กวาดล้างกันอย่างไร ขบวนการลักลอบนำเข้ารถหรู ก็ไม่เคยหมด ทั้งๆที่ค.ร.ม.มีมติวันที่ 28 กันยายน 2555 ห้ามนำเข้าตัวถังรถยนต์นั่ง และรถมอเตอร์ไซด์ใช้แล้วจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งนี้เพื่อป้องกันการลักลอบนำอะไหล่ชิ้นส่วนมาประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูป หรือที่เรียกว่า “รถจดประกอบ” ขายตัดราคาตัวแทนจำหน่ายที่เสียภาษีถูกต้อง (อัตราภาษีรวม 328%)
เวลาผ่านมาเกือบ 4 ปี ปรากฏว่ายังมีการจับกุมขบวนการลักลอบนำเข้าอะไหล่รถยนต์มาประกอบเป็นรถยนต์ใหม่กันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 เวลา 9.00 น. พ.ต.อ. ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงข่าวตรวจยึดรถหรู 49 คัน (Supercar) รวมมูลค่ากว่า 480 ล้านบาท ประกอบด้วยรถจดประกอบ 37 คัน มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท (ราคานำเข้า+ค่าภาษี) และลักลอบนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปอีก 12 คัน มูลค่า 280 ล้านบาท
ในวันเดียวกันเวลา 11.30 น.นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร แถลงข่าว ประมูลรถยนต์ของกลาง จำนวน 343 คัน มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท โดยมอบหมายให้บริษัทสหการประมูลจำกัด (มหาชน) นำรถหรูดังกล่าวมาประมูลขายด้วยวาจาในวันที่ 23 สิงหาคม 2559 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา หลายรัฐบาลพยายามหามาตรการมาแก้ปัญหานี้ รวมทั้งมีการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ ศุลกากร สรรพาสามิต และกรมการขนส่งทางบก แต่ก็แก้ปัญหาไม่สำเร็จ ต่อประเด็นดังกล่าวผู้สื่อข่าวได้ถามว่าทำไมยังมีรถหรู รถจดประกอบจำนวนมากถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและยึดรถมาขายทอดตลาด เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกรมศุลกากร กล่าวว่า “ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อน รถยนต์หรูที่นำมาประมูลขายทอดตลาดประมาณ 90% เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้จับกุม ส่วนเจ้าหน้าที่ศุลกากรจับกุมได้ไม่ถึง 10% เป็นอย่างนี้มากว่า 10 ปีแล้ว หากไปดูสถิติการเบิกจ่ายเงินรางวัลให้กับเจ้าหน้าที่ย้อนหลัง 10 ปี จะพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับส่วนแบ่งเงินรางวัลนำจับมากที่สุด ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ศุลกากร ซึ่งตามพ.ร.บ.ศุลกากร 2469 กำหนดให้แบ่งเงินรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมในอัตรา 25% ของมูลค่าของกลางที่ขายได้ และจัดสรรให้ผู้แจ้งเบาะแส หรือสายสืบ 30% ของมูลค่าของกลาง”
ส่วนคำถามที่ว่าทำไมถึงยังมีการลักลอบนำเข้ารถหรูกันเป็นจำนวนมาก ถ้าดูจากตารางที่นำมาแสดงจะเห็นว่ารถหรู หรือ ซูเปอร์คาร์ หากนำเข้ามาขายอย่างถูกต้องตามกฎหมายต้องเสียในอัตรา 328% ของมูลค่า (ภาษีนำเข้า+ภาษีสรรพสามิต+ภาษีมูลค่าเพิ่ม) สมมุติ รถยนต์นำเข้ามูลค่า 1,000,000 บาท ต้องเสียภาษีให้กับกรมศุลกากร 3,280,000 บาท หากลักลอบนำเข้ามาทั้งคันก็ไม่ต้องเสียภาษี และถ้าสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ทุกๆ 100,000 บาท ก็จะประหยัดเงินค่าภาษี หรือทำให้รายได้รัฐหายไป 328,000 บาท ส่วนรถจดประกอบ คือ การนำตัวถังและอะไหล่ชิ้นส่วนรถยนต์เก่าจากต่างประเทศมาประกอบเป็นรถยนต์คันใหม่ โดยอะไหล่ชิ้นส่วนเหล่านี้เสียภาษีในอัตรา 49.8% (ภาษีนำเข้า+VAT) หากมีการลักลอบนำเข้าตัวถังเก่ามาประกอบเป็นรถยนต์คันใหม่ มูลค่า 100,000 บาท จะทำให้ผู้นำเข้าประหยัดเงินค่าภาษี 228,200 บาท
