ThaiPublica > สู่อาเซียน > วัคซีน Sinopharm กำลังถูกกระจายไปทั่วเมียนมา

วัคซีน Sinopharm กำลังถูกกระจายไปทั่วเมียนมา

3 สิงหาคม 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

กระบวนการฉีดวัคซีน Sinopharm ที่เริ่มขึ้นในเมืองจ๊อกแม รัฐฉานเหนือ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ที่มาภาพ : เพจ Visit Kyaukme

เกือบ 2 เดือนเต็มแล้ว ที่ภาพซึ่งปรากฏอยู่บนสื่อและสังคมออนไลน์ในเมียนมา มีแต่ภาพผู้ป่วย ผู้คนยืนต่อแถวเติมออกซิเจน ธงเหลือง ธงขาวที่ปักไว้ตามประตูหน้าต่างบ้าน เป็นสัญญานเพื่อร้องขอความช่วยเหลือ

ที่น่าหดหู่ที่สุด คือภาพคนในชุด PPE กำลังลำเลียงผู้เสียชีวิต ศพแล้ว ศพเล่า นำไปวางรอการฌาปนกิจ หรือรอฝัง

แต่หลังจากวัคซีน Sinopharm จากจีนเดินทางมาถึงยังเมียนมา เริ่มมีภาพที่ให้ความรู้สึกเชิงบวกปรากฏออกมาให้เห็นบ้าง จากภาพผู้คนรอคิวฉีดวัคซีน ที่กำลังปรากฏขึ้นในหลายพื้นที่ ทุกภาค ทุกรัฐ

แม้จำนวนวัคซีนที่เพิ่งได้รับมา อาจดูเพียงน้อยนิดหากเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศ แต่ก็พอเป็นสัญญานบ่งชี้ได้บ้างว่า สถานการณ์โควิด-19 ในเมียนมา อาจไม่เลวร้ายลงไปกว่าที่กำลังเป็นอยู่

……

2 เดือนมานี้ โควิด-19 ได้กลับมาระบาดอย่างรุนแรงอีกครั้งในเมียนมา

จากยอดผู้ป่วยสะสม 143,629 คน รักษาตัวอยู่ 8,093 คน และเสียชีวิตรวม 3,217 ราย ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564…

วันที่ 31 กรกฏาคมที่ผ่านมา ยอดผู้ป่วยสะสมในเมียนมาเพิ่มเป็น 299,185 คน ผู้กำลังรักษาตัวเพิ่มเป็น 80,339 คน และผู้เสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 9,334 ราย

พิจารณาเฉพาะยอดผู้เสียชีวิต ได้เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า แต่ที่น่าห่วง คือยอดผู้ป่วยที่กำลังนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้นถึงกว่า 10 เท่า ในเวลาเพียง 2 เดือน ขณะที่จำนวนแพทย์และพยาบาลยังคงเท่าเดิม!!!

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย นายกรัฐมนตรี และประธานสภาบริหารแห่งรัฐ ต้องเรียกร้องให้แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่ได้หยุดงานประท้วงมาเป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้ว จงเห็นแก่มนุษยธรรม กลับเข้ามาทำงาน ช่วยเหลือชีวิตชาวบ้านที่กำลังเผชิญกับโรคระบาดร้ายแรงนี้อยู่ทั่วประเทศ

ภาพธงเหลือง ธงขาวที่ถูกปักไว้ตามหน้าต่างประตูบ้าน เพื่อร้องขอความช่วยเหลือ ภาพผู้คนจำนวนมาก ยืนเข้าแถวรอเติมออกซิเจน รอซื้อไข่ไก่ ภาพผู้ป่วยนั่งดมออกซิเจนอยู่ริมถนน และที่หดหู่ที่สุด คือภาพการลำเลียงศพผู้เสียชีวิตจำนวนมากไปรอการฌาปนกิจ กลายเป็นภาพที่ปรากฏขึ้นจนชินตา บนสื่อและสังคมออนไลน์

การขนส่งวัคซีน 3 เที่ยว โดยเครื่องบิน Air China ซึ่งเพจสถานทูตจีนประจำเมียนมา เผยแพร่เมื่อคืนวันที่ 24 กรกฎาคม 2564
ที่มาภาพ : เพจสถานทูตจีนประจำเมียนมา

……

ก่อนการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 รัฐบาลพรรค NLD ของอองซาน ซูจี ได้สั่งซื้อวัคซีน COVISHIED จากอินเดีย 30 ล้านโดส โดยจ่ายเงินค่าวัคซีนให้รัฐบาลอินเดียไปแล้ว 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 7 มกราคม 2564

COVISHIED คือวัคซีนที่อินเดียพัฒนาร่วมกับแอสตราเซนเนกา และมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด มอบหมายให้สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย(Serum Institute of India) เป็นผู้ผลิต

รัฐบาลอินเดียได้ส่ง COVISHIED ล๊อตแรกซึ่งเป็นความช่วยเหลือแบบให้เปล่ามาให้เมียนมาก่อน 1.5 ล้านโดส ในวันที่ 22 มกราคม 2564 ส่วนวัคซีนที่เป็นการสั่งซื้อได้ถูกส่งมาให้ล็อตแรกแล้ว 2 ล้านโดส หลังการรัฐประหาร

กระทรวงสาธารณสุขและกีฬา เมียนมา ได้เริ่มกระบวนการฉีดวัคซีน COVISHIED ให้บุคคลากรด่านหน้า คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และบุคคลทั่วไป เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564

วันที่ 21 เมษายน 2564 กระทรวงสาธารณสุขและกีฬา มีรายงานสรุปการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า เมียนมาได้รับวัคซีน COVISHIED จากอินเดียแล้วทั้งสิ้น 3.5 ล้านโดส แบ่งเป็นล็อตที่อินเดียให้มาฟรี 1.5 ล้านโดส และล็อตที่เป็นการสั่งซื้อ ซึ่งอินเดียส่งมาให้รอบแรกแล้ว 2 ล้านโดส

นับแต่วันที่ 27 มกราคม ถึง 21 เมษายน 2564 กระทรวงสาธารณสุขและกีฬา ได้นำวัคซีน COVISHIED ที่ได้รับมา 3.5 ล้านโดส ไปฉีดให้ประชาชนเมียนมาแล้วทั้งสิ้น 1.88 ล้านคน ในนี้ แบ่งเป็นผู้ที่ได้ฉีดเข็มแรก 1.54 ล้านคน และมีผู้ที่ได้ฉีดเข็ม 2 แล้ว อีก 3.4 แสนคน ยังคงเหลือวัคซีน COVISHIED ที่ยังไม่ได้ฉีดอีก 1.62 ล้านโดส

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานถึงสถานะของวัคซีน COVISHIED ที่เหลือ 1.62 ล้านโดส รวมถึงความคืบหน้าของวัคซีน COVISHIED อีก 28 ล้านโดส ซึ่งรัฐบาลของพรรค NLD ได้สั่งซื้อเอาไว้ แต่อินเดียยังไม่ได้ส่งมาให้ ว่าเป็นเช่นไรแล้วบ้าง?

ชาวปะโอ ในเมืองโหโป่ง เขตปกครองตนเองชนชาติปะโอ รัฐฉาน ได้รับการฉีดวัคซีน Sinopharm ในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ที่มาภาพ : สำนักข่าว Kanbawza
……

รัฐบาลพรรค NLD ของอองซาน ซูจี ได้จัดสรรงบประมาณไว้ 250 ล้านดอลลาร์ เพื่อจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาฉีดให้กับประชาชนทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังใช้วิธีตั้งกองทุนรับเงินบริจาคจากประชาชน เพื่อนำมาสมทบกับงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากรัฐ

วันที่ 6 มกราคม 2564 กระทรวงวางแผน การคลัง และอุตสาหกรรม ได้เปิดบัญชีไว้กับธนาคาร Myanma Economic Bank สาขากรุงเนปิดอ 2 บัญชี ได้แก่บัญชีเลขที่ EDC 600012 สำหรับรับบริจาคเงินที่เป็นสกุลต่างประเทศ ตั้งเป้ารับบริจาคไว้ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 338 พันล้านจั๊ต และบัญชีเลขที่ OA 013733 เพื่อรับบริจาคเงินสกุลจั๊ต ตั้งเป้ารับบริจาคไว้ 1 พันล้านจั๊ต

วันที่ 7 มกราคม 2564 อู ชิดข่าย ประธานกลุ่มบริษัทในเครืออีเดน ได้ประเดิมโอนเงิน 1.5 ล้านดอลลาร์ เข้าไปยังบัญชีรับบริจาคสำหรับเงินสกุลต่างประเทศเพื่อจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยให้เหตุผลว่าเป็นการทำบุญในโอกาสวันคล้ายวันเกิดของเขา ในวันที่ 5 มกราคม

อู ชิดข่าย ประธานกลุ่มบริษัทในเครืออีเดน ที่มาภาพ : The Global New Light of Myanmar

อู ชิดข่าย เกิดเมื่อปี 2491 ที่อำเภอดนุผิ่ว จังหวัดมะอูบิ่น ภาคอิรวดี เป็นนักธุรกิจที่เติบโตมาจากสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับ พลเอกอาวุโส ตันฉ่วย อดีตผู้นำระบอบเผด็จการทหารของพม่า

เครืออีเดน เป็นกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่มากในเมียนมา เป็นเจ้าของโรงแรมและรีสอร์ทหลายแห่ง ในกรุงย่างกุ้ง กรุงเนปิดอ รวมถึงในเมืองท่องเที่ยวสำคัญอีกหลายเมือง อาทิ พุกาม(ภาคมัณฑะเลย์) งาปาลี(รัฐยะไข่) ตองจี(รัฐฉาน)ฯลฯ

วันเดียวกัน(7 ม.ค.2564) เว็บไซต์ข้อมูลข่าวสารกองทัพพม่า(Tatmadaw Information Team) ได้เผยแพร่ภาพสลิปโอนเงินจำนวน 1,000 ล้านจั๊ต เข้าบัญชีธนาคาร Myanma Economic Bank เลขที่ OA 013733 ระบุว่าเป็นเงินซึ่งผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ ได้กันเงินเดือนของตนเองส่วนหนึ่ง รวบรวมมาร่วมประเดิม บริจาคเข้ากองทุนเพื่อจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 และซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับต่อสู้กับโควิด-19

Tatmadaw Information Team ระบุว่า พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ได้สละเงินเดือนของตนเองจำนวน 1 เดือน ในขณะที่ผู้บัญชาการระดับรองลงมาได้กันเงิน 25% ของเงินเดือนที่แต่ละคนได้รับ ซึ่งรวมแล้วได้เงินทั้งสิ้น 4.4 พันล้านจั๊ต

เงินก้อนนี้ได้แบ่งเป็น 1 พันล้านจั๊ต นำไปบริจาคเข้ากองทุนจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ส่วนที่เหลือได้นำไปจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับใช้ในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 เพื่อนำไปบริจาคให้กับหน่วยงานต่างๆ

สลิปโอนเงิน 1 พันล้านจั๊ต ของกองทัพพม่าเข้าบัญชีกองทุนวัคซีนโควิด-19 ที่มาภาพ : Tatmadaw Information Team

วันที่ 27 เมษายน 2564 อู วิน เฉ่ง รัฐมนตรีกระทรวงวางแผน การคลัง และอุตสาหกรรม ในฐานะประธานอนุกรรมการระดมทุนเพื่อจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ได้สรุปยอดเงินที่ได้รับบริจาคเข้ากองทุนจัดซื้อวัคซีนทั้ง 2 บัญชี ระหว่างวันที่ 6 มกราคมถึง 23 เมษายน 2564 ว่ามีผู้บริจาครวม 10,093 คน ได้รับเงินทั้งสิ้น 29,784.25 ล้านจั๊ต กับอีก 3,140,149.53 ดอลลาร์ เมื่อนำไปรวมกับงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากรัฐแล้ว ทำให้เมียนมามีเงินทุนสำหรับซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว 30,784.25 ล้านจั๊ต และ 253.14 ล้านดอลลาร์

รัฐบาลเมียนมาได้จ่ายเงินให้รัฐบาลอินเดียไปแล้ว 75 ล้านดอลลาร์ สำหรับซื้อวัคซีน COVISHIED 30 ล้านโดส เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 ดังนั้นจึงเหลือเงินสำหรับใช้ซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 อยู่อีก 178.14 ล้านดอลลาร์ ในบัญชีที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ

……

วันที่ 2 พฤษภาคม 2564 รัฐบาลจีนได้ส่งวัคซีน Sinopharm จำนวน 500,000 โดส มายังเมียนมา วัคซีนล็อตนี้ที่เป็นความช่วยเหลือแบบให้เปล่าล็อตแรกที่รัฐบาลจีนมอบให้เมียนมานำไปใช้ต่อสู้กับโควิด-19

วันที่ Sinopharm ล็อตแรก 5 แสนโดส เดินทางมาถึงสนามบินนานาชาติย่างกุ้ง เมียนมายังไม่เผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ ยอดผู้ป่วยสะสมในวันนั้นมี 142,838 คน รักษาตัวอยู่ 7,648 คน และเสียชีวิตรวม 3,209 ราย

แต่หลังเกิดการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว กลางเดือนกรกฎาคม 2564 มีกระแสข่าวออกมาในเมียนมาว่า กำลังจะมีวัคซีนจากจีนจำนวน 6 ล้านโดส ส่งมาช่วยเมียนมารับมือกับการกลับมาระบาดใหม่ระลอกนี้ ในนี้มีทั้งเป็นการช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากรัฐบาลจีน และมีทั้งที่เป็นการสั่งซื้อโดยรัฐบาลทหารเมียนมา

ภาพการขนส่งวัคซีน 3 เที่ยว โดยเครื่องบิน Air China ซึ่งเพจสถานทูตจีนประจำเมียนมา เผยแพร่เมื่อคืนวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 ที่มาภาพ : เพจสถานทูตจีนประจำเมียนมา

กลางดึกของคืนวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 เพจสถานทูตจีนประจำเมียนมา ได้เผยแพร่ภาพชุด การนำส่งวัคซีนจากจีนมายังสนามบินนานาชาติย่างกุ้ง 3 เที่ยว โดยเครื่องบินสายการบิน Air China ระหว่างวันที่ 22-24 กรกฏาคม วัคซีนที่ถูกส่งมากับเที่ยวบินทั้ง 3 มีจำนวนรวม 2 ล้านโดส

สถานทูตจีนในเมียนมา ระบุว่าจนถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 เมียนมาได้รับวัคซีนจากจีนแล้วทั้งสิ้น 3.5 ล้านโดส ในนี้เป็นวัคซีน Sinopharm ซึ่งเป็นความช่วยเหลือจากจีน 2.5 ล้านโดส และเป็นวัคซีน Sinovac ที่รัฐบาลเมียนมาสั่งซื้อจากจีนอีก 1 ล้านโดส

ในยอดวัคซีน 3.5 ล้านโดสดังกล่าว ได้นับรวมวัคซีน Sinopharm ที่จีนส่งมาให้เมียนมารอบแรก 5 แสนโดส เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 เข้าไว้ด้วย

นอกจากนี้ ในเพจยังบอกอีกว่า จะมีวัคซีน Sinovac ที่รัฐบาลเมียนมาสั่งซื้ออีก 1 ล้านโดส กำลังจะถูกส่งมายังเมียนมาในอีกไม่นานนับจากนั้น

……

กระทรวงสาธารณสุขและกีฬา เมียนมา เริ่มกระจายวัคซีน Sinopharm ออกสู่พื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 ที่มาภาพ : กระทรวงสาธารณสุขและกีฬา

วันที่ 27 กรกฏาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุขและกีฬา เมียนมา เริ่มกระจายวัคซีนทั้ง 3 ล้านโดสไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ข้อมูลเฉพาะที่มีการเปิดเผยในวันนั้น วัคซีนได้ถูกส่งไปยังกรุงเนปิดอ 16,000 โดส ภาคพะโค 24,000 โดส ภาคอิรวดีอีก 40,000 โดส รัฐมอญ 90,000 โดส ส่วนภาคและรัฐชาติพันธุ์อื่น จะทะยอยได้รับวัคซีนในวันถัดๆไป

ผู้อาวุโสในเมืองปินมะนา กรุงเนปิดอ เข้ารับการฉีดวัคซีน Sinopharm เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 ที่มาภาพ : สำนักข่าว Popular News Journal

วัคซีน Sinopharm ล็อตนี้จะถูกนำไปฉีดให้กลุ่มบุคคลซึ่งถูกจัดลำดับความสำคัญเอาไว้แล้ว เริ่มจากผู้อาวุโสที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป บุคคลที่ทำงานอยู่ด่านหน้าซึ่งต้องใกล้ชิดกับผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ป่วย ทั้งในโรงพยาบาลรัฐและคลีนิคเอกชน พนักงานขับรถขนส่งสินค้า ตลอดจนผู้ที่ต้องทำงานและพบปะกับผู้คนจำนวนมาก เช่น พนักงานร้านขายยา ร้านขายอาหาร ร้านขายของใช้ที่จำเป็น หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยฯลฯ

ผู้อาวุโสในเมืองเมาะละแหม่ง รัฐมอญ เริ่มได้รับการฉีดวัคซีน Sinopharm ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 ที่มาภาพ : สำนักข่าว Than Lwin Times
เมืองตันบยูสะยะ ในรัฐมอญ เริ่มฉีดวัคซีน Sinopharm วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ที่มาภาพ : เพจ The Voice Of Thanbyuzayat

วันที่ 28 กรกฏาคม 2564 เริ่มปรากฏภาพการฉีดวัคซีนให้กับผู้อาวุโสที่อายุ 65 ปีขึ้นไปในเมืองปินมะนา กรุงเนปิดอ เมืองเมาะละแหม่ง รัฐมอญ บนสื่อออนไลน์ในเมียนมา

เครื่องบินทหารบินนำวัคซีน Sinopharm ไปส่งยังสนามบินเฮโฮ เมืองตองจี รัฐฉานใต้ และเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพพม่า นำวัคซีนไปส่งที่สนามบินล่าเสี้ยว รัฐฉานเหนือ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ที่มาภาพ : The Global New Light of Myanmar

วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 เครื่องบินของรัฐบาลเมียนมาได้บินนำวัคซีน Sinopharm กระจายส่งยังสนามบินต่างๆในรัฐฉาน ได้แก่ สนามบินเฮโฮ เมืองตองจี สนามบินล่าเสี้ยว สนามบินเชียงตุง และสนามบินท่าขี้เหล็ก โดยมีรายงานเบื้องต้นว่าวัคซีนถูกส่งไปยังตองจี 26,400 โดส ส่งไปเชียงตุง 5,618 โดส และส่งไปท่าขี้เหล็ก 2,800 โดส ส่วนพื้นที่อื่นๆยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด

บุคคลหลายอาชีพในท่าขี้เหล็กได้รับวัคซีน Sinopharm ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ที่มาภาพ : เพจข่าวท่าขี้เหล็ก
แม้แต่นักโทษในเรือนจำตายาวดี เมืองพะโค ก็ได้รับการฉีดวัคซีน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ที่มาภาพ : เพจ C8 News

วันเดียวกัน(29 ก.ค.2564) อู ละเตง โฆษก สภาบริหารแห่งรัฐ(SAC) ประจำยะไข่ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Narinjara ว่ารัฐยะไข่ กำลังจะได้รับวัคซีน Sinopharm ประมาณ 1 แสนโดส เพื่อนำไปฉีดให้กับบุคคลที่ถูกจัดลำดับความสำคัญเบื้องต้นใน 11 เมือง

วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 วัคซีน Sinopharm กว่า 1 แสนโดสถูกส่งไปถึงรัฐยะไข่ และเริ่มมีการกระจายฉีดให้กับบุคคลกลุ่มต่างๆ ในวันที่ 1 สิงหาคม เริ่มจากผู้อาวุโสอายุมากกว่า 65 ปีก่อนเป็นลำดับแรก

เช่นเดียวกับที่รัฐชินซึ่งอยู่เหนือยะไข่ขึ้นไป และเป็นรัฐที่มีความเคลื่อนไหวต่อต้านกองทัพพม่ามากที่สุดรัฐหนึ่ง กำหนดการได้รับและการเริ่มต้นฉีดวัคซีนของที่นี่ก็ต่อเนื่องจากรัฐยะไข่

  • รัฐชิน…กับ“การเมือง”เมียนมา
  • วัคซีน Sinopharm ซึ่งยังไม่มีรายงานจำนวนที่แน่นอนออกมา ได้ถูกส่งมาถึงรัฐชินในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 และกระบวนการฉีดวัคซีนให้กับประชากรชาติพันธุ์ชิน ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา…

    บุคลากรด่านหน้าในเมืองพะลัม ของรัฐชิน รัฐซึ่งมีความเคลื่อนไหวต่อต้านกองทัพพม่ามากที่สุดรัฐหนึ่ง กำลังได้รับการฉีดวัคซีน Sinopharm เข็มแรก เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ที่มาภาพ เพจสำนักข่าว Zalen
    การฉีดวัคซีน Sinopharm ให้กับพระภิกษุและประชาชนในเมืองเชียงตุง รัฐฉานตะวันออก ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ที่มาภาพ : เพจรักเชียงตุ

    ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 วัคซีน Sinopharm จำนวน 3 ล้านโดส ได้เริ่มถูกกระจายฉีดให้กับประชาชนในทุกภาค ทุกรัฐชาติพันธุ์ ของเมียนมา

    แม้นเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรเมียนมาที่มีอยู่ 54 ล้านคน วัคซีนที่เพิ่งได้รับมาล่าสุดเพียง 3 ล้านโดส ยังไม่ถึง 10% อาจดูเป็นปริมาณเพียงเล็กน้อย

    แต่เมื่อคาดการณ์ถึงจำนวนวัคซีนที่จะต้องได้รับเพิ่มขึ้นอีกในช่วงหลังจากนี้ กระบวนการฉีดวัคซีนที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา น่าจะพอสร้างความหวังได้ว่า สถานการณ์โควิด-19 ในเมียนมา ไม่น่าจะเลวร้ายลงไปกว่านี้…

    ผู้อาวุโสในเมืองเจ้าก์ผิ่ว รัฐยะไข่ กำลังรอคิวเข้ารับการฉีดวัคซีน Sinopharm ในตอนเช้าของวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ที่มาภาพ : สำนักข่าว Development Media Group
    สตรีอาวุโสชาวชินกับใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยสัก กำลังรับการฉีดวัคซีน Sinopharm ในเมืองพะลัม เมื่อตอนเช้าของวันที่ 2 สิงหาคม 2564 ที่มาภาพ : เพจสำนักข่าว Zalen