ThaiPublica > เกาะกระแส > “เจลล้างมือ” โควิด-19 ความจริงที่ “อธิบดีสรรพสามิต” พูดไม่ครบ

“เจลล้างมือ” โควิด-19 ความจริงที่ “อธิบดีสรรพสามิต” พูดไม่ครบ

15 มีนาคม 2020


เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต, ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน, พ.ต.อ. บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แถลงข่าว โครงการจัดทำเจลล้างมือแจกประชาชน ณ องค์การสุรา จ.ฉะเชิงเทรา

อธิบดีสรรพสามิต ยอมรับ “เจลล้างมือ” ผลิตจากแอลกอฮอล์ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง เกรดต่ำ แต่บริโภคได้

จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ “โควิด-19” ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก จนทำให้เกิดปัญหาหน้ากากอนามัยขาดตลาด และลุกลามไปถึงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอย่างเช่น เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค ที่ขาดแคลนและปรับราคาสูงขึ้นตามมา ดังนั้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค กรมสรรพสามิตจึงออกมาตรการภาษี เพื่อสนับสนุนให้มีการนำแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นเกิน 80 ดีกรีขึ้นไป หรือที่เรียกว่า “สุราสามทับ” มาแปลงสภาพ เพื่อนำไปผลิตเจลล้างมือขายหรือบริจาค โดยให้สิทธิแก่ผู้ประกบการเสียภาษีลิตรละ 0 บาท ตามประกาศกรมสรรพสามิต โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2563 ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563

หลังจากออกมาตรการภาษีมาได้ไว้นาน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต, ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน, พ.ต.อ. บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และนายสมควร จารุสมบัติ รองผู้อำนวยการฝ่ายผลิต องค์การสุรา แถลงข่าวโครงการความร่วมมือผลิตและแจกจ่ายผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือที่ผลิตจากแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ขององค์การสุราขนาด 25 มิลลิลิตร จำนวน 1,000,000 ชิ้น แจกให้กับประชาชนทั่วไป ผ่านสาขาธนาคารออมสินทั่วประเทศ 1,060 สาขา เริ่มแจกลอตแรก 500,000 ชิ้นวันที่ 27 มีนาคม 2563 เวลา 9.00 น. และลอตที่ 2 อีก 500,000 ชิ้นวันที่ 10 เมษายน 2563 เวลา 09.00 น.

นอกจากนี้ ยังมีแอลกอฮอล์ที่ได้รับบริจาคมาจากโรงงานเอทานอล 26 แห่ง จำนวนกว่า 300,000 ลิตร โดยกรมสรรพสามิตจะนำมาแจกให้กับประชาชนคนละไม่เกิน 1 ลิตรต่อวัน โดยประชาชนที่มาขอรับแจกแอลกอฮอล์จากกรมสรรพสามิต ต้องเตรียมภาชนะมาขอรับได้ที่สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทั่วประเทศในเวลาเดียวกัน

แต่ก่อนที่จะรับของฟรีมาใช้ ควรทำความเข้าใจกันก่อนว่าแอลกอฮอล์ที่ได้มาจากโรงงานผู้ผลิตต่างๆ นั้นมีคุณภาพอย่างไร กล่าวคือ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ผลิต “สุราสามทับ” (แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 80 ดีกรีขึ้นไป) ทั้งหมด 3 กลุ่ม กลุ่มแรก องค์การสุรา เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลังที่ได้รับอนุญาตจากกรมสรรพสามิต ให้ผลิตและขายสุราสามทับในประเทศได้เพียงรายเดียว มีกำลังการผลิต 6 หมื่นลิตรต่อวัน หรือ 18 ล้านลิตรต่อปี แอลกอฮอล์ทั้งหมดเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ที่มีความแรง 96 ดีกรี นอกจากจะผ่านการรับรองมาตรฐานจาก มอก.แล้ว ยังเป็นไปตามมาตรฐาน GMP และ HACCP แอลกอฮอล์ที่องค์การสุราผลิตได้ จึงเป็นเกรดที่ใช้กันในอุตสาหกรรมอาหาร การแพทย์ และยา หรือที่เรียกว่า “food grade” หรือ “pharmaceutical grade” ซึ่งธนาคารออมสินกำลังจะนำมาแจกจ่ายให้กับประชาชน 1,000,000 ชิ้น ในวันที่ 27 มีนาคมนี้

กลุ่มที่ 2 เป็นผู้ผลิตสุราสามทับเพื่อส่งออก มีอยู่ประมาณ 6 โรงงาน ได้แก่ บริษัท ไทยแอลกอฮอล์ของกลุ่มคุณเจริญ, โรงงานน้ำตาลกว้างสุ้นหลีของกลุ่ม KSL, กลุ่มบริษัท พรวิไล, กลุ่มบริษัทยูเนี่ยนเคมิคอล, บริษัทกรุงเทพอุตสาหกรรม และบริษัทอีสเทอร์น เคมีคอล เป็นต้น กลุ่มนี้ผลิตแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 96 ดีกรี ได้คุณภาพมาตรฐานระดับ food grade หรือ pharma grade เช่นเดียวกับองค์การสุรา แต่ขายภายในประเทศไม่ได้ ต้องส่งออกไปขายในต่างประเทศเท่านั้น

กลุ่มที่ 3 เป็นผู้ผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานน้ำตาล มีทั้งหมด 26 โรงงาน เป็นแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นประมาณ 99.5% ของปริมาตร กลุ่มนี้เริ่มผลิตสุราสามทับเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีราคาแพงอยู่ที่ประมาณ 80-100 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล รัฐบาลในขณะนั้นจึงมีนโยบายส่งเสริมโรงงานน้ำตาลเหล่านี้ผลิตเอทานอลแอลกอฮอล์เพื่อนำมาใช้ผลิตน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ ทำให้น้ำมันสำเร็จรูปมีราคาถูกลงเล็กน้อย โดยแอลกอฮอล์ที่ผลิตจากโรงงานเอทานอล 26 แห่ง คาดว่ามีราคาต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20 บาทต่อลิตร แอลกอฮอล์ที่ผลิตได้ทั้งหมดจะนำไปขายให้กับผู้ประกอบการทั่วไปไม่ได้ ต้องขายให้กับโรงกลั่นน้ำมันเท่านั้น

ในอดีต เมื่อนำเอทานอลแอลกอฮอล์ไปผสมกับน้ำมันเบนซินแล้วจะทำให้ราคาน้ำมันถูกลงเล็กน้อย แต่ในปัจจุบันราคาน้ำมันเบนซิน ณ หน้าโรงกลั่น (ก่อนเสียภาษี) มีราคาไม่ถึงลิตรละ 10 บาท นำมาผสมกับแอลกอฮอล์ที่มีต้นทุนลิตรละ 20 บาท ยิ่งผสมแอลกอฮอล์มากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้น โรงกลั่นก็ไม่อยากซื้อ เป็นเหตุให้แอลกอฮอล์ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงมีกำลังการผลิตส่วนเกินเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลจากแถลงข่าวกรมสรรพสามิต ระบุว่า โรงงานเอทานอล 26 แห่ง มีกำลังการผลิตแอลกอฮอล์ประมาณ 7,000,000 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันรับซื้อได้แค่ 4,000,000 ลิตร จึงมีแอลกอฮอล์ส่วนเกินเหลือวันละ 3,000,000 ลิตร

และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีความต้องการใช้แอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด กระทรวงพลังงานร่วมกับกระทรวงการคลัง จึงเห็นควรให้นำเอทานอลที่เหลือจากการผลิตเชื้อเพลิงประมาณ 3 ล้านลิตร ไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยให้กรมสรรพสามิตปรับลดภาษีเหลือลิตรละ 0 บาท สนับสนุนนำสุราสามทับที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงมาแปลงสภาพก่อนนำไปผลิตเจลล้างมือขาย และล่าสุดโรงงานเอทานอลทั้ง 26 โรง เตรียมนำแอลกอฮอล์กว่า 300,000 ลิตร ส่งให้กรมสรรพสามิตไปทำเจลล้างมือแจกประชาชน

ถึงแม้โรงงานเอทานอลเหล่านี้จะมีความสามารถในการกลั่นแอลกอฮอล์ 99.5 ดีกรีได้ แต่ก็ไม่ใช่แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ที่ผ่านการรับรองคุณภาพ ตามมาตรฐาน GMP หรือ HACCP เหมือนกับแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ขององค์การสุรา ซึ่งจัดอยู่ในระดับ food grade หรือ pharma grade เนื่องจากโรงงานเอทานอลทั้ง 26 โรง ผลิตแอลกอออล์ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ไม่ได้ใช้บริโภค จึงไม่จำเป็นต้องกลั่นแอลกอฮอล์ให้ได้ระดับ Food Grade ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้องค์การสุรา ยังมีการตรวจวิเคราะห์และออกใบรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์แต่ละประเภท เพื่อยืนยันว่าแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ที่ผลิตจากองค์การสุรา สะอาดและบริสุทธิ์ สารปนเปื้อนตกค้างน้อยมากและต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด (ดูตารางข้างบนประกอบ)

แต่คำถามคือ แอลกอฮอล์ที่ใช้ผลิตเชื้อเพลิง ผ่านการตรวจวิเคราะห์หาสารปนเปื้อนเช่นเดียวกับองค์การสุรา หรือไม่ อย่างไร

และถ้าไปดูประกาศกรมสรรพสามิตทั้ง 2 ฉบับกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีลิตรละ 0 บาท ต้องนำสุราสามทัพมาแปลงสภาพ ก่อนที่จะนำไปผลิตเจลล้างมือ โดยการเติมสารแปลงสภาพลงไป เช่น สาร Isopropyl Alcohol (IPA), สาร Tertiary Butyl Alcohol และสาร Bitrex เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนนำไปบริโภค

จึงมีคำถามว่า แอลกอฮอล์ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงนั้นมีความบริสุทธิ์หรือความสะอาดเพียงพอที่จะนำไปใช้ผลิตเจลล้างมือหรือไม่ หากประชาชนนำเจลหรือแอลกอฮอล์ไปใช้ล้างมือ เมื่อแอลกอฮอล์ระเหยออกไปหมดแล้วจะเหลือสารตกค้างติดอยู่ที่มือหรือไม่ และถ้าไปหยิบจับอาหารเข้าปาก ขยี้ตา เกาผิวหนัง จะทำให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองผิวหนังของมนุษย์หรือไม่

ปรกติสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้กำหนดว่าแอลกอฮอล์ประเภทไหนใช้ผลิตเจลล้างมือ หรือ ใช้กับร่างกายมนุษย์ได้ แต่กรณีแอลกอฮอล์ที่ใช้ผลิตเชื้อเพลิง อย. ไม่ได้กำหนดให้นำมาใช้กับร่างกายมนุษย์ได้ (แนวปฏิบัติและการแสดงฉลากเครื่องสำอางที่ผสมแอลกอฮอล์)

ขณะเดียวกันผู้ผลิตแอลกอฮอล์ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงประเภทนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพแอลกอฮอล์ให้ได้ตามมาตรฐาน GMP หรือ HACCP เพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ไม่ได้ใช้บริโภค

แต่ถ้าหากนำแอลกอฮอล์แอลกอฮอล์ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงไปใช้ในการผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เพื่อใช้ทำความสะอาดอื่นๆ เช่น ทำความสะอาด ลูกบิดประตู โต๊ะ เก้าอี้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าจะนำมาใช้กับร่างกายมนุษย์ ควรต้องส่งให้ อย. หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ตรวจรับรองคุณภาพก่อนหรือไม่

ปัญหาต่อมา หลังจากเกิดปัญหาแอลกอฮอล์ขาดตลาด ปรากฎว่ามีการโพสต์ขายแอลกอฮอล์ หรือ เจลล้างมือราคาแพงจำนวนมากมีทั้งที่ผลิตในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะนี้ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดไปตรวจสอบสินค้าที่โพสต์ขายว่าได้ตามมาตรฐานและผ่านการตรวจรับรองจากอย.หรือไม่

ดูรายละเอียดกระบวนการผลิตแอลกอฮอล์บริสุทธิ์

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต(กลาง)

จากประเด็นข้อห่วงใยดังกล่าวนี้ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้สอบถาม นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ชี้แจงว่า แอลกอฮอล์ที่ได้รับการสนับสนุนมาจากโรงงานเอทานอลทั้ง 26 โรง จำนวน 300,000 ลิตร เป็นแอลกอฮอล์ที่ใช้ผลิตเชื้อเพลิง แม้คุณภาพของของแอลกอฮอล์ประเภทนี้จะไม่ได้มาตรฐาน food grade แต่ก็ไม่ใช่ industry grade ยอมรับว่าเป็นเกรดที่ต่ำ แต่ในขณะนี้กรมสรรพสามิตได้ขอตัวอย่างแอลกอฮอล์จากโรงงานทั้ง 26 แห่ง ส่งให้ห้องแล็บของกรมสรรพสามิตตรวจทดสอบทั้งหมดแล้ว แม้ว่ามันไม่ใช่ food grade แต่ก็เป็นเกรดที่บริโภคได้เสมือนสุราประเภทหนึ่ง ซึ่งมีเกรดใกล้เคียงกัน ก่อนนำมาผลิตเจลล้างมือต้องผ่านการตรวจมาตรฐานทั้งหมด

“ยืนยันองค์การสุรามีกำลังการผลิตสุราสามทับเพียงพอกับความต้องการ ปัจจุบันองค์การสุรามีแอลกอฮอล์อยู่ในสต็อก 3 ล้านลิตร และที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีปัญหา แต่หลังจากที่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ปรากฏว่ามีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ เช่น ก่อนหน้านี้เคยซื้อแอลกอฮอล์กันคนละ 1 ขวด เมื่อเกิดปัญหาโควิด-19 ตอนนี้ซื้อกัน 10 ขวด แต่ใช้จริง 1 ขวด อีก 9 ขวดเก็บไว้ที่บ้าน จนทำให้ภาชนะบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กขาดแคลน ที่ผ่านมาองค์การสุรา ก็ต้องจัดสรรแอลกอฮอล์หรือเจลล้างมือให้กับหน่วยงานหรือองค์กรที่ให้บริการสาธารณะก่อนเป็นลำดับ ขณะที่ประเทศจีนเองก็มีปัญหาเรื่องการขนส่งล่าช้า แต่ในขณะนี้ทางประเทศจีนก็เริ่มทยอยส่งภาชนะบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กเข้ามาแล้ว แต่ถ้าหน่วยงานไหนต้องการสั่งซื้อแอลกอฮอล์เป็นถังขนาด 200 ลิตร สั่งมาได้เลย แต่ถ้าเป็นบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กต้องรอหน่อย” นายพชร กล่าว

หอกลั่นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ขององค์การสุรา จ.ฉะเชิงเทรา
แท็งก์เก็บแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
ภาชนะบรรจุแอลกอฮอล์ขนาด 200 ลิตร
รถขนแอลกอฮอล์