ThaiPublica > เกาะกระแส > ASEAN Roundup มาเลเซียเดินหน้าแผนจ้างงานไตรมาส 2 ปี ’63 เมียนมาชวนต่างชาติลงทุนภาคเกษตรรัฐฉาน

ASEAN Roundup มาเลเซียเดินหน้าแผนจ้างงานไตรมาส 2 ปี ’63 เมียนมาชวนต่างชาติลงทุนภาคเกษตรรัฐฉาน

8 ธันวาคม 2019


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 1-7 ธันวาคม 2562

  • มาเลเซียเดินหน้าแผนจ้างงานไตรมาส 2 ปี’63
  • อินโดนีเซียศึกษาตั้งกองทุน Sovereign Wealth Fund
  • ลาวแก้กฎหมายหลักทรัพย์ดันตลาดหุ้นโต
  • เมียนมาชวนต่างชาติลงทุนภาคเกษตรรัฐฉาน

มาเลเซียเดินหน้าแผนจ้างงานไตรมาส 2 ปี ’63

ที่มาภาพ: https://www.theedgemarkets.com/article/malaysiawork-programme-start-2q20-says-guan-eng
มาเลเซียจะเริ่มดำเนินโครงการสร้างงาน หรือ Malaysia@Work ซึ่งมีวงเงิน 6.5 พันล้านริงกิตในไตรมาสสอง ปี 2563 ซึ่งคาดว่าจะสร้างได้ถึง 350,000 ตำแหน่งในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจะผลักดันโครงการเป็นระยะๆ

โครงการนี้มีเป้าหมายที่จะเพิ่มการจ้างงานในประเทศให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้ในไตรมาส 3 ปีนี้เศรษฐกิจขยายตัว 4.4% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากการใช้จ่ายของครัวเรือนและการลงทุนที่ลดลง

ในระยะยาวรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะเพิ่มอัตราค่าจ้างให้สูงขึ้น และลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติที่มีค่าจ้างถูกและมีทักษะต่ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายที่จะยกระดับประเทศไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว

Finance Minister Lim Guan Eng นาย ลิม กวน เอง รัฐมนตรีกระทรวงการคลังกล่าวในงานเปิดตัวโครงการว่า โครงการนี้จะช่วยให้ลูกจ้างมีเงินเก็บยามเกษียณ นอกเหนือจากการเพิ่มเงินสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

“ภายใต้โครงการ Malaysia@Work นี้ ค่าจ้าง และสวัสดิการจ้างงานจะคืนเงินสดเข้าบัญชีเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติของลูกจ้าง แทนการจ่ายเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้าง ที่ปัจจุบันลุกจ้างจ่าย 11% และนายจ้างจ่าย 13% ทุกเดือน เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการถอนเงินออก ลูกจ้างจะถอนเงินในจำนวนเท่าใดก็ได้” นาย ลิม กวน เอง กล่าว

ตุนกู อาลีซาคีร์ เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญกล่าวว่า โครงการ Malaysia@Work เปิดให้ลูกจ้างที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์จะมีเงินรายได้มากขึ้น และนายจ้างมีแรงจูงใจที่จะจ้างงานในต้นทุนที่ต่ำลง

อัตราว่างงานของมาเลเซียทรงตัวที่ระดับ 3% มาเกือบสองทศวรรษ ซึ่งเป็นระดับที่มีการจ้างงานเต็มที่ และการชดเชยให้ลูกจ้างยังทรงตัวที่ 35% ของจีดีพีมานาน ตามหลังสิงคโปร์

โครงการ Malaysia@Work เป็นโครงการให้เงินอุดหนุนของรัฐบาลที่ให้กับนายจ้างและลูกจ้าง ได้นำเสนอในที่ประชุมงบประมาณประจำปี 2563 ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลคาดว่าจะลดแรงงานต่างชาติได้มากกว่า 130,000 ราย

สิทธิประโยชน์ของโครงการ Malaysia@Work จะมีอายุ 2 ปี และโครงการแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ตามกลุ่มเป้าหมาย คือ Graduates@Work ที่เน้นการการจ้างงานสำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาที่ยังไม่มีงานทำ ส่วน Apprentice@Work เพิ่มการเรียนรู้ด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา รวมทั้งการฝึกงานในกลุ่มเยาวชน ขณะที่ Women@Work เน้นไปที่การดึงผู้หญิงที่มีความสามารถ และ Locals@Work ที่มีเป้าหมายจูงใจให้ลดการจ้างงานแรงงานต่างชาติที่มีทักษะต่ำ และไม่ให้แรงงานในประเทศเลือกงาน โดยให้สิทธิประโยชน์เป็นตัวเงิน สำหรับแรงงานในประเทศที่ถูกจ้างงานแทนแรงงานต่างชาติ ในจำนวนเงิน 350-500 ริงกิตต่อเดือน ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในภาคธุรกิจอะไร เป็นเวลา 2 ปี และให้สิทธิจูงใจนายจ้างเป็นตัวเงิน 250 ริงกิตต่อเดือน

โครงการ Graduates@Work และ Apprentice@Work อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงเยาวชนและกีฬา ซึ่ง Graduates@Work จะจ้างงานผู้สำเร็จการศึกษาที่ไม่มีงานทำมาเป็นเวลา 12 เดือน และผู้ที่ได้รับการจ้างงานจะได้เงิน 500 ริงกิตต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือน และนายจ้างได้รับเงินเพื่อจูงใจให้จ้างงานเดือนละไม่เกิน 350 ริงกิต

ขณะที่ Apprentice@Work มีเป้าหมายให้เยาวชนเข้ามาร่วมโครงการฝึกอบรม ซึ่งจะได้รับเงินเดือนละ 100 ริงกิตในช่วงฝึกงาน และรัฐบาลได้เพิ่มการลดภาษีเป็น 2 เท่าให้กับบริษัทที่ร่วมโครงการ รวมทั้งบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ Structured Internship Programme (SIP)

นักวิเคราะห์ประเมินว่า โครงการนี้จะลดการว่างงานในกลุ่มเยาวชนที่สูงถึงเลขสองหลักลงได้ รวมทั้งจูงใจให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องศึกษาสาเหตุของการว่างงานในกลุ่มเยาวชนที่อยู่ในระดับสูง เพราะอาจจะมาจากทักษะที่ไม่ตรงกับงาน รวมไปถึงอาจจะต้องปฏิรูปการศึกษา

ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวสุนทรพจน์ในการเปิดตัวโครงการว่า ความริเริ่มจะทำให้เงินหมุนไปหลายรอบและต่อเนื่องยาวนาน และเป็นแก้ไขปัญหาการจ้างงานในตลาดแรงงานอีกด้วย โดยเฉพาะกล่มผู้สำเร็จการศึกษา ที่ไม่มีงานทำ เพราะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น และการว่างงานในกลุ่มเยาวชนจะนำไปสู่การไม่มีส่วนร่วมในเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการสูญเปล่าทางการศึกษา และเป็นรากฐานที่เปราะบางของความไม่พอใจและความไม่มีเสถียรภาพ

มาเลเซียพึ่งแรงงานต่างชาติที่มีค่าจ้างต่ำมาร่วมสองทศวรรษ ในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจปาล์มน้ำมัน และธุรกิจก่อสร้าง โดยมีแรงงานต่างชาติกว่า 2 ล้านราย และส่วนหนึ่งไม่มีเอกสารจ้างงานที่ถูกต้อง

อินโดนีเซียศึกษาตั้งกองทุน Sovereign Wealth Fund

ที่มาภาพ: https://www.dealstreetasia.com/stories/indonesia-sovereign-wealth-fund-165178/
อินโดนีเซียกำลังศึกษาแนวทางการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติหรือ Sovereign Wealth Fund (SWF) ในรูปแบบเดียวกับ เทมาเสก โฮล ดิง (Temasak Holding) ของสิงคโปร์ หรือคาซานา (Khzanah) ของมาเลเซีย เพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัปในประเทศและกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมทั้งสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่แบกรับภาระหนี้สูง

รัฐบาลยังไม่กำหนดขนาดเริ่มต้นของกองทุนรวมทั้งที่มาของเงินที่จะใช้จัดตั้ง แต่จากรายงานฉบับที่ผ่านมา รัฐบาลเคยบ่งชี้ว่า หากมีการจัดตั้งกองทุน SWF แล้ว ขนาดของกองทุนจะมีมูลค่าราว 10 พันล้านดอลลาร์

แผนการจัดตั้งกองทุน SWF ได้รับการสนุนจากกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ สำหรับรูปแบบของกองทุนนั้นอาจจะเป็นแบบเดียวกับของสิงคโปร์ที่เป็นผู้นำด้านการลงทุน แต่ต้องการให้สนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัปในประเทศด้วย

ทั้งนี้รูปแบบของกองทุนสิงคโปร์นั้นจะมีเอ็นเตอร์ไพรส์สิงคโปร์ หน่วยงานด้านการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการลงทุน กับเทมาเสก เป็นผู้ลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัป และสนับสนุนการขยายธุรกิจไม่เฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่ให้ขยายออกไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดียด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแผนที่จะจัดตั้งสำนักงานในสิงคโปร์เพื่อสนับสนุนธุรกิจอินโดนีเซียที่ประกอบธุรกิจในสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม ในแวดวงธุรกิจมีมุมมองว่า รัฐบาลอินโดนีเซียมีฐานะการเงินที่ด้อยกว่าสิงคโปร์ และยังไม่สามารถลงทุนในเชิงพาณิชย์โดยที่ไม่มีแรงกดดันทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมทั้งยังเห็นว่ารัฐบาลเข้ามีส่วนร่วมในเศรษฐกิจมากเกินไปแล้ว ตลอดจนธุรกิจที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลและธุรกิจที่มีการเชื่อมโยงกับการเมืองมีอิทธิพลมาก

ลาวแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์ดันตลาดทุนโต

ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/laos-central-bank-set-focus-currency-inflation-management
นายสอนไซ สิดพะไซ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เปิดเผยว่า ได้เสนอให้สภาแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พิจารณาและอนุมัติ ร่างแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์ เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจของลาวใช้กลไกตลาดทุนในการระดมทุนเพื่อการลงทุนได้ง่ายขึ้น

“การแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์จะทำให้รัฐวิสาหกิจและธุรกิจระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ได้ง่ายขึ้น และยังส่งเสริมให้นักลงทุนทั้งบุคคลทั่วไปและธุรกิจเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์” นายสอนไซกล่าว และคาดว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจในการเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์

นอกจากนี้ การแก้ไขกฎหมายจะเอื้อการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านตลาดทุนในประเทศกับภูมิภาคและนานาชาติ ซึ่งช่วยให้ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรของลาวมีการพัฒนามากขึ้น

ลาวได้จัดตั้งตลาดหุ้นในปี 2010 เพื่อเป็นฐานการระดมทุนของบริษัทในประเทศ โดยในช่วงแรกได้ออกเป็นประกาศนายกรัฐมนตรี ต่อมาได้ยกระดับเป็นกฎหมายในปี 2012 นับตั้งแต่ก่อตั้งการระดมทุนมีมูลค่า 19,197 พันล้านกีบ หรือ 12% ของจีดีพี มีบริษัทจดทะเบียน 11 ราย
และมีบัญชีซื้อขายของนักลงทุนในประเทศเป็นสัดส่วน 78% ที่เหลือเป็นนักลงทุนต่างชาติและนิติบุคคล

นายสอนไซกล่าวว่า การก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ทำให้บริษัทจดทะเบียนมีการบริหารงานแบบมืออาชีพด้วย เพราะมีการประยุกต์ใช้แนวปฏิบัติตามาตรฐานสากล มีการดำเนินงานที่โปร่งใส และจ่ายภาษีเต็มอัตรา

แต่ความท้าทายคือนักลงทุนในประเทศไม่ค่อยซื้อขายหุ้นกันมากนัก แม้เป็นนักลงทุนกลุ่มใหญ่ เพราะส่วนใหญ่ไม่ต้องการทำกำไรจากส่วนต่างราคาหุ้นแต่ลงทุนเพื่อรับเงินปันผล ทำให้มูลค่าการซื้อไม่สูง ประกอบกับจำนวนบริษัทจดทะบียนที่ยังมีไม่มาก ทำให้นักลงทุนไม่สามารถกระจายการลงทุนได้ แต่การแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์ครั้งนี้จะทำให้ตลาดหุ้นขยายเติบโตได้

เมียนมาชวนต่างชาติลงทุนภาคเกษตรรัฐฉาน

นายอู ตอง ทุน ประธานสำนักงานคณะกรรมการการลงทุนเมียนมา (Myanmar Investment Commission — MIC) กล่าวในงานอินเวสเมนต์แฟร์ที่รัฐฉาน เชิญชวนให้ นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในภาคเกษตรของรัฐฉานให้มากกว่าภาคเศรษฐกิจอื่น

“รัฐฉานมีศักยภาพในด้านธุรกิจการเกษตร ซึ่งเราหวังว่าจะสร้างเกษตรยั่งยืนขึ้นที่นี่ ประเทศเราต้องการพัฒนาที่เท่าเทียมทั้งในภาคเกษตร ปศุสัตว์ และภาคอุตสาหกรรม” นายอู ตอง ทุน กล่าว

เป้าหมายของรัฐฉานคือ เป็นแหล่งสินค้าเกษตรที่สำคัญทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันรัฐฉานผลิตได้ทั้ง กาแฟ ยอดใบชา ข้าวโพด เนย และผักสด ซึ่งมีทั้งส่งสินค้าไปจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ โดยกาแฟส่งออกไปสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย ส่วนผลผลิตเกษตรอื่นส่งไปจีน

นายอู ลิน ทุต มุขมนตรีรัฐฉาน กล่าวว่า สภาพที่ดินและสภาพอากาศของรัฐฉานเหมาะสำหรับธุรกิจการเกษตร อีกทั้งยังมีที่ตั้งใกล้ประเทศไทยและจีน ทำให้มีข้อได้เปรียบในการจัดส่งสินค้า ภาคเกษตรของรัฐฉานจึงมีศักยภาพ

“เรามีโครงสร้างพื้นฐานบ้างแล้ว มีถนน มีระบบน้ำ มีระบบไฟฟ้าสำหรับนักลงทุน และเราจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีกในอนาคต” นายอู ลิน ทุต กล่าว

สิ่งที่รัฐฉานขาดคือเทคโนโลยีดานการเกษตรที่ทันสมัย เพราะเกษตรกรยังใช้วิธีการแบบเดิมในการทำการเกษตร แต่การลงทุนจะช่วยให้มีการปรับเปลี่ยนและเพิ่มประสิทธิผล

รัฐบาลจึงได้จัดงานเชิญนักลงทุนมาสำรวจโอกาสในรัฐฉาน พร้อมรับฟังแผนยุทธศาสตร์การลงทุนของรัฐปี 2020-2030 รวมทั้งโครงการพัฒนาเกษตรระยะสั้น แม้มีความขัดแย้งบริเวณชายแดนบ้าง แต่กระบวนการสร้างสันติของรัฐบาลจะช่วยแก้ไขปัญหา จากการเปิดเผยของ นายอู โซว หยุ้น ลวิน มุขมนตรีด้านการวางแผนและการคลัง

ปัจจุบันการลงทุนในรัฐฉานส่วนใหญ่มากจากนักลงทุนท้องถิ่น ขณะที่นักลงทุนต่างชาติมีน้อยมาก ข้อมูลจากสำนักงาน MIC ระบุว่า การลงทุนของต่างชาติในรัฐฉานช่วงปี 1988-2017 มีมูลค่า 700 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจโรงแรม การท่องเที่ยว และเหมืองแร่ในรัฐฉานก็มีความน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ต้องการให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในภาคเกษตรก่อน เพราะเป็นภาคธุรกิจใหญ่และมีอนาคตทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

รัฐบาลมีแผนจะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสำหรับภาคเกษตร ในเขตปกครองตนเองพิเศษปะโอและเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตอนเหนือของรัฐกับจีน

ที่มาภาพ: https://investmyanmar2019.com/regions-shan-state/shan-state-a-future-agricultural-powerhouse/