ThaiPublica > คอลัมน์ > วิกฤติโควิดกับชีวิตเหลือทน ความหวังที่เลือนลาง และการแก้ปัญหาที่ไม่เคยตรงจุด

วิกฤติโควิดกับชีวิตเหลือทน ความหวังที่เลือนลาง และการแก้ปัญหาที่ไม่เคยตรงจุด

16 พฤษภาคม 2020


กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

วิถีตลาดในชนบท

ชุมชนริมฝั่งโขง ชายแดนและชายขอบของการปรับตัว

ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง หนองคาย ชุมชนที่นี่และอีกหลายแห่งตลอดสายน้ำที่เคยทุกข์ระทมจากภาวะแม่น้ำโขงกำลังตายด้วยเขื่อนใหญ่น้อย เริ่มมีความหวังเพียงเล็กน้อยที่จะได้จับปลาเมื่อน้ำในแม่น้ำโขงเอ่อสูงขึ้นจากการที่จีนเริ่มปล่อยน้ำจากเขื่อน แต่ความหวังของพวกเขาถูกทำให้สลายไปเมื่อรัฐบาลประกาศปิดเมือง ประกาศเคอร์ฟิว และบังคับใช้มาตรการระยะห่างทางสังคมซึ่งจะเข้มข้นมากกับพื้นที่ชายแดนเช่นนี้

ยามปรกติชาวบ้านจะออกหาปลายามค่ำคืน แต่ในยามนี้ติดเคอร์ฟิว ได้แต่หาปลาตอนกลางวันซึ่งก็หาได้ไม่มากนัก และปลาที่หาได้ก็ไม่มีใครมารับซื้อ เพราะตลาดในเมือง ภัตตาคาร ร้านอาหารต่างๆ ต่างปิดกันหมดสิ้น ไม่มีตลาดที่พวกเขาจะเข้าถึง รายได้จากแม่น้ำโขงที่เคยหล่อเลี้ยงชีพหดหายไป แต่ในแง่หนึ่งก็เป็นโอกาสดีที่ชาวบ้านจะได้บริโภคปลาตัวโตที่แต่ก่อนคงขายพ่อค้าไปหมดสิ้น

จะมีบางรายที่พยายามดิ้นรน เอาปลามาหมักปลาร้าหรือแปรรูปอื่นๆ เพื่อขาย แต่มีเพียงไม่มีกี่รายที่พอทำได้ เพราะขาดทุนรอน ไม่มีตลาด และไม่มีใครส่งเสริม

หากเป็นปีที่แล้วในเวลานี้พวกเขายังพอมีทางเลือกรายได้จากพืชผักและดอกไม้ริมโขง เช่น ดอกดาวเรือง ที่ปลูกไว้ขายในเทศกาลประเพณีบุญบั้งไฟ สงกรานต์ ที่จะมีผู้คนมาร่วมงานบุญอย่างคึกคัก แต่เทศกาลทั้งหมดต้องยุติลงอย่างสิ้นเชิง

ขณะที่รายได้อีกทางหนึ่งคือการท่องเที่ยว ชุมชนริมน้ำโขงทั้งหนองคายมาจนถึงอุบลราชธานี ดังเช่นบ้านสำโรง ผาชัน อำเภอโพธิ์ไทร อุบลฯ เคยได้รายได้จากการท่องเที่ยวริมน้ำโขงถึงร้อยละ 70 จากรายได้ที่หาได้ แต่ตอนนี้รายได้หลักก็หายไปหมด

ฐานที่มั่นสุดท้ายที่ยังอยู่คือ คือ อาหารจากแหล่งธรรมชาติจากริมโขง บุ่งทาม และพืชผักเพื่อบริโภคในครัวเรือนและแลกเปลี่ยนในชุมชน แต่ความมั่นคงทางอาหารจากธรรมชาติและการทำนาไร่ ยังทำให้พวกเขาพอดำรงชีพอยู่ได้ระยะหนึ่ง แต่จะทำอย่างไรกับหนี้สินที่มีไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาทต่อครัวเรือน พวกเขายังไม่มีคำตอบ

