กระบวนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 จากกระทรวงสาธารณสุขถึงผู้ผลิตวัคซีน มีกี่ขั้นตอน คณะกรรมการกี่ชุด กฎระเบียบเป็นอย่างไร ใครรับผิดชอบบ้าง
ความเครียดของคนไทยวันนี้น่าจะทะลุเพดานไปแล้ว เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่ง 16,000 คนต่อวัน ความวิตกทวีคูณเมื่อยังไม่ได้ฉีควัคซีนเข็มแรก สถานที่พร้อม คนพร้อม แต่ไม่มีวัคซีน สภาพความแออัดที่ไม่มีช่องว่างในการเว้นระยะห่างเพื่อฉีดวัคซีน ณ สถานีกลางบางซื่อเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 สะท้อนความต้องการวัคซีนที่ไม่ต้องบรรยายใดๆ
การจัดการวัคซีนที่ผิดพลาดของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นปมดราม่ามาอย่างต่อเนื่องมี TikTok ล้อเลียน ด่าทอผู้นำประเทศของไทยและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหลากหลายสตอรี่
แม้ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ออกมา “ขอโทษ” ประชาชนเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 แต่การจัดหาวัคซีนก็ยังเป็นปมร้อนของรัฐบาลถึงความโปร่งใส และบั่นทอนความเชื่อมั่น ความเชื่อใจ
การจัดหาและจัดซื้อวัคซีนโควิดฯ อยู่ในภาวะฉุกเฉิน แต่ขั้นตอน ฉุกเฉินหรือไม่!!!
วัคซีนโควิดฯ เป็นวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization หรือ EUA) หากนำไปฉีดแล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือแพ้ บริษัทผู้ผลิตไม่รับผิดชอบ ดังนั้น เงื่อนไขการขายของบริษัทผู้ผลิตคือจะขายวัคซีนให้เฉพาะหน่วยงานของรัฐเท่านั้น และขายผ่านทางตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทผู้ผลิตโดยตรง
เหตุที่ผู้ผลิตขายให้เฉพาะหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่รับผิดชอบต่อชีวิตของประชาชน หากนำวัคซีนไปฉีดแล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์ภาครัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบ ของไทยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบหลังจากที่ได้รับวัคซีน
เมื่อตลาดวัคซีนโควิด-19 เป็นของผู้ขาย การสั่งซื้อวัคซีนต้องทำสัญญาจองกันล่วงหน้า ในช่วงต้นปี 2563 มีหลายประเทศทำสัญญาสั่งจองวัคซีนล่วงหน้ากับบริษัทผู้ผลิตตั้งแต่เริ่มพัฒนาวัคซีน หรืออยู่ระหว่างการทดลองกับมนุษย์ ซึ่งมีความไม่แน่นอนว่าจะได้รับวัคซีนตามที่สั่งซื้อไปหรือไม่ การทำสัญญาจัดหาโดยการจองล่วงหน้าต้องวางเงินมัดจำทันที และจ่ายเงินค่าวัคซีนส่วนที่เหลือก่อนส่งมอบ ในสัญญาห้ามเปิดเผยข้อมูลการซื้อ-ขายวัคซีน ตรงนี้เป็นเงื่อนไขการขายที่กำหนดโดยผู้ผลิต ถ้าไม่ยอมรับหรือไม่ปฏิบัติตามก็โบกมือลากันไป
จากการชี้แจงของ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าว “ขอโทษประชาชน กรณีจัดหาวัคซีนไม่เพียงพอ และไม่ทัน” นั้น ทั้ง 2 คนพยายามอธิบายให้เห็นถึงกลไกของระบบราชการกว่าทำสัญญาสั่งจอง-สั่งซื้อกับผู้ผลิตได้ ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาจากคณะกรรมการสารพัดชุด
โดย นพ.ศุภกิจกล่าวว่า “กลไกการจัดหาวัคซีนของทางราชการจะมี 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนแรก กลไกตามกฎหมาย คือ คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ 2561 และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 และส่วนที่สอง กลไกการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อประชาชนไทย ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, อธิบดีกรมควบคุมโรค, ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ, เลขาธิการ สปสช., ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เป็นต้น โดยตั้งคณะทำงานเจรจากับแอสตร้าเซนเนก้าและโคแวกซ์ นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาวัคซีนทางเลือกที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน”
นี่คือแนวทางการบริหารจัดการแบบไทยๆ ที่การจัดตั้งคณะกรรมการจะเอาตำแหน่งเป็นตัวตั้ง อย่าง “คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อประชาชนไทย” กรรมการมาโดยตำแหน่ง ซึ่งแต่ละคนมีภาระมากมาย ที่สำคัญเป็นผู้รู้และเชี่ยวชาญจริงหรือไม่ นั่นคือคำถาม…
