ThaiPublica > เกาะกระแส > มติ ครม.กู้ 4.2 หมื่นล้าน แจก 9 สาขาอาชีพ คนละ 2,500-5,000 บาท-ลดค่าน้ำ-ไฟ 2 เดือน

มติ ครม.กู้ 4.2 หมื่นล้าน แจก 9 สาขาอาชีพ คนละ 2,500-5,000 บาท-ลดค่าน้ำ-ไฟ 2 เดือน

13 กรกฎาคม 2021


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ครม.เคาะกู้เงิน 4.2 หมื่นล้านบาท เยียวยา 9 สาขาอาชีพ คนละ 2,500-5,000 บาท -ลดค่าน้ำ-ไฟ 2 เดือน มอบ ศธ.-อว. ปรับลดค่าเทอมภาคเรียนที่ 1/2564 พร้อมจัดทำโครงการ “รัฐร่วมสมทบ” ลดภาระค่าใช้จ่ายให้สถานศึกษาเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด ซึ่งต้องปฏิบัติเพิ่มเติมนอกเหนือจากข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24 ) ในพื้นที่ 10 จังหวัด ความคุมสูงสุด อันได้แก่ กรุงเทพมหานคร , นครปฐม , นนทบุรี , ปทุมธานี , สมุทรปราการ , สมุทรสาคร , นราธิวาส , ปัตตานี , ยะลา และสงขลา โดยให้ทดแทนแนวทางการให้ความช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564

โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับความช่วยเหลือในครั้งนี้ ครอบคลุมไปถึงกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ ทั้งในส่วนที่อยู่ในระบบในระบบและนอกระบบในกิจการที่ได้รับผลกระทบตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) ให้ครอบคลุมถึงกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในกิจการที่ได้รับผลกระทบตามข้อกำหนด ( ฉบับที่ 27) ทั้งในส่วนที่อยู่ในระบบประกันสังคมและไม่อยู่ในระบบประกันสังคม รวมทั้งหมด 9 สาขา ประกอบด้วยสาขาเดิม 4 สาขา (ตามหมวดที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด) อันได้แก่ กิจการก่อสร้าง , กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร , กิจกรรมศิลปะ , ความบันเทิงและนันทนาการและกิจกรรมบริการด้านอื่นๆ โดยในวันนี้ที่ประชุม ครม.ให้ขยายความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 5 สาขา อันได้แก่ สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า , สาขาการขายส่งและการขายปลีก , การซ่อมยานยนต์ , สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน , สาขากิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการและสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร เป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยมีรูปแบบการให้ความช่วยเหลือดังนี้

1) กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบประกันสังคม มีดังนี้

    1.1 กลุ่มแรงงานตามมาตรา 33 สัญชาติไทยได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมในอัตรา 2,500 บาทต่อคนจำนวน 1 เดือน ผ่านระบบประกันสังคมที่ได้มีการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างและนายจ้าง ตามข้อ 4 ของกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ที่กำหนดว่าในกรณีมีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตน ซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ไม่ได้ทำงาน หรือ นายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการระบาดของโรคให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) ตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่ แต่ไม่เกิน 90 วัน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐไม่เกิน 10,000 บาท
    1.2 ผู้ประกอบการ หรือ นายจ้างจะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน จำนวน 1 เดือน
    1.3 ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 สัญชาติไทย ที่ยังคงประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบัน จะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาท จำนวน 1 เดือน

2) ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 สัญชาติไทย ที่ยังคงประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบันให้เตรียมหลักฐานเพื่อลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 กับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาท จำนวน 1 เดือน

3) กลุ่มผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่มีลูกจ้าง แต่ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมให้ดำเนินการ ดังนี้

    3.1 กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียนนายจ้างในระบบประกันสังคม พร้อมทั้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคมกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อให้สามารถได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และลูกจ้างที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 2,500 บาทต่อคน จำนวน 1 เดือน ทั้งนี้ ลูกจ้างกลุ่มดังกล่าวจะยังมีคุณสมบัติไม่ครบตามเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือจากระบบประกันสังคม ทำให้ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากระบบประกันสังคม
    3.2 กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง แต่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ให้เตรียมหลักฐานสำหรับการลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ในระบบประกันสังคมกับสำนักงานประกันสังคม ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาท จำนวน 1 เดือน
    3.3 กรณีที่เป็นผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” ภายใต้โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะในปัจจุบันที่ผ่านการตรวจสอบคัดกรองแล้ว และไม่เป็นผู้ถูกตัดสิทธิ์จากกระทรวงการคลังจะขยายการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” จากเดิมที่กำหนดให้ความช่วยเหลือเฉพาะผู้ประกอบการในหมวดร้านอาหารและเครื่องดื่มเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย ร้านอาหารและเครื่องดื่ม , ร้าน OTOP ,ร้านค้าทั่วไป , ร้านค้าบริการ และกิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่ โดยให้ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน”” ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมเนื่องจากไม่มีลูกจ้าง ให้ดำเนินการลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาท จำนวน 1 เดือน สำหรับผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” ที่มีลูกจ้าง แต่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ขึ้นทะเบียนนายจ้างในระบบประกันสังคมพร้อมทั้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในระบบประกันสังคมภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือตามหลักการเดียวกันกับข้อ 3.1 ได้

ในเบื้องต้นคาดว่าการดำเนินการตามมาตรการให้ความช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในระยะเร่งด่วนนี้จะมีกรอบวงเงินประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยที่ประชุม ครม.ได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน รับไปพิจารณาเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (กรุงเทพมหานครและปริมณฑล) ให้ครอบคลุมจำนวนเงินที่ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม พื้นที่ และกิจการตามที่กำหนดเพิ่มเติม และเร่งลงทะเบียนกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคม เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่แรงงานและผู้ประกอบการตามหลักการที่กล่าวข้างต้น โดยขอรับการสนับสนุนแหล่งเงินเพื่อดำเนินตามมาตรการดังกล่าวตามขั้นตอนของพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดๆ เพิ่มเติม พ.ศ.2564) ต่อไป”

ทั้งนี้ ให้กระทรวงแรงงานกำหนดกลไกการตรวจสอบผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ ทั้งกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการไม่ให้มีความช้ำซ้อนกัน และให้จ่ายเงินช่วยเหลือผ่านระบบบัญชีธนาคารต่อไป

นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังมีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และภาคธุรกิจทั่วประเทศ เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อันเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้แก่

1) มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคชั้นพื้นฐาน (ไฟฟ้าและน้ำประปา) ให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจทั่วประเทศ ดังนี้

1.1) ค่าไฟฟ้า เสนอให้สิทธิส่วนลดค่าไฟฟ้า สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก กิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ดังนี้

    1.1.1 ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก

    1.1.2 ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า ดังนี้

    • กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า หรือ เท่ากับใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริง
    • กรณีหน่วยการใช้ไฟฟ้ามากกว่าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ ดังนี้ สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือน แต่ไม่เกิน 1,000 หน่วยต่อเดือน ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนกุมภาพันธ์ 2564 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในอัตราร้อยละ 50สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนกุมภาพันธ์ 2564 บวกด้วยหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของใบแจ้งค่าไฟฟ้าเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในอัตราร้อยละ 70 โดยให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

    1.1.3 ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 100 หน่วยแรก

    1.1.4 ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ให้ได้รับยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) ไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2564 โดยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทดังกล่าวจ่ายค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (Dernand Charge) ตามกำลังไฟฟ้าที่ใช้จ่ายจริง

ทั้งนี้ การให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก กิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าประจำเดือนกรกฎาคม ถึงสิงหาคม 2564

1.2) ค่าน้ำประปา เสนอให้ลดค่าน้ำประปาลงร้อยละ 10 เฉพาะบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาประจำเดือนสิงหาคม ถึงกันยายน 2564

“ที่ประชุม ครม.วันนี้ เห็นชอบให้หน่วยงานรับผิดชอบ อาทิ การไฟฟ้านครหลวง , การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค , การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค ดำเนินการตามมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (ไฟฟ้าและน้ำประปา) โดยขอรับสนับสนุนแหล่งเงิน เพื่อดำเนินตามมาตรกาดังกล่าวภายใต้กรอบวงเงินรวมไม่เกิน 12,000 ล้านบาท ตามขั้นตอนของพระราชกำหนด ฯเพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ต่อไป”

2.มาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนและประชาชน จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส 2019 ทำให้สถานศึกษาส่วนใหญ่ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนในรูปแบบปกติได้ ส่งผลให้ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายในการศึกษาผ่านรูปแบบออนไลน์เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีการประกาศให้สถานศึกษาภาครัฐ พิจารณาให้ความช่วยเหลือในการให้ส่วนลดเงินบำรุงการศึกษา , ค่าธรรมเนียมการศึกษา , ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นกรณีพิเศษ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครองตามความจำเป็นและความเหมาะสมแล้ว

ดังนั้น เพื่อให้การให้ความช่วยเหลือภายใต้มาตรการดังกล่าวมีความครอบคลุมสถานศึกษาของเอกชนด้วย จึงเห็นควรมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หารือกับสถานศึกษาในสังกัด เพื่อกำหนดแนวทางการลดค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา อาทิ พิจารณาให้ส่วนลดเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นกรณีพิเศษ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครองตามความจำเป็นและความเหมาะสม พร้อมทั้ง มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดทำข้อเสนอโครงการในลักษณะที่กำหนดให้รัฐร่วมสมทบภาระส่วนลดให้แก่สถานศึกษาบางส่วนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนโดยเร็วต่อไป โดยให้รายงานข้อสรุปแนวทางการดำเนินการและวงเงินที่จะใช้ดำเนินการภายใน 1 สัปดาห์

นอกจากนี้ ในกรณีที่สถานศึกษาภาคเอกชนประสบปัญหาทางการเงิน เห็นควรให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวบรวมข้อมูลปัญหาและความต้องการดังกล่าวและหารือร่วมกับกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ในการพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาทางการเงินให้แก่สถานศึกษาภาคเอกชนที่มีความเหมาะสมต่อไป

3) มาตรการช่วยเหลือด้านการเงินและลูกหนี้ของสถาบันการเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

    3.1) ที่ผ่านมาภาครัฐจะได้มีการตราพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ภายในวงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจตามที่กำหนด และได้กำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ จัดให้มีสินเชื้อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชนและบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 รวมทั้งมาตรการพักชำหนี้ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจแล้ว
    3.2 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 ที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจน ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องออกข้อกำหนด (ฉบับที่ 27) เพื่อจำกัดและควบคุมกิจกรรมและการเดินทางระหว่างจังหวัดที่เข้มงวดเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะมีประชาชนและผู้ประกอบการได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 เพิ่มขึ้น จนอาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ทั้งในส่วนเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่สถาบันการเงินตามเงื่อนไขของสัญญาได้

ดังนั้น ที่ประชุม ครม.จึงเห็นควรมอบหมายให้กระทรวงการคลัง , ธนาคารแห่งประเทศไทย หารือกับธนาคารพาณิชย์ ดำเนินมาตรการผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย หรือ การเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าทั้งที่เป็นประชาชนและผู้ประกอบการอย่างจริงจัง และกำหนดมาตรการทางการเงินที่จะช่วยเหลือประชาชน สำหรับผู้ให้บริการทางการเงินที่อยู่นอกการกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งกำหนดมาตรการจริงจังสำหรับผู้ทวงถามหนี้ที่ดำเนินการไม่เป็นธรรมกับประชาชน

ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ติดตามความก้าวหน้าของมาตรการทางการเงินข้างต้นกับสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด และกำหนดช่องทางการร้องเรียนของประชาชนในกรณีที่สถาบันการเงินไม่ให้ความร่วมมือในการบรรเทาภาระทางการเงินของประชาชนข้างต้น เพื่อให้กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาดำเนินการอื่นๆต่อสถาบันการเงินดังกล่าวต่อไป

ส่วนมาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะต่อไป เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนและ ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เหมาะสม ได้แก่ การพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมทั่วประเทศ เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลประกอบการพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในลักษณะมุ่งเป้าได้ โดยที่ประชุม ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างดำเนินการลงทะเบียนในระบบประกันสังคม พร้อมทั้งมอบหมายให้ สศช. ประสานกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณากำหนดรูปแบบการให้ความช่วยเหลือ เยียวยาให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 ตามความเหมาะสมต่อไป