ThaiPublica > เกาะกระแส > “นิติธรรมนัส” กับ 2 ประเด็นที่ขาดหาย-7 ประเด็นค้าน-5 ประเด็นหนุน สู่บทสรุปของปัญหา “โครงสร้างที่บิดเบี้ยว”

“นิติธรรมนัส” กับ 2 ประเด็นที่ขาดหาย-7 ประเด็นค้าน-5 ประเด็นหนุน สู่บทสรุปของปัญหา “โครงสร้างที่บิดเบี้ยว”

25 มิถุนายน 2021


ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

จากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำวินิจฉัย ที่ 6/2564 (ฉบับเต็ม) กรณีคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ทางเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ ต่อมาได้มีการเผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็มดังกล่าวลงในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา และได้มีการเผยแพร่ความเห็นส่วนตนขององค์คณะแต่ละท่านตามมา

ประเด็นสำคัญที่หายไปในคำวินิจฉัยฉบับเต็ม

หากได้อ่านหรือได้ฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะพบว่าประเด็นหลักๆ ที่ถูกหยิบมาอธิบายให้ ร.อ. ธรรมนัส ยังคงมีคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่พ้นจากตำแหน่ง คือ เรื่องของอำนาจอธิปไตย และความลักลั่นไม่แน่นอนของกฎหมายแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดดูความเห็นส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน จะพบว่า

ตุลาการทั้ง 9 มีความเห็นพ้องในประเด็นของอำนาจอธิปไตยอย่างเป็นเอกฉันท์ ซึ่งอาจถือเป็นเหตุผลหลักในการให้ความเห็นเนื่องจากในการให้เหตุผลอื่นๆ สุดท้ายก็กลับมายังจุดตั้งต้นในประเด็นของอำนาจอธิปไตย

ส่วนประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญค่อนข้างให้น้ำหนักในลำดับถัดมา คือ ความลักลั่นและไม่แน่นอนของกฎหมาย กระบวนวิธีพิจารณา ของแต่ละประเทศที่ย่อมมีแตกต่างกันออกไป ความผิดตามกฎหมายประเทศหนึ่งอาจไม่เป็นความผิดตามกฎหมายของอีกประเทศหนึ่ง โดยมีตุลาการ 6 คนที่ให้ความเห็นถึงประเด็นนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ร้อยเอกธรรมนัส ได้ชี้แจงไว้ในคำให้การของตนเช่นกันว่า ความผิดฐาน “รู้เห็นเกี่ยวกับการนำเข้า” ที่ตนได้รับนั้นไม่มีอยู่ในกฎหมายไทย

ตามด้วยประเด็น เรื่องของบทบัญญัติจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่ถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญและหลักสากลนั้น เป็นเรื่องที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด ภายใต้กฎหมายลายลักษณ์อักษร หากไม่มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า ให้หมายความรวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ จะตีความขยายขอบเขตไปไม่ได้ ซึ่งปรากฏในความเห็นส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 ท่าน แต่กลับไม่ปรากฏประเด็นดังกล่าวนี้ในคำวินิจฉัยฉบับเต็มแต่อย่างใด

ในการพิจารณาคดีครั้งนี้แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามองข้ามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไป เนื่องจากในคำวินิจฉัยทั้งฉบับ วันอ่านและฉบับสมบูรณ์ที่เผยแพร่ออกมาภายหลังและได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษานั้น ไม่ปรากฏประเด็นดังกล่าว แต่ในความเห็นส่วนตนยังมีตุลาการ 2 คนที่กล่าวถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไว้เช่นกัน โดยมีความเห็นโดยสรุป ดังนี้

  • มาตรา 98 (10) เป็นบทบัญญัติใหม่มีความมุ่งหมายเพื่อป้องกันมิให้บุคคลที่ขาดความน่าเชื่อถือในความสุจริต หรือผู้ที่เคยทำความผิดอันเป็นปฏิปักษ์ต่อประโยชน์สาธารณะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยต้องยึดถือการที่ศาลวินิจฉัยว่าได้มีการกระทำความผิดในเรื่องนั้นๆ หรือไม่เป็นสำคัญ โดยไม่คำนึงถึงเหตุบรรเทาโทษ หรือถูกลงโทษหรือไม่ หากเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดตามมาตรานี้แล้วก็ถือว่ามีลักษณะต้องห้าม
  • มาตรา 98 มีความมุ่งหมายเพื่อกำหนดลักษณะต้องห้ามของบุคคลในการสมัครรับเลือกตั้งฯ เนื่องจากผู้จะเป็นผู้แทนประชาชนต้องได้รับการกลั่นกรองคุณสมบัติก่อน พิจารณาจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญประกอบกับอำนาจตุลาการของรัฐอันเป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตย ศาลในฐานะที่เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ คำพิพากษาของศาลที่จะมีผลบังคับในรัฐใดต้องเกิดจาการใช้อำนาจอธิปไตย คืออำนาจตุลาการในรัฐนั้น

หลังจากได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการด้านกฎหมาย ซึ่งล้วนมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ต่อกรณีที่คำวินิจฉัยฉบับเต็มนี้ว่า มีรายละเอียดบางประการที่มากขึ้นกว่าเมื่อครั้งที่ศาลฯ ได้อ่านคำวินิจฉัย ร้อนถึงโฆษกศาลรัฐธรรมนูญต้องออกประกาศชี้แจงเกี่ยวกับการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (แนบมากับข่าวศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2564) โดยยืนยันว่าไม่มีผลกระทบเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยแค่อย่างใด

ฝ่ายวิชาการยันค้านคำวินิจฉัยฯ

แม้โฆษกศาลรัฐธรรมนูญจะมีการชี้แจง แต่เมื่อคำชี้แจงนั้นไม่สามารถตอบคำถามของสังคมได้ ฝ่ายวิชาการจึงยังคงยืนยันหนักแน่นถึงความไม่เห็นด้วย โดย รศ. ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผศ. ดร.นพดล เดชสมบูรณ์รัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมเสวนาในประเด็นดังกล่าว ซึ่งนิติฮับ ได้ร่วมกับประชาไท จัดขึ้นในหัวข้อ “นิติธรรมนัส”: ชำแหละคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณี “ธรรมนัส” เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งมีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

  • ปัญหาของการตีความบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ที่ขาดนิติวิธีบางประการไป

