ThaiPublica > คอลัมน์ > บทเรียนและทิศทางประชาสังคมในการกู้วิฤติโควิด (ตอน1)

บทเรียนและทิศทางประชาสังคมในการกู้วิฤติโควิด (ตอน1)

24 กันยายน 2021


กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

เมื่อเผชิญคลื่น “สึนามิ” โควิด

ภาวะวิกฤติโควิดเปรียบเสมือน “เป็นคลื่นสึนามิ” หมายความว่ามันไม่ได้มีแค่คลื่นเดียว แต่มีตั้งแต่ระลอก 1, 2, 3 และอาจจะ 4, 5 แต่ละระลอกก็เป็นระลอกที่ใหญ่และอาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงมากขึ้น

การแพร่ระบาดโควิด กระทบต่อสังคม ชุมชน อย่างรุนแรง และเป็นไปแบบทวีคูณ ซึ่งเกินภูมิคุ้มกันทางสังคมที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และที่สร้างโดยการ “พัฒนา” สิ่งที่สังคมเคยรับมือได้ในระรอกที่ 1, 2, 3 อาจจะไม่พอ เพราะมันมีลักษณะเป็นอัตราทวีคูณมากขึ้น เช่น ความเป็นชุมชน หรือการทำงานของภูมิคุ้มกันที่ได้สั่งสมมา

นอกจากนี้ ผลกระทบจากโควิดได้ขยายโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่มีอยู่เดิมให้รุนแรงขึ้น หลายแผนงาน/โครงการได้พูดถึงเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนไร้บ้าน คนจนเมือง เด็ก หรืออื่นๆ ทำให้เห็นถึงโครงสร้างของความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม หรือแม้กระทั่งประชาชนที่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ วัคซีน อาหาร เป็นต้น ซึ่งโครงสร้างความเหลื่อมล้ำเหล่านี้มีอยู่เดิม เพียงแต่โควิดได้ขยายให้เห็นชัดมากขึ้น และทำให้เห็นว่า การขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะที่มีอยู่ ไม่เพียงพอต่อระดับความรุนแรง

คนชายขอบ กับความอ่อนไหวจากแรงกระแทกจากโควิด

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้กระทบกับคนชายขอบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนไร้บ้าน คนจน แรงงาน เกษตรกรรายย่อย คนพิการ และอื่นๆ อีกมากมาย คนเหล่านี้อยู่ในภาวะเปราะบางและอ่อนไหวเป็นทุนเดิม ซึ่งก็มาจากโครงสร้างความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่เดิมนั่นเอง แต่จุดที่ต้องคิดคือ คนเปราะบางหรือคนชายขอบมีทางเลือก (ทางเลือกสัมพันธ์กับอำนาจที่จะเลือก) ที่จำกัด แม้กระทั่งทางเลือกในชีวิตพื้นฐาน ทั้งเรื่องการต้องออกจากงาน การเข้าถึงวัคซีน/รับการตรวจหาเชื้อ การมีอาหารที่เพียงพอ การจัดการหนี้สิน ทุกอย่างมีจำกัด

ในขณะที่สังคมส่วนบนๆ อาจจะมีทางเลือกแบบนี้มากกว่า แม้จะเจอคลื่นในระลอกเดียวกัน ระบบคุ้มกันทางสังคมสาธารณะ เช่น ระบบอาหาร สาธารณสุข การศึกษา เศรษฐกิจ ฯลฯ ไปไม่ถึงคนชายขอบในสภาวะเดิม ยิ่งเผชิญภาวะโควิด พบว่า ระบบคุ้มกันทางสังคมเหล่านี้ยังห่างไกลจากการคุ้มครองชีวิตของคนชายขอบ จึงทำให้ประเด็นคนตัวเล็กตัวน้อยกลายเป็นโจทย์สำคัญที่ภาคประชาสังคมพยายามสะท้อนออกมา

การปรับตัวของคนชายขอบ และคนทำงานสังคม

การปรับตัว คือ ความสามารถที่จะเข้าใจระดับความรุนแรงของแรงกระแทก (ภายนอก) ความเปราะบาง (ภายใน) และความสามารถคาดการณ์ ออกแบบจัดการความเสี่ยงที่มีในปัจจุบันและอนาคต ไม่ว่าโควิดเข้ามา การถูกล็อกดาวน์ ระบบวงจรเศรษฐกิจปิด และปัญหาเรื่องการดูแลตนเอง เหล่านี้เรียกว่าระลอกความรุนแรงที่มากระแทก ขณะเดียวกันก็ประสานกับความเปราะบางภายในที่มีอยู่เดิม ท่ามกลางทางเลือก ความสามารถในการรับมือ และในการคาดการณ์และออกแบบจัดการความเสี่ยงที่มีอยู่ในปัจจุบันและอนาคตที่มีอยู่อย่างจำกัด

