ThaiPublica > คนในข่าว > “เชาวรัตน์ เชาวน์ชวานิล” อดีตผอ.องค์การสุรา ชี้เหตุ “แอลกอฮอล์” ขาดตลาด – แก้ตรงไหนให้ถูกจุด

“เชาวรัตน์ เชาวน์ชวานิล” อดีตผอ.องค์การสุรา ชี้เหตุ “แอลกอฮอล์” ขาดตลาด – แก้ตรงไหนให้ถูกจุด

4 เมษายน 2020


นายเชาวรัตน์ เชาวน์ชวานิล อดีตผู้อำนวยการ องค์การสุรา

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ลุกลามไปถึงปัญหาหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือขาดตลาด รวมทั้งขายเกินราคา ประชาชนเดือดร้อน ต้นตอของปัญหานี้มีที่มาอย่างไร สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้พูดคุยกับ นายเชาวรัตน์ เชาวน์ชวานิล อดีตผู้อำนวยการองค์การสุรา รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้นำการผลิตและจำหน่ายเอทิลแอลกอฮอล์ และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ขายให้กับอุตสาหกรรมอาหาร การแพทย์ และเภสัชกรรม รายใหญ่ของประเทศไทย

ก่อนเข้าสู่ประเด็นปัญหาตามที่กล่าวข้างต้น นายเชาวรัตน์ อธิบายถึงห่วงโซ่อุปทาน หรือ “supply chain” ของอุตสาหกรรมเอทานอลแอลกอฮอล์ว่า ที่ผ่านมาหลายคนอาจเข้าใจผิด คิดว่าองค์การสุราผูกขาดการผลิตแอลกอฮอล์ทั้งหมด แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ องค์การสุราผูกขาดเฉพาะ “สุราสามทับ” ที่ผลิตและจำหน่ายภายในประเทศเท่านั้น

“สุราสามทับ” คืออะไร?

นิยามตามกฎหมาย “สุราสามทับ” หมายถึง สุราชนิดกลั่นประเภทหนึ่งที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 80 ดีกรีขึ้นไป ซึ่งตามกฎหมายของกรมสรรพสามิตนั้น อนุญาตให้รัฐวิสาหกิจในที่นี้คือองค์การสุราเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายในประเทศได้เพียงรายเดียว แต่อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนก็สามารถผลิตสุราสามทับได้ โดยมีข้อแม้ว่าต้องได้รับอนุญาตจากกรมสรรพสามิต และส่งออกไปขายต่างประเทศเท่านั้น กลุ่มนี้มีทั้งหมด 7 บริษัท และกลุ่มสุดท้าย โรงงานเอทานอลมีทั้งหมด 26 โรงงาน กลุ่มนี้ผลิตแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 99.5 ดีกรี นำไปผสมกับน้ำมันเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง

ส่วนผู้ผลิตแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 1-80 ดีกรี คือ กลุ่มผู้ผลิตเหล้าทั่วไป เป็นคนละกลุ่มกับผู้ผลิตสุราสามทับ

สรุป กลุ่มผู้ผลิตสุราสามทับในประเทศไทยจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

    1. องค์การสุรา กรมสรรพสามิต เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสุราสามทับภายในประเทศได้เพียงรายเดียว ผลิตเอทานอล แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ตามมาตรฐาน GMP, HACCP ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ระดับ food grade หรือ pharmaceutical grade ขายให้กับอุตสาหกรรมอาหาร การแพทย์ และยา

    ข้อมูลจากกรมสรรพสามิต ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 องค์การสุรามีกำลังการผลิต 60,000 ลิตรต่อวัน ปัจจุบันสุราสามทับเหลือในสต็อกประมาณ 2,000,000 ลิตร

    2. กลุ่มผู้ผลิตสุราสามทับเพื่อส่งออกมีทั้งหมด 7 บริษัท ผลิตแอลกอฮอล์ในระดับ food grade หรือ pharmaceutical grade แต่ต้องส่งออกไปขายในต่างประเทศเท่านั้น มีกำลังการผลิตประมาณ 380,000 ลิตรต่อวัน มีสุราสามทับเหลือในสต็อก 13.47 ล้านลิตร
    3. กลุ่มโรงงานเอทานอลมีทั้งหมด 26 โรงงาน ผลิตสุราสามทับ 99.5 ดีกรี ขายให้โรงกลั่นน้ำมัน เพื่อใช้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง ปัจจุบันมีกำลังการผลิตวันละ 6.95 ล้านลิตรต่อวัน มีสุราสามทับเหลือในสต็อกมากที่สุด 117.21 ล้านลิตร

ที่มาของกลุ่มนี้เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติการณ์น้ำมัน รัฐบาลขณะนั้นมีนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ จึงสนับสนุนให้โรงงานน้ำตาลเร่งผลิตเอทานอลแอลกอฮอล์ ซึ่งมีต้นทุนอยู่ที่ลิตรละ 19-20 บาท นำมาผสมกับน้ำมันเบนซิน ทำให้ราคาน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์มีราคาถูกลงเล็กน้อย โดยมีเงื่อนไขว่า สุราสามทับที่ผลิตได้จากโรงงานเอทานอลทั้งหมดต้องขายให้กับโรงกลั่นน้ำมันเท่านั้น จะขายให้กับผู้ประกอบการรายอื่นไม่ได้

สุราสามทับ องค์การสุรา

เดิมราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ที่ 60-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล นำมาผสมกับสุราสามทับ 99.5 ดีกรี ก็จะทำให้ราคาถูกลง แต่ในปัจจุบันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงเหลือไม่ถึง 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล ราคาน้ำมันเบนซินหน้าโรงกลั่นอยู่ที่ลิตรละ 10 บาท นำมาผสมกับแอลกอฮอล์ลิตรละ 20 บาท ปรากฏว่ายิ่งทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น โรงกลั่นเองก็ไม่อยากรับซื้อ โรงงานเอทานอลก็นำสุราสามทับไปขายให้ผู้ประกอบการทั่วไปไม่ได้ ปัจจุบันโรงงานเอทานอลจึงมีกำลังการผลิตสุราสามทับเหลือค้างในสต็อกเป็นจำนวนมาก

