อธิบดีกรมสรรพสามิตตั้งบอร์ดองค์การสุราชุดใหม่ วางระบบจัดซื้อ-จ้างผลิตให้เป็นไปตามระเบียบพัสดุฯ เร่งแก้ปัญหาขาดแคลนบรรจุภัณฑ์ รับมือแอลกอฮอล์-เจลล้างมือขาดตลาด เล็งขยายเวลามาตรการยกเว้นภาษี แปลงสภาพเอทานอลที่ใช้ผสมน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นแอลกอฮอล์ล้างมือถึงปี 2565
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตทำนิวไฮรายวัน จนประชาชนหวาดผวา ไม่มีกะจิตกะใจที่จะไปคิดทำมาหากิน ต่างขวนขวายกันไปซื้อหาหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เจลล้างมือ ซึ่งถือเป็นเกราะปราการด่านแรกที่ชาวบ้านใช้ในการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย นอกเหนือจาก ขิง ข่า ตะไคร้ กระชายขาว ไปจนถึงสมุนไพรที่ใช้บรรเทาอาการอย่างฟ้าทะลายโจร จนพืชสมุนไพรเหล่านี้ปรับราคาสูงขึ้นหลายเท่าตัว
ระหว่างที่รัฐบาลกำลังระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปแก้ปัญหาคุมราคา และส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชสมุนไพรเหล่านี้อยู่นั้น ปรากฏว่ามีอีกปัญหาที่กำลังเริ่มก่อตัวขึ้นมา คือ องค์การสุรา หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกรมสรรพสามิต ที่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสุราสามทับ (ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 80 ดีกรีขึ้นไป) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ที่มีคุณภาพสูงในระดับ food-pharmaceutical grade ได้เจ้าเดียว กำลังประสบปัญหาขาดแคลนภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ เพื่อใส่แอลกอฮอล์ส่งขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร การแพทย์ และยาเวชภัณฑ์
แหล่งข่าวระดับสูงจากองค์การสุรา กรมสรรพสามิต กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ขององค์การสุราที่ไม่มีขายมานานแล้ว คือ ผลิตภัณฑ์แอลคลีนเจล (L Clean Gel) เป็นเจลล้างมือที่ทำมาจากแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ โดยไม่ต้องใช้น้ำล้างออก กับผลิตภัณฑ์แอลคลีนโซลูชั่น (L Clean Solution 75%) ซึ่งมีส่วนผสมเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 75% ใช้ทำความสะอาดมือ ลดการสะสมของเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี ส่วนผลิตภัณฑ์แอลเพียว 70 (L Pure 70%) ขนาด 18 ลิตร ไม่มีขาย เพราะไม่มีถังพลาสติก HDPE ขนาด 18 ลิตร แต่มีขายเฉพาะขนาด 5 ลิตร ซึ่งมีเหลืออยู่ไม่มาก ในขณะนี้องค์การสุราได้ออกประกาศเชิญชวนเอกชนให้เข้ามาประกวดราคาซื้อถังพลาสติก HDPE ทั้งขนาด 18 ลิตร และ 5 ลิตรไปแล้วประมาณ 70,000 ใบโดยใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ตามระเบียบพัสดุของกระทรวงการคลัง เนื่องจากมีวงเงินจัดซื้อเกิน 500,000 บาท
“สรุปผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหาขาดบรรจุภัณฑ์ คือ กลุ่มแอลเพียว 70% ส่วนผลิตภัณฑ์แอลคลีนเจลกับแอลคลีนโซลูชัน 75% ที่ไม่มีขาย เพราะมีปัญหาเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างเดิมที่ไม่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ กรณีที่องค์การสุราไปว่าจ้างเอกชนผลิต ซึ่งในขณะนี้นายสัญชัย ชาสมบัติ ผู้อำนวยการองค์การสุราคนใหม่ ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงคู่ขนานไปกับผู้ตรวจการแผ่นดินและกรมสรรพสามิต นอกจากนี้ ทางกรมสรรพสามิตต้องการให้องค์การสุราเติมสีหรือสารที่มีรสขมเข้าไปในผลิตภัณฑ์แอลคลีนโซลูชัน 75% เพื่อป้องกันไม่มีการนำผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ไปทำสุราเถื่อน” แหล่งข่าวระดับสูงจากองค์การสุรากล่าว
ถามว่ากรณีองค์การสุราขาดแคลนบรรจุภัณฑ์ใส่แอลกอฮอล์ส่งขาย จะส่งผลทำให้แอลกอฮฮล์หรือเจลล้างมือขาดตลาดเหมือนปีที่ก่อนหรือไม่ แหล่งข่าวระดับสูงจากองค์การสุรากล่าวว่า คงไม่ขาดตลาด เนื่องจากกรมสรรพสามิตได้ออกประกาศอนุญาตให้โรงงานเอทานอลทั้ง 26 แห่งสามารถนำแอลกอฮอล์ที่ใช้ผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือเจลล้างมือขายให้กับประชาชนได้ แต่อย่าลืมว่าแอลกอฮอล์ขององค์การสุราเป็นแอลกอฮอล์ที่ผลิตตามมาตรฐาน GMP และ HACCP ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ระดับ food grade หรือ pharmaceutical grade เป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ไม่มีโลหะหนักตกค้าง ซึ่งนำไปใช้อุตสาหกรรมอาหาร การแพทย์ และยาเวชภัณฑ์ หากองค์การสุราไม่ผลิตออกมาขาย ผู้ประกอบการหรือประชาชนก็จะไปซื้อแอลกอฮอล์ของภาคเอกชนที่มีส่วนผสมของเอทานอลที่ใช้เป็นเชื้อเพลง นอกจากจะทำให้องค์การสุราเสียโอกาสในทางธุรกิจช่วงที่ตลาดมีความต้องการสูงแล้ว ประชาชนยังเสียประโยชน์ที่จะได้ใช้ของดีราคาถูก เพราะเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีใดๆ ใช้แล้วปลอดภัย
แหล่งข่าวระดับสูงจากองค์การสุรากล่าวต่อว่า ปัจจุบันองค์การสุรามีกำลังการผลิตสุราสามทับวันละ 60,000 ลิตร เรื่องวัตถุดิบไม่มีปัญหามีสต็อกแอลกอฮอล์เหลืออยู่หลายล้านลิตร แต่ขาดบรรจุภัณฑ์ใส่แอลกอฮอล์ขายให้กับประชาชน ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวในองค์การสุราว่ามีบริษัทเอกชนวิ่งล็อบบี้ผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังจะขอเข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่ายแอลกอฮอล์ที่ผลิตจากองค์การสุราเพียงเจ้าเดียวนั้น ตามกฎหมายของกรมสรรพสามิตกำหนดให้องค์การสุราเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสุราสามทับแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น การแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ โดยหลักการกฎหมายแล้วไม่น่าทำได้ แต่ในทางปฏิบัติอาจจะเข้ามาซื้อลอตใหญ่หรือเหมาไปขายมากกว่า นอกจากองค์การสุราแล้วยังมีโรงงานผลิตสุราสามทับเพื่อส่งออกอีก 7 โรง กำลังการผลิตวันละ 380,000 ลิตร และโรงงานเอทานอลอีก 26 โรง กำลังการผลิตวันละ 6,955,000 ลิตร จึงไม่น่ามีปัญหาเรื่องแอลกอฮอล์หรือเจลล้างมือขาดตลาด คาดว่ากรมสรรพสามิตจะมีการต่อขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับการนำแอลกอฮอล์ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงมาแปลงสภาพเป็นแอลกอฮอล์หรือเจลล้างมือออกไปถึงปี 2565 หรือจนกว่าประเทศจะผ่านพ้นวิกฤติโควิดฯ
“สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์การสุราตอนนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากปัญหาความขัดแย้งภายในองค์กร ระหว่างฝ่ายผลิตกับฝ่ายบริหาร จนมีการทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เข้ามาตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างขององค์การสุราหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการว่าจ้างผลิตแอลกอฮอล์ชนิดเจลล้างมือ หรือโครงการซ่อมแซมปรับปรุงถังเก็บกากน้ำตาล ซึ่งในขณะนี้ยังไม่พบเรื่องทุจริต แต่พบปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างขององค์การสุราส่วนใหญ่ไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของรัฐ 2560 ตามข้อร้องเรียนที่ระบุไว้ในหนังสือของผู้ตรวจการแผ่นดิน” แหล่งข่าวระดับสูงจากองค์การสุรากล่าว
แหล่งขาวระดับสูงจากกรมสรรพสามิตกล่าวว่า ล่าสุดนี้นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของกรมสรรพสามิต 3 คน เข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การสุรา (บอร์ด) ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว คือ นายธิบดี วัฒนกุล ที่ปรึกษาด้านพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี กรมสรรพสามิต เป็นประธานคณะกรรมการฯ, นางสิริพร ธนนันทนสกุล รองอธิบดีกรมสรรพสามิต และนายอัครุตม์ สนธยานนท์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต เข้ามาแก้ปัญหาการบริหารจัดการภายในองค์กรให้สามารถกลับมาผลิตและจำหน่ายแอลกอฮอล์คุณภาพสูง รองรับความต้องการของตลาดในช่วงสถานการณ์โควิดฯ ได้อย่างเพียงพอ รวมทั้งวางระบบการจัดซื้อจัดจ้างขององค์การสุราให้เป็นไปตามระเบียบของราชการ เรื่องสอบสวนของเก่าก็ว่ากันไปตามกฎหมาย ของใหม่ก็ต้องเดินหน้าผลิต โดยคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การสุราจะเริ่มประชุมนัดแรกในวันที่ 30 กรกฎาคม 2564