ส่วน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า “การจัดหาวัคซีนใดๆ ก็ตาม เป็นการดำเนินการร่วมกัน เมื่อเรามีข้อมูล จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนฯ ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เป็นกลไกบริหารที่มีอยู่ เพราะไม่สามารถดำเนินการได้โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ต้องมีการปรึกษาหารือ เป็นการทำงานรูปแบบคณะกรรมการ ถึงแม้ว่ากรมควบคุมโรคกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติจะทำงานร่วมกัน แต่การตัดสินใจต้องเข้าสู่การประชุมในคณะกรรมการและคณะทำงานแต่ละชุด เพราะมีความเกี่ยวพันเรื่องภาระงบประมาณ และสัญญา เพราะก่อนการลงนาม จะมีการปรึกษาหารือหน่วยงานด้านกฎหมายของประเทศ”
จากคำสัมภาษณ์ของผู้บริหารระดับสูง กระทรวงสาธารณสุขทั้ง 2 ท่าน พอจะจับประเด็นได้ว่า การจัดหาวัคซีนในระดับนโยบาย และยุทธศาสตร์จะมีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีนอยู่หลายชุด เฉพาะภายในกระทรวงสาธารณสุข มีคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ หรือ “กวช.” ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานฯ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองประธานฯ กรรมการอีก 20 คน ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ เสนอ ครม. และภายใต้ กวช. มีคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค มีอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานฯ คอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนที่เหมาะสม กำหนดกลุ่มเป้าหมายในการให้บริการวัคซีน เสนอขึ้นไปที่ กวช.
นอกจากนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขก็มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อประชาชนไทยขึ้นมาอีกชุด มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานฯ ทำหน้าที่จัดทำข้อเสนอแนะ และทางเลือกเชิงนโยบาย วางแผนการจัดหาวัคซีนโควิด ติดตามผลการดำเนินงานจัดหาวัคซีนให้เป็นไปตามแผนและกรอบเวลาที่กำหนด รวมทั้งเจรจาต่อรองกับภาคีเครือข่ายเพื่อจัดหาวัคซีนจากผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศ
ส่วนคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID19) มี นพ.โสภณ เมฆธน กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานฯ ทำหน้าที่เตรียมความพร้อมการดำเนินงาน กำกับติดตาม และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน คณะกรรมการชุดนี้มีการแต่งตั้งคณะทำงานอีก 6 ชุด
นอกกระทรวงสาธารณสุข มีคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานฯ พร้อมกรรมการอีก 17 คน ทำหน้าที่เสนอแนวทางและมาตรการจัดหาวัคซีนสำหรับใช้ในโรงพยาบาลของรัฐ และวัคซีนทางเลือกที่จะนำมาใช้กับโรงพยาบาลเอกชน
จะเห็นได้ว่ามีคณะกรรมการมากมาย ในการจัดหาจัดซื้อวัคซีน ท่ามกลางภาวะที่อาจจะเรียกได้ว่า สงครามโควิด-19
จากระดับนโยบายลงมาสู่ภาคปฏิบัติ มีประกาศที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีน 2 ฉบับ คือ ฉบับแรก ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การจัดหาวัคซีนโควิดฯ ลงนามโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 กำหนดให้ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ทำหน้าที่จัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า (advance market commitment หรือ AMC) และประสานสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับจากการจัดสรรงบประมาณ ส่วนกรมควบคุมโรคทำหน้าที่จัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีน ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม สภากาชาดไทย ผู้ผลิตวัคซีน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการบริหารจัดการคลังวัคซีน กระจายวัคซีน กำกับดูแลคุณภาพ และมาตรฐานการให้บริการวัคซีน รวมทั้งติดตามการกระจายวัคซีนให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังจากที่ได้รับวัคซีน
ปรากฏว่าการจัดหาวัคซีนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าส่งมอบวัคซีนให้ไม่ทัน ต้องไปสั่งวัคซีนซิโนแวคมาเสริม
วันที่ 8 มิถุนายน 2564 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 (ฉบับที่ 23) ตามข้อเสนอของคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนฯ ที่มี นพ.ปิยะสกลเป็นประธาน ออกประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อขยายคอขวด โดยเพิ่มหน่วยงานเข้ามาทำหน้าที่ในการจัดหา สั่ง หรือนำเข้าวัคซีนโควิดฯ อย่างเร่งด่วนหลายหน่วยงาน
นั่นคือคำสั่งฉุกเฉินที่งัดมาใช้ เมื่อการแพร่ระบาดผ่านไปเกือบ 1 ปี 6 เดือน…และดราม่าวัคซีนมาช้า
ประกาศดังกล่าวเปิดทางให้นอกจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค มีองค์การเภสัชกรรม, สภากาชาดไทย, ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งแก้ปัญหากรณีภาคเอกชน หรือโรงพยาบาลเอกชนมีความต้องการวัคซีน ให้ไปติดต่อจัดหาวัคซีนผ่านหน่วยงานของรัฐตามที่กล่าวข้างต้น และยังมอบหมายให้ อย. ไปประสาน ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ผลิตวัคซีนให้มาขึ้นทะเบียนอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ หากวัคซีนยังไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. ก็ยังทำสัญญาจัดหาจัดซื้อไม่ได้ ซึ่งคนในแวดวงอาหารและยาทราบดีว่าที่ผ่านมา กว่าอย.จะอนุมัติแต่ละรายการใช้เวลานานมาก ทั้งๆที่พ.ร.บ.เอื้ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน กำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องเอื้ออำนวยความสะดวกประชาชน…
แต่เนื่องจากวัคซีนโควิดฯ เป็นวัคซีนที่นำมาใช้ภาวะฉุกเฉิน การตรวจรับรองและการขึ้นทะเบียนวัคซีนต้องใช้วิธีวิธีพิเศษ ที่เรียกว่า “Conditional approval for emergency use authorization” ก่อนที่จะอนุญาตให้มีการนำเข้า (ทั้งที่อยู่ในภาวะฉุกเฉิน) จึงต้องใช้เวลานานพอสมควร ปัจจุบันมีวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนจาก อย. แล้ว 6 ยี่ห้อ ได้แก่ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า นำเข้าโดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด, วัคซีนซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม, วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน นำเข้าโดย บริษัท เจนเซ่น-ซีแลก จำกัด, วัคซีนซิโนฟาร์ม นำเข้าโดยบริษัทไบโอจีนีเทค, วัคซีนโมเดอร์นา นำเข้าโดยบริษัท ซิลลิคฟาร์มา จำกัด และวัคซีนไฟเซอร์ นำเข้าโดยบริษัทไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด นอกจากนี้ยังมีอีก 2 บริษัท ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ อย. คือ วัคซีนสปุตนิกวี นำเข้าโดยบริษัท คินเน ไบโอเทค จำกัด และวัคซีนโควาซิน นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด
หลังจากแผนการจัดหาวัคซีนโควิดฯ ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการชุดต่างๆ แล้ว ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติ หรือกรมควบคุมโรค ทำเรื่องไปที่สำนักงบประมาณ เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณมาใช้ในการทำสัญญาจองล่วงหน้า ซึ่งจะต้องมีการวางเงินมัดจำล่วงหน้า และกันงบฯ เตรียมไว้จ่ายค่าวัคซีนส่วนที่เหลือ เมื่อมีการส่งมอบตามสัญญาจัดซื้อวัคซีน หรือทำเรื่องเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อขอใช้วงเงินเงินกู้จาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท หลังจากผ่านความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ หรือคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้แล้ว ต้องเสนอที่ประชุม ครม. อนุมัติ ก่อนที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ หรือกรมควบคุมโรคจะไปทำสัญญาจองล่วงหน้า หรือสัญญาจัดซื้อวัคซีน ก็ต้องส่งร่างสัญญาทั้งหมดให้อัยการสูงสุดตรวจทานก่อน
ตัวอย่างการจัดหาและจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส เดิมที่ประชุม ครม. วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 มีมติอนุมัติโครงการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 26 ล้านโดส โดยใช้งบกลางวงเงิน 6,049 ล้านบาท ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. ได้มอบหมายให้สถาบันวัคซีนไปทำสัญญาจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า (AMC) ภายใต้เงื่อนไขที่ว่ามีโอกาสที่จะได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับวัคซีน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลการวิจัยพัฒนาในวงเงิน 2,379 ล้านบาท (ค่ามัดจำ) คิดเป็นสัดส่วน 60% ของค่าวัคซีนที่ต้องจ่ายให้บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าทั้งหมด 3,965 ล้านบาท รวมทั้งมอบหมายให้กรมควบคุมโรคไปทำสัญญาจัดซื้อวัคซีนที่ได้รับจากการจองล่วงหน้าจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อคู่สัญญาสามารถจัดหาวัคซีนสำเร็จต้องจ่ายส่วนที่เหลืออีก 40% คิดเป็นเงิน 1,586 ล้านบาท นอกจากนี้กรมควบคุมโรคยังมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการวัคซีนอีก 2,084 ล้านบาท เป็นต้น
จากนั้นที่ประชุม ครม. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ได้รับทราบสรุปผลการประชุม ศบค. ครั้งที่ 3/2564 มีมติเห็นชอบให้กรมควบคุมโรคแก้ไขสัญญาจองซื้อวัคซีนกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เดิมสั่งจองไป 26 ล้านโดส ขอวัคซีนเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส เสนอเข้าที่ประชุม ครม. วันที่ 2 มีนาคม 2564 มีมติอนุมัติงบกลาง 6,387 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจัดหาวัคซีน ต่อมา กรมควบคุมโรคทำเรื่องเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ เพื่อขอสนับสนุนแหล่งเงินในการจัดหาวัคซีนจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ มีมติเห็นชอบ
วันที่ 1 มิถุนายน 2564 กรมควบคุมโรคก็ทำเรื่องเสนอที่ประชุม ครม. ขอเปลี่ยนแปลงแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในการจัดหาวัคซีน จากเดิมใช้งบกลาง เปลี่ยนมาใช้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ แทน
เฉพาะการจัดหาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส เสนอ ครม. รับทราบวันที่ 5 มกราคม 2564 กว่าจะผ่านการอนุมัติจาก ครม. ครั้งสุดท้ายวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ใช้เวลา 5 เดือน
ตัวอย่าง การจัดหาวัคซีนซิโนแวค ที่ประชุม ครม. วันที่ 5 มกราคม 2564 มีมติอนุมัติงบกลางวงเงิน 2,150 ล้านบาท ให้องค์การเภสัชกรรมสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคกับบริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ไซแอนซ์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ลอตแรกจำนวน 2 ล้านโดส จากนั้นที่ประชุม ครม. ก็มีมติให้องค์การเภสัชกรรม ทยอยสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ครั้งละ 5 แสนโดส ไปจนถึง 1 ล้านโดส จนกระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้กรมควบคุมโรค จัดหาวัคซีนซิโนแวค 10.9 ล้านโดส ภายใน 2 เดือน โดยใช้แหล่งเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ประมาณ 6,111 ล้านบาท
นี่คือขั้นตอนการจัดหาวัคซีนของภาครัฐ นอกจากเรื่องเงื่อนไขการขายของผู้ผลิตวัคซีนแล้ว กว่าจะไปถึงขั้นทำสัญญาวางเงินมัดจำหรือสั่งซื้อได้ต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน ทั้งภายในกระทรวงสาธารณสุขผ่านคณะกรรมการชุดต่างๆ เช่น คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อประชาชนไทย, คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ, คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ, คณะกรรมการอาหารและยา และคณะทำงานอีกหลายชุด ออกจากกระทรวงสาธารณสุขก็ไปต่อกันที่ ศบค. และทำเรื่อง เสนอสำนักงบฯ หรือคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ ขอแหล่งเงินสนับสนุนในการจัดหาวัคซีน ส่งให้ที่ประชุม ครม. อนุมัติ แต่ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการสั่งจองล่วงหน้าหรือสั่งซื้อ ต้องส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจทานก่อน
ส่วนขั้นตอนภาคเอกชน ปฏิบัติตามเงื่อนไขของผู้ผลิต คือ จองซื้อต้องผ่านหน่วยงานของรัฐเท่านั้น การสั่งซื้อหรือนำเข้าวัคซีนต้องเป็นวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. เรียบร้อยแล้ว และต้องไม่ซ้ำซ้อนกับวัคซีนหลักที่รัฐบาลนำมาฉีดให้กับประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ยกตัวอย่าง กรณีการจัดหาวัคซีนโมเดอร์นา หลังจากโรงพยาบาลเอกชนเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนสั่งจองวัคซีน และจ่ายเงินเสร็จเรียบร้อย ส่งยอดจองพร้อมเงินค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีนให้กับองค์การเภสัชกรรม ในการจัดหาวัคซีนโมเดอร์นาจากบริษัท ซิลลิคฟาร์มา เป็นต้น
ดังนั้น ตามแผนการจัดหาวัคซีนโควิดฯ ในปี 2564 รัฐบาลตั้งเป้าหมายในการจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชน 105.5 ล้านโดส ประกอบไปด้วยแอสตร้าเซนเนก้าตั้งเป้าจัดหาวัคซีน 61 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 7.14 ล้านโดส ได้รับบริจาค 1.05 ล้านโดส, ซิโนแวคตั้งเป้าจัดหาวัคซีน 19.5 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 11.5 ล้านโดส ได้รับบริจาคมา 1 ล้านโดส ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ กรมควบคุมโรคเพิ่งจะลงนามในสัญญาฯ กับบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) และไบออนเทค เมื่อวันวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 กำหนดส่งมอบวัคซีนในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ส่วนในปี 2565 ตั้งเป้าหมายหาเพิ่มอีก 120 ล้านโดส รวมประมาณ 220 ล้านโดส