ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน
เมื่อชื่อของ “ตู่ส่า วิ่น ลวิน” (Thuzar Wint Lwin) หรือแคนดี้ Miss Universe Myanmar 2020 ถูกประกาศออกมาบนเวทีประกวด Miss Universe ครั้งที่ 69 ที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม (ตามเวลาในประเทศไทย) ในฐานะผู้ได้รับรางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยม ได้จุดประกายให้คนทั่วโลกเริ่มอยากรู้จัก อยากรู้เรื่องราว และอยากเห็นอัตลักษณ์ของรัฐและคนชาติพันธุ์ “ชิน” มากขึ้น
ก่อนหน้านั้น หรือแม้แต่ในวันประกาศผลตัดสิน เรื่องราวของรัฐชินยังไม่ค่อยได้ถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ในไทยเอง หลายคนยังสับสนและเข้าใจว่ารัฐ “ชิน” กับ “คะฉิ่น” เป็นรัฐเดียวกัน ทั้งที่ความจริงแล้ว ทั้ง 2 รัฐอยู่ห่างกันคนละทิศ…
ขณะที่ “คะฉิ่น” เป็นรัฐชาติพันธุ์ขนาดใหญ่ที่อยู่เหนือสุดของเมียนมา
แต่ “ชิน” เป็นรัฐขนาดกลาง อยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศ
ฝั่งตะวันออกของรัฐชินเป็นภาคสะกายและมะกวย ทิศใต้เป็นรัฐยะไข่ ด้านเหนืออยู่ติดกับรัฐมณีปุระของอินเดีย ฟากตะวันตกติดกับรัฐมิโซรัม และทางตะวันตกเฉียงใต้อยู่ติดกับบังกลาเทศ
รัฐชินตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งสูงกว่าระดับทะเลปานกลางโดยเฉลี่ย 1,525 เมตร แวดล้อมไปด้วยทัศนียภาพที่สวยงามของภูเขาและป่ายูคาลิปตัส
ก่อนสนามบินในเมืองพะลามเปิดให้บริการเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 รัฐชินเคยเป็นเป้าหมายสำหรับนักท่องเที่ยวที่รักการผจญภัย ชื่นชมความงดงามของธรรมชาติ และต้องการเรียนรู้วัฒนธรรมพื้นถิ่น เพราะการเดินทางไปยังรัฐชินยุคนั้นค่อนข้างลำบาก
ภาพลักษณ์ที่คุ้นตาของผู้คนเมื่อกล่าวถึงรัฐชินหรือชาวชิน คือใบหน้าของผู้หญิงชนเผ่าชิน ที่ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือยังอยู่ในวัยสาว แทบทุกคนล้วนมีรอยสักด้วยหมึกสีดำอยู่เต็มใบหน้า ในลวดลายที่แตกต่างกันไป
การสักหน้าของหญิงชนเผ่าชิน เป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดยาวนานหลายชั่วอายุคน บางตำนานเล่าว่า กษัตริย์พม่าสมัยก่อนชื่นชมความงดงามของหญิงสาวชาวชิน จึงมักส่งทหารมาจับตัวผู้หญิงชินไปเก็บไว้ในวัง การสักจึงเป็นวิธีการปิดบังใบหน้า ครอบครัวที่มีลูกสาว พ่อแม่มักจับลูกสาวมาสักหน้าไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกจับตัว
แต่มีอีกหลายความเชื่อที่ระบุว่า การสักคือสัญลักษณ์แห่งความสวยงามของผู้หญิงชิน ชายหนุ่มชินจะไม่ยอมแต่งงานกับหญิงสาวที่ไม่ได้ถูกสักหน้า หรือในทางกลับกัน ผู้หญิงชินที่ไม่ได้สักหน้ามักไม่มีคู่ เพราะแสดงว่าเธอไม่สวย
ขณะที่ความเชื่อในมุมมองของฝ่ายหญิงเอง เธอเชื่อว่าหมึกที่ถูกสักไว้บนใบหน้า จะช่วยป้องกันไม่ให้ใบหน้าเหี่ยวย่นเมื่อถึงวัยชรา การสักหน้าคือวิธีการรักษาใบหน้าให้ดูเต่งตึง เยาว์วัย…
ด้วยความที่เป็นรัฐชายแดนบนพื้นที่สูง เดินทางไปมาได้ลำบาก รัฐชินจึงเป็นรัฐได้รับการพัฒนาน้อยที่สุด และมีประชากรยากจนมากที่สุดของเมียนมา
กระทรวงวางแผนและการคลัง เมียนมา โดยการสนับสนุนจากธนาคารโลก และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ เก็บข้อมูลระหว่างเดือนธันวาคม 2559 ถึงธันวาคม 2560 พบว่าประชากรชินถึง 58% เป็นอัตราส่วนที่มากที่สุดในประเทศ มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่กำหนดไว้ที่วันละ 1,500 จัต รองลงมาเป็นประชากรรัฐยะไข่ 46.1% ขณะที่ภาคตะนาวศรี มัณฑะเลย์ และย่างกุ้ง มีประชากรที่ยากจนอยู่เพียง 13%
เศรษฐกิจในรัฐชินไม่ได้คึกคักมากนัก ประชากรชาวชินมีอยู่ประมาณ 5 แสนคน มีรายได้จากการขายผลิตผลทางการเกษตร อย่างข้าวโพด ถั่ว มันฝรั่ง ฝ้าย ยาสูบ อ้อย กาแฟ ส้ม แอปเปิล ฯลฯ
จุดที่ตั้งของรัฐชินซึ่งเป็นพื้นที่สามเหลี่ยม มีชายแดนเชื่อมต่อได้ถึง 3 ประเทศ ทิศใต้ของรัฐชินยังติดกับภาคเหนือของรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ที่เข้มแข็งอย่างกองทัพอาระกัน (Arakan Army: AA) ตะเข็บชายขอบของรัฐชินจึงเป็นพื้นที่ซึ่งมีทั้งธุรกิจสีเทาและการก่อการร้าย กลุ่มกองกำลังต่างๆ สามารถเดินทางข้ามไปข้ามมาระหว่าง 3 ประเทศได้โดยสะดวก
หลังเริ่มเปิดประเทศ รัฐบาลเมียนมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีเต็งเส่ง พยายามสร้างสรรค์โครงการต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาเศรษฐกิจให้กับรัฐชิน
กระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยวประกาศเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2556 ว่าจะยกระดับรัฐชินขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของประเทศ เนื่องจากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังรัฐแห่งนี้ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปี 2555 โดยจัดหลักสูตรอบรมผู้ประกอบการท่องเที่ยวในรัฐชิน และวางโครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมไปยังรัฐชินให้ดีขึ้น
หนึ่งในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจรัฐชิน คือการสร้างสนามบิน Surbung ในจังหวัดพะลาม ทางตอนเหนือของรัฐ เป็นสนามบินแห่งแรกของรัฐชิน สนามบินนี้ตั้งชื่อตามภูเขา Surbung ที่ถูกใช้เป็นที่ตั้งสนามบิน ซึ่งอยู่สูงถึง 1,830 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล งบประมาณก่อสร้างสนามบิน Surbung ประมาณ 30 พันล้านจัต หรือ 27 ล้านดอลลาร์ ใช้พื้นที่รวม 1,289.5 เอเคอร์ (3,262.5 ไร่) รันเวย์ยาว 1,830 เมตร กว้าง 30 เมตร สามารถรองรับเครื่องบิน ATR-72 ได้
การก่อสร้างเริ่มในปี 2558 ปลายสมัยประธานาธิบดีเตงเส่ง แต่รุดหน้าอย่างเต็มที่ในสมัยรัฐบาลที่นำโดยพรรค NLD ภายใต้การชี้นำโดยตรงของอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ หัวหน้าพรรค NLD และประธานาธิบดีวินมิ่น จนสร้างเสร็จตามกำหนดในกลางปี 2563…
6 มกราคม 2557 อองซาน ซูจี ในฐานะผู้นำพรรคฝ่ายค้านในรัฐสภาเมียนมา ได้เดินทางไปยังรัฐชินเพื่อพบกับผู้สนับสนุน ถือเป็นการไปรัฐชินครั้งแรกของเธอในรอบกว่าทศวรรษ ซูจีเข้าพื้นที่รัฐชินผ่านทางเมืองกะเล ภาคสะกาย พักค้างแรมอยู่ในรัฐชิน 1 คืนที่เมืองตีเตง จังหวัดพะลาน วันรุ่งขึ้นเดินทางต่อไปยังจังหวัดฮาคา เมืองหลวงของรัฐชิน ก่อนกลับทางเก่าออกทางเมืองกะเล
20 กุมภาพันธ์ 2559 หลังเพิ่งชนะเลือกตั้งทั่วไปได้เพียง 3 เดือน และยังไม่ทันเริ่มต้นทำงานในฐานะรัฐบาลชุดใหม่ อองซาน ซูจี ได้แต่งชุดประจำชาติชินเพื่อไปร่วมงานวันชาติชิน ครบรอบ 68 ปี ซึ่งจัดขึ้นในกรุงเนปิดอ ในงานนี้เธอได้เอ่ยคำหวานว่าเธอ… “อยากเป็นชาวชิน”
หลังพรรค NLD ได้รับชัยชนะครั้งใหญ่จากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 ในการฟอร์มทีมรัฐบาล อองซาน ซูจี ให้ความสำคัญกับรัฐชินมาก เธอได้เลือก อู เฮนรี วาน ทีโอ นักการเมืองชาวชิน สังกัดพรรค NLD ขึ้นดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ดูแลด้านเศรษฐกิจ
อู เฮนรี วาน ทีโอ เกิดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2501 ที่เมืองถั่นตะลัน จังหวัดฮาคา จบปริญญาตรีด้านภูมิศาสตร์ จาก Mandalay Arts and Science University ได้รับประกาศนียบัตรด้านกฎหมายจาก Rangoon Arts and Sciences University ในกรุงย่างกุ้ง เคยร่วมในกองทัพพม่าได้รับยศพันตรี เขานับถือศาสนาคริสต์ และเป็นสมาชิกของ United Pentecostal Church International ที่มีสำนักงานอยู่ในรัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา…
เมื่อพูดถึงโครงการพัฒนาเศรษฐกิจสำคัญของเมียนมา ที่อยู่ทางทิศตะวันตก แทบทุกคนมักคิดถึงท่อแก๊สและน้ำมันที่จีนได้วางจากชายทะเลเมืองเจ้าก์ผิ่ว รัฐยะไข่ พาดขวางประเทศไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อนำแก๊สและน้ำมันส่งเข้าไปยังจีนผ่านทางชายแดนรัฐฉาน
แต่ยังมีอีกโครงการหนึ่งซึ่งมีการกล่าวถึงน้อยกว่า โครงการนี้มีผลโดยตรงต่อพัฒนาการเศรษฐกิจของรัฐชิน นั่นคือ “โครงการขนส่งหลายรูปแบบคาลาดาน”(Kaladan Multi-Modal Transit Transportation Project)
“คาลาดาน” เป็นชื่อแม่น้ำที่มีต้นกำเนิดอยู่ในรัฐมิโซรัมของอินเดีย ไหลลงทางทิศใต้เข้าสู่รัฐชิน จากนั้นข้ามจากรัฐชินที่เมืองคาลาดาน เข้าสู่รัฐยะไข่ และไหลไปออกทะเลที่เมืองซิตต่วย เมืองหลวงของรัฐยะไข่
โครงการขนส่งหลายรูปแบบคาลาดาน เป็นการสร้างโครงข่ายคมนาคม เพื่อสนับสนุนการค้า การลงทุน ระหว่างเมียนมากับอินเดีย และเปิดช่องทางให้อินเดียสามารถเข้าสู่อาเซียนได้อีกช่องทางหนึ่ง
โครงการนี้ใช้เงินลงทุนรวม 484 ล้านดอลลาร์ โดยอินเดียเป็นผู้ลงทุนหลัก รายละเอียดของโครงการแบ่งคร่าวๆ ได้เป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย
- การเชื่อมเส้นทางขนส่งทางน้ำระหว่างท่าเรือน้ำลึกซิตต่วยกับท่าเรือกัลกัตตาของอินเดีย ระยะทาง 420 ไมล์ทะเล ใช้เวลาในการเดินเรือประมาณ 2 วัน
- การเชื่อมเส้นทางขนส่งในภาคพื้นทวีปผ่านแม่น้ำคาลาดาน จากท่าเรือซิตต่วย ในรัฐยะไข่ สู่เมืองปะแลตวะ จังหวัดมะตู่บี่ ภาคใต้ของรัฐชิน ระยะทาง 160 กิโลเมตร
- การสร้างถนนเชื่อมจากเมืองปะแลตวะ ข้ามชายแดนไปสู่เมือง Laungtalai ในรัฐมิโซรัม ของอินเดีย ระยะทาง ประมาณ 169 กิโลเมตร
รัฐบาลอินเดียได้ลงนามในกรอบความร่วมมือโครงการคาลาดานกับรัฐบาลเมียนมา ตั้งแต่สมัยยังเป็นรัฐบาลเผด็จการทหาร เมื่อเดือนเมษายน 2551 การก่อสร้างเริ่มต้นในปี 2553 ตั้งเป้าหมายครั้งแรกไว้ว่าโครงการจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2563
แต่การก่อสร้างช่วงแรกเดินหน้าไปด้วยความล่าช้าอย่างมาก จนต้องเลื่อนกำหนดเวลาเสร็จสมบูรณ์ของโครงการออกไปเป็นปี 2567
วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 สถานทูตอินเดียในกรุงย่างกุ้ง ได้แถลงความคืบหน้าของโครงการคาลาดานว่า การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่เมืองซิตต่วย รัฐยะไข่ และท่าเรือน้ำจืดที่เมืองปะแลตวะ รัฐชิน ได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยรัฐบาลอินเดียกำลังประกาศเชิญชวนบริษัทที่มีความชำนาญให้เข้ามาเป็นผู้บริหารท่าเรือทั้ง 2 แห่ง
โครงการที่ยังเหลือก่อสร้างอยู่ขณะนั้น คือถนนที่เชื่อมระหว่างเมืองปะแลตวะไปยังเมือง Zorinpui ตรงชายแดนที่เชื่อมระหว่างรัฐชินของเมียนมา กับรัฐมิโซรัมของอินเดีย…
พื้นที่หลักของโครงการคาลาดานอยู่ในภาคใต้ของรัฐชิน เมื่อพรรค NLD ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเมียนมา ได้ก่อสร้างสนามบินเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง เป็นสนามบินแห่งที่ 2 ของรัฐชิน ที่เมืองไหล่ลินบี่ จังหวัดมะตูบี่ ในภาคใต้ ห่างจากชายแดนรัฐชินกับรัฐมิโซรัม ไม่มากนัก
สนามบินไหล่ลินบี่ เป็นโครงการร่วมระหว่างกรมการบินพลเรือน กระทรวงขนส่งและสื่อสาร ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลเมียนมา กับมูลนิธิ Health and Hope องค์กรที่ทำกิจกรรมด้านสาธารณสุขของชุมชนชาวคริสต์ในรัฐชิน และบริษัท Petram Design International บริษัทรับเหมาออกแบบ-ก่อสร้าง ซึ่งมีผลงานอยู่ในหลายประเทศในอาเซียน
ไหล่ลินบี่เป็นสนามบินเล็ก รันเวย์ยาว 740 เมตร รองรับเครื่องบินขนาดไม่เกิน 10 ที่นั่ง ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 2 ล้านดอลลาร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Mission Aviation Fellowship (MAF) องค์กรคริสเตียนซึ่งมีฐานอยู่ในสหราชอาณาจักร
บริษัท Petram ได้ถูกเลือกจากกรมการบินพลเรือน เมียนมา ให้เป็นผู้สร้างสนามบินไหลลินบี่ เมื่อเดือนตุลาคม 2561 การก่อสร้างเริ่มในต้นปี 2562 ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2564 การก่อสร้างสนามบินแห่งนี้สำเร็จแล้ว 94% และเชื่อว่าหากไม่เกิดความผันผวนขึ้นกับสถานการณ์การเมืองในเมียนมา สนามบินไหล่ลินบี่จะสามารถเปิดให้บริการได้ตามกำหนด ในปีนี้…
รัฐชินมีประชากรเพียง 5 แสนคน ไม่มีกองทัพเป็นของตนเอง เนื่องจากกองกำลังติดอาวุธที่เคยเป็นของชาติพันธุ์ชิน ปัจจุบันผันได้ตัวเองกลายเป็นพรรคการเมืองในระบบแล้ว
แตกต่างจากรัฐคะฉิ่นหรือรัฐกะเหรี่ยง ที่ยังคงกองกำลังติดอาวุธเอาไว้ และมีองค์กรเคลื่อนไหวในภาคการเมืองแยกบทบาทกันต่างหาก ที่สำคัญ กองกำลังติดอาวุธของคะฉิ่นและกะเหรี่ยง ต่างเข้มแข็ง มีกำลังพลจำนวนมาก และมีอาวุธที่ทันสมัย
หลังเกิดรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 รัฐชินเป็นรัฐแรกๆ ที่ได้ปลุกเร้าประชาชนให้ลงมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน ประกาศท่าทีชัดเจนว่าต่อต้านการยึดอำนาจ เมืองต่างๆ ในรัฐชินมีการเดินขบวนประท้วง เรียกร้องให้กองทัพพม่าปล่อยตัวอองซาน ซูจี ประธานาธิบดีวินมิ่น และสมาชิกพรรค NLD คนอื่นๆ ที่ถูกควบคุมตัวเอาไว้ โดยทันที
ด่านชายแดนระหว่างรัฐชินกับรัฐมิโซรัม เป็นช่องทางหลักที่ประชาชนชาวเมียนมา รวมถึงตำรวจ และทหารนับหมื่นนายที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารของกองทัพพม่า ใช้เดินทางออกไปลี้ภัย และใช้เป็นพื้นที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารอยู่ในประเทศอินเดีย
ประชาชนชาวชินเป็นกลุ่มชาติพันธุ์แรกๆ ที่ได้ลุกขึ้นมาคว้าจอบ คว้าเสียม คว้ามีดพร้า และปืนแก๊ป จัดตั้งเป็นกองกำลังติดอาวุธภาคประชาชน เคลื่อนไหวสู้รบกับกองทหารพม่า
และแน่นอน… ถูกกองทัพพม่าตีโต้กลับอย่างหนัก จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แทบทั้งหมดเป็นชาวบ้านธรรมดา ส่วนใหญ่เป็นเด็กหนุ่มสาว วัยรุ่น ที่เพิ่งจับอาวุธขึ้นต่อสู้
หลังรัฐประหารไม่กี่วัน สมาชิกพรรค NLD ที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ได้รวมตัวกันเป็น “คณะกรรมาธิการตัวแทนรัฐสภาเมียนมา” (Committee Reptrsenting Pyidaungsu Hluttaw: CRPH) เพื่อเคลื่อนไหวคู่ขนานกับ “สภาบริหารแห่งรัฐ” (SAC: State Administration Council) ที่ตั้งขึ้นจากคณะรัฐประหารโดยกองทัพพม่า CRPH ได้แต่งตั้ง ดร.ส่าส่า เป็นทูตพิเศษประจำสหประชาชาติ ทำหน้าที่เสมือนโฆษกของ CRPH ในการพูดกับสื่อ หรือติดต่อประสานงานกับองค์กรระหว่างประเทศ
เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 CRPH ได้ประกาศตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) ขึ้น มีรัฐมนตรี 2 คนใน NUG ที่เป็นชาวชิน ได้แก่ ดร.ลยาน โมง ส่าคอง รัฐมนตรีกระทรวงกิจการสหพันธรัฐสหภาพ และ ดร.ส่าส่า รัฐมนตรีกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศ
ดร.ลยาน โมง ส่าคอง เป็นรองประธาน Chin National Front (CNF) องค์กรการเมืองของรัฐชิน ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2531
ดร.ส่าส่า เป็นแพทย์ชาวรัฐชิน เป็นสมาชิกพรรค NLD ซึ่งทำหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งของพรรค NLD ในรัฐชิน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563
ดร.ส่าส่า เกิดที่จังหวัดไหล่ลินบี่ เมื่อปี 2523 มีชื่อภาษาพม่าว่า “สะไล หม่อง ไต่ ซาน” นับถือศาสนาคริสต์ หลังเรียนจบระดับมัธยมในย่างกุ้งแล้ว ได้ไปเรียนต่อที่ Shillong College ในอินเดีย และจบแพทย์จาก Yerevan State Medical University จากประเทศอังกฤษ
ดร.ส่าส่า เป็นผู้ก่อตั้งก่อตั้งมูลนิธิ Health and Hope 1 ใน 4 หุ้นส่วนหลักของสนามบินไหล่ลินบี่ สนามบินแห่งที่ 2 ของรัฐชิน…
ตู่ส่า วิ่น ลวิน Miss Universe Myanmar 2020 เกิดที่กรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2541 และกำลังศึกษาวิชาเอกภาษาอังกฤษอยู่ที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ตะวันออก เธอเป็นตัวแทนสาวงามจากเมืองฮาคา เมืองหลวงของรัฐชิน ที่เข้าประกวดรายการนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศเมียนมา เดินทางไปประกวด Miss Universe บนเวทีระดับโลก และเพิ่งคว้ารางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมไปเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว
เธอจำเป็นต้องสวมชุดของชาติพันธุ์ชิน เพื่อใช้ประกวดชุดประจำชาติบนเวทีประกวด Miss Universe เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุ กระเป๋าได้หายไประหว่างเดินทางมายังสหรัฐอเมริกา
แต่อุบัติเหตุครั้งนี้ ได้จุดประกายให้หลายคน สนใจใคร่รู้เรื่องราวของรัฐชิน และคนชาติพันธุ์ชินมากขึ้น…