ยกเว้นภาษี “สุราสามทับ” หนุนผลิตเจลล้างมือ

ต่อมาเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนทำให้หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค และเจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือขาดตลาด เพราะมีความต้องการเพิ่มสูงมาก กรมสรรพสามิตจึงออกมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนำสุราสามทับมาแปลงสภาพมาผลิตเจลล้างมือขายหรือบริจาค โดยให้สิทธิเสียภาษีลิตรละ 0 บาท ตั้งแต่ออกประกาศไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 ทั้งนี้ เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ โดยโรงงานเอทานอลทั้งหมด 26 แห่ง ได้ร่วมกันบริจาคแอลกอฮอล์ประมาณ 300,000 ลิตร ให้กรมสรรพสามิตนำไปผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างมือแจกประชาชนผ่านสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทั่วประเทศในวันที่ 27 มีนาคม 2563

ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 กรมสรรพสามิตแถลงข่าว ปรับเปลี่ยนวิธีการแจกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือใหม่ โดยนำแอลกอฮอล์ที่ได้รับมาจากโรงงานเอทานอลจำนวน 300,000 ลิตร ไปมอบให้หน่วยงานทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งรวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐที่ประสงค์จะนำแอลกอฮอล์ไปใช้ หรือ แจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่มีความต้องการและมีความจำเป็นต่อไป

จึงต้องขอทำความเข้าใจกันก่อนว่า แอลกอฮอล์ที่นำไปใช้ผสมน้ำมันผลิตเป็นเชื้อเพลิง ไม่ใช่แอลกอฮอล์ระดับ food grade หรือ pharmaceutical grade ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยา เหมือนกับแอลกอฮอล์ขององค์การสุรา

วิธีดูคุณภาพของแอลกอฮอล์ เป็นระดับ food grade หรือ pharmaceutical grade หรือไม่นั้น สามารถดูจากตราสัญลักษณ์มาตรฐาน GMP หรือ มาตรฐาน HACCP ส่วนแอลกอฮอล์ที่ใช้ผลิตน้ำมัน ไม่จำเป็นต้องกลั่นให้บริสุทธิ์ตามมาตรฐานดังกล่าวนี้ เพราะไม่นำไปบริโภค แต่เอาไปผสมกับน้ำมัน การทำตามมาตรฐานดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น

เอทานอลพลังงานผลิตเจลล้างมือ “สะอาด-บริสุทธิ์” หรือไม่?

คำถามว่าแอลกอฮอล์ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง มีความสะอาดเพียงพอที่จะนำมาทำเจลแอลกอฮอล์ล้างมือได้หรือไม่ “ถ้าถามความเห็นผม คือ ไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่เกรดสำหรับการบริโภค ความสะอาดยังไม่ดีพอ อาจจะมีสารพิษสารเจือปน สารโลหะหนัก เป็นอันตราย หรือเกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนังของมนุษย์ได้”

“ทั้งนี้หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล กำหนดหลักเกณฑ์การนำแอลกอฮอล์มาผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หรือใช้กับร่างกายมนุษย์ได้ คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย. ไม่ได้กำหนดให้นำแอลกอฮอล์ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงมาใช้กับมนุษย์ เพราะแอลกอฮอล์ประเภทนี้ไม่ได้มาตรฐาน GMP หรือ HACCP แต่ถ้าเอาแอลกอฮอล์ประเภทนี้มาใช้ผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อโรคใช้กับลูกบิดประตู โต๊ะ เก้าอี้ อย่างนี้พอรับได้”

  • “เจลล้างมือ” โควิด-19 ความจริงที่ “อธิบดีสรรพสามิต” พูดไม่ครบ
  • สรรพสามิตเร่งจัดสรร “สุราสามทับ” 133 ล้านลิตร ผลิตเจลล้างมือ แก้ปัญหาขาดตลาด-ขายเกินราคา
  • พร้อมอธิบายต่อว่า “แต่ถ้าคุณนำแอลกอฮอล์ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงมาผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เมื่อนำไปใช้แล้ว แอลกอฮอล์ระเหยไปหมด ก็อาจจะมีสารต่างๆ หลงเหลืออยู่ในมือคุณ พอคุณไปจับหน้า ขยี้ตา หยิบอาหาร สารที่ติดอยู่ในมือคุณก็อาจจะเข้าสู่ร่างกายคุณได้ นี่คือเหตุผลทำไมแอลกอฮอล์ที่จะนำไปบริโภคต้องเป็นไปตามมาตรฐาน GMP หรือ HACCP

    “เดิมโรงงานน้ำตาลกลุ่มนี้มาขออนุญาตกรมสรรพสามิต ผลิตและขายแอลกอฮอล์ เพื่อใช้ผลิตเชื้อเพลิงเท่านั้น ขายให้ที่อื่นก็ไม่ได้ แต่อธิบดีกรมสรรพสามิตมีอำนาจผ่อนผันได้ถ้ามีเหตุผลความจำเป็น แต่การนำไปใช้ก็ควรต้องทำให้ถูกหลักสุขอนามัยด้วย หากจะแจกทั้งทีควรแจกของดีใช่หรือไม่ ไม่ใช่นำไปใช้แล้วอาจจะเกิดผดผื่นคัน ซึ่ง อย. เขาก็มีสูตร มีประกาศหลักเกณฑ์อยู่ แต่บางกรณี อย. ก็ผ่อนผันให้ เช่น ทำแอลกอฮอล์ไว้ใช้เอง ก็ไม่ต้องขออนุญาต อย. แต่ในความเห็นผม ชาวบ้านที่ไม่มีความรู้ ไม่มีห้องแล็บตรวจทดสอบคุณภาพ ก็ไม่ควรทำ”

    อย่างในโซเชี่ยลมีเดียมีคนตั้งคำถาม ทำไมบริษัท ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจ กำไรเป็นแสนล้านบาท มีแอลกอฮอล์เยอะแยะ ทำไมไม่ผลิตเจลล้างมือแจกประชาชน ซึ่ง ปตท. ก็ออกมาปฏิเสธ ถ้าให้อธิบายเพิ่มเติม ก็คือว่า แอลกอฮอล์ที่ปตท.มีอยู่ มันไม่ใช่ food grade หรือ pharma grade มันไม่ได้ตามมาตรฐานของ อย. หากผลิตสินค้าที่ไม่มีคุณภาพออกมาแจกประชาชนก็จะถูกต่อว่า และอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ได้ ซึ่งประชาชนอาจจะไม่รู้เรื่องแอลกอฮอล์ รู้แต่ว่าแอลกอฮอล์ก็คือแอลกอฮอล์ แต่ไม่รู้กระบวนการกลั่นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์เขาทำกันอย่างไร

    หอกลั่นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ขององค์การสุรา จ.ฉะเชิงเทรา

    กลั่นแอลกอฮอล์อย่างไรให้ได้มาตรฐาน Food Grade

    กระบวนการผลิตแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ทุกโรงงานใช้วัตถุดิบเหมือนกันคือ กากน้ำตาล หรือโมลาส (molasses) แอลกอฮอล์ที่ผลิตได้ที่ต้องคำนึงถึงมี 2 ตัว คือ 1. เปอร์เซ็นต์ หรือดีกรีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ และ 2. ค่าความบริสุทธิ์ หรือ impurities เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยา

    [ดูกระบวนการผลิตแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ที่นี่]

    แอลกอฮอล์ที่ใช้ทำเชื้อเพลิงมาผสมน้ำมันไม่เน้นเรื่องความบริสุทธิ์ เพราะเขาเอาไปใช้สำหรับการเผาไหม้ ฉะนั้นหอกลั่นแอลกอฮอล์ของเขาจะมีขั้นตอนน้อยกว่าหอกลั่นขององค์การสุรา โรงงานเอทานอลส่วนใหญ่มีหอกลั่น 3 หอ แต่ถ้าดีขึ้นมาหน่อยก็จะมี 5 หอ แต่ขององค์การสุรามี 7 หอกลั่น หอกลั่นแรกๆ เน้นเรื่องเปอร์เซ็นต์หรือดีกรีอย่างเดียว ส่วนหอกลั่นหลังๆ จะเน้นดึงความสกปรก หรือดึงสารที่ไม่ต้องการออก และแอลกอฮอล์ขององค์การสุรามันจะไม่มีกลิ่นอะไรเลย ใช้แล้วมือก็ไม่แห้ง ทำไมรู้ไหม… เพราะเป็นแอลกอฮอล์เกรดดีมาก

    ส่วนคนที่ใช้แอลกอฮอล์แล้วมือแห้ง เป็นแอลกอฮอล์ที่เกรดยังไม่ได้เกรดดีมาก หรือเป็นเกรดดีธรรมดา ซึ่ง อย. อนุญาตให้ใช้ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์มาผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างมือได้ แต่ผลิตภัณฑ์ขององค์การสุราใช้เอทานอลแท้ๆ บริสุทธิ์จริงๆ

    ขณะนี้โรงงานขององค์การสุรากำลังพัฒนาและยกระดับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ที่เรียกว่า “มาตรฐาน PIC/S” หรือ Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme เป็นมาตรฐานระดับโลก คนในวงการเรียกว่า “GMP ยา” ซึ่งแอลกอฮอล์ที่ผลิตได้ตามมาตรฐาน PIC จะใช้เป็นสารตั้งต้นสำหรับผลิตยา ไปถึงระดับนั้นเลย และขององค์การสุราจะเป็นโรงงานแห่งเดียวในภูมิภาคอาเซียนสามารถทำได้ ตอนนี้องค์การสุรายื่นเรื่องที่ อย. ไปแล้ว ขั้นตอนอยู่ระหว่างการตรวจแบบแปลนของโรงงาน ซึ่งมีทั้งห้อง clean room โรงบรรจุใช้ AI

    แต่สิ่งที่ผมเป็นห่วงตอนนี้ คือ ความไม่เข้าใจของประชาชน แอลกอฮอล์ที่ใช้ล้างมือ ต้องมีมาตรฐานความบริสุทธิ์ และความปลอดภัย หากนำแอลกอฮอล์คุณภาพไม่ดีมาผสม เกรงว่าเมื่อนำไปใช้แล้วจะอาการแพ้ ผดผื่นคัน เสมือนเป็นการนำสารพิษเข้าสู่ร่างกาย

    “หากไปดูประกาศกรมสรรพสามิต ผู้ผลิตแอลกอฮอล์ที่จะได้สิทธิเสียภาษีลิตรละ 0 บาท ต้องนำแอลกอฮอล์มาแปลงสภาพก่อนส่งขายหรือบริจาคให้ผู้ผลิตเจลล้างมือ การเติมสารแปลงสภาพเข้าไปในแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ เพื่อให้ดื่มกินไม่ได้ สารแปลงสภาพพวกนี้เมื่อเติมเข้าไปแล้ว ก็จะทำให้แอลกอฮอล์เกรดดีกลายเป็นเกรดไม่ดี คือ บริโภคไม่ได้ คำถาม เมื่อบริโภคไม่ได้แล้วควรนำไปทำเจลล้างมือหรือไม่ แต่ถ้าคุณเอามาทำแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค เช็ดลูกบิดประตู โต๊ะ เก้าอี้ สิ่งของ อย่างนี้ไม่ว่ากัน ควรจะบอกให้ชัดเจน”

