ

หมายเหตุ: บทความปรับปรุงจากบทสังเคราะห์ที่นำเสนอในเสวนาออนไลน์วง “แชร์สร้างสุข” สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564