ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > อัพเดท แผนจัดหาวัคซีนโควิดฯ สธ.ฉีดทั่วประเทศ 6 ล้านโดส มิ.ย.นี้

อัพเดท แผนจัดหาวัคซีนโควิดฯ สธ.ฉีดทั่วประเทศ 6 ล้านโดส มิ.ย.นี้

2 มิถุนายน 2021


อัพเดท! แผนจัดหาวัคซีนโควิด-19 สธ.จัด “แอสตร้าเซนเนก้า-ซิโนแวค” กระจายฉีดทั่วประเทศ 6 ล้านโดส ภายใน เดือนมิ.ย.นี้

WHO สนับสนุนไทย ‘ฉีดวัคซีน 50 ล้านคน’

ดร.ซุมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์องค์กรอนามัยโลก (WHO) กล่าวถึงสถานการณ์การฉีดวัคซีนทั่วโลกว่าข้อมูล ณ ต้นเดือนมิถุนายน 2564 มี 210 ประเทศทั่วโลกที่ประชากรทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีนรวมทั้งหมดกว่า 1,870 ล้านโดส โดยพบว่าประเทศรายได้สูงจะสามารถฉีดวัคซีนได้มากกว่าประเทศรายได้ต่ำ ขณะที่วงการแพทย์ยังคงพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ออกมาอย่างเนื่องจนถึงปัจจุบันมีวัคซีนที่อยู่ในขั้นตอนทดลองกับมนุษย์ถึง 100 ชนิดและอีก 184 ชนิดอยู่ในขั้นตอนก่อนการทดลอง

ดร.ซุมยากล่าวต่อว่า วัคซีนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด AstraZaneca (AZ) อันดับสองเป็น Pfizer ตามด้วย SinoPharm Moderna และ Sputnik V ตามลำดับ นอกจากนี้วัคซีนหลายชนิดยังคงทยอยส่งเอกสาร เพื่อให้ได้รับการอนุมัติในการใช้ฉุกเฉินอยู่

ดร.ซุมยากล่าวต่อว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ใช้ในประเทศไทย นับเป็นวัคซีนที่มีรายงานว่าพบผลข้างเคียง ‘ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน’ อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 1 คน จาก 1 ล้านโดส แต่โอกาสที่จะพบความเสี่ยงของการป่วยหนัก หรือ เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สูงกว่าผลกระทบจากวัคซีนหลายเท่า อีกทั้งผู้กำกับดูแลวัคซีนยังมองว่าอัตราการเกิดผลข้างเคียงดังกล่าวยังถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงประเด็นการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิด ดร.ซุมยากล่าวว่า

“เราไม่ควรเปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์กัน เพราะ protocol หรือระเบียบวิธีการวิจัยมันต่างกันไป และ ในแต่ละประเทศมีสถานการณ์การระบาดที่ต่างกัน ไม่สามารถเปรียบเทียบได้ว่าวัคซีนนี้ 65% อันนี้ 90% ฉะนั้นต้องดูปัจจัยอื่นๆ แต่วัตถุประสงค์หลักคือป้องกันการเสียชีวิตได้”

นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า WHO สนับสนุน ‘แผนฉีดวัคซีนให้ประชากรไทย 50 ล้านคน ภายในสิ้นปี’ ซึ่งจะเป็นความหวังที่จะทำให้เศรษฐกิจในมิติต่างๆ ดีขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยว อีกทั้งการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุมจะช่วยลดความเสี่ยงของไวรัสกลายพันธุ์ในปัจจุบันและอนาคต

นพ.โสภณ เอี่ยมสิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค

สธ.เตรียมส่งวัคซีน 5-6 ล้านโดสในเดือนมิ.ย.

นพ.โสภณ เอี่ยมสิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาครัฐจะดำเนินการฉีดวัคซีนไปแล้วตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ส่วนในวันที่ 7 มิถุนายนนี้จะเป็นวันที่ประเทศไทยฉีดวัคซีน โควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ครั้งใหญ่ โดยมีทั้งวัคซีนซิโนแวคและแอสแอสตร้าเซนเนก้า แต่ทั้งนี้ขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ของแต่ละราย

“สัปดาห์นี้เราได้ส่งแอสตร้าเซนเนก้า 240,000 โดส และวันเสาร์ (5 มิ.ย.64) จะส่งอีกประมาณล้านกว่าโดส และส่งวัคซีนซิโนแวคไปอีก 7 แสนโดส คาดว่าทั้งเดือนมิถุนายนจะส่งวัคซีนไปโรงพยาบาลต่างๆ 5-6 ล้านโดส โดยส่งให้ กทม.ในสัดส่วนสูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ คาดว่าเกือบ 1 ล้านโดส เพื่อป้องกันโรคส่วนบุคคล และสร้างภูมิคุ้มกันในหมู่ประชากรในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ส่วนจังหวัดที่มีการระบาดน้อยก็จะได้รับวัคซีนในสัดส่วนน้อย กลุ่มที่จะได้วัคซีนก่อนคือผู้สูงอายุและกลุ่มผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณกล่าวถึงศักยภาพในการฉีดวัคซีนว่า ประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนได้ 500,000 – 1,000,000 คนต่อวันแต่ปัจจุบันสามารถฉีดได้ประมาณ 100,000-200,000 คนต่อวันเท่านั้นเนื่องจากยังมีวัคซีนไม่เพียงพอแต่เมื่อเทียบบุคลากรสาธารณสุขและสถานที่-หน่วยบริการวัคซีนจะพบว่าประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมประชากรทั่วประเทศตามเป้าหมาย 50 ล้านคนภายในสิ้นปี 2564

โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 61 ล้านโดสวัคซีนซิโนแวคอีก 21 ล้านโดส วัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส วัคซีนจอห์นสันฯ 5 ล้านโดส

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

สปสช.เตรียมงบฯจ่ายค่าเสียหายจากวัคซีน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ได้มีส่วนร่วมในเรื่องค่าบริหารจัดการในการฉีดวัคซีน เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนนอกหน่วยบริการเป็นจำนวนมาก อีกทั้งสปสช.ยังได้จัดเตรียม ‘งบค่าเสียหาย’ ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ข้อมูลจาก สปสช.รายงานว่า ที่ผ่านมามีผู้ขอชดเชยค่าเสียหายจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วประมาณ 250 ราย โดยสปสช.ได้ช่วยเหลือไปแล้วกว่า 150 ราย ในจำนวนนี้ประมาณ 50 ราย มีอาการแขนขาชา คลื่นไส้อาเจียน และมีอาการอ่อนเพลีย

สำหรับการฉีดวัคซีนในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการวัคซีนเพื่อดำเนินการสอบสวนเรื่องผู้เสียหายจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยให้ผู้เสียหายส่งเรื่องมาทางแพทย์ แล้วอนุกรรมการจะรับเรื่องไปพิจารณาต่อภายใน 5 วัน จากนั้นจะช่วยเหลือและเยียวยาผู้เสียหาในเบื้องต้นแล้วไปพิสูจน์ในภายหลังว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่