    วิธีการป้องกันเชื้อไวรัสมี 2 ทาง คือ เริ่มที่ตัวเรา ใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือบ่อยๆ จากนั้นก็ต้องไปทำความสะอาดจุดที่คนสัมผัสบ่ายๆ ก็ควรทำด้วย เช่น ห้องน้ำ ก๊อกน้ำ ที่กดและแผ่นรองนั่งชักโครก ปุ่มกดลิฟต์ ราวโหนรถเมล์ รถไฟฟ้า เบาะนั่งรถโดยสารประจำทาง สิ่งเหล่านี้ต้องทำความสะอาดด้วย ไม่ใช่ทำแค่มือเราเท่านั้น การนำแอลกอฮอล์เกรดดีที่ใช้กับร่างกายมนุษย์ไปเช็ดทำความสะอาดสิ่งของ อย่างนี้ก็เจ๊ง เพราะมันแพง ใช้ผิดประเภท เกินความจำเป็น

    “ช่วงที่ผมเป็นผู้อำนวยการ องค์การสุรา ได้ทำงานร่วมกับองค์การเภสัช โรงงานเภสัชกรรมทหารอีกหลายหน่วยงาน ได้ร่วมกันจัดทำโครงการศึกษาและวิจัยการใช้แอลลกอฮอล์เพื่อการสาธารณสุขของประเทศ องค์การสุราได้ส่งแอลกอฮอล์ของเราไปให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์นำไปทดลองฆ่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์ H5N1 หรือไข้หวัดนก ซึ่งเป็นเชื้อในตระกูลเดียวกับไวรัสโควิด-19 (ยังไม่ได้ทดลอง) สามารถฆ่าเชื้อให้ตายได้ภายใน 15 วินาที และสามารถฆ่าเชื้อวัณโรคได้อีก 2 สายพันธุ์ ซึ่งตอนนั้น นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก่อนที่จะมาเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข”

    “เบื้องหลัง” สธ.ทำป่วน – ที่มาปัญหาแอลกอฮอล์ขาดตลาด

    จากการที่กระทรวงสาธารณสุขเพิ่งจะออกประกาศห้ามผลิต นำเข้า ขาย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์รวมกันไม่ถึง 70% ซึ่งเป็นผลมาจากการที่องค์การสุราไปเก็บตัวอย่างตามท้องตลาดมาวิเคราะห์และส่งให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณา พบว่ามีผู้ผลิตหลายรายใช้แอลกอฮอล์มาผสมแค่ 50-60% เพื่อลดต้นทุน ซึ่งมันฆ่าเชื้อโรคได้บางตัว แต่ฆ่าเชื้อไวรัสไม่ได้

    ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2562 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศให้ผู้ผลิตที่ใช้แอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบในการผลิตสารฆ่าเชื้อโรคทั้งในคน สัตว์ และเครื่องมือแพทย์ ต้องมาจดทะเบียนเป็นเครื่องมือแพทย์ และกำหนดให้มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ตั้งแต่ 70% ของปริมาตรขึ้นไป ซึ่งเดิมทีผู้ผลิต รวมทั้งองค์การสุรา จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง

    กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศฉบับนี้ช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2562 และให้มีผลบังคับใช้ภายใน 180 วัน คือวันที่ 11 มีนาคม 2563 หมายความว่าผู้ผลิตที่จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอางกำลังจะหมดอายุ ต้องมาขออนุญาตใหม่ โดยมาจดทะเบียนเป็นเครื่องมือแพทย์ และผู้ผลิตรายใดใช้แอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมไม่ถึง 70% ของปริมาตร ก็ต้องผสมให้เกิน 70% ขึ้นไป

    กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศตั้งแต่สิงหาคม 2562 เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 11 มีนาคม 2563 เมื่อถึงกำหนด ห้ามโฆษณาขาย แต่สินค้าที่เหลืออยู่ในสต็อกยังขายต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง ถ้าขายไม่หมดก็ต้องทิ้ง

    ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ องค์การสุรามีส่วนร่วมในการผลักดัน เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตแอลกอฮอล์เพื่อใช้ฆ่าเชื้อโรค ต้องไปยื่นขอจดทะเบียนเป็นเครื่องมือแพทย์

    ปรากฏว่า อย. บอกยังไม่จดให้ ต้องรอวันที่ 11 มีนาคม 2563 ก่อน ค่อยมาจดทะเบียน ตอนนั้นก็เกิดคำถาม ทำไม อย. ไม่รับจดทะเบียนไปเลย ผู้ผลิตรายไหนพร้อมก็ให้จดทะเบียนเป็นเครื่องมือแพทย์ ผลิตแอลกอฮฮล์ที่มีมาตรฐานสูงออกมาขาย ส่วนผู้ผลิตที่ยังจดทะเบียนเป็นเครื่องสำอาง ก็ปล่อยให้ผลิตและจำหน่ายไปจนกว่าใบอนุญาตจะหมดอายุ ซึ่งมันเป็นคนละเรื่องกันเลย อย. บอกว่าไม่ได้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้อย่างนี้

    ผู้ผลิตที่จดทะเบียนเป็นเครื่องสำอางก็ไม่กล้าผลิตเพิ่ม เพราะรู้ล่วงหน้าว่าวันที่ 11 มีนาคม 2563 มันจะหมดอายุ หากผลิตขึ้นมาแล้วสินค้าขายไม่หมดจะกลายเป็นของเสีย จึงมีผู้ผลิตเครื่องสำอางบางส่วนหยุดผลิตเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ตั้งแต่สิงหาคม 2562 ปรากฏว่า หลังปีใหม่เชื้อไวรัสโควิด 19 เริ่มแพร่ระบาดไปทั่วโลก ผู้ผลิตจึงนำสต็อกที่มีอยู่เดิมออกมาขายให้หมด โดยไม่ได้ผลิตเพิ่ม จึงเกิดปัญหาแอลกอฮอล์ขาดตลาดตามมา

    “หากมีการแก้ปัญหาการจดทะเบียนเครื่องมือแพทย์ตั้งแต่ต้นมันก็ไม่เกิดปัญหานี้ คือ ใครจะขอจดทะเบียนเป็นเครื่องมือแพทย์และผลิตของใหม่ก็ผลิตไปเลย ส่วนแอลกอฮอล์สต็อกของเก่าก็ขายไป ขายไม่หมด หมดอายุ ก็หมดไป แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ไม่ทำอะไร จนกระทั่งมาถึงช่วงต้นเดือนมีนาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุข ก็ออกประกาศเลื่อนไม่ต้องจดทะเบียนเป็นเครื่องมือแพทย์แล้ว เลื่อนออกไปก่อน โดยให้ใช้ทะเบียนเครื่องสำอางเหมือนเดิม แต่ต้องปรับสูตรหรือส่วนผสมให้มีแอลกอฮอล์เกิน 70% ของปริมาตรขึ้นไป หากดีกรีไม่ถึง 70% ของปริมาตรห้ามขาย”

    แต่ก็เกิดคำถามตามมาอีก ทำไมคุณเพิ่งมาทำในช่วงต้นมีนาคม 2563 ทำไมไม่ทำแบบนี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ที่ถูกคือควรให้จดทะเบียนเป็นเครื่องมือแพทย์ ผลิตของใหม่ ก็ผลิตไป อย่างนี้ประชาชนได้ใช้ของดีมีคุณภาพสูง ส่วนผู้ผลิตที่ยังจดทะเบียนเป็นเครื่องสำอางขาย ก็ทำไป แต่ต้องมีแอลกอฮอล์เกิน 70% และให้ติดฉลากแจ้งด้วย ประชาชนจะได้ทราบว่าฆ่าเชื้อโรคได้

    พร้อมย้ำว่า “อันนี้ผมพูดตามข้อเท็จจริงนะ”

    แต่ประเด็นที่ต้องติดตาม หลังจากกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศให้ผู้ผลิตที่จดทะเบียนเครื่องสำอาง ต้องใช้แอลกอฮอล์ 70% ของปริมาตรขึ้นไปมาใช้ผลิตแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ หากผู้ผลิตรายใดใช้แอลกอฮอล์ไม่ถึง 70% ก็ต้องปรับเป็น 70% ขึ้นไป ทุกคนต้องปรับสูตรหมด ประเด็นที่เป็นห่วงคือ

      1. อย. รับจดทะเบียนให้ผู้ประกอบการจำนวนมากทันหรือไม่ หากทำงานช้าไม่อนุมัติให้เสร็จภายในระยะเวลาที่ยื่นคำขอ ก็ผลิตไม่ได้ อาจเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ อย. ต้องระบุเวลาให้ชัดเจน หากผู้ประกอบการมายื่นคำร้อง อย. จะทำให้เสร็จภายใน 1-2 วัน อย่างนี้ถึงจะแฟร์
      2. อย. ได้วางระบบตรวจสอบและกำกับดูแลการผลิตเจลล้างมือที่วางขายตลาดท้องตลาดนั้น ตรงตามสูตรที่มาขอจดแจ้งกับ อย. หรือไม่ หากมีแอลกอฮอล์ผสมต่ำกว่า 70% ฆ่าเชื้อโรคไม่ได้ ผู้บริโภคเข้าใจผิด คิดว่าฆ่าเชื้อโรคได้ แต่ถ้าเขาติดโรคขึ้นมาจะทำอย่างไร
      3. อย. เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ ที่ผ่านมาไม่เคยสอนหรืออธิบายวิธีการใช้แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคที่ถูกต้องแก่ประชาชน ควรทำอย่างไร

    แนะวิธีใช้แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคอย่างถูกต้อง

    “ผมดูจากข่าวในทีวีเห็น เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดนำแอลกอฮอล์มาฉีดๆ กระจกหรือวัตถุต่างๆ ที่มีการสัมผัสบ่อยๆ แล้วรีบเอาผ้าเช็ดทันที ทำกันอย่างนี้เป็นส่วนใหญ่ เหตุเพราะไม่เข้าใจว่าแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคได้อย่างไร แอลกอฮอล์ไม่ได้เป็นสารพิษที่ทำให้เชื้อโรคตายทันทีนะ”

    “กระบวนการฆ่าเชื้อโรค คือ เชื้อโรคมันเป็นเซลล์ มีเปลือกไขมันหรือผิวหนังหุ้มอยู่ เมื่อฉีดแอลกอฮอล์ลงไปถูกเซลล์ผิวหนังของเชื้อโรคหรือเปลือกมัน ระหว่างที่แอลกอฮอล์ระเหย มันจะดึงเอานำน้ำที่เปลือก หรือที่เซลผิวหนังของเชื้อโรคออกไปด้วย ทำให้มันอ่อนแอ และตาย นี่คือวิธีการทำงานของแอลกอฮอล์ ไม่ได้ไปฆ่าเชื้อได้ทันที แอลกอออล์ยิ่งเข้มข้นมากๆ ยิ่งดีฆ่าเชื้อได้ดี แต่ถ้าเข้มข้นมากไปมันจะระเหยเร็วมาก ยังไม่ทำปฏิกริยาบนผิวหนังเชื้อโรคระเหยหมดแล้ว และที่สำคัญต้องให้เวลาในการทำปฏิกิริยาไม่น้อยกว่า 15-20 วินาที อันนี้เป็นข้อมูลที่องค์การสุราร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำการศึกษาวิจัยตามที่กล่าวข้างต้น นี่คือตัวอย่างคนไม่เข้าใจฉีดแอลกอฮอล์แล้วรีบเช็ดออกทันที เชื้อโรคจะตายได้อย่างไร”

    อีกประเด็นหนึ่งที่คนไม่เข้าใจ ระหว่างเจลแอลกอฮอล์ล้างมือกับแอลกอฮอล์แบบสเปรย์ คนทั่วไปคิดว่าเจลแอลกอฮอล์ล้างมือดีกว่า แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ สเปรย์ดีกว่า เวลาฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์จะกระจายเป็นละอองน้ำเล็กๆ แทรกเข้าไปตามซอกต่างๆ ของมือได้ทั้งหมด แบบเจลล้างมือจะมีความยืดหยุ่นสูง แต่อาจจะลงไปไม่ถึงตามซอกเล็บเล็กๆ

    แอลกอฮอล์แบบสเปรย์ที่ใช้กันอยู่จะมี 2 แบบ คือสเปรย์ที่บรรจุแอลกอฮอล์อัดแก๊สมาจากโรงงาน กับนำแอลกอฮอล์ชนิดน้ำมาเติม หรือแบ่งใส่ขวดสเปรย์ขนาดเล็ก แบบหลังนี้ก็ใช้ได้ แต่อาจจะมีแอลกอฮอล์ระเหยรั่วออกมา ทำให้ปริมาณแอลกอฮอล์ที่เหลือมีคุณภาพหรือปริมาณไม่เพียงพอสำหรับการฆ่าเชื้อ และถ้ารั่วใส่กระเป๋าจะเป็นตัวทำละลายที่ดี ทำให้สีกระเป๋าตกหรือด่างได้ แต่ถ้าเป็นแอลกอฮอล์ที่บรรจุใส่สเปรย์ออกจากโรงงานผู้ผลิตจะมีคุณภาพของแอลกอฮอล์คงที่ กระป๋องเล็กขนาดพกพาฉีดได้ 50 ครั้ง และควรฉีดทิ้งไว้ประมาณ 20 วินาที

    อ่านวิธีการใช้แอลกอฮอล์ที่ถูกต้อง

    นายเชาวรัตน์ เชาวน์ชวานิล อดีตผู้อำนวยการ องค์การสุรา

    สิ่งที่ควรรู้การซื้อแอลกอฮอล์จากกรมสรรพสามิต

    “อีกเรื่องที่คนทั่วไปไม่เข้าใจองค์การสุรา เนื่องจากแอลกอฮอล์บริสุทธิ์เป็นสินค้าควบคุม ไม่ใช่ใครนึกอยากจะมาสั่งซื้อแอลกอฮอล์จากองค์การสุราก็เข้ามาซื้อได้นะ ต้องไปขออนุญาตกรมสรรพสามิต และต้องแจ้งวัตถุประสงค์ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ไปผลิตสุราเถื่อน คนกินไม่เป็นอะไร แต่รัฐเสียประโยชน์ ไม่ได้ภาษี แต่หากนำแอลกอฮอล์คุณภาพไม่ดีมาทำสุราเถื่อน ภาษีก็ไม่ได้ แถมยังเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์อีก นี่คือสาเหตุทำไมแอลกอฮอล์เป็นสินค้าควบคุม”

    คราวนี้มาถึงกระบวนการผลิตเจลล้างมือที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ โรงงานผลิตเครื่องสำอางมีหลายพันโรงงาน หลังจากที่ได้จดทะเบียนเครื่องสำอางแล้ว ช่วงนี้ทุกโรงงานก็อยากผลิตเจลล้างมือทั้งหมด เพราะเป็นที่ต้องการของตลาด และขายได้ราคาดี แต่ทั้งโรงงานเอทานอลและผู้ผลิตเจลล้างมือต้องมาขออนุญาตกรมสรรพสามิตก่อน เพื่อขอสิทธิเสียภาษีลิตรละ 0 บาท ต้องยื่นสูตรการผลิต และแจ้งกำลังการผลิตด้วย

    สมมติว่า ผมเป็นโรงงานผลิตเครื่องสำอางต้องการผลิตเจลล้างมือ 1 แสนขวดต่อเดือน และต้องใช้แอลกอฮอล์ 5,000 ลิตร ผู้ผลิตก็ต้องมายื่นขอกับอนุญาตกับกรมสรรพสามิตว่าจะขอซื้อแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95% จำนวน 5,000 ลิตร เพื่อผลิตเจล 1 แสนขวด เพื่อขอยกเว้นไม่เสียภาษี สรรพสามิตก็จะออกใบโควตามา 1 ใบ ภาษี 0 บาท โรงงานผู้ผลิตเครื่องสำอางก็เอาใบโควตาจากกรมสรรพสามิตมาซื้อแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ที่องค์การสุรา ทางองค์การสุราถึงจะจำหน่ายให้ จากนั้นกรมสรรพสามิตก็ต้องตามไปตรวจสอบว่ามีการนำแอลกอฮอล์ที่ได้ไปผลิตเจลล้างมือจริงหรือไม่ หากไม่ได้นำแอลกอฮอล์ไปผลิตตามที่แจ้ง ถือว่าใช้ผิดวัตถุประสงค์ ต้องเสียภาษีพร้อมค่าปรับด้วย

    กระบวนการซื้อ-ขายแอลกอฮอล์ขององค์การสุราไม่ได้จบแค่นี้นะ ก่อนที่องค์การสุราจะนำแอลกอฮอล์ไปส่งให้ลูกค้าต้องไปขออนุญาตกรมสรรพสามิต เพื่อทำการขนส่งแอลกอฮอล์ รถที่ขนแอลกอฮอล์ก็ต้องเป็นรถขึ้นทะเบียนพิเศษตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด รถที่ไม่ขึ้นทะเบียน หากนำมาขนแอลกอฮอล์ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะมันไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ

    นอกจากนี้ คนขับรถขนแอลกอฮอล์ต้องได้รับใบอนุญาตขับขี่ประเภท 4 เป็นประเภทสูงสุด ผู้ที่ได้รับใบขับขี่ประเภทนี้ต้องได้รับการฝึกอบรมให้ขับรถขนวัตถุอันตรายเป็นกรณีเฉพาะ ไม่ใช่คนขับรถทั่วไป ใบขับขี่ประเภทนี้สอบยากที่สุด เพราะต้องขับรถขนาดใหญ่ขนวัตถุอันตราย ต้องมีความเข้มงวดเป็นพิเศษ

    นี่คือคำตอบ ทำไมองค์การสุรามีแอลกอฮอล์ในสต็อกเยอะแยะ คนทั่วไปมาติดต่อขอซื้อ ยอมจ่ายภาษี แต่องค์การสุราไม่ขายให้ ทำให้เกิดปัญหาแอลกอฮอล์ขาดตลาด มันไม่ใช่อย่างที่คิดน่ะ แอลกอฮอล์เป็นสินค้าควบคุมตามกฎหมาย มันเป็นหลักปฏิบัติที่ใช้กันมานานแล้ว

    สินค้าในสต็อกไม่มีปัญหา องค์การสุรามีแอลกอฮอล์ในสต็อกกว่า 2 ล้านลิตร กำลังการผลิตวันละ 60,000 ลิตร แต่รถที่ใช้ขนส่งแอลกอฮอล์มีจำกัด ต้องรอคิว ประอบกับในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 จำนวนผู้ซื้อเพิ่มสูงขึ้นจากระดับปกติมาก การขนส่งก็มีกระบวนการที่ต้องขออนุญาตตามกฎหมาย สินค้ามีไม่ได้ขาดตลาด แต่ต้องรอคิว

    แก้แอลกอฮอล์ขาดตลาด ต้องรู้จริงทั้งซัพพลายเชน

    การแก้ปัญหาแอลกอฮอล์ขาดตลาด ต้องพิจารณาให้ครบถ้วนตลอดทั้งซัพพลายเชน ดูว่ามีคอขวดตรงไหน อุปสรรคอะไร ปัญหาอยู่ตรงไหน จึงจะแก้ได้ถูกทาง แต่วันนี้พูดข้อเท็จจริงแค่ส่วนหนึ่ง แล้วทำบางส่วน อย่างนี้ก็แก้ไม่ได้

    ผู้ผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างมือทุกรายต้องไปแจ้ง อย. แจ้งเสร็จก็ต้องมาขออนุญาตกรมสรรพสามิต ยื่นสูตรการผลิต กำลังการผลิต เพื่อขอยกเว้นภาษี จากนั้นผู้ผลิตก็นำใบจากกรมสรรพสามิตมาซื้อสุราสามทับกับองค์การสุรา ก่อนส่งแอลกอฮอล์ให้ลูกค้า ต้องไปขออนุญาตกรมสรรพสามิตในการขนส่ง เพราะต้องใช้รถขนตามที่กำหนดเท่านั้น หากคำสั่งซื้อเข้ามามาก ก็ต้องรอคิว เพราะรถขนส่งมีจำกัด และเมื่อผลิตเจลล้างมือแล้ว กรมสรรพสามิตก็ต้องตามไปตรวจสอบการใช้แอลกอฮอล์ตามที่ขออนุญาตหรือไม่ นี่คือขั้นตอน

    “หากผู้บริหารนโยบายได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน ถูกต้อง ก็ยากในแก้ไขปัญหาได้ถูกจุด วันนี้เกิดวิกฤติเชื้อโรค เราต้องช่วยกัน ให้ทุกได้ใช้ของที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม ยกตัวอย่าง เจลล้างมือขององค์การสุราขายอยู่หลอดละ 99 บาท มีคนมาซื้อไปขายในอินเทอร์เน็ตหลอดละ 250 บาท คนก็วิจารณ์ทำไมองค์การสุราไม่ผลิตเพิ่มให้มากๆ ปล่อยให้พ่อค้านำผลิตภัณฑ์ขององค์การสุราขายเกินราคาได้อย่างไร”

    “อันนี้ก็เป็นปัญหาของระบบราชการ ซึ่งมีขั้นตอนเยอะมาก การจัดซื้อจัดจ้างแต่ละครั้ง ต้องประมูล กว่าจะได้รับการอนุมัติ รอไปชาติหนึ่ง หากต้องการแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างรวดเร็ว รัฐบาลต้องสั่งการ เรื่องนี้เป็นวิกฤติประเทศ ขอให้ผู้อำนวยการ องค์การสุรามีอำนาจในการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษเฉพาะช่วงนี้ โดยมอบอำนาจให้เป็นกรณีพิเศษสามารถว่าจ้างภาคเอกชนนำแอลกอฮอล์ขององค์การสุราไปผลิตและขายเลย”

    ยกตัวอย่าง ก่อนหน้านี้องค์การสุราเคยผลิตแอลกอฮอล์บรรจุสเปรย์กระป๋องขนาด 50 มิลลิลิตร จำนวน 50,000 ขวด และขนาด 200 มิลลิลิตร อีก 50,000 ขวด แต่ก็ต้องหยุดผลิตไป เพราะช่วงนั้น อย. ออกประกาศให้ผู้ผลิตเปลี่ยนทะเบียนจากเครื่องสำอางเป็นเครื่องมือแพทย์ องค์การสุราจึงไม่ผลิตเพิ่ม เพราะเกรงว่าจะขายไม่หมด กลายเป็นของเสีย

    “ช่วงเดือนมกราคม 2563 พอทราบเรื่อง แต่ผมหมดวาระแล้ว จึงแนะนำให้เจ้าหน้าที่ไปหารือกับบอร์ดขององค์การสุรา ขออนุมัติผลิตเพิ่มไปเลย เพราะกรุงเทพฯ มีคน 10 ล้านคน ผลิตแค่ 100,000 กระป๋องไม่ใช่เรื่องใหญ่ องค์การสุรา กำไรปีละกว่า 100 ล้านบาท ต้นทุนกระป๋องละ 60 บาท แต่เจ้าหน้าที่บอกว่ามีขั้นตอนต้องทำเรื่องเสนอกว่าจะอนุมัติใช้เวลานาน จนวันนี้องค์การสุราก็ยังไม่ได้ทำเลย ผมก็เลยบอกผู้ผลิตรายอื่นๆ ให้ช่วยผลิตแอลกอฮอล์แบบสเปรย์มาขายหน่อย องค์การสุราไม่ได้ห้าม”

