ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ กาง“สูตร”จัดสรรวัคซีน-ชี้ส่งมอบล่าช้าเป็นปัจจัยที่คุมยาก-มติ ครม. ลดเงินนำส่ง สปส. 60% เยียวยา “อาชีพอิสระ” 6 เดือน

นายกฯ กาง“สูตร”จัดสรรวัคซีน-ชี้ส่งมอบล่าช้าเป็นปัจจัยที่คุมยาก-มติ ครม. ลดเงินนำส่ง สปส. 60% เยียวยา “อาชีพอิสระ” 6 เดือน

15 มิถุนายน 2021


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.Thaigov.go.th/

นายกฯ สั่งทุกหน่วยลุยปลดหนี้ ปชช. ใน 6 เดือน-กาง “สูตร” จัดสรรวัคซีน-ชี้ส่งมอบล่าช้าเป็นปัจจัยที่ควบคุมยาก-สยบข่าวยุบสภา ยันยังมุ่งมั่นทำงานร่วม ครม.-มติ ครม. ลดเงินนำส่ง สปส. 60% เยียวยา “อาชีพอิสระ” 6 เดือน-แก้ กม. เพิ่มประสิทธิภาพ “ออมสิน” จัดการหนี้เสีย

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

ยอมรับไม่สบายใจ หลังถูกวิจารณ์ปมเลื่อนฉีดวัคซีน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 หลังจากที่ได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติและได้เริ่มต้นคิกออฟพร้อมกันทั่วประเทศเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้กระจายวัคซีนไปทั่วประเทศแล้วมากกว่า 7 ล้านโดส และได้ฉีดวัคซีนไปมากกว่า 6.5 ล้านโดสแล้ว

“ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนเราฉีดไปได้มากกว่า 2 ล้านโดสในเวลา 1 สัปดาห์ นั่นคือความสามารถในการฉีดวัคซีนของเรา เพราะฉะนั้นถ้าวัคซีนเข้ามามากกว่านี้เราก็จะสามารถฉีดได้มากกว่านี้ตามระยะเวลาที่กำหนด ถือว่าเป็นความร่วมมือร่วมใจกันอย่างเต็มที่ของเจ้าหน้าที่ในทุกจุดบริการ ผมต้องขอขอบคุณท่านมา ณ ที่นี้ด้วย โดยเฉพาะบุคลากรทางแพทย์ที่อยู่หน้างานทั้งหมด จิตอาสา แพทย์ พยาบาลต่างๆ ในการดูแลอำนวยความสะดวก ซึ่งผมก็ได้รับความชมเชยมาจากประชาชน”

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ตนให้ความสำคัญในการที่จะทำให้การฉีดวัคซีนดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องมีการจัดสรรวัคซีนไปทั่วประเทศอย่างทั่วถึงและเพียงพอ โดยยอมรับว่าตนเอง ก็ไม่สบายใจกับปัญหาความล่าช้า และการสื่อสารกันระหว่างหน่วยงาน โดยได้มีการสั่งการเพื่อแก้ไขปัญหาอยู่ทุกวัน

“สิ่งที่ท่านอาจจะได้รับฟังจากข่าว หรือการประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีน อาจทำให้ท่านเกิดความไม่สบายใจและเข้าใจว่าภาครัฐไม่ได้จัดสรรวัคซีนให้อย่างเพียงพอ หรือภาครัฐไม่ได้มีการประสานงานกันอย่างดีพอ ข่าวเหล่านี้ผมได้รับทราบมาโดยตลอดและพยายามจะแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ผมขอเรียนอย่างจริงใจว่า ปัญหาเหล่านี้ผมเองก็ไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน เราจะพยายามหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน มีการสั่งการไปยังผู้รับผิดชอบเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดและสบายใจขึ้น”

กาง “สูตร” จัดสรรวัคซีน – ชี้ส่งมอบล่าช้าเป็นปัจจัยที่ควบคุมยาก

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นสำคัญก็อยู่ที่ปริมาณวัคซีนที่ทยอยเข้ามา ที่ต้องมีความสมดุลกับขีดความสามารถในการใช้แต่ละวันตามระยะเวลา ที่ถ้าหากฉีดเต็มอำนาจไปเลยวัคซีนหมดก็ต้องหยุด นี่คือข้อเท็จจริงและถ้ามีมากๆ ผมก็รับไปให้ในช่วงเวลาที่ได้ไปแล้วก็จะจัดสรรอันใหม่เข้าไปให้ด้วย จะต้องมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้นในระยะต่อไป

ในการดำเนินการตามวาระแห่งชาติการฉีดวัคซีนนั้น แต่ละหน่วยงานมีการแบ่งหน้าที่ในการรับผิดชอบอยู่ ไม่ใช่ว่าตนไปยึดอำนาจไว้คนเดียว

  • ศบค. ต้องเป็นหน่วยงานสูงสุดในการจัดการสถานการณ์โควิดฯ และการฉีดวัคซีน โดย ศบค. จะเป็นผู้รับผิดชอบและกำหนดนโยบายกำหนดหลักการในการจัดสรรวัคซีนให้แต่ละจังหวัด โดยมีหลักการสำคัญก็คือ ทุกจังหวัดจะต้องได้รับวัคซีนตามสัดส่วนจำนวนประชากรและเพิ่มเติมให้กับจังหวัดที่มีสถานการณ์ระบาด รวมทั้งเพิ่มเติมกลุ่มบุคคลที่มีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การศึกษาและอื่นๆ
  • หน่วยงานหลักที่ได้รับมอบนโยบายจาก ศบค. ก็คือกระทรวงสาธารณสุข ที่จะเป็นผู้กำหนดว่าวัคซีนที่ได้รับในแต่ละรอบจะจัดส่งแต่ละจังหวัดจำนวนเท่าใดตามหลักการในการจัดสรร โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งจัดสนวัคซีนในรอบนั้นกระจายไปยังทั่วประเทศโดยทันทีไม่รอช้า แต่อาจต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งในการตรวจสอบวัคซีนที่นำเข้ามาด้วยเพื่อให้เกิดความปลอดภัย
  • ความรับผิดชอบในแต่ละจังหวัดแต่ละพื้นที่ที่จะเป็นผู้กำหนดว่าแต่ละโรงพยาบาลและทุกจุดฉีดในจังหวัดจะได้รับวัคซีนเป็นจำนวนเท่าใดและจัดการจัดส่งให้อย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งการจัดสรรนี้จะต้องพยายามคำนึงถึงระยะเวลาที่มีจนกว่าจะได้รับการจัดสรรวัคซีนในรอบต่อไปเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องราบรื่นที่สุด

“การรับวัคซีนของเรานั้นเป็นการทยอยมาเป็นรอบไม่ใช่ได้มาครั้งเดียว 6 ล้านโดส หรือ 10 ล้านโดสตั้งแต่ต้นเดือนแล้ว เราจะส่งออกทันทีที่ได้รับวัคซีน ไม่รอเก็บไว้จนกว่าจะครบแล้วค่อยส่งออก ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นนั้นส่วนหนึ่งอาจเกิดจากปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก นั่นก็คือ การนำส่งวัคซีนที่ต้องใช้เวลาทำการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพ เราไม่อาจจะกำหนดได้แน่นอนทุกครั้งว่าจะได้รับวันใดเวลาใดเพราะเราจะได้รับเป็นรอบ ไม่ใช่ได้ครั้งเดียวจำนวนมากๆ ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกก็เจอปัญหานี้ทั้งสิ้น”

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “สูตร”ในการจัดสรรวัคซีนที่ผมกำหนดนโยบายหรือสั่งการไปมีดังนี้

  1. เมื่อมีวัคซีนมากระทรวงสาธารณสุขตรวจสอบแล้วต้องส่งให้กับทุกจังหวัดทันที จะไม่มีจังหวัดใดที่ไม่ได้เพิ่มเติมในแต่ละรอบ ซึ่งในอนาคตอาจมีการยกเว้นจังหวัดที่ฉีดวัคซีนได้ครบตามเป้าหมายแล้วหรือบางจังหวัดที่ ศบค. พิจารณาว่ายังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน อันนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดด้วยในแต่ละพื้นที่
  2. จำนวนวัคซีนที่นำส่งให้แต่ละจังหวัดขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่นำมาคำนวณด้วย ได้แก่ จำนวนประชากร จำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้จองในระบบหมอพร้อม และระบบของจังหวัด และกลุ่มเฉพาะอาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อมพื้นที่เศรษฐกิจซึ่งเป็นต้นทุนของเราในเรื่องของการส่งออก
  3. หากจำนวนวัคซีนที่ได้คำนวณแล้วไม่เพียงพอต่อการฉีดในรอบนั้นให้แต่จังหวัด และจุดฉีดพิจารณาจัดสรรให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มโรคเสี่ยงที่ลงทะเบียนไว้ก่อนแล้ว
  4. หากมีความจำเป็นที่จะต้องชะลอการฉีดวัคซีนตามกำหนดเดิม ระหว่างรอการนำส่งวัคซีนต้องยึดลำดับเดิมไว้ก่อนโดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ และจัดการฉีดวัคซีนตามลำดับเดิมทันทีที่ได้รับการจัดสรรวัคซีน

ประเทศไทยยังมีข้อได้เปรียบที่มีบริษัทสยามไบโอไซน์ ซึ่งผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทย ทำให้การขนส่งทำได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัทใหญ่จะต้องพิจารณาในการส่ง ทั้งนี้ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตสำคัญในอาเซียน และส่วนหนึ่งก็จะใช้ยอดตรงนี้ในการจัดหาให้กับอาเซียนด้วย

ขอโทษ ปชช. ปมเลื่อนฉีด เผยหาวัคซีนครบ 100 ล้านโดสแล้ว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า การปรับแผนการฉีดวัคซีนจนอาจกระทบกับผู้ลงทะเบียนไว้ก่อนนั้นเป็นการปรับแผนตามสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น ให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงอย่างกรุงเทพมหานคร และอีกส่วนหนึ่งเพื่อเหตุผลทางเศรษฐกิจที่จะต้องลดการปิดโรงงาน เพราะจำเป็นต้องมีการให้ภาคการผลิตดำเนินต่อไปได้

พร้อมกล่าวยอมรับอีกครั้งว่า ภารกิจครั้งนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก มีผลกระทบต่อผู้อยู่ในประเทศไทยทั้ง 70 ล้านคนจึงอาจเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในการประสานงานกันระหว่างหน่วยงาน อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานต้องมีความพยายามในการแก้ไขปรับปรุงตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความรับรู้ความเข้าใจของประชาชน

“ในฐานะนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการ ศบค. ก็ถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในสงครามโควิคครั้งนี้ ต้องขออภัยด้วยต่อปัญหาที่เกิดขึ้นและขอรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาทั้งหมด ซึ่งผมก็ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกวันทุกเวลาอยู่แล้ว เพราะถือเป็นวาระแห่งชาติที่ผมได้ประกาศออกไป เราต้องร่วมใจกันทุกฝ่ายในการดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จเพื่ออนาคตของประเทศชาติ ปัญหาอุปสรรคอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา”

ตอนนี้ทั่วโลกก็ยังมีวัคซีนจำนวนจำกัด ทำให้กระทบต่อการจัดการ แต่จากการวางแผนมาอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลในการจัดหาวัคซีนล่วงหน้า ทำให้มั่นใจว่าจะได้รับวัคซีนมาอย่างต่อเนื่องและในปริมาณที่มากขึ้นเรื่อยๆ จากหลายแหล่งด้วยกัน โดยยังยืนยันว่าสามารถจัดการวัคซีนได้เพียงพอสำหรับประชาชนในไประเทศไทยทุกคน พร้อมขอให้ช่วยกันให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ แพทย์ พยาบาล อย่าพูดจาไม่ดีใส่กัน

“สามารถจัดหาวัคซีนได้เป็นไปตามเป้าหมายจำนวน 100 ล้านโดสแล้ว สำหรับประชาชนจำนวน 50 ล้านคนหรือ 70% ของประเทศภายในสิ้นปีนี้ และได้เตรียมการสำหรับปีหน้าไปด้วยสำหรับวัคซีนที่ได้มาเพิ่มเติมจาก 100 ล้าน โดยจะจัดสรรเพิ่มเติมให้เป็น 80-90% ให้ได้ถึง 150 ล้านโดส เพราะเรามีขีดความสามารถในการฉีดอยู่แล้ว”

“เรื่องของวัคซีนโควิดฯ นั้นผมในฐานะของนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ ศบค. ผมก็ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดด้วยตัวเองตลอดมา ขอย้ำว่าการดำเนินการทุกอย่างจะต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส จะต้องไม่มีการทุจริตโดยเด็ดขาด และเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าด้วยศักยภาพและความทุ่มเท เสียสละ ของบุคลากรทุกประเภทของเราในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดและการระดมฉีดวัคซีน เราจะต้องชนะสงครามโควิดฯ ครั้งนี้ไปด้วยกันอย่างแน่นอน”

สั่งทุกหน่วยลุยปลดหนี้ ปชช.ใน 6 เดือน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนได้นำเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนเสนอต่อที่ประชุม ครม. ให้รับทราบถึงปัญหาของไทยว่าประชาชนของยังมีหนี้เป็นจำนวนมากมีนี่ตั้งแต่อายุยังน้อย รัฐบาลพยายามแก้ไขมาโดยตลอดในเรื่องหนี้นอกระบบ โดยจำดำเนินการให้เข้มงวดให้มากยิ่งขึ้น และต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ และจะต้องแก้ปัญหาให้ครอบคลุมหนี้สินกลุ่มต่างๆ

“ที่ผมร้อนใจมากที่สุดคือหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มีจำนวน 3.6 ล้านคน ผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน หนี้ครูราชการ 2.8 ล้านบัญชี หนี้เช่าซื้อรถยนต์ และมอเตอร์ไซค์ 27.7 ล้านบัญชีหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 49.9 ลานบัญชีปัญหาหนี้สินอื่นๆ ของประชาชน 51.2 ล้านบัญชี”

ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดมาตรการทั้งในระยะสั้น และระยะต่อไปดังนี้

  • มาตรการระยะสั้น จะดำเนินการให้เกิดขึ้นได้ภายใน 6 เดือน ได้แก่ การลดภาระดอกเบี้ยของประชาชนทั้งในส่วนของสินเชื่อรายย่อยสินเชื่อพิโกและนาโน ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับครูและราชการรวมถึงสหกรณ์ ปรับรูปแบบการชำระหนี้คุ้มครองความเป็นธรรมให้ประชาชนที่เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ยและการกำกับดูแลบัตรเครดิตสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียนอีกด้วย

มีการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินเพื่อลดการดำเนินคดีกับประชาชน เช่น หนี้ กยศ. หนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หนี้สหกรณ์และให้มีการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) จัดให้มีซอฟต์โลนสำหรับเอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอล เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ เพิ่มจำนวนโรงรับจำนำและจัดทำโรงรับจํานองเพิ่มขึ้น เพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อยแต่มีที่ดินจำนวนจำกัดอยู่เพื่อที่จะเข้าถึงสินเชื่อเหล่านี้

  • สำหรับมาตรการต่อไประยะต่อไปคือเร่งส่งเสริมการแข่งขันให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง การให้ความช่วยเหลือเด็กรุ่นใหม่ คนเกษียณ ที่มีภาระหนี้สิน โดยจะต้องออกมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัย ค่าเดินทางในระบบขนส่งมวลชนในราคาถูก การจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่เพื่อกำกับดูแลสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อรายย่อยเป็นการเฉพาะ การจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงินเพื่อชะลอการฟ้อง อำนวยความสะดวกให้การฟื้นฟูหนี้รายบุคคลที่มีเจ้าหนี้หลายราย เป็นต้น

“สำหรับหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันนั้นผมมีข้อมูลไว้ว่าก่อนปี 2557 มีอัตราเพิ่มขึ้นเดือนละ 88,000 ล้านบาท แต่จากปี 2557 จนถึงปัจจุบันมีการเพิ่มขึ้นในอัตราเดือนละ 50,000 ล้านบาท นี่เป็นข้อมูลเพื่อทราบนะครับ”

ปลื้มศาลล้มละลายผ่านแผนฟื้นฟู “การบินไทย”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวแสดงความยินดีที่ศาลล้มละลายกลางมีมติเห็นชอบแผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด ​(มหาชน) แล้ว พร้อมทั้งขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความร่วมมือเดินหน้าฟื้นฟูการบินไทยฯ ให้ประสบความสำเร็จ

สยบข่าวยุบสภา ยันยังมุ่งมั่นทำงานร่วม ครม.

