ThaiPublica > คอลัมน์ > เร่งฉีดวัคซีนสังคม เพื่อฟื้นภูมิคุ้มกันชุมชนที่ถูกทำลาย

เร่งฉีดวัคซีนสังคม เพื่อฟื้นภูมิคุ้มกันชุมชนที่ถูกทำลาย

27 มกราคม 2021


กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

การระบาดของโควิดรอบใหม่ สร้างความตื่นกลัวให้กับสังคมไทยไม่น้อยกว่ารอบที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่เพียงการแพร่ระบาดที่รวดเร็วกว้างขวางจากจุดแรงงานข้ามชาติ บ่อนพนัน และอื่นๆ เท่านั้น แต่ยังมาจากความกังวลว่าภูมิคุ้มกันทางสังคมของชุมชนต่างๆ หลายแห่ง (เงินออม การผลิต ฐานทรัพยากร ฯลฯ) ที่เคยใช้ต่อสู้กับการระบาดโควิดรอบแรกได้หมดพลังไปมากแล้ว โดยที่แผนช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมที่รัฐบาลกู้เงินมา 4 แสนล้านบาท ก็ยังไม่ได้ดำเนินการเป็นเรื่องเป็นราวและไม่ได้ส่งผลอะไรเลย ที่เห็นชัดที่สุดดูเหมือนจะเป็นโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ก็ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไปหมดแล้ว

ในยามที่เศรษฐกิจโลกหยุดชะงัก และเศรษฐกิจไทยก็มาผิดทางที่พึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกมากเกินไป กำลังไม่มีทางไป ดูเหมือนความหวังสุดท้ายของประเทศขณะนี้คือรอคอยพึ่งพาวัคซีน ซึ่งก็ยังมีปัญหามากมาย ไม่ว่าผลกระทบต่อสุขภาพจากวัคซีนหลายบริษัทที่ไม่ได้มีการทดสอบเพียงพอดังข่าวที่ปรากฏในต่างประเทศขณะนี้ ความไม่แน่ใจต่อสัมฤทธิ์ผลของวัคซีน ยังไม่นับว่าค่าใช้จ่ายอันมหาศาล และกว่าวัคซีนจะมา จะกอบกู้วิกฤติประชาชนได้ทันการณ์หรือไม่

การสร้างภูมิคุ้มกันทางสุขภาพจากวัคซีนยังไม่หวังชัดเจน แต่เราลืมคิดค้นวัคซีนทางสังคม ที่จะฟื้นฟูภูมิคุ้มกันสังคมของชุมชน ประชาชนให้กลับมายืนหยัดได้อย่างเข้มแข็งในสถานการณ์เศรษฐกิจสังคมของโคนวิดที่ยังไม่รู้จะจบเมื่อไหร่

ผลการศึกษารอบที่แล้วช่วงกลางถึงปลายปีที่ผ่านมาของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาร่วมกับภาคีประชาสังคมต่างๆ บ่งบอกว่า ผลกระทบเศรษฐกิจสังคมเกิดขึ้นกับประชาชนฐานล่างในภาคเมืองอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบต่อไปที่ชุมชนท้องถิ่น แต่ผลกระทบในระดับชุมชนมีความแตกต่างกันไป ตามทุนทางสังคมหรือภูมิคุ้มกันสังคมที่มีอยู่เดิม ชุมชนที่มีการจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติที่ดี มีระบบการผลิตที่พึ่งตนเอง มีระบบการเงินชุมชนเข้มแข็ง มีระบบตลาดชุมชนที่ยังทำหน้าที่กระจายทรัพยากร และมีฐานเศรษฐกิจหลากหลายสามารถกระจายความเสี่ยงได้ ชุมชนเหล่านี้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เมื่อเทียบกับชุมชนที่พึ่งพาตลาดภายนอกเป็นหลัก (พืชพาณิชย์ ท่องเที่ยว ตลาดเมืองใหญ่ ฯลฯ)

หลายชุมชนตั้งมั่นอยู่ได้เพราะมีทุนทรัพยากร ทุนเศรษฐกิจ และทุนสังคมที่เครือข่ายชุมชนร่วมกันจัดการมาเป็นเวลานาน สิ่งเหล่านี้คือ “วัคซีนทางสังคม” ที่ชุมชนได้ร่วมสร้างจนเกิดเป็นภูมิคุ้มกันสังคมที่เข้มแข็ง แต่หลายชุมชนประสบปัญหาภูมิคุ้มกันทางสังคมของพวกเขาถูกทำลายลงไม่ว่าจะเป็นระบบตลาดที่ผูกขาดไม่เป็นธรรม นโยบายรัฐ เช่น การจัดการทรัพยากรที่ปิดกั้นการเข้าถึงและจัดการทรัพยากรของชุมชน การส่งเสริมระบบการผลิตแบบพึ่งพา การใช้ระบบการศึกษาที่แปลกแยกจากชุมชน และอื่นๆ

ความเปราะบางจากการที่ภูมิคุ้มกันสังคมของชุมชนถูกทำลายจากระบบตลาดและนโยบายรัฐ ทำให้เมื่อเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ พวกเขาจึงเผชิญผลกระทบที่รุนแรง ขาดความสามารถในการปรับตัว

ในวิกฤติโควิดรอบใหม่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนาร่วมกับภาคีได้สำรวจเบื้องต้นถึงสถานการณ์ของชุมชนท้องถิ่นช่วงเดือนมกราคมนี้ พบว่า สถานการณ์มีความหลากหลายและซับซ้อนขึ้น

ชุมชนเกษตรกรรมอินทรีย์รายย่อยจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสินค้าเกษตรและอาหารของภาคกลาง ในสถานการณ์รอบแรก เกษตรกรรายย่อยที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืนยังพอมีช่องทางการตลาด ขายผลผลิต มีรายได้เข้ามาบ้าง แต่ในห้วงเวลานี้ที่พืชผักผลไม้อินทรีย์ออกสู่ตลาดมาก แต่ตลาดท้องถิ่น ตลาดจังหวัดซบเซาอย่างหนัก ไม่มีตลาดให้ขาย ผู้บริโภคไม่ออกจากบ้าน ส่วนแรงงานที่กลับบ้านเพราะหมดหวังรองานในเมืองก็กำลังจะเริ่มทดลองเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่

แต่เทียบกับจังหวัดลำพูน และสงขลา ทั้งสองจังหวัดนี้มีผลกระทบไม่มากนัก ชุมชนสทิงพระ สงขลา มีฐานทรัพยากร มีกลุ่มออมทรัพย์ที่เข้มแข็ง และมีตลาดชุมชนที่ยังทำหน้าที่ได้ดี ชุมชนจึงสามารถตั้งรับปรับตัวได้เช่นเดิม ที่น่าสนใจคือ ลำพูน ซึ่งมีกลุ่มพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อสว.) ทำหน้าที่สื่อสารเรื่องสุขภาพพระสงฆ์ เฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสุขภาพในวัดและชุมชนอย่างเข้มแข็ง กลุ่ม อสว.เหล่านี้ได้รวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่ชื่อว่า “หริภุญไชย อโรคยา”มาตั้งแต่ปี 2561 มีบทบาทสำคัญเป็นวัคซีนทางสังคมให้กับชุมชนทั้งในเรื่องการดูแลสุขภาพ การสร้างความมั่นคงอาหาร การจัดการทรัพยากรฯ เมื่อวิกฤติโควิดรอบสอง ชุมชนจึงมีภูมิคุ้มกันสังคมที่เข้มแข็ง

กรณีลำพูน สงขลา และอีกหลายจังหวัดสะท้อนว่า ผู้ที่เป็นวัคซีนทางสังคม สร้างให้เกิดภูมิคุ้มกันทางสังคมก็คือกลไกต่างๆ ในชุมชนนั่นเอง ภูมิคุ้มกันดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น แต่มาจากวิถีชีวิต กระบวนการเรียนรู้และปรับตัวต่อสภาพปัญหามานาน และยังมีเครือข่ายประชาสังคมเข้าไปหนุนเสริมจนสุกงอม ขยายผลดังที่ปรากฏ

แต่เทียบแล้ว ชุมชนส่วนใหญ่อยู่ในโครงสร้างที่เปราะบาง ขาดภูมิคุ้มกันทางสังคมแต่เดิม พึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกทั้งปัจจัยการผลิต แรงงาน เทคโนโลยี ตลาด รับจ้าง งานบริการ ชุมชนเหล่านี้กำลังเผชิญความเสี่ยงขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับชาวบ้านที่อยู่สุดชายขอบของโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม เช่น กลุ่มชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ สตูล แต่เดิมพวกเขาก็ถูกรุกไล่ที่ทำกิน ปิดกั้นการเข้าถึงชายหาดเพื่อเลี้ยงชีพจากธุรกิจท่องเที่ยว เมื่อสถานการณ์โควิดรอบแรกทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวหยุดตัวลง ชาวบ้านต้องต่อสู้ดิ้นรน จนปลายปีสถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัวขึ้นบ้าง ชุมชนอูรักลาโว้ยแม้จะได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจท่องเที่ยวในลำดับท้ายสุดก็ยังพอมีรายได้ แต่โควิดรอบสองกำลังทำให้โอกาสทางเศรษฐกิจของพวกเขาริบหรี่ยิ่งขึ้น

กรณีล่าสุดชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยในผืนป่าแก่งกระจาน เพชรบุรี ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่ถูกรัฐประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานซ้อนทับและอพยพพวกเขาออกมา แต่ไม่จัดที่ทำกินให้ จนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโควิด ชาวบ้านไม่สามารถยังชีพได้ต่อไป บางส่วนฝืนกลับไปหาพื้นที่บรรพชนเดิมเพื่อทำไร่หมุนเวียน และกำลังเสี่ยงที่จะถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุม

หรือบทเรียนจากกรณีแรงงานประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นกลุ่มคนชายขอบที่แทบไม่มีใครให้วัคซีนทางสังคมพวกเขาเลย วิกฤติโควิดรอบสองได้เผยถึงความรุนแรงทางวัฒนธรรมในสังคมไทยมากขึ้น สะท้อนจากเสียงต่อว่าต่อขานว่าเป็นสาเหตุให้โรคแพร่ระบาด เกิดความไม่วางใจ เกลียดชัง ต่อชีวิตพวกเขารุนแรงยิ่งขึ้น ภาพการล้อมลวดหนามรอบตลาดสมุทรสาครที่แพร่ระบาดโรค โดยไม่สนใจว่าแรงงานประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้จะดำรงชีพต่อไปอย่างไร ก็บ่งบอกถึงอคติทางวัฒนธรรมที่มักจะผุดขึ้นมาทุกครั้งเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ สังคม ทั้งที่รัฐและสังคมไทยก็ทราบดีว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยในทุกภาคส่วนยังคงเดินต่อไปได้ ส่วนสำคัญมาจากการพึ่งพาแรงงานประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้นี่แหละ

บทเรียนการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อชีวิตของชุมชนต่างๆ ในวิกฤติโควิดทำให้เราต้องกลับมาทบทวนว่า รัฐจะเฉยเมยปล่อยให้ชุมชนต่างๆ สู้ปัญหา ปรับตัวไปตามลำพังหรือ ให้พวกเขาสร้างวัคซีน ภูมิคุ้มกันทางสังคมของตนเอง

แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่รัฐกู้เงิน 4 แสนล้านบาทมาดำเนินการ ก็ให้หน่วยงานรัฐดำเนินการเป็นหลัก ซึ่งก็ยังไม่สามารถสร้างวัคซีนสังคมได้ในเวลานี้ หรือที่รัฐเปิดช่องให้ภาคชุมชน ประชาสังคม เสนอของบประมาณมาดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยตรง จนถึงบัดนี้ก็เพิ่งผ่านการพิจารณาไม่กี่สิบโครงการ และยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแต่อย่างใด ที่มากไปกว่านั้นก็คือ

ทุกโครงการที่ผ่านการพิจารณา หน่วยงานรัฐเป็นเจ้าของโครงการ ชุมชนและประชาสังคมไม่ได้มีอิสระดำเนินการใดๆ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมงบประมาณมหาศาลไม่สามารถทำให้ชุมชนยืนหยัดต่อสู้กับวิกฤติเศรษฐกิจโควิดได้

สิ่งที่น่าวิตกมากว่านั้นก็คือ กระบวนการทางเศรษฐกิจโดยกลุ่มทุนด้านต่างๆ และนโยบายรัฐหลายเรื่องได้ทำลายภูมิคุ้มกันทางสังคมของชุมชนและประชาชนอย่างเหลือเชื่อ ในด้านสุขภาพ ระบบอาหารที่มาจากการผลิตด้วยสารเคมี ทำให้สุขภาพร่างกายของผู้ผลิตและผู้บริโภคอ่อนแอลง และเป็นเหตุหนึ่งเกิดโรคติดเชื้อโควิดได้ง่าย ประชาชนจำนวนมากที่ต้องสูดดมฝุ่น pm 2.5 อันมีที่มาจากควันรถ และการเผาเกษตรพาณิชย์ซึ่งมีทั้งกำกับโดยทุนขนาดใหญ่และเกษตรกรรายย่อยที่ต้องดิ้นรนเลี้ยงชีพในวิกฤติเศรษฐกิจโควิด ฝุ่นควันได้ทำให้ประชาชนเกิดความเสี่ยงต่อโควิดมากขึ้น ในด้านเศรษฐกิจสัคม นโยบายหลายอย่าง เช่น การจัดการป่าไม้ที่ดินที่ไม่ยอมรับสิทธิชุมชนดังที่ปรากฏกับชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หรือนโยบายพัฒนานิคมอุตสาหกรรม เช่น EEC หรือจะนะ

โครงการเขื่อนในลุ่มน้ำโขง และอื่นๆ ได้ทำลายภูมิคุ้มกันชุมชนจำนวนมากจากฐานทรัพยากรและการผลิตและมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น
หากวิฤติเศรษฐกิจโควิดยืดเยื้อยาวนาน จะไม่เพียงแค่ประชาชนชายขอบ แรงงานข้ามชาติและแรงงานในประเทศ กลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนฐานทรัพยากร คนจนเมืองจะเดือดร้อนอยู่ไม่ได้ แม้แต่คนชั้นกลางระดับล่างไปจนถึงระดับกลางก็จะเดือดร้อนเป็นลูกโซ่

แม้นักพยากรณ์เศรษฐกิจหลายคนจะทำนายว่า เศรษฐกิจไทยยังเข้มแข็งพอที่จะฟื้นตัวได้ แต่คำถามคือ เศรษฐกิจส่วนไหน เพราะเศรษฐกิจระดับบนและระดับกลางจะอยู่ได้อย่างไร หากฐานล่างพังไปหมดสิ้น

แทนที่จะทุ่มเทกับการหาวัคซีนฉีดป้องกันโรคเพียงอย่างเดียว รัฐและสังคมควรให้ความสำคัญกับวัคซีนทางสังคมให้มากขึ้น

สำหรับกลุ่มแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน รัฐต้องพัฒนาระบบสวัสดิการให้พวกเขาตรวจการติดเชื้อโควิดได้ฟรี ปรับลดค่าใช้จ่ายการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ลง ส่งเสริมให้พวกเขารวมกลุ่ม พัฒนาเศรษฐกิจพึ่งตนเอง และที่สำคัญคือ สร้างการเรียนรู้กับผู้คนในสังคมไทยให้เห็นคุณค่าความสำคัญของแรงงานประเทศเพื่อนบ้านในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียม และในฐานะกลุ่มคนที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย

กลุ่มชุมชนท้องถิ่นที่มีวิถีพึ่งพาฐานทรัพยากรธรรมชาติ รัฐสร้างวัคซีนทางสังคมให้ได้ด้วยการยอมรับและส่งเสริมสิทธิการจัดการทรัพยากร การผลิต เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เพื่อฟื้นฟูฐานทรัพยากรเพื่อความมั่นคงเศรษฐกิจให้ยั่งยืน และยกเลิกนโยบาย โครงการต่างๆ ของรัฐและเอกชนที่กระทบฐานทรัพยากรของชุมชน

กลุ่มเกษตรกรรายย่อย รัฐต้องเร่งส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากร (พันธุกรรม ดิน น้ำ) และปัจจัยต่างๆ (เครื่องมือ อุปกรณ์การผลิต) พัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่การทำเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถพึ่งตนเองทางการผลิต ส่งเสริมระบบตลาดชุมชนและท้องถิ่น พัฒนาตลาดออนไลน์ที่ชุมชนเข้าถึง จัดการได้ เพื่อกระตุ้นการผลิตอาหารอินทรีย์ อาหารปลอดภัยจากสารเคมี อันจะทำให้ผู้บริโภคลดความเสี่ยงภูมิคุ้มกันต่ำจากสารเคมีในอาหาร และลดฝุ่น pm 2.5 จากการเผาไร่

สิ่งที่รัฐควรดำเนินการร่วมกันเป็นมาตรฐานกลางให้กับประชาชนทุกกลุ่ม คือ ระบบสวัสดิการทางสังคมถ้วนหน้า ส่งเสริมบทบาทกลุ่มชุมชนที่ดูแลจัดการด้านสุขภาพ พัฒนาระบบการเงินชุมชนให้เข้มแข็ง เปิดให้ชุมชนเข้าถึงทรัพยากรส่วนรวมเพื่อการผลิตบริโภคและการค้าให้เข้มแข็ง สร้างระบบ platform ที่เชื่อมต่อการผลิต การค้าที่ชุมชนได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงเป็นธรรม และด้วยการจัดสรรงบประมาณให้ชุมชนและประชาสังคมไปริเริ่มสร้างสรรค์ดำเนินการโดยตรง โดยรัฐออกแบบระบบหนุนช่วยสนับสนุน นั่นหมายความว่า แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมของรัฐต้องทบทวนใหม่ กลับด้านจากการให้หน่วยงานรัฐดำเนินการ มาเป็นชุมชนและประชาสังคมออกแบบและดำเนินการโดยมีรัฐส่งเสริม

วัคซีนทางสังคมได้ถูกสร้างจากชุมชนต้นแบบต่างๆ แล้ว แต่จะเสื่อมสลายไปหากรัฐและสังคมไม่สานต่อ ยังมีโอกาสกู้วิกฤติด้วยการเร่งสนับสนุน ขยายผลอย่างรวดเร็วก็จะเกิดภูมิคุ้มกันสังคมไปทั่วประเทศ เศรษฐกิจสังคมฐานล่างมั่นคง เศรษฐกิจระดับกลางและบนก็อยู่ได้ แต่หากรัฐ กลุ่มทุน และคนชั้นกลางรอความหวังแค่จะซื้อวัคซีนเจ้าไหน เศรษฐกิจและสังคมไทยก็ดิ่งเหวไปอย่างไม่สิ้นสุด