ThaiPublica > สู่อาเซียน > AEC Business Forum 2018 (3) : เจาะลึกโอกาสธุรกิจในเมียนมา-กัมพูชา “Rising City, Rising Business”

AEC Business Forum 2018 (3) : เจาะลึกโอกาสธุรกิจในเมียนมา-กัมพูชา “Rising City, Rising Business”

29 มิถุนายน 2018


เสวนาในหัวข้อ “Rising City, Rising Business” นำเสนอมุมมองด้านการพัฒนาของเมืองเศรษฐกิจและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ จาก นายสิตู โม มินต์กรรมการบริหาร บริษัท MPRL E&P Pte จำกัด ประเทศเมียนมา(ที่2จากขวา) ออกญา เซง เญาะ ผู้อำนวยการ บริษัท แอลวายพี กรุ๊ป ประเทศกัมพูชา(ที่2จากซ้าย) และนายธเนศ พิริย์โยธินกุล กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการลงทุน บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ (ซ้าย)และมี ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(ขวา) เป็นผู้ดำเนินรายการ

  • AEC Business Forum 2018 (ตอนที่1) : สถานการณ์-ความเปลี่ยนแปลง-โอกาสของอาเซียนในช่วง “Rising City, Rising Business”
  • AEC Business Forum 2018 (ตอนที่ 2) : เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมธุรกิจ – เชื่อม AEC เข้าถึงโอกาสการลงทุนข้ามชาติ
  • ธนาคารกรุงเทพจัดสัมมนาประจำปี AEC Business Forum 2018 หัวข้อ Rising City, Rising Business เป็นปีที่ 3 ในวันที่ 19 มิถุนายน 2561 เพื่อฉายภาพอาเซียนยุคเศรษฐกิจดิจิทัล และเป็นเวทีการแสดงมุมมองของธนาคารกรุงเทพในฐานะธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคอาเซียน ต่อโอกาสทางการธุรกิจให้กับนักธุรกิจไทย สนับสนุนศักยภาพและผลักดันผู้ประกอบการไทยให้ก้าวสู่ตลาดการค้าอาเซียนและประสบความสำเร็จ

    การเสวนาในช่วงที่ 2 จัดขึ้นในหัวข้อ “Rising City, Rising Business” นำเสนอมุมมองด้านการพัฒนาของเมืองเศรษฐกิจและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ จาก นายสิตู โม มินต์ กรรมการบริหาร บริษัท MPRL E&P Pte จำกัด ประเทศเมียนมา ออกญา เซง เญาะ ผู้อำนวยการ บริษัท แอลวายพี กรุ๊ป ประเทศกัมพูชา และนายธเนศ พิริย์โยธินกุล กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการลงทุน บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนา และมี ผศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

    โอกาสในหลายพื้นที่หลายธุรกิจ

    นายสิตู โม มินต์ ให้ข้อมูลว่า เมียนมาเป็นประเทศประชาธิปไตยรายล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวสู่ประชาคมโลก นับตั้งแต่รัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนจากการปกครองระบอบทหารมาเป็นประชาธิปไตย ช่วง 8 ปีที่ผ่านมามีการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเมือง อย่างต่อเนื่อง มีหลายสำนักระบุว่าเมียนมาเป็นประเทศชายขอบ (frontier market) รายล่าสุดของอาเซียนที่เพิ่งเปิดประเทศ และมีความน่าสนใจด้านการลงทุน และเมื่อ 3 ปีก่อนธนาคารโลก กับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียได้ประมาณการณ์ว่าจีดีพีเมียนมาจะโตประมาณ 8-9% ต่อปี

    นายสิตู โม มินต์ กรรมการบริหาร บริษัท MPRL E&P Pte จำกัด ประเทศเมียนมา

    ที่ตั้งและลักษณะภูมิประเทศของเมียนมาที่มีความโดดเด่น ก็จะเป็นโอกาสทางธุรกิจอีกทางหนึ่ง เพราะประเทศอาเซียนสามารถใช้เมียนมาเป็นประตูสู่มหาสมุทรอินเดียได้โดยตรงด้วยเส้นทางบก ตอกย้ำสถานะที่น่าลงทุนของเมียนมา จึงเป็นโอกาสมหาศาล ตัวอย่างเช่น การลงทุนในธุรกิจพลังงานที่เปิดกว้างขึ้น ประกอบกับที่ตั้งเหมาะสมและยังมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทั้งในเมียนมาและทั่วภูมิภาคอาเซียน

    นอกจากนี้ ในเมียนมามีท่าเรือน้ำลึก ทั้งในตอนเหนือที่จ๊อกพิว ทางตอนใต้ที่ทวาย รัฐบาลมีแผนที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่เพิ่ม ด้วยการพิจารณาที่ตั้งให้สอดคล้องกับลักษณะทางภูมิประเทศ เพื่อตอบรับประชากรที่อาศัยหนาแน่น 60% ของประชากรทั้งหมดในเขตอิรวดี และยังมีโอกาสที่จะเพิ่มปริมาณการค้า และการลดต้นทุนการขนส่งทางเรือ

    เมียนมายังมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 แห่งในเขตอิรวดี และจะพัฒนาเพิ่มอีก 4 แห่งในอีก 12 เดือน ซึ่งทั้ง 4 เขตนี้จะได้รับผลดีจากโครงการปรับปรุงสายส่งกระแสไฟฟ้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างถนน การพัฒนาสร้างท่าเรือน้ำลึกในย่างกุ้ง ดังนั้นจะเห็นว่ามีโอกาสมากสำหรับชาติอาเซียนที่จะลงทุนในเมียนมา ที่มีประชากร 60 ล้านคน มีแรงงานจำนวนมาก ป้อนภาคอุตสาหกรรมสำคัญ ทั้งการเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต อีกทั้งการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกเฉพาะในย่างกุ้งก็จะเป็นโอกาสทางการขนส่งทางเรือ ขนส่งปุ๋ย ปิโตรเคมี สินค้าเกษตร ประมง

    ที่มาภาพ : presentation นายสิตูโม มินต์ กรรมการบริหาร บริษัท MPRL E&P Pte จำกัด ประเทศเมียนมา

    นายสิตูกล่าวว่า เมื่อนึกถึงการลงทุนในเมียนมา นักลงทุนส่วนใหญ่จะนึกถึงแค่กรุงย่างกุ้งที่มีความก้าวหน้าในเชิงเศรษฐกิจการลงทุนมาก ซึ่งเป็นเรื่องปกติเพราะเมียนมาปิดประเทศมานาน ทำให้คนไม่รู้จักประเทศมากนัก แต่ยังมีพื้นที่อื่นในเมียนมาที่ยังมีโอกาสอีกมาก เช่น เขตอิรวดี ซึ่งมีความสำคัญมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ที่เป็นแหล่งส่งออกข้าวใหญ่ของเมียนมา โดยประมาณ 30-40% ของการส่งออกข้าวจากเมียนมาไปต่างประเทศมาจากอิรวดี

    “เมียนมามีประชากรราว 60 ล้านคน ซึ่ง 80% อาศัยในมัณฑะเลย์ ย่างกุ้ง พะโค อิรวดี และรัฐมอญ และหากว่าเราแยกมัณฑะเลย์ออกไป ก็พบว่ามีประมาณ 60% ของประชากรอาศัยอยู่ในภาคกลางตอนใต้ ที่ค่อนมาทางย่างกุ้ง ส่วนประชากรในย่างกุ้งมีจำนวน 10 ล้านคนแต่ในเขตอิรวดีมีเกือบ 7 ล้านคน ไม่ใหญ่เท่าย่างกุ้งแต่ไม่เล็ก”

    ที่มาภาพ : presentation นายสิตูโม มินต์ กรรมการบริหาร บริษัท MPRL E&P Pte จำกัด ประเทศเมียนมา

    ในพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของเมียนมา โครงสร้างพื้นฐานเส้นทางบกมีรองรับแล้ว แต่เมื่อพูดถึงเส้นทางน้ำ ย่างกุ้งมักจะเป็นตัวเลือกในความคิดเสมอ เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก ซึ่งหากพิจารณาจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ ย่างกุ้งไม่เหมาะที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกเพราะมีข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งความลึกของแม่น้ำที่ไม่ลึกพอ โครงการท่าเรือน้ำลึกส่วนใหญ่มีมูลค่าลงทุนในระดับหลายพันล้านดอลลาร์ขึ้นไป จึงมองว่ารัฐบาลต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะมิฉะนั้นท่าเรือน้ำลึกที่ย่างกุ้งก็จะมีอนาคตไม่ต่างจากท่าเรือคลองเตยของไทยที่มีความหนาแน่นจนรองรับเรือไม่ได้และต้องสร้างท่าเรือแหลมฉบังขึ้นใน 25 ปีก่อน

    นายสิตูกล่าวว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลอย่างมากให้เมียนมาเติบโตก้าวกระโดดตามทันประเทศสมาชิกอื่นในอาเซียน คือ การเปิดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างชาติ 2 รายคือ Telenor กับ Ooredoo เข้ามาดำเนินธุรกิจในปี 2013 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมียนมา ส่งผลให้ประชากรที่มีมือถือเพิ่มขึ้น 10-15% ในเวลาเพียง 6 เดือนและโตเกือบ 100% เป็นก้าวข้ามจากยุค 2.0 มา 4.0 เลย

    นอกจากนี้ยังส่งผลให้การชำระเงินก้าวกระโดดอีกด้วย โดยทั่วไปในหลายประเทศมีการเปลี่ยนจากการใช้เงินสดไปบัตรเครดิตและโมบายล์ตามลำดับ แต่ในเมียนมาก้าวจากเงินสดข้ามมาโมบายล์และดิจิทัลเพย์เมนต์เลย ไม่มีการใช้บัตรเครดิต ซึ่งเปิดโอกาสทางธุรกิจอย่างมาก

    “เมียนมาเพิ่งเปิดประเทศมาไม่กี่ปีนี้เอง เทียบกับไทยที่มีโทรศัพท์มือถือใช้มาแล้ว 25 ปี แต่เมียนมามีเพียง 9% ของประชากรเท่านั้นที่มีมือถือใช้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจึงมีโอกาสสำหรับนักลงทุน ขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ขอยกคำพูดของแจ็ค หม่า แห่งอาลีบาบา ที่เคยกล่าวไว้ว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นคนที่ดีที่สุด แต่ต้องเป็นคนแรก ฉะนั้นลองพิจารณาโอกาสในเมียนมา เพื่อที่จะได้เป็นคนแรก”

    นายสิตูกล่าวว่า แม้มีโอกาสมากในเมียนมาแต่ก็มีความท้าทายที่นักลงทุนต้องประสบ และเป็นเรื่องปกติของประเทศที่เปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย ย่อมมีนักลงทุนนักธุรกิจต่างชาติเร่งรีบเข้าไปลงทุน พร้อมพกความหวังที่จะประสบความสำเร็จ ความท้าทายอย่างหนึ่งในเมียนมา คือ การคอร์รัปชัน การทำงานแบบระบบราชการ กฎหมายล้าสมัยไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน กฎหมายบางอย่างไม่ชัดเจน และขัดกันเอง