แม้จะมีลูกหลานที่ต้องหยุดงานกลับมาอยู่บ้าน พวกเขาไม่มีความรู้และไม่อยากมีชีวิตหาอยู่หากินกับธรรมชาติหรือทำการผลิต ลูกหลานที่เปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นคนเมืองเพียงแต่รอการช่วยเหลือจากรัฐ และรอที่จะกลับคืนสู่เมืองเพื่อทำงานอีกครั้ง โดยหวังลมๆ แล้งๆ ว่าวิกฤตินี้จะดำรงอยู่ไม่นาน

วิกฤติครั้งนี้ชุมชนริมฝั่งโขงมองว่า รุนแรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 มาก เพราะตอนนั้นฐานทรัพยากรยังสมบูรณ์ ชุมชนมีความสามารถในการผลิต ชาวบ้านยังมองว่าเป็นปัญหาของเมืองไม่ใช่ปัญหาเขาไม่ได้กระทบชุมชนมากนัก แต่วิกฤติโควิดคราวนี้ ทางออกไม่ใช่เพียงแค่การอัดฉีดงบประมาณที่เท่าไหร่ก็ไม่พอ หากชุมชนไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากร และพึ่งตนเองด้านอาหารและเศรษฐกิจได้

ดอกดาวเรือง

การตั้งรับและปรับตัวของชุมชนชาวนาอีสานและภาคกลาง

จากริมฝั่งโขงเคลื่อนมาสู่ใจกลางแดนอีสาน มหาสารคามดินแดนแห่งตักศิลา ชีวิตที่ถูกปิดการเคลื่อนย้ายเปิดโอกาสให้พ่อแม่ได้อยู่กับลูกตลอดเวลา แต่เดิมเด็กพอเริ่มโตจะถูกส่งไปเรียนในเมือง เวลาสร้างสัมพันธ์พ่อแม่ลูกอาจจะไม่มากนัก แต่พอต้องปิดเทอมยาวอย่างไร้กำหนด ลูกหลานกลับสู่ชุมชน พ่อแม่ก็ไม่มีงานทำ ต้องอยู่เฝ้าลูก มองจากคนนอกอาจคิดว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะกระชับความสัมพันธ์สร้างความอบอุ่นในครอบครัว แต่มุมองของพ่อแม่กลับกลายเป็นว่า พ่อแม่ต้องเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายทั้งค่าอินเทอร์เน็ตมือถือ เนื่องจากเด็กๆ จับกลุ่มกันเล่นมือถือทั้งวัน และค่าอาหารที่เพิ่มขึ้น เพราะเด็กๆ ไม่บริโภคอาหารพื้นถิ่นอย่างพ่อแม่ ภาวะที่รายได้ก็ไม่มี รายจ่ายก็เพิ่มขึ้น กลายเป็นความเครียดสะสม

ตัวอย่างของชุมชนมหาสารคามบ่งบอกถึงความหวังที่มาจากความแตกต่างทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี สำหรับครัวเรือนที่มีฐานการเกษตร ผลิตอาหารบริโภคได้ ยิ่งโดยเฉพาะครัวเรือนที่ทำเกษตรยั่งยืน ไม่มีต้นทุนเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี และสารเคมี แม้รายได้พวกเขาจะลดลงแต่ก็อยู่ได้ไม่ลำบากนัก หรือกระทั่งครัวเรือนที่ทำเกษตรทั่วไปที่ประสบภาวะต้นทุนการผลิตสูงและลำบากกว่ากลุ่มเกษตรยั่งยืน แต่อย่างไรเสียพวกเขายังมีฐานการผลิตเพื่อกินเพื่อขายอยู่ แรงงานที่ไปทำงานในเมืองตามช่วงฤดูก็ยังมีหลังอิง จะมีก็แต่ครัวเรือนที่เป็นแรงงานหรืออาชีพที่ไม่มีฐานการผลิต พวกเขาลำบากที่สุด ทางออกเดียวที่คิดได้คือ รอคอยการช่วยเหลือจากรัฐ เพราะการหาทางออกอื่นเป็นไปได้ยากในภาวะไม่มีตลาด