    ยกระดับสู่มาตรฐานโลก biotechnology

    วัตถุดิบที่ใช้ผลิตแอลกอฮอล์ คือโมลาส หรือ กากน้ำตาล สั่งซื้อจากโรงงานน้ำตาล ปีนี้โมลาสขาดตลาดและราคาแพงมาก แต่องค์การสุราได้ทำสัญญาสั่งซื้อล่วงหน้าล็อกไปแล้ว และใช้ได้ไปจนถึงเดือนสิงหาคม-กันยายน ปกติโรงงานน้ำตาลจะหีบอ้อยช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคมของทุกปี โรงงานน้ำตาลจะรู้ว่ามีกากน้ำตาลเท่าไร เราก็จะขอซื้อตามที่เราต้องการใช้ โดยการวางแผนจัดซื้อล่วงหน้า ช่วงต้นฤดูเราก็จะทำสัญญากับโรงน้ำตาลเป็นรายปี โรงงานน้ำตาลก็ทยอยส่งโมลาสให้องค์การสุราทุกเดือน

    “เดิม ก่อนที่ผมจะเข้ามาทำงานที่นี่ เขาซื้อโมลาสกับเป็นลอตๆ บางครั้งซื้อแบบใช้ 3 เดือน หมดแล้วก็ซื้อเพิ่ม ผมเข้าเป็นผู้อำนวยการที่นี่ก็เปลี่ยนใหม่ ใช้วิธีการซื้อล่วงหน้า ตอนนั้นผมทำสัญญาซื้อโมลาสไว้ที่ราคา 4 บาทต่อกิโลกรัม ตอนนี้โมลาสราคา 6.60 บาทต่อกิโลกรัม แต่อย่างไรก็ตาม องค์การสุราเป็นองค์กรของรัฐ โรงงานผลิตแอลกอฮอล์ปรับขึ้นราคาแอลกอฮอล์กันตามราคาต้นโมลาสที่เพิ่มขึ้น แต่องค์การสุราก็ยังขายแอลกอฮอล์ราคาเดิมลิตรละ 40 บาท ไม่มีโก่งราคา”

    ส่วนการจัดสรรแอลกอฮอล์ให้กับลูกค้า หรือ ซัพพลายเออร์ เราจัดลำดับความสำคัญโดยให้ความสำคัญกับโรงพยาบาลและองค์กรของรัฐก่อนเป็นลำดับแรก ส่วนเอกชนที่มาซื้อเพื่อผลิตเครื่องสำอางก็ต้องกระจายให้ทั่วถึง ไม่ได้ให้รายใดรายหนึ่งมากเกินไป เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ หากไม่พอเราก็สั่งให้พันธมิตรขององค์การสุราผลิตเพิ่มตามมาตรฐาน GMP, HACCP ได้ แต่ไม่ใช่เอาแอลกอฮอล์คุณภาพต่ำมาผลิต มันต้องควบคุมคุณภาพด้วย

    จริงๆ แอลกอฮอล์ไม่ได้ขาด โดยภาพรวมทั้งระบบมีแอลกอฮอล์เหลือในสต็อกเยอะมาก แต่ที่ผู้ผลิตเครื่องสำอางบางรายออกมาโวยวายกันเพราะจะรีบทำเงินจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค หากทุกโรงงานเร่งผลิตไปอีกระยะหนึ่ง ก็อาจจะล้นตลาด

    “ช่วง 4 ปีที่ผมเข้ามาทำงานที่นี่ ผมพยายามยกระดับมาตรฐานการผลิตขององค์การสุราให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลระดับโลก ตอนแรกก็ถูกต่อว่า เพราะใช้เงินลงทุนไป 400 ล้านบาท พัฒนาห้องแล็บที่ดีที่สุดในประเทศไทย เพื่อใช้ในการค้นคว้า ทดลอง วิจัย ผลิตแอลกอฮอล์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมขั้นสูง หรือ new S curve พวก biotechnology วางแผนผลิตแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 99.9% ด้วยการใช้เทคโนโลยีนาโน ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าแอลกอฮอล์ประเภทนี้จากต่างประเทศปีละ 700-800 ล้านบาท ทางองค์การสุราได้ทำการวิจัยและศึกษามานาน ได้ส่งสรุปผลการศึกษาเรื่องวิจัยนี้ไปที่กรมสรรพสามิตนานแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณา เหตุเพราะองค์การสุราเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กับดูแลของกรมสรรพสามิต ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลเหมือนรัฐวิสาหกิจทั่วไป การทำธุรกรรมทุกอย่างต้องทำในนามของกรมสรรพสามิต”

    องค์การสุรา รัฐวิสาหกิจลูกผีลูกคน

    เมื่อถามว่าทำไมไม่แยกองค์การสุราออกจากสรรพสามิต ตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจทั่วไป ได้คำตอบว่า…เราเคยทำเรื่องเสนอไปที่กรมสรรพสามิตแล้ว แต่ก็เงียบหายไป โดยหลักการแล้ว ผู้กำกับดูแลกับ operator ควรต้องแยกออกจากกัน ปัจจุบันมี 2 องค์กร ที่ยังไม่แยกคือ องค์การสุรา กับโรงงานไพ่ ข้อเสนอก็ควรแยกองค์การสุราออกมาเป็นรัฐวิสาหกิจ จะเป็นองค์การแอลกอฮอล์แห่งประเทศไทย… ก็ได้ โดยที่มีกรมสรรพสามิต เป็นผู้กำกับดูแล โมเดลคล้ายๆ กับการยาสูบแห่งประเทศไทย แต่ยังทำไม่ได้”

    องค์การสุราเป็นรัฐวิสาหกิจก็จริง แต่ไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคล เป็นลูกผีลูกคน หากองค์การสุรามีสถานะเป็นนิติบุคคล เราสามารถตัดสินใจดำเนินการเองได้ทุกเรื่อง วันนี้เราทำธุรกรรมอะไร ก็ต้องทำในนามกรมสรรพสามิต องค์การสุราเป็นหน่วยธุรกิจ แต่ไปอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของกรมสรรพสามิต ซึ่งเป็นส่วนราชการ ก็สื่อสารกันลำบาก

    วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก หากคุณรอให้โลกเปลี่ยนก่อน แล้วค่อยมาปรับตัว อย่างนี้ก็คงไม่ทัน วันนี้รัฐวิสาหกิจปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต