หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สรุปสำนวนคดีนำเข้ารถหรูสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง มีเจ้าหน้าที่ศุลกากรเกี่ยวข้องขบวนการนำเข้ารถหรู 108 คน จากนั้น ป.ป.ท. ได้จัดส่งรายชื่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้กรมศุลกากรดำเนินการทางวินัย พร้อมกับส่งข้อมูลหลักฐาน 40 ลัง ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขยายผลการสอบสวน หาตัวข้าราชการระดับสูงหรือนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังคดีนี้มาลงโทษ
ทันทีที่รายชื่อเจ้าหน้าที่ 108 คน ส่งมาถึงกรมศุลฯ รองอธิบดีกรมศุลกากรปฏิบัติหน้าที่แทนอธิบดีกรมศุลกากร เซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ผลการสอบสวน เหลือนายตรวจ 27 คน ยอมรับราคาผู้นำเข้ารถหรูแจ้งราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้รัฐขาดรายได้หลายหมื่นล้านบาท รองอธิบดีกรมศุลฯ คนเดิมเซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัย แต่ผลการสอบสวนยังไม่สรุป ปรากฏว่ามีนายตรวจศุลกากรบางราย ไปร้องขอความเป็นธรรม ป.ป.ช. โดยขอให้ ป.ป.ช. เข้ามาตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูงกรมศุลกากร เลือกสอบสวนเฉพาะเจ้าหน้าที่บางกลุ่ม อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงเดินทางมาให้ปากคำ พร้อมกับมอบพยานหลักฐานแก่ ป.ป.ช. เรียกร้องให้มีการขยายผลการสอบสวน นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่อีกกลุ่มหนึ่งเตรียมดำเนินคดีกับผู้บริหารระดับสูงของกรมศุลกากร
เนื่องจากคดีนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายและระเบียบข้อบังคับหลายฉบับ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานที่เป็นเจ้าของคดีนี้ ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ท., ป.ป.ช. และกรมศุลกากร ยังไม่สามารถหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ ล่าสุดนี้คณะกรรมการสอบวินัยคดีรถหรูสรุปผลสอบวินัยส่งนายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร พิจารณาอย่างไม่เป็นทางการ โดยคณะกรรมการฯ เสนอให้อธิบดีกรมศุลกากรลงโทษตัดเงินเดือนนายตรวจศุลกากร 27 ราย รายละ 2-4% แต่นายสมชัยไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการสอบวินัยที่มีลงโทษในลักษณะเหมารวม ทั้งนี้เนื่องจากนายตรวจแต่ละรายตรวจปล่อยรถหรูออกจากด่านศุลกากรในจำนวนที่ไม่เท่ากัน บางรายตรวจปล่อยรถหรูออกไปพันคัน บางรายตรวจปล่อยรถหรูแค่หลักร้อยหรือหลักสิบคัน และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาทุกราย ควรพิจารณาโทษเป็น “รายกระทง” หรือ “รายใบขน” ดังนั้น นายสมชัยจึงมอบนโยบายให้คณะกรรมการสอบวินัยนำเรื่องกลับไปทบทวนใหม่ โดยให้คณะกรรมการสอบวินัยพิจารณาความผิดและลงโทษเป็นรายบุคคล พร้อมกับให้ระบุด้วยว่าผู้ถูกกล่าวหาแต่ละรายทำให้รัฐเสียหายเป็นวงเงินเท่าไหร่