กลไกท้องถิ่นที่พอจุนเจือได้คือ ตลาดท้องถิ่น รวมถึงตลาดนัดอาหารอินทรีย์ (ตลาดเขียว) ที่ยังทำหน้าที่กระจายผลผลิตและรายได้ ชุมชนจึงต้องรักษาตลาดเอาไว้ให้ได้ ด้วยการปรับกฎระเบียบ มาตรการให้มีความเข้มงวด จัดระยะห่าง ตรวจวัดผู้เข้าตลาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

วิกฤติโควิดคราวนี้ทำให้เกษตรกรรวมไปถึงคนเมืองที่มหาสารคามหันมาสนใจการพึ่งตนเองด้านอาหารในครัวเรือนและชุมชนมากขึ้น กลับมาหาและบริโภคอาหารตามธรรมชาติ เช่น ไข่มดแดง ผักตามธรรมชาติ มีหลายรายที่หันมาสนใจเข้ากลุ่มเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก แต่ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าชุมชนส่วนใหญ่จะปรับตัวมาสู่วิถีเกษตรกรรมยั่งยืน เพราะส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าจะกลับคืนสู่ปรกติอีกไม่นาน และยังขึ้นอยู่กับมาตรการช่วยเหลือของรัฐว่าจะส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการพึ่งตนเองด้านอาหารและทำเกษตรยั่งยืนหรือไม่

จากอีสานมาถึงดินแดนสองแคว พิษณุโลก เกษตรกรชวนสวนทำเศรษฐกิจปลูกไม้ผลส่งออก เช่น มะม่วง มะปราง ฯลฯ แต่ในช่วงโควิด ตลาดส่งออกถูกปิด ราคามะม่วงที่ขายได้จากเดิมกิโลกรัมละ 40-50 บาท ตกลงเหลือ 10 บาท แม้บางส่วนจะพยายามปรับตัวสู่ตลาดออนไลน์ก็ติดปัญหาเรื่องการขนส่ง

มะปราง

แต่ที่เป็นปัญหานักหนาก็คือ แม้ตอนนี้เข้าถึงฤดูการทำนาแล้ว แต่ยังชาวบ้านยังไม่มีเงินลงทุน รายได้เดิมจากการขายผลผลิต ขายผลไม้ และรับจ้างหมดไปแล้ว ข้าวที่เก็บไว้ก็พอแค่บริโภค ไม่พอทำเมล็ดพันธุ์ปลูก ส่วนลูกหลานที่ตกงานกลับบ้าน พวกเขาไม่ได้มีวิถีเกษตรแล้ว รอแต่เพียงเมื่อไหร่จะมีงานในเมือง ความหวังที่ครอบครัวจะได้แรงงานมากขึ้นก็ยังไม่เป็นจริง

แต่กระนั้นชุมชนบ้านนอกยังพอหาอยู่หากินหาผักหาปลาได้บ้าง ยามค่ำคืนยังแอบลักลอบไปหากบ อึ่งอ่าง แม้จะต้องเผชิญกับการห้ามปรามอย่างเข้มงวด บางชุมชนมีกลุ่มออมทรัพย์ที่ยังพอให้สมาชิกกู้ยืมเงินประทังชีพ แต่สำหรับหนี้สินไม่รู้จะจัดการอย่างไร ทั้งหนี้ ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) และหนี้นอกระบบ แล้วพวกเขาจะเอาเงินที่ไหนลงทุนทำนาทำสวนรอบต่อไป

แต่สำหรับชุมชนเมืองแล้วลำบากกว่ามาก คนเมืองที่จนลงอย่างรวดเร็วในเวลานี้มีคำถามและความหวังอยู่อย่างเดียวคือ รัฐหรือเอกชนจะแจกอาหาร ของกินของใช้ที่ไหน หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ มาตรการช่วยเหลือด้านเม็ดเงินของภาครัฐคงแค่บรรเทาปัญหาเพียงชั่วคราวเท่านั้น หากไม่สามารถเปลี่ยนทั้งภาคชนบทและเมืองให้พึ่งตนเองด้านอาหารและเศรษฐกิจให้มั่นคงได้

ชุมชนชายฝั่งภาคใต้หลายฐานเศรษฐกิจกับวิถีการปรับตัว

จากที่ราบสูงอีสานลงใต้มาถึงชายทะเลภูเก็ตและพังงา เศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักต้องหยุดชะงักลงอย่างสิ้นเชิง ผลกระทบไม่ได้อยู่แค่จังหวัดเท่านั้นแต่ลามไปถึงจังหวัดอื่นๆ เพราะภูเก็ต-พังงาเป็นศูนย์กลางของรายได้ แรงงาน รวมถึงอาหารที่ต้องนำเข้ามาจากจังหวัดอื่นๆ เมื่อเศรษฐกิจที่ถูกปิดตัวจะกระทบลามเป็นลูกโซ่ ผู้คนพยายามหาทางกลับบ้านตนเองแต่ถูกปิดกั้น ตอนนี้เริ่มผ่อนคลาย หลายคนจะเร่งกลับบ้าน บ้างขับมอเตอร์ไซด์กลับไปถึงบ้านที่โคราช แต่โดยรวมแล้ว ชาวบ้านยังหวังว่าเศรษฐกิจการท่องเที่ยวจะกลับคืนมาเร็ววัน

แต่สำหรับชุมชนท้องถิ่น พวกเขามีฐานเศรษฐกิจ 3 ฐาน ทั้งการทำประมง การท่องเที่ยว และการทำสวนทำไร่ ผลกระทบจากโควิดทำให้การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ส่วนการทำประมงเพื่อหารายได้ก็ลดลงถึง 2 เท่า เพราะตลาดปิดและไม่สามารถขนส่งทางไกลได้ ชุมชนปรับตัวกลับไปพึ่งความมั่นคงทางอาหารจากฐานทรัพยากรธรรมชาติจากชายฝั่งและทะเล ผู้คนต่างกลับไปหาปูหาปลาเพื่อบริโภค แม้ทรัพยากรจะฟื้นฟูขึ้นจากการหยุดตัวลงของอุตสาหกรรมประมง แต่ฐานทรัพยากรจะรองรับการกลับมาหากินของผู้คนจำนวนมากได้อีกนานแค่ไหน ยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตา

เรือและเครื่องมือประมงเป็นปัจจัยสำคัญที่เคยถูกจัดสรรโดยแพปลา แต่ในยามนี้แพปลาปิดตัวลง ชาวบ้านขาดการเข้าถึงทุนและเครื่องมือในการทำประมง การกลับหาสร้างรายได้จากฐานทรัพยากรไม่ใช่เรื่องง่าย จึงต้องการสนับสนุนจากภาครัฐ จะมีก็แต่ชุมชนบางแห่งที่มีการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชายเลน ที่ยังรักษาฐานความมั่นคงอาหารไว้อย่างเข้มแข็ง แต่พวกเขาก็เริ่มเผชิญปัญหาเมื่อมีคนภายนอกเข้ามาใช้ทรัพยากรในพื้นที่ป่าชายเลนและทะเลชายฝั่งที่พวกเขาดูแล ระบบการจัดการทรัพยากรร่วมของท้องถิ่นกำลังเผชิญการท้าทายว่าจะรักษาสิทธิชุมชนต่อการจัดการทรัพยากรให้เข้มแข็งต่อไปได้เพียงใด

ประมงพื้นบ้าน

ชุมชนปรับตัวเข้าถึงตลาดทุกช่องทาง ใช้ช่องทางสื่อสารของทางการ เช่น facebook ของเทศบาลขายของ ใช้กลุ่ม line หรือ facebook ของชุมชนหาลูกค้า ทำให้เกิดตลาดท้องถิ่นออนไลน์ที่คึกคักมากขึ้น เสริมกับตลาดนัดท้องถิ่นที่มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมชาวบ้านป่าคลอกจึงคัดค้านกรณีที่ภาครัฐจะปิดตลาดนัดชุมชน

