ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มหากาพย์นำเข้ารถหรู (7): ความจริงปรากฏผลสอบนายตรวจ 108 ราย ผิดวินัยร้ายแรง 67 ราย รอด 41 ราย พบพิรุธ 1 ราย รองอธิบดีฯ อนุมัติให้ลาออกระหว่างสอบสวน

มหากาพย์นำเข้ารถหรู (7): ความจริงปรากฏผลสอบนายตรวจ 108 ราย ผิดวินัยร้ายแรง 67 ราย รอด 41 ราย พบพิรุธ 1 ราย รองอธิบดีฯ อนุมัติให้ลาออกระหว่างสอบสวน

9 กันยายน 2015


จากที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า เสนอข่าวซีรีย์มหากาพย์นำเข้ารถหรู ในตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง คดีรถหรูสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง นำผลการสอบสวนมารายงานอธิบดีกรมศุลกากรอย่างไม่เป็นทางการ เสนอให้ลงโทษตัดเงินเดือนนายตรวจศุลกากรที่ตรวจปล่อยรถหรู คนละ 2-4% ปรากฏว่ามีแหล่งข่าวจากกรมศุลกากรได้ให้รายละเอียดความคืบหน้าของการพิจารณาคดีทั้งหมดดังนี้

หลังจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มีหนังสือลับที่ ยธ 1226.1/770 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2555 และหนังสือลับที่ ยธ 1226.1/968 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2555 มาถึงกรมศุลกากร โดยตั้งข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่ 108 คน ไม่ได้นำ “ราคาทดสอบ” ตามคำสั่งกรมศุลกากรที่ 317/2547 มาวิเคราะห์เปรียบเทียบ หรือโต้แย้งผู้นำเข้าอิสระ ยอมรับราคาที่ผู้นำเข้าสำแดงต่ำกว่าราคาทดสอบ ซึ่งอาจทำให้รัฐสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

เปรียบเทียบราคานำเข้ารถหรู1

เนื่องจากข้อกล่าวหาดังกล่าวนี้ ยังไม่สามารถพิสูจน์หรือชี้ชัดได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาแต่ละรายยอมรับราคาต่ำกว่าความเป็นจริงคิดเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ หรือกรมศุลกากรได้รับความเสียหายจากการนำเข้าครั้งนี้หรือไม่ ดังนั้น ในความผิดทางแพ่ง จึงไม่สามารถดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายกับผู้ถูกกล่าวหาและผู้นำเข้ารถหรู ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ได้ จนกว่ากรมศุลกากรจะพิสูจน์ หรือยืนยันได้ว่าการยอมรับราคาและตรวจปล่อยรถหรูช่วงที่ผ่านมา ทำให้กรมศุลกากรได้รับความเสียหาย

แหล่งข่าวจากกรมศุลกากร กล่าวว่า แต่ในการลงโทษทางวินัยราชการ กรมศุลกากรสามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่เกี่ยวข้องกับงานตรวจปล่อยรถยนต์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งกรมศุลกากรที่ 317/2547 โดยยอมรับราคาที่ผู้นำเข้าสำแดงต่ำกว่าราคาทดสอบเป็นจำนวนมาก หากผู้นำเข้าสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ตามข้อกล่าวหาของ ป.ป.ท. อาจทำให้รัฐสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก และเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 108 คน วันที่ 30 พฤษภาคม 2555 รองอธิบดีกรมศุลกากรลงนามในคำสั่งลับที่ 21/2555 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง

โดยคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เริ่มดำเนินการไต่สวนเจ้าหน้าที่กลุ่มแรก 40 คน พบว่า กลุ่มนี้มีนายตรวจศุลกากร 27 คน ไม่นำ “ราคาทดสอบ” ตามคำสั่งกรมศุลกากรที่ 317/2547 มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับราคาที่ผู้นำเข้าสำแดง ก่อนตรวจปล่อยรถหรูออกจากด่านศุลกากร มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

กลุ่มที่ 2 จำนวน 68 คน คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง พบว่ามีเจ้าหน้าที่ศุลกากร 40 คน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งกรมศุลฯ เช่นเดียวกลุ่มนายตรวจศุลกากร 27 คน จึงมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงเช่นเดียวกัน

