อธิบดีกรมศุล ฯแจง ‘ผกก.โจ้’ 6 ปี จับรถหรู 368 คัน นำของกลางประมูลขายทอดตลาดกว่า 1,000 ล้านบาท รับส่วนแบ่งจาก “เงินรางวัล” 30% หรือประมาณ 300 ล้านบาท ด้านดีเอสไอ ตรวจพบ “ลัมโบร์กินี” ของ “ธิติสรรค์” เกี่ยวข้องคดีรถหรูสำแดงราคาต่ำที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด
หลังจากที่ปรากฏคลิปเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ร่วมกันใช้ถุงคลุมศรีษะผู้ต้องหาคดียาเสพติด เพื่อเรียกรับเงินจำนวน 2 ล้านบาท เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาเสียชีวิต เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย จนกลายเป็นคดีสะเทือนขวัญ ดับอนาคตของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ (ผู้กำกับโจ้) ซึ่งคนในวงการสีการู้จักกันดีในนามของ “โจ้เฟอร์รารี่” นายตำรวจไฮโซ ผู้ครอบครองรถหรู – รถซูเปอร์คาร์จำนวน 29 คัน ต้องออกจากราชการ และตกเป็นผู้ต้องหาในคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่น โดยทรมาน หรือ โดยกระทำทารุณโหดร้าย
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร และพ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในฐานะที่รับผิดชอบคดีรถหรูสำแดงราคาต่ำ จึงต้องออกมาชี้แจงผลการตรวจสอบรถยนต์หรู 29 คัน ที่อยู่ในความครอบครองของผู้กำกับโจ้
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า หลังจากที่ปรากฏเป็นข่าวขึ้นมา ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรตรวจสอบรถหรูที่อยู่ในความครอบครองของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ทั้งหมด 29 คัน พบว่า มีชื่อ พ.ต.อ.ธิติสรรค์เป็นเจ้าของรถกว่า 10 คัน ที่เหลือเป็นชื่อคนอื่น ในจำนวนรถหรูที่ พ.ต.อ.ธิติสรรค์มีชื่อเป็นเจ้าของนั้นมีอยู่ 2 คัน เป็นรถที่ได้มาการที่กรมศุลกากรนำออกมาประมูลขายในปี 2555 ยี่ห้อ เบนท์ลี่ย์ (Bentley) จำนวน 1 คัน และในปี 2558 ยี่ห้อ ปอร์เช่ (Porsche) รุ่น 911 อีก 1 คัน ส่วนที่เหลือนั้น พ.ต.อ.ธิติสรรค์ซื้อมาจากตัวแทนจำหน่ายรถหรูทั่วไป
นายพชร กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบของกรมศุลกากร พบว่าชื่อของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อยู่ในฐานข้อมูลกรมศุลกากร ในฐานะเจ้าของสำนวนคดีรถหรู ในช่วงปี 2554 – 2560 โดย พ.ต.อ.ธิติสรรค์ สามารถจับกุม และนำรถหรูส่งให้กับกรมศุลกากรขายทอดตลาด รวมทั้งสิ้น 368 คัน ซึ่งกรมศุลกากรได้นำออกประมูลขายไปได้ 363 คัน อีก 5 คัน ขายไม่ได้ ยังเป็นของตกค้างอยู่ที่กรมศุลกากร
ถามว่า พ.ต.อ.ธิติสรรค์ ได้รับเงินรางวัลเจ้าหน้าที่ไปเท่าไหร่ นายพชร กล่าวว่า ยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ แต่จากการประเมินราคารถหรูทั้ง 363 คัน ก่อนนำออกมาประมูลมีมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท แต่ผลการประมูลปรากฎว่าขายได้กว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งกรณีที่ไม่มีผู้แจ้งเบาะแส หรือ แจ้งความนำจับ ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร 2469 ที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น กำหนดจัดสรรเงินรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ 30% ของรายได้จากการขายของกลาง แต่ถ้ามีผู้แจ้งเบาะแส เจ้าหน้าที่จะได้รับเงินรางวัล 25% และต้องจ่ายให้ผู้แจ้งเบาะแสอีก 30% รวมอัตราการจ่ายเงินสินบนและรางวัลสูงสุดไม่เกิน 55% ของรายได้จากขายของกลาง
“กรณีที่กรมศุลกากรนำรถหรูที่ผู้กำกับโจ้เป็นเจ้าของสำนวนคดีมาประมูลขายได้เงินกว่า 1,000 ล้านบาท นั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้กำกับโจ้จะได้เงินไปคนเดียว 300 ล้านบาท เงินรายได้จากการขายทั้งหมดจะต้องนำไปหักค่าใช้จ่ายในการจัดงานประมูล และจัดสรรปันส่วนให้กับทีมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตามที่กฎหมายศุลกากรกำหนดด้วย” นายพชร กล่าว
ส่วนกรณีการฟอกรถหรูให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยการนำรถมาจอดทิ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับ และรถหรูที่ลักลอบนำเข้าจากประเทศมาเลเซียมาส่งให้กรมศุลกากร เพื่อดำเนินการขายทอดตลาด โดยการถอด ECU ออกแล้วมาซื้อจากกรมศุลกากรไปในราคาถูก หรือ “ล็อกสเปค” นั้น นายพชร กล่าวต่อว่า “กรณีนี้เป็นคดีตำนานไปแล้วตั้งแต่ปี 2560 หลังจากกรมการขนส่งทางบกแก้ไขระเบียบใหม่ ไม่รับจดทะเบียนรถยนต์ผิดกฎหมายทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์แยกชิ้นส่วนมาจดประกอบ และรถยนต์ลักลอบนำเข้า เมื่อกรมการขนส่งทางบกไม่รับจดทะเบียน ตามระเบียบกรมศุลกากรก็ไม่สามารถนำรถยนต์ที่ผิดกฎหมายออกมาประมูลขายได้ กรณีฟอกรถหรูจึงเป็นคดีตำนาน โดยกรมศุลกากรร่วมกับกรมการขนส่งทางบก คัดเลือกรถยนต์ออกมาประมูลขายครั้งสุดท้ายปี 2563 เป็นรถยนต์ตกค้าง ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้นำเข้าไม่มานำรถยนต์ออกจากด่านศุลกากรภายในกำหนดเวลา ปัจจุบันจึงมีรถยนต์จดประกอบ และรถยนต์ลักลอบนำเข้าที่ไม่สามารถนำออกมาประมูลได้ เพราะเป็นรถยนต์ผิดกฎหมาย กรมการขนส่งไม่รับจดทะเบียน ตกค้างอยู่ที่กรมศุลกากรกว่า 1,000 คัน ทุบทำลายทิ้ง ก็ไม่ได้ เพราะเป็นทรัพย์สินของหลวง ทางคณะทำงานของกรมศุลกากรเสนอให้มีการแยกเป็นอะไหล่ขาย แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยุติ เพราะต้องศึกษาให้รอบด้านก่อน”
นายพชร กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีผู้นำเข้าอิสระ หรือ “เกรย์มาร์เก็ต” นำเข้ารถยนต์หรูมาสำแดงราคากับเจ้าหน้าที่ศุลกากรต่ำกว่าความเป็นจริง ปัจจุบันไม่ค่อยมีใครกล้าทำแล้ว เพราะสามารถตรวจเช็คราคารถยนต์ในตลาดต่างประเทศผ่านทางเว็บไซต์ได้ หากสำแดงราคาต่ำผิดปกติมาก เจ้าหน้าที่ศุลกากรก็ไม่กล้าตรวจปล่อยรถยนต์ เพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน่วยงานช่วยกันตรวจสอบราคา ไม่ได้มีแค่กรมศุลกากรหน่วยงานเดียวที่ทำหน้าที่ตรงนี้ แต่อาจจะมีการหลบเลี่ยงได้บ้าง แต่ไม่มีผลกระทบมากนัก เช่น อุปกรณ์ส่วนที่ติดมากับรถยนต์ หรือ “Option” กรมศุลกากรไม่สามารถตรวจเช็คราคาได้ เพราะโรงงานผู้ผลิตรถยนต์ไม่ได้แยกขาย จึงไม่มีราคา ส่วนที่ขายอยู่ตามท้องตลาด ก็ใช้ไม่ได้ ต้องใช้ราคาของโรงงานผู้ผลิตเท่านั้น
ด้าน พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กล่าวว่า จากการตรวจสอบรถยนต์หรูที่อยู่ในความครอบครองของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ จำนวน 29 คัน พบว่ารถยนต์ยี่ห้อลัมโบร์กินี หมายเลขตัวรถ ZHWEC1ZD6ELA อยู่ในคดีพิเศษที่ 199/2560 ซี่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดีกับผู้นำเข้าที่ร่วมกันกระทำความผิดรวม 8 ราย ร่วมกันนำรถยนต์ใหม่สำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร โดยสำแดงราคานำเข้าต่ำกว่าราคาซื้อขายที่แท้จริง 9,512,525.61 บาท เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ทำให้รัฐได้รับความเสียหายรวมทั้งสิ้น 31,201,083.08 บาท ประกอบด้วย ภาษีนำเข้าขาด 7,610,020.00 บาท , ภาษีสรรพสามิตขาด 19,025,050.27 บาท , ภาษีมูลค่าเพิ่มขาด 2,663,507.48 บาท โดยผู้ต้องหาทั้ง8 คน มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 (มาตรา 27 และมาตรา 115 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469) พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 (มาตรา 165 มาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527) และตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษสรุปสำนวนคดีส่งพนักงานอัยการแล้วเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 สารบบระบุว่าปัจจุบันคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุด
ทั้งนี้ คดีพิเศษที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์ราคาแพง (รถหรู)ความผิดที่เกี่ยวกับการสำแดงราคานำเข้าเป็นเท็จต่ำกว่าราคาซื้อขายที่แท้จริงทั้งหมด มีจำนวนทั้งสิ้น 216 คดี และได้สอบสวนเสร็จสิ้นส่งสำนวนการไปยังพนักงานอัยการแล้ว จำนวน 150 คดี และอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 66 คดี
อนึ่ง จากการที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าใช้สิทธิ ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ขอข้อมูลสถิติการจ่ายเงินสินบนรางวัลจากกรมศุลกากรช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่ พ.ร.บ. ศุลกากร 2560 มีผลบังคับใช้ พบว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549-2558 มีผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 กรณีลักลอบนำเข้าสินค้า ถูกยึดของกลางขายทอดตลาด และกรณีหลบเลี่ยงภาษีต้องจ่ายค่าปรับ 2-4 ของมูลค่าสินค้า รวมกันคิดเป็นมูลค่าประมาณ 31,432 ล้านบาท โดยกรมศุลกากรนำเงินจำนวนนี้มาจัดสรรจ่ายเป็นเงินสินบนและรางวัลทั้งสิ้น 8,514 ล้านบาท โดยจ่ายให้ผู้แจ้งเบาะแส (สายสืบ) 3,939 ล้านบาท และจ่ายเป็นเงินรางวัลเจ้าหน้าที่ผู้จับกุม (ศุลกากร, ตำรวจ, ดีเอสไอ) 4,576 ล้านบาท ส่วนที่เหลือนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดินประมาณ 22,918 ล้านบาท