ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > สอท.ขอรัฐจัดงบอุดหนุน-คุมราคา “ค่าบริการ-ชุด ATK” ช่วยโรงงาน-ปชช.ตรวจได้ถี่ขึ้น

สอท.ขอรัฐจัดงบอุดหนุน-คุมราคา “ค่าบริการ-ชุด ATK” ช่วยโรงงาน-ปชช.ตรวจได้ถี่ขึ้น

4 สิงหาคม 2021


สอท.แนะรัฐจัดงบอุดหนุน-คุมราคา “ค่าบริการ-ชุด ATK” หนุนโรงงาน-ปชช.เข้าถึงง่าย-เพิ่มเชิงรุกตรวจอย่างสม่ำเสมอ ชี้จัดอบรม “จป.” ช่วยหมอ-พยาบาลค้นหาคนติดเชื้อ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก แต่ละวันมีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของประเทศไทย ณ วันที่ 2 สิงหาคม 2564 ก็มีผู้ป่วยโควิดฯ รายใหม่ 17,970 คน ตั้งแต่ต้นปี 2563 มียอดสะสม 633,284 คน เสียชีวิต 5,168 คน สำหรับมาตรการสาธารณสุขที่รัฐบาลนำมาใช้ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสหลักๆ มี 2 แนวทาง มาตรการแรก คือ การเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเร่งฉีดให้กับประชาชนอย่างน้อย 70% ของจำนวนประชากร เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ปรากฏว่าช่วงที่ผ่านมา การจัดหาวัคซีนไม่เป็นไปตามแผน ทำให้แผนการฉีดวัคซีนล่าช้า

ส่วนมาตรการที่ 2 การตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชน สถานประกอบการ และโรงงานอุตสาหกรรม คัดแยกผู้ป่วยติดเชื้อออกจากคนปกติอย่างรวดเร็ว เพื่อนำมากักตัวที่บ้านหรือที่ชุมชน ตามมาตรการ home isolation หรือ community isolation ส่วนภาคอุตสาหกรรมให้จัดหาพื้นที่ในโรงงาน หรือ แคมป์คนงาน ทำ “บับเบิลแอนด์ซีล” (bubble and seal) ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อจำกัดการระบาดของเชื้อโรคไม่ให้แพร่ขยายออกไปเป็นวงกว้าง ปรากฏว่าผู้ประกอบการต้องมาเผชิญกับปัญหาค่าบริการและชุดตรวจโควิดฯ มีราคาแพง ทำให้ไม่สามารถตรวจคัดกรองคนงานได้บ่อยครั้ง

ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ระบุว่า ปัญหาในตอนนี้คือ ราคาค่าบริการตรวจโควิดฯ ทั้งแบบเรียลไทม์พีซีอาร์ (real-time PCR) และแรพิดแอนติเจนเทสต์ (rapid antigen test) หรือแอนติเจนเทสต์คิต (antigen test kit — ATK) ยังมีราคาแพงมาก ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีคนงานจำนวนมากไม่สามารถตรวจคัดกรองโควิดฯ ได้บ่อยครั้ง จากการตรวจสอบราคาค่าบริการตรวจโควิดฯ ของห้องแล็บทางการแพทย์เอกชนหลายแห่งที่รวบรวมโดย เว็บไซต์ hdmall พบว่าการตรวจหาโควิดฯ แบบเรียลไทม์พีซีอาร์คิดค่าบริการตรวจหาภูมิคุ้มกันโควิดฯ ราคาแพงมาก แพกเกจถูกที่สุด ไม่มีใบรับรองแพทย์ คิดราคา 2,900 บาท/คน ไปจนถึง 4,500 บาท/คน และวิธีการตรวจแบบแอนติเจนเทสต์ รวมค่าแรงหมอหรือพยาบาลเข้ามาตรวจที่โรงงานราคา 800-1,390 บาท/คน เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล หากอยู่นอกเขตให้บริการ คิดเพิ่มอีกกิโลเมตรละ 30 บาท หากไปซื้อชุดตรวจแอนติเจนหาเชื้อโควิด-19 มาตรวจเองราคาอยู่ที่ชุดละ 350-380 บาท รวมค่าจ้างพยาบาล 2-3 คน มาตั้งโต๊ะตรวจที่โรงงาน รวมแล้วมีราคาค่าบริการใกล้เคียงกับแพกเกจของห้องแล็บทางการแพทย์เอกชน