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวยืนยันความสัมพันธ์ในรัฐบาล ว่า ตนขอเน้นย้ำว่าตนและรัฐบาล และคณะรัฐมนตรีทุกท่าน ยังมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศและทั่วโลก ขณะที่ยังไม่พ้นจากวิกฤติโควิดฯ

“ที่ผ่านมานั้นเราสามารถจัดการมาได้เป็นอย่างดีวางแผนเตรียมพร้อม เพื่อความมั่นคงของประเทศทางด้านเศรษฐกิจ ปากท้องให้พ้นจากความยากจน ทุกอย่างต้องทำประกอบไปด้วย ถ้าเราสาละวนกับโควิดฯ อย่างเดียวก็คงไม่ได้ สิ่งสำคัญคือสุขภาพของประชาชน และเรื่องของการเตรียมการประเทศของเราในช่วง new normal ทั้งเรื่องการลงทุนและอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต ต้องทำควบคู่ขนานไปด้วยเราหยุดด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้เพียงแต่จะต้องบริหารให้เกิดความสมดุลได้อย่างไรในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งถือว่าเราทำได้ดีในอันดับต้นๆ ของโลกเช่นกัน ในเรื่องนี้ก็อยากให้ทุกคนเข้าใจตรงนี้”

ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มสำหรับประเด็นคำถามที่นายกฯ ยืนยันอยู่จนครบเทอม แต่สถานการณ์ขณะนี้พรรคร่วมทุกพรรคพยายามสร้างคะแนนนิยมให้ตนเองสำหรับการเลือกตั้งในระยะเวลาอันใกล้นี้ ว่า นายกรัฐมนตรียังคงยืนยันว่าจะทำหน้าที่ในรัฐบาลปัจจุบันร่วมกับคณะรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาลอย่างเต็มที่ และมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่งบประมาณที่ใช้ไปในโครงการต่างๆ ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดฯ ยังมีอยู่ในปัจจุบัน และเนื่องจากข้อมูลเปลี่ยนแปลงไปตลอดจึงเน้นย้ำให้มีการพูดคุยกันมากขึ้นเพื่อสื่อสารให้แก่ประชาชน

ยันประชุม พปชร. ขออนุญาต ศบค.ถูกต้อง

ต่อคำถามถึงข้อกังวลการประชุมสมาชิกพรรคพลังประชารัฐในสถานการณ์โควิดฯ นายอนุชาระบุว่า นายกฯ ยืนยันว่า การจัดการประชุมนั้นมีการขออนุญาตและเป็นไปอย่างถูกต้องตามที่ ศบค. กำหนดมาตรการ

ผุดไอเดียขึ้นบัญชีผู้ติดยาเสพติด

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนยังคงยืนยันและให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาทุจริต ซึ่งตนได้มีการตรวจสอบทุกเรื่อง หากมีเรื่องใดที่เสนอเข้ามาถึงสํานักปลัดสํานักนายกรัฐมนตรีแล้วจะต้องดำเนินการสอบสวน

“สิ่งสำคัญคือต้องไม่มีการทุจริตโดยเด็ดขาด ต้องตรวจสอบขึ้นมาแผนต่างๆ มีรายละเอียดเพียงพอหรือไม่ถ้าไม่พออนุมัติไม่ได้ ก็ขอให้ศึกษารายละเอียดนี้ด้วยทั้งส่วนกลางส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งเพราะวันนี้ช่องทางการรายงานการตรวจสอบมีจำนวนมาก เพราะผมไม่ได้ปิดกั้นในเรื่องเหล่านี้ขอบคุณอีกครั้ง ผมยืนยันว่าผมจะทำทุกอย่างให้กับท่านให้ดีที่สุด”

“หลายเรื่องเกิดขึ้นมาก่อนหน้ารัฐบาลผม แต่ได้รับการตรวจสอบในสมัยรัฐบาลผมนี่แหละ ตามกฎหมายผมละเว้นใครไม่ได้อยู่แล้ว ยืนยันเจตนารมณ์ตามที่ได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติไปแล้วในเรื่องการแก้ไขปัญหาการทุจริตและปัญหายาเสพติด”

เรื่องยาเสพติดวันนี้ตนได้ให้แนวนโยบายใหม่ไปว่า เป็นไปได้หรือไม่ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปรึกษาหารือว่าจะดำเนินการสำรวจทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน เพื่อขึ้นทะเบียนผู้ติดยาเสพติด เพื่อนำสู่การบำบัดรักษา ลดภาระของพ่อแม่พี่น้อง ส่วนที่เรื่องการขายการจำหน่ายหรือนายทุนต่างๆ จะต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ รวมไปถึงการยึดทรัพย์ด้วย

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)

ลดเงินนำส่ง สปส. 60% เยียวยา “อาชีพอิสระ” 6 เดือน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราการจ่ายเงินสมทบของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน ในกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. …. โดยปรับลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมตามมาตรา 40 เหลือร้อยละ 60 ของเงินสมทบเดิม เป็นระยะเวลา 6 เดือน และร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคล ซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน ในกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. …. ลดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม  เป็นระยะเวลา 6 เดือน ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยให้มีผลหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

“การปรับลดเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เหลือร้อยละ 60 เป็นระยะเวลา 6 เดือนนั้นจะมีทางเลือกทั้งหมด 3 แนวทาง คือ ทางเลือกที่ 1 (ได้ประโยชน์ทดแทน 3 กรณี) ให้นำส่งเงินสมทบในอัตราใหม่ที่ 42 บาท/เดือน จากอัตราเงินสมทบเดิม 70 บาท/เดือน ทางเลือกที่2 (ได้ประโยชน์ทดแทน 4 กรณี) ให้นำส่งเงินสมทบในอัตราใหม่ที่ 60 บาท/เดือน จากอัตราเดิม 100 บาท/เดือน และทางเลือกที่3 (ได้ประโยชน์ทดแทน 5 กรณี) ให้นำส่งเงินสมทบในอัตราใหม่ที่ 180  บาท/เดือน จากอัตราเดิม 300 บาท/เดือน” นายอนุชา กล่าวว่า

สำหรับเงินสมทบที่รัฐบาลชำระเข้ากองทุนประกันสังคม ให้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน ดังนี้ โดยการส่งเงินสมทบทางเลือกที่ 1 อัตราเงินสมทบใหม่ 21 บาท/เดือน จากอัตราเงินสมทบเดิม 30 บาท/เดือน ทางเลือกที่ 2 อัตราเงินสมทบใหม่ 30 บาท/เดือน จากอัตราเดิมที่ 50 บาท/เดือน และทางเลือกที่ 3 อัตราเงินสมทบใหม่ 90  บาท/เดือน จากอัตราเดิมที่ 150 บาท/เดือน

นายอนุชา กล่างต่อว่า การปรับลดอัตราการจ่ายเงินสมทบเป็นระยะเวลา 6 เดือน จะส่งผลให้ผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบลดลง 378 ล้านบาท ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนและเพิ่มกำลังซื้อมากขึ้น จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในระหว่างการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขณะที่รัฐบาลลดนำส่งเงินสมทบลง 189 ล้านบาท รวมทั้งแรงงานนอกระบบมีแนวโน้มที่จะเลือกส่งเงินสมทบตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ ซึ่งเป็นแบบสมัครใจเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่มีการลดอัตราการจ่ายเงินสมทบดังกล่าว  โดยกระทรวงแรงงานคาดว่าจะมีเงินสมทบลดลงหลังจากการปรับลดอัตราการจ่ายเงินสมทบ 6 เดือน จำนวน  567 ล้านบาท เหลือจำนวน 850.5 ล้านบาท จากจำนวนเดิม 1,417.5 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมจัดสรรเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามอัตราปกติ

ผ่าน 7 ยุทธศาสตร์พัฒนาเด็กปฐมวัย ชู “เก่ง-ดี-มีสุข”

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติ เห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570  โดยมุ่งพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดของกระบวนการพัฒนาเด็กให้เป็นเด็ก “เก่ง ดี มีสุข” โดยให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำ(ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570   เป็นกรอบแนวทางและเป้าหมายร่วมในการพัฒนาคุณภาพ การบริการ ดูแล พัฒนาและจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เด็กปฐมวัยทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านเต็มตามศักยภาพ เป็นพื้นฐานของความเป็นพลเมืองคุณภาพ

(ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570 ประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

  1. การจัดการและการให้บริการแก่เด็กปฐมวัย เช่น สร้างกลไกความร่วมมือในการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา จัดให้มีระบบการสำรวจ คัดกรอง และวินิจฉัยเพื่อหาภาวะความต้องการพิเศษ/ด้อยโอกาส เป็นต้น
  2. การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวในการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย เช่น ขับเคลื่อนพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 จัดหรือสนับสนุนให้มีบริการรับเลี้ยงและพัฒนาเด็กทารกวัยเตาะแตะในชุมชน/สถานประกอบการ เป็นต้น
  3. การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการพัฒนาเด็กปฐมวัย เช่น ส่งเสริมและสนับสนุนทรัพยากรให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกแห่งอย่างเพียงพอ สร้างระบบพัฒนาสมรรถนะบุคลากรและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นต้น
  4. การพัฒนาระบบและกลไกการบูรณาการสารสนเทศเด็กปฐมวัยและการนำไปใช้ประโยชน์ เช่น วิเคราะห์และออกแบบโครงสร้างฐานข้อมูลรายบุคคลและสารสนเทศเด็กปฐมวัยที่สำคัญ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการวางแผน ติดตาม และประเมินผลการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
  5. การจัดทำและปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยและการดำเนินการตามกฎหมาย เช่น รวบรวม จัดทำ ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อลดความซ้ำซ้อน และให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 และมาตรฐานสากล เป็นต้น
  6. การวิจัยพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ เช่น วิเคราะห์และสังเคราะห์งานวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยพัฒนาระบบการจัดการความรู้ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยในมิติต่าง ๆ เป็นต้นการบริหารจัดการ การสร้างกลไกการประสานการดำเนินงานและการติดตามประเมินผล เช่น พัฒนาระบบการบริหารจัดการการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างกลไกการประสานงานด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นต้น

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังย้ำว่า (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570 ที่กระทรวงศึกษาธิการได้เสนอมานี้  เพื่อกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน  เชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินงานร่วมกันในลักษณะบูรณาการ เพื่อให้เด็กปฐมวัยทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านอย่างมีคุณภาพ ตามศักยภาพ ตามวัยและต่อเนื่อง และสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ การศึกษา และสวัสดิการสังคมได้อย่างเท่าเทียมกันด้วย

ถอนร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่วว่า ครม. เห็นชอบให้ถอนร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ ฉบับที่.. พ.ศ. …. ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำกลับไปพิจารณาทบทวนให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบมากยิ่งขึ้น และรับข้อสังเกตจากองค์กรต่างๆ อาทิ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ไปพิจารณา

แก้ กม.เพิ่มประสิทธิภาพ “ออมสิน” จัดการหนี้เสีย

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการประกอบกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารของธนาคารออมสิน (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ  ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงว่าด้วยการประกอบกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารของธนาคารออมสิน พ.ศ.2547 เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประกอบกิจการให้สินเชื่อของธนาคารออมสิน และหลักเกณฑ์การบริการจัดการอสังหาริมทรัพย์ที่ตกเป็นของธนาคาร เพื่อให้การดำเนินงานของธนาคารออมสินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น และสอดคล้องกับกฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบัน โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  1. ยกเลิกหลักเกณฑ์ในการประกาศการประกอบกิจการ หรือ เลิกประกอบกิจการ อันพึงเป็นงานธนาคารที่จะกระทำ ณ สำนักงานใหญ่ สาขา หรือตัวแทน เนื่องจากปัจจุบัน ธนาคารออมสินได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าทราบถึงบริการของธนาคารในแต่ละสาขาทั้ง 1,057 สาขาอยู่แล้ว และเป็นการลดขั้นตอนการดำเนินการที่ซ้ำซ้อน
  2. กำหนดให้ธนาคารออมสิน มีอำนาจในการบริหารจัดการทรัพย์สินที่ตกเป็นของธนาคาร ซึ่งได้มาจากการชำระหนี้ การประกันสินเชื่อ การเอาจำนองหลุด หรือ การซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจำนองหรือประกันการชำระหนี้ไว้แก่ธนาคารจากการขายทอดตลาด ด้วยวิธีการขาย จำหน่าย ให้เช่า เช่าซื้อ หรือ วิธีอื่นที่ธนาคารพาณิชย์สามารถทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน จากเดิมที่ให้อำนาจธนาคารออมสินบริหารจัดการสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน ซึ่งตกเป็นของธนาคารเท่านั้น ไม่สามารถรับโอนทรัพย์ชำระหนี้สำหรับทรัพย์ที่ไม่ได้เป็นหลักประกันได้เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์อื่น
  3. กำหนดให้ธนาคารออมสิน สามารถขายหรือโอนลูกหนี้สินเชื่อ รวมทั้งบริหารจัดการทรัพย์ที่ตกเป็นของธนาคารดังกล่าวได้ เพื่อให้ธนาคารมีเครื่องมือในการบริหารจัดการคุณภาพลูกหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากเดิม กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจธนาคารในการขายหรือโอนลูกหนี้สินเชื่อเช่นเดียวกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจแห่งอื่น
  4. กำหนดให้ธนาคารออมสิน จะต้องขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตกเป็นของธนาคารภายใน 5 ปี นับแต่วันที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตกเป็นของธนาคาร เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะอนุญาตขยายระยะเวลากินกว่านั้น และกำหนดให้จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวด้วยวิธีการขายทอดตลาด หรือโดยวิธีอื่นตามที่คณะกรรมการธนาคารเห็นสมควร เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น จากเดิม กฎหมายไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ที่ตกเป็นของธนาคาร
  5. บทเฉพาะกาล กำหนดให้ธนาคารออมสินจะต้องดำเนินการขออนุญาตขยายระยะเวลาการถือครองอสังหาริมทรัพย์ที่ตกเป็นของธนาคารครบ 5 ปี ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2565 ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ใช้บังคับ

อนุมัติงบกลาง 3 พันล้าน บริหารน้ำ-แก้ภัยแล้ง

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 3,248.52 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง และเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือสำหรับสนุนการจัดการน้ำในฤดูฝน รวม 2,854 รายการ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ โดยมี 5 กระทรวงและ 7 หน่วยงาน เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการดังนี้

  1. กรมชลประทาน วงเงิน 1,202.42 ล้านบาท จำนวน 44 รายการ เช่น การขุดลอกฝาย/ห้วย/อ่างเก็บน้ำ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ จัดหาเครื่องสูบน้ำ
  2. กรมทรัพยากรน้ำ วงเงิน 48.36 ล้านบาท จำนวน 4 รายการ เช่น การปรับปรุงซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ การก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
  3. กรมทรัพยากรน้ำบาดาล วงเงิน 1,447.65 ล้านบาท จำนวน 2,195 รายการเช่น การฟื้นฟูสภาพบ่อน้ำบาดาล โครงการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น
  4. จังหวัด วงเงิน 227.92 ล้านบาท จำนวน 395 รายการ เช่น การขุดลอกคลอง/สระ/อ่างเก็บน้ำ การปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร การขุดเจาะบ่อบาดาล
  5. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น วงเงิน 176.59 ล้านบาท จำนวน 212 รายการ เช่น การก่อสร้างคลองส่งน้ำ การขุดเจาะบ่อบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์ การก่อสร้างระบบผลิตเพิ่มประสิทธิภาพน้ำประปา
  6. สทนช. วงเงิน 115.01 ล้านบาท จำนวน 2 รายการ คือ การจัดหาครุภัณฑ์ประกอบพร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และหน่วยอำนวยการติดตามคาดการณ์สถานการณ์น้ำเคลื่อนที่ในภาวะเข้าใกล้วิกฤต
  7. หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา วงเงิน 30.57 ล้านบาท จำนวน 2 รายการ คือ การขุดลอกแหล่งน้ำ และการซ่อมทางผิวจราจรลาดยาง

ยกเลิก กม.ขออนุญาตนำเข้าเครื่องก๊อบปี้ “เทป-วีดิโอ-ซีดี”

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 96) พ.ศ.2536 พ.ศ. …. ที่กำหนดให้เครื่องจักรที่สามารถใช้เพื่อประโยชน์ในการละเมิดลิขสิทธิ์เทปเพลง วีดีโอเทป และแผ่นซีดี เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้า ซึ่งปัจจุบันไม่มีการนำเข้าสินค้าเครื่องจักรที่สามารถใช้เพื่อประโยชน์ในการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวแล้ว อีกทั้งรูปแบบการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ปรับเปลี่ยนเป็นการละเมิดผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

อย่างไรก็ตาม การยกเลิกประกาศดังกล่าว จะไม่ทำให้การป้องกันปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ด้อยประสิทธิภาพลง เพราะเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถใช้กลไกตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในการเอาผิดกับผู้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ รวมถึงยังมีกลไกตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาได้ ซึ่งการปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ในการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

ปรับเกณฑ์ ตม.บังคับต่างชาติทำประกันสุขภาพพ่วงค่ารักษาโควิดฯ

นางสาวไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ครม. อนุมัติในหลักการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติมรองรับการทำประกันสุขภาพ สำหรับชาวต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa หรือ O-A ระยะ 1 ปี ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 ซึ่งหลักเกณฑ์เดิมกำหนดให้ต้องซื้อประกันสุขภาพของไทยที่มีวงเงินสำหรับค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 40,000 บาท และกรณีผู้ป่วยในไม่น้อยกว่า 400,000 บาท โดยซื้อกรมธรรม์แบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Longstay.tgia.org ซึ่งมีปัญหาในการดำเนินการจึงต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์กันใหม่ ดังนี้

  1. การขอตรวจลงตราฯครั้งที่ 1 ให้มีประกันสุขภาพ  หรือสวัสดิการภาครัฐที่มีวงเงินคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล และมีประกันที่ครอบคลุมการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 3 ล้านบาท
  2. การขอตรวจลงตราเพื่อการขออยู่ต่อ อนุญาตให้ซื้อประกันสุขภาพจากต่างประเทศ หรือมีสวัสดิการภาครัฐจากต่างประเทศได้ โดย ให้มีหน่วยงานภาครัฐรับรองแบบฟอร์มกลางการทำประกันสุขภาพที่มาแสดงได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย หรือ ประสานกระทรวงการต่างประเทศของประเทศผู้ขอการตรวจลงตราฯ ให้รับรองลายมือชื่อของผู้มีอำนาจลงนามในเอกสารที่มาแสดง
  3. กรณีผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นเหตุให้บริษัทประกันปฏิเสธทั้งหมดหรือบางส่วน ให้มีเอกสารแสดงเพิ่มเติม ได้แก่ หนังสือปฏิเสธการซื้อประกันสุขภาพ และหลักทรัพย์ เงินฝาก ประกันสุขภาพอื่นๆ รวมวงเงินไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท

ทั้งนี้ ครม. ได้มอบหมายให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สตม.)ออกคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณากรณีคนต่างด้าวขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวดังกล่าว พร้อมมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ ปรับปรุงแนวปฏิบัติการตรวจลงตราฯประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa หรือ O-A ระยะ 1 ปี รวมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องพร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้ชาวต่างชาติทราบอย่างทั่วถึง

สำหรับสาเหตุที่ต้องปรับปรุงแก้ไขครั้งนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า หลังจากที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่งปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณา กรณีคนต่างด้าวขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว โดยให้คนต่างด้าวที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa หรือ O-A ต้องซื้อประกันสุขภาพของไทยคุ้มครองตลอดระยะเวลาที่พำนักในราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2562 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 พบว่า เกิดปัญหาในการดำเนินการของผู้ขอรับการตรวจลงตราในการซื้อประกันสุขภาพดังนี้

  1. ชาวต่างชาติอายุเกิน 70 ปี ไม่สามารถซื้อประกันในไทยได้ ส่งผลให้ขาดคุณสมบัติในการขออยู่ต่อ
  2. แบบฟอร์มการรับรองการซื้อประกันในต่างประเทศ ไม่สอดคล้องกับระบบธุรกิจประกันภัย หรือสิทธิประโยชน์จากกองทุนต่างๆ
  3. ผู้ที่ยื่นต่ออายุวีซ่าครั้งที่ 2 ประสงค์จะขอใช้ประกันสุขภาพจากต่างประเทศ

ผ่านร่าง กม.มาตรฐานความปลอดภัยเครื่องจักร 6 ประเภท

นางาสาวไตรศุลี  กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว

โดยมีสาระสำคัญในการกำหนดให้นายจ้าง จัดการ และดำเนินการด้านความปลออดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เป็นไปตามมาตรฐาน และเพื่อให้การทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น และหม้อน้ำ มีมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยให้ลูกจ้างมีความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น

สำหรับร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะครอบคลุมเครื่องจักร 6 ประเภท ได้แก่  เครื่องปั๊มโลหะ, เครื่องเชื่อมไฟฟ้าและเครื่องเชื่อมก๊าซ, รถยก, ลิฟท์, เครื่องจักรสำหรับใช้ในการยกคนขึ้นทำงานบนที่สูง และ รอก และครอบคลุมปั้นจั่น  3 ประเภท ได้แก่ ปั้นจั่นเหนือศีรษะและปั่นจั่นขาสูง, ปั้นจั่นหอสูง และรถปั้นจั่นหรือเรือปั้นจั่น รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้เกี่ยวกับปั้นจั่น และครอบคลุมหม้อน้ำ 4 ประเภทได้แก่ หม้อน้ำ, หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน, ภาชนะรับความดัน และภาชนะบรรจุก๊าซทนความดัน

ทั้งนี้ได้กำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้มีอุปกรณ์และดูแลให้ลูกจ้างใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ได้มาตรฐานในงาน 10 ประเภท ได้แก่ งานเชื่อมหรือตัดชิ้นงานด้วยไฟฟ้า, งานลับ ฝน หรือแต่งผิวโลหะด้วยหินเจีย, งานกลึงโลหะ งานกลึงไม้ งานไสโลหะ งานไสไม้ หรืองานตัดโลหะ, งานปั๊มโลหะ, งานชุบโลหะ, งานพ่นสี, งานยก ขนย้าย หรือติดตั้ง, งานควบคุมเครื่องจักร, งานปั้นจั่น และ งานหม้อน้ำ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน หรือภาชนะรับความดัน และให้วิศวกรเป็นผู้ทดสอบการดำเนินการตามกฎหมาย

แจงคุณภาพสิ่งแวดล้อมปี’63 ชี้โควิด-19 สร้างขยะพลาสติกเพิ่ม

นางสาวไตรศุลี   กล่าวว่า ครม. เห็นชอบรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมปี 2563 จำนวน 11 สาขา มีดังนี้ สาขาที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น 7 สาขา ได้แก่ 1.ทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน พบว่ามีพื้นที่เพาะปลูกเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น 2.ทรัพยากรแร่ การผลิตและการใช้แร่ลดลง 3.พลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น  4.ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงเพิ่มขึ้น 5.ความหลากหลายทางชีวภาพ พื้นที่ชุ่มน้ำที่ขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น  6.สิ่งแวดล้อมชุมชน อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น และ 7.สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม สถานภาพแหล่งธรรมชาติที่ควรอนุรักษ์ไว้ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี

สำหรับสาขาที่มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ควรเฝ้าติดตาม มี 4 สาขา ประกอบด้วย 1. ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า พบว่า พื้นที่ป่าไม้คงที่ แต่พื้นที่ไฟไหม้ ความรุนแรงของไฟไหม้รวมทั้งจุดความร้อนสะสมในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้จำนวนสัตว์ป่าหลายชนิดอยู่ในสถานการณ์ที่ควรเฝ้าติดตาม 2.ทรัพยากรน้ำ ปริมาณฝนลดลง ทำให้ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำใช้การได้ลดลง รวมทั้งน้ำบาดาลมีระดับลดลงด้วยเช่นกัน 3.สถานการณ์มลพิษ คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่เมืองใหญ่ หมอกควันจากไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายจากชุมชนเพิ่มขึ้น  และ 4.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นและปริมาณฝนเฉลี่ยลดลง

ขณะเดียวกันปัญหาการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา ได้แก่ การมีพลาสติกเป็นองค์ประกอบของขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นจากการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์และสั่งซื้ออาหารแบบเดลิเวอรี่ รวมถึงมีมูลฝอยติดเชื้อจากผู้ที่ต้องสังเกตอาการและผู้ที่ติดเชื้อปะปนในขยะมูลฝอยชุมชน มีแนวทางแก้ไขปัญหาเช่น การปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ส่วนกรณีการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ควรมีการคำนึงถึงการลดปริมาณขยะมูลฝอยและคัดแยกขยะที่ต้นทาง  และพิจารณาคัดแยกมูลฝอยติดเชื้อใส่ถุงขยะ 2 ชั้น มัดปากถุงให้แน่นและระบุข้อความว่า “ถุงขยะสำหรับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว” ไว้ที่ถุงให้ชัดเจน และส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี โดยมีพื้นที่ดำเนินการเร่งด่วนได้แก่ พื้นที่เขตเมืองในทุกจังหวัด ชุมชนแออัด พื้นที่สาธารณะที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอเชิงนโยบายมาตรการระยะสั้น 1-2ปี ได้แก่ พัฒนาการใช้ระบบฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อม คุ้มครองพื้นที่ที่มีความสำคัญหรือมีความอ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และสร้างจิตสำนึกในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนมาตรการระยะยาว 3-10 ปี ได้แก่ ส่งเสริมความร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน  ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม และผลักดันการวิจัยและนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมสู่การปฏิบัติ

อนุมัติงบฯ 14 ล้าน อุดหนุน ร.ร.สอนศาสนาอิสลามอีก 3 แห่ง

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการในการอุดหนุนทางการเงินและให้ความช่วยเหลือด้านอื่นให้แก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพิ่มเติมจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนดาราวิทยา โรงเรียนนราวิทย์อิสลาม  และโรงเรียนสมานมิตรวิทยา ปีงบประมาณ 2565-2567

ทั้งนี้ เพื่อให้การอุดหนุนด้านอาคารเรียน อาคารประกอบ และสื่ออุปกรณ์การเรียนการสอน โดยตั้งงบประมาณเป็นรายปี ซึ่งได้ประมาณการรายจ่ายไว้ดังนี้ ปีงบประมาณ วงเงิน 3,930,000 บาท ปี 2566วงเงิน 6,175,000 บาท และปี 2567 วงเงิน 4,230,000 บาท  รวมงบประมาณทั้งสิ้น 14,335,000 บาท

ยกเว้นภาษีนำเข้าอุปกรณ์ “ดาวเทียมธีออส-2”

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการยกเว้นอากรศุลกากร และภาษีสรรพสามิต สำหรับเครื่องมือและอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นของหรือสินค้า ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. นำเข้ามาเพื่อใช้ภายในโครงการระบบดาวเทียมสำรวจ พร้อมระบบภาคพื้นดินและระบบแอปพลิเคชันภูมิสารสนเทศ สำหรับโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (ธีออส-2) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

ทั้งนี้กระทรวงการคลัง ได้รายงานว่า การดำเนินการดังกล่าวแม้จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีอากรจากการยกเว้นอากรศุลกากร ประมาณ 64.37 ล้านบาท และภาษีสรรพสามิตในโครงการนี้ 6.3 แสนบาท รวมเป็น 65 ล้านบาท แต่จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมและภาคบริการของไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้านเศรษฐกิจอวกาศ และช่วยเพิ่มศักยภาพในการบริการจัดการเชิงพื้นที่แบบองค์รวม อีกทั้งยังเพื่อศักยภาพของบุคลากรไทยผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย

สำหรับการดำเนินการครั้งนี้กระทรวงการคลังจะออกเป็นร่างกฎกระทรวงรวม 2 ฉบับ คือ ร่างฯ ยกเว้นอากรศุลากรโครงการระบบดาวเทียม ธีออส-2 ครอบคลุมเครื่องมือและอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นของตามพิกัดประเภทใด ที่ทาง สทอภ. นำเข้ามาเพื่อใช้ในโครงการนี้ และของที่จะได้รับการยกเว้นจะต้องมีหนังสือรับรองจากผู้อำนวยการ สทอภ. ก่อน เช่นเดียวกับ ร่างฯ ยกเว้นภาษีสรรพสามิต โครงการระบบดาวเทียม ธีออส-2 ซึ่งจะครอบคลุมเครื่องมือและอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นของตามพิกัดประเภทใดเช่นเดียวกัน

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 15 มิถุนายน 2564เพิ่มเติม