ThaiPublica > เกาะกระแส > Law360.com กางเอกสารโตโยต้า เปิดชื่อผู้พิพากษาศาลฎีกาไทยเอี่ยวติดสินบนคดีภาษี Prius

Law360.com กางเอกสารโตโยต้า เปิดชื่อผู้พิพากษาศาลฎีกาไทยเอี่ยวติดสินบนคดีภาษี Prius

27 พฤษภาคม 2021


รายงานข่าว “DOJ Takes Toyota Thai Bribery Probe To Texas Grand Jury” จาก Law360.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข่าวและวิเคราะห์ในด้านกฎหมายสหรัฐฯ รายงานเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 โดยอ้างอิงเจ้าหน้าที่ด้านบังคับใช้กฎหมายของสหรัฐฯและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวน ว่า ทางการสหรัฐฯกำลังเร่งดำเนินการสอบสวนการละเมิดกฎหมายต่อต้านการทุจริตในต่างประเทศสหรัฐฯ(Foreign Corrupt Practices Act: FCPA )ของบริษัทโตโยต้า โดยอัยการของรัฐบาลกลางได้เรียกตัวคณะลูกขุนใหญ่ในเท็กซัสให้ประจำหน้าที่ ขณะที่ดำเนินการหาหลักฐาน ที่ผู้ผลิตรถยนต์ติดสินบนผู้พิพากษาระดับสูงของไทยให้พลิกการตัดสินคดีภาษีมูลค่า 350 ล้านดอลลาร์

Law360.com รายงานว่าจากเอกสารการบังคับใช้กฎหมาย การสอบสวนอย่างต่อเนื่องของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ( U.S. Securities and Exchange Commission) มาจากผลการสอบสวนภายในของบริษัทที่ดำเนินการโดยบริษัทที่ปรึกษา WilmerHale ซึ่งโตโยต้าเปิดเผยในการยื่นเรื่องเมื่อต้นปีนี้ ผลการตรวจสอบนี้นำเสนอโดยสำนักงานกฎหมาย Debevoise & Plimpton LLP ต่อทางการของสหรัฐฯในเดือนเมษายน 2563

ข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับเรื่องนี้และเอกสารที่บรรยายการสอบถามของบริษัท โดยเฉพาะโตโยต้าสงสัยว่าทนายความอาวุโสของบริษัท โตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย หรือ TMT อาจจะมีการจ่ายสินบนผ่านสำนักงานกฎหมายเอกชนของไทยไปยังผู้พิพากษาศาลฎีกาของไทย เพื่อพยายามที่จะให้มีผลต่อคำตัดสินเกี่ยวกับการยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาด้านภาษีที่ยังรอดำเนินการอยู่

คณะลูกขุนใหญ่ที่ถูกเรียกให้ประจำหน้าที่ให้เป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนในเขตเหนือของเท็กซัส ซึ่งครอบคลุมเมืองดัลลัส ใกล้กับสำนักงานใหญ่ของโตโยต้าในสหรัฐฯ ตามข้อมูลที่ได้จากแหล่งข่าวในสหรัฐฯ แม้ว่าการดำเนินคดีจะเป็นความลับ แต่อดีตนักกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้บอกกับ “Law360” ว่า โดยทั่วไปแล้วอัยการจะใช้คณะลูกขุนใหญ่ในขั้นตอนนี้ของคดี FCPA เพื่อใช้หมายศาลเรียกเอกสารธนาคารและเอกสารอื่นๆ เนื่องจากพวกเขาสอบสวนการติดสินบนเจ้าหน้าที่ต่างชาติที่อาจเกิดขึ้น

กระทรวงยุติธรรมและสำนักงาน SEC ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น ขณะที่ Debevoise และ WilmerHale ไม่ตอบสนองต่อการขอให้แสดงความเห็นที่ส่งให้ในวันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม 2564

“โตโยต้าดำเนินการต่อเนื่องอย่างเต็มที่ เพื่อรักษามาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมสูงสุดในแต่ละประเทศที่เราดำเนินงาน เราให้ความสำคัญอย่างมากกับข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำผิด และมุ่งมั่นที่จะทำให้แน่ใจว่าการดำเนินธุรกิจของเราเป็นไปตามกฎระเบียบของรัฐบาลที่เหมาะสมทั้งหมด” โฆษกของโตโยต้ากล่าว “เราไม่อยู่ในฐานะที่จะแสดงความคิดเห็นใด ๆ เพิ่มเติม”

ในเดือนมีนาคมโตโยต้า ระบุว่า ได้ร่วมมือกับการสืบสวนของสหรัฐฯ

Law360.com รายงานว่าจากข้อมูลในเอกสารการบังคับใช้กฎหมาย การสอบสวนภายในของโตโยต้าพบว่า TMT ได้ทำสัญญากับสำนักงานกฎหมาย อ. เพื่อช่วยหาช่องทางไม่ปกติ(backchannel)กับผู้พิพากษาที่มีตำแหน่งสูงสุดของไทย ผ่านอดีตหัวหน้าผู้พิพากษาและที่ปรึกษา เอกสารการบังคับใช้กฎหมายยังระบุว่า TMT จ่ายเงินเกือบ 18 ล้านดอลลาร์(จากข้อตกลงที่ต้องจ่ายทั้งสิ้น 27 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 846 ล้านบาท)โดยจะต้องจ่ายอีก 9 ล้านดอลลาร์ หากโตโยต้าชนะการยื่นฎีกาที่เกี่ยวข้องกับภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ Prius

Law360.com รายงานว่าขณะนี้มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่สืบสวนของรัฐบาลกลางสหรัฐกำลังหาทางตรวจสอบว่า TMT ได้จ่ายเงินไม่ว่าโดยตรงหรือผ่าน สำนักงานกฎหมายอ.ให้อดีตประธานศาลฎีกาของไทย และ ที่ปรึกษาอาวุโสศาลฎีกา หรือไม่ เพื่อโน้มน้าวให้ประธานศาลสูง ยอมรับข้อโต้แย้งของโตโยต้า ทั้งนี้อ้างจากข้อมูลของทางการสหรัฐฯและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวน

Law360.com รายงานว่าเอกสารของโตโยต้าที่กำหนดกระบวนการเริ่มต้นการสอบสวนภายในของบริษัท ระบุว่าสำนักงานกฎหมายอ.ได้รับการจ่ายเงินครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2558 เพื่อช่วยในการพิจารณาคดีในศาล หรือศาลชั้นต้น เอกสารซึ่ง Law360 ได้รับมาและได้รับการตรวจสอบและรับรองแล้ว

เอกสารการบังคับใช้กฎหมายนี้อ้างว่า ทนายความของโตโยต้าที่ทำงานมายาวนานที่ดำเนินการเรื่องการติดสินบน ได้ออกจาก TMT ระหว่างการสอบสวนการทุจริตภายในของโตโยต้าและเปิดสำนักงานกฎหมาย

โฆษกศาลของประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ 2 หน้า เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2564 ซึ่งตอบสนองต่อการรายงาน เกี่ยวกับการสอบสวนภายในของโตโยต้า ของ Law360 ก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า หากมีการนำเสนอหลักฐานเกี่ยวกับการให้สินบนศาล คณะกรรมการตุลาการจะ “ดำเนินการตรวจสอบและลงโทษอย่างเด็ดขาด การกระทำดังกล่าวนำความเสื่อมเสียมาสู่เกียรติของผู้พิพากษา ทำลายความเป็นกลางของศาลและทำให้สังคมไม่ไว้วางใจกระบวนการยุติธรรมของไทย”

นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรมยืนยัน ขณะที่โตโยต้ายื่นอุทธรณ์ คำตัดสินของกรมศุลกากรต่อศาลสูง ศาลฎีกาของไทยยังไม่ได้ประกาศคำตัดสิน

อนึ่ง บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี 2505 จนถึงวันนี้อายุ 59 ปี

อ่านรายละเอียดข่าวทั้งหมดที่นี่ “DOJ Takes Toyota Thai Bribery Probe To Texas Grand Jury”