ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ สั่ง ศบค. ตรวจสถานที่ก่อนคลายล็อกฯ เฟส 2-มติ ครม.เห็นชอบกรอบใช้จ่ายเงินกู้ 4 แสนล้าน

นายกฯ สั่ง ศบค. ตรวจสถานที่ก่อนคลายล็อกฯ เฟส 2-มติ ครม.เห็นชอบกรอบใช้จ่ายเงินกู้ 4 แสนล้าน

12 พฤษภาคม 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นายกฯรสั่ง ศบค. ตรวจสถานที่ 15 พ.ค.นี้ ก่อนคลายล็อกดาวน์ เฟส 2 ย้ำแผนฟื้นฟูการบินไทยยังไม่เสร็จ วอนหยุดให้ข่าว – มติ ครม.เห็นชอบกรอบใช้จ่ายเงินกู้ 4 แสนล้าน ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน โดยวันนี้ถือเป็นวันแรกที่ ครม. กลับมาประชุมตามปกติอีกครั้งหลังจากเดือนที่ผ่านมาใช้การประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เป็นหลัก โดยยังคงจัดการประชุมตามมาตรฐานสาธารณสุข คือมีการเว้นระยะห่าง social distancing อย่างเหมาะสม

“เหมือนกับโรงเรียนเปิดเทอมได้เจอหน้าพร้อมเพรียงกัน ในวันนี้บรรยากาศก็เป็นที่น่ายินดี ทุกคนยังแข็งแรงกันอยู่ในการที่จะฟันฝ่าอุปสรรคของประเทศไปให้ได้ ด้วยความร่วมมือกันของ ครม. และพรรคร่วมรัฐบาล ตลอดจนความร่วมมือจากภายนอกด้วย ทั้งภาคเอกชนภาคธุรกิจต่างๆ แม้กระทั่งฝ่ายอื่นๆ ฝ่ายใดก็ตามที่เสนอความเห็นมาผมก็รับทราบ รับฟังนำมาเป็นข้อพิจารณาในการบริหารราชการของผมเสมอมา ขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกคนด้วย”นายกรัฐมนตรีกล่าว

สั่งฝ่ายมั่นคงพลิก กม.เอาผิดคนยิงเลเซอร์

พล.อ. ประยุทธ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงกรณีการยิงแสงเลเซอร์ตามสถานที่เชิงสัญลักษณ์ของเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของความมั่นคงต้องไปพิจารณาดูว่ามีความผิดอะไรกันหรือไม่ในการกระทำการแบบนั้น

“ในช่วงเวลานี้ผมถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมในการที่นำหลายๆ เรื่องมาพัวพันกันในวันนี้กับเรื่องของโควิดฯ ซึ่งกำลังแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนที่ประชาชนเดือดร้อน”

ปัดสั่งทำโพล-ชี้ต่อเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯตามมาตรฐาน สธ.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการจัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่องการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) จะมีผลต่อการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่ ว่า กรณีดังกล่าวเป็นการพิจารณาของศูนย์โควิด-19 ซึ่งต้องพิจารณาโดยคำนึงถึงมาตรฐานสาธารณสุขเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้ติดเชื้อที่ลดลงจนกระทั่งเหลือ 0% ก็ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ ต้องดูถึงความร่วมมือ หากตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ในเกณฑ์รับได้ก็พอที่จะเดินหน้าไปสู่ระยะที่ 2 ระยะที่ 3 ในเรื่องของการปลดล็อกหรือหามาตรการผ่อนคลายต่อไปได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าโพลจะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของโพล

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ตนทราบนั้นมีสื่อบางสำนักไปทำการสำรวจเมื่อวานนี้ (11 พฤษภาคม 2563) ซึ่งมีผู้เห็นชอบให้ต่อไปอีก 88% มีผู้ไม่เห็นชอบให้ยกเลิก 12% ยืนยันว่าตนไม่เคยสั่งการให้ทำการสำรวจความคิดเห็นเรื่องนี้แต่อย่างใด

“ผมไม่ได้ทำอะไรทั้งสิ้น ไม่เคยสั่งการให้ใครไปทำ การผ่อนปรนต้องดูมาตรฐานทางด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ผมก็เห็นใจพี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อย ในห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด ทั้งการผลิตการแปรรูปการตลาดและการท่องเที่ยวต่างๆ หากเราไม่ร่วมมือกันตอนนี้ก็ไม่สามารถเดินหน้าไปถึงตรงนั้นไม่ได้ และสิ่งที่เรามีศักยภาพคือเรื่องของการท่องเที่ยวการบริการก็จะตกต่ำลงไปอีก ส่งผลต่อศักยภาพในการสร้างรายได้ของประเทศ”

ย้ำแผนฟื้นฟูการบินไทยยังไม่เสร็จ วอนทุกฝ่ายหยุดให้ข่าว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงแผนฟื้นฟูการบินไทยว่า ยังคงอยู่ในขั้นตอน และวันนี้ไม่ได้มีการนำเข้า ครม. แต่อย่างใด ขอให้เข้าใจ อย่าเพิ่งไปให้ข่าวจนมากเกินไป ซึ่งตนย้ำแต่เพียงอย่างเดียวว่าจะต้องเข้าสู่แผนการฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล ส่วนนี้จะไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายตัวด้วยกัน

“ขอร้องให้บุคลากรทั้งในองค์กร นอกองค์กร และรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันตรงนี้ ไม่เช่นนั้นจะไปไม่ได้ สุดท้ายทุกคนจะไม่มีอาชีพไม่มีไม่มีแรงงาน ไม่มีลูกจ้างพนักงาน ไม่มีเงินจ้าง นั่นคือความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ผมไม่อยากให้ไปถึงจุดนั้น เพราะฉะนั้นก็ต้องขอความร่วมมือในเรื่องการจัดทำแผนฟื้นฟู”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว ต่อไปว่า วันนี้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้การนำเสนอขึ้นมาแล้วจากผลการประชุมและเข้าสู่การพิจารณาของกระทรวงคมนาคม ซึ่งทั้งหมดจะต้องไปดำเนินการหลายอย่างด้วยกัน กว่าจะนำมาเข้าสู่ ครม. เพื่ออนุมัติได้ คือแฟนการฟื้นฟูจะต้องครบถ้วนสมบูรณ์ โดยกล่าวย้ำในการขอความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย

“ผมจำเป็นต้องแก้ไข ไม่อย่างนั้นท่านเดือดร้อน องค์กรของท่านที่มีคนอยู่สองหมื่นกว่าคนจะต้องเกิดปัญหาขึ้นทันที ถ้าหากไม่ช่วยกันแล้วใครจะช่วย ก็คงต้องขอความร่วมมือของท่าน ผมไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับใครและไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรกับการบินไทยอยู่แล้ว”

ต่อคำถามถึงแผนฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจอื่นๆ นายกรัฐมนตรีระบุว่า ในเรื่องของรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ก็มีแผนการฟื้นฟูอยู่แล้ว แค่เพียงส่วนของการบินไทยนั้นไม่ได้เป็นไปตามแผนฟื้นฟูเดิมเท่านั้นเอง ก็ต้องทำแฟนฟื้นฟูใหม่ขึ้นมาในเรื่องของการที่จะให้กู้หรือค้ำประกันเงินกู้ยังไม่ได้พูดไปถึงตรงนั้น ซึ่งตนก็รับฟังเสียงจากพี่น้องประชาชนด้วย ทั้งนี้การจะให้การบินไทยเดินหน้าต่อไปได้ ก็ขึ้นอยู่กับภายในองค์กรและบุคลากรของท่านเกี่ยวกับในส่วนของสหภาพรัฐวิสาหกิจ

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รมว.คมนาคม) เปิดเผยภายหลังการประชุม ครม. ว่า วันนี้ในที่ประชุม ครม. ไม่มีการหารือกันในเรื่องของแผนฟื้นฟูหรือการให้รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทยเลย ก็คงต้องรอให้กระทรวงคมนาคมเสนอเข้ามาก่อน อย่างไรก็ตาม ภายหลัง คนร. มีมติให้ฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ทางกระทรวงคมนาคมจึงได้ไปจัดทำแผนปฎิบัติการหรือ action plan เพื่อให้การฟื้นฟูเดินหน้าได้จริง ก็ได้มีการปรึกษาหารือกับกระทรวงการคลังอยู่ตลอด ซึ่งพอเรียบร้อยทางกระทรวงคมนาคมคงได้เสนอเข้า ครม. ต่อไป

ส่วนนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้ให้คณะกรรมการ (บอร์ด) และฝ่ายบริหารของการบินไทยร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทำงานร่วมกันในการเพิ่มเติมรายละเอียดของแผนฟื้นฟูการบินไทย ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีรายละเอียดในส่วนของ action plan ครอบคลุมแผนบริหารรายได้ แผนบริหารรายจ่าย แผนบริหารหนี้ และแผนฟื้นฟูหลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ใน 23 ประเด็น จึงให้ทั้งสองหน่วยงานไปเพิ่มเติมข้อมูลดังกล่าวให้ครบถ้วยภายในเดือนพฤษภาคม 2563 นี้

โดยยังให้คงแนวทางเดิมตามมติ คนร. เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563 ซึ่งยังไม่มีการพิจารณาเรื่องสสัดส่วนผู้ถือหุ้น รวมถึงยังไม่มีการพิจารณาถึงเรื่องการปรับเปลี่ยนฝ่ายบริหารและบอร์ด เพราะเชื่อว่ายังทำงานกันได้ สำหรับการพิจารณาทางเลือกอื่น เช่น การปล่อยให้การบินไทยล้มละลาย จะพิจารณาก็ต่อเมื่อการบินไทยไม่สามารถทำแผนฟื้นฟูองค์กรได้ และอย่าให้กระบวนการฟื้นฟูเหล่านี้ไปถึงชั้นศาลเลย จึงอยากให้การบินไทยทำการบ้านของตัวเองให้เรียบร้อย ถ้าการบินไทยไม่มีความสามารถในการหารายได้ สุดท้ายรัฐจะต้องรับภาระเหมือนกัน ซึ่งตนก็ไม่อยากให้การบินไทยมีชะตากรรมเหมือนสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์

รับไม่ได้แห่แย่งของ “ตู้ปันสุข” เตือนคนไทยต้องมีจิตสำนึก

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ตนขอชื่นชมภาคเอกชนที่มีความร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการจัดตู้แบ่งปัน อย่างไรก็ตามผู้ที่ได้รับสิ่งของเหล่านั้นจะต้องสร้างจิตสำนึกเขาให้สำหรับการเฉลี่ยแบ่งปัน เพราะภาพที่การแย่งสิ่งของออกมานั้นตนยอมรับไม่ได้ ขออย่าให้เกิดขึ้นมาอีกในสังคมไทย ถ้าทำแบบนี้ได้ในทุกจังหวัดทุกอำเภอ ทุกตำบลทุก หมู่บ้าน ตนคิดว่าคนส่วนหนึ่งที่เขาอยากจะช่วยเหลือสังคมก็พร้อมที่จะบริจาคสิ่งของเหล่านี้ใส่ตู้แบ่งปันความสุขและจะทำให้เกิดความสบายใจทั้งผู้ให้และผู้รับ

“ต้องเห็นถึงคนอื่นด้วย ถ้าท่านทำแบบนั้นต่อไปก็จะไม่มีคนมาบริจาคแล้ว คนอื่นก็จะไม่ได้ไปด้วย เพราะฉะนั้นทุกคนก็ต้องปกป้องสิทธิของแต่ละบุคคลเองด้วยในการเฝ้าระวังไม่ให้คนอื่นมาเอารัดเอาเปรียบแบบนี้ แต่ไม่ใช่ไปทะเลาะเบาะแว้งกันต้องมีการห้ามปรามกัน อย่าปล่อยให้เกิดขึ้นโดยเด็ดขาดในระยะต่อไป”

สั่ง ศบค.ตรวจสถานที่ก่อนคลายล็อกฯ เฟส2

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ประมาณวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ คณะกรรมการจากศูนย์โควิดฯ จะมีการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมในสถานที่ที่เตรียมการจะปลดล็อกระยะที่ 2 เพื่อตรวจสอบว่าสถานประกอบการเหล่านั้นได้มีแผนในการปฏิบัติตามมาตรการของรัฐได้ครบถ้วนหรือไม่ หรือมีมาตรการอื่นใดเพิ่มเติม ทั้งนี้เพื่อเป็นแบบอย่างให้สถานประกอบการอื่นๆ นำไปใช้ให้เท่าเทียมกัน โดยเน้นย้ำว่า“อะไรก็ตามที่เปิดได้ก็ปิดได้”

“ผมจำเป็นต้องพูดแบบนี้ ไม่อย่างนั้นทุกคนก็ลืมตัวไปเรื่อยๆ ไม่ร่วมมือไม่รักษาระยะห่าง ไม่ใส่หน้ากาก เมื่ออยากได้ (การผ่อนปรน) ท่านก็ต้องร่วมมือกับผมกับศูนย์โควิดฯ ด้วย เพราะผมไม่ได้ทำงานคนเดียว ผมทำงานด้วยศูนย์ฯ ด้วยคณะทำงานทั้งหมดทุกกระทรวง ทบวง กรม ก็เกี่ยวข้องเป็นกรรมการในศูนย์ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเป็นผลงานร่วมกันของทุกกระทรวง ของรัฐบาล ของพรรคร่วมรัฐบาล”

นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ตนพร้อมรับฟังความคิดเห็นอื่นๆ ในช่องทางที่เหมาะสม เพราะวันนี้คนไทยทุกคนจำเป็นต้องร่วมมือกันในการแก้ปัญหาและการฟื้นฟูประเทศของเราหลังจากสถานการณ์นี้ผ่านพ้นไป โดยขอความร่วมมืออย่าเพิ่งเคลื่อนไหวอย่างอื่นให้สับสนวุ่นวายอีก โดยขอให้ประชาชนตัดสินใจจากการกระทำที่เกิดขึ้น โดยประชาชนส่วนใหญ่ก็ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลไปแล้ว และตนขอความร่วมมือจากผู้ที่ไม่เดือดร้อนดูแลผู้ที่เดือดร้อน พร้อมขอบคุณไปยังภาคธุรกิจที่มีการดูแลลูกจ้างของตนเองในช่วงที่ผ่านมา ในส่วนของรัฐบาลก็พยายยามจะดูแลให้ได้มากที่สุด เราจะต้องรอดไปด้วยกันด้วยความรักความสามัคคีเผื่อแผ่แบ่งปันน้ำใจให้กันและกัน นั่นคือ new normal ใหม่ของประเทศ

“ประชาชนต้องตัดสินใจว่าจะสนับสนุนอย่างไรในการทำงานหรือในการที่มีฝ่ายอื่นฝ่ายใดเข้ามาทำให้เกิดความวุ่นวายสับสนอลหม่านในเวลานี้ท่านต้องตัดสินใจท่านต้องคิดแล้ว วันนี้ผมต้องการความรักความสามัคคีของทุกคนที่เป็นคนไทยทั้งหมด และส่วนใหญ่ก็ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลไปแล้ว ไม่ได้ทำเพื่อการเมืองทำให้คนไทยที่เดือดร้อนจากโควิดฯ การทำงานของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนต้องอาศัยข้อกฎหมายหลายตัวด้วยกัน ซึ่งจำเป็นต้องมีข้อกฎหมายเป็นหลักเสมอ จำไว้เราไม่สามารถที่จะใช้อะไรต่างๆ หรือทำอะไรต่างๆ ที่นอกตัวบทกฎหมายได้อันนี้ก็เป็นข้อที่อยากจะกราบเรียนให้พี่น้องประชาชนรวมทั้งสื่อมวลชนทราบด้วย”

ลั่นลงโทษครูขืนใจนักเรียนเต็มที่ หากทำผิดจริง

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามครู 5 ราย พร้อมลูกศิษย์ 2 ราย กระทำชำเรานักเรียนหญิงอายุ 14 ปี บริเวณบ้านพักครูและภายในโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.เมือง จ.มุกดาหาร ว่า ต้องดำเนินการตามกฎหมาย และลงโทษเต็มอำนาจตามกฎหมายหากพบว่ามีการกระทำความผิดและมีหลักฐานชัดเจน อย่างไรก็ตามครูถือเป็นบุคลากรสำคัญ ดังนั้นต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กและสังคม

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

เห็นชอบกรอบใช้จ่ายเงินกู้ 4 แสนล้าน ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้ ครม. ได้พิจาณากรอบการใช้จ่ายเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทที่ออกไปก่อนหน้านี้ ในส่วนของ 400,000 ล้านบาทที่จะไปส่งเสริมเศรษฐกิจและการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากการระบาดคลี่คลายลง โดยมีวัตถุประสงค์หลักของการใช้เงินส่วนนี้เป็นไปเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน

“จากสถานการณ์การระบาดขณะนี้ทำให้ประเทศไทยต้องหันเข้ามาเน้นความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ จากเดิมที่อาจจะให้ความสำคัญกับการส่งออกและการมีนักท่องเที่ยวมาจำนวนมาก แต่หลังจากเหตุการณ์นี้ เราก็ถอดบทเรียนและ ครม. อนุมัติเป็นแนวทางการใช้เงินกู้เพื่อสร้างให้เกิดความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น”

ดร.ทศพรกล่าวต่อไปว่า ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมาทำให้ประชาชนหรือธุรกิจขาดรายได้ที่เคยได้ตามปกติ ฉะนั้นเงินกู้ส่วนนี้จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยจะแบ่งเป็นส่วนแรกจะใช้สร้างความเข้มแข็งเพื่ออนาคตของประเทศจากจุดแข็งหรือข้อได้เปรียบเรื่องอของเกษตรและอาหาร เช่น เกษตรแปรรูป อาหาร

อีกด้านหนึ่งจะให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานรากหรือเศรษฐกิจชุมชน ส่วนนี้รัฐบาลมองว่าแรงงานส่วนหนึ่งที่จะต้องกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมจะต้องสร้างงานรองรับ จึงจำเป็นต้องใช้เงินกู้นี้สร้างเศรษฐกิจในระดับชุมชน เพื่อที่จะทำให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจของชุมชนหรือสหกรณ์ต่างๆ ให้สามารถยืนอยู่ได้ในอนาคต

นอกจากนี้ เงินกู้ส่วนนี้จะนำไปใช้บรรเทาสถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้ด้วย จะมีส่วนหนึ่งลงภาคเกษตรช่วยเรื่องแหล่งน้ำชุมชนต่างเหล่านั้น

หลักการสำคัญอีกประการคือจะต้องเน้นความยั่งยืน จะเน้นที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ ฉะนั้นอาจจะไม่ได้เน้นการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วเหมือนเดิม แต่จะเน้นความมั่นคงยั่งยืนของประเทศที่ทำให้ทุกคนสามารถยืนได้ จากมองภาพว่าชีวิตวิถีใหม่ หรือ new normal จะเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก เราต้องทำให้เศรษฐกิจไทย สังคมไทย สามารถยืนอยู่ได้ในระบบใหม่นี้

“การใช้เงินกู้วันนี้คุยกันว่าน่าจะเป็นหัวเชื้อประการหนึ่งที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหนึ่งของทิศทางของการพัฒนาประเทศต่อไป เราพยายามจะให้มีเงินเข้าสู่ระบบในเดือนกรกฎาคมหรือไตรมาสสองของปีนี้ ก่อนจะไปต่อกับงบประมาณในปี 2564-2565 ต่อไป ทั้งหมดจะเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป”

อีกประการแม่วาจะมีกรอบเงินฟื้นฟู 400,000 ล้านบาท แต่ไม่จำเป็นต้องใช้หมด จะเน้นเรื่องความจำเป็น และต้องโปร่งใส มีการตรวจสอบออนไลน์ในเว็บไซต์ มีผู้ตรวจราชการ มีผู้ตรวจของภาคประชาชนลงไปติดตามด้วย มีนิสิต นักศึกษาลงไปช่วยตรวจสอบข้อมูลในระดับพื้นที่

โอนงบฯ 63 โปะงบกลาง 88,452 ล้าน

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. …. ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ดังนี้

  1. รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. …. ที่เปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปผ่านเว็บไซต์สำนักงบประมาณ (www.bb.g.th) ระหว่างวันที่ 21 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2563
  2. ให้ความเห็นชอบการปรับปรุงข้อเสนอการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่นำมาจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. …. โดยลดลงจากจำนวน 11,942.4021 ล้านบาทตามผลการพิจารณาตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 จำนวน 100,395 ล้านบาท เป็นจำนวน 88,452.5979 ล้านบาท ตามผลการรับฟังความคิดเห็น ผลการตรวจสอบรายละเอียดการโอนงบประมาณของหน่วยงานรับงบประมาณ และผลการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อไปตั้งไว้เป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
  3. มอบหมายให้สำนักงบประมาณนำข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. …. ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไปเปิดเผยในเว็บไซต์ของสำนักงบประมาณ (www.bb.g.th) และจัดพิมพ์ร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. …. และเอกสารประกอบเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 และนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรจะมีการพิจารณาในวาระที่ 1, 2 และ 3 ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 ต่อจากนั้นจะเสนอวุฒิสภาเพื่อพิจารณาและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะประกาศบังคับใช้ได้ภายในกลางเดือนมิถุนายน 2563

เห็นชอบพ.ร.ฎ.เลือกตั้งเขต 4 ลำปาง

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขตเลือกตั้งที่ 4 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) เสนอ

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากที่ นายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขตเลือกตั้งที่ 4 พรรคเพื่อไทย ได้เสียชีวิตลง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 จึงเป็นเหตุให้สมาชิกสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ สิ้นสุดลง ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (1) กำหนดให้… ดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ภายใน 45 วันนับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง เว้นแต่อายุของสภาผู้แทนราษฎรจะเหลืออยู่ไม่ถึง 180 วัน

ดังนั้นเพื่อให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขตเลือกตั้งที่ 4 แทนตำแหน่งที่ว่าง เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จึงเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขตเลือกตั้งที่ 4 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ

สปส.จ่ายเยียวยาผู้ประกันตนแล้ว 5.68 แสนราย

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติรับทราบรายงานผลการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานสำหรับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 24 มีนาคม 2563 และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 15 เมษายน 2563 กระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานอันเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ พ.ศ. 2563 และกฎระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563

โดยตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม – วันที่ 7 พฤษภาคม 2563 มีจำนวนผู้มายื่นขอใช้สิทธิกรณีว่างงานเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย จำนวน 1,028,334 ราย ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้มีการคัดกรองกรณียื่นซ้ำและกรณีที่ไม่ใช่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ออกแล้ว ได้สั่งจ่ายไปแล้ว จำนวน 568,604 ราย เป็นเงิน 3,046 ล้านบาท

สำหรับผู้ประกันตนที่ยังเหลืออยู่จำนวน 459,730 รายนั้น อยู่ระหว่างดำเนินการ 313,445 ราย  และผู้ประกันตนที่ยังไม่มีหนังสือรับรองการหยุดงาน จำนวน 146,285 ราย ซึ่งได้มีการประสานติดตามนายจ้าง จำนวน 50,862 แห่ง พบว่า

  • นายจ้างยังคงประกอบกิจการ และยังมีการจ่ายค่าจ้างตามปกติ จำนวน 3,029 แห่ง จำนวนลูกจ้าง 23,129 ราย
  • นายจ้างจ่ายเงินตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จำนวน 1,066 แห่ง จำนวนลูกจ้าง 14,455 ราย
  • นายจ้างยังไม่ได้รับรอง จำนวน 46,767 แห่ง จำนวนลูกจ้าง 108,701 ราย  ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ระดมเจ้าหน้าที่จากกรมต่างๆ ประกอบด้วย กรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม ติดตามประสานงาน คาดว่าจะติดตามได้ภายในวันที่ 12 พฤษภาคม 2563

สำหรับการพิจารณาวินิจฉัยส่วนที่เหลือ จำนวน 313,445 ราย ได้เพิ่มอัตราเจ้าหน้าที่วินิจฉัย เดิมมีจำนวน 600 คน เพิ่มเป็น 1,200 คน และให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทั้งวันหยุดเสาร์อาทิตย์และนอกเวลาราชการทุกวัน  ซึ่งได้สั่งการให้วินิจฉัยเพื่อให้มีการจ่ายเงินแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563

ขยายเวลายกเว้นภาษีวิสาหกิจชุมชนอีก 3 ปี

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน) ที่มีสาระสำคัญ เป็นการขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับวิสาหกกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ออกไปอีก 3 ปี สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จากเดิมที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 330 (พ.ศ.2560) สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562

ทั้งนี้ การดำเนินการตามมาตรการภาษีดังกล่าว จะไม่ส่งผลให้รัฐสูญเสียรายได้ เนื่องจากปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้อยู่แล้ว  แต่หากกำหนดให้จัดเก็บภาษีเงินได้ของวิสาหกิจชุมชน จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 15 ล้านบาท

นอกจากนี้ การขยายเวลาการยกเว้นภาษีจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในเรื่อง 1) บรรเทาภาระภาษีให้วิสาหกิจชุมชนอย่างต่อเนื่อง 2) เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของประเทศและสามารพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าและบริการของชุมชนให้เติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในอนาคต และ 3) สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนรวมตัวประกอบกิจการเพื่อสร้างรายได้และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

จัดงบฯ 314 ล้าน อุดหนุนเบี้ยประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบในหลักการโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2563 วงเงินงบประมาณ 313.98 ล้านบาท โดยใช้เงินงบประมาณคงเหลือในส่วนที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เบิกจ่ายจากสำนักงบประมาณ เพื่อดำเนินในโครงการฯ ปีการผลิต 2562 จำนวน 48.21 ล้านบาท และเสนอของบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 265.77 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ทดลองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันแทนรัฐบาล จำนวน 265.77 ล้านบาท และให้ ธ.ก.ส. เบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริง พร้อมด้วยอัตราต้นทุนเงิน ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ธ.ก.ส. บวกร้อยละ 1 ในปีงบประมาณถัดไป ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติผ่านระบบการประกันภัย และเป็นการต่อยอดความช่วยเหลือของภาครัฐในการรองรับต้นทุนการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกรเมื่อประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ

โดยโครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการฯ ปีการผลิต 2562 มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

  1. พื้นที่เป้าหมายรับประกันภัยโครงการฯ ปีการผลิต 2563 รวม 3 ล้านไร่ ปรับลดลง 3 แสนไร่ และกำหนดให้ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทุกพื้นที่ โดยผู้เอาประกันภัย คือ เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในปีการผลิต 2563/2564 จากเดิมที่กำหนดให้ ปีการผลิต 2562/63 รับประกันภัยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกที่มีเอกสารสิทธิ์
  2. ค่าเบี้ยประกันภัย รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์
  • ค่าเบี้ยประกันภัย Tier 1 (รวม 2.9 ล้านไร่) ค่าเบี้ยประกันภัย 172.27 บาทต่อไร่ เท่ากันทุกพื้นที่ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 ลูกค้า ธ.ก.ส. ทุกราย ที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไม่เกิน 2.8 ล้านไร่ (ประกันภัยกลุ่ม) และกลุ่ม 2 ลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเกษตรกรทั่วไป ไม่เกิน 1 แสนไร่ (ประกันภัยรายบุคคล)

ทั้งนี้ รัฐจะเป็นผู้จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยให้ทั้ง 2 กลุ่ม จำนวน 108.27 บาทต่อไร่ ส่วนที่เหลืออีก 64 บาทต่อไร่ ในกลุ่ม 1 ธ.ก.ส. เป็นผู้จ่ายให้ ส่วนกลุ่ม 2 เกษตรกรต้องจ่ายเอง

  • ค่าเบี้ยประกันภัย Tier 2 เกษตรกรจ่ายเองตามระดับความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ (รวม 1 แสนไร่) ปรับลดจำนวนพื้นที่จากเดิมที่กำหนดไว้ 3 แสนไร่ เบี้ยประกันภัยในแต่ละพื้นที่ คือ พื้นที่เสี่ยงภัยต่ำ 97.37 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง 108.07 บาทต่อไร่ และพื้นที่เสี่ยงภัยสูง 118.77 บาทต่อไร่

ส่วนความคุ้มครอง ครอบคลุมใน 2 ด้าน ได้แก่ ภัยพิบัติธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยช้างป่า  วงเงินคุ้มครองในพื้นที่ Tier1 จำนวน 1,500 บาทต่อไร่  พื้นที่ Tier2 จำนวน 240 บาทต่อไร่  แต่รวมแล้วไม่เกิน 1,740 บาทต่อไร่ และภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด วงเงินคุ้มครองในพื้นที่ Tier1 จำนวน 750 บาทต่อไร่  พื้นที่ Tier2 จำนวน 120 บาทต่อไร่  แต่รวมแล้วไม่เกิน 870 บาทต่อไร่

ซึ่งระยะเวลาการขายประกันภัย แบ่งเป็น 2 รอบ คือ รอบที่ 1 สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูฝน นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการฯ – วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 และ รอบที่ 2 สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 – 15 มกราคม 2564 โดยลูกค้า ธ.ก.ส. เริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ส่วนลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ไม่ได้รับสินเชื่อและเกษตรกรทั่วไป คุ้มครองตั้งแต่วันที่ขอเอาประกันภัย

“เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดความคุ้มค่า และบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้กำชับให้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของระบบประกันภัยพืชผลทางการเกษตร และมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบค่าเบี้ยประกันภัยมากขึ้น เพื่อสร้างวินัยในการเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งเพื่อช่วยลดภาระงบประมาณที่ใช้ในการอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยลง ซึ่งถือเป็นหลักการที่สำคัญประการหนึ่งในการดำเนินโครงการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรเช่นเดียวกับโครงการประกันภัยข้าวนาปี” ผศ. ดร.รัชดา กล่าว

แก้กฎหมาย ปปง.จ่ายเงินทดแทนผู้เสียหายทุกคดี

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขอคืนหรือชดใช้คืนทรัพย์สินให้แก่ผู้เสียหายเพื่อให้ครอบคลุมทุกความผิดมูลฐาน รวมถึงความผิดมูลฐานค้ามนุษย์หรือการบังคับใช้แรงงานหรือบริการที่เกิดจากการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จากเดิมที่คุ้มครองเฉพาะความเสียหายทางทรัพย์สิน เพื่อเป็นมาตรการคุ้มครองทางกฎหมายที่ช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

โดยมีสาระสำคัญ โดยสรุป คือ มีการกำหนดให้ผู้รับผลประโยชน์หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงในทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน สามารถยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตน ก่อนศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน กำหนดให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดิน ถ้าผู้ร้องขอมิใช่เจ้าของที่แท้จริงหรือมิใช่ผู้รับโอนโดยสุจริต

กำหนดให้กรณีที่ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินโดยสภาพไม่สามารถส่งมอบได้ สูญหายไม่สามารถติดตามเอาคืนได้ มีการนำไปรวมกับทรัพย์สินอื่น มีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือติดตามเอาคืนได้ยากเกินสมควร ศาลอาจกำหนดมูลค่าของทรัพย์สินนั้น โดยคำนึงถึงราคาท้องตลาดในวันที่มีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน กำหนดให้กรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินหรือมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปชดใช้เป็นค่าสินไหมทดแทน ถ้ามีทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มอีก ให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน

“บทบัญญัติที่เพิ่มเติมในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และเป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจในการช่วยเหลือเยียวยาเหยื่ออาชญากรรม เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค กรมบังคับคดีฯลฯ ให้ขับเคลื่อนภารกิจตามกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมในภาพรวม ส่งผลให้เกิดความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐ” ผศ. ดร.รัชดา กล่าว

จีนเสนอความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างเพิ่ม 7 ประเด็น

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ณ เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีประเด็นต่างๆ ได้แก่ รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการความร่วมมือความมั่นคง ความเชื่อมโยง การค้า การลงทุน ทรัพยากรน้ำ ความร่วมมือด้านการเกษตร ทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาการประสานงาน และการสนับสนุนระบบพหุภาคี อาทิ โครงการหลายประเทศหลายนิคมอุตสาหกรรม ความร่วมมือด้านการผลิตอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ

และ ครม. ยังได้รับทราบข้อเสนอของจีนในการดำเนินความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างในอนาคต 7 ประเด็น คือ

  1. การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างระเบียงทางการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่กับระเบียงการพัฒนาเศรษฐกิจแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อส่งเสริมการค้ามณฑลทางภาคกลางและตะวันตกของจีนกับประเทศลุ่มน้ำโขงและอาเซียน โดยในระยะแรกจะให้ความสำคัญต่อโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรและการค้าข้ามพรมแดน
  2. ด้านทรัพยากรน้ำ จีนพร้อมจะพิจารณาการแบ่งปันข้อมูลด้านน้ำตลอดทั้งปีแก่ประเทศสมาชิก
  3. ด้านสาธารณสุข จีนเสนอให้มีการจัดตั้งกลไกในการรับมือกับโรคระบาดร่วมกันในอนาคต
  4. ด้านการเกษตร จีนพร้อมนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศลุ่มน้ำโขงมากขึ้น และส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการเกษตร และดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านเกษตรแม่โขง-ล้านช้าง ระยะ 3 ปี (ค.ศ. 2020-2022)
  5. การส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนโดยเน้นการดำเนินโครงการด้านการศึกษาสตรีและเยาวชนและการขจัดความยากจนภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง
  6. การส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่ เช่น การป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติโรคระบาด การค้ามนุษย์ การลักลอบค้ายาเสพติด และ
  7. การสนับสนุนให้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ดำเนินไปในทิศทางเดียวกันกับกรอบความร่วมมืออื่นๆ ในอนุภูมิภาค เช่น ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง รวมทั้งการร่วมมือกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอื่นๆ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ จีนได้อนุมัติโครงการที่ได้รับการจัดสรรทุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง สำหรับปี ค.ศ. 2020 จำนวน 152 โครงการ โดยไทยได้รับอนุมัติจำนวน 10 โครงการ

ทั้งนี้ ผศ. ดร.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศฯ ได้เน้นย้ำว่า กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตแห่งสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ต้องเป็นตัวอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศรูปแบบใหม่บนพื้นฐานของหลักการฉันทามติ ความเสมอภาค การปรึกษาหารือและการประสานงาน การมีส่วนร่วมและผลประโยชน์ร่วมกัน

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา) ที่มาภาพ www.thaigov.go.th

ขยายโควตานำเข้ามันฝรั่งสดแปรรูป ยันไม่กระทบเกษตรกร

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. ได้เห็นชอบการขยายปริมาณในโควตาการนำเข้าสินค้าหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูป ภายใต้ความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ปี 2563 เพิ่มเติม จำนวน 6,400 ตัน ตามที่คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์เสนอ จากเดิมที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติ (27 มีนาคม 2561) กำหนดให้เปิดตลาดนำเข้ามันฝรั่งสดเพื่อการแปรรูปในช่วงปี 2561 -2563 มีปริมาณในโควตาปีละ 52,000 ตัน อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 27 และอัตราภาษีนอกโควตาร้อยละ 125

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากประเทศไทยมีความต้องการใช้มันฝั่งสดเพื่อแปรรูปปีละ 150,000-200,000 ตัน ซึ่งมากกว่าผลผลิตที่ผลิตได้ในประเทศ เฉลี่ยปีละ 100,000-120,000 ตัน หรือร้อยละ 60 ของปริมาณความต้องการใช้ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2562) มีอัตราความต้องการใช้มั่นฝรั่งโรงงานภายในประเทศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.32 ต่อปี แต่ผลผลิตมันฝรั่งที่ผลิตได้ในประเทศเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.45 ต่อปี สาเหตุมาจากข้อจำกัดทางด้านพื้นที่เพาะปลูกและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น อุณหภูมิสูง ประมาณน้ำไม่เพียงพอ และเกษตรกรประสบภัยแล้ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การบริหารการนำเข้าต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของคณะอนุกรรมการจัดการผลิตและการตลาดกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง คือ ให้มีการทำสัญญารับซื้อผลผลิตระหว่างผู้ประกอบการนำเข้ากับเกษตรกร โดยกำหนดราคารับซื้อมันฝรั่งสดไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 14 บาท ในช่วงฤดูฝน (เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม) และราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 10.40 บาท ในช่วงฤดูแล้ง (เดือนมกราคม-มิถุนายน)

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า การขยายปริมาณโควตาการนำเข้าดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งภายในประเทศ เนื่องจากการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าในช่วงการปลูกมันฝรั่งนอกฤดู (เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม) ซึ่งผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรม และมีการทำสัญญารับซื้อผลผลิตในราคาขั้นต่ำตามที่คณะอนุกรรมการจัดการผลิตและการตลาดกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง กำหนด และนายกรัฐมนตรีได้กำชับในเรื่องการกำหนดปริมาณโควต้านำเข้าในระดับที่เหมาะสมในรอบปีต่อไป ส่งเสริมการเพาะปลูกมันฝรั่งในพื้นที่ๆมีสภาพภูมิอากาศเหมาะสม

รับทราบผลปฏิบัติงานส่วนราชการช่วงโควิดฯระบาด

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติรับทราบรายงานข้อมูลการปฏิบัติงานใน-นอก สถานที่ตั้งของส่วนราชการ กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมทั้งแนวทางดำเนินการในระยะต่อไป ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ สรุปสาระสำคัญดังนี้

จากสรุปข้อมูล ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ของ 134 ส่วนราชการ คิดเป็นร้อยละ 94 ของส่วนราชการทั้งหมด 142 ส่วนราชการ สรุปดังนี้

  • การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ (การปฏิบัติงานที่บ้าน) ส่วนราชการร้อยละ 100 (134 ส่วนราชการ) ที่รายงาน มีการมอบหมายให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ซึ่งส่วนราชการ ร้อยละ 60 (80 ส่วนราชการ) กำหนดสัดส่วนให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ร้อยละ 50 ขึ้นไป ปฏิบัติงานนอกสถานที่โดยมีการมอบหมายในหลายรูปแบบ เช่น ปฏิบัติงานที่บ้านสลับกับมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการแบบวันเว้นวัน สัปดาห์ละ 1 วัน สัปดาห์ละ 2 วัน หรือ สัปดาห์เว้นสัปดาห์ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ เริ่มให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา

โดยกลุ่มเป้าหมายหลักในการให้ปฏิบัติงานที่บ้าน คือ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่มีสถานที่พักอาศัยห่างไกลจากสถานที่ทำงาน หรือผู้ที่ต้องใช้รถโดยสารสาธารณะในเดินทางไปกลับระหว่างสถานที่ทำงานและที่พักอาศัย หรือผู้มีปัญหาด้านสุขภาพและมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ

  • การปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการ ได้กำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เหลื่อมเวลาการปฏิบัติงานกรณีจำเป็นต้องปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการ โดยส่วนใหญ่เลือกใช้การเหลื่อมเวลาการปฏิบัติงาน ช่วงเวลา 07.00-15.00 น. และ 07.30-15.30 น.

โดยส่วนใหญ่ คือ งานให้บริการประชาชนงานรักษาพยาบาล งานควบคุมผู้ต้องขัง งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย งานตามนโยบายเร่งด่วนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) งานติดตามรายงานและพยากรณ์อากาศ งานควบคุมการจราจรทางน้ำ และลักษณะงานในตำแหน่งประเภทบริหารและอำนวยการ เช่น ผู้บริหารระดับสูง ผู้อำนวยการสำนัก/กอง เป็นต้น

  • แนวทางการบริหารงานของส่วนราชการ การนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนการปฏิบัติงาน ส่วนราชการส่วนใหญ่ใช้ Application LINE (ร้อยละ 48) Zoom (ร้อยละ 28) Microsoft Team (ร้อยละ 13) และ Cisco Webex (ร้อยละ 11) ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่ใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์แบบพกพาและโทรศัพท์เคลื่อนที่ รองลงมาคือ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แท็บเล็ต และไอแพด

สำหรับ การดำเนินการในระยะต่อไปสำนักงาน ก.พ. ติดตามและรายงานเกี่ยวกับผลิตภาพ ประสิทธิภาพ และความคุ้มค่า จากการใช้แนวทางการปฏิบัติงานใน-นอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการ โดยส่วนราชการพิจารณาแนวทางการปฏิบัติงานที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น หากเห็นว่า มีลักษณะงานบางอย่างที่สามารถปรับวิธีการมอบหมายให้ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการได้ ก็อาจกำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้อย่างต่อเนื่อง  โดยคำนึงถึงมาตรฐานการทำงาน ทั้งในเรื่องของสภาพแวดล้อมและบรรยากาศการทำงานที่ไม่มีสิ่งรบกวนการทำงาน หรือความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยของทั้งข้อมูลการทำงานและตัวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วย

ทั้งนี้ ในกรณีที่ลักษณะงานบางอย่างยังคงจำเป็นต้องปฏิบัติงานในสถานที่ตั้ง ส่วนราชการควรกำหนดแนวทางดำเนินการที่คำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยตามมาตรการทางสาธารณสุขที่ต้องให้ความสำคัญกับ การจัดการจำนวนคนที่มาปฏิบัติงาน การจัดการระยะห่างระหว่างผู้ปฏิบัติงาน การกำหนดรูปแบบกิจกรรมหรือระยะเวลาที่ผู้ปฏิบัติงานต้องปฏิสัมพันธ์กัน การจัดการสภาพแวดล้อมการทำงานที่สอดคล้องกับมาตรการทางสาธารณสุข และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สนับสนุนหรือทดแทนกำลังคน โดยสำนักงาน ก.พ. จะประสานงานและขอคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำมาตรฐานแนวทางปฏิบัติงานใน-นอกสถานที่ตั้งที่เหมาะสมสำหรับการปฏิบัติราชการในสถานการณ์ต่างๆ ต่อไป

“บิ๊กป้อม” เพิ่มค่ารักษาพยาบาลนักกีฬา

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติได้พิจารณาแนวทางการช่วยเหลือด้านสวัสดิการให้กับนักกีฬาและบุคลากรกีฬาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยได้เพิ่มเติมค่ารักษาพยาบาลให้ครอบคลุมโรคภัยไข้เจ็บ นอกจากนั้น ยังได้สนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักกีฬาและบุคลากรกีฬาที่เป็นทีมชาติ และนักกีฬาจังหวัด เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวันของครอบครัว

สำหรับการดูแลผู้สูงอายุ ได้เพิ่มแนวทางการดูแลด้านสวัสดิการกีฬา กรณีเกิดการบาดเจ็บ และเจ็บป่วยจากการแข่งขันกีฬาผู้อาวุโสแห่งชาติซึ่งสอดรับกับบนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญต่อผู้สูงอายุของชาติ โดยการช่วยเหลือด้านสวัสดิการดังกล่าว เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่นักกีฬาบุคลากรทางกีฬา และสมาคมกีฬาในระยะสั้นที่ประเทศกำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะไม่เป็นการซ้ำซ้อนกับการช่วยเหลือของรัฐบาล

เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอีก 1 ปี

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. รับทราบถึงความจำเป็นในการออกร่างพระราชกฤษฎีกา ขยายเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ในหมวด 2 การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หมวด 3 สิทธิเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล หมวด 5 การร้องเรียน หมวด 6 ความรับผิดทางแพ่ง  หมวด 7 บทกำหนดโทษ  และความในมาตรา 95 และมาตรา 96 ที่เดิมจะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ออกไปอีก 1ปี ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ

เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน  เนื่องจากหากมีการบังคับใช้ตามกำหนดเวลาเดิมในขณะที่ทุกภาคส่วนยังไม่พร้อม อาจทำให้เกิดการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายได้โดยไม่ตั้งใจ รวมทั้งอาจเป็นช่องทางให้ผู้ที่ทุจริตแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ มากไปกว่านั้น ด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ภาคเอกชนไม่ว่าขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เกิดปัญหาสภาพคล่องในการลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนงาน ระบบสาระสนเทศ และการจัดหาหรือจัดอบรมบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้มีความพร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย การเลื่อนบังคับใช้กฎหมายจึงเอื้อต่อภาคเอกชนให้มีเวลาได้เตรียมความพร้อมอย่างเหมาะสม ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ จะเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในวาระต่อไป

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทางกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ดำเนินการสรรหาประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว โดยอยู่ระหว่างการนำเสนอรายชื่อบุคคลต่อคณะรัฐมนตรี และอยู่ในขั้นตอนการจัดทำกฎหมายลำดับรอง เช่น 1) การบริหารจัดการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2) การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล 3) การส่งหรือโอนข้อมูลส่วนบุคคลไปยังต่างประเทศ 4) สิทธิเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล 5) หน้าที่ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล และผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล (6) การร้องเรียนและโทษปรับทางปกครอง

กำหนด 4 ธ.ค.เป็น “วันรู้รักสามัคคี”

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้  4 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันรู้รักสามัคคี” เป็นวันสำคัญของชาติ โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญและนำไปสู่การปฏิบัติด้วยความสามัคคี รู้จักหน้าที่และส่งเสริมกันให้เกิดความเจริญแก่ประเทศชาติ

ทั้งนี้ แนวคิดการกำหนดวันรู้รักสามัคคีปรากฏขึ้นครั้งแรกในกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2534

โดยคำว่า “รู้ รัก สามัคคี” มีความหมายลึกซึ้ง สามารถปรับใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย รู้ คือ การลงมือทำสิ่งใดนั้น จะต้องรู้เสียก่อนรู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหา และรู้วิธีการแก้ปัญหา รัก คือ ความรัก  เมื่อเรารู้ครบถ้วนด้วยกระบวนความแล้วจะมีแรงกระตุ้นให้ทำงานด้วยความเต็มใจ  และสามัคคี  คือ การที่จะลงมือปฏิบัตินั้น ควรคำนึงถึงเสมอว่าเราจะทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องทำงานร่วมมือร่วมใจ เป็นองค์กร เป็นหมู่คณะ จึงจะมีพลังเข้าไปแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี  ประกอบกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันชาติ ดังนั้น การกำหนดให้วันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันรู้รักสามัคคี ก็จะสามารถลำดับและดำเนินกิจกรรมได้สอดคล้องให้ตระหนักถึงความสามัคคีนำไปสู่ความเป็นชาติ

ดังนั้น การกำหนดให้มีวันรู้รักสามัคคี ดังพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นการเทิดพระเกียรติ น้อมรำลึกและสืบสานพระราชปณิธานของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงห่วงใยประชาชน และแสดงถึงการมีจิตใจเสียสละร่วมกันดำเนินการด้วยความรัก ความสามัคคี

กรมโรงงานจับมือ UNIDO ลดก๊าซเรือนกระจก 1.3 ล้านตัน

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ดำเนินโครงการการประยุกต์ใช้หลักการเอื้อประโยชน์ร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชนและการใช้สารเคมีอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่มุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเลิกใช้สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Application of Industry – urban Symbiosis and Green Chemistry for Low Emission and Persistent Organic Pollutants free Industrial Development in Thailand

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่มุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเลิกใช้สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน  มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) รวมถึงการปล่อยสารมลพิษ ที่ตกค้างยาวนาน (Persistent  Organic  Pollutant: POPs) และสารเคมีอื่นๆ ที่เป็นอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมและชุมชนเมือง โดยการประยุกต์ใช้หลักการเอื้อประโยชน์ร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชน และการใช้สารเคมีอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ผลิตผลหรือผลพลอยได้ที่เกิดจากอุตสาหกรรมหนึ่ง เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่อุตสาหกรรมอื่นหรือชุมชนใกล้เคียง

ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกสิ่งแวดล้อมโลก ในรูปแบบเงินสด จำนวน 8.966 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 273 ล้านบาท และจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการในประเทศไทยที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,840 ล้านบาท)

โครงการฯ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี (ปี 2563-2567) โดยมีเป้าหมายภายใน 5 ปี จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จำนวน 1.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และลดสารพิษที่ตกค้างยาวนาน จำนวน 620 ตัน ภายใต้ 5 องค์ประกอบหลักของการดำเนินโครงการ ได้แก่  นโยบายและกฎหมาย การเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศและการเสริมสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์ร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชนและสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน กิจกรรมสาธิตการประยุกต์ใช้แนวทางการผลิตที่สะอาดการบริหารจัดการสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานชนิดใหม่ และการเอื้อประโยชน์ร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชน การพัฒนากรอบเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศและระบบสนับสนุน และการติดตามและประเมินผล

หักเงิน ขรก.ท้องถิ่นสมทบ กบข.เพิ่ม 2%

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการหักเงินงบประมาณรายได้ประจำปีสมทบเข้าเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. …. ซึ่งกำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่นหักเงินจากประมาณการรายรับในงบประมาณรายจ่ายประจำปี สมทบเข้าเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นจากเดิมในอัตราร้อยละ 1 เป็นอัตราร้อยละ 2 เว้นแต่องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลและเมืองพัทยาให้หักเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 3

นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราและวิธีการรับบำเหน็จดำรงชีพ พ.ศ. …. เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมอัตราบำเหน็จดำรงชีพของข้าราชการส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นจากเดิมที่กำหนดในอัตรา 15 เท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

ในรายละเอียดนั้น  กรณีผู้รับบำนาญซึ่งมีอายุต่ำกว่า 65 ปี ให้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกิน 200,000 บาท   กรณีมีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 70 ปี ให้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกิน 400,000 บาท  สำหรับผู้รับบำนาญซึ่งมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ให้มีสิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกิน 500,000 บาท  ทั้งนี้ เพื่อให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นมีสิทธิได้รับบำเหน็จดำรงชีพเช่นเดียวกันกับข้าราชการพลเรือนตามกฎกระทรวง รวมทั้งช่วยเหลือข้าราชการผู้รับบำนาญส่วนท้องถิ่นให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 12 พฤษภาคม 2563เพิ่มเติม