ThaiPublica > สู่อาเซียน > “บัตรเขียว”…Passport กระตุ้นเศรษฐกิจลาว

“บัตรเขียว”…Passport กระตุ้นเศรษฐกิจลาว

24 มิถุนายน 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

“บัตรเขียว” เอกสารซึ่งกำลังมีบทบาทสำคัญสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของลาวอยู่ในขณะนี้ ที่มาภาพ : ศูนย์ข่าวการแพทย์สุขศึกษา

สิ่งที่เจ้าของกิจการ ร้านค้าทุกแห่งในลาว อยากเห็นจากลูกค้าหรือผู้บริโภคของตนมากที่สุดตอนนี้ คือ “บัตรเขียว”

“บัตรเขียวมีบ่” เป็นคำถามแรกที่เจ้าของร้านทุกแห่งต้องถามจากลูกค้าที่มาซื้อสินค้าหรือบริการ

“บัตรเขียว”คืออะไร? ทำไมจึงมีบทบาทสำคัญสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจของลาวอยู่ในขณะนี้

“การบินลาวพร้อมกลับมาให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2564 นี้ ภายใต้มาตรการความปลอดภัยของคณะเฉพาะกิจควบคุมโควิด-19”

ประกาศของการบินลาว ที่บอกว่าจะกลับมาให้บริการเส้นทางบินในประเทศตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2564

เป็นประกาศของรัฐวิสาหกิจการบินลาว(Lao Airlines) ที่เผยแพร่ออกมาตอนเที่ยงวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน 2564 หรือ 2 วัน หลังรัฐบาลลาวได้ประกาศข้อปฏิบัติฉบับล่าสุด สำหรับมาตรการป้องกัน ควบคุม และสกัดกั้นการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อบ่ายวันที่ 19 มิถุนายน 2564vซึ่งมีผลใช้บังคับระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน-4 กรกฎาคม 2564

ถัดจากนั้น 1 วัน ในตอนเช้าวันอังคารที่ 22 มิถุนายน ลาวเดินอากาศ(Lao Skyway) สายการบินภายในประเทศอีกแห่งหนึ่งของลาว ได้ประกาศผ่านเพจทางการของบริษัทด้วยข้อความสั้นๆว่า

“ท่านพร้อมบินหรือยัง เราพร้อมบินแล้ว”

“ลาวเดินอากาศพร้อมบินแล้ว” เผยแพร่ตามมาตอนเช้าวันอังคารที่ 22 มิถุนายน 2564

ทั้งการบินลาวและลาวเดินอากาศได้ระงับเที่ยวบินภายในประเทศทุกเส้นทาง ตั้งแต่กลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังโควิด-19 กลับมาระบาดรอบที่ 2 ในลาว ซึ่งเป็นการระบาดที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง

  • สถานการณ์โควิด-19 ในลาว-กัมพูชา
  • การระบาดรอบ 2 เริ่มต้นหลังสิ้นสุดเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ลาว คณะเฉพาะกิจควบคุมโควิด-19 ได้นำมาตรการควบคุมที่เข้มงวด เด็ดขาดออกมาใช้ ทั้งสั่งล็อคดาวน์ ปิดการเข้า-ออกนครหลวงเวียงจันทน์และทุกเมืองที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สั่งปิดสถานบันเทิง ร้านอาหาร รวมถึงทุกกิจการที่อาจทำให้เกิดการชุมนุมหรือละเลยการเว้นระยะห่าง รวมถึงปิดโรงเรียน สถานศึกษา สถานออกกำลังกายในร่ม แม้แต่ลานออกกำลังกายสวนอะนุวง ริมแม่น้ำโขง ก็ถูกสั่งห้ามไม่ให้บุคคลเข้าไปในพื้นที่ สั่งให้พนักงานของรัฐและเอกชนเกือบทั้งหมดทำงานอยู่กับบ้าน และที่เกี่ยวข้องกับการบินลาวหรือลาวเดินอากาศมากที่สุด คือการห้ามการเดินทางระหว่างแขวงฯลฯ

    ทุกมาตรการกำหนดระยะเวลาบังคับใช้ 15 วัน และมีการทบทวนมาตรการ เมื่อใกล้ถึงเวลาครบกำหนดของแต่ละรอบ หากสถานการณ์โดยรวมยังไม่คลี่คลาย ก็ประกาศใช้ต่อไปอีก 15 วัน

    พร้อมๆกันนั้น ก็ได้เร่งกระตุ้นให้ประชาชนทุกคนออกไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

    หลังเกิดการระบาดรอบ 2 ในเดือนเมษายน 2564 กระทรวงสาธารณสุขพยายามกระตุ้นให้ทุกคนในลาวที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ให้ออกมาฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มาภาพ : ศูนย์ข่าวการแพทย์สุขศึกษา

    ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา เศรษฐกิจของลาวตกอยู่ในสภาพซบเซา ถนนหนทางเงียบเหงา ไม่มีผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอย อันเป็นผลจากมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่นำมาบังคับใช้อย่างเข้มงวด

    ภายใต้เนื้อความของประกาศรอบล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2564 ยังคงข้อห้ามเดิมเอาไว้หลายข้อ ขณะเดียวกัน ก็ผ่อนปรนมาตรการเดิมในหลายข้อที่เคยถูกบังคับเข้มงวดเอาไว้ช่วง 15 วันก่อนหน้านั้น

    ตัวอย่างบางมาตรการที่ได้รับการผ่อนปรน อาทิ ข้อ 2.10 กำหนดว่า…

    “ให้บรรดากระทรวง องค์กรเทียบเท่ากระทรวง นครหลวงเวียงจันทน์ กิจการต่างๆทั่วนครหลวงเวียงจันทน์ อนุญาตให้พนักงาน รัฐกร ลูกจ้างของตน กลับมาทำงานที่สำนักงานได้ตามปกติ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าสถานที่ทำงานของแต่ละหน่วยงาน สามารถรักษาระยะห่างได้ หรือมีพนักงานที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว แต่ถ้าหน่วยงานใดไม่สามารถรักษาระยะห่างได้ ให้ใช้วิธีผลัดเปลี่ยนกันเข้าไปทำงาน”

    อีกหนึ่งข้อผ่อนปรนที่เปิดโอกาสให้การบินลาวและลาวเดินอากาศสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ คือข้อ 2.8 ซึ่งมีรายละเอียดว่า…

    “อนุญาตให้มีการขนส่งโดยสารทางบก , ทางน้ำ และทางอากาศ ระหว่างแขวงต่อแขวงที่ไม่มีการระบาดในชุมชนได้ โดยไม่ให้มีการกักตัว สำหรับผู้โดยสาร เข้า-ออก นครหลวงเวียงจันทน์ หรือแขวงที่มีการระบาดในชุมชน ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม โดยไม่ให้มีการกักตัว แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการที่คณะเฉพาะกิจฯวางไว้อย่างเข้มงวด เช่น การวัดอุณหภูมิ การรักษาระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ หรือเจลแอลกอฮอร์อย่างเข้มงวด”

    รายละเอียดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่ว สปป.ลาว ทั้ง 1 และ 2 เข็ม แยกเป็นรายแขวง ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2564

    หากเทียบกับเมื่อปลายเดือนเมษายน 2564 แล้ว นับแต่กลางเดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นมา สถานการณ์โควิด-19 ในลาวคลี่คลายลงมาก ขณะเดียวกันจำนวนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนในลาวก็มีมากขึ้นเช่นกัน

    จุดนี้เอง ทำให้ทางการลาวเริ่มผ่อนคลายให้ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติในบางด้าน และเปิดโอกาสให้บางภาคธุรกิจกลับมาเปิดกิจการใหม่ได้อีกครั้งหนึ่ง โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือผู้ที่ได้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปเรียบร้อยแล้ว

    “บัตรเขียว” เอกสารรับรองซึ่งกระทรวงสาธารณสุขลาวออกให้แก่ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็มแล้ว

    จากจุดสูงสุดที่พบผู้ป่วยใหม่ถึง 113 รายภายในวันเดียว เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564 นับแต่นั้นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พบใหม่ในแต่ละวันของลาว เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

    ยิ่งเข้าสู่เดือนมิถุนายน 2564 จำนวนผู้ป่วยยืนยันใหม่ที่พบเพิ่มแต่ละวัน มีไม่ถึง 20 คน และนับจากกลางเดือนมิถุนายน ในจำนวนผู้ป่วยที่พบใหม่ทุกวัน สัดส่วนผู้ที่ติดเชื้อจากในประเทศ กับแรงงานที่เดินทางกลับไปจากประเทศไทย เริ่มขยับเข้ามาใกล้กันเรื่อยๆ

    วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน 2564 ได้ตรวจพบผู้ป่วยใหม่เพียงคนเดียว เป็นแรงงานที่กลับไปจากประเทศไทย โดยพบในศูนย์กักตัว

    สถานการณ์โควิด-19 ของลาว ณ เวลา 12.00 น. วันอังคารที่ 22 มิถุนายน 2564 มีผู้ป่วยยืนยันใหม่ 13 คน เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศเพียง 2 คน ที่เหลือ 11 คน เป็นแรงงานที่กลับจากประเทศไทย ยอดผู้ป่วยสะสมมี 2,067 คน รักษาหายแล้ว 1,954 คน เหลือรักษาตัวอยู่ 97 คน และมีผู้เสียชีวิต 3 ราย

    วัคซีน Sinopharm ที่จีนส่งมาช่วยลาวล็อตล่าสุด 5 แสนโดส เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่มาภาพ : สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

    ปัจจุบัน ลาวได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เป็นความช่วยเหลือจากประเทศต่างๆรวม 2,139,620 โดส ในนี้เป็นวัคซีน Sinopharm ที่จีนช่วยมามากที่สุด 1,902,000 โดส รองลงมาเป็นวัคซีนจากโครงการ COVAX 232,620 โดส แบ่งเป็นแอสตราเซเนกา 132,000 โดส กับ Pfizer อีก 100,620 โดส และ Sputnik V ที่ได้มาจากรัสเซียตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม 5,000 โดส

    วัคซีนล็อตล่าสุด เพิ่งส่งมาถึงลาวเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมานี้เอง เป็น Sinopharm จากจีน 500,000 โดส ส่วนก่อนหน้านั้น ในวันที่ 2 มิถุนายน COVAX ได้ส่งวัคซีนล๊อตที่ 2 เป็นยี่ห้อ Pfizer มาถึงลาว 100,620 โดส

    ตามโปรแกรมความช่วยเหลือจาก COVAX ลาวจะได้รับวัคซีน 480,000 โดส ส่วนรัสเซียมีแผนจะช่วยเหลือวัคซีนแก่ลาวรวม 2 ล้านโดส

    ลาวเริ่มกระบวนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ประชาชน ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2564 ซึ่งจากจำนวนประชากรทั่วประเทศที่มีอยู่ 7.2 ล้านคน กระบวนการฉีดวัคซีนในลาวไม่ฉุกละหุกเหมือนในประเทศไทย

    ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2564 ประชากรลาว 1,268,627 คน คิดเป็น 17.62% ของประชากรรวมทั้งประเทศ ได้ฉีดวัคซีนแล้ว ในจำนวนนี้ 798,257 คน หรือ 11.09% ได้ฉีดเข็มแรก และอีก 470,370 คน หรือ 6.53% ได้ฉีดครบแล้ว 2 เข็ม

    พื้นที่ซึ่งมีผู้ได้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วมากที่สุด 5 อันดับแรก คือนครหลวงเวียงจันทน์ รองลงมาเป็นแขวงบ่อแก้ว แขวงสะหวันนะเขต แขวงจำปาสัก และแขวงเวียงจันทน์(ดูรายละเอียดได้ในภาพประกอบ)

    ประชาชนลาวและผู้ที่อาศัยอยู่ในลาวซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว 2 เข็ม กระทรวงสาธารณสุขลาวจะมอบใบรับรองให้คนเหล่านั้นทุกคน ในใบรับรองมีการระบุรายละเอียดวัคซีนที่ฉีด มีตราประทับจากโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่ฉีดวัคซีนให้ เพื่อยืนยันว่าผู้ที่ถือใบรับรองนี้ได้ผ่านขั้นตอนการฉีดวัคซีนมาครบถ้วนแล้ว 2 เข็ม

    ใบรับรองนี้ถูกเรียกสั้นๆจากหน่วยงานและประชาชนทั่วไปว่า“บัตรเขียว”

    บ่ายวันอังคารที่ 22 มิถุนายน 2564 ทั้งการบินลาวและลาวเดินอากาศได้ประกาศเงื่อนไขการเดินทาง ที่จะนำมาใช้หลังจากเริ่มกลับมาเปิดให้บริการใหม่ เงื่อนไขที่ทั้งสองสายการบินกำหนดไว้เป็นลำดับแรกเหมือนกัน คือ…

    ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปกับทั้งการบินลาวและลาวเดินอากาศ ต้องแสดง“บัตรเขียว”เพื่อยืนยันว่าได้ฉีดวัคซีนครบแล้วทั้ง 2 เข็มก่อน จึงจะสามารถซื้อตั๋วได้!!!

    ก่อนหน้าการประกาศใช้มาตรการรอบใหม่เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2564 ในการทบทวนมาตรการเพื่อประกาศใช้ในรอบระหว่างวันที่ 5-19 มิถุนายน 2564 คณะเฉพาะกิจควบคุมโควิด-19 ก็ได้เริ่มผ่อนปรนบางมาตรการบ้างแล้ว เช่น ให้สถานีขนส่งผู้โดยสารทั้งสายเหนือและสายใต้ของนครหลวงเวียงจันทน์ กลับมาเปิดให้บริการได้ใหม่

    แต่เงื่อนไขการผ่อนปรนครั้งนั้น กำหนดให้ผู้ที่จะเดินทางไปกับรถโดยสารระหว่างแขวง ต้องได้รับ “บัตรเขียว” มาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 เดือน ทำให้จำนวนคนที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขนี้ มีอยู่เพียงไม่มาก สถานีรถโดยสารทั้ง 2 แห่ง จึงไม่สามารถให้บริการได้จริงตามที่ได้ประกาศ

    เงื่อนไขการเข้าใช้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตในศูนย์การค้าเวียงจันทน์เซ็นเตอร์ ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 โดยข้อแรกระบุชัดให้ลูกค้าแสดงบัตรเขียวก่อนเข้าไปยังซูเปอร์มาร์เก็ต

    อีกกิจการหนึ่งที่ได้รับการผ่อนปรนให้สามารถกลับมาเปิดขายได้อีกครั้ง คือร้านค้าประเภทซูเปอร์มาร์เก็ต โดยเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ศูนย์การค้าเวียงจันทน์เซ็นเตอร์ ได้มีประกาศว่า ส่วนของซูเปอร์มาร์เก็ตจะเริ่มกลับมาเปิดให้บริการใหม่ ตั้งแต่เวลา 10.00 น.ของวัน 5 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

    ในประกาศ กำหนดเงื่อนไขข้อแรกของผู้ที่จะเข้ามาซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตของเวียงจันทน์เซ็นเตอร์เอาไว้ คือ…

    ต้องแสดง“บัตรเขียว”เพื่อลงทะเบียนก่อนจึงจะเข้าไปเลือกซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตได้!!!

    หากลูกค้ารายได้ยังไม่มีบัตรเขียว ให้ใช้วิธีแสดงรูปสินค้าที่ต้องการซื้อแก่พนักงานตรงทางเข้า เพื่อให้พนักงานเป็นผู้เข้าไปหยิบสินค้านั้นมาให้ หรือมิเช่นนั้น ก็ใช้วิธีสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์แทน(ดูรายละเอียดเงื่อนไขในภาพประกอบ)

    ณ เวลาที่เวียงจันทน์เซ็นเตอร์ประกาศเงื่อนไขนี้ออกมา ในวันที่ 4 มิถุนายน 2564 มีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนในลาวแล้ว 957,785 คน เป็นเข็มแรก 674,311 คน และเข็มที่ 2 หรือผู้ที่มีบัตรเขียวอยู่ในมือแล้ว 283,474 คน

    ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นอีก 20 วัน เริ่มมีหน่วยงานของรัฐบางแห่งที่ได้นำการฉีดวัคซีนมาใช้เป็นเงื่อนไขสำหรับให้บริการแก่ประชาชน โดยวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 บุนปอน บุนสมหวัง หัวหน้ากองคุ้มครองพาหนะและการขับขี่ นครหลวงเวียงจันทน์ สังกัดกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ได้ออกหนังสือแจ้งการ เลขที่ 0401/กคพข.นว. เรื่อง การปฏิบัติมาตรการเข้มงวดเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

    ประกาศกองคุ้มครองพาหนะและการขับขี่ นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ที่จะไม่ให้บริการแก่ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน

    หนังสือฉบับนี้แจ้งถึงรัฐกร พนักงานของรัฐ ตำรวจ ทหาร นักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบการ ผู้ใช้แรงงาน ประชาชนลาว ชาวต่างชาติ รวมถึงผู้ที่ไม่มีสัญชาติ ที่อาศัยอยู่ในลาวทุกคนได้ทราบว่า ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป กองคุ้มครองพาหนะและการขับขี่จะไม่อนุญาตให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาทำงาน มาติดต่องาน หรือมาใช้บริการ ที่สำนักงานทั้ง 3 แห่ง ที่อยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์ ได้แก่ สำนักงานทุ่งป่ง สำนักงานสาขาเมืองนาซายทอง(น้ำซ่วง) และสำนักงานสาขาเมืองไซทานี

    สำหรับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้ว ให้นำใบรับรองการฉีดวัคซีน(บัตรเขียว) ติดตัวมาทุกครั้ง เพื่อความสะดวกในการใช้บริการของกองคุ้มครองพาหนะและการขับขี่ นครหลวงเวียงจันทน์(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหนังสือแจ้งการของกองคุ้มครองยานพาหนะและการขับขี่)

    ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2564 ลาวมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 623,577 คน แบ่งเป็นเข็มแรก 533,172 คน เข็มที่ 2 อีก 90,405 คน

    แนวคิดในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งของลาว ไม่แตกต่างจากอีกหลายประเทศ คือสร้างกลไกให้ผู้คนได้รับวัคซีนมากที่สุด และเมื่อได้จำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มมากแล้วในระดับหนึ่ง ก็จะกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เพื่อเพิ่มเม็ดเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบ

    แต่ลาวอาจใช้การสื่อสารแบบตรงๆไม้อ้อมค้อม โดยบอกชัดเจนออกไปเลยว่า ผู้ที่ได้โอกาสกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติได้ ต้องผ่านการฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้วเท่านั้น โดยมี “บัตรเขียว” เป็นเครื่องมือยืนยันให้สังคมเห็นถึงสถานะนี้

    “บัตรเขียว” จึงกลายเป็นเอกสารที่มีบทบาทสำคัญ จนทำให้มีกระบวนการทำบัตรเขียว “ปลอม” เกิดขึ้นตามมาในภายหลัง

    ดร.บุนทะวี เดดบันดิด รองหัวหน้าแผนกสาธารณสุข นครหลวงเวียงจันทน์ ที่มาภาพ : สำนักข่าวสารประเทศลาว

    วันที่ 18 มิถุนายน 2564 ดร.บุนทะวี เดดบันดิด รองหัวหน้าแผนกสาธารณสุข นครหลวงเวียงจันทน์ หนึ่งในคณะเฉพาะกิจควบคุมโควิด-19 ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เตือนประชาชนทั่วประเทศว่า ขณะนี้มีกลุ่มบุคคลผู้ไม่หวังดี ลงโฆษณาชวนเชื่อในสังคมออนไลน์ว่าสามารถทำ “บัตรเขียว” หรือเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนให้แก่ทุกคนได้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง

    ดร.บุนทะวีย้ำว่า ผู้ที่สามารถออก “บัตรเขียว” ได้ ต้องเป็นโรงพยาบาลหรือหน่วยงานสาธารณสุข โดยมีตราประทับของหน่วยงานนั้นๆกำกับไว้เท่านั้น จึงขอให้ทุกคนอย่าหลงเชื่อ และหากพบการโฆษณาชวนเชื่อประเภทนี้ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการตามกฏหมายโดยทันที…