ThaiPublica > คอลัมน์ > แปลรักฉันด้วยใจเธอ เส้นแบ่งบางระหว่าง Y กับ Bara

แปลรักฉันด้วยใจเธอ เส้นแบ่งบางระหว่าง Y กับ Bara

30 มิถุนายน 2021


1721955

แปลรักฉันด้วยใจเธอ part 2 กลายเป็นประเด็นดราม่าเดือดในทวิตเตอร์ด้วยแฮชแท็ก #แปลรักฉันให้ใครดู ที่ด้อมแฟนลากดราม่าไปยาวถึง 2 สัปดาห์จน ep.จบของซีรีส์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหมาด ๆ นี้เอง

สำหรับคนไม่เคยดู เราขอก๊อปเรื่องย่อทั้ง 2 part มาให้อ่านดังนี้

Part 1 (2020 มี 5 ep.) กำกับ: นฤเบศ กูโน
เขียนบท: นฤเบศ กูโน, อรัชพร โภคินภากร, การะเกด นรเศรษฐาภรณ์, ณรณ เชิดสูงเนิน

“เต๋” (บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล) กับ “โอ้เอ๋ว” (พีพี-กฤษฏ์ อำนวยเดชกร) เพื่อนสนิทในวัยเด็กที่แตกหักกันไป กลับมาเจอกันอีกครั้งที่โรงเรียนกวดวิชาสอนภาษาจีนฟูหนานเหล่าซือ ทั้งสองกลายมาเป็นคู่แข่งคนสำคัญเพราะมีเป้าหมายอยากสอบเข้ามหาวิทยาลัยในคณะนิเทศศาสตร์เหมือนกัน พวกเขาจะแปลความหมายของคำว่า “ศัตรู” เป็นมิตรภาพได้หรือไม่

Part 2 (2021 มี 5 ep.) กำกับ: ทศพร เหรียญทอง
เขียนบท: ทศพร เหรียญทอง, วสุธร ปิยารมณ์, การะเกด นรเศรษฐาภรณ์

หลังจากเป็นแฟนกัน “เต๋” (บิวกิ้น) กับ “โอ้เอ๋ว” (พีพี) ได้เดินทางจากภูเก็ตไปเรียนมหาวิทยาลัยต่างที่กันในกรุงเทพฯ เต๋พยายามจัดสรรเวลามานอนที่คอนโดโอ้เอ๋วเพื่อจะได้มีเวลาอยู่ด้วยกัน แต่เมื่อกิจกรรมชมรมละครฝั่งเต๋เริ่มเข้มข้นขึ้น เวลาที่มีให้กันก็ลดน้อยลงไป โอ้เอ๋วจะผ่านพ้นความเหงาในช่วงเวลาปรับตัวไปได้อย่างไร

ก่อนจะทำความเข้าใจว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นที่กลายเป็นประเด็นของแฮชแท็ก #แปลรักฉันให้ใครดู คงต้องรู้ก่อนว่าทั้ง 2 part ไม่ใช่แค่ผู้กำกับคนละคนกันเท่านั้น หรือไม่ใช่แค่การเปลี่ยนโลเคชั่น จากภูเก็ตมาเป็นกรุงเทพเท่านั้น
จริง ๆ แล้วทั้ง 2 part เป็นซีรีส์คนละแนวเดียวกันเลย

กำเนิดวายในไทย

ย้อนกลับไปในประเทศไทย สิ่งที่เรียกว่าซีรีส์วายน่าจะเริ่มต้นขึ้นจาก เลิฟซิคเดอะซีรี่ส์ รักวุ่น วัยรุ่นแสบ (2014) ที่แจ้งเกิดนักแสดงหน้าใหม่ กลายเป็นกระแสคู่จิ้นมาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่ต้องการรสชาติแปลกต่าง และมีเนื้อหาเข้ายุคเข้าสมัยเกิดขึ้นได้ในสังคมจริง อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และต่อ ๆ มาก็มีเรื่องที่เรียกเสียงฮือฮาได้เป็นระยะ ๆ อย่าง พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง (2016) เดือนเกี้ยวเดือน (2017) จนวายกลายเป็นสินค้าฮิตในระดับที่ต่างชาติยังต้องเหลียวมอง เมื่อการมาถึงของ เพราะเราคู่กัน (2020)

เช่นกัน นาดาวบางกอก ค่ายบันเทิงที่คร่ำหวอดในวงการมาอย่างยาวนาน และกระมิดกระเมี้ยนทีเล่นทีจริงกับกระแสวายมาตลอดอย่าง ภู-ธีร์-นน-เต้อ ใน ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ทั้ง 3 ซีซั่น (2013-2015) Great Men Academy สุภาพบุรุษสุดที่เลิฟ (2019) หมอเต่า-ทิวเขา ใน รักฉุดใจนายฉุกเฉิน (2019) แต่ไม่มีครั้งไหนที่นาดาวจะห้าวหาญเหยียบลงมาเล่นกระแสวายอย่างเปิดเผยจนกระทั่ง แปลรักฉันด้วยใจเธอ อันเป็นโปรเจ็คต์พิเศษ BKPP หลังจากเกิดกระแสคู่จิ้น บิวกิ้นพีพี จาก รักฉุดใจนายฉุกเฉิน

ทว่าในประเทศไทยมักเรียกซีรีส์แนวชายรักชายเหล่านี้รวม ๆ กันว่า ซีรีส์วาย

แต่จริง ๆ แล้วซีรีส์แนวชายเลิฟชายทั้งหลายแหล่ที่มีอยู่ดกขึ้นมากในเวลานี้ บางเรื่องไม่ใช่วาย

วายคืออะไร

Y หรือ Yaoi ยาโอย หรือเรียกรวม ๆ กันว่า BL (Boy’s Love) ถ้าย้อนกลับไปที่จุดกำเนิดในญี่ปุ่น ระบุว่า “เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ในแบบความรักระหว่างเพศเดียวกัน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักจะเขียนโดยผู้หญิง สำหรับให้ผู้หญิงด้วยกันอ่าน และแตกต่างจาก สื่อบันเทิงเพศเดียวกันสำหรับเกย์”

ส่วนสื่อบันเทิงเพศเดียวกันสำหรับเกย์นั้น ถูกระบุว่า “Bara บาระ หรือ ML (Men’s Love) ที่ส่วนใหญ่รังสรรค์ขึ้นโดยชาวเกย์ และเพื่อเอาใจกลุ่มเกย์โดยเฉพาะ”

วาย ถือกำเนิดขึ้นในญี่ปุ่นยุค 70s ที่เริ่มจากการ์ตูนมังงะสำหรับผู้หญิง (Shojo manga) ทำให้เกิดแนวอันหลากหลายลึกซึ้งแยกย่อยลงไปอีก แต่ในที่นี้จะขออธิบายโดยสังเขป หลายสำนักว่ากระแสวายเกิดจากความกดดันในสังคมชายเป็นใหญ่ในญี่ปุ่น เช่น ภรรยาจะกินข้าวเย็นได้ก็ต่อเมื่อสามีกลับมากินพร้อมหน้าด้วยกัน หรือมารยาทที่หญิงต้องตักข้าวเสิร์ฟให้ฝ่ายชายก่อนเสมอ การถูกกดทับเหล่านี้ทำให้เกิดการจับจิ้นโดยผู้เขียน(เขียนโดยผู้หญิงในฐานะว่าให้ผู้หญิงด้วยกันอ่าน)อ่านแล้วจินตนาการไปว่า ตนเองเป็นชาย อยู่ในสถานะเท่าเทียมกันกับชายด้วยกัน แล้วหากเป็นเช่นนั้นตนเองจะได้รับรีแอ็ค หรือการปรนนิบัติตอบจากฝ่ายชายด้วยกันอย่างไร

แต่บ้างก็ว่าเป็นเพียงกระแสการสร้างโลกแฟนตาซี ให้ผู้ชายหน้าตาดี เย็นชา อันถือเป็นชายในอุดมคติของสาว ๆ ทั้งหลาย ว่าถ้าพวกเขามาเลิฟ ๆ กัน จะเกิดเรื่องราวแปลกใหม่ต่างไปจากรักแบบชายหญิงทั่วไปอย่างไร ดังนั้นแท้จริงแล้ว โลกของวาย ไม่ใช่โลกแห่งความเป็นจริง พวกเธอแอบจิ้นจินตนาการโลกสมมติที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวลานั้น สามสิบปีก่อน ยิ่งไม่มีทางเกิดขึ้นในสังคมยุคนั้น)

หรือถ้าจะวิเคราะห์แบบหยาบ ๆ กว้าง ๆ วาย วางอยู่บนพื้นฐานของแฟนตาซี กับ โลกในอุดมคติแฟนตาซี ถ้าหนังโป๊ญี่ปุ่นคือแฟนตาซีในโลกสำหรับผู้ชาย เราอาจจะเคยเห็นฉากร่วมเพศอันเร่าร้อนบนรถไฟชินคันเซ็น, หรือแอบแซ่บเซ็กซ์หมู่แกงแบง(Gang bang) ในแบบราดหน้าไม่มีหยุดหย่อน อะไรเทือกนี้คือสิ่งที่จริง ๆ แล้ว มนุษย์มีโอกาสกระทำในชีวิตจริงได้น้อยมาก (หรือแทบไม่ได้เลย) เช่นกัน การที่หญิงสักคนจู่ ๆ ตื่นขึ้นมากลายเป็นชาย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และแฟนตาซีเอามาก ๆ

ขณะที่โลกแห่งความเป็นจริง ความเชื่อในแบบผัวเดียวเมียเดียว ทำให้มนุษย์ต่างไขว่คว้า ยึดมั่นถือมั่นว่าคนรักของฉันจักต้องรักแต่ฉันเท่านั้น

วายจึงไม่ใช่แค่เรื่องรักระหว่างชายกับชาย ไม่ใช่เรื่องเกย์ แต่หมายถึงอุดมคติในแบบ…

‘ไม่ว่าเธอจะเป็นเพศอะไร ไม่ว่าเธอจะกลายเป็นใคร แต่ฉันจะรักเธอไม่มีวันเปลี่ยน แม้ว่าเพศสภาพเธอจะเปลี่ยนไป ฉันก็จะยังรักเธอ เพราะเธอเป็นเธอ’

Part 1 = ซีรีส์วาย

ดังนั้น แปลรักฉันด้วยใจเธอ part 1 เป็นซีรีส์วาย เพราะโลกใน part 1 เต็มไปด้วยแฟนตาซี และท่ามกลางความสับสนหรืออุปสรรคนานา สุดท้ายพวกเขาก็ได้คำตอบว่า จะรักแต่กันและกัน

อะไรทำให้ part 1 กลายเป็นแฟนตาซี เปิดฉากมาเริ่มแรกเลย เต๋ พระเอกของเราก็ร้องเพลงจีนสำเนียงจีนกลางชัดถ้อยชัดคำ เพื่อใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในคณะนิเทศ คำถามคือ ทำไมตัวละครต้องฝึกภาษาจีนอย่างคล่อง ชีวิตจริงเราใช้ภาษาจีนกลางในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ด้วยหรือ

ยิ่งไปกว่านั้น เป็นการผิดผีเอามาก ๆ เมื่อรู้ว่า เต๋ มาจากภูเก็ต เพราะคนภูเก็ต พูดภาษาจีนฮกเกี้ยนสำเนียงภูเก็ต ไม่ใช่จีนกลางสำเนียงพรรคคอมมิวนิสต์ชัดถ้อยชัดคำอย่างที่บ้านเต๋พูดทุกวี่วันในซี่รีส์ (ประเด็นนี้ถ้าย้อนกลับไปสมัยสงครามไทปิง บรรพบุรุษยุคนั้นอาจมีเคือง เพราะใช่ว่าจีนแต่ละสำเนียงจะเป็นพี่น้องกันเสมอไป แล้วเหตุใดที่จีนโพ้นทะเลต้องลี้ภัยไปตั้งรกรากอย่างยากลำบาก ตัวปัญหาก็จากพวกที่บังคับให้คนอื่นพูดสำเนียงจีนกลางชัด ๆ ทั้งนั้น ไม่เชื่อเชื้อสายจีนทั้งหลายลองไปจุดธูปถามอากงอาม่าว่าพวกท่านใช้ภาษาจีนไหนในชีวิตประจำวัน แต้จิ๋ว แคะ ไหหลำ ฮกเกี้ยนกันทั้งนั้น มีหรือจีนกลางชัด ๆ อย่างเต๋ เข้าใจว่านาดาวหวังตลาดจีน แต่รู้ไหมเอ่ยว่าซีรีส์รักเพศเดียวกันคือสิ่งต้องห้ามที่ประเทศจีนแบน)

หรือย้อนลึกไปกว่านั้น แรงบันดาลใจที่เต๋อยากเป็นนักแสดง อยากร้องเพลงจีน โดยโพล่งขึ้นมาว่า “พวกมึง โตขึ้น กูจะเป็นพระเอกแบบหย่งเจี้ยนเว้ย” ขณะดูละครจีน ‘กระบี่เย้ยจันทรา’ กับเพื่อน ๆ ที่ซีรีส์เล่าว่าเวลานั้นเป็นปี 2016 ถามหน่อยว่าละครจีนยังคงฮิต ยังคงมีถ่ายทอดให้ดูกันทางทีวีอยู่ไหมในปีนั้น…ไม่จริงเลย เพราะทีวีบ้านเราเดี๋ยวนี้ ถ้าไม่ใช่ซีรีส์เกาหลี ก็ซีรีส์อินเดีย หกปีที่แล้วบางทีเด็กวัยมัธยมต้นก็แทบจะเลิกดูทีวีกันแล้วเลย

[FYI: ซีรีส์จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เคยฮิตฮือฮาในบ้านเราจริง ๆ ในช่วงยุคทองคือช่วงปลายยุค70s -ถึงต้น 2000 อย่าง กระบี่ไร้เทียมทาน (1979), มังกรหยก (1983), เปาบุ้นจิ้น (1993), รักใสใสหัวใจสี่ดวง (2001) ฯลฯ]

บาระคืออะไร

ดังนั้น แปลรักฉันด้วยใจเธอ part 2 จึงเป็นแนว บาระ แต่บาระคืออะไร ย้อนกลับไปที่ญี่ปุ่น เมื่อแนววายเริ่มมีมากขึ้น ในปี 1986 จึงเริ่มมีผู้ชายหันมาเขียนในแนวที่ต่างออกไป และไม่ใช่เพื่อผู้อ่านการ์ตูนเพศหญิงอย่างที่วายเคยทำมา อันเป็นการ์ตูนส่วนแถมที่แทรกอยู่ในนิตยสารเกย์บนดินหัวแรกของญี่ปุ่น คือ Barazuka ที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1971

[ FYI: จริง ๆ แล้วก่อนหน้านี้มีนิตยสารเกย์อีก 2 หัวเกิดขึ้นมาก่อนคือ Adonis (1952) กับ Bara (1964) แต่ Barazuka เป็นฉบับแรกที่มีการ์ตูนแถม และวางขายทั่วไปบนแผง]