ทิศทางของคำวินิจอาจมีได้หลายแนวและอาจเป็นไปในทางทิศทางใดก็ได้ แต่หากได้ใช้กระบวนการในการตีความและให้เหตุผลอย่างครบถ้วน แม้ผลที่ออกมาจะไม่ตรงกับความคาดหวังของฝ่ายใด แต่เหตุและผลที่ชัดเจนจะสามารถทำให้ผู้คนเข้าใจผลที่ออกมาได้ โดยสิ่งที่นักวิชาการต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าขาดไปคือ การตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ผศ. ดร.นพดล ได้ให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า “วิธีการตีความไม่ใช่ศิลปะ แม้จะมีเรื่องการใช้ดุลยพินิจ แต่ดุลพินิจในการตีความนั้นไม่ใช่หยิบมาใช้กับอะไรก็ได้ ถ้ามีวิธีการที่ต้องตรงแก่กรณีศาลต้องหยิบมาใช้ทั้งหมด… เมื่อไม่นำหลักการสำคัญมาพิจารณาในคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยจะทำให้คำวินิจฉัยนั้นขาดความชอบธรรมในเนื้อหา เพราะมีหลักการสำคัญที่ไม่สามารถที่จะอธิบายได้ หรือไม่ถูกพูดถึง ซึ่งจริงๆ แล้วคำวินิจฉัยนี้ผลออกไปได้ 2 แนวเพราะมีนิติวิธีที่คานกันอยู่พอสมควร แต่พอคำวินิจฉัยไม่ได้กล่าวถึงการตีความที่มีความสำคัญ เช่น การตีความตามเจตนารมณ์ ทำให้มีคำถามขึ้นมาทันทีว่าอย่างนี้เป็นการเลือกผลไว้ก่อนหรือไม่แล้วเอาการตีความไปสนับสนุนหรือเปล่า”

แม้เวลาพูดถึงสิ่งที่เกิดจากการใช้อำนาจรัฐ เช่น กฎหมาย หรือคำพิพากษา ในรัฐใด ในความหมายปกติเราจะเข้าใจว่าต้องหมายถึงกฎหมายหรือคำพิพากษาในรัฐนั้น และโดยเฉพาะกรณีนี้ที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิ์การมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยหลักจึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด และตามความเห็นของตุลาการ ที่ระบุว่า หากตีความรวมไปถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศซึ่งไม่สามรถรู้ได้ว่ากระบวนการชอบด้วยหลักนิติรัฐหรือไม่ อาจทำให้เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนได้หากนำคำพิพากษาที่ขัดกับนิติรัฐมาใช้จนไปขัดกับรัฐธรรมนูญมาตราอื่น

เมื่อดูเจตนารมณ์ของกฎหมาย คือ คำปรารภของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 จะพบส่วนที่ระบุว่า “วางกลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เข้มงวด เด็ดขาดเพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง” ดังนั้น วิธีการบางอย่างเมื่อไม่ปรากฏจึงให้คำวินิจฉัยดูไม่สมเหตุสมผล หากตีความว่า “คำพิพากษาอันถึงที่สุด” ไม่รวมคำพิพากษาของศาลต่างประเทศจะมีประเด็นเกิดขึ้นมาทันที คือ

  • เกิดความลักลั่นในการบังคับใช้กฎหมาย

เนื่องจาก จะกลายเป็นว่ามีคนกลุ่มหนึ่งถูกจำกัดสิทธิ์เพราะต้องคำพิพากษาของศาลไทยแต่มีกลุ่มหนึ่งที่ไม่ถูกจำกัดสิทธิ์เพราะต้องคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ทำให้กฎหมายไม่สามารถมีผลได้อย่างเต็มที่ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย

อย่างไรก็ดี ผศ. ดร.นพดล กล่าวย้ำว่า เมื่อใช้การตีความตามเจตนารมณ์แล้ว ไม่ได้หมายความว่าต้องตีความรวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศเสมอไป เพราะเจตนารมณ์ไม่เพียงแต่เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง หรือข้อใดข้อหนึ่ง แต่เป็นเจตนารมณ์ของรัฐที่เป็นนิติรัฐหรือรัฐที่เป็นประชาธิปไตย กรณีนี้จึงเป็นกรณีที่มีการขัดกันหรือปะทะกันของการตีความระหว่าง การตีความอย่างเคร่งครัดที่คำนึงถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ และการตีความโดยคำนึงถึงเจตนารมณ์และประสิทธิผลของมาตรานั้น

ดังนั้น การกำหนดความผิดบางอย่างไม่ให้เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ใช่จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของมาตรานี้ การเมืองที่สะอาด ควรจะถูกตีความว่าเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะถ้าคนที่มีคุณสมบัติต้องห้ามบางอย่างเข้ามาเขาอาจจะใช้อำนาจโดยมิชอบ ดังนั้น ควรตีความให้ประสานกันระหวางมาตรา 98 (10) และตัวบทกฎหมายที่คำนึงถึงสิทธิของผู้ถูกร้อง โดยนำเจตนารมณ์มาวินิจฉัยร่วม แล้วจึงพิจารณาว่าเลือกอย่างใดแล้วจะเกิดการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพมากที่สุด เพราะบางครั้งการจำกัดสิทธิ์ก็เป็นการคุ้มครองสิทธิ์ด้วยเช่นกัน เช่นนี้จะทำให้คนไม่รู้สึกกังขาเพราะได้ใช้นิติวิธีครบถ้วนแล้ว แม้คำวินิจฉัยจะยังคงเห็นว่าไม่ควรจำกัดสิทธิทางการเมืองของ ร.อ. ธรรมนัส ก็ตาม

  • การรับรู้คำพิพากษาของศาลต่างประเทศ

ผศ.ดร.นพดล กล่าวว่า “การบังคับตาม” ต้องหมายความว่า บังคับสิ่งที่คำพิพากษาต้องการให้เกิดขึ้น คือ การจำคุก ซึ่งการจำคุกนั้นสิ้นสุดไปแล้วตามคำพิพากษาของรัฐนิวเซาท์เวลส์ฯ จึงไม่ใช่การบังคับตามผลของคำพิพากษาแต่อย่างใด หากไปดู มาตรา 98 (10) ที่ว่า “เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด” ผลทางกฎหมายที่เกิดขึ้น คือ จะเป็นการกระทบต่อคุณสมบัติซึ่งเป็น เป็นการนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นเงื่อนไขไปสู่ผลทางกฎหมาย

ส่วน รศ. ดร.ณรงค์เดช เห็นว่า ที่ฝ่ายวิชาการไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้เนื่องจาก รัฐธรรมนูญเราเขียนเอง การตีความเพื่อวินิจฉัยก็เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไทยเอง ไม่ได้กระทบต่ออำนาจอธิปไตย เพราะไม่ใช่ “การบังคับตาม” คำพิพากษาของศาลต่างประเทศอย่างแน่นอน ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของการพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ คือ เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในข้อหาตามที่บัญญัติไว้ เมื่อมีข้อเท็จจริงนี้เกิดขึ้น คำถามคือศาลไทยจะยอมรับรู้ข้อเท็จจริงนี้แล้วนำมาใช้ตีความอย่างไรนี่คือประเด็น

“ปัญหาจริงๆ ในคำวินิจฉัยนี้มันคือเหตุผล ผลแห่งคดีนั้นจะหลุดหรือไม่หลุดไม่ได้สนใจเวลามองหรือตีความกฎหมายเราต้องเอาอารมณ์หรือความรู้สึกนึกคิดออกไปต้องตีความแบบภาวะวิสัย ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นของคดีคุณธรรมนัสที่เรียกร้องจากเสียงนักวิชาการมากมายก็คือเหตุผล”

  • ข้อเท็จจริงไม่สะเด็ดน้ำ ข้ามไปวินิจฉัยข้อกฎหมาย

ผศ. ดร.นพดล กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ประเด็นน่าสนใจ กลับไปเรื่องของตัวหลักฐานซึ่งโดยทั่วไปนั้นจะมีหลักที่จะไม่ให้เกิดความสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจ (judicial economy) ถ้าไม่มีหลักฐานที่เพียงพอว่าเป็นข้อเท็จจริงนี้แม้เป็นคำพิพากษาของศาลต่างประเทศก็ตามศาลมีสิทธิ์ที่จะยุติการตัดสินได้ แต่สิ่งที่ประหลาดใจคือเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะแสวงหาหลักฐานตามระบบไต่สวนแต่ศาลกลับไม่ทำเช่นนั้น บอกว่าหลักฐานไม่ชัดเจนแต่สามารถไปพิจารณาในประเด็นข้อกฎหมายได้

เมื่อเป็นประเด็นข้อกฎหมาย ก็มีเรื่องที่จะเข้าไปตรวจสอบในหลักกฎหมายว่า กฎหมายออสเตรเลียมีความแตกต่างไปจากของไทยหรือไม่ เมื่อไม่มีการตรวจสอบตรงนี้แล้วศาลวินิจฉัยออกมาจึงมีปัญหาว่าเป็นคำวินิจฉัยที่หลักฐานไม่ครบ แล้วข้ามไปวินิจฉัยในข้อกฎหมายอื่น ไปออกในเรื่องของเหตุผลเรื่องอำนาจอธิปไตย

“ก็จะมีในส่วนที่บอกว่าคำวินิจฉัยนี้มันผูกพันต่อไปด้วย จึงมีความน่าประหลาดใจอยู่ระดับหนึ่งเหมือนกันเพราะดูขัดกับเรื่องของวิธีการไต่สวนของศาลด้วย กลายเป็นว่าศาลกลับไปดูข้อกฎหมายแทนที่จะสามารถวินิจฉัยได้ว่าไม่เอาเลยหรือเอาทั้งหมดถ้ามีเงื่อนไขบางอย่าง ซึ่งก็มีหลักกฎหมายปรากฏอยู่”

ด้าน รศ.อานนท์ ระบุว่า หากศาลปักธงแน่วแน่ว่าจะตัดสินเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายอย่างเดียว ในเรื่องของคำพิพากษาศาลต่างประเทศก็จะจบ ไม่ว่าจะเป็นคดียาเสพติดหรือไม่ ไม่น่าที่จะมาพูดถึงข้อเท็จจริง แล้วมาบอกว่าข้อเท็จจริงไม่มีไม่ปรากฏ เพราะเมื่อมันไปไม่สุด ก็ทำให้เกิดคำถามว่าตกลงจะเอาอย่างไร

  • ศาลรัฐธรรมนูญไม่พยายามแสวงหาข้อเท็จจริง

รศ.อานนท์ ให้ความเห็นว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญยุติปัญหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำพิพากษารัฐนิวเซาท์เวลส์ฯ เท่าที่รับกันในชั้นพิจารณา รับกันในคำร้อง ซึ่ง ร.อ. ธรรมนัส รับอย่างเดียวว่าต้องคำพิพากษาของรัฐนิวเซาท์เวลส์ฯ โดยไม่ได้รับเรื่องยาเสพติด ขณะที่เรื่องนี้มีประเด็นเรื่องยาเสพติด แต่ศาลกล่าวถึงเรื่องนี้เพียงแค่ว่าไม่ได้คำพิพากษามา โดยยอมรับทันทีที่กระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่าไม่มีสำเนา (สำเนาคำพิพากษา)

ทำให้มองได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่พยายามแสวงหาหลักฐานที่เป็นข้อเท็จจริง ทั้งที่กลไกของศาลรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ศาลมีอำนาจสามารถสั่งการไปยังกระทรวงการต่างประเทศ หรือใช้ความสัมพันธ์ทางการทูตเพื่อให้ได้มา และทั้งที่คำพิพากษารัฐนิวเซาท์เวลส์ฯ นี้สามารถสืบค้นจากอินเทอร์เน็ตได้

ทั้งนี้ แนวความเห็นกฤษฎีกาที่ 562/2554 มีอิทธิพลต่อการยกร่างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาก เพราะถ้อยคำหลายๆ อย่างเหมือนกันมาก ทั้ง 1. การอ้างเรื่องหลักอำนาจอธิปไตย 2. เรื่องการรับรู้คำพิพากษาศาล และ 3. การอ้างเหตุปฏิเสธไม่ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลต่างประเทศเนื่องจากความลักลั่น ไม่ได้มาตรฐานเดียวกัน คือ ความผิดที่เกิดขึ้นในต่างประเทศว่าจะเป็นความผิดในกฎหมายไทยหรือไม่ มาตรฐานในการดำเนินคดีจะเหมือนกับไทยหรือไม่

ซึ่งจุดอ่อนเรื่องความลักลั่นไม่แน่นอนในมาตรฐานของความผิดตามกฎหมายแต่ละประเทศนี้ ได้ถูกแก้โดยนัยยะของความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาที่1271/2563 ที่ยอมรับถึงความผิดยาเสพติด เนื่องจากมีลักษณะเป็นความผิดสากล เช่น เฮโรอีน ยาบ้า และเมื่อเป็นความผิดที่ระบบกฎหมายไทยรับรู้ว่ามีความผิด ก็ต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญถึงระบบกฎหมายเราเองทั้งหมดว่าถ้าเป็นยาเสพติดแบบเฮโรอีนนั้นร้ายแรง รับไม่ได้ เป็นต้น

“กรณีของ ร.อ. ธรรมนัส นั้น เป็นที่ทราบทั่วไปว่ามีการเข้าออกระบบราชการอย่างน้อย 2 รอบ มีการถูกปลดเนื่องจากทิ้งราชการ (ขณะต้องคดีที่ประเทศออสเตรเลีย) และถูกถอดยศเนื่องจากประพฤติตนไม่สมควร เพียงตรวจสอบว่ากรณีดังกล่าวมีเหตุเกี่ยวโยงถึงยาเสพติดหรือไม่ หากมีก็จะสอดรับกันทันทีว่ากระทรวงกลาโหมหรือรัฐไทยรับรู้ถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศถึงขนาดเป็นเหตุในการลงโทษทางวินัยเรื่องหนีราชการ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้แต่อย่างใด”

  • ศาลไม่รับรู้เรื่องยาเสพติด

รศ.อานนท์ กล่าวถึงคำวินิจฉัยที่เผยแพร่อยู่ในราชกิจจานุเบกษาในหน้า 39 ที่ระบุว่า “…ซึ่งศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ได้ดำเนินกระบวนพิจารณานี้จริง แต่การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นอย่างไร วินิจฉัยพยานหลักฐานอย่างไร และมีคำพิพากษาในความผิดฐานใด จะตรงตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) บัญญัติหรือไม่ นั้นยังไม่ชัดเจน” ในมุมหนึ่งเท่ากับว่ารัฐไทยเองไม่เคยมีการรับรู้รับรองว่า ร.อ. ธรรมนัส เคยต้องคดียาเสพติด จากนั้นเปลี่ยนไปพิจารณาที่ข้อกฎหมายเลย จากที่ระบุในคำวินิจฉัยประโยคหลังว่า “…อย่างไรก็ดีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาแล้วจึงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยต่อไป…” หมายความว่ายุติแล้วในเรื่องข้อเท็จจริง

“คำวินิจฉัยขอศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือที่สามารถเอาไปพูดได้ว่า ร.อ. ธรรมนัส ไม่เคยถูกศาล โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญที่มีอิทธิพลมากในเชิงการเมืองรับรู้รับรองว่าเขาต้องคดี ว่าเขาต้องคดียาเสพติด เพราะศาลออกตัวสุดๆ ว่าไม่รับรู้ ยังไม่ชัดเจนพูดเอาไว้ในหน้า 39 ซึ่งกรณีนี้มีปัญหามาก”

  • ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีการชี้สองสถาน (ไม่แจ้งประเด็นแก่คู่ความ)

รศ.อานนท์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีการแจ้งประเด็นที่จะพิจารณาทั้งในประเด็นข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายให้กับคู่ความทั้งสองฝ่ายทราบ (การกำหนดประเด็นแห่งคดี หรือชี้สองสถาน) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากคู่ความทราบว่าเขามีประเด็นอะไรที่เกี่ยวข้องที่ต้องมาสู้กันแล้วเขาจะได้สู้กันอย่างเต็มที่ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่มีกลไกส่วนนี้ จึงทำให้ผู้ร้องหรือผู้ถูกร้อง จะไม่เห็นภาพว่าตนเองมีภาระในแต่ละประเด็นที่จะโต้แย้งกันอย่างไรบ้าง

ในคำวินิจฉัยที่ออกมาตามเอกสารข่าวของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ระบุให้เห็นเพียงว่า ศาลรัฐธรรมนูญยุติประเด็นข้อเท็จจริงเรื่องเอกสารคำพิพากษาของศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ฯ เอาไว้ ซึ่งไม่ได้ทราบเหตุที่ยุตินั้นมาจากศาลไม่รู้ว่าคำพิพากษาของรัฐนิวเซาท์เวลส์ฯ นั้นมีอะไรในรายละเอียด ซึ่งหากได้ทราบเหตุผลดังที่ปรากฏในคำวินิจฉัยฉบับเต็มอย่างน้อยที่สุดผู้ร้อง หรือสังคมก็ต้องพยายามอย่างเต็มที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงให้

“กลายเป็นว่าศาลจะเป็นคนคัดกรองทุกอย่างที่เป็นประเด็นแห่งคดีตามความประสงค์ของศาลรัฐธรรมนูญเองและในที่สุดเมื่อศาลจะบอกว่าเรื่องนี้ยุติในข้อเท็จจริงศาลก็จะหยุดข้อเท็จจริง… ซึ่งทั้ง 2 ฝั่งยังไม่รู้ว่ายุติอะไร จึงเกิดเป็นปัญหาว่าที่ยุตินั้นยุติอะไร? ศาลรู้สึกพอในเรื่องอะไร? จริงๆ แล้วการรู้สึกพอของศาลนั้นเป็นการคิดเองหรือเปล่า? ทั้งที่คู่ความมีศักยภาพเพียงพอที่จะให้ได้มาซึ่งหลักฐานนี้”

5 เหตุเห็นต่าง แรงเสียดทานจาก “วรเจตน์ ภาคีรัตน์”

ทั้งนี้ ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ศ. ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านประชาไท ในทิศทางที่สวนกระแสจากความเห็นนักวิชาการส่วนใหญ่ สร้างแรงเสียดทานให้กับสังคม จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นอีกครั้ง เขาเรียกตนเองว่าเป็นเสียงส่วนน้อยหรืออาจจะเป็นเสียงเดียวในหมู่นักวิชาการ ที่เห็นว่า การตีความว่าหมายถึงคำพิพากษาของศาลไทยเท่านั้นในทางนิติศาสตร์ นั้นถูกต้องแล้ว ด้วยเหตุผล ดังนี้

  • เจตนารมณ์ไปไม่ถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ

ศ. ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวว่า ต้องดูตัวบทเป็นจุดเริ่มต้น หากพูดถึงกฎหมายหรือความผิดในมาตรา 98 (10) จะไม่เห็นความหมายของต่างประเทศเลย “คำพิพากษาของศาล” เป็นการใช้อำนาจทางมหาชนของรัฐชนิดหนึ่งผูกพันทั้งคู่ความและองค์กรรัฐต่างๆ เมื่อมีการอ้างอิงถึงตัวระบบหรือผลิตผลของการใช้อำนาจไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษา คำสั่งทางปกครอง หรือกฎหมาย หลักต้องอ้างถึงตัวอำนาจที่เป็นที่มาของกฎหมายนั้น คืออำนาจของรัฐไทย

ดังนั้น การตีความต้องดูทั้งจากถ้อยคำและเจตนารมณ์ โดยเจตนารมณ์เกิดจากตัวบทกฎหมายและจากตัวผู้เขียน ส่วนคำปรารภมีขอบเขตกว้างมาก หากจะใช้อ้างอิงเป็นเจตนารมณ์ หากจะให้รวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ตัวบทจะต้องระบุไว้ และเมื่อมาตรานี้ไม่ได้เขียนถึงต่างประเทศ ตัวบทนี้จึงไปไม่ถึง

  • โทษที่ได้รับในต่างประเทศอยู่นอกเหนือบทบัญญัติ มาตรา 98(10)

ศ. ดร.วรเจตน์ เห็นว่า ความผิดตามมาตรา 98(10) มีการระบุอย่างเจาะจง  ในความผิดเรื่องยาเสพติดในฐานผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก ซึ่ง ร.อ. ธรรมนัส ไม่ได้ยอมรับในจุดนี้ เขารับแค่เพียงว่าต้องคำพิพากษาของศาลต่างประเทศจริง ในความผิดฐานรู้เห็นการนำเข้า และคดีนี้จบที่ศาลแขวง ซึ่งตัดสินจำคุก 6 ปี เมื่อวิเคราะห์จากโทษที่ได้รับก็อาจเป็นความจริงได้ เนื่องจากบทลงโทษสำหรับผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก นั้นต้องสูงกว่านี้ ดังนั้นหากไม่ใช่ความผิดตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญก็ไม่อาจถือเป็นคุณสมบัติต้องห้ามได้

  • กฎหมายจำกัดสิทธิ ต้องตีความอย่างเคร่งครัด กฎหมายต้องกำหนดไว้

ศ. ดร.วรเจตน์ ระบุว่า ในบทบัญญัติที่ตัดสิทธิคนทั้งปวง หากจะบัญญัติตัดสิทธิใครก็ต้องเขียนให้ชัดเจน และหากกฎหมายไทยจะให้ยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วยจะต้องเขียนระบุไว้ให้ชัดเจนเช่นกัน การที่ ร.อ. ธรรมนัส ยอมรับว่ามีส่วนพัวพันกับการขนยาเสพติดนั้นอาจเพียงพอในแง่ความเหมาะสม แต่หากมองมุมของกฎหมาย ต้องมี 1. คำพิพากษาถึงที่สุด และ 2. ฐานความผิด ไม่ใช่แค่เพียงต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในทุกเรื่อง แต่ต้องประกอบกับฐานความผิดที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย หากไม่มีฐานความผิดกำกับจะทำให้ตีความไปได้กว้างขวางมาก

“เราไม่ควรเห็นดีเห็นงามกับการตัดสิทธิบุคคลตลอดชีวิต ไม่ควรในทุกเรื่อง ความผิดบางฐานบางประเทศไม่ติดคุก อาจเป็นแค่เพียงความผิดทางปกครอง แต่อีกประเทศหนึ่งอาจเป็นเรื่องต้องห้ามเด็ดขาด แล้วจะเรียกว่ายุติธรรมได้ไหมในกรณีแบบนี้”

นอกจากนี้ การอ้างถึงมาตรา 10 ตามประมวลกฎหมายอาญา นั้นไม่เกี่ยวข้องกับมาตรา 98(10) ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมาตรา 10 นั้นเขียนขึ้นมาเพื่อป้องกันการลงโทษซ้ำซ้อน และในมาตรา 10 นี้ก็เขียนถึงกฎหมายต่างประเทศไว้ชัดเจน แต่ในมาตรา 98(10) ไม่มี ดังนั้น นี่คือการรับเอาคำพิพากษาของศาลต่างประเทศเฉพาะกรณี หากมาตรา 98(10) จะทำก็ต้องเขียนให้ชัดเจนและต้องเขียนว่าฐานไหนด้วย หากไม่เขียนก็ไปไม่ถึง

  • ความลักลั่นในทางกลับกัน

ศ. ดร.วรเจตน์ กล่าวว่า การอ้างว่าหากไม่รวมคำพิพากษาของศาลต่างประเทศแล้วจะเกิดความลักลั่น แต่ในทางกลับกันจะรู้ได้อย่างไรว่าหากตีความรวมไปแล้วจะไม่เกิดความลักลั่น ในการตีความหากรวมคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ โทษจำคุกต้องหมายถึงโทษจำคุกของต่างประเทศด้วยได้ และต้องรวมถึงคำพิพากษาของศาลทุกประเทศ ทั้งเกาหลีเหนือ ยูกานดา ฯลฯ ด้วย

ไม่เช่นนั้นจะเกิดความลักลั่น กลายเป็นความไม่สม่ำเสมอกันในเรื่องที่ควรมีฐานเดียวกัน ซึ่งการตีความของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีผลไปถึงภายนอก แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมาย การทำคำพิพากษาของแต่ละประเทศนั้นเป็นมาตรฐานเดียวกัน แน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่ลักลั่น

“เหตุผลเรื่องลักลั่นถูกในมิติหนึ่ง แต่ในอีกมิติหนึ่งก็ผิด คือไม่ใช่เหตุผลที่ไปได้ทั้งหมด ฝ่ายตรงข้ามก็ยันกลับได้เช่นกัน เพราะระบบกฎหมายในต่างประเทศไม่ได้มีระบบกฎหมายเดียว มันมีจำนวนมาก”

  • ไม่ใช่การรับฟังในฐานะข้อเท็จจริง แต่เป็นการตีความเพื่อให้ความหมาย

ศ. ดร.วรเจตน์ กล่าวว่า“การรับฟังในฐานะข้อเท็จจริง” ที่ตนเข้าใจ คือ การรับว่าเขาทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องโทษ และเป็นโทษที่ได้รับแล้ว มีความผิดจริง ซึ่งหากจะรับมาต้องมาพิจารณาเรื่องการปลดออกจากราชการเพราะเหตุประพฤติชั่ว หรือนำมาดำเนินการทางวินัย แต่กรณีนี้เป็นการตีความคำว่า “คดีถึงที่สุด” หากให้คำว่าคดีถึงที่สุดของศาลต่างประเทศ เท่ากับคดีถึงที่สุดตามระเบียบหรือกฎหมายไทยด้วย จะเป็นการให้ความหมายคำว่า “คดีถึงที่สุด” ไม่ใช่การรับฟังในฐานะข้อเท็จจริง

“การรับมาในฐานะข้อเท็จจริงนั้นต้องเป็นการดูว่าการทำผิดฐานนั้นมันเข้าข้อต้องห้ามของคุณสมบัติไหม เพราะการรับมาเพื่อให้ความหมายของถ้อยคำในระบบกฎหมายไทยแล้ว หมายถึงกฎหมายต่างประเทศด้วยนั้น จะไปกระทบกับกรณีอื่นต่อไปด้วย”

ทั้งนี้ ศ. ดร.วรเจตน์ ให้ความเห็นว่า การรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมานั้นสามารถมีได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข เช่น มีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้ง มีสนธิสัญญาระหว่างกัน หรือการรับอย่างที่เป็นข้อเท็จจริงแล้วนำมาใช้เป็นฐานต่อไปในการวินิจฉัยลงโทษอื่นๆ เช่น โทษทางวินัย เป็นต้น หากไม่ใช่กรณีเหล่านี้แล้วก็ต้องตีความหมายถึงคำพิพากษาของไทยเท่านั้น ซึ่งความเห็นเช่นนี้อาจถูกตำหนิว่าคับแคบ แต่เขายังคงเห็นว่าเป็นการตีความที่รับกับตัวบท และไม่ขยายความจนเกินเลยไป

“ตุลาการ” อำนาจที่อันตรายที่สุด เมื่อตาชั่งตั้งอยู่บนกลไกที่บิดเบี้ยว

อย่างไรก็ตามแม้จะมีความเห็นไปในทิศทางตรงกันข้าม แต่ปัญหาที่นักวิชาการมองไปในทิศทางเดียวกันคือ

ปัญหาของตัวรัฐธรรมนูญที่พยายามทำศีลธรรมให้เป็นกฎหมาย ปัญหาเรื่องความสม่ำเสมอในการตีความ ที่มักถูกผูกโยงและขึ้นกับการเมืองแต่ละยุคสมัย และการที่ไม่สามารถทำคำพิพากษาให้เสร็จสมบูรณ์ภายในวันเดียว

ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบย้อนกลับบั่นทอนความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชน เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นศาลชั้นเดียว และคำวินิจฉัยของศาลฯ ไม่ได้ผูกพันเฉพาะตัวคู่ความดังเช่นคดีแพ่ง หรือคดีอาญาทั่วไป แต่ผลนั้นผูกพันไปยังองค์กรอื่นด้วย

  • ปัญหาความไม่สม่ำเสมอในการตีความ

แม้จะมีความเห็นตรงกันข้ามแต่ทั้ง ศ. ดร.วรเจตน์ และฝ่ายวิชาการอื่นก็เห็นว่าประเด็นนี้เป็นปัญหา ซึ่งในอดีตก็มีการตีความทั้งยอมรับยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ปี 2525 และปี 2563 ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญเองก็มีการตีความเพื่อขยายหลักกฎหมายให้ครอบคลุมเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ในกรณีของนายสมัคร สุนทรเวช แต่ในครั้งนี้ศาลกลับผ่านเลยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในมาตรา 98(10) ให้กลายเป็นเพียงประเด็นรั้งท้ายเท่านั้น จึงเกิดเป็นปัญหาให้ถูกหยิบยกมาเปรียบเทียบ

ศ. ดร.วรเจตน์ ระบุว่า ปัญหาความสม่ำเสมอในการตีความของศาลรัฐธรรมนูญในอดีตที่ขยายขอบเขตของกฎหมายออกไปทำให้ประชาชนคุ้นชินกับการตีความรูปแบบดังกล่าว เมื่อเกิดกรณีที่ศาลตีความค่อนข้างเคร่งครัดเช่นกรณีนี้ คนจึงรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรม เนื่องจากทิศทางไม่เหมือนเดิม

“การตีความที่ควรเป็นคือการตีความตามระบบ (systematic interpretation แต่ไม่ปรากฏในคำวินิจฉัยนี้ ซึ่งหากให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาในหลายเรื่อง ปัญหาก็จะไม่เกิด ผมรู้สึกว่าถ้าเราต้องการให้ตัวกฎเกณฑ์ในทางกฎหมายเป็นรากฐานมั่นคงหนักแน่น เพื่อให้มีคุณค่าบางอย่างเกิดขึ้นในสังคม มันต้องมีความสม่ำเสมอและมีความเป็นภววิสัยอยู่ เราไม่ควรเอาสิ่งที่ไม่ถูกมาใช้เป็นรากฐานในการทำมันต่อไป”

ด้าน ผศ. ดร.นพดล ระบุว่า ศาลเองต้องไม่ดูเพียงการวินิจฉัยเฉพาะคดี แต่ต้องดูด้วยว่า ที่ผ่านมาก็มีการตีความขยายเช่นใด เพราะมีเรื่องความยุติธรรมระหว่างคดี ความสม่ำเสมอของการให้เหตุผลอยู่เช่นกัน แม้องค์คณะจะเปลี่ยนไปก็ยังต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ หากมีการตีความเคร่งครัดคุ้มครองคนกลุ่มหนึ่ง แต่อีกกลุ่มหนึ่งเป็นการตีความขยายขอบเขตของกฎหมายเพื่อรักษาคุณงามความดี ก็จะมีประเด็นว่า กฎหมายกลายเป็นแค่เครื่องมือ และจะกลายเป็นปัญหาอย่างยิ่งเมื่อประชาชนไม่เชื่อถือ

“จากผลคำพิพากษาประชาชนก็รับทราบได้ว่าใครทำหน้าที่อย่างไร สิ่งหนึ่งที่อยากฝากก็คือศาลเป็นผู้พิทักษ์ระบบกฎหมาย ฉะนั้นการปกครองโดยกฎหมายหรือนิติรัฐนิติธรรมจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ก็อยู่ที่บทบาทของศาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นศาลชั้นเดียว ไม่มีใครตรวจสอบได้อีกแล้ว และคำวินิจฉัยเองก็มีความผูกพันในลักษณะเป็นการทั่วไป เราก็อยากจะเห็นว่าตัวฉันเอง ต้องตรวจสอบตัวเองให้ได้มากที่สุด เพราะไม่ใช่แค่รักษาตัวศาลแต่เป็นการรักษาระบบกฎหมายและความน่าเชื่อถือ”

  • ผลกระทบจากการ “ไม่” เผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็มในวันเดียวกับที่อ่านคำวินิจฉัย

ศ. ดร.วรเจตน์ ระบุว่า ในการทำคำวินิจฉัยและอ่านคำวินิจฉัย ที่มีการตัดสินให้มีผลไปก่อนมีคำวินิจฉัยฉบับสมบูรณ์ซึ่งการให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีความสำคัญมาก แต่กลับถูกละเลย ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากคำวินิจฉัยนั้นมีบางส่วนที่ไม่ตรงกันทั้งหมด มีข้อความที่เหลื่อมกัน แม้ผลของคำวินิจฉัยจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไป แต่เมื่อคำวินิจฉัยไม่เหมือนเดิม มันเท่ากับว่าเป็นการอ่านแล้วเติม ซึ่งไม่ควรทำได้ เว้นแต่มีคำผิด หรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ติงศาลรัฐธรรนูญมานานกว่า 20 ปีแล้ว

การที่ทำคำวินิจฉัยให้มีมาตรฐานสูงจะเป็นเกราะป้องกันศาลเอง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม เพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลชั้นเดียว ไม่มีวิธีตรวจสอบวิธีอื่น นอกจากการวิพากษ์วิจารณ์ การพูดกันด้วยเหตุผล แต่คำวินิจฉัยที่ปรากฏในวันอ่านเมื่อไม่ใช่ฉบับสมบูรณ์ทำให้วิจารณ์ได้จำกัด เพราะคนไม่เห็นเหตุผลทั้งหมด

รศ.อานนท์ กล่าวว่า ศาลใช้คำว่า “ย่อ” สำหรับคำวินิจฉัยที่ออกมาในวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 แต่หากสังเกตเนื้อความที่เพิ่มมาในฉบับที่ลงในราชกิจจานุเบกษา เนื้อความนั้นเพิ่มออกมาไม่มากประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จะเรียกว่าย่อได้อย่างไร อีกทั้งไม่มีฐานอำนาจไหนของศาลรัฐธรรมนูญรับรองให้อ่านคำวินิจฉัยฉบับย่อบนบันลังก์ ประกอบกับในระหว่างที่รอประกาศในราชกิจจานุเบกษาไม่มีกฎหมายข้อใดให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการต่อเติมคำวินิจฉัย และกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องของการแก้ไขข้อผิดหลงเล็กน้อย ซึ่งปัญหาแก้ได้โดยการทำคำพิพากษาให้เสร็จสมบูรณ์ในวันอ่าน

ผศ. ดร.นพดล กล่าวว่า ศาลฯ ต้องคิดว่าเป็นผู้มีหน้าที่ต่อประชาชน ฉะนั้นการให้เหตุผลจึงควรจะอธิบายให้ชัดเจนสิ้นสุด ณ วันที่อ่านคำวินิจฉัยและพยายามตอบโจทย์หรือประเด็นของกฎหมายให้ครบถ้วน เพื่อทำให้ประชาชนมีความไว้เนื้อเชื่อใจว่าศาลเองก็เป็นผู้ที่ใช้กฎหมายเพื่อประชาชนและคิดว่าประชาชนเองก็ควรที่จะมีการพิจารณาหรือเข้ามาตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาลได้ ศาลจึงควรให้ผลที่ดีที่สุดไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเช่นนี้

อย่างไรก็ดี จากรายงานข่าวที่สำนักข่าวไทยพับลิก้านำเสนอความเห็นของทั้งสองฝ่ายเมื่อครั้งที่ศาลฯ ได้อ่านคำวินิจฉัย จะสังเกตได้ว่า ได้มีความเห็นส่วนตนของตุลาการท่านหนึ่งถูกเผยแพร่อย่างไม่เป็นทางการในเวลาไล่เลี่ยกับที่มีการอ่านคำวินิจฉัย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากลำบากหรือเป็นไปไม่ได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเปิดเผยและอ่านคำพิพากษาฉบับเต็มภายในวันเดียวกัน

  • รวมความเห็นโต้กลับนักวิชาการ – เปิดคำวินิจฉัยส่วนตน “ทวีเกียรติ” กรณีคุณสมบัติ “ธรรมนัส พรหมเผ่า”
  • รวมข้อโต้แย้งนักวิชาการ ต่อคำวินิจฉัยศาล รธน. สั่งไม่ฟันคุณสมบัติ “ธรรมนัส พรหมเผ่า”
  • คำวินิจฉัยศาล รธน. ฉบับเต็ม กรณี “คุณสมบัติ ธรรมนัส” ยังถูกวิพากษ์การหาหลักฐาน-เติมคำวินิฉัย
  • คำถามเชื่อถือได้หรือไม่!! มารู้จัก The Sydney Morning Herald กับชื่อเล่น “Granny” 188 ปี นสพ.เก่าแก่ออสเตรเลีย ผู้เจาะลึกคดี “ธรรมนัส”
    • การเมืองใน รธน. และเกณฑ์ “คุณสมบัติ” กับการเอาความดีมาบัญญัติ กม.

    เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ฝ่ายวิชาการมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดย ศ. ดร.วรเจตน์ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า การทำให้ศีลธรรมเป็นกฎหมาย (moralization of law) นั้นอันตราย เนื่องจากศีลธรรมเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล กฎหมายควรเป็นเพียงสิ่งที่วางมาตรฐานขั้นต่ำในการอยู่ร่วมกัน ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายเท่านั้นจะเพียงพอ ในทางการเมืองนั้นต้องมีเรื่องอื่นประกอบด้วย แต่หากเห็นว่ามีกรณีที่เป็นปัญหา ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาใช้เหตุผลทางศีลธรรมจัดการ เราจะเผชิญอันตรายอีกแบบจากการเพิ่มพูนอำนาจศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความขยายออกไปได้หลายอย่าง

    “ศาลเป็นอำนาจที่อันตรายน้อยที่สุดในสามอำนาจ (นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ) แต่หากไม่ระวัง ศาลอาจเป็นอำนาจที่อันตรายที่สุดได้เช่นกัน”

    สอดคล้องกลับความเห็นของ รศ. ดร.ณรงค์เดช  ที่ระบุว่า แม้ผู้ร่างจะมีเจตนาที่ดีในการพยายามเอาคุณงามความดีไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้เป็นมาตรวัดคัดคนเข้าสู่การเมือง โดยให้องค์กรทำการประเมิน แต่เรื่องนี้ก็เป็นปัญหา เพราะการประเมินนี้ส่งผลทางกฎหมายถึงขนาดตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตก็มี ขณะที่ “ความดี” นั้นยังค่อนข้างเป็นนามธรรม และการให้ค่าความดีของแต่ละบุคคลก็ล้วนแตกต่างกันไป เป็นเรื่องที่ประเมินได้ยาก

    “คำถามคือ เราจะตีความอย่างไร ว่า อะไรคือซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ คือไม่โกงใช่ไหม แล้วถ้าไม่โกงแต่นั่งเฉยๆ ให้เพื่อนๆ ที่ทำงานด้วยกันโกง อย่างนี้ถือว่าซื่อสัตย์สุจริตไหม ตัวเองไม่โกงแต่คนที่นั่งทำงานด้วยกันโกงกันทุกคน อย่างนี้เรียกว่าอย่างไร”

    รศ. ดร.ณรงค์เดช  ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่ต่อเนื่องของเรื่องนี้ คือการให้องค์กรที่เป็นองคาพยพที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันกับคณะผู้ก่อการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ทั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือแม้แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีส่วนหนึ่งที่สภานิติบัญญัติ (สนช.) ที่มาจากการรัฐประหารเป็นผู้แต่งตั้ง แล้วเอาความดีตรงนี้ให้คนกลุ่มนี้เป็นคนตัดสิน

    ทั้งนี้ ในหลักของประชาธิปไตย การกำหนดคุณสมบัติ การกำหนดลักษณะต้องห้ามของคนที่จะอาสาลงสนามเลือกตั้ง ข้อห้ามข้อจำกัดต้องน้อยที่สุด ควรมีเท่าที่จำเป็น และการจำกัดตัดสิทธิไม่ควรเป็นไปในลักษณะถาวรตลอดกาล ดังเช่น สโลแกนของกรมราชทัณฑ์ “คืนคนดีสู่สังคม” เพราะคนเราเป็นไปได้ที่จะกระทำผิด ซึ่งเขาอาจสำนึกผิดและกลับตัว แต่มาตรฐานของไทยคือตัดออกจากการเมืองตลอดไป ทางที่ควรเป็นคือเคารพต่อการตัดสินใจของประชาชน โดยให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งว่ามีปูมหลังอย่างไร ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าบุคคลดังกล่าวเหมาะสมจะเป็นผู้แทนของเขาหรือไม่

    • รัฐธรรมนูญขาดความเป็นประชาธิปไตย ไม่เชื่อมั่นในวิจารณญาณ ปชช.

    ศ. ดร.วรเจตน์ ระบุว่า ปัญหาสำคัญของเรื่องนี้คือรัฐธรรมนูญที่โครงสร้างขาดความเป็นประชาธิปไตย ทำให้ฝ่ายการเมือง หรือนายกรัฐมนตรีขาดความใส่ใจในเรื่องนี้ เพราะตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีนั้นยึดโยงกับสมาชิกวุฒิสภามากกว่าประชาชน ไม่ว่ามีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เท่าไร ก็ยังมี ส.ว. ค้ำจุนตำแหน่งอยู่ ซึ่ง ศ. ดร.วรเจตน์ เห็นว่าประเด็นนี้ควรแก้กันด้วยการเมืองมากว่าใช้วิธีการทางกฎหมาย เพราะกฎหมายมีข้อจำกัดมากกว่า ต้องมีการตีความ ต้องมีบทบัญญัติ

    ด้าน รศ. ดร.ณรงค์เดช  ให้ความเห็นสอดคล้องกับ ศ. ดร.วรเจตน์ ว่า สิ่งที่ขาดหายไป คือ “กลไกความรับผิดชอบทางประชาธิปไตย” (democratic accountability) ที่จะทำให้เสียงของประชาชนมีน้ำหนัก และฝ่ายการเมืองต้องรับฟัง เพราะประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเลือกผู้แทน หากหากผู้แทนไม่ทำหน้าที่หรือทำหน้าที่ไม่ดีก็จะไม่ได้รับเลือกอีก ดังนั้นหากมีเสียงคัดค้านต่อบุคคลที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี นายกฯ ก็ควรต้องปลดบุคคลดังกล่าวออก

    “แต่ที่ไม่เกิดขึ้นกับเหตุการณ์ปัจจุบัน เพราะนายกฯ ไม่จำเป็นต้องใส่ใจเสียงประชาชน เพราะกลไกตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เกิดวงจรความรับผิดชอบทางประชาธิปไตย เพราะสุดท้ายแล้วผู้ที่มีสิทธิ์ออกเสียงในการเลือกนายกฯ จริงๆ หรือในการจะเป็นรัฐบาลหรือไม่นั้นอยู่ที่จำนวน 250 เสียงของสมาชิกวุฒิสภา”

    จะเห็นได้ว่ากลไกบิดเบี้ยวไปหมด ตราบใดที่ยังเป็นแบบนี้ ประชาชนจะพูดแค่ไหนก็ตาม กระแสสังคมจะแรงแค่ไหนก็ตาม ถ้านายกฯ จะไม่สนใจก็คือไม่สนใจ หากเปลี่ยนใหม่ให้กลไกความรับผิดชอบต่อประชาธิปไตยเกิดขึ้นจริง กระแสแรงแบบนี้นายกฯ ก็จะหวาดกลัว แล้วจะต้องหาทางใดทางหนึ่ง ที่จะหาทางจัดการตรงนี้

    รศ. ดร.ณรงค์เดช ได้ตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นที่หลายคนมองเป็นความหวังในการที่จะให้ ร.อ. ธรรมนัส พ้นตำแหน่งได้ คือประเด็น “จริยธรรมร้ายแรง” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 แต่เขาเห็นว่า การตีความตัวบทดังกล่าวนั้นต้องเป็นกรณีที่เกิดขึ้น ณ ขณะเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งอยู่

    สุดท้ายแล้ว 4 ประเด็นนี้คือสิ่งที่สะเด็ดน้ำและนักวิชาการเสียงไม่แตก แม้แต่ ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกมาโต้แย้งความเห็น ศ.ดร.วรเจตน์ ก็เห็นด้วยในจุดเดียวกันนี้ หากไล่เรียงดู รากเหง้าของปัญหาอาจไม่ใช่ “คำวินิจฉัย” หรือ “ความเห็นของตุลาการ” แต่เป็นโครงสร้างที่บิดเบี้ยวผิดเพี้ยนของการเมือง กระบวนการยุติธรรม และการออกแบบกฎหมายสูงสุดของประเทศอย่างรัฐธรรมนูญ