ThaiPublica > เกาะกระแส > กระทรวงคลังไขคำตอบ หอชมเมืองไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน-ไม่เปิดประมูล และข้ออ้าง “ศาสตร์พระราชา” 19 ครั้ง ก่อนขอ “บิ๊กตู่” อนุมัติ

กระทรวงคลังไขคำตอบ หอชมเมืองไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน-ไม่เปิดประมูล และข้ออ้าง “ศาสตร์พระราชา” 19 ครั้ง ก่อนขอ “บิ๊กตู่” อนุมัติ

1 กรกฎาคม 2017


ที่มาภาพ : มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร

เพียง 2 ชั่วโมง หลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการ “หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” ความคลาดเคลื่อน อลหม่าน ก็เกิดขึ้น

ความผิดพลาดแรกคือ เสียงของ พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงวงเงินโครงการ ลงทุน 7,600 ล้านบาท ผ่านไป 1 วัน จึงมีการชี้แจงตัวเลขใหม่คือ 4,621 ล้านบาท

ไม่ทันข้ามวัน คำถามกระหึ่มในโลกโซเชียล มีทั้ง 1. ไม่มีการประมูล 2. เอกชนขอใช้ที่ดินของรัฐบาล 3. ไม่ต้องผ่านพระราชบัญญัติให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ และ 4. ทำไม่ต้องเร่งรีบข้ามขั้นตอน ฯลฯ

คำถามจากโลกโซเชียล ที่ยังไม่ได้รับการอธิบาย เช่น ผู้ดำเนินโครงการ คือ “มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” ที่เป็นการร่วมตัวของกลุ่มนักลงทุน 3 กลุ่ม ในการเคลื่อนโปรเจกต์ยักษ์สไตล์อสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน หรือ Mixed-use Real Estate มีทั้งอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย (Residential Real Estate) และอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรม (Commercial Real Estate) รวมทั้ง ศูนย์การค้า สำนักงาน ความบันเทิง และที่อยู่อาศัย

โครงการที่ถูกอ้างถึง และเกี่ยวข้องกับ “หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” คือ “ไอคอนสยาม (Icon Siam)” ที่ผู้ร่วมลงทุนประกอบด้วย 1. เครือเจริญโภคภัณฑ์ 2. บริษัทสยามพิวรรธน์ จำกัด 3. บริษัทสยามแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ภายในโครงการมีศูนย์การค้า อาคารที่พักอาศัย ศูนย์ประชุม ศูนย์กีฬา พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาไทย เชื่อมกับทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาระยะทาง 500 เมตร

การอนุมัติโครงการลงทุนครั้งนี้ จึงมีคำถามดังๆ จากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คือ ความชัดเจน 7 ประเด็น ได้แก่ 1. กระบวนการดำเนินการมีข้อตกลงว่าจะเป็นอย่างไร 2. ไม่ใช้เงินงบประมาณทั้งหมดแล้วใช้เงินมาจากไหน 3. ใช้ที่ดินของหลวง 4. โครงการกึ่งสัมปทาน 5. เป็นโครงการที่มีรายได้ แต่เหตุใดไม่เปิดประมูล 6. โครงการมีการอ้าง การเผยแพร่ “ศาสตร์พระราชา” แต่มีลักษณะความ “ไม่พอเพียง” 7. หากโครงการไม่สุจริตเกิดขึ้น จะอธิบายอย่างไร

คำตอบ “ด่วนที่สุด” เลขที่ กค 0314/2560 ถูกส่งตรงจากเอกสารโครงการของกระทรวงการคลัง จำนวน 8 หน้า ลงนามนำเสนอโดย นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการ ที่แนบให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจกจ่ายให้รัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560

ว่าด้วยแหล่ง “เงินทุน” 11 ธนาคาร 2,500 ล้าน

เอกสาร หมายเลข กค.0314/2560 ระบุว่า กระทรวงการคลังขอเสนอเรื่อง โครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ดำเนินการโดย “มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” บนที่ดินราชพัสดุ แปลง หมายเลขทะเบียนที่ กท.3275 เนื้อที่ประมาณ 4-2-34 ไร่ เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร (เดิมครอบครองโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ โครงนี้เป็นโครงการตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้กลไก “ประชารัฐ” ทั้งนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบด้วยแล้ว

โดยมูลนิธิฯ จะเชิญบริษัทชั้นนำของประเทศไทยร่วมเป็นผู้ก่อสร้างและสนับสนุนโครงการหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ในรูปแบบการบริจาคเป็นเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการเพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ได้มีส่วนร่วม อีกทั้งยังเป็นการแสดงความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,422.96 ล้านบาท โดยมีแหล่งที่มาของเงินทุน ดังนี้

    1. เงินทุนเริ่มแรกของมูลนิธิฯ จำนวน 500,000 บาท
    2. เงินกู้จากสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารทิสโก้ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารธนชาติ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน เป็นเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท
    3. เงินบริจาคจากบริษัทชั้นนำของประเทศไทยร่วมเป็นผู้ก่อสร้างและสนับสนุนโครงการหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นเงินจำนวน 2,100 ล้านบาท

สำหรับประมาณการรายรับ ประกอบด้วย 1. รายได้เฉลี่ย (จากการจำหน่ายบัตรเข้าชม) 1,054 ล้านบาทต่อปี (บัตรเข้าชมราคาปกติ 750 บาท คนไทยลด 50%) 2. ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 892 ล้านบาทต่อปี 3. ดอกเบี้ยจ่ายเฉลี่ย 38 ล้านบาทต่อปี โดยรายได้จากการดำเนินการหลังหักค่าใช้จ่ายจะนำไปบริจาคให้องค์กรสาธารณกุศล ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ โดยมิได้นำมาแบ่งปันกัน

ต้นเรื่องอ้างถึง “เผยแพร่พระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ 9”

เอกสารต้นเรื่องจากกระทรวงการคลังเสนอว่า หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ

1. เพื่อก่อสร้างและบริหารถาวรวัตถุที่เป็นเอกลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร ดำเนินการใดๆ อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติเป็นส่วนรวม ศึกษาวิเคราะห์วิจัยงานต่างๆ อันเป็นประโยชน์สาธารณะและร่วมมือกับส่วนราชการและองค์การอื่นๆ ในกิจการเกี่ยวกับการเผยแพร่พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะหรือสาธารณกุศล

2. เป็นการดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์โดยมิได้มุ่งหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน

3. แนวคิดในเบื้องต้นที่จะก่อสร้างเป็นอาคารถาวรและจัดสรรพื้นที่ใช้สอยเพื่อประโยชน์ต่างๆ

การใช้ประโยชน์อาคาร ประกอบด้วย

    1) ชั้นบนสุดเป็นโถงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช แห่งมหาจักรี พระบรมราชวงศ์ โดยประดิษฐานพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริยาธิราชในมหาจักรีบรมราชวงศ์ และเพื่อเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อพระคลังมหาสมบัติ เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชา
    2) ชั้นกลางเป็นห้องโถงที่มีกระจกขนาดใหญ่สามารถมองเห็นทัศนียภาพของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้โดยรอบ
    3) ชั้นล่างเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ต่างๆ เช่น ห้องจัดนิทรรศการ และพื้นที่ส่วนกลางสำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรม รวมทั้งเทศกาลต่างๆ บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดทั้งปี เป็นต้น
ที่มาภาพ : https://www.thairath.co.th/content/986517

กรรมการรัฐวิสาหกิจยืนยันต้องเข้า “พ.ร.บ.ร่วมทุน” /กรรมการพัสดุ “ไม่ต้องประมูล”

ทั้งนี้ ในการนำเรื่องอนุมัติโครงการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี กระทรวงการคลังได้รายงาน “ความเห็น” ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกระทรวงที่มีความเห็นแย้งกันไปมาแนบมาด้วย เช่น คณะกรรมการที่ราชพัสดุ “ให้มีมติอนุมัติให้มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานครเช่าที่ดินราชพัสดุดังกล่าว เพื่อก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานครโดยไม่ต้องประมูล โดยให้มูลนิธิฯ ดำเนินการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และกรอบแนวคิดในการออกแบบตามที่เสนอ และเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง”

กรมธนารักษ์ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการที่ราชพัสดุ “ให้พิจารณาอนุญาตในหลักการ ให้มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานครได้รับสิทธิการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.3275 เนื้อที่ประมาณ 4-2-34 ไร่ เพื่อก่อสร้างหอชมเมือง

กรุงเทพมหานคร ยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลังมีกำหนดเวลา 30 ปี โดยได้ประกาศรับฟังความคิดเห็นโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าวแล้วไม่มีผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือคัดค้านการดำเนินโครงการแต่อย่างใด และได้จัดทำสัญญาก่อสร้างอาคารชดเชยให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มูลค่าการก่อสร้างประมาณ 50.675 ล้านบาท บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ สป.1209-1228 ตำบลปากคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 35-3-14 ไร่ ขณะที่อยู่ระหว่างมูลนิธิฯ ดำเนินการเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารชดเชย โดยต่อมามูลนิธิฯ แจ้งว่า เมื่อได้ออกแบบการก่อสร้างหอชมเมืองแล้ว มูลค่าการก่อสร้างเกินกว่า 1,000 ล้านบาท”

กรมธนารักษ์หารือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้ความเห็นว่า “หากมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดเพื่อก่อสร้างและบริหารถาวรวัตถุเพื่อเป็นเอกลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร และดำเนินการหรือร่วมมือกับสถาบันหรือองค์การอื่นๆ เพื่อการกุศลหรือสาธารณประโยชน์ จะดำเนินโครงการซึ่งมีมูลค่าโครงการเกินกว่า 1,000 ล้านบาท จะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556) หรือไม่ ประการใด และต้องดำเนินการอย่างไร”

สคร. ได้ตอบข้อหารือว่า “กิจการที่จะต้องใช้ที่ราชพัสดุ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของหน่วยงานของรัฐ เข้าข่ายเป็น ‘กิจการของรัฐ’ ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556 โดยหากมีการร่วมลงทุนกับเอกชนไม่ว่าโดยวิธีใดหรือมอบให้เอกชนลงทุนแต่ฝ่ายเดียว โดยวิธีการอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิไม่ว่าในลักษณะใด ย่อมเข้าช่วยต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556”

“และในกรณีที่โครงการต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556 กรมธนารักษ์ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการต้องคำนวณมูลค่าของโครงการตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณมูลค่าของโครงการลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2558 และประกาศ สคร. เรื่องแนวทางปฏิบัติสำหรับการคำนวณมูลค่าของโครงการการลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2558”

“ซึ่งหากโครงการมีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556 ตั้งแต่หมวด 4 การเสนอโครงการเป็นต้นไป การดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556 ดังกล่าว จะต้องดำเนินการในช่วงระยะเวลาก่อนที่จะมีการอนุญาตให้สัมปทานหรือให้สิทธิไม่ว่าในลักษณะใดแก่เอกชนโดยขอให้กรมธนารักษ์ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556 โดยเคร่งครัด ปัจจุบันกรมธนารักษ์อยู่ระหว่างดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษาวิเคราะห์โครงการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556”

เอกสาร 6 หน้า อ้าง “ศาสตร์พระราชา 19 ครั้ง

ความเป็นมาอ้าง 3 ครั้ง: กระทรวงการคลังได้อ้างถึงความเป็นมาและรายละเอียดโครงการ ที่เสนอโดยมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร หรือ BFTF ว่า “มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานครได้มีหนังสือ ที่ BFTF 091/2559 ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2559 แจ้งว่า เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองครั้งใหญ่ จากการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต ซึ่งเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของพสกนิกรไทย จากการจากไปของ “พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพรักยิ่ง” โดยประชาชนทุกหมู่เหล่าต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ในพระราชกรณียกิจที่ทรงทุ่มเทเพื่อประเทศชาติและประชาชนมาเป็นระยะเวลา 70 ปี แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดชสวรรคตแล้ว

แต่ “ศาสตร์พระราชา” รวมทั้งแนวคิด “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ได้พระราชทานไว้กว่า 40 ปีที่ผ่านมา ยังคงอยู่คู่แผ่นดินไทย เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยนำไปเป็นแนวทางการพัฒนาตนเองและครอบครัว ให้มีภูมิคุ้มกันที่มั่นคงในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข โดยในยุทธศาสตร์ชาติ (20 ปี)

รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) รัฐบาลได้น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นนโยบายสำคัญ เพื่อมุ่งเน้นที่จะน้อมนำไปสู่การปฏิบัติ การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมในทุกระดับ ด้วยการสร้างกลไกขับเคลื่อนในรูปแบบ “ประชารัฐ” โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาและประชาสังคมต่างๆ เพื่อการพัฒนาประเทศไทย

รวมถึงการวางแนวทางในการพัฒนาประเทศในอนาคตสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ที่เน้นการพัฒนาสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ด้วยการสร้าง “ความเข้มแข็งจากภายใน” ขับเคลื่อนตามแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ผ่านกลไก “ประชารัฐ” เพื่อให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและเจริญรุ่งเรืองอย่างมั่นคงต่อไป โดยมูลนิธิฯ ได้น้อมนำนโยบาย “ศาสตร์พระราชา” ดังกล่าวมาเป็นแนวทางการดำเนินโครงการ

พรรณนา “คนดี” วิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

การดำเนินโครงการหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการรวมใจของคนไทยทั้งประเทศ (The Unit Tower) โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนได้เขียนปณิธานความดีด้วยการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานไว้ จากพระราชดำรัส พระราชดำริ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยนำไปเป็นแนวทางการพัฒนาตนเองและครอบครัวให้มีภูมิคุ้มกันที่มั่นคงในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ซึ่งล้วนมุ่งให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าดำรงตนเป็น “คนดี” ทั้งคิดดี พูดดี ทำดี ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม สุจริต มีวินัย และมาความสามัคคีปรองดองกัน เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองให้มีความเจริญก้าวหน้าเป็นปึกแผ่นมั่นคงตลอดไป มาตั้งเป็นความมุ่งมั่นตามอุดมคติของแต่ละคนในการที่จะทำหน้าที่ของตนอย่างมีวินัยและมีคุณธรรมช่วยกันพัฒนาประเทศให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป โดยจารึกปณิธานความดีที่จทำเพื่อแผ่นดินลงในแผ่นโลหะแล้วรวบรวมมาบรรจุลงในฐานของหอชมเมือง เพื่อแสดงออกถึงพลังความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติอันมีคุณค่าทางจิตใจ มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และสามารถสร้างให้เป็นจุดมุ่งหมายที่จะนำทางไปสู่การพัฒนาในอนาคต ตามวิสัยทัศน์ของประเทศไทย “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลภายใต้กลไกประชารัฐ

อ้าง 50 องค์กรร่วมวง “ประชารัฐ” ริมเจ้าพระยา

เอกสารจากมูลนิธิหอชมเมืองระบุด้วยว่า “เพื่อความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมกว่า 50 องค์กร เพื่อจารึกทุกเรื่องราวแห่งความดีงาม ความภาคภูมิใจ อันเป็นที่ประจักษ์แล้วบนแผ่นดินและจะแสดงไว้ในพื้นที่หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งต่อสู่ลูกหลานให้คงอยู่สืบไป ซึ่งเป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายในเรื่องศาสตร์พระราชา

“เพื่อส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรมของชาติ ยึดมั่นในการเชิดชูสถาบันหลักอันประกอบด้วยชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งจรรโลงสังคมไทย ให้เป็นสังคมที่เปี่ยมด้วยความสามัคคีปรองดอง โดยจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเขตธนบุรีและเขตคลองสาน ให้มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งจะเป็นการส่งเสริมเพิ่มคุณค่าในการใช้ประโยชน์จากที่ราชพัสดุให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม
โดยจะเป็นการสร้างรากฐานการพัฒนาประเทศในอนาคตสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ตามนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการพัฒนาสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ด้วยการสร้าง “ความเข้มแข็งจากภายใน” ขับเคลื่อนตามแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยการสร้างกลไกขับเคลื่อนในรูปแบบ “ประชารัฐ” โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาและประชาสังคมต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามแนวนโยบายของรัฐบาล

แปลน 500 ตารางเมตร จัดแสดง “ศาสตร์พระราชา”

สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นต้นแบบในการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานไว้ จากพระราชดำรัส พระราชดำริ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร ที่มุ่งให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าดำรงตนเป็น “คนดี” ทั้งคิดดี พูดดี ทำดี ยึดมั่นในคุณภาพ จริยธรรม สุจริต มีวินัยและมีความสามัคคีปรองดองกันกัน เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองให้มีความเจริญก้าวหน้าเป็นปึกแผ่นมั่นคงตลอดไป เพื่อมาใช้ในการดำเนินโครงการ โดยจะจารึกปณิธานความดีที่จะทำเพื่อแผ่นดินลงในแผ่นโลหะแล้วรวบรวมมาบรรจุลงในฐานของหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อแสดงออกถึงพลังความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติอันมีคุณค่าทางจิตใจ

มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และจะจัดสร้างหอแสดงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปริมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย บนชั้นยอดของหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีพื้นที่ประมาณ 500 ตารางเมตร สำหรับจัดแสดงพระราชกรณียกิจต่างๆ อันเป็นประโยชน์แก่ชาวไทย เพื่อเผยแพร่ “ศาสตร์พระราชา” เช่น ด้านการเกษตรและการยกระดับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านศาสนา ด้านกีฬา ด้านการสื่อสารเทคโนโลยี และการคมนาคม เป็นต้น

เป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการที่ส่งเสริมให้ทุกคนในชาติหันมาร่วมใจกันพัฒนาประเทศตามแผนดำเนินการของรัฐบาลที่จะช่วยในการยกระดับคุณค่าทางจิตใจก่อนการเปลี่ยนผ่านการปฏิรูป และสามารถสร้างให้เป็นจุดมุ่งหมายที่จะนำทางไปสู่การพัฒนาในอนาคต ตามวิสัยทัศน์ของประเทศไทย “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ตามแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ภายใต้กลไกประชารัฐ

โดยพื้นที่บริเวณด้านล่างของหอชมเมือง ประมาณ 4,000 ตารางเมตร จะจัดแสดงเรื่องราวอันน่าภาคภูมิใจของคนไทย (The Pride of Thailand) จากโครงการภาคภูมิแผ่นดินไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสานพลังประชารัฐที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมเรื่องราวที่ดีงามกว่าหนึ่งล้านเรื่องราวจากทุกชุมชนทั่วประเทศ โดยประชาชนชาวไทยได้ร่วมกันสืบค้นและรวบรวมผ่านโครงการภาคภูมิแผ่นดินไทยเติมความภูมิใจให้เต็มชาติเพื่อเป็นมรดกให้คนรุ่นหลังสืบไป

ที่มาภาพ : https://www.thairath.co.th/content/986517

เชื่อมเมกะโปรเจกต์ รถ-ราง-เรือ “ทางเลียบเจ้าพระยา”

หอชมเมืองแห่งนี้ จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีความโดดเด่นของเอกลักษณ์ไทย ผสมผสานด้วยความร่วมสมัยที่สอดคล้องเข้ากันกับสถานที่ตั้งของที่ดินที่มีความพิเศษ อันเต็มเปี่ยมไปด้วยประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ที่เชื่อมโยงเข้ากับความสำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา และนำเสนอให้ชาวโลกได้ประจักษ์ถึงสัญลักษณ์สำคัญแห่งยุคที่จะเป็น New Global Destination และก่อให้เกิดเส้นทางการท่องเที่ยวทางแม่น้ำ (River Excursion) เลียบแม่น้ำเจ้าพระยา อันจะถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ โดยจะเชื่อมโยงศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรมสถาปัตยกรรม วิถีชีวิต ทัศนียภาพ

อีกทั้งปัจจัยความพร้อมของโรงแรม เส้นทางการเดินทางที่ครบวงจร ทั้งเส้นทางรถ-ราง-เรือ และการเติบโตของที่พักอาศัยในบริเวณดังกล่าว ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งเสริมให้พื้นที่สองฟากของแม่น้ำเจ้าพระยาในรัศมี 20 กิโลเมตร จากโครงการนี้มีการเติบโตจากการสร้างงานและอาชีพ ช่วยส่งเสริมกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว การประชุมและสัมมนา ร้านอาหาร เครือข่ายการขนส่งและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต และพัฒนาผู้ประกอบการต่างๆ ส่งผลเกื้อหนุนต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจภายในประเทศ

เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตามนโยบายของรัฐบาล “ไทยแลนด์ 4.0” โดยใช้เทคโนโลยีและความรู้ชั้นสูงทั้งทางด้านการออกแบบวิศวกรรม และการบริหารจัดการที่ล้ำสมัย เพื่อดำเนินการออกแบบและพัฒนาให้มีความงดงาม มั่นคงและปลอดภัยในมาตรฐานระดับสากล ถือเป็นการสร้างรากฐานสู่อนาคต และมีการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และวิธีการก่อสร้างแบบใหม่ ที่ต้องอาศัยความชำนาญและการบริหารจัดการการก่อสร้างจากประสบการณ์อันเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อให้ประโยชน์ในการศึกษาและเผยแพร่ต่อไป

ให้นักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมเรียนรู้ในขั้นตอนการก่อสร้าง รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวเนื่องเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศในสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง และจะดำเนินการบันทึกและถ่ายทอดเทคโนโลยีการก่อสร้างอาคารสูงพิเศษ เริ่มตั้งแต่แรงบันดาลใจการออกแบบทางสถาปัตยกรรม วิศวกรรม และนวัตกรรมการก่อสร้าง ประกอบกับการนำสิ่งที่เป็นตัวแทนจาก 77 จังหวัดที่จะเป็นองค์ประกอบในการก่อสร้างจัดทำเป็นสารคดีเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่สาธารณะต่อไป เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา

เป็นต้นแบบในการก่อสร้างอาคารสูงด้วยหลักการ Zero Discharge โดยมูลนิธิฯ มีความตระหนักและใส่ใจถึงสภาพแวดล้อม จึงมีแนวคิดที่จะดำเนินการให้หอชมเมืองดังกล่าวเป็นอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยมลภาวะต่างๆ ผ่านกระบวนการ และการใช้เทคโนโลยีจากพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ ที่มีความเหมาะสมและเชื่อมโยงประเทศไทยสู่ประชาคมโลก

การดำเนินโครงการและบริหารจัดการโครงการด้วยมูลนิธิฯ เป็นการแสดงออกถึงเป้าหมายที่ชัดเจนว่ารายได้จากการดำเนินการหลังหักค่าใช้จ่ายจะต้องนำไปสนับสนุนกิจการสาธารณกุศล โดยมูลนิธิฯ จะวางข้อกำหนดให้ชัดเจนว่าจะนำเงินดังกล่าวสนับสนุนโครงการและหน่วยงานต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความเป็นอยู่ การศึกษา คุณภาพชีวิตของประชาชน

บทสรุปสำหรับ คณะรัฐมนตรี: ระดมทุน 20 ราย

ในส่วนของเหตุผลความจำเป็นที่ต้องให้คณะรัฐมนตรี “อนุมัติ” นั้น เอกสารส่วนนี้อ้างถึง “ศาสตร์พระราชาถึง 11 ครั้ง”
เริ่มจาก ระบุถึงโครงการที่มีการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ตามนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นไปสู่การปฏิบัติ และการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นรูปธรรมในทุกระดับ ด้วยการสร้างกลไกขับเคลื่อนในรูปแบบ “ประชารัฐ” โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาและประชาสังคมต่างๆ เพื่อการพัฒนาประเทศไทย รวมถึงการวางแนวทางในการพัฒนาประเทศในอนาคตสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยีเป็นตัวการขับเคลื่อนโดยโครงการหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร มีการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป

เพื่อแสดงถึงพลังความสมัครสมานสามัคคีประสานพลังประชารัฐของคนไทยทั้งชาติ โดยมูลนิธิฯ จะระดมเงินลงทุนจากผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร จำนวน 20 ราย การรับบริจาคเงินจากภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อจัดสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร และเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งประเทศร่วมจารึกปณิธานความดีที่จะทำเพื่อแผ่นดินตาม “ศาสตร์พระราชา” ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานไว้ จากพระราชดำรัส พระราชดำริ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร ลงในแผ่นโลหะแล้วรวบรวมมาบรรจุลงในฐานของหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความสมัครสมานสามัคคีของคนไทย และเพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ในพระราชกรณียกิจที่ทรงทุ่มเทเพื่อประเทศชาติและประชาชน มาเป็นระยะเวลา 70 ปี

โดยจะมีการจัดสร้างหอแสดงพระราชกรณียกิจที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย บนชั้นยอดของหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อเผยแพร่ “ศาสตร์พระราชา” เช่น ด้านการเกษตรและการยกระดับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านศาสนา ด้านกีฬา ด้านการสื่อสารเทคโนโลยี และการคมนาคม เป็นต้น ซึ่งเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป และจะเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การพันาที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศด้านต่างๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยการดำเนินโครงการดังกล่าวจะเป็นการสร้างมูลค่าทางจิตใจและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

โครงการดังกล่าวมีมูลค่าโครงการประมาณ 4,600.50 ล้านบาท (โครงการขนาดกลาง) ที่จะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ดังนั้น เพื่อเป็นการเร่งรัดดำเนินการให้โครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานครเป็นโครงการต้นแบบ ตามนโยบายของรัฐบาลในเรื่อง “ศาสตร์พระราชา” บรรลุวัตถุประสงค์ตามวิสัยทัศน์ของประเทศไทย และสนองต่อนโยบายประสานพลังประชารัฐของรัฐบาล สามารถบรรลุวัตถุประสงค์อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว จึงเห็นสมควรเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบให้โครงการ เป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาล ในรูปแบบประชารัฐ

อ้างประชารัฐ-เร่งรัดโครงการ “ด่วน”

ในตอนท้ายของเอกสาร ระบุเหตุผลความเร่งด่วนของเรื่องนี้ว่า เพื่อเป็นการเร่งรัดดำเนินการให้โครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานครเป็นโครงการต้นแบบตามแนวนโยบายของรัฐบาลให้สัมฤทธิ์ผล เป็นรูปธรรมในทุกระดับ ด้วยการสร้างกลไกขับเคลื่อนในรูปแบบ “ประชารัฐ” โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาและประชาสังคมต่างๆ ในการพัฒนาประเทศไทยสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” อันเป็นการแสดงถึงพลังความสมัครสมานสามัคคีของคนไทยทั้งชาติ ในการร่วมกันน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ไปสู่การปฏิบัติและการพัฒนาที่ยั่งยืน

อีกทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่เรื่อง “ศาสตร์พระราชา” ไปสู่การปฏิบัติและพัฒนาที่ยั่งยืน โดยลักษณะของโครงการ มีความสอดคล้องกับแนวทางการสร้างกลไกขับเคลื่อนในรูปแบบ “ประชารัฐ” ตามนโยบายของรัฐบาลที่มีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จึงเห็นควรเร่งรัดให้มีการดำเนินการโครงการต่อไป ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการท่องเที่ยว ให้มีการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคง

กระทรวงการคลังออกหน้าเพื่อประโยชน์เศรษฐกิจ-สังคม-ท่องเที่ยว

กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่เรื่อง “ศาสตร์พระราชา” ไปสู่การปฏิบัติและพัฒนาที่ยั่งยืน โดยลักษณะของโครงการฯ มีความสอดคล้องกับแนวทางการสร้างกลไกขับเคลื่อนในรูปแบบ “ประชารัฐ” ตามนโยบายของรัฐบาลที่มีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จึงเห็นควรให้โครงการฯ เป็นส่วนหนึ่งตามนโยบายของรัฐบาล และเร่งรัดให้มีการดำเนินการโครงการฯ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเร็วต่อไป ตามนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการพัฒนาสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ด้วยการสร้าง “ความเข้มแข้งจากภายใน” ขับเคลื่อนตามแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ผ่านกลไก “ประชารัฐ” เพื่อแสดงถึงพลังความสมัครสมานสามัคคีของคนไทยทั้งชาติ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการท่องเที่ยวให้มีการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคงต่อไป และเพื่อเป็นการรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ด้วยการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” รวมทั้งหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้ยังคงคู่แผ่นดินไทยต่อไป และเพื่อเป็นการเร่งรัดดำเนินการให้โครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานครเป็นโครงการต้นแบบ ตามแนวนโยบายของรัฐบาลในเรื่อง “ศาสตร์พระราชา” จึงเห็นสมควรเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบให้โครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานครดังกล่าว เป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาลในรูปแบบประชารัฐ

“อภิศักดิ์” รมว.คลัง ขอนายกรัฐมนตรี โปรดพิจารณา

ข้อเสนอของ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ใน 4 บรรทัดสุดท้าย คือ “ขอให้พิจารณานำโครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเห็นชอบให้โครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้ปรัชญาแห่ง ‘ศาสตร์พระราชา’ และความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ”

“จึงเรียนมาเพื่อโปรดนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อขอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป”

เอกสาร-ข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้ อาจมีคำตอบที่ซ้ำๆ แต่สิ่งที่รัฐบาลยืนยันจะทำแน่ๆ คือ เดินหน้า “ตามสัญญา”(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

11 อันดับ หอคอย (ชมเมือง) สูงที่สุดในโลก

    1. โตเกียว สกายทรี (กรุงโตเกียว, ญี่ปุ่น) 634 เมตร
    2. แคนตัน ทาวเวอร์ (เมืองกวางโจว, จีน) 595.7 เมตร
    3. ซีเอ็น ทาวเวอร์ (นครโตรอนโต, แคนาดา) 553.33 เมตร
    4. ออสตานกิโน ทาวเวอร์ (กรุงมอสโก, รัสเซีย) 540.1 เมตร
    5. โอเรียนทัล เพิร์ล ทาวเวอร์ (นครเซี่ยงไฮ้, จีน) 468 เมตร
    อันดับที่ 6 (หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร (กรุงเทพฯ, ประเทศไทย 459 เมตร)
    7. มิลาด ทาวเวอร์ (กรุงเตหะราน, อิหร่าน) 435 เมตร
    8. เคแอล ทาวเวอร์ (กรุงกัวลาลัมเปอร์, มาเลเซีย) 421 เมตร
    9. หอส่งสัญญาณวิทยุและโทรทัศน์เทียนจิน (นครเทียนจิน, จีน) 415.2 เมตร
    10. เซ็นทรัล เรดิโอ แอนด์ ทีวี ทาวเวอร์ (กรุงปักกิ่ง, จีน) 405 เมตร
    11. เจิ้งหยวน ทาวเวอร์ (เมืองเจิ้งโจว, จีน) 388 เมตร

ประเทศไทยมีหอชมเมืองที่สร้างเสร็จแล้ว 7 แห่ง

    1. หอคอยบรรหาร-แจ่มใส จ.สุพรรณบุรี ความสูง 123.25 เมตร จำนวน 4 ชั้น ใช้งบ 250 ล้านบาท สร้างเสร็จเมื่อปี 2537
    2. หอแก้วมุกดาหาร จ.มุกดาหาร ความสูง 65.50 เมตร ใช้งบ 50 ล้านบาท สร้างเสร็จเมื่อปี 2539
    3. หอคอยสุรนภา ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา ความสูง 82 เมตร จำนวน 25 ชั้น สร้างเสร็จเมื่อปี 2539
    4. หอชมเมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ความสูง 32 เมตร จำนวน 10 ชั้น ใช้งบ 35 ล้านบาท สร้างเสร็จเมื่อปี 2551
    5. หอคอยเฉลิมพระเกียรติ จ.ศรีสะเกษ ความสูง 84 เมตร จำนวน 16 ชั้น ใช้งบ 65 ล้านบาท สร้างเสร็จเมื่อปี 2559
    6. หอคอยโรงแรมพัทยาปาร์ค ทาวเวอร์ ความสูง 240 เมตร จำนวน 55 ชั้น
    7. หอคอยสกายเดค ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ความสูง 110 เมตร สร้างเสร็จเมื่อปี 2559

หอชมเมืองที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 แห่ง

    1. หอชมเมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ ความสูง 179.5 เมตร ใช้งบจาก อบจ.สมุทรปราการ 593 ล้านบาท และเทศบาลนครสมุทรปราการ 54 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จสิ้นปี 2560
    2. หอชมเมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด หอชมเมืองรูปทรงโหวด ความสูง 101 เมตร ใช้งบประมาณจังหวัดประมาณ 200 ล้านบาท