ความต่างของมังงะแนวนี้คือ ยึดถือโลกของความเป็นจริงเป็นหลัก เล่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตคู่รักระหว่างชายกับชาย การนอกใจ การเป็นไบเซ็กช่วล หรือการถูกสังคมบีบรัดให้จำต้องแต่งงานกับผู้หญิง และแน่นอนว่าฉากโจ๋งครึ่มต่าง ๆ ก็จะสมจริงกว่า แต่สิ่งนี้ไม่จำเป็นเสมอไป เพราะหลัง ๆ หญิงยุคใหญ่ก็วาดฉากแซ่บ หรือที่ชาววายเรียกว่าฉาก NC (ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 18 หรือมาจากคำว่า NC-17 ตามเรตติ้งหนังฝรั่งที่ว่าเด็กอายุเกิน 17 เท่านั้นจึงจะดูได้) ได้แซ่บกว่าเพศชายก็มี

Part 2 = ซีรีส์บาระ

อะไรทำให้ part 2 เป็นบาระ เพราะสิ่งที่ part 2 เน้น คืออุปสรรครอบข้าง ปัญหาสังคม เมื่อทั้งคู่เข้ามาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ ช่วงวัยเปลี่ยนผ่านในรั้วมหาลัย โลกของพวกเขาไม่ได้มีกันแค่สองคนอีกต่อไปแล้ว เกิดความขัดแย้งเรียนรู้หลากหลาย ไม่ว่าการที่ โอ้เอ๋ว เกิดตระหนักได้ว่าตัวเองไม่เหมาะกับการแสดงอันเคยเป็นวิชาที่เขาใฝ่ฝัน แต่เมื่อมาลองเรียนแล้วก็พบว่าไม่สามารถจะเปลี่ยนตัวเองไปตามบทบาทต่าง ๆ ได้ หรือการเหยียดเพศ เมื่อโอ้เอ๋วไปลองทดสอบบทสำหรับโฆษณา ก็ถูกผู้กำกับพูดจาเหยียด หรือความลื่นไหลทางเพศ อย่างการที่ ‘เพื่อนรับ’ ของโอ้เอ๋วได้กันเอง หรือพี่ขิม(อรัชพร โภคินภากร)ต้องทิ้งความฝันที่ทุ่มเทให้การแสดงมาตลอดเพื่อไปเป็นแอร์เพราะสภาพทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ความใจโลเลไม่มั่นคงของเต๋ ที่เมื่อใกล้ชิดพี่ไจ๋ (โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์) รุ่นพี่ชมรมละคร ก็มีหวั่นไหวปวกเปียกกระทั่งเผลอใจไปจูบกับเขา

และการที่เต๋ ตัวละครพระเอก ที่คนดูชาววายคาดหวังว่าเขาจะรักเดียวใจเดียว ตามอุดคติสายวาย แต่ดันไปปันใจให้กับตัวละครที่ไม่ใช่นายเอกอย่างพี่ไจ๋ จุดนี้จึงกลายเป็นที่มาของแฮชแท็ก #แปลรักฉันให้ใครดู ที่ดราม่ากันถึงขนาดขอให้สร้างใหม่ ให้เปลี่ยนผู้กำกับใหม่ก็มี ทั้งที่เอาจริง ๆ นาดาวก็เพลย์เซฟพอตัว คือแค่จูบกัน ส่งสายตากัน แต่อะไรเทือกนี้ก็ยังห่างไกลจากโลกแห่งความเป็นจริงอยู่ดี เพราะถ้าเต๋กับพี่ไจ๋มีตัวตนจริง ๆ พวกเขาไม่น่าจะยั้งใจได้แค่จูบ

บทความนี้ไม่ได้ต้องการจะชี้ว่า part 1 หรือ part 2 ดีกว่ากัน เพราะทั้งสองดำเนินไปกันคนละทาง มีข้อดีในแบบของตัวเอง เพียงแต่อยากให้ลองถอยออกมามองในมุมอื่น หรือทำความเข้าใจว่าความต่างกันของ 2 พาร์ทนี้ว่าคืออะไร ตัวละครเติบโตขึ้นหรือได้เรียนรู้อะไรมากขึ้นหรือไม่ หรือมีประเด็นสังคมใดใดให้ขบคิด และหวังว่าน่าจะพอคลายข้อสงสัยกันได้ว่าทำไมซีรีส์ 2 พาร์ทนี้จึงแตกต่างกัน