ในวิกฤติได้บ่งชี้ว่า ชุมชนชายฝั่งที่มีระบบการจัดการทรัพยากรที่เข้มแข็ง ยังเป็นที่พึ่งพิงของผู้คนทั้งในชุมชนและนอกชุมชนได้ บางชุมชนเริ่มหันกลับมาปลูกผัก ปลูกสวนเพื่อบริโภคมากขึ้น บางชุมชนที่มีกลุ่มออมทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ เกื้อหนุนสมาชิกยามตกยากได้ดี และยังเป็นฐานให้ชุมชนปรับตัวที่เข้มแข็ง และการมีตลาดท้องถิ่นที่ทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากร ยังช่วยให้เติมรายได้ให้ชุมชนอยู่ได้ เพราะการจัดสรรอาหารและเศรษฐกิจในท้องถิ่นจะเป็นคำตอบที่เป็นจริงมากกว่าการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนกับแดนไกล

แม้เศรษฐกิจท่องเที่ยวจะยังไม่ฟื้นเร็ววันดังที่ชาวบ้านคาดหวัง แต่การที่บางชุมชนมีหลายฐานเศรษฐกิจและสังคมที่เข้มแข็งทั้งทรัพยากรชายฝั่ง ความมั่นคงอาหารในครัวเรือนและชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ และมีตลาดชุมชนที่ทำหน้าที่ได้ดี ย่อมบ่งชี้ได้ว่า ทิศทางการกอบกู้ชุมชนชายฝั่งจากวิกฤติโควิดควรเป็นเช่นไร

สิ่งที่ท้าทายคือ การรุกกลับของโครงการขนาดใหญ่ของรัฐและเอกชนในนามของการฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและอื่นๆ เช่น ธุรกิจโรงแรม ท่าเรือ ฯลฯ ที่จะทำลายฐานของชุมชน นโยบายการสนับสนุนชุมชนจึงต้องรวมถึงการปกป้องฐานทรัพยากรและฐานดำรงชีพความมั่นคงอาหารของชุมชนให้คงอยู่และทำหน้าที่บริการทางนิเวศ เศรษฐกิจ สังคมให้ชุมชนและท้องถิ่นอย่างยั่งยืน และการกำหนดทิศทางท่องเที่ยวใหม่ให้เกิดความยั่งยืนและเป็นธรรมเพื่อให้ชุมชนได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง

ข้ามมาชุมชนชายฝั่งอ่าวไทยดังตัวอย่างชุมชนที่สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีทั้งฐานประมง ฐานท่องเที่ยว และฐานการเกษตร ซึ่งสถานการณ์ก็ไม่ต่างจากชุมชนภูเก็ต-พังงา ในระยะแรก ชาวบ้านแม้ทำประมงได้แต่ไม่มีตลาด แพปลา แหล่งรับซื้อสำคัญไม่รับซื้อสินค้าจากชุมชน ชาวบ้านเหลือแต่เพียงหาอยู่หากิน แต่ก็ยังต้องเผชิญปัญหาลมมรสุมกระหน่ำในช่วงนี้ทำให้ออกเรือลำบาก

ชุมชนชายฝั่งที่ทำประมงเข้าถึงการช่วยเหลือและสวัสดิการของรัฐได้ยาก หลายพื้นที่ไม่ได้รับถุงยังชีพ ชาวบ้านพึ่งพากองทุนประมงทะเลที่มีอยู่ (ปัจจุบันรัฐยังไม่ผ่านร่าง พ.ร.บ.กองทุนประมงแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.สภาการประมงแห่งชาติ) หลายรายเริ่มประสบปัญหาไม่สามารถคืนเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้กองทุนประมงของชุมชนจะเกิดปัญหาสะดุดได้

ชาวบ้านยังมีฐานการเกษตรที่ให้พึ่งพาแต่ก็ติดปัญหาขาดแคลนน้ำการเกษตร หากผลิตเชิงเดี่ยวจะยิ่งย่ำแย่ ทิศทางการเกษตรที่ชุมชนออกแบบคือ เร่งสร้างความมั่นคงอาหารในบ้าน นา สวน เช่น ปลูกผักหลังบ้าน หรือแซมในแปลงนา โดยจะต้องพัฒนาหรือจัดหาเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นมาปลูก และหาแนวทางสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การแปรรูป หรือหาช่องทางการขายผลผลิตให้ท้องถิ่นเพื่อยกระดับรายได้ให้มากขึ้น

มาตรการช่วยเหลือที่เร่งรีบและไม่ตรงจุด

ปัญหาเกณฑ์การแบ่งแยกการช่วยเหลือเยียวยา ออกเป็นโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือนสำหรับลูกจ้างชั่วคราว แรงงานอิสระ ทำให้เกษตรกรหลายรายที่เป็นผู้ใช้แรงงานด้วยไม่ได้รับการช่วยเหลือในระยะเริ่มต้นทั้งที่พวกเขาประสบปัญหาตั้งแต่แรก แม้ต่อมารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอีก 5,000 บาท แต่ชาวบ้านยังเข้าไม่ถึงเม็ดเงินการช่วยเหลือในเวลานี้ จำเป็นต้องพึ่งตนเองไปก่อน แต่นักพัฒนาที่ทำงานกับชุมชนต่างพากันสะท้อนว่า เม็ดเงินที่อัดฉีดลงมานั้น เท่าไหร่ก็ไม่พอ เพราะชุมชนภาคเมืองพึ่งตนเองไม่ได้เลย

ปัญหาใหญ่อยู่ที่ภาครัฐไม่มีความรู้ ความเข้าใจปัญหา ผลกระทบ และทุนทางสังคมที่ชุมชนมีอยู่ กระทรวงมหาดไทยให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเก็บข้อมูลผลกระทบชุมชนเพียงเล็กน้อยแล้วรีบรายงาน ทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่รอบด้าน และไม่ได้ผ่านการวิเคราะห์ เรียนรู้ ออกแบบร่วมกันของชุมชน หน่วยงานรัฐด้านการกำหนดนโยบายการพัฒนาก็เร่งรัดให้ผู้นำชุมชนจัดทำโครงการช่วยเหลือชาวบ้านโดยให้เวลาพัฒนาโครงการระยะสั้นมาก โดยมองข้ามกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาสังคม นักพัฒนาในพื้นที่ประเมินว่า หากเป็นเช่นนี้ โครงการที่ได้คงไม่พ้นปัญหาเดิมๆ ที่ท้องถิ่นมุ่งแต่ช่วยเหลือระยะสั้นและลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ไม่ได้ช่วยเหลือและพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นเท่าใดนัก และยังจะทำให้เกิดการคอร์รัปชันโดยอาศัยวิกฤติโควิด

นอกจากมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ภาครัฐได้เริ่มขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่เพื่อเตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจ เมกะโปรเจกต์ทั้งหลายที่เคยถูกประชาชนคัดค้านกำลังนำมาปัดฝุ่นใหม่ เช่น คณะรัฐมนตรีอนุมัติเขตเศรษฐกิจพิเศษอุตสาหกรรมจะนะ สงขลา เมื่อต้นปีนี้ และการประกาศเขตคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนประกาศนโยบายและหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุน เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นให้โครงการขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายมีการลงทุนในประเทศโดยเร็ว และยังมีโครงการอื่นๆ อีกมากมายที่ขับเคลื่อนโดยภาครัฐและทุนโดยเร่งรัดใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรของชุมชน โครงการที่เร่งรัด ขาดการประเมินผลกระทบที่เพียงพอและขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน จะเป็นการทำลายสมรถนะการดำรงชีพของชุมชนลงไป

ความหลากหลายผลกระทบและทิศทางการช่วยเหลือ

ชุมชนวิถีเมือง มีเศรษฐกิจพึ่งพาจากแรงงานรับจ้างและอาชีพอิสระ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ชุมชนเหล่านี้ไม่มีความสามารถในการพึ่งตนเอง ความหวังเดียวคือการรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐและสังคม และหวังว่าวิกฤติเศรษฐกิจจะผ่านไปเร็ววัน แม้มาตรการช่วยเหลือระยะสั้นเป็นสิ่งจำเป็น แต่หากไม่หนุนเสริมหรือเปลี่ยนผ่านให้เกิดการปรับระบบความมั่นคงอาหารและเศรษฐกิจให้พึ่งตนเองอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนได้ ชุมชนก็เพียงแต่ได้รับการยืดอายุดำรงชีพเพียงชั่วคราว และรอรับการช่วยเหลือต่อไปอย่างไร้ทางออก

ชุมชนชนบทที่มีวิถีเกษตรและแรงงานได้รับผลกระทบรองลงมา พวกเขาได้รับผลกระทบจากตลาดถูกปิด รายได้หยุดชะงัก แม้พวกเขาจะยังพอพึ่งพาอาหารจากธรรมชาติและการผลิตของตนเองได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถสร้างฐานเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองได้ ทั้งแรงงานที่กลับบ้านก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะกลับมาช่วยเหลือชุมชน เพราะรอคอยกลับไปทำงานในเมือง ชาวบ้านยังไม่สามารถหาอาชีพทดแทน ไม่มีทุนและปัจจัยการผลิต หากสถานการณ์ย่ำแย่ต่อไปอีก 2-3 เดือน ฐานการยังชีพและการผลิตของชุมชนจะพังทลาย มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐจะต้องเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่การสร้างความมั่นคงอาหาร การผลิตที่ยั่งยืน การเงินชุมชนที่เข้มแข็ง และการตลาดชุมชนที่กว้างขวางขึ้น

ชุมชนที่มีฐานเศรษฐกิจพึ่งตนเองเข้มแข็ง เช่น กลุ่มที่ดูแลปกป้องฐานทรัพยากร ชุมชนที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืน หรือมีระบบการเงิน สวัสดิการชุมชน กลุ่มเหล่านี้แม้เป็นกลุ่มน้อย แต่เป็นกลุ่มที่ตั้งรับปรับตัวได้อย่างเข้มแข็ง ผลกระทบที่มีต่อพวกเขาเป็นเรื่องการลดรายได้ แต่ไม่ได้ลดการพึ่งตนเองด้านอาหารและฐานเศรษฐกิจชุมชนเท่าใดนัก พวกเขาเป็นต้นแบบขยายผลไปสู่ชุมชนเมืองและชุมชนชนบทวิถีเกษตรและเมือง แต่ก็จำเป็นที่รัฐจะต้องมีนโยบายรองรับสนับสนุน โดยเฉพาะด้านการตลาดเพื่อสนับสนุนการผลิตชุมชนให้มั่นคงยิ่งขึ้น

สิ่งที่ควรพิจารณานอกเหนือจากมาตรการระยะสั้นก็คือ การพัฒนาโครงสร้างเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนทั้งหมดอย่างเป็นระบบ โดยมีปัจจัยหลายประการดังนี้

การมีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน โดยชุมชนเข้าถึงและจัดการได้เข้มแข็ง เพื่อให้ชุมชนต่างๆ พึ่งพานิเวศและฐานทรัพยากรอาหาร ดังนั้นรัฐจะต้องเร่งสนับสนุนการจัดการทรัพยากรของชุมชนทั้งในระดับพื้นที่ และในระดับนโยบายจะต้องเร่งปรับนโยบาย กฎหมายทรัพยากรต่างๆ ให้ส่งเสริมการพึ่งตนเองและพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรอย่างจริงจัง พร้อมกับยกเลิกโครงการต่างๆ ที่จะทำลายฐานทรัพยากรท้องถิ่น และมีมาตรการปกป้องคุ้มครองฐานทรัพยากรของชุมชนจากการรุกรานภายนอก

การพัฒนาฐานเศรษฐกิจชุมชนให้หลากหลาย หลายชุมชนที่อยู่รอดได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การมีฐานเศรษฐกิจที่หลากหลาย เช่น ฐานทรัพยากร การผลิต การท่องเที่ยว แรงงาน ฯลฯ จะทำให้ชุมชนปรับตัวสร้างดุลยภาพในวิกฤติเศรษฐกิจได้ดี การส่งเสริมฐานเศรษฐกิจชุมชนจึงไม่ควรเป็นไปในทิศทางเดียว

การเสริมสร้างระบบความมั่นคงอาหารและการผลิตของชุมชนให้พึ่งตนเองได้อย่างเข้มแข็ง ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาพันธุกรรมอาหารท้องถิ่น เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น การทำสวนผักครัวเรือน การทำเกษตรยั่งยืน การสร้างเสริมตลาดท้องถิ่นที่หลากหลายทั้งตลาดเชิงกายภาพและตลาดออนไลน์ และการพัฒนาผลผลิตให้สร้างมูลค่าเพิ่ม

การพัฒนาระบบสนับสนุนชุมชน เช่น ระบบการเงินชุมชน ระบบสวัสดิการชุมชน และระบบการเรียนรู้ของชุมชน ให้มีขีดความสามารถในการรอบรับปรับตัวของชุมชน

ปิดท้าย

ณ จังหวะนี้ ทั้งภาคชุมชนและภาครัฐจะต้องเร่งปรับความคิดและทิศทางการพัฒนาโดยด่วน สำหรับชุมชน การหวังว่าวิกฤติเศรษฐกิจจะหายไปเร็ววันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก การรอคอยการช่วยเหลือจากรัฐเพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยให้ชุมชนอยู่รอดได้ ในขณะที่โครงการช่วยเหลือต่างๆ ที่กำลังหลั่งไหลลงมาอาจไม่ได้มาหนุนเสริมชุมชนอย่างแท้จริงหากปราศจากข้อมูล ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของชุมชน

ชุมชนจึงต้องมีบทบาทเชิงรุกด้วยการศึกษาผลกระทบพื้นที่ และออกแบบทิศทางอนาคตที่ชุมชนจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการจัดการทรัพยากร การพัฒนาการผลิต การพัฒนาการท่องเที่ยว การพัฒนาเศรษฐกิจ ชุมชนจะต้องมีสิทธิกำหนดว่าทิศทางฟื้นตัวหลังเศรษฐกิจโควิดควรจะเป็นแบบไหน

ภาครัฐ ต้องไม่ดำเนินการที่ขาดข้อมูล สั่งการจากเบื้องบน เร่งรัด ขาดการมีส่วนร่วมประชาชน แต่ต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้กับชุมชน เปิดให้ชุมชนร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาและออกแบบโครงสร้างรองรับอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญภาครัฐต้องไม่พัฒนาหรือส่งเสริมโครงการใดๆ ที่ไปทำลายฐานทรัพยากร และวิถีดำรงชีพที่เป็นฐานเศรษฐกิจชุชนที่เหลืออยู่

ส่วนภาคประชาสังคม การช่วยเหลือสงเคราะห์ฉุกเฉินในเวลานี้เป็นสิ่งสำคัญ แต่ต้องมีเป้าหมายเปลี่ยนผ่านไปสู่การสร้างฐานเศรษฐกิจสังคมชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืน พร้อมไปกับดำเนินการติดตาม ตรวจสอบมาตรการช่วยเหลือของรัฐให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรม และตรวจสอบนโยบาย อภิโครงการต่างๆ ที่กำลังผุดขึ้นให้สนับสนุนชุมชนอย่างแท้จริง ไม่ทำลายฐานทรัพยากรและฐานชีวิตของชุมชน

วิกฤติโควิดกำลังเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนทบทวนบทเรียนที่ผิดพลาด และหันมาร่วมมือสร้างสรรค์ขับเคลื่อนชุมชนและสังคมให้พ้นวิกฤติ และใช้วิกฤติโควิดเป็นจุดเปลี่ยนสร้างสังคมไทยที่ยั่งยืนและเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในไม่ช้า