    “สิ่งที่ผมจะแนะนำต่อผู้ที่สนใจจะเข้าไปลงทุนในเมียนมา คือ ให้รีบเข้าไป และชี้ให้เห็นว่าประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องจัดการแก้ไข แต่อย่ารีบมากเกินไป และอย่างหวังว่าทำกำไรก้อนโตแล้วออกมา แน่นอนว่ามีระบบราชการ และยังมีหลายสิ่งที่เมียนมากำลังปรับปรุง ตัวอย่างหนึ่งคือ ลดการใช้เอกสารกระดาษ หน่วยงานภาครัฐกำลังนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์เข้ามาใช้ การเปลี่ยนผ่านกำลังเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้วโดยหน่วยงานด้านการลงทุนกำลังนำมาใช้แต่ก็อยู่ในกระบวนการขั้นตอนการเริ่มต้นเท่านั้น แต่หวังว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้ และมีผลดีต่อนักลงทุน ”

    นอกจากนี้ นักลงทุนต้องใช้เวลาในการศึกษากฎหมาย ข้อมูลเกี่ยวข้องกับการลงทุน เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ทำอยู่ ทั้งผ่านระบบที่เป็นทางการและการหาข้อมูลธุรกิจจากวงการธุรกิจในเมียนมา เรียนรู้ทุกอย่าง เรียนรู้ทั้งกรณีที่สำเร็จและไม่สำเร็จ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ทั้งนี้ธุรกิจบางประเภทเมียนมายังไม่เปิดเสรีและยังไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาประกอบการ ธุรกิจที่ต่างชาติสามารถทำได้ เช่น ธุรกิจการค้าเทรดดิ้ง แต่ต้องมั่นใจว่ามีตลาดรองรับสินค้าที่จะจำหน่าย นอกจากนี้ต้นทุนขนส่งยังสูง อาจจะได้รับผลกระทบได้ ต้องหาข้อมูลให้มากพอ ส่วนในธุรกิจโลจิสติกส์ มีการพัฒนาโมเดลธุรกิจหลายแบบ มีนวัตกรรม และประสบความสำเร็จด้วย

    “โอกาสในเมียนมามีมหาศาล แต่ต้องรู้ในสิ่งที่สำคัญ รู้เป้าหมายของตัวเอง หาทางก้าวข้ามความท้าทาย ไม่มีประเทศในกลุ่ม frontier ที่ไหนในโลกเหมือนเมียนมาอีกแล้ว ที่มีโอกาสมหาศาลในการทำธุรกิจ การค้า โอกาสทางเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกัน ไม่ควรมีความคิดที่จะทำเงินอย่างรวดเร็ว ต้องมีความอดทน สม่ำเสมอ เพราะมีความท้าทายตลอดเส้นทาง แต่ตราบใดที่มีความสม่ำเสมอและทำงานต่อเนื่องก็จะประสบความสำเร็จ”

    นายสิตูยังเชิญชวนให้พิจารณาการลงทุนในเมียนมา แต่ขอให้คำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนที่กำลังเป็นแนวคิดสำคัญของโลก จึงอยากจะเห็นการพัฒนาที่ยั่งยืนในเมียนมา ขอให้พิจารณาการลงทุนเพื่ออนาคต 10-15 ปีข้างหน้า รวมทั้งตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้เป็นการลงทุนระยะสั้น 5 ปี แต่สังคม สิ่งแวดล้อม จะอยู่อีกนานรุ่นต่อรุ่น รัฐบาลพร้อมที่จะต้อนรับการลงทุนจากต่างชาติและประชาชนเมียนมาก็พร้อมที่จะรับการลงทุนจากต่างชาติ ที่จะเข้ามามีบทบาทในการผลักดันเมียนมาเสือเศรษฐกิจล่าสุดของอาเซียนให้เติบโตสู่อนาคต

    เจาะลึกธุรกิจพลังงาน

    นายสิตูยังให้ข้อมูลธุรกิจพลังงานจากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นปัจจัยหลักต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของเมียนมาในรอบหลายปีนี้ว่า ภาคพลังงานเป็นธุรกิจหนึ่งที่มีความท้าทายในการลงทุน ดังนั้นจึงต้องการแบ่งปันข้อมูลให้กับนักธุรกิจ โดยข้อมูลที่จะแชร์ด้านแรกเป็นข้อมูลสำคัญอย่างแรก คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาที่ไม่เป็นไปตามคาด และด้านที่สอง ข้อมูลเจาะลึกธุรกิจพลังงานในเมียนมา ที่ครอบคลุมไปถึงว่ามีการดำเนินการใดบ้างในการปลดล็อกทรัพยากรพลังงาน ที่มีผลต่อความก้าวหน้าของประเทศ ด้านที่สาม ความน่าสนใจการพัฒนาแหล่งทรัพยากรพลังงาน โอกาสที่มีพัฒนาแหล่งทรัพยากรพลังงานมีมาก

    นายสิตูกล่าวว่า เสือเศรษฐกิจล่าสุดของเมียนมายังหลับอยู่ โดยดูได้จากปริมาณกระแสไฟฟ้า ปริมาณพลังงานยังน้อยกว่าความต้องการ (ในกรณีฐาน) ที่คาดว่าจะมีมากถึง 3,500 เมกะวัตต์ ขณะที่กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีอยู่ผลิตได้ 3,000 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ เมียนมามีอัตราการเข้าถึงไฟฟ้าต่ำสุดในโลก โดยมีประชากรในสัดส่วนเพียง 1 ใน 3 ที่เข้าถึงกระแสไฟฟ้า

    ความต้องการกระแสไฟฟ้าในกรณีฐานคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าจากระดับปัจจุบัน เฉพาะในย่างกุ้งที่เดียวในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นประมาณ 200 เมกะวัตต์ สูงกว่าการใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศถึง 10%

    ที่มาภาพ : presentation นายสิตูโม มินต์ กรรมการบริหาร บริษัท MPRL E&P Pte จำกัด ประเทศเมียนมา

    ประเด็นนี้จึงกลายเป็นความท้าทายประเทศที่จะต้องก้าวผ่าน เพราะประเทศต้องการที่จะให้เศรษฐกิจมีความก้าวหน้า และดึงการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วประเทศ ปัจจุบันการผลิตกระแสไฟฟ้าของเมียนมาจากพลังน้ำในสัดส่วน 60% อีก 35% มาจากการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศ ส่วนอีก 2% ใช้ถ่านหิน และ 3% มาจากพลังงานโซลาร์ และคาดว่าจะมีการใช้พลังงานจากหลายแหล่งไปอีกนาน ขณะเดียวกันคาดว่าจะมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)อีกด้วย

    เมียนมามีความอุดมสมบูณ์ทางแหล่งก๊าซธรรมชาติและยังมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำอีกด้วย แต่ก็มีความท้าทายในด้านที่จะนำมาใช้ ได้มีการสำรวจและค้นพบแหล่งน้ำมันและก๊าซ ด้านสภาวะแวดล้อมในทะเล ด้านโครงสร้างเครือข่ายสายส่งที่ใช้งานมานานมากและยังใช้อยู่เพื่อส่งกระแสไฟข้ามภูมิภาคที่มีความหนาแน่นอนของประชากรสูง ตลอดจนความไม่มีประสิทธิภาพของสายส่ง ที่เป็นผลจากโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำ เมียนมายังเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติของรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตามหลังออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และมาเลเซียเท่านั้น

    นายสิตูกล่าวว่า เมียนมาพร้อมที่จะเข้าถึงตลาดระดับโลกและตลาดในประเทศเพื่อทำธุรกิจการค้าก๊าซธรรมชาติและแหล่งก๊าซธรรมชาติ โดยรัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว 3 ด้าน คือ

    • หนึ่ง กำลังอยู่ในกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างท่อส่งด้วยการติดตั้งท่อส่งใหม่ทั่วประเทศ ด้วยการให้ภาคเอกชนดำเนินการจัดทำโครงการแทนผ่านสัญญาร่วมลงทุน (Public Private Partnership : PPP) ซึ่งคาดว่างานส่วนใหญ่จะเสร็จสิ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า
    • สอง กำลังปรับแผนการจัดหาพลังงานให้มีการกระจายด้วยการสร้างสถานีรับก๊าซ (terminal) นำเข้า 3 แห่ง โดยรัฐบาล

    • สนับสนุนด้านการเงิน ซึ่งสร้างที่ย่างกุ้ง 1 แห่ง โดยก๊าซนำเข้านี้จะนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าใน 3 โรงผลิตกระแสไฟฟ้า 3 แห่งที่มีกำลังการผลิตรวมกันประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ที่คาดว่าน่าจะเริ่มจ่ายกระแสไฟได้ในปี 2020 แต่การที่ผลักดันโครงการทั้ง 3 โรงให้เสร็จทันปี 2020 ค่อนข้างจะตั้งความหวังไว้จึงคาดว่า 1 หรือ 2 โครงการจาก 3 โครงการจะเป็นรูปเป็นร่างภายใน 3-4 ปี
    • สาม กำลังอยู่ในกระบวนการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่ในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยจะขุดเจาะ 11 บ่อในทะเล ซึ่งธุรกิจสำรวจและขุดเจาะก๊าซนั้นมีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว โอกาสที่จะพบก๊าซตามมาตรฐานอุตสาหกรรมมีเพียง 33% ดังนั้น จึงคาดว่าน่าประสบความสำเร็จจำนวน 3-4 บ่อ ขณะเดียวกัน ยังมีการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม ซึ่งหนึ่งในโครงการนี้จะอยู่ใน Block A6 ทางตะวันตกของเขตอิรวดี

    โดยได้สำรวจและขุดสำเร็จไปแล้ว 4 บ่อ และพบว่า 2 บ่อมีปริมาณก๊าซมหาศาล สูงเกินเกณฑ์ปริมาณสำรองมาตรฐาน จนเป็นบ่อขนาดใหญ่ติดอันดับ 6 และ อันดับ7 ของโลกตามระยะเวลาการขุดขึ้นมาใช้

    ที่มาภาพ : presentation นายสิตูโม มินต์ กรรมการบริหาร บริษัท MPRL E&P Pte จำกัด ประเทศเมียนมา

    MPRL E&P Pte ได้สำรวจและขุดเจาะก๊าซใน Block A6 ในปี 2017 ด้วยการเป็นพันธมิตรกับ Woodside Energy จากออสเตรเลียและ Total จากฝรั่งเศส เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการพลังงานทั้งในประเทศและจากไทย ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มผลิตก๊าซในปี 2023

    ข้อได้เปรียบหนึ่งของธุรกิจปิโตรเลียมในเมียนมาคือ มีที่ตั้งใกล้จีนกับไทย ซึ่งเมียนมากับไทยมีท่อส่งก๊าซอยู่แล้ว สามารถส่งเข้าตลาดทั้งสองประเทศได้ และจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมเพื่อจัดส่งก๊าซไปยังสองตลาด

    นายสิตูกล่าวว่า บริษัทฯ กำลังพิจารณา 3 ทางเลือกในการพัฒนาแหล่งก๊าซใน Block A6 ประกอบด้วย หนึ่ง ซึ่งเป็นทางที่สนใจมากสุด คือ สร้างท่อส่งก๊าซใหม่ทั้งหมดและเชื่อมต่อกับท่อเดิมที่มี โดยจะใช้ท่อเดิมส่งก๊าซจาก Block A6 ไปยังย่างกุ้ง ขณะเดียวกัน ใช้ท่อเดิมจากแหล่งผลิตเดิม ยานาดา ส่งก๊าซที่ผลิตได้และมากกว่าความต้องการในประเทศมายังไทย สองสร้างท่อส่งก๊าซใหม่ทั้งหมด เพื่อเชื่อมต่อท่อส่งก๊าซของไทยและจีนจาก Block A6 และสามสร้าง terminal รับก๊าซใหม่

    ทั้งสามแนวคิดรวมถึงการพัฒนาและการก่อสร้างท่อส่งก๊าซในประเทศบนแผ่นดินเพื่อส่งก๊าซจาก Block A6 ไปยังฝั่งตะวันตกของเขตอิรวดี

    เป้าหมายที่จะผลิตก๊าซให้ได้ภายในปี 2023 สำหรับบางคนอาจะมองว่าตั้งเป้าไว้สูง แต่นายสิตูกล่าวว่า ยอมรับตั้งเป้าไว้สูง แต่ก็เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมายเช่นกัน เนื่องจากเหตุผลที่ว่าทั้งไทยและเมียนมาต้องปริมาณสำรองก๊าซที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของประเทศตัวเอง

    ในประเทศไทยที่ใช้ก๊าซสัดส่วน 60% ในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยที่ 20% ของก๊าซนี้นำเข้าจากเมียนมาที่ผลิตได้จากแหล่งเก่าทั้ง ยานาดา เยตากุน และอีกแห่งหนึ่งรวม 3 แหล่ง ซึ่งทั้ง 3 แหล่งจะหมดลงใน 5-7 ปีข้างหน้า ดังนั้นการผลิตใน Block A6 ก็จะเข้ามาพอดี

    ที่มาภาพ : presentation นายสิตูโม มินต์ กรรมการบริหาร บริษัท MPRL E&P Pte จำกัด ประเทศเมียนมา

    นอกจากนี้ก๊าซธรรมชาติของเมียนมาในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาซื้อขายโดยมีส่วนลด 10-15% ของราคาสปอตเฉลี่ย ซึ่งทำให้ก๊าซธรรมชาติเมียนมามีราคาน่าซื้อ และเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับไทยและเมียนมา ในการจัดหาก๊าซธรรมชาติมาเสริมการนำเข้า LNG ซึ่งจะช่วยให้แผนพลังงานมีการกระจาย

    สี่อุตสาหกรรมน่าสนใจในกัมพูชา

    ทางด้านกัมพูชา ผู้ที่ให้ข้อมูลคือ ออกญา เซง เญาะ ผู้อำนวยการ แอลวายพีกรุ๊ป ซึ่ง ผศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้ดำเนินรายการกล่าวแนะนำว่า แอลวายพีเป็นธุรกิจข้ามชาติของกัมพูชาที่มีกิจการหลายด้านมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านดอลลาร์ต่อปี และออกญาเซง เญาะ ยังเป็นคนที่ผลักดันให้ แอลวายพีส่งออกน้ำตาลไปสหภาพยุโรปได้ อนาคตอาจจะเป็น Sugar King of SEA

    ออกญา เซง เญาะ ผู้อำนวยการ บริษัท แอลวายพี กรุ๊ป ประเทศกัมพูชา

    ออกญาเซง เญาะ แนะนำตัวว่า ชื่อ แอนดี้ เป็นผู้อำนวยการของแอลวายพีกรุ๊ป และให้ข้อมูลด้านอุตสาหกรรมที่เป็นโอกาสการลงทุนสำหรับนักลงทุนอาเซียนที่สนใจว่า อุตสาหกรรมแรก คือ การ์เมนต์เป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา เนื่องจากว่าในกัมพูชานักลงทุนเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตแล้วสามารถส่งออกสินค้าได้ทุกชนิด ยกเว้นอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่เหลือผลิตและส่งออกได้หมด ไม่ว่าจะส่งออกไปยุโรปหรือประเทศอื่น ไม่มีโควตาหรือเสียภาษี รัฐบาลกัมพูชายกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าเพื่อผลิตสินค้าส่งออกและไม่เก็บภาษีส่งออกสำหรับสินค้าที่ผลิตเพื่อการส่งออก ไม่ว่าส่งไปยุโปหรือส่งกลับไทย หรือประเทศอื่นในเอเชีย

    “รัฐบาลยังยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการส่งออกเป็นระยะเวลา 6-9 ปี นโยบายนี้เองดึงบริษัทจำนวนมากจากทั้งไต้หวัน ย้ายมาตั้งโรงงานที่กัมพูชา และการที่มีธุรกิจต่างชาติเข้ามามากทำให้รัฐบาลมีนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น ให้บริการแบบ one stop service ธุรกิจต่างชาติเพียงหิ้วกระเป๋าเข้ามาตั้งโรงงานก็สามารถผลิตสินค้าได้เลย เพราะการดำเนินงานด้านเอกสารทุกอย่าง ผู้บริหารเขตเศรฐกิจพิเศษจะจัดการให้ทั้งหมด ไม่ว่าเอกสารที่เกี่ยวกับกระทรวงแรงงาน เอกสารเพื่อการส่งออก ทุกอย่าง จึงเป็นเหตุผลที่หลายธุรกิจย้ายมาตั้งโรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่กัมพูชา นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนเพียงแค่มุ่งไปที่การผลิตซึ่งเป็นจุดแข็งของตัวเอง แทนที่จะต้องมาเสียเวลากับงานด้านเอกสาร”

    อุตสาหกรรมที่สอง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กัมพูชามีสถานที่ท่องเที่ยวที่จัดเป็นมรดกโลกจำนวนมาก คือ นครวัด นครธม ที่ดึงนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชม และยังมีชายหาดที่สวยงามอีกหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวที่เดินทางมากัมพูชามีจำนวนเพียง 4-5 ล้านคนเท่านั้นเทียบกับไทยที่มีมากถึง 10 ล้าน

    “กัมพูชายังมีโอกาสที่อีกมากที่จะดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ นักท่องเที่ยวที่มากขึ้นหมายถึงร้านอาหารที่จะต้องเพิ่มขึ้น โรงแรมมากขึ้น บริษัททัวร์ รถบัส และการบริการอื่นที่เกี่ยวข้องจะตามมา หากคิดที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมนี้”

    อุตสาหกรรมที่สาม การเกษตร กัมพูชายังเป็นประเทศเกษตรกรรม ผลิตผลหลักคือข้าว แต่ยางพาราก็มีนักลงทุนสนใจเข้าลงทุน จาก เวียดนาม จีน ที่มาขอสัมปทานปลูกยางพารา ส่วนอ้อย เป็นผลผลิตอีกอย่างที่มีศักยภาพ มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง

    สำหรับแอลวายพี อุตสาหกรรมที่บริษัทได้ลงทุนมีมากมาย และจากประสบการณ์ของออกญาแอนดี้ที่รับผิดชอบดูหลายธุรกิจ บอกได้ว่า ภาคการเกษตรทำธุรกิจยากที่สุด ตั้งแต่ขนาดพื้นที่ จำนวนแรงงาน ซึ่งบริษัทมีเนื้อที่ปลูกยางพารา 30,000 เฮกตาร์ เป็นมีพื้นที่ปลูกยางที่ใหญ่ที่สุดในกัมพูชา พื้นที่เพาะปลูกทั้ง 2 แห่งมีแรงงาน 6-7 พันคน ดังนั้น จะเห็นได้การทำงาน การบริหารจัดการกับแรงงานทั้งหมดเป็นเรื่องใหญ่และยาก

    อุตสาหกรรมที่สี่ ธุรกิจคาสิโน ที่ผิดกฎหมายในไทย กัมพูชามีคาสิโนมากที่สุดในเอเชีย แต่ขนาดไม่ใหญ่ ขณะนี้การพนันออนไลน์ในกัมพูชาเติบโตเร็วมาก กำลังบูม น่าจะเป็นโอกาสสำหรับคนที่อยู่ในด้านไอที

    ออกญาแอนดี้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง เป็นภาคธุรกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในกัมพูชา ขณะนี้หลายบริษัททำเงินได้มาจากในธุรกิจนี้ เพียงแต่ซื้อที่ดินมาขาย สร้างบ้านขาย สร้างโรงแรม ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับบริษัทไทยที่จะเข้าไปในธุรกิจนี้ โดยเฉพาะการออกแบบ เพราะสอดคล้องรสนิยมของชาวกัมพูชา กับวัฒนธรรมกัมพูชา คนกัมพูชาชอบการออกแบบชอบฝีมือคนไทย และมีคนไทยเข้าไปทำธุรกิจออกแบบที่กัมพูชาจำนวนหนึ่งแล้ว ส่วนธุรกิจก่อสร้าง นักลงทุนไทยสามารถเข้าไปทำได้ แต่ต้องมีความระมัดระวังรอบคอบ ธุรกิจไหนที่นักธุรกิจท้องถิ่นทำได้ ก็จะยากสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่จะแข่งขัน

    พกจุดแข็งเข้าลงทุนกัมพูชา

    สำหรับโมเดลธุรกิจในกัมพูชา ออกญาแอนดี้กล่าวว่า สามารถทำได้หลายแบบ ตั้งแต่แบบปกติ ที่มีการวางแผนการลงทุน มีการประเมินความไปได้ ประเมินมูลค่าโครงการ แล้วใส่เงินลงไปตามสัดส่วนการลงทุน แต่นอกจากรูปแบบนี้ ยังมีแบบอิสระ ตัวอย่างเช่น เป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยี มีการบริหารจัดการ มีตลาด และมาขอให้เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นผู้สร้างโรงงานและบริหาร ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นโมเดลที่เขตเศรษฐกิจของแอลวายพีได้ใช้กับ บริษัท ไนกี้ อาดิอาส นอกจากนี้มีแฟรนไชส์โมเดล เช่น เชนโรงแรม พิซซ่า หรือจะใช้โมเดลการพัฒนา หากคิดว่าเป็นโครงการที่ดีแต่ต้องการพันธมิตรนักธุรกิจท้องถิ่นในการจัดหาที่ดิน แรงงาน หรือเป็นแบบที่มีแนวคิด แล้วนำแนวคิดมานำเสนอต่อนักธุรกิจท้องถิ่น ดูว่าเห็นด้วยกับแนวคิดนี้หรือไม่

    ออกญาแอนดี้กล่าวว่า การที่เขตเศรษฐกิจพิเศษกัมพูชาสามารถให้บริการงานด้านเอกสารให้กับนักลงทุนที่เข้าตั้งโรงงานได้ เพราะรัฐบาลต้องการลดปัญหาให้กับนักลงทุน เพื่อนักลงทุนจะได้โฟกัสกับจุดแข็งของตัวเอง ซึ่งหมายถึงการดูแลการปฏิบัติงานที่โรงงาน การผลิตสินค้า การตลาด

    สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เกาะกงของแอลวายพีมีเนื้อที่ 330 เฮกตาร์ นักลงทุนที่เข้าตั้งโรงงาน ได้แก่ โรงงานประกอบรถยนต์ฮุนได โรงงานไนกี้ อาดิอาส ซึ่งตอนแรกตั้งเพียง 1 โรงงานมีคนงาน 2,500 คน ต่อมาขยายโรงงานที่สอง และขยายโรงงานที่ 3, 4 กำลังก่อสร้าง บริษัทมิยาซากิ ที่ผลิตสายเคเบิลให้ค่ายรถยนต์โตโยต้า ส่งสินค้ากลับไทย และไม่ได้ย้ายโรงงานจากไทยไป เพียงแต่ตั้งโรงงานแห่งที่สองขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากการน้ำท่วม บริษัทฮันนาอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้กับซัมซุง และผู้ผลิตลูกวอลเลย์บอลมีกาซา

    ออกญาแอนดี้กล่าวว่า จะเห็นได้ว่า คนที่ได้ตั้งโรงงานก็ได้ขยายโรงงานต่อเนื่อง โมเดลธุรกิจแบบนี้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษใช้ได้ดีกับนักลงทุนไทย โดยเฉพาะคนที่ต้องการโฟกัสกับจุดแข็งที่มี ทำในสิ่งที่ถนัด แทนที่ต้องประสบกับปัญหามากมายเพื่อขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ทั้งการติดต่อกับหน่วยงานรัฐ เรื่องภาษี กฎหมายแรงงาน

    สำหรับความท้าทายของการทำธุรกิจในกัมพูชา ออกญาแอนดี้กล่าวว่า “ไม่ว่าจะประกอบธุรกิจที่ไหนก็ตาม ผู้ประกอบการต้องหาจุดแข็งของตัวเองออกมาให้ได้ ว่ามีจุดแข็งอะไรในประเทศตัวเอง และประเมินว่าจุดแข็งนี้จะยังเป็นจุดแข็งอยู่หรือไม่หากขยายไปอยู่ในตลาดต่างประเทศ ไม่ว่ากัมพูชาหรือที่ไหน”

    ที่มาภาพ : presentation ออกญา เซง เญาะ ผู้อำนวยการ บริษัท แอลวายพี กรุ๊ป ประเทศกัมพูชา

    ออกญาแอนดี้เล่าว่า ก่อนหน้านี้มีธุรกิจก่อสร้างต่างชาติรายใหญ่ได้มาเข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับการทำธุรกิจในกัมพูชา เพราะต้องการที่จะทำธุรกิจในกัมพูชา จึงได้ตั้งคำถามไปว่า ต้องการจะทำธุรกิจด้านไหนในกัมพูชา หากเป็นการก่อสร้างบ้านพักที่อยู่อาศัยทั่วไป กัมพูชาไม่จำเป็นต้องใช้ธุรกิจข้ามชาติ เพราะมีธุรกิจท้องถิ่นสามารถสร้างบ้านได้ แต่หากต้องการก่อสร้างอาคารสูง ก็จะเหมาะกับขนาดธุรกิจ แต่ยังมีคำถามต่อว่า มีความต้องการของตลาดหรือไม่

    “ดังนั้น หาจุดแข็งของตัวเองให้เจอและประเมินว่าจุดแข็งนี้หากนำไปทำธุรกิจในกัมพูชายังเป็นจุดแข็งหรือไม่ เพราะจุดแข็งในประเทศหนึ่งอาจจะไม่ใช่จุดแข็งในประเทศที่ขยายการลงทุนไป การประกอบธุรกิจในต่างประเทศก็จะยากขึ้น การทำธุรกิจในกัมพูชาจะยากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ การก่อสร้างโรงแรมระดับ 5 ดาวที่กัมพูชาไม่มีความเชี่ยวชาญเท่า แต่หากผู้ประกอบการไทยไม่มีการพัฒนาต่อเนื่องในอีก 2 ปีข้างหน้าธุรกิจประเภทเดียวกันในกัมพูชาก็จะขยายเติบโตและมีความสามารถเท่ากัน ขณะที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า”

    ออกญาแอนดี้ย้ำว่า เมื่อนักลงทุนหาจุดแข็งของธุรกิจได้แล้ว ก็ไปเยี่ยมชมกัมพูชาพร้อมประเมินว่าจุดแข็งนี้เปลี่ยนเป็นโอกาสทางธุรกิจในกัมพูชาได้หรือไม่ และศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมจากธนาคารที่มีข้อมูลมากมายและเต็มใจที่จะให้คำแนะนำ ให้ทิศทางที่ถูกต้อง รวมทั้งแนะนำพันธมิตรที่เหมาะสมให้ ตลอดจนใช้ข้อดีของโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ ต้นทุนการเงินต่ำเข้าไปในกัมพูชา เมื่อรวมต้นทุนการต่ำบวกกับข้อมูลที่ได้จากธนาคาร ก็เชื่อว่าจะทำธุรกิจได้ดีในกัมพูชา

    “ผมสนับสนุนให้นักธุรกิจไทยไปสำรวจธุรกิจที่กัมพูชาและเมียนมา เพราะไทยและกัมพูชามีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน คนกัมพูชาชอบละครไทย คนกัมพูชาเชื่อถือสินค้าไทยว่ามีคุณภาพที่ดีที่สุด ไทยจึงมีข้อได้เปรียบด้านภาพลักษณ์สินค้าผลิตภัณฑ์ นอกเหนือจากนี้มีแบรนด์ดี มีต้นทุนการเงินต่ำ ดอกเบี้ยต่ำ ผมเชื่อว่าการมีข้อมูลที่ดีจะเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อการตัดสินใจที่การขยายลงทุนไปต่างประเทศ ผมไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะช่วยเอกชนดำเนินธุรกิจได้ดี เพราะรัฐบาลคำนึงภาพรวม ดังนั้นควรออกไปสำรวจหาข้อมูลด้วยตัวเอง”

    ออกญาแอนดี้กล่าวว่า ธุรกิจการค้าหรือเทรดดิ้งเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงในกัมพูชา เพราะเป็นธุรกิจที่กัมพูชาเปิดโอกาสให้ทุกคน ไม่มีโควตา ไม่มีข้อจำกัดประเภทสินค้า ดังนั้น นักลงทุนที่จะประกอบธุรกิจเทรดดิ้งในกัมพูชาต้องมั่นใจว่า สินค้าที่จะนำเข้าไปขายในกัมพูชาเป็นสินค้าที่ไม่ได้จำหน่ายหรือวางขายอยู่แล้วในกัมพูชา การนำเข้าสินค้าไปขาย ไม่จำกัดประเภท ไม่จำเวลา ไม่มีโควตา ทำได้ตลอดตราบเท่าที่ชำระภาษีถูกต้อง แต่ต้องมั่นใจว่าสินค้านั้นแข่งได้

    โอกาสทางธุรกิจในกัมพูชายังมีในด้านการเทรนนิง การพัฒนาบุคลากร กัมพูชามีโรงเรียนจำนวนมาก แต่ไม่มีโรงเรียนที่พัฒนาด้านวิชาชีพ ไม่เพียงพอสำหรับการสร้างแรงงาน ดังนั้น หากนักธุรกิจไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ทำธุรกิจนี้อยู่ ควรที่จะรีบไปลงทุนในกัมพูชา เพราะความต้องการแรงงานที่มีทักษะวิชาชีพยังมีอีกมาก เช่น ช่างเทคนิค ช่างไฟฟ้า ที่ผ่านมากัมพูชาใช้วิธีการส่งคนมาเทรนนิงในไทย เนื่องจากกัมพูชาต้องการช่างฝีมือเฉพาะกับบางภาคธุรกิจ หรือแรงงานวิชาชีพ เช่น พยาบาล แม่บ้าน

    โลจิสติกส์ต้อง disrupt รับมือผู้บริโภค

    ทางด้านนายธเนศ พิริย์โยธินกุล ผู้บริหารบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) บริษัทโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดของไทย มีประสบการณ์ธุรกิจในหลายประเทศอาเซียนและยังเป็นกรรมการของเขตเศรษฐกิจพิเศษในกัมพูชาด้วย

    นายธเนศ พิริย์โยธินกุล กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการลงทุน บมจ.เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์

    นายธเนศกล่าวว่า การรวมตัวเป็น AEC จะทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคไร้พรมแดนมีการเชื่อมต่อกันทุกด้าน และจะเติบโตต่อเนื่องในอีก 10-20 ปีข้างหน้า แต่ปัจจุบันระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศสมาชิกยังห่างกัน จึงมีช่องว่างระหว่างกันอยู่ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม นอกจากนี้มีการพูดถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน การขนส่ง โลจิสติกส์ การเชื่อมโยงข้ามชาติ รวมไปถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ภาคบริการ ธุรกิจโลจิสติกส์จะตอบสนองความต้องการได้ทันทีได้อย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงและปรับปรุงทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพราะจะต้องมีความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น

    สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ มีความท้าทายหลายข้อในการที่จะใช้แพลตฟอร์มโลจิสติกส์ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคในอาเซียน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่ส่วนใหญ่มองว่าเป็นธุรกิจในประเทศ แต่ในความเป็นจริงอีคอมเมิร์ซเป็นธุรกิจไร้พรมแดน มีการเชื่อมโยงกับประเทศอื่น เช่น การขนส่งทางเรือ ทางอากาศ เป็นองค์ประกอบที่รวมกันหมด ซึ่งก็ต้องตั้งคำถามว่ามีบริษัทโลจิสติกส์จำนวนมากแค่ไหนที่ตระหนักถึงความท้าทายนี้

    ในอนาคตไม่เพียงบริษัทโลจิสติกส์ที่ต้องแข่งขันกันเอง ธุรกิจโลจิสติกส์ยังต้องแข่งกับผู้ประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เพราะผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซจำนวนมากในอนาคตจะต้องลงทุนให้บริการโลจิสติกส์ด้วยในภูมิภาคอาเซียนด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการเชื่อมโยงมีความสำคัญ

    อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ไทยเป็นศูนย์กลางการส่งออกรถยนต์ในอาเซียน ในแง่โลจิสติกส์จะเห็นว่ามีชิ้นส่วนส่งเข้ามามากจำนวนเพื่อใช้ในการประกอบรถยนต์ แสดงให้เห็นภาพความเชื่อมโยงของโลจิสติกส์ด้าน supply chain แต่ในอีก 5 ปี ตลาดรถจะกลายเป็น EV หรือ electric vehicle รถยนต์ไฟฟ้า สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจโลจิสติกส์คืออย่างน้อยครึ่งหนึ่งของพอร์ตที่ใช้ในการขนส่งรถยนต์จะหายไป จะมีเพียงแบตเตอรี่ไฟฟ้า เครื่องยนต์ หรือชิ้นส่วนบางอย่างจะหายไป เป็นความท้าทายที่ธุรกิจโลจิสติกส์ต้องปรับตัวเอง

    “พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะมีผลให้ธุรกิจโลจิสติกส์เปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันนี้โลจิสติกส์เน้นการให้บริการแบบ B2B เป็นหลัก แต่อนาคตโลจิสติกส์ต้องเข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภคอย่างลึกซึ้งด้วย เพื่อให้สามารถปรับระบบ องค์กร กระบวนการ การบริการ เพื่อให้บริการลูกค้าได้ เป็นยุคปฏิวัติธุรกิจโลจิสติกส์ ทุกคนกำลังแข่งขันกัน”

    ในประเทศในช่วงประมาณ 2 ปีที่ผ่านมาได้เริ่มเห็นว่าธุรกิจมีการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เป็น technology disruption ชัดเจน เห็นได้จากธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจธนาคาร ภาวะแวดล้อมทางการแข่งขันเปลี่ยนแปลงไปมาก

    “เราเองในฐานะธุรกิจครอบครัวเคยภูมิใจอย่างมากกับการทำธุรกิจที่มีมานาน 40 ปี แต่สำหรับผมมองว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องมาพิจารณาอย่างจริงจังว่าจะ disrupt ตัวเองก่อนหรือไม่ ก่อนที่จะถูก disrupt ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับธุรกิจครอบครัวว่าจะเสริมความแข็งแกร่งขององค์กรอย่างไร องค์กรมีความเป็นเลิศหรือไม่ สมรรถนะหลักขององค์กรเป็นอย่างไร คุณสมบัติเหล่านี้มีมากน้อยแค่ไหนที่จะ disrupt ตัวเอง เพื่อให้ขับเคลื่อนก่อนคนอื่นและเร็วกว่าคนอื่น”