แหล่งข่าวจากกรมศุลกากรเปิดเผยว่า ไม่ว่าผลการตัดสินออกมาอย่างไร ลงโทษหนักหรือเบา นายตรวจศุลกากรทุกคนคงไม่มีใครยอมรับผลการตัดสินของคณะกรรมการสอบวินัย เพราะถ้ายอมรับคำตัดสินของคณะกรรมการสอบวินัยลงโทษตัดเงินเดือน เท่ากับยอมรับว่าตนเองกระทำความผิด ประมาทเลินเล่อ ทำให้รัฐเกิดความเสียหาย กรมศุลกากรต้องดำเนินคดีทั้งทางอาญาและแพ่ง เพื่อบังคับให้เจ้าหน้าที่จ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายให้หลวงตามมา หากอธิบดีกรมศุลกากรไม่ดำเนินการ ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 157
“สำหรับนายตรวจศุลกากรที่ไม่ยอมรับผลการตัดสินของคณะกรรมการสอบวินัย สามารถไปยื่นคำร้องขออุทธรณ์คำสั่งกรมศุลกากรต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ภายใน 30 วัน หากผู้ถูกกล่าวหายังไม่พอใจผลการตัดสินของ ก.พ.ค. สามารถไปร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองได้” แหล่งข่าวจากกรมศุลกากรกล่าว (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
แหล่งข่าวจากกรมศุลกากรกล่าวต่อว่า หลังจากที่คณะกรรมการสอบวินัยได้รับมอบนโยบายจากอธิบดีกรมศุลกากร กรรมการและเจ้าหน้าที่ส่วนบังคับคดีหลายคนรู้สึกหนักใจ ยังไม่รู้ว่าจะไปหาราคาที่ถูกต้องจากที่ไหนมาใช้เป็นฐานคำนวณความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะในอดีตที่ผ่านมา กรมศุลกากรไม่ได้ทำการพิสูจน์หรือทดสอบราคานำเข้าที่ถูกต้อง ณ ขณะที่นำเข้ารถในแต่ละช่วงเวลา สำหรับกราฟที่นำมาแสดงคือตัวเลขราคาที่บันทึกในฐานข้อมูลกรมศุลกากร ซึ่งเป็นตัวเลขราคาที่นายตรวจศุลกากรถูกกล่าวหาว่ายอมรับราคาตามที่ผู้นำเข้าสำแดงต่ำกว่าความเป็นจริง
ดังนั้น ในการดำเนินคดีทั้งทางวินัย และทางแพ่งในชั้นศาลต่อไปนั้น คณะกรรมการสอบวินัยต้องหาข้อมูลราคานำเข้ารถหรูที่ถูกต้องย้อนหลังจนถึงปี 2552 มาเป็นตัวตั้งหักลบด้วยราคาที่นายตรวจถูกกล่าวหาว่าปล่อยรถราคาต่ำกว่าความเป็นจริง แต่ปัญหาใหญ่คือยังไม่รู้จะหาข้อมูลราคาที่ถูกต้องจากที่ไหนเป็นตัวเทียบเคียง ตัวเลขราคานำเข้ารถหรูที่มีอยู่ในฐานข้อมูลกรมศุลฯ มีแต่ตัวเลขราคาที่ผู้นำเข้าสำแดงยังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ หรือรับรองว่าเป็นราคาที่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่ส่วนบังคับคดีจะใช้ราคานำเข้ารถหรู ณ ปัจจุบัน หรือใช้ราคาที่ตัวแทนจำหน่ายรถหรูที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากโรงงานผู้ผลิตมาคำนวณมูลค่าความเสียหายไม่ได้ เพราะยังไม่ได้พิสูจน์ว่าราคานำเข้ารถหรูที่สำแดงเป็นราคาที่ถูกต้อง
นอกจากนี้ ปัญหาต่อมา มีนายตรวจศุลกากรบางคนทักท้วงคณะกรรมการสอบวินัยระหว่างที่ทำการสอบสวน เรียกใบขนสินค้ามาตรวจสอบเพียง 5 ใบ จากทั้งหมด 199 ใบ แล้วสรุปเหมารวมว่านายตรวจคนนั้นตรวจปล่อยรถหรูราคาต่ำกว่าความเป็นจริงทุกใบขน ประมาณ 1,000 คัน นายตรวจจึงถามคณะกรรมการสอบวินัยว่าตนปล่อยรถหรูราคาต่ำกว่าความเป็นจริงไปเท่าไหร่ คณะกรรมการสอบวินัยตอบไม่ได้ ดังนั้น หากจะให้สำนวนคดีมีความหนักแน่น นำไปอ้างอิงในชั้นศาลได้ นอกจากจะต้องมีฐานราคานำเข้ารถหรูที่ถูกต้องมาคำนวณความเสียหายแล้ว คณะกรรมการสอบวินัยต้องตรวจสอบอย่างละเอียดทุกใบขนจนครบ 44,000 คัน เพื่อพิสูจน์ว่านายตรวจแต่ละคนปล่อยรถหรูราคาต่ำกว่าความเป็นจริงคันละเท่าไหร่ และนี่อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการสอบวินัยต้องลงโทษผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 27 คน แบบเหมารวมความผิด ตัดเงินเดือนรายละ 2-4%