ThaiPublica > คนในข่าว > เลขาธิการศาลฯ แจงคดีเอี่ยวรับสินบน “โตโยต้า พรีอุส”

เลขาธิการศาลฯ แจงคดีเอี่ยวรับสินบน “โตโยต้า พรีอุส”

4 มิถุนายน 2021


นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

เลขาธิการศาลฯ แจงกรณีสื่อนอกนำเสนอข่าวผู้พิพากษาไทย อาจมีเอี่ยวรับสินบนคดีภาษี “โตโยต้าพรีอุส” ชี้กระบวนการพิพากษาใช้มติเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ตัดสิน-แทรกแซงยาก-เล็งสอบเส้นทางการเงินผู้ที่เกี่ยวข้อง

หลังจากที่ปรากฏรายชื่อผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ของศาลฎีกาไทยหลายคนในสื่อต่างประเทศ อาจเข้าไปมีส่วนพัวพันกับการรับสินบน เพื่อแทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดีภาษีของบริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ซึ่งข่าวดังกล่าวนี้ได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ และศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมของไทยอย่างรุนแรง

  • Law360.com กางเอกสารโตโยต้า เปิดชื่อผู้พิพากษาศาลฎีกาไทยเอี่ยวติดสินบนคดีภาษี Prius
  • กาง “Timeline” ลำดับเหตุการณ์คดี “โตโยต้า พรีอุส”

    ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 เวลา 10.30 น. นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ ณ ห้องประชุม สำนักงานศาลยุติธรรม ชั้น 12 อาคารศาลอาญาว่า “วันนี้ผมจะขออธิบายถึงลำดับความเป็นมาของคดีนี้ หรือ “ไทม์ไลน์” เพื่อให้สื่อมวลชนทุกคนได้เห็นภาพทั้งหมดอย่างชัดเจน รวมไปถึงกระบวนการพิจารณาคดีของศาลไทยและศาลประเทศสหรัฐอเมริกา และความคืบหน้าของคดี”

    ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โตโยต้าชนะคดี ไม่ต้องจ่ายค่าภาษี

    โดยที่มาของคดีนี้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐที่จัดเก็บภาษี นั่นก็คือ กรมศุลกากรและกรมสรรพากร เป็นจำเลย ที่ศาลภาษีอากรกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนการประเมิน และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของหน่วยงานที่จัดเก็บภาษี โดยบริษัท โตโยต้า ยื่นฟ้องคดีแรก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 หลังจากศาลภาษีอากรกลางพิจารณาคำฟ้องแล้ว จึงมีคำสั่งให้แยกฟ้อง ทางโจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีเข้ามาใหม่อีก 9 คดี ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 และวันที่ 10 มิถุนายน 2559 รวมทั้งสิ้น 10 คดี มีการสืบพยานและต่อสู้คดีกันมาเป็นเวลานานกว่า 1 ปี จนกระทั่งเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2560 ศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษาทุกคดี ให้เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เป็นผลให้โจทก์ หรือบริษัท โตโยต้าฯ ไม่ต้องรับผิดทางภาษีอากร

    ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้โตโยต้าแพ้คดี

    ต่อมา หน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษี ได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง โดยศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษรับฟ้องคดีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 จากนั้นเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2562 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พิพากษากลับให้บริษัท โตโยต้าฯ หรือโจทก์ แพ้คดี โดยจะต้องชำระเงินค่าภาษีอากรตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของหน่วยงานรัฐ

    วันที่ 27 ธันวาคม 2562 บริษัทโตโยต้าฯ ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา ซึ่งต่อมาศาลฎีกาได้มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฎีกา และรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณา โดยศาลภาษีอากรกลางได้อ่านคำสั่งคดีขออนุญาตฎีกาไปเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างศาลภาษีอากรกลางดำเนินการให้ฝ่ายจำเลยยื่นคำแก้ฎีกา ซึ่งจำเลยขออนุญาตขยายเวลายื่นคำแก้ฎีกาไปจนถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2564

    ดังนั้น หากจำเลยยื่นคำแก้ฎีกาเข้ามาแล้ว ศาลภาษีอากรกลางก็จะรวบรวมสำนวนส่งไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไป ตรงนี้ก็คือที่มาและความคืบหน้าของคดีภาษีของบริษัทโตโยต้าฯ เพื่อให้ทุกท่านได้เข้าใจในรายละเอียดตามช่วงเวลาต่าง ๆ

    สรุปก็คือคดีนี้ศาลฎีกายังไม่ได้พิจารณาพิพากษาคดีแต่อย่างใด เพียงแต่พิจารณาคำร้องขออนุญาตฎีกาเท่านั้น ซึ่งการอนุญาตให้ฎีกาก็เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากร และวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 26 ที่กำหนดให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกา หากศาลเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้น เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย

    และคดีนี้ศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์มีคำพิพากษาขัดแย้งกันในสาระสำคัญ ทั้งเกี่ยวพันกับความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันกับประเทศไทย และยังเป็นกรณีที่ไม่มีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกามาก่อน

    ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฎีกาได้ โดยพิจารณาเพียงว่าปัญหาที่ยื่นฎีกานั้น เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาสมควรอนุญาตให้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาหรือไม่ ยังไม่ได้มีการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีแต่อย่างใด

    แจงกระบวนการพิพากษาคดีใช้มติเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ตัดสิน

    นายพงษ์เดชอธิบายต่อว่า “ประเด็นที่ผมอยากจะชี้แจ้งต่อไป คือ กระบวนการทำงานของศาลสูง โดยเฉพาะศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีภาษีอากร ถือเป็นคดีชำนัญพิเศษ ในการพิจารณาพิพากษาคดีจะต้องมีผู้พิพากษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษีอากรตลอดทั้งสาย ตั้งแต่ศาลชั้นต้นจนกระทั่งถึงศาลฎีกา โดยศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีการวางระบบการทำงานในรูปแบบการประชุมคดีที่เข้มข้นขององค์คณะผู้พิพากษานับตั้งแต่ศาลแห่งนี้เริ่มเปิดทำการ ทั้งนี้ องค์คณะจะร่วมกันพิจารณาคดี โดยมีผู้ช่วยผู้พิพากษา ทำหน้าที่เลขานุการคณะในการรวบรวมเอกสาร สรุปข้อเท็จจริง ประเด็นข้อพิพาทในคดีและประเด็นข้อกฎหมาย”

    เมื่อประชุมแล้ว ท่านผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ก็จะยกร่างคำพิพากษาตามมติการประชุมแล้วจึงส่งร่างคำพิพากษานั้นให้ผู้ช่วยผู้พิพากษา หรือที่เรียกว่า “ผู้ช่วยเล็ก” หลังจากผู้ช่วยเล็กตรวจสำนวนแล้ว ก็จะเสนอร่างคำพิพากษาดังกล่าวต่อผู้พิพากษาประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาหรือเรียกว่า “ผู้ช่วยใหญ่” เพื่อตรวจร่างคำพิพากษาอีกครั้งหนึ่ง

    เมื่อตรวจเสร็จแล้ว ก็จะส่งร่างคำพิพากษาให้รองประธานศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษตรวจพิจารณา เมื่อเห็นว่าเป็นคดีสำคัญก็จะเสนอให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษ หรือประธานศาลฎีกา พิจารณาว่ามีปัญหาใดที่เป็นปัญหาสำคัญ สมควรนำปัญหานั้นเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ ที่ประกอบด้วยผู้พิพากษาทุกท่านในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีประมาณ 70 คน ผู้พิพากษาแต่ละท่านมีสิทธิลงมติได้เพียง 1 เสียงเท่านั้น ซึ่งมติที่ประชุมใหญ่ของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษในขณะนั้น ลงมติให้โจทก์ หรือบริษัทโตโยต้าฯ เป็นฝ่ายแพ้คดี

    ส่วนกระบวนการพิจารณาคดีของศาลฎีกา ก็มีรูปแบบการทำงานเช่นเดียวกัน แต่ที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาจะมีผู้พิพากษาทั้งหมด 176 คน มีจำนวนมากกว่าศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษ รูปแบบการพิจารณาพิพากษาคดีก็เช่นเดียวกัน คือ ใช้มติเสียงข้างมากเป็นตัวชี้ขาด

    ดังนั้น เมื่อร่างคำพิพากษาเสร็จผ่านที่ประชุมใหญ่แล้ว ก็จะจัดทำคำพิพากษา เพื่อส่งให้ศาลชั้นต้นอ่านให้คู่ความฟังต่อไป

    สำหรับความคืบหน้าของคดีนี้ยังอยู่ในชั้นขออนุญาตฎีกา ซึ่งศาลได้ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ที่ระบุว่า จำนวนองค์คณะผู้พิพากษาในการพิจารณาคำร้องขออนุญาตฎีกาต้องมีไม่น้อยกว่า 4 คน โดยหนึ่งในนั้นต้องเป็นรองประธานศาลฎีกาด้วย

    มั่นใจกระบวนการยุติธรรมไทย แทรกแซงยาก

    “สำหรับคดีภาษีอากรนั้น คำร้องขออนุญาตฎีกาก็จะถูกพิจารณาโดยผู้พิพากษาแผนกคดีภาษีอากรที่อยู่ในศาลฎีกาในรูปแบบขององค์คณะ ภายหลังจากองค์คณะพิจารณาแล้ว ก็จำเป็นจะต้องนำผลเข้าสู่ที่ประชุมแผนกภาษีอากรในศาลฎีกาด้วย เพื่อให้ผู้พิพากษาในแผนกทุกคนได้ร่วมกันพิจารณาและลงมติ ก่อนที่จะมีการส่งมาให้ศาลภาษีอากรกลางอ่านคำสั่งอนุญาตให้ฎีกา”

    จะเห็นได้ว่าขั้นตอนการพิจารณาของศาลยุติธรรมในแต่ละขั้นตอนนั้นเป็นไปอย่างมีระบบ ตรวจสอบกันอย่างเข้มข้น โปร่งใส มีการปรึกษาคดี และตรวจทานความถูกต้องในทุกขั้นตอน ยากที่จะมีการแทรกแซง หรือ กระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดผล ตามที่ใครต้องการได้

    อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะมั่นใจในระบบของศาลยุติธรรม แต่เมื่อมีการนำเสนอข่าวว่าอาจมีการกระทำที่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดีของศาล จนถึงขั้นอาจมีการเสนอให้สินบนขึ้น

    ซึ่งต้องยอมรับว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวกระทบต่อภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนและสังคมโดยรวมที่มีต่อศาลยุติธรรม และกระบวนการยุติธรรมของไทยอย่างใหญ่หลวง

    สำนักงานศาลยุติธรรมจึงไม่นิ่งนอนใจ นับแต่มีการรายงานข่าว จึงได้ดำเนินการส่งหนังสือขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกรณีดังกล่าวในประเทศสหรัฐอเมริกาผ่านกระทรวงการต่างประเทศ อย่างที่ได้นำเสนอข่าวไปแล้วก่อนหน้านี้

    “หลังจากปรากฏรายชื่อบุคคลในศาลยุติธรรม อาจเข้าไปมีส่วนพัวพันกับคดีนี้ ทางสำนักงานศาลยุติธรรมก็ได้มีคำสั่งแต่งตั้ง ‘คณะทำงานตรวจสอบ’ โดยมีผมเป็นประธานคณะทำงาน ทำหน้าที่หาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ซึ่งผมได้ทำหนังสือขอข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกประเทศแล้ว เช่น ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัท โตโยต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา, กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา, คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา และกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงส่งอีเมลติดต่อไปยังนักข่าวที่เขียนรายงานข่าวอันเป็นต้นทางของเรื่องนี้ และจะขอเข้าร่วมสังเกตการณ์การไต่สวนของคณะลูกขุนในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกาด้วย”

    ต่อมา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา ได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง” มีกรรมการทั้งหมด 4 คน ประกอบด้วย ผู้พิพากษาชั้นฎีกาและชั้นอุทธรณ์ ซึ่งมีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการฯ และมีผู้พิพากษาชั้นศาลฎีกาและชั้นศาลอุทธรณ์ ร่วมเป็นกรรมการ โดยให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการสอบสวน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) กรณีข้าราชการตุลาการถูกกล่าวหา หรือเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัยให้เสร็จโดยเร็ว

    ทั้งนี้ ให้กรรมการชุดนี้เสนอความเห็นว่ากรณีดังกล่าวนี้มีมูลความผิดวินัยร้ายแรง หรือไม่ร้ายแรง หรือไม่มีมูลความผิดทางวินัย หากพบว่ามีมูลความผิดทางวินัยจริง ก็ให้พิจารณาด้วยว่าเป็นความผิดวินัยตามบทมาตราใด และควรได้รับโทษสถานใด เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป และหากสอบสวนพบข้อเท็จจริงมีบุคคลอื่นใดเป็นผู้กระทำผิด หรือพบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากที่ระบุในคำสั่งนี้ ก็ให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้ดำเนินการสอบสวนไปด้วยในคราวเดียวกัน

    “ส่วนคณะทำงานติดตามข้อมูลที่ผมเป็นประธานจะทำงานสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงตามที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงต้องการ เพื่อให้ความกระจ่างปรากฏต่อสาธารณชนโดยเร็ว และหากพบว่าผู้ใดกระทำความผิดตามกฎหมาย ก็จะดำเนินการต่อไปอย่างเด็ดขาด”

    ดังนั้น หากพี่น้องประชาชน สื่อมวลชน หรือหน่วยงานใด มีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่จะช่วยให้เรื่องนี้กระจ่างชัด สามารถส่งข้อมูลมายังสำนักงานศาลยุติธรรมได้ตลอดเวลา โดยคณะทำงานติดตามข้อมูลจะดำเนินการทุกวิถีทางให้เร็วที่สุด และสำนักงานศาลยุติธรรมจะเสนอผลความคืบหน้าของการทำงานต่อพี่น้องประชาชน และสื่อมวลชนรับทราบเป็นระยะ

    “การพบปะสื่อมวลชนในวันนี้ นอกจากจะยืนยันการตรวจสอบและดำเนินการกับผู้กระทำผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาดและจริงจังแล้ว ผมขอให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนและสังคมว่า หากคดีนี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกา คู่ความจะได้รับความเป็นธรรมทุกอย่างตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน องค์คณะในศาลฎีกาจะพิจารณาคดีอย่างไม่หวั่นไหว ส่วนการให้สินบนตามข่าว หากมีจริงก็เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการและดำเนินคดีต่อไป”

    จากนั้นเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมได้ตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน คำถามแรก หลังจากปรากฏรายชื่อผู้พิพากษาไทยไปมีส่วนพัวพันกับคดีนี้ ทางสำนักงานศาลยุติธรรมได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง

    นายพงษ์เดชตอบว่า ช่วงแรกเรายังไม่มีรายละเอียดอะไรมากนัก เพียงแต่เห็นจากข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอ เราจึงส่งข้อมูลตามที่ปรากฏเป็นข่าวส่งไปยังกระทรวงต่างประเทศ จากนั้นเราก็ทำหนังสือขอข้อมูลไปยังหน่วยงานปลายทางหลายหน่วยงาน รวมทั้งเขียนอีเมลสอบถามเว็บไซต์ที่มีการเผยแพร่ข่าวดังกล่าว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ”

    ถามว่าสำนักงานศาลยุติธรรมจะดำเนินการฟ้องร้องทางแพ่งกับเว็บไซต์ที่นำเสนอข่าวหรือไม่ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมตอบว่า เป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณาในลำดับต่อไป แต่ตอนนี้ขอตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจนก่อนว่าข้อเท็จจริงนั้นเป็นอย่างไร ส่วนการดำเนินคดีตามกฎหมาย ก็จะต้องพิจารณาที่การกระทำของบุคคลต่างๆ ว่ามีการละเมิดกฎหมายหรือไม่อย่างไร สำหรับหน่วยงานที่อยู่ในต่างประเทศคงต้องใช้เวลาสักนิด แต่ถ้ามีความคืบหน้าอย่างไร ผมจะแจ้งให้สื่อมวลชนทราบรายละเอียดต่อไป ซึ่งทางสำนักงานศาลยุติธรรมกำลังทำเรื่องขออนุญาตต่อศาลประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งเจ้าหน้าที่ของศาลไทยเข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีนี้ด้วย ขณะนี้กำลังรอผลการตอบรับจากศาลของประเทศสหรัฐอเมริกา

    ถามว่าคดีของบริษัทโตโยต้าฯ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตอนนี้อยู่ในขั้นตอนใด ประทับรับฟ้องแล้วหรือยัง นายพงษ์เดชตอบว่า จากการตรวจสอบกฎหมายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศสหรัฐอเมริกาและประมวลผลจากข่าวที่ได้รับ คดีที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเข้าใจว่าอยู่ในชั้นของการไต่สวนข้อเท็จจริง ยังไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาล แต่ก็มีข้อสังเกตว่าจริงๆ ในชั้นของการไต่สวนคดี ซึ่งกระบวนการยังไม่เสร็จสิ้น และยังไม่ได้มีการยื่นฟ้องร้องคดีในชั้นศาล ตรงนี้ผมไม่แน่ใจว่ารายชื่อตัวละครที่ปรากฏเป็นข่าวหลุดออกมาในขั้นตอนไหนอย่างไร

    เล็งสอบเส้นทางเงินผู้ที่เกี่ยวข้อง

    ถามว่าจะมีการตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ที่มีชื่อเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดี หรือไม่ นายพงษ์เดชตอบว่า “เดี๋ยวคงได้ดำเนินการต่อไป”

    ถามว่าหากศาลประเทศสหรัฐอเมริกา ตัดสินแล้ว พบว่ามีผู้พิพากษาไทยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ตามกระบวนการของกฎหมายจะมีการดำเนินคดีกับคนไทยหรือไม่อย่างไร

    นายพงษ์เดชกล่าวว่า ตามกระบวนการของศาลสหรัฐอเมริกา เขาก็จะลงโทษคนของเขา ส่วนคนไทยที่ไปมีส่วนพัวพันกับคดีนี้ ทางศาลสหรัฐอเมริกาก็จะส่งเรื่อง หรือรายชื่อมาให้องค์กร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามคอร์รัปชันของไทย พิจารณาดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ และท้ายที่สุดก็ต้องส่งมาให้ศาลพิพากษา

    “อย่างไรก็ตาม ผมพยายามชี้แจงให้เห็นถึงกระบวนการทำงานของศาล การที่จะมาใช้วิธีการโดยไม่สุจริต หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย การเข้ามาแทรกแซงกระบวนการพิจารณาคดีของศาลไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านกระบวนการของศาลตามที่กล่าวข้าวต้น ซึ่งทำได้ค่อนข้างยาก ถึงแม้เราจะมั่นใจในระบบของเรา แต่เมื่อปรากฏเป็นข่าวขึ้นมา เราก็ต้องแสวงหาข้อเท็จจริง ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจ และขจัดความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ ในระบบศาลยุติธรรมให้หมดไป ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันรักษาความเป็นกลาง ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและระบบศาลยุติธรรม หากมีความคืบหน้าประการใดจะแจ้งให้สื่อมวลชนทราบเป็นระยะๆ”