ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ประมูล ATK 8.5 ล้านชุด ความจริงที่พูดไม่ครบทั้ง “แพทย์ชนบท-องค์การเภสัช”

ประมูล ATK 8.5 ล้านชุด ความจริงที่พูดไม่ครบทั้ง “แพทย์ชนบท-องค์การเภสัช”

16 สิงหาคม 2021


นับเป็นภาวะวิกฤติในการบริหารจัดการท่ามกลางสงครามโควิด-19 ที่การแพร่เชื้อลุกลามมากขึ้นๆ

แต่มาตรการป้องกันเชิงรุกในการตรวจหาเชื้อกลับเป็นปมใหญ่ เมื่อเกิดศึกการจัดซื้อ ATK ที่ผู้ต้องการสินค้าคือ สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินมาซื้อ(แต่ไม่มีอำนาจในการจัดซื้อ) แต่ได้กำหนดสเปกชัดเจนว่าใครคือคนที่ใช่ ขณะที่คนจัดซื้อตัวจริงคือองค์กรเภสัชกรรม กำหนดสเปกอีกชุดหนึ่งซึ่งต่างจากสปสช. ที่มีคนที่ใช่อยู่ในสเปกเช่นเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขจึงร้อนฉ่าในขณะนี้

  • เปิดรายงานดีเอสไอระบุ สปสช. ไม่มีหน้าที่ซื้อยา-เวชภัณฑ์ – 4 ปี ได้เงินไปกว่า 240 ล้านบาท
  • antigen test self-test kits หรือ ATK ที่ยื่นประมูลครั้งนี้มีทั้ง 1. ผลิตจากประเทศจีน 2. ผลิตจากประเทศเกาหลีใต้ 3. ผลิตจากยุโรป 4. ผลิตจากสหรัฐอเมริกา

    การประมูล ATK 8.5 ล้านชิ้นขององค์การเภสัชกรรมในครั้งนี้มีการประมูล 3 ครั้งโดยล้มประมูลไป 2 ครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน อ้างว่ามีการปรับเงื่อนไขการประมูลหรือ TOR ใหม่

    ส่วนเบื้องลึกจะเป็นเพราะการเจรจาต่อรองหรือการแก้เกมที่ไม่ลงตัว จึงต้องซื้อเวลาด้วยเหตุ “ปรับ TOR ใหม่” 2 รอบ ติดๆ กัน

    องค์การเภสัชกรรมขอเชิญประมูล ATK วันที่ 27 กรกฎาคม 2564

    ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 มีผู้ยื่นซองประมูล 6 ราย ซึ่งได้มาพร้อมหน้าเพื่อเปิดซองประมูล แต่ได้รับแจ้งจากองค์การเภสัชกรรมว่าขอปรับ TOR ใหม่ในประเด็นการส่งมอบของจากเดิมส่งมอบให้องค์การเภสัชกรรมเท่านั้น โดยแก้ไขใหม่ว่าต้องส่งมอบเพิ่มเติม 1,000 จุดทั่วประเทศตามที่ สปสช. กำหนด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพราะผู้ประมูลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการส่งมอบของทั้งหมด โดยทั้ง 6 บริษัทได้แจ้งในที่ประชุมว่าพร้อมที่จะรับเงื่อนไขใหม่ แบกรับค่าใช้จ่ายดังกล่าว แต่ก็ไม่เป็นผล

    การปรับ TOR ในครั้งนี้เป็นเหตุผลเพื่อล้มประมูล เนื่องจากในวันเปิดซองประมูลดังกล่าว บริษัทเอ็มพี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมายื่นซองประมูลไม่ทันตามเวลาที่กำหนดพยายามที่จะให้ทางองค์การเภสัชกรรมรับซองประมูล แต่หนึ่งในบริษัทที่ยื่นประมูลหกรายได้คัดค้าน เพราะผิดเงื่อนไขการยื่นซองประมูลและไม่เป็นธรรมกับผู้ประมูลรายอื่นๆ ทางองค์การเภสัชกรรมจึงล้มประมูลครั้งที่ 1 ด้วยเหตุผลว่ามีการปรับ TOR ใหม่

    จากนั้นในสัปดาห์ถัดมา ประมาณกลางสัปดาห์ได้รับแจ้งจากองค์การเภสัชกรรมว่าจะเปิดประมูลใหม่ในวันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม 2564 ซึ่งผู้เข้าประมูลได้ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมประมูลวันเสาร์ แต่ในวันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม 2564 เวลา 20.00 น. ได้รับแจ้งจากองค์การเภสัชกรรมว่าขอยกเลิกการประมูล พร้อมอ้างว่ามีการปรับ TOR อีกครั้งเป็นเรื่องทางเทคนิคในข้อ 3 ของ TOR (ดูจากภาพประกอบ) โดยแจ้งว่าจะประมูลใหม่ในวันที่ 10 สิงหาคม 2564

    แจ้งยกเลิกการประชุมวันเสาร์ที่ 7 ส.ค. 2564

    วันที่ 9 สิงหาคม 2564 นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ได้ออกเอกสารข่าวผ่านเว็บไซต์องค์การเภสัชกรรมว่า องค์การเภสัชกรรมได้รับมอบหมายจากโรงพยาบาลราชวิถีให้ดำเนินการจัดหา ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ตามโครงการพิเศษของ สปสช. สำหรับใช้ตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดซื้อชุด ATK ดังกล่าว โรงพยาบาลราชวิถี, สปสช. และองค์การฯ ได้มีการประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การจัดหามีความชัดเจน โปร่งใส เกิดการแข่งขัน และเป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้ ได้ชุดตรวจ ATK ที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมและประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด

    ล่าสุด สปสช. ได้ปรับข้อกำหนดคุณสมบัติส่งให้องค์การฯ ดำเนินการจัดหา โดยเชิญบริษัทที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มายื่นซองเสนอราคา ในวันอังคารที่ 10 สิงหาคม 2564 นี้ องค์การฯ จะตรวจสอบรายละเอียดคุณสมบัติต่างๆ และประกาศบริษัทผู้ชนะการเสนอราคา พร้อมส่งให้โรงพยาบาลราชวิถีรับทราบราคา ซึ่งจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว คาดว่าภายในสิงหาคม 2564 จะส่งมอบ ATK และกระจายให้กับหน่วยงานต่างๆ ตามที่ สปสช. กำหนดต่อไป

    ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมกล่าวต่อไปว่า ชุดตรวจโควิด ATK ที่จัดซื้อครั้งนี้ เป็นชุดตรวจคัดกรองการติดโควิด-19 เชิงคุณภาพชนิดตรวจหาแอนติเจน สามารถอ่านผลการตรวจจากการเกิดแถบสีบนแถบทดสอบรู้ผลภายใน 30 นาที เป็นชุดตรวจที่มีประสิทธิภาพ โดยมีค่าความไวไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ซึ่งหมายถึง ผู้ติดเชื้อจริง 100 คน ตรวจด้วยชุดทดสอบนี้จะให้ผลบวกไม่น้อยกว่า 90 คน และมีความจำเพาะไม่น้อยกว่าร้อยละ 98 ซึ่งหมายถึงผู้ที่ไม่ติดเชื้อ 100 คน เมื่อตรวจด้วยชุดทดสอบแล้วจะให้ผลเป็นลบไม่น้อยกว่า 98 คน และผ่านการรับรองมาตรฐานจาก อย.

    “องค์การฯ ไม่นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงยืนหยัดที่จะทำหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท ดำเนินการในทุกภารกิจทั้งด้านยา วัคซีน เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ในการป้องกันต่างๆ ให้กับพี่น้องประชาชน” ผู้อำนวยการฯ กล่าว

    จากนั้นเปิดประมูลใหม่โดยเชื้อเชิญไปทั้งหมด 24 ราย แต่ร่วมยื่นประมูล 19 ราย ในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 และได้ผู้ชนะคือบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้นำเข้ายี่ห้อเล่อปู๋ (Lepu) จากประเทศจีน รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ชุดละ 70 บาท

    อ่านเพิ่มเติม

  • องค์การเภสัชสั่งชุดตรวจโควิด 8.5 ล้านชุด ราคาต่ำสุด 70 บาท/ชุด จากบริษัทผลิตที่ FDA สหรัฐฯ สั่งระงับใช้
  • แพทย์ชนบทจี้นายกฯ สั่ง อภ. ยุติลงนามซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด
  • อย.-อภ. แจงจัดซื้อ ATK ยี่ห้อ “Lepu” ยันมาตรฐานยุโรป-กางข้อมูล Lepu ในเยอรมัน
  • “ณุศาศิริ-ออสท์แลนด์” แจงปมซื้อชุดตรวจโควิดฯ ยัน “Lepu” ผ่านมาตรฐานยุโรป
  • ในวันที่ประกาศรายชื่อผู้ชนะ มีข่าวในเฟซบุ๊กของชมรมแพทย์ชนบทว่า FDA สหรัฐอเมริกาไม่รับรองสินค้าดังกล่าว

    การเปิดประเด็นของแพทย์ชนบทเรื่องการจัดซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุดครั้งนี้ ยิ่งสาวก็ยิ่งฟุ้งทั้งสองฝ่าย

    ที่มา: เฟซบุ๊กชมรมแพทย์ชนบท

    ในด้านขององค์การเภสัชกรรม หากดูโครงสร้างคณะกรรมการ 1 ใน 14 คนนั้น มีชื่อพลตำรวจโทเพิ่มพูน ชิดชอบ เป็นหนึ่งในกรรมการ ฐานะเป็นน้องชายนายเนวิน ชิดชอบ ผู้ที่ใครๆ ก็รู้ว่าเกี่ยวพันอย่างไรกับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่กำกับดูแลองค์การเภสัชกรรมซึ่งมีหน้าที่ผลิตและจัดซื้อทุกอย่างเกี่ยวกับการแพทย์ ทั้งยา อุปกรณ์การแพทย์ และอื่นๆ

    ขณะที่ในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 หนึ่งวันก่อนที่องค์การเภสัชกรรมจะเปิดประมูลรอบที่3 (10 สิงหาคม 2564) นายวิษณุ เทพเจริญ สามีนางศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนจำหน่ายชุดตรวจโควิดฯ ของบริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เพื่อนร่วมรุ่นวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ รุ่นที่ 61 (วปอ.61) รุ่นเดียวกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมต.สาธารณสุข ได้มอบชุดตรวจ ATK ยี่ห้อเล่อปู๋ มูลค่า 1.26 ล้านบาท ให้กระทรวงสาธารณสุข (ที่มาจากเอกสารข่าวเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข)

    รับมอบชุดตรวจโควิด ATK …นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับมอบชุดตรวจโควิด ATK จำนวน 6,461 ชุด มูลค่า 1,260,000 บาท จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ รุ่นที่ 61 เพื่อสนับสนุนภารกิจในการค้นหาผู้ติดเชื้อที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี สิงหาคม 2564 ที่มาภาพ: เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข

    ขณะที่เงื่อนไขการประมูล หรือ TOR ของ สปสช. เงื่อนไขสำคัญคือ ATK ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานจาก WHO และราคาต้องไม่เกิน 120 บาท/ชุด รวมค่าขนส่งจากบริษัทถึงสถานที่ส่งมอบ พร้อมกำหนดวันและจำนวนที่ต้องส่งมอบชัดเจน

    ทั้งนี้ใน 19 บริษัทที่ยื่นซองประมูลนั้น มีเพียง 2 บริษัทที่ได้รับการรับรองจาก WHO คือ 1. บริษัทเอ็มพี กรุ๊ป ประเทศไทย เสนอราคา 118.90 บาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพื่ม) นำเข้าจากบริษัท SD Biosensor ประเทศเกาหลีใต้ [เช่นเดียวกับบริษัทโรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด นำเข้าจากบริษัท SD Biosensor ประเทศเกาหลีใต้ เช่นเดียวกัน เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกเชิญให้ร่วมประมูล 19 บริษัท แต่ได้ถอนตัว เนื่องจากเงื่อนไขการส่งมอบสินค้าทั้งหมด 8.5 ล้านชิ้น ต้องส่งมอบภายใน 14 วันหลังชนะการประมูล ซึ่งไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ตามTOR] 2. บริษัทดีซีเอช ออริก้า จำกัด เสนอราคา 93.46 บาท/ชุด (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) นำเข้าจากบริษัท Abbott Diagnostics Korea ประเทศเกาหลีใต้

    อนึ่ง ในเว็บไซต์ mca.essensys.ro ได้รายงานผลการพิจารณาของ WHO ครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2020 ว่า โดยให้รายชื่อ ผลิตภัณฑ์ 17 รายการที่อยู่ในรายชื่อที่จะได้รับการจัดซื้อจัดจ้างขององค์การอนามัยโลกมีคุณสมบัติตามแนวการอนุมัติให้สามารถใช้งานได้ในกรณีฉุกเฉิน (emergency use listing: EUL) ซึ่งมี ผลิตภัณฑ์ในชื่อ Abbott Realtime SARS-CoV-2 และรหัส 09N77-090 and 09N77-080 ของ Abbott Molecular Inc. รวมอยู่ด้วย

    ทั้งนี้บริษัทดีซีเอช ออริก้า (ประเทศไทย) ที่เข้าร่วมในการประมูลชุดตรวจโควิดจำนวน 8.5 ล้านชุดนั้นได้นำเสนอชุดตรวจที่มีชื่อว่า Panbio COVID-19 Ag Rapid Test จาก Abbott Diagnostics Korea Inc ในเกาหลีใต้ โดย Panbio COVID-19 Ag Rapid Test ได้รับอนุมัติให้สามารถใช้งานได้ในกรณีฉุกเฉินจากองค์การอนามัยโลก โดยมีหมายเลข EUL Number: EUL-0587-032-00 เนื่องจากผลการประเมินตามกระบวนการของ EUL ที่ครอบคลุมสองด้านนั้นเป็นที่ยอมรับได้

    Panbio COVID-19 Ag Rapid Test ของ Abbott Diagnostics Korea Inc ยังได้รับมาตรฐาน CE ยุโรปจากการทดสอบ Panbio COVID-19 Ag จากการตรวจ 483 คนที่ไม่มีอาการ และเปรียบเทียบผลลัพธ์กับวิธีการอ้างอิง PCR พบว่า ความจำเพาะเชิงวินิจฉัยจากกลุ่มตัวอย่าง 433 คนเท่ากับ 100.0% ส่วนค่าความไวเชิงวินิจฉัยเท่ากับ 93.8% ใน 32 ตัวอย่างมีค่ากับ 80.0% ใน 40 ตัวอย่าง และมีค่า 66.0% ในตัวอย่างที่ได้ผลตรวจเป็นบวก

    ชุดตรวจ ATK แบบ home use ของบริษัท SD Biosensor เกาหลีใต้ ที่มาภาพ: http://www.sdbiosensor.com/product/product_view?product_no=295

    สำหรับชุดตรวจ ATK ของบริษัทเอ็มพี กรุ๊ป ประเทศไทย เสนอราคา 118.90 บาท นำเข้าจากบริษัท SD Biosensor ประเทศเกาหลีใต้ ได้รับอนุมัติ EUL จาก WHO เช่นกัน

    โดยจากการทดสอบในเยอรมัน จากกลุ่มตัวอย่าง 1,259 คน ได้ค่าความจำเพาะเชิงวินิจฉัยเท่ากับ 99.3% ค่าความไวเชิงวินิจฉัย 76.6% ขณะที่การทดสอบในบราซิลกับกลุ่มตัวอย่าง 400 คน ได้ค่าความจำเพาะเชิงวินิจฉัยเท่ากับ 88.7% ค่าความไวเชิงวินิจฉัย 97.6%

    ดังนั้นถ้ายึดเกณฑ์ TOR ของ สปสช. บริษัทที่ได้การรับรองจาก WHO ที่เสนอราคาประมูลต่ำที่สุดคือ บริษัทดีซีเอช ออริก้า จำกัด เสนอราคา 93.46 บาท/ชุด ไม่ใช่บริษัทเอ็มพี กรุ๊ป ประเทศไทย เสนอราคา 118.90 บาท โดยที่ สปสช. เคยเจรจาเพื่อซื้อแบบเฉพาะเจาะจงก่อนหน้านี้ในราคา 120 บาท/ชุด และราคาที่ประมูลในครั้งนี้เสนอราคาต่ำกว่าราคาที่เจรจาเฉพาะเจาะจงเพียง 1.10 บาท เท่านั้น

    ที่มา: https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2882024

    เรื่องนี้ยังไม่ยุติโดยง่าย ถ้าเป้าหมายยังไม่บรรลุ “ประชาชน” จะเป็นตัวประกันอีกหรือไม่!

    หมายเหตุ :แก้ไขข้อมูลเพิ่มเติมล่าสุด 18 สิงหาคม 2564

    ดูวิดิโอการประมูลชุดตรวจ ATK ขององค์การเภสัชกรรมhttps://youtu.be/87X1ZNNBmCg