ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ศาลฎีกา กลับคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง “ไม่เพิกถอน” คำสั่งกรมศุลฯประเมินภาษี “ฟิลลิป มอร์ริส”

ศาลฎีกา กลับคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง “ไม่เพิกถอน” คำสั่งกรมศุลฯประเมินภาษี “ฟิลลิป มอร์ริส”

18 พฤษภาคม 2018


นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร

ต่อสู้คดีกันมานาน 16 ปี ในที่สุดศาลฎีกา ก็มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 กลับคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง โดยให้กรมศุลกากรเป็นฝ่ายชนะคดี กรณีออกหนังสือแจ้งประเมินภาษี บริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด สำแดงราคาบุหรี่นำเข้าจากประเทศอินโดนิเซีย ต่ำกว่าความเป็นจริง ตามใบขนสินค้าขาเข้า 210 ฉบับ โดยศาลฎีกา พิพากษา “ไม่เพิกถอนการประเมินภาษีนำเข้า , ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กรมศุลกากร รวมทั้งสั่งให้แก้ไขคำวินัจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 เกี่ยวกับการกำหนด “ราคาศุลกากร”นั้น โดยให้หักกำไรและค่าใช้จ่ายทั่วไปในอัตรา 15.05%”

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ภายหลังศาลฎีกามีคำพิพากษา ไม่เพิกถอนแบบแจ้งการประเมินภาษี ตามขั้นตอนตนก็จะต้องนำประเด็นนี้ ส่งให้ที่ประชุม “คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์” พิจารณาออกหนังสือแจ้งประเมินภาษีใหม่ให้สอดคล้องกับคำพิพากษาของศาลฎีกา โดยเฉพาะการกำหนด “ราคาศุลกากร” เพื่อใช้เป็นฐานในการประเมินภาษีในคำพิพากษาของศาลฎีการะบุ ให้หักกำไรและค่าใช้จ่ายทั่วไปในอัตรา 15.05%

ด้านนายเจอรัลด์ มาร์โกลีส ผู้จัดการสาขา บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 ศาลฎีกามีคำพิพากษาเป็นที่สุดในกรณีบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด (สาขาประเทศไทย) นำเข้าบุหรี่จากประเทศอินโดนีเซียในช่วงปี 2545 หลังจากศาลภาษีภาษีอากรกลางมีคำวินิจฉัยเมื่อปี 2557 ว่าการที่กรมศุลกากรปฏิเสธราคาที่บริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ สำแดงไม่สอดคล้องตามหลักกฎหมายจากนั้นกรมศุลกากรได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาในประเด็นคำวินิจฉัยดังกล่าว อย่างไรก็ตาม แม้ศาลฎีกาจะเห็นแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลภาษีอากรกลาง แต่ก็ไม่ได้ยอมรับคำอุทธรณ์ของกรมศุลกากรทั้งหมด และไม่เห็นด้วยกับประเด็นสำคัญในคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กรมศุลกากร ซึ่งเป็นเหตุให้จะต้องมีการคืนเงินภาษี และอากรที่จ่ายเกินไปให้แก่ฟิลลิป มอร์ริส

“ฟิลลิป มอร์ริสได้ศึกษาในรายละเอียดคำวินิจฉัยของศาลฎีกาแล้ว และให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎหมายไทยและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ซึ่งรวมถึงหลักการดำเนินงานเรื่องการสำแดงราคาประเมินของเราด้วย เราเคารพคำตัดสินของศาล แม้ว่าเราเห็นว่าไม่สอดคล้องกับกฎหมายศุลกากรของไทย และข้อตกลงการประเมินราคาศุลกากรขององค์การการค้าโลก (WTO) และยังไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของคณะระงับข้อพิพาททางการค้าของ WTO ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการประเมินราคาศุลกากรสินค้านำเข้าของบริษัทระหว่างประเทศฟิลิปปินส์และประเทศไทย ” นายเจอรัลด์ กล่าว

อนึ่ง ความเป็นมาของคดีฟิลลิป มอร์ริสฯ เป็นหนึ่งในคดีตำนานที่ยืดเยื้อมานานกว่า 16 ปี โดยกรมศุลกากรแจ้งประเมินภาษีบริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด กรณีนำเข้าบุหรี่จากประเทศอินโดนิเชีย ระหว่างวันที่ 8 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2545 ตามใบขนสินค้าจำนวน 210 ฉบับ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรมีประเด็นข้อสงสัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อ(ไทย) กับผู้ขาย (อินโดนิเซีย) อาจมีผลต่อราคาสินค้านำเข้าที่สำแดงต่อกรมศุลกากร จึงปฏิเสธราคาที่บริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯสำแดง และกำหนดราคาใหม่ ทำให้บริษัทฟิลลิป มอร์ริสฯต้องวางเงินประกันเพิ่ม 312 ล้านบาท ก่อนนำสินค้าออกจากด่านศุลกากร

บริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ ไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษีดังกล่าว จึงยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต่อมา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กรมศุลกากร มีคำวินิจฉัย ปฏิเสธราคาบุหรี่ที่บริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ สำแดงต่อกรมศุลกากร และกำหนด “ราคาศุลกากร” ขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้เป็นฐานคำนวณค่าภาษี โดยใช้วิธีที่ 4 คือ “ราคาหักทอน” มากำหนดเป็น “ราคาศุลกากร” จากนั้นกรมศุลกากรส่งหนังสือแจ้งประเมินและเรียกภาษีเพิ่มบริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ ตามใบขนสินค้าจำนวน 180 ฉบับ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 152 ล้านบาท ส่วนใบขนสินค้าที่เหลืออีก 30 ฉบับ ไม่ถูกประเมินภาษี เนื่องจากไม่มีภาระภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม

บริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และการออกหนังสือแจ้งประเมินภาษีของกรมศุลกากร บริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ ยื่นคำฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลาง เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2556 ต่อมาศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557 ให้เพิกถอนการประเมินภาษีนำเข้า ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามใบขนสินค้า 210 ฉบับ รวมทั้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ และหนังสือแจ้งประเมิน-เรียกเก็บภาษีบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ตามใบขนสินค้า 180 ฉบับ และให้กรมศุลกากรชำระค่าทนายความแทนบริษัท ฟิลลิป มอร์ริสฯ 100,000 บาท

ต่อมา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 กรมศุลกากร ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา เพื่อคัดค้านคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ต่อสู้คดีกันมาเกือบ 2 ปี วันที่ 7 พฤษภาคม 2561 ศาลภาษีอากรกลาง อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา “ไม่เพิกถอนการประเมิน ตามหนังสือแจ้งประเมินภาษี ตามใบขนสินค้า 210 ฉบับ และให้แก้ไขคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ที่ กอ 112/2555/ป 9/2555 (3.1) ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2555 เฉพาะในส่วนของการหักกำไร และค่าใช้จ่ายทั่วไป โดยศาลฎีกาให้หักกำไรและค่าใช้จ่ายทั่วไปในอัตรา 15.05% นอกนั้นให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ส่วนค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ”