ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > สธ.แจงแผนกระจายวัคซีน ‘ไฟเซอร์’ 1.5 ล้านโดส ส่งล็อตแรก 5 ส.ค.

สธ.แจงแผนกระจายวัคซีน ‘ไฟเซอร์’ 1.5 ล้านโดส ส่งล็อตแรก 5 ส.ค.

30 กรกฎาคม 2021


กระทรวงสาธารณสุข ย้ำไม่สามารถเพิ่มเตียงในระบบสาธารณสุขได้ หนุนใช้ระบบ HI และ CI เตรียมตรวจเชิงรุกชุมชน 50,000 รายต่อวัน แจงแผนกระจายวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ให้บุคลากรทางการแพทย์ 7 แสนโดย ส่งล็อตแรก 5-6 สิงหาคม

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ว่าในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17,345 ราย โดยช่วงวันที่ 23-29 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อที่เดินทางไปรักษาที่ภูมิลำเนา 52 จังหวัด รวม 24,656 ราย คิดเป็น 63% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่

นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า รัฐบาลได้กำหนดนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุขจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์โดยเร็วที่สุด โดยปัจจุบันสำรองยาเดือนสิงหาคม 40 ล้านเม็ด และกันยายนอีก 40 ล้านเม็ด และส่งไปยังโรงพยาบาลหรือคนไข้ระบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI)

ส่วนสถานการณ์เตียงทั้งระบบสาธารณสุขมีทั้งสิ้นรวม 175,291 เตียง แบ่งเป็นต่างจังหวัด 135,039 เตียง และเตียงในกรุงเทพฯ 40,252 เตียง โดยมีอัตราเตียงว่างเหลือเพียง 21.54% หรือ 36,005 เตียง

“เราไม่สามารถเพิ่มเตียงได้มากกว่านี้อีกแล้ว การที่เราพัฒนาระบบ HI หรือ CI ก็เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ เนื่องจากสองสัปดาห์ที่ผ่านมาเราก็ใช้การตรวจเชื้อแบบ Antigen Test Kit (ATK) ทำให้เราดักจับผู้ติดเชื้อในชุมชนมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอาการ อย่างไรก็ตามก็ให้อยู่ในระบบ มีทั้งการดูแลที่บ้าน ชุมชน โดยทีมป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุกในชุมชน ซึ่งเป็นรถโมบาย มีคุณหมอพยาบาลเข้าไปดูแล” นพ.เกียรติภูมิกล่าว

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ผลักดัน 4 วะระสำคัญ ได้แก่ (1) การนำเอา ATK ใช้ตรวจวินิจฉัย (2) ทำ Home Isolation, CI และสร้างทีม CCRT เพื่อตรวจเชิงรุก (3) ให้สามารถนำวัคซีนไปฉีดที่บ้านหรือชุมชนได้ และ (4) การให้ยาในผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือป่วยหนักให้ถึงเร็วที่สุด

“ด้วยตอนนี้เตียงเต็มมาก เราต้องค้นหาผู้ติดเชื้อให้มากที่สุดโดยใช้ ATK เข้าไปตรวจถึงชุมชน เจอผู้ติดเชื้อก็ต้องแยกกักตัวไม่ว่ารูปแบบไหน แล้วการให้การรักษาด้วยยาอย่างรวดเร็ว และสุดท้ายเรื่องการให้วัคซีนเชิงรุก ทั้งหมดผมคิดว่าเป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอีกครั้งของกรุงเทพมหานครในช่วงวันที่ 4-10 สิงหาคม สธ.ได้มีหนังสือเชิญชวนให้คนในสธ.ส่วนภูมิภาค ส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นนักรบภูมิภาคมาตรวจ ATK ให้ชุมชน”

นพ.ยงยศ ให้ข้อมูลแผนการตรวจเชิงรุกดังกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าการตรวจเชิงรุก 50,000 รายต่อวัน หรือ 350,000 รายต่อสัปดาห์ และคาดว่าจะแยกผู้ติดเชื้อได้ 35,000 รายต่อสัปดาห์

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการคาดการณ์สถานการณ์ผู้ติดเชื้อ โดยใช้ปัจจัยต่างๆ เป็นตัวแปรในการคาดการณ์ได้ 2 รูปแบบ

  • แบบที่ 1 เปรียบเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในสถานการณ์จริง โดยเส้นกราฟสถานการณ์จริงกับเส้นกราฟโมเดลคาดการณ์มีผลลัพธ์ออกมาใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะหลังการล็อกดาวน์วันที่ 17 กรกฎาคม 2564

  • แบบที่ 2 เปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตรายใหม่ในสถานการณ์จริง เส้นกราฟสถานการณ์จริงกับเส้นกราฟโมเดลคาดการณ์เช่นกัน

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า หากไม่มีมาตรการล็อกดาวน์หรือมาตรการที่เข้มข้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันอาจสูงถึง 40,000 ราย และจุดสูงสุดจะอยู่ที่ 14 กันยายน

“แต่หลังจากมีมาตรการล็อกดาวน์ ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน หยุดกิจกรรมที่มีการชุมนุม รวมตัวของกลุ่มคน โดยการล็อกดาวน์จะมีประสิทธิภาพ 20% นาน 1 เดือน ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลงจาก 4 หมื่น เหลือ 3 หมื่นราย…แต่ถ้าล็อกดาวน์นานขึ้นกว่าเดิมเป็น 2 เดือน ตัวเลขก็จะต่ำลง” นพ.โอภาสกล่าว

เช่นเดียวกับการคาดการณ์ผู้เสียชีวิตต่อวัน พบว่ามาตรการล็อกดาวน์นาน 1-2 เดือน จะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ ทำให้ไม่ถึงจุดสูงสุดที่ 500 คนต่อวัน

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

นพ.โอภาส กล่าวถึงประเด็นวัคซีนในประเทศไทยว่า ประเทศไทยใช้วัคซีนสูตรผสม SA (Sinovac + Astrazeneca) ทำให้มีภูมิคุ้มกันสูง ทำให้สามารถฉีดวัควีนได้ครบ 2 เข็มเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมีความปลอดภัยในระดับที่น่าพอใจ

ส่วนประเด็นการกระจายวัคซีน Pfizer ที่ได้รับบริจาค 1.5 ล้านโดสจากประเทศสหรัฐอเมริกา นพ.โอภาส กล่าวว่าวัคซีนไฟเซอร์จะนำไปฉีดให้ 4 กลุ่ม ได้แก่

  1. บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข เป็นเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน 700,000 โดส
  2. ผู้สูงอายุ, 7 โรคเรื้อรัง และคนท้อง 12 สัปดาห์ ในพื้นที่ 13 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 645,000 โดส
  3. ชาวต่างชาติ (กลุ่มเสี่ยงในประเทศ) และคนไทยที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ( นักศึกษา) 150,000 โดส
  4. ทำการศึกษาวิจัย โดยการอนุมัติของคณะกรรมการวิจัยจริยธรรม 5,000 โดส

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า หลังจากที่วัคซีนไฟเซอร์ได้รับการตรวจสอบคุณและความปลอดภัยแล้ว จะเริ่มจัดส่งวัคซีนล็อตแรกวันที่ 5-6 สิงหาคม 2564 ให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ถัดมาช่วงกลางเดือนสิงหาคมจะเริ่มส่งวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 2 ในเวลาต่อมา ทำให้สามารถฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสได้ทั้งหมดภายในสิ้นเดือนสิงหาคม