“เดิมทีเวลาโรงงานไปจ้างหมอ หรือ พยาบาลมาตรวจโควิดฯ ที่โรงงานจะคิดค่าแรงแบบเหมาจ่าย คนละ 2,500-3,000 บาทต่อวัน โรงงานจะให้ตรวจพนักงานกี่คนก็ได้ แต่ปัจจุบันในช่วงโควิดฯ ระบาดอย่างรุนแรงจนคนไข้ล้นโรงพยาบาล ทำให้หมอและพยาบาลต้องทำงานกันอย่างหนัก หากผู้ประกอบการโรงงานไปซื้อชุดตรวจโควิดฯ จากร้านขายยาชุดละ 350 บาท และไปจ้างหมอหรือพยาบาลให้ออกไปตรวจโควิดฯ นอกสถานที่ในช่วงนี้ไม่มีเหมาจ่าย แต่จะคิดค่าบริการตรวจโควิดฯ 350 บาทต่อพนักงาน 1 คน รวมแล้วจึงมีราคาใกล้เคียงกับไปจ้างห้องแล็บทางการแพทย์มาตรวจที่โรงงาน ราคาถูกที่สุดก็ 800 บาทต่อพนักงาน 1 คน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีพนักงานที่เข้ารับการตรวจไม่น้อยกว่า 50 คน หากอยู่ไกลคิดเพิ่มอีกกิโลเมตรละ 30 บาท” แหล่งข่าวจาก สอท. กล่าว

แหล่งข่าวจาก สอท. กล่าวต่อว่า ยกตัวอย่าง โรงงานขนาดใหญ่มีพนักงาน 1,000 คน ถ้าไปจ้างแล็บเอกชนมาตรวจโควิดฯ ที่โรงงาน แบบเรียลไทม์พีซีอาร์ คิดค่าบริการหัวละ 3,000 บาท เป็นเงิน 3 ล้านบาท หรือไปจ้างแล็บเอกชนมาตรวจแบบแรพิดแอนติเจนเทสต์คิต ถูกที่สุดหัวละ 800 บาท คิดเป็นเงิน 800,000 บาท ทั้ง 2 วิธีตรวจบ่อยๆ ก็ไม่ไหว โดยเฉพาะวิธีแรกแพงมาก

ขณะนี้มีข่าวติดกันโควิดฯ ทั้งครอบครัวเกิดขึ้นเป็นรายวัน ปัญหาคือสามีออกไปทำงานในโรงงาน ภรรยาเป็นแม่บ้าน คอยดูแลลูก ซึ่งเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน หากชุดตรวจโควิดฯ มีราคาถูกลง จับต้องได้ เข้าถึงง่าย ก่อนสามีจะเข้าบ้านไปซื้อชุด ATK มาตรวจ ผลออกมาเป็นบวกติดโควิดฯ ก็โทรแจ้งภรรยา ไม่เข้าบ้าน เพราะติดโควิดฯ ไปหาสถานที่กักตัว แต่ปัญหาในตอนนี้คือ ประชาชนไม่รู้ว่าตนเองติดโควิดฯ หรือไม่ ราคาค่าตรวจก็แพง ตรวจบ่อยครั้งไม่ได้

“จึงอยากจะขอฝาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือกระทรวงพาณิชย์ไปศึกษาหาวิธีควบคุมราคาชุดตรวจโควิดฯ ให้มีราคาถูกลง เหมือนอย่างประเทศอินเดียหรือสหรัฐอเมริกาที่วางขายตามร้านสะดวกซื้อชุดละ 1-5 ดอลลาร์สหรัฐได้ก็ยิ่งเป็นการดี เพราะจะทำให้โรงงานหรือประชาชนสามารถตรวจโควิดฯ ได้บ่อยครั้งขึ้น”

“การตรวจโควิดฯ แบบเรียลไทม์พีซีอาร์หรือแบบแอนติเจนเทสต์คิตวันนี้ ตรวจแล้วไม่พบเชื้อไม่ได้หมายความว่าพรุ่งนี้คุณจะปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดฯ ทุกคนมีโอกาสที่จะไปรับเชื้อได้อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีคนงาน 500-1,000 คน แม้จะมีการจัดแบ่งกลุ่มพนักงาน เว้นระยะห่างในการทำงาน และจัดพื้นที่กักตัว กรณีที่ติดโควิดฯ ภายในโรงงาน ตามมาตรการบับเบิลแอนด์ซีลแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดทั้งโรงงานหรือคลัสเตอร์อยู่ เพราะเราไม่รู้ว่าใครไปรับเชื้อมา วันนี้ตรวจไม่เจอ แต่ระหว่างเดินทางมาทำงานหรือกลับบ้านอาจไปรับเชื้อโควิดฯ มาอีก ก็มีความเป็นไปได้” แหล่งข่าวจาก สอท. กล่าว

ถามว่าโรงงานอุตสาหกรรมการ์ดตกหรือไม่ แหล่งข่าวจาก สอท. กล่าวว่า ช่วงที่เกิดการระบาดของควิดฯ ระลอกที่ 1 และระลอกที่ 2 นั้นเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่นหรืออัลฟ่า ก่อนเข้าโรงงานจะใช้วิธิการตรวจคัดกรองโดยใช้เครื่องวัดอุณหภูมิ หากพนักงานคนไหนอุณหภูมิสูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียสไม่ให้เข้าโรงงาน หลังจากตรวจวัดอุณหภูมิเสร็จ บางโรงงานให้พนักงานเดินผ่านอุโมงค์ฉีดแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ สวมรองเท้าบูทเดินผ่านบ่อที่ใส่น้ำยาฆ่าเชื้อ ดังนั้น ช่วงโควิดฯ ระบาดรอบที่ 1-2 โรงงานอุสาหกรรมหลายแห่งเอาอยู่ แต่พอมาเจอโควิดฯ ระบาดรอบ 3 เป็นเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ หรือ “สายพันธุ์เดลตา” ผู้ที่ไปรับเชื้อมาไม่แสดงอาการ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก็ปกติ ไม่ว่าโรงงานจะสะอาดหรือมีมาตรฐานเพียงใดก็มีโอกาสที่เกิดการแพร่ระบาดภายในโรงงานได้ หลายโรงงานถูกตีแตก อย่างที่โรงงานแปรรูปไก่หรือโรงงานน้ำตาลจังหวัดเพชรบูรณ์ หรือโรงงานแปรรูปไก่ที่จังหวัดสระบุรี เป็นต้น

แหล่งข่าวจาก สอท. กล่าวต่อว่า ข้อเสนอแนะถึงนายกรัฐมนตรี ประการแรก ขอให้ช่วยควบคุมราคาชุดตรวจโควิดฯ หรือแพกเกจค่าบริการตรวจโควิดฯ ให้มีราคาถูกลง ไม่ต้องลงมาถึงชุดละ 1 ดอลลาร์เหมือนที่สหรัฐอเมริกา แต่ขอแค่ชุดละ 120-150 บาท โดยรัฐบาลอาจจัดงบประมาณมาซับซิไดซ์ให้บางส่วน หากควบคุมราคาชุดตรวจโควิดฯ ลงมาอยู่ที่ชุดละ 120 บาทได้ โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่งก็สามารถตรวจคัดกรองโควิดฯ ได้ทุกสัปดาห์ หรืออาจจะใช้ตรวจพนักงานบางแผนกที่มีความเสี่ยงสูงได้ทุกวันก่อนเข้าทำงาน รวมทั้งประชาชนก็จะสามารถซื้อหาชุดตรวจโควิดฯ มาตรวจด้วยตนเองได้บ่อยครั้งยิ่งขึ้น

ประการที่ 2 ขอให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย หรือ “จป.” เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับแพทย์และพยาบาล ซึ่งในขณะนี้ยุ่งอยู่กับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดฯ โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้จัดอบรม “การตรวจคัดกรองการติดเชื้อโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรมด้วยวิธี Antigen Test Kit” ผ่านออนไลน์ให้กับ สอท. ทั่วประเทศ มีสมาชิกประมาณ 1,200 คน หลังจากที่อบรมเสร็จเรียบร้อย สมาชิกหลายรายยังไม่เข้าใจว่าจะต้องแหย่เข้าไปโพรงจมูก เพื่อเก็บตัวอย่างมาทดสอบลึกแค่ไหน ไม่ให้เกิดอันตรายต่อคนงานที่เข้ารับการตรวจ ซึ่งตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดให้สถานประกอบการที่มีแรงงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปต้องมีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ และเจ้าหน้าที่ จป.

จึงอยากจะขอให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จัดคอร์สฝึกอบรมสำหรับเจ้าหน้าที่ จป. ประจำโรงงานโดยเฉพาะผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดฯ ภายในโรงงาน และสอนวิธีการใช้ชุดตรวจแอนคิเจนเทสต์คิตให้กับเจ้าหน้าที่ จป. ที่ตรวจโควิดฯ ได้อย่างถูกต้องเป็นรุ่นๆ อย่างเป็นกิจจะลักษณะ พร้อมกับมอบใบรับรองให้เจ้าหน้าที่ จป. หลังผ่านการฝึกอบรมเสร็จเรียบร้อย โดยเจ้าหน้าที่ จป. สามารถตรวจและรับรองพนักงานงานของโรงงานแห่งนี้ได้ผ่านการตรวจโควิดฯ ตามมาตรฐานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขแล้ว สัปดาห์ละกี่ครั้ง พร้อมแสดงหลักฐานการสั่งซื้อชุดตรวจโควิดฯ ประกอบ เตรียมไว้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือสาธารณสุขจังหวัดตรวจสอบต่อไป

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนผู้ผลิตและผู้นำเข้าชุดตรวจโควิดฯ ประเภทแรพิดแอนติเจนเทสต์หรือแอนติเจนเทสต์คิตแล้วจำนวน 19 ราย ทางผู้ประกอบการโรงงานอุสาหกรรมหวังกลไกตลาดจะทำให้ราคาชุดตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเองจะมีราคาถูกลง