ThaiPublica > เกาะกระแส > มติครม.กู้ 5,000 ล้าน เยียวยา “ร้านอาหาร-ก่อสร้าง-สถานบันเทิง” คนละ 3,000 บาท

มติครม.กู้ 5,000 ล้าน เยียวยา “ร้านอาหาร-ก่อสร้าง-สถานบันเทิง” คนละ 3,000 บาท

29 มิถุนายน 2021


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

มติ ครม.กู้ 5,000 ล้านบาท จ่ายเยียวยา นายจ้าง-ลูกจ้าง “ร้านอาหาร-ก่อสร้าง-โรงแรม-สถานบันเทิง” ในพื้นที่ 6 จังหวัด คนละ 3,000 บาท ตกงานรับเพิ่ม 2,000 บาท แรงงานสัญชาติไทยรับคนละ 2,000 บาท

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ที่ประชุม ครม. ได้มีอนุมัติ มาตรการเยียวยาในระยะเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือลูกจ้าง-นายจ้างที่ประกอบธุรกิจก่อสร้างและร้านอาหารในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งได้รับผลกระทบที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) มีรายละเอียดดังนี้

1.หลักการในการให้ความช่วยเหลือมีดังนี้

-พื้นที่การให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ พื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการและสมุทรสาคร) ที่ต้องปฏิบัติเพิ่มเติมนอกเหนือจากข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24)

– กลุ่มเป้าหมายให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ กลุ่มแรงงานและ ผู้ประกอบการในกิจการที่ได้รับผลกระทบตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 25 ทั้งในส่วนที่อยู่ในระบบและนอกระบบ

– ประเภทกิจการที่ให้ความช่วยเหลือ ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจกรรมบริการด้านอื่นๆ ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

-ระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ จำนวน 1 เดือน

2.รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ มีดังนี้

-กลุ่มแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สัญชาติไทย ตามหลักการให้ความช่วยเหลือตามข้อ 1 จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม 2,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการให้ความช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคมที่ได้มีการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างและนายจ้าง ตามข้อ 4 ของกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2536 ที่กำหนดว่าในกรณีมีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นผู้ประกันตน ซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ไม่ได้ทำงาน หรือ นายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการระบาดของโรค ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) ตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่แต่ไม่เกิน 90 วัน

-ผู้ประกอบการหรือนายจ้างตามหลักการให้ความช่วยเหลือ ตามข้อ 1 จะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาท/คน

-ผู้ประกอบการหรือนายจ้างตามหลักการให้ความช่วยเหลือ ตามข้อ 1 แต่ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ดำเนินการดังนี้

    1.กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนกรกฎาคม 2564 จะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และลูกจ้างที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 2,000 บาทต่อคน
    2.กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ผ่านโครงการคนละครึ่ง ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยผู้ประกอบการจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท
    3.กรณีที่เป็นผู้ประกอบการในหมวดร้านอาหาร เครื่องดื่มของโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง จะได้รับการช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในโครงการคนละครึ่งและมีลูกจ้าง แต่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อให้สามารถได้รับความช่วยเหลือตาม ข้อ 1

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นคาดว่าการดำเนินการตามมาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วนจะมีกรอบวงเงินรวมประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยที่ประชุม ครม.มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน ดำเนินการตามมาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วนตามมาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน โดยให้กระทรวงการคลัง สนับสนุนข้อมูลและตรวจสอบข้อมูลจากฐานข้อมูลที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลังให้กระทรวงแรงงาน เพื่อใช้ประกอบการดำเนินการตามมาตรการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน และขอรับสนับสนุนแหล่งเงินเพื่อดำเนินตามมาตรการดังกล่าวตามขั้นตอนของพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

ส่วนมาตรการอื่น ๆ เพื่อให้การให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด -19 และการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนที่มีกำลังซื้อ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร และปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้เป็นไปต่อเนื่อง จึงเห็นควรให้กระทรวงการคลัง ดำเนินโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วตามแผนงานเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 และโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้”

นอกจากนี้ เพื่อลดผลกระทบแก่กลุ่มแรงงานที่จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อบังคับในการให้หยุดงาน และห้ามเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นการชั่วคราวในระยะเวลา 30 วัน รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน จะประสานขอความร่วมมือให้สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ประสานกับสมาคมภัตตาคารไทยและร้านอาหารในการขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ใช้บริการอาหารจากภัตตาคาร ร้านอาหาร และร้านอาหารรายย่อย แม่ค้า พ่อค้า เพื่อดูแลกลุ่มแรงงานในสถานที่พักอาศัยชั่วคราว สำหรับคนงานทั้งภายในและภายนอกสถานที่ก่อสร้าง

  • รัฐบาลเคาะ7,500 ล้าน หลังสั่งปิดไซต์ก่อสร้าง “เยียวยาแรงงาน-ชดเชยร้านอาหาร 6 จว.”