ดังนั้นประเด็นหลักของการปรับตัว ก็คือ ระดับความรุนแรงที่มากระทบความเปราะบางที่มีอยู่ และความสามารถในการคาดการณ์และจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้น คนชายขอบและคนทำงานสังคมยังประเมินสภาวะความรุนแรงที่จะเข้ามาได้ไม่มากนัก ขณะเดียวกัน ความเปราะบางภายในเป็นปัญหาโครงสร้างที่เรื้อรัง ทำให้พลังทั้งหมดมุ่งไปสู่การจัดการอดีตกับปัจจุบัน ยังขาดการวิเคราะห์ ออกแบบอนาคต ก็คือเรามีต้นทุนบทเรียนที่ผ่านมาในการแก้ปัญหาของปัจจุบัน เช่น ไม่มีอาหารเพียงพอ ไม่มียาเพียงพอ ไม่มีระบบการหนุนช่วย แต่เนื่องจากพลังมันไปประจุตัวกับภาวะเร่งด่วน จึงทำให้ขาดการวิเคราะห์และออกแบบอนาคต ว่าอนาคตภายหลังโควิดหรือแม้กระทั่งเดือนนี้และปีหน้าจะเป็นไปได้กี่แบบ และเราจะออกแบบมันอย่างไร

คุณลักษณะของการรับมือกับความเสี่ยง

(1) ความยืดหยุ่นทั้งในชีวิตและในการทำงานภาคประชาสังคม คนทำงานสุขภาวะเผชิญกับกรอบข้อจำกัดที่มีอยู่ เช่น บางคนทำแค่รายประเด็น บางแพลตฟอร์ม บางพื้นที่หรือบางยุทธศาสตร์ ซึ่งพบว่าวิธีคิดเชิงเดี่ยวแบบนี้มันไม่ยืดหยุ่นพอ จึงพยายามหาทางหลุดจากระบบหรือพันธนาการที่ตรึงตัว ทุนทางสังคมที่มีอยู่ว่าพอหรือไม่กับการขยายไปช่วยเหลือกลุ่มคนใหม่ๆ ที่กำลังเดือดร้อนมากขึ้น ก็อาจจะพบกับความตึงหรือแรงเสียดทานบางระดับ ที่ทำให้ยากต่อการรับมือกับกับความเสี่ยง

(2) ทักษะการสร้างการเรียนรู้ต่างวัฒนธรรม สถานการณ์เรียกร้องให้ทำงานกับผู้คนหลากหลาย เชื่อมไปสู่ภาคีใหม่ๆ และเรียนรู้การทำงานหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นคนเชี่ยวชาญเทคโนโลยี เอกชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ ที่มีความมุ่งมั่นอยากจะหาทางแก้ปัญหา โดยสามารถที่จะเชื่อมปัญญา แนวคิด ยุทธศาสตร์ บทเรียน ทรัพยากรที่มี มีแพลตฟอร์มที่พยายามผนึกเอาความหลากหลายของการทำงาน ทั้งนักพัฒนา นักกิจกรรม นักขับเคลื่อน ที่อยู่ในแต่ละประเด็น หรือในแต่ละสถานการณ์ออกมาให้เกิดการเรียนรู้กัน ซึ่งอาจจะต้องขยายไปสู่ความหลากหลายในพื้นที่อื่นๆ มากขึ้นในอนาคต

(3) ความสามารถเปลี่ยนผ่านตัวตน ด้วยการอ่านความหมายสถานการณ์ใหม่ กำหนดความเป็นตัวตนของคนทำงาน (“นักพัฒนา นักสื่อสาร นักวิชาการ นักนโยบาย นักประสาน นักส่งเสริม ฯลฯ”) เพื่อรับมือกับสถานการณ์ใหม่ และเป็นส่วนหนึ่งของการก่อรูปเครือข่ายทางสังคมที่คุณภาพใหม่ ทำงานแบบข้ามตัวตนแบบเดิมที่มีอยู่ แม้จะเป็นนักพัฒนาก็ต้องทำงานสื่อสาร ขับเคลื่อนในทางวิชาการ หรือแม้กระทั่งทางนโยบายได้ด้วย และการข้ามตัวตนเหล่านี้ไม่ใช่แค่รายปัจเจกหรือรายกลุ่ม แต่เป็นการก่อรูปเครือข่ายทางสังคมใหม่ๆ ที่กำลังสู้กับโควิด ซึ่งโยงกับปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาอื่นๆ

(4) ระบบการจัดการเครือข่ายแบบมีชีวิตที่ไร้ศูนย์กลางเดียว เชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่ที่มีทั้งออกแบบและเป็นไปตามธรรมชาติ คือไม่มีลักษณะเป็นกลไกกลาง คนกลุ่มเดียว องค์กรเดียวแล้วสร้างระบบระเบียบไว้ชัดเจนแล้วก็ทำงานจากตรงกลางกระจายไปสู่ปลายของเครือข่าย แต่ต้องมีลักษณะของการเชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่ การจัดการเครือข่ายแบบนี้จะเห็นได้ในบางบทเรียนที่ภาคีทำงานในพื้นที่สะท้อนออกมา ขณะเดียวกันอาจจะต้องคิดและออกแบบเครือข่ายเหล่านี้ให้มากขึ้น อย่างเช่น การพูดคุยว่าจะทำอะไรร่วมกันได้บ้าง ซึ่งเป็นการก่อรูปแบบหลวมๆ และกำลังพยายามจะเซ็ตขึ้นมาใหม่ แต่อาจจะต้องคิดให้เป็นพลวัตหรือมีชีวิต และไม่ได้มีศูนย์กลางเดียว

(5) การจัดการความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ เฉพาะเจาะจง ความรู้ชนิดไหนจำเป็นต่อใคร ในภาวะไหนหรือบริบทอะไร ในสถานการณ์ที่เจอบางคนอาจจะเก่งความรู้เรื่องงานวิชาการเชิงสถิติ บางคนอาจมีความรู้ด้านการส่งเสริมการปลูกผัก การสร้างความมั่นคงด้านอาหาร บางคนอาจจะเก่งเรื่องการประสานให้เข้าถึงบริการสุขภาพ บริการเรื่องยา บริการโรงพยาบาล สิ่งเหล่านี้ต้องมีการจัดการความรู้ให้เป็นระบบและมีความเฉพาะเจาะจง ในสถานการณ์ที่ประชาชนหรือกลุ่มเปราะบางกำลังเผชิญ

(6) การจัดการเชิงซ้อนในพหุเวลาร่วมกัน เช่น การช่วยเหลือสุขภาวะ พร้อมไปกับการสร้างความมั่นคงอาหาร เศรษฐกิจ สังคม ในสถานการณ์นี้ไม่สามารถใช้วิธีคิดแบบเป็นเส้นตรงจากหนึ่งไปสอง สองไปสามได้ แต่มันต้องไปพร้อมๆ กัน คือขณะที่เรากำลังดูแลเรื่องสุขภาพก็ต้องไปตอบโจทย์ชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจของด้วย เราสามารถก้าวจากเส้นวิธีคิดแบบการพัฒนาเป็นเส้นตรงออกไปได้

ปฏิบัติการสร้างพลังร่วมประชาสังคม

ปฏิบัติการสร้างพลังของประชาสังคมมีทั้งการเข้าถึงกลุ่มเดือดร้อน กลุ่มเปราะบางใหม่ๆ ที่มากกว่าพื้นที่งานปกติ เป็นการก้าวข้ามทั้งความเป็นตัวตนแบบเดิม หรือพื้นที่บริบทแบบเดิม บางกรณีสะท้อนถึงการสร้างระบบจัดการในภาวะเร่งด่วน เช่น การรับเคส ส่งต่อ ติดตาม ฯลฯ และช่วยเหลือ เสริมพลังผู้เปราะบางในทุกด้านของชีวิต เช่น พลังใจ สุขภาพ ปากท้อง การดำรงชีพในภาวะปรกติใหม่ สร้างภูมิคุ้มกันสังคมหมู่ ฯลฯ การสร้างระบบทรัพยากรร่วมส่วนกลางของกลุ่ม เช่น มีแหล่งผลิตอาหาร ป้อนอาหารเข้าสู่กลุ่มคนที่ต้องการ หรือทำศูนย์พักคอย ซึ่งการมีทรัพยากรกลางหรือกลไกกลางนี้ปรากฏอยู่ทั้งในระดับการจัดการในชุมชน และในระดับกลุ่มที่กว้างขวางมากขึ้น

การทำงาน “หลังบ้าน” ระบบข้อมูลรองรับเพื่อประเมินความรุนแรง จำแนกประเภท ติดตาม ไม่ว่าจะประเมินเรื่องความรุนแรง การเอาข้อมูลมาแยกประเภทและติดตามผล รุกเชื่อมต่อทุกภาคส่วน (รัฐ อาสาสมัคร ธุรกิจ) เพื่อเร่งแก้ปัญหา ทำหน้าที่ในการ จัดสรรทรัพยากร เช่น อาหาร ยา/สมุนไพร ส่งเสริมการพึ่งตนเองอาหารไปสู่ประชาชนที่เดือดร้อน ทั้งเฉพาะหน้าและพึ่งตัวเองให้ได้ เชื่อมต่อสาธารณะผ่านสื่อหลากหลายแพลตฟอร์ม ทั้งสื่อหลักและสื่อออนไลน์ รวมไปถึงการติดตามตรวจสอบ เสนอแนะทางนโยบาย ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น โดยการสร้างกระแสสาธารณะและการเข้าถึงกลไกนโยบาย (ล็อบบี้) เช่น นโยบายการเข้าถึงการรักษาพยาบาล เรื่อง CPTPP ไปจนถึงเรื่องของความมั่นคงทางอาหารในระดับท้องถิ่น

หมายเหตุ: บทความปรับปรุงจากบทสังเคราะห์ที่นำเสนอในเสวนาออนไลน์วง “แชร์สร้างสุข” สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564