จากนั้น คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ ส่งสำนวนการสอบสวนให้ผู้อำนวยการส่วนวินัยและความรับผิดทางละเมิด (สวค.) และสำนักบริหารทรัพยากรบุคคล (สบท.) พิจารณากลั่นกรอง ก่อนส่งเรื่องให้รองอธิบดีกรมศุลกากรลงนามในคำสั่งที่ 3/2556 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2556 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงเจ้าหน้าที่ศุลกากรทั้ง 67 คน(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

สรุปผลสอบคดีรถหรู

รายงานผลการพิจารณาไต่สวนเจ้าหน้าที่ศุลกากร คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแบ่งผู้ถูกกล่าวหาออกเป็น 11 กลุ่ม มีดังนี้

กลุ่มที่ 1 คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ไต่สวนเจ้าหน้าที่ศุลกากร 32 ราย แล้วมีความเห็นว่า เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้มีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งกรมศุลกากรที่ 317/2547 ยอมรับราคาที่ผู้นำเข้าสำแดงต่ำกว่า“ราคาทดสอบ” เป็นจำนวนมาก คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงจึงเสนอให้กรมศุลกากรแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้

กลุ่มที่ 2 มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง 16 ราย คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ยังไม่สามารถสรุปผลการตรวจสอบได้ เนื่องจากมีประกาศ ผอ.สทก. ที่ 5/2551 อาศัยอำนาจตามประกาศกรมศุลกากรที่ 116/2549 แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่งานประเมินราคากับงานตรวจปล่อยสินค้าบางประเภทที่มีความเสี่ยงในเรื่องการสำแดงราคาต่ำแยกออกจากกัน ยกตัวอย่าง นาย ส. ทำหน้าที่ประเมินราคา ส่วนนาย น. และนางสาว บ. ทำหน้าที่ตรวจปล่อยรถหรู แต่ไม่ได้เป็นผู้ประเมินราคา และยอมรับราคาผู้นำเข้า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงจึงมีความเห็นให้สอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

ยุติการสอบสวน กรณีปล่อยรถหรูพลาดแค่ครั้งเดียว

กลุ่มที่ 3 มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง 8 ราย คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงมีความเห็นให้ยุติเรื่อง มีรายละเอียดดังนี้
3.1 นาย ธ. และนาย ว. ได้รับมอบหมายจากกรมศุลฯ ให้มาแก้ปัญหาผู้นำเข้ารถหรู นำรถยนต์ออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนไม่ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ จึงออกหนังสือแจ้งให้ผู้นำเข้ามาเสียภาษี ถึงแม้ว่าการยอมรับราคารถหรูจะไม่เป็นไปตามประกาศกรมศุลกากรที่ 317/2547 แต่ด้วยสภาพการทำงานมีข้อจำกัดในเรื่องเวลาที่จะใช้วิธีการเรียกเก็บภาษี หรือประเมินราคาในรูปแบบอื่น จึงเห็นควรให้ยุติเรื่อง

3.2 นาย ธ. นำราคาที่ผู้นำเข้ารถหรูสำแดงตามใบขนสินค้ามาเปรียบเทียบกับราคาทดสอบ พบว่าต่ำกว่าเกณฑ์เล็กน้อยเพียง 1 ฉบับ (ใบขนสินค้า) ส่วนอีก 1 ฉบับ นำมาเปรียบเทียบกับราคาทดสอบแล้ว ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่พอยอมรับได้ ถือว่าได้ใช้ความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามวิสัย และระเบียบของทางราชการ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เห็นควรให้ยุติเรื่อง

3.3 นาย อ. ยอมรับราคารถหรูของตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจากโรงงานผู้ผลิตในต่างประเทศ (Agent) เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับราคาทดสอบ พบว่าต่ำกว่ามาตรฐานเล็กน้อย เพียง 1 ใบขนสินค้า ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า นาย อ. ขาดความเอาใจใส่ ไม่รักษาผลประโยชน์ของทางราชการ จึงเห็นควรให้ยุติเรื่อง

3.4 นางสาว น. ยอมรับราคารถหรูของตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจากโรงงานผู้ผลิตในประเทศญี่ปุ่น (Agent) เมื่อเปรียบเทียบกับราคาทดสอบ พบว่าเป็นไปตามเกณฑ์ที่กรมศุลฯกำหนด จึงให้ยุติการสอบสวน

3.5 นาง ป. พบว่ามีการประเมินราคาเป็นไปตามคำสั่งกรมศุลกากรที่ 317/2547 ประกอบกับนาง ป. ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวนี้ก่อนที่จะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ถือว่าปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนแล้ว เห็นควรให้ยุติเรื่อง

3.6 นาย น. ไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบและยอมรับราคารถหรู แต่มีนาย ส. เป็นผู้ประเมินและยอมรับราคาผู้นำเข้า นาย น. เป็นเพียงทำหน้าที่ตรวจสภาพรถยนต์ตามรายละเอียดที่ผู้นำเข้าสำแดงไว้ในใบขนสินค้า และตรวจปล่อยรถออกจากด่านศุลกากร เห็นควรให้ยุติการสอบสวน

3.7 นางสาว บ. ไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบและยอมรับราคารถหรู แต่มีนาย ส. เป็นผู้ประเมินและยอมรับราคาผู้นำเข้า นางสาว บ. เป็นเพียงผู้ทำหน้าที่ตรวจสภาพรถยนต์ตามรายละเอียดที่ผู้นำเข้าสำแดงไว้ในใบขนสินค้า และตรวจปล่อยรถออกจากด่านศุลกากร เห็นควรให้ยุติการสอบสวน

นำเข้ารถหรู

ปลดเกษียณเกิน 180 วัน รอด

กลุ่มที่ 4 มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง 11 ราย คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง สรุปมีมูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้เกษียณอายุราชการเกินกว่า 180 วัน จึงเห็นควรให้งดการสอบสวน ตามมาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

กลุ่มที่ 5 มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง 6 ราย ทำหน้าที่ออกใบรับรองการนำเข้า (แบบ 32) และรับรองสำเนาใบขนสินค้า ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการประเมินราคา และตรวจปล่อยสินค้า จึงไม่มีความผิดเห็นควรให้ยุติเรื่อง

กลุ่มที่ 6 มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง 4 ราย อธิบดีกรมศุลกากรได้มีคำสั่งลงวันที่ 21 กันยายน 2555 ให้ทำหน้าที่ออกใบรับรองการนำเข้า (แบบ 32) และรับรองสำเนาใบขนสินค้า ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการประเมินราคา และตรวจปล่อยสินค้า จึงไม่มีความผิดเห็นควรให้ยุติเรื่องการสอบสวน

กลุ่มที่ 7 มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง 9 ราย เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้มีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งกรมศุลกากรที่ 317/2547 ยอมรับราคาที่ผู้นำเข้าสำแดงต่ำกว่า “ราคาทดสอบ” เป็นจำนวนมาก คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง จึงเสนอให้กรมศุลกากรแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย

กลุ่มที่ 8 มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง 6 ราย คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเสนอให้ลงโทษตัดเงินเดือน ถึงแม้เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งกรมศุลกากรที่ 317/2547 ยอมรับราคาที่ผู้นำเข้าสำแดงต่ำกว่า “ราคาทดสอบ” เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ยอมรับราคาและตรวจปล่อยรถยนต์ผิดพลาดไม่ถึง 10 ครั้ง จึงเห็นควรให้ลงโทษแตกต่างจากกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 7 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดมากกว่า (จำนวนครั้ง) โดยการตัดเงินเดือน

กลุ่มที่ 9 มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง 6 ราย มีชื่อถูกสอบติดอยู่ในกลุ่มที่ 3 แต่มีประเด็นที่ถูกสอบสวนแตกต่างกัน รายละเอียดมีดังนี้

9.1 นางสาว บ. ตรวจปล่อยรถยนต์นำเข้าก่อนปี 2551 ทุกฉบับ แต่ไม่อยู่ในขอบเขตการสืบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เห็นควรให้ยุติเรื่อง

9.2 นาย ธ. และนาย ว. เกษียณอายุราชการวันที่ 30 กันยายน 2556 ได้รับมอบหมายจากกรมศุลฯ ให้มาแก้ปัญหาผู้นำเข้ารถหรู นำรถยนต์ออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนไม่ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ จึงออกหนังสือแจ้งให้ผู้นำเข้ามาเสียภาษี ถึงแม้ว่าการยอมรับราคารถหรูจะไม่เป็นไปตามประกาศกรมศุลกากรที่ 317/2547 จำนวน 3 คัน แต่ด้วยสภาพการทำงานมีข้อจำกัดในเรื่องเวลาที่จะใช้วิธีการเรียกเก็บภาษีหรือประเมินราคาในรูปแบบอื่น ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าวไม่สามารถสรุปได้ว่ามีการประเมินราคาผิดพลาด โดยนาย ธ. ยอมรับราคาและตรวจปล่อยรถราคาต่ำกว่าราคาทำสอบเพียง 1 ใบขนสินค้า ส่วนนาย ว. ยอมรับราคาและตรวจปล่อยรถ 6 ใบขนสินค้า ดังนั้น เพื่อแยกเจ้าหน้าที่ที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ออกจากเจ้าหน้าที่ที่ประมาทเลินเล่อ หรือขาดการเอาใจใส่ต่อหน้าที่ราชการ ประกอบกับเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ราย เกษียณอายุราชการแล้ว จึงเห็นควรให้ยุติการสอบสวน

9.3 นาย ธ. นำราคาที่ผู้นำเข้ารถหรูสำแดงตามใบขนสินค้ามาเปรียบเทียบกับราคาทดสอบ พบว่าต่ำกว่าเกณฑ์เล็กน้อยเพียง 1 ฉบับ (ใบขนสินค้า) ส่วนอีก 1 ฉบับ ยอมรับราคานำเข้าสูงกว่าราคาทดสอบ ถือว่านาย ธ. ได้ใช้ความรู้ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามวิสัย และระเบียบของทางราชการ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เห็นควรให้ยุติการสอบสวน

9.4 นาย อ. ยอมรับราคารถหรูของตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจากโรงงานผู้ผลิตในต่างประเทศ (Agent) เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับราคาทดสอบ กรณีนี้พบว่ายอมรับราคาสูงกว่าราคาทดสอบจำนวนมาก แต่การนำเข้ารถยนต์ 1 ใบขนสินค้าเท่านั้นที่ยอมรับราคาต่ำกว่าราคาทดสอบ พบความบกพร่องเพียง 1 ครั้ง ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า นาย อ. ประมาทเลินเล่อ หรือ ขาดความเอาใจใส่ ไม่รักษาผลประโยชน์ของทางราชการ จึงเห็นควรให้ยุติการสอบสวน

9.5 นาง ป. ในกรณีนี้นาง ป. ปรับราคารถยนต์ที่ผู้นำเข้าสำแดงเพิ่มขึ้น โดยค้นหาราคารถยนต์จากเว็บไซต์ในต่างประเทศ คำนวณราคาตามหลักเกณฑ์กรมศุลฯ กำหนด แต่นาง ป. ยอมรับราคานำเข้ารถยนต์ต่ำกว่าราคาทดสอบ เพียง 1 ใบขนสินค้า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงจึงไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า นาง ป. ประมาทเลินเล่อหรือขาดความเอาใจใส่ ไม่รักษาผลประโยชน์ของทางราชการ จึงเห็นควรให้ยุติการสอบสวน

กลุ่มที่ 10 มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง 3 ราย ข้อเท้จจริงยังไม่ครบถ้วน คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เสนอให้สอบเพิ่มเติม

กลุ่มที่ 11 เป็นหัวหน้างาน หรือหัวหน้าฝ่ายจำนวน 11 ราย แม้ว่าจะไม่ได้ทำหน้าที่ยอมรับราคาและตรวจปล่อยรถยนต์โดยตรง แต่ขาดการเอาใจใส่การทำงานผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งควรให้คำแนะนำ หรือให้คำปรึกษาแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบของทางราชการ ถือว่าหัวหน้างานหรือหัวหน้าฝ่ายมีความบกพร่องต่อหน้าที่แต่ไม่ร้ายแรง จึงเห็นควรให้ภาคทัณฑ์หัวหน้างาน หรือหัวหน้าฝ่าย

สุดท้าย คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เสนอให้สำนักตรวจสอบอากร (สตอ.) หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการตรวจสอบและประเมินอากร รวบรวมพยานหลักฐานและคำนวณยอดความเสียหาย กรณีสำแดงราคานำเข้ารถหรูต่ำกว่าความเป็นจริง ติดตามและเรียกเก็บอากรส่วนที่ขาดให้ครบถ้วน หากผู้นำเข้าไม่มาชำระค่าอากรเพิ่ม ให้ส่งสำนักกฎหมาย (สกม.) ดำเนินคดีกับผู้นำเข้าและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ปริมาณการนำเข้ารถหรู

พบพิรุธรองอธิบดีเซ็นอนุมัติ-ผู้ถูกกล่าวหาผิดวินัยร้ายแรงลาออก

จากนั้น คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ได้นำรายงานสรุปผลสอบข้อเท็จจริง เสนอให้ฝ่ายวินัย สวค. และ สบท. พิจารณาตามขั้นตอนของทางราชการ ก่อนที่จะส่งเรื่องให้รองอธิบดีกรมศุลกากรลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย ทั้งฝ่ายวินัย สวค. และ สบท. มีความคิดเห็นดังนี้

1. ผู้ถูกกล่าวหากลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 7 จำนวน 41 ราย ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ 1 ราย ได้รับการอนุมัติจากรองอธิบดีกรมศุลกากรให้ลาออกจากราชการระหว่างการสอบสวน จึงเหลือผู้ถูกกล่าวหา 40 ราย กลุ่มนี้ ฝ่ายวินัย สวค. และ สบท. มีความเห็นให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง

2. ผู้ถูกกล่าวหากลุ่มที่ 3 ฝ่ายวินัย สวค. และ สบท. มีความคิดเห็นดังนี้

2.1 นางสาว น. ยอมรับราคารถยนต์นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เปรียบเทียบกับราคาทดสอบแล้วพบว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์การประเมินราคา จึงเห็นควรให้ยุติเรื่อง

2.2 นาย ธ. และนาย ว. เกษียณอายุราชการวันที่ 30 กันยายน 2556 ได้รับมอบหมายจากกรมศุลฯ ให้มาแก้ปัญหาผู้นำเข้ารถหรู นำรถยนต์ออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนไม่ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ นาย ธ. และนาย ว. ออกหนังสือแจ้งให้ผู้นำเข้ามาเสียภาษี ถือว่าบกพร่องต่อหน้าที่ไม่ร้ายแรง ประกอบกับเจ้าหน้าที่ 2 ราย เกษียณอายุราชการไปแล้ว จึงเห็นควรให้ยุติการสอบสวน

3. ผู้ถูกกล่าวหากลุ่มที่ 4 จำนวน 11 ราย ผลการสอบมีมูลความผิดวินัยร้ายแรง แต่เกษียณอายุราชการเกิน 180 วัน ตามมาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 จึงเห็นควรให้ยุติการสอบสวน

4. ผู้ถูกกล่าวหากลุ่มที่ 5 และกลุ่มที่ 6 รวม 10 ราย ทำหน้าที่ออกใบรับรองการนำเข้า (แบบ 32) และรับรองสำเนาใบขนสินค้า ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานยอมรับราคา และตรวจปล่อยรถยนต์ จึงเห็นควรให้ยุติเรื่อง

สวต.-สบท. ตีกลับ-ข้อเสนอตัดเงินเดือนเจ้าหน้าที่ปล่อยรถหรูพลาดไม่เกิน 10 ครั้ง

5. ผู้ถูกกล่าวหา กลุ่มที่ 8 จำนวน 6 ราย คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เห็นว่าเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้มีมูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรงเหมือนกับเจ้าหน้าที่กลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 7 แต่ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดไม่ถึง 10 ครั้ง จึงเสนอให้ลงโทษตัดเงินเดือน

แต่ทางฝ่ายวินัย สวค. และ สบท. ได้มอบหมายให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงนำเรื่องนี้กลับไปสอบสวนเพิ่มเติม โดยให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงระบุความผิดให้ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้มีความผิดวินัยอย่างรายแรงหรือไม่ร้ายแรง และให้เสนอความเห็นมาให้ฝ่ายวินัย สวค. และ สบท. พิจารณาอีกครั้ง

6. ผู้ถูกกล่าวหากลุ่มที่ 9 จำนวน 6 ราย คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงมีความเห็นให้ยุติการสอบสวน เนื่องจากเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ปฏิบัติหน้าที่ตรวจปล่อยรถผิดพลาดแค่ 1 ครั้ง (1 ใบขนสินค้า) แต่ทางฝ่ายวินัย สวค. และ สบท. ได้มอบหมายให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงนำเรื่องนี้กลับไปสอบสวนเพิ่มเติม โดยให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงระบุความผิดให้ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้มีความผิดวินัยอย่างรายแรงหรือไม่ร้ายแรง และให้เสนอความเห็นมาให้ฝ่ายวินัย สวค. และ สบท. พิจารณาอีกครั้ง

7. ผู้ถูกกล่าวหากลุ่มที่ 10 จำนวน 3 ราย เนื่องจากข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการปฎิบัติห้าที่ของเจ้าห้าที่กลุ่มนี้ยังไม่ชัดเจน เห็นควรให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงไปทำการสอบเพิ่มเติม

8. ผู้ถูกกล่าวหากลุ่มที่ 11 เป็นหัวหน้างานหรือหัวหน้าฝ่ายจำนวน 11 ราย คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เสนอให้ลงโทษภาคทัณฑ์ แต่เนื่องจากคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงยังไม่ได้สรุปว่าเจ้าห้าที่กลุ่มนี้กระทำความผิดตามมาตราใด และ สถานที่ไหน ฝ่ายวินัย สวค. และ สบท. จึงเห็นควรให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงนำเรื่องนี้กลับไปทบทวนและสรุปความเห็นใหม่ให้ชัดเจน แล้วนำเสนอ สบท. อีกครั้ง

แหล่งข่าวจากกรมศุลกากรกล่าวว่า หลังจากที่กรมศุลกากรมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยเจ้าหน้าที่ 67 คน ปรากฏว่ามีผู้ถูกกล่าวหาบางรายไม่พอใจกระบวนการไต่สวนของกรมศุลกากร เดินทางไปร้องเรียนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เข้ามาตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูงกรมศุลกากรบางราย อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อย่างเช่น กรณีอนุมัติให้ผู้ถูกกล่าวหาลาออกจากราชการระหว่างการสอบสวน 1 ราย, กรณีเสนอให้ตัดเงินเดือนเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ตรวจปล่อยรถหรูราคาต่ำกว่าความเป็นจริงไม่ถึง 10 ครั้ง (ใบขนสินค้า) รวมทั้งกรณีคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เรียกใบขนสินค้ามาตรวจสอบเพียง 5 ใบ จากทั้งหมด 199 ใบ แล้วสรุปว่าผู้ถูกกล่าวหาตรวจปล่อยรถหรูราคาต่ำกว่าความเป็นจริงทุกใบขนสินค้า รวม 1,000 คัน เป็นต้น

“ถึงแม้ว่าขณะนี้กรมศุลฯ ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายหรือดำเนินคดีทางแพ่งเรียกค่าเสียหายกับผู้ถูกกล่าวหาได้ แต่ไม่ว่าผลการตัดสินจะออกมาอย่างไร เชื่อว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 67 ราย คงต้องไปยื่นคำร้องของอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) เพื่อรักษาสิทธิและเป็นประโยชน์ต่อการต่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป” แหล่งข่าวจากกรมศุลกากรกล่าว