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่ารถที่นำมาประมูลขาย ส่วนใหญ่ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถามว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่ตำรวจจากหน่วยงานใด ทำไมข่าวกรองดี สามารถจับ ยึดรถหรูได้เป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกรมศุลกากรกล่าวว่า “ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ ตรวจยึดรถหรูได้มากที่สุด หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและยึดรถหรูจากผู้ต้องหามาได้ ก็นำจะไปเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ไม่ได้นำรถของกลางมาส่งมอบให้กรมศุลกากร แต่พอถึงเวลาเปิดประมูลขายทอดตลาดรถของกลาง ก็จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากหลายพื้นที่ขับรถหรูเข้าร่วมงานประมูลทุกครั้ง ถามว่าทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่นำรถของกลางมาเก็บไว้ที่กรมศุลกากร เหตุผลคือเจ้าหน้าที่ศุลกากรไม่ได้รับส่วนแบ่งเงินรางวัลนำจับ จึงไม่มีใครดูแลรักษารถยนต์ของกลาง ปล่อยให้ขี้ฝุ่นจับ ยางแบน แบตเตอรี่เสื่อม หนูกัดสายไฟ ขายไม่ได้ราคา เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงนำของกลางไปเก็บรักษาเอง”
เจ้าหน้าที่ระดับสูงกรมศูลกากรกล่าวต่อว่า“ในสมัยนายชวลิต เศรษฐเมธีกุล เป็นอธิบดีกรมศุลกากร เคยนำรถยนต์กลาง ยี่ห้อปอร์เช่และเฟอรารี่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้จับกุม มาบดทำลายต่อหน้าสื่อมวลชน ปรากฏว่ามีคนทำเรื่องร้องเรียนสำนักงานตรวจแผ่นดิน (สตง.) ให้เข้ามาตรวจสอบและตั้งข้อกล่าวหาว่าทำลายของหลวง วิธีนี้จึงเลิกไป ล่าสุดนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากรคนปัจจุบัน สั่งให้เจ้าหน้าที่ส่งรายการรถหรูของกลางจำนวน 94 คัน ให้กระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียตรวจสอบหมายเลขตัวถังและหมายเลขเครื่องยนต์ และได้รับการยืนยันจากกระทรวงต่างประเทศมาเลเซียว่าเป็นรถยนต์ที่ถูกโจรกรรม 2 คัน ที่เหลืออีก 92 คัน อยู่ระหว่างการตรวจสอบ โดยในงานประมูลรถยนต์ของกลางวันที่ 23 สิงหาคม 2559 ได้จัดมีพิธีส่งมอบรถยนต์ของกลาง 2 คัน ที่ถูกโจรกรรมมาคืนให้กับรัฐบาลมาเลเซีย โดยมีตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย เป็นผู้รับมอบ” แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมศุลกากร กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่ารถจดประกอบที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ จับ-ยึด นำมาประมูลขายในงานนี้ได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกรมศุลกากรกล่าวว่า”ยังไม่ได้ ตราบใดที่คดียังไม่สิ้นสุด และถึงแม้คดีสิ้นสุดแล้ว ก็ยังนำมาประมูลขายทอดตลาดไม่ได้ เนื่องจากเป็นรถยนต์ที่ประกอบขึ้นใหม่ ต้องส่งให้วิศวกรยานยนต์ เซ็นต์รับรองมาตรฐานความปลอดภัยก่อน ถึงจะนำมาขายทอดตลาดได้ ไม่ใช่ขับไปแล้วมีเสียงลั่นทั้งคัน ยืนยันว่าในงานประมูลขายทอดตลาดรถยนต์ของกลางครั้งนี้ไม่มีรถจดประกอบ ทางกรมศุลกากรได้ส่งข้อมูลรายการรถยนต์ของกลางให้กรมสอบสวนคดีพิเศษและกรมการขนส่งทางบกตรวจสอบก่อนนำมาประมูล”
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจับรถหรูจำนวนมากมาจากไหน เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกรมศุลกากรกล่าวว่า “ไม่รู้ ขณะนี้อยู่ระหว่างขยายผลการสอบสวน ถ้าไม่ได้ผ่านด่านศุลกากร รถยนต์คันใหญ่ๆเป็นจำนวนมากจะถูกลักลอบผ่านช่องทางใด ก่อนหน้านี้กรมศุลกากรเคยตรวจสอบพบว่ามีการลักลอบนำรถยนต์ออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน หรือ เขตปลอดอากร ส่งมอบให้ลูกค้า โดยไม่เสียภาษี ทางกรมศุลกากรได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว สำหรับรถยนต์นำเข้าที่นำมาเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บน หรือ เขตปลอดอากรจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีทุกประเภท เพื่อรอการส่งออก แต่ถ้านำออกมาขายในประเทศ ต้องเสียภาษีตามปกติ แต่ปัญหาในขณะนี้กรมศุลกากรไม่สามารถตรวจเช็คยอดรวมรถยนต์ที่ตกค้างอยู่ในคลังสินค้าฯต่างๆได้อย่าง Real Time ซึ่งอธิบดีกรมศุลกากร(กุลิศ สมบัติศิริ)ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่จากกรมศุลกากรเดินทางไปตรวจสอบสต็อกรถยนต์นำเข้าที่อยู่ในคลังสินค้าทัณฑ์บน,เขตปลอดอากร และเขตประกอบการเสรี คาดว่าจะทราบผลในเร็วๆนี้”
[youtube https://www.youtube.com/watch?v=e_zlRn70GEM&w=560&h=315]