ThaiPublica > เกาะกระแส > รวมความเห็นโต้กลับนักวิชาการ – เปิดคำวินิจฉัยส่วนตน “ทวีเกียรติ” กรณีคุณสมบัติ “ธรรมนัส พรหมเผ่า”

รวมความเห็นโต้กลับนักวิชาการ – เปิดคำวินิจฉัยส่วนตน “ทวีเกียรติ” กรณีคุณสมบัติ “ธรรมนัส พรหมเผ่า”

9 พฤษภาคม 2021


หมายเหตุ: ภาพนิ่งดังกล่าวไม่ใช่ภาพในขณะที่ศาลกำลังปฏิบัติหน้าที่อ่านคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าวแต่อย่างใด หากแต่เป็นภาพที่ได้มีการบันทึกไว้ในวาระอื่น และนำมาใช้เฉพาะวัตถุประสงค์สำหรับประกอบการถ่ายทอดทีวีวงจรปิดในช่วงเวลาที่ทำการตัดภาพการถ่ายทอดให้มีเฉพาะเสียงการอ่านคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ในการนี้จึงขอเรียนให้ทราบว่า ในขณะที่ศาลทำการอ่านคำวินิจฉัยอยู่นั้น คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกท่านได้สวมหน้ากากอนามัย ได้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัดตลอดเวลา จนภารกิจดังกล่าวเสร็จสิ้นในเวลา 15.30 น.

รวมความเห็นโต้กลับนักวิชาการ ยัน “ตุลาการศาล รธน.” วินิจฉัยถูกต้อง – เปิดคำวินิจฉัยส่วนตน “ทวีเกียรติ” กรณีคุณสมบัติ “ธรรมนัส”

  • รวมข้อโต้แย้งนักวิชาการ ต่อคำวินิจฉัยศาล รธน. สั่งไม่ฟันคุณสมบัติ “ธรรมนัส พรหม้ผ่า”
  • หลังจากที่นักวิชาการจำนวนมากออกมาแสดงความคิดเห็นโต้แย้งต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีคุณสมบัติของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพะเยา เขต 1 สังกัดพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา

    ต่อมานายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย และ ศ.พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อชี้แจงต่อประเด็นต่างๆ และมีการเผยแพร่ความเห็นส่วนตนอย่างไม่เป็นทางการ ของ ศ. ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 โดยข้อชี้แจงทั้งหมดมีประเด็นโดยสรุป ดังนี้

    • กรณี ร.อ. ธรรมนัส ถูกตัดสินลงโทษจำคุกคดียาเสพติด ตั้งแต่ ปี 2536 และพ้นโทษเมื่อปี 2540 ถือว่าพ้นโทษมาแล้วเกิน 5 ปี จึงถือว่าไม่ขาดคุณสมบัติตามกฎหมาย

    ตามรายงานข่าว นายวิษณุให้เหตุผลชี้แจงว่า “เคยมีความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ 276/2525) มีคำสั่งว่าหากถูกพิพากษาจำคุกในหรือต่างประเทศตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยพ้นโทษมาแล้วไม่ถึง 5 ปี ถือว่าเป็นบุคคลต้องห้าม ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. แต่กรณี ร.อ. ธรรมนัส ถูกตัดสินลงโทษจำคุกคดียาเสพติดตั้งแต่ปี 2536 และพ้นโทษเมื่อปี 2540 ถือว่าพ้นโทษมาแล้วเกิน 5 ปี จึงถือว่าไม่ขาดคุณสมบัติตามกฎหมาย”

    ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า

    อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าบทกำหนดระยะเวลาดังกล่าวนั้นอยู่ในรัฐธรรมนูญ ปี 2521 แต่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ฉบับปัจจุบันไม่ได้กำหนดเรื่องนี้ไว้แต่อย่างใด

    • กรณีดังกล่าวไม่ใช่การล้างมลทิน แต่เป็นคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม

    โดยนายวิษณุกล่าวว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีนี้ถือเป็นบรรทัดฐานที่ใช้ได้กับทุกคน เพราะไม่เคยมีคำวินิจฉัยมาก่อน และใช้ได้กับความผิดทุกกรณี ไม่เฉพาะแต่ความผิดคดียาเสพติดอย่างเดียว แต่ไม่ใช่การล้างมลทิน เพราะเป็นเรื่องคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามซึ่งอาจจะมีมลทินก็ได้”

    • เป็นหลักสากลอยู่แล้วที่คำพิพากษาของประเทศใดต้องใช้แค่เฉพาะในประเทศนั้น หากเป็นกรณีที่นำคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมาใช้ต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น

    โดยในคำวินิจฉัยส่วนตนของ ศ. ดร.ทวีเกียรติ ได้ให้ความเห็นถึงประเด็นนี้ว่า “หากรัฐธรรมนูญประสงค์จะให้คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมีผลบังคับเป็นการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลในประเทศไทย เพื่อป้องกันความลักลั่นไม่เป็นธรรม…โดยเชื่อถือในมาตรฐานทั้งในแง่เนื้อหาและกระบวนการของคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศ รัฐธรรมนูญจะต้องระบุให้ชัดแจ้ง ดังเช่นประเทศสหราชอาณาจักร ที่กำหนดให้บุคคลที่ต้องคำพิพากษาในคดีอาญาให้จำคุกมากกว่า 1 ปีจะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ระหว่างที่ถูกจำคุกในเกาะบริเตน หรือสาธารณรัฐไอร์แลนด์ หรือหลบหนีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ ไม่ว่าคำพิพากษานั้นจะเป็นคำพิพากษาของศาลในสหราชอาณาจักรหรือของประเทศอื่น”

    (อ่านคำวินิจฉัยส่วนตนของ ศ. ดร.ทวีเกียรติ ฉบับเต็ม)

    พร้อมทั้งอ้างอิงความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ 562/2554 ที่มีปัญหาจากระเบียบสำนักนายกว่าด้วยการให้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่มีปัญหาว่าต้องเรียกคืนเครื่องราชฯ จากผู้ที่ถูกศาลต่างประเทศพิพากษาให้จำคุกหรือไม่ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่า ต้องเป็นเรื่องคำพิพากษาของศาลไทยเท่านั้นถ้าเป็นการยอมรับคำพิพากษาศาลต่างประเทศจะเป็นการว่าเราไปรับอธิปไตยของต่างชาติ

    (อ่าน ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ 562/2554 ฉบับเต็ม)

    ด้านศ.พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านฐานเศรษฐกิจออนไลน์ โดยระบุถึงประเด็นดังกล่าวว่า “เคยมีคำวินิจฉัยแบบนี้เป็นบรรทัดฐานมาก่อนแล้ว และก่อนหน้าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นหลักพื้นฐานที่ระบบกฎหมายไทยสอดคล้องกับมาตรฐานสากล มาก่อนแล้วว่า คำว่าศาล คำว่ากฎหมาย คำพิพากษา ของประเทศใดก็ต้องใช้ของประเทศนั้น และเมื่อพูดถึงเฉพาะคำพิพากษาของศาล ในระบบกฎหมาย สมมติเป็นของประเทศสหรัฐอเมริกา ก็หมายถึงศาลของประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น เขาไม่มีวันจะมาบอกว่าคำว่าศาลในกฎหมายของเขาหมายรวมถึงศาลทั่วโลกทุกประเทศกว่า 200 ประเทศ คำว่าศาลและคำพิพากษาของศาลในประเทศไทยในระบบกฎหมายไทยก็หมายความถึงคำพิพากษาศาลไทย นี่คือระบบที่เป็นมาแต่เดิมและเป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งคงจะเป็นอยู่ต่อไป ถ้ามีเหตุผลหรือความจำเป็น ประเทศไหนประสงค์จะให้คำว่าศาลในกฎหมายเขา หมายรวมถึงศาลทั่วโลกทุกประเทศด้วย เขาจะต้องเขียนไว้เป็นการเฉพา” พร้อมกล่าวย้ำว่าหากจะนำคำวินิจฉัยของศาลต่างประเทศมาใช้ได้ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ จะใช้ความรู้สึกมาตัดสินไม่ได้

    ทั้งนี้ ในกรณีดังกล่าวได้มีผู้เผยแพร่คำบรรยายวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ชั้นเนติบัณฑิต ปีการศึกษา 2563 ที่สอนโดย ศ.กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ได้ให้ความเห็นต่อความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ 276/2525 และความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ 562/2554 ว่า

    “การรับเอาคำพิพากษาศาลต่างประเทศในคดีอาญามาบังคับคดีในประเทศไทย ซึ่งกรณีนี้รับไม่ได้เป็นอันขาด เพราะเป็นการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ซึ่งทำไม่ได้ เพราะว่าถ้าทำอย่างนั้น ก็แสดงว่าเราไม่มีอธิปไตยของเรา แต่ถ้าศาลต่างประเทศพิพากษาให้จำคุก และคำพิพากษานั้นมีผลให้ผู้นั้นถูกจำคุกจริงและความผิดนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายไทยด้วยแล้ว ถึงแม้ว่าจะเป็นคำพิพากษาศาลต่างประเทศ ก็เป็นการแสดงข้อเท็จจริงเท่านั้น ไม่ใช่การบังคับ เพราะฉะนั้นอาจารย์เห็นด้วยกับความเห็นแรก (ความเห็น คณะกรรมการกฤษฎีกา ปี 2525)”

    • กฎหมายยาเสพติดนั้นยกเว้นไว้เฉพาะเรื่องการแลกเปลี่ยนนักโทษเท่านั้น ไม่ได้หมายความให้เอาคำพิพากษาของศาลประเทศอื่นมาใช้ด้วย

    ศ.พิเศษ จรัญ กล่าวว่า “คดียาเสพติดนั้น ถ้าเขาไม่ได้ทำผิดกฎหมายอะไรในเขตของประเทศไทย แต่เขาไปถูกศาลประเทศอื่นตัดสินลงโทษ …เราต้องเอาตัวเขามาดำเนินคดี ฐานติดยาเสพติด ผิดกฎหมายไทย ในประเทศไทยได้ แต่ไม่ใช่ไปเอาคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมาใช้ เพราะกฎหมายยาเสพติดเขาไม่ได้รวมถึงศาล เขาใช้กับกฎหมาย ศาลที่เขายกเว้นคือเรื่องของการแลกเปลี่ยนนักโทษ ดังนั้น จะเห็นว่าถ้าจะดำเนินการในระดับสูง ถือหลักนิติรัฐ คือกฎหมายเป็นเกณฑ์ ไม่ได้เอาความรู้สึก หรือความต้องการของคนกลุ่มใดฝ่ายใดเป็นสำคัญ ก็ต้องจับหลักให้แม่น ไม่อย่างนั้นก็อาจจะผิดเพี้ยนไปได้”

    • กรณีนี้ควรเป็นเรื่องของเรื่องนี้เป็นเรื่องของความเหมาะ ความควร เรื่องจริยธรรม ตามมาตรา 160 (4) (5)

    โดยนายวิษณุได้กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องจริยธรรมนั้นถือเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ในขณะที่ ศ.พิเศษ จรัญ ระบุว่า “เรื่องนี้คนดำเนินเรื่องคิดผิดประเด็น ดำเนินเรื่องผิดช่องทาง เรื่องนี้เป็นเรื่องของความเหมาะ ความควร เรื่องจริยธรรมว่าประเทศไทยควรแต่งตั้ง ยกย่องคนที่ต้องคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ขึ้นดำรงตำแหน่งชั้นสูงรับผิดชอบบ้านเมืองหรือไม่ …ต้องเข้าให้ถูกประเด็น ถูกช่องทาง กฎหมายที่เป็นอยู่ กับกฎหมายที่อยากจะให้เป็น มันคนละเรื่อง”

    ในขณะที่ ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวในรายการ ตอบโจทย์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่ผ่านมาว่า เป็นเรื่องที่ศาลไม่สามารถวินิจฉัยเกินคำขอได้ เมื่อมีคำขอเพียงให้ศาลพิจารณาถึงคำพิพากษาของศาลออสเตรเลียศาลจึงต้องดูแค่ตรงนั้น หากเป็นประเด็นจริยธรรมไม่ใช่เรื่องกฎหมาย ก็จะเป็นความรับผิดในทางการเมืองต่อไป ซึ่งในประเด็นจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตนั้นค่อนข้างเป็นเรื่องนามธรรม ค่อนข้างเลื่อนลอยกว่า และก็อยู่ที่ดุลพินิจของศาล

    • การตีความว่าบุคคลที่ถูกศาลต่างประเทศพิพากษาจะถูกตัดสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง โดยไม่มีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะอย่างชัดแจ้งนอกจากจะขัดกับหลักการแห่งสิทธิพลเมือง (civil right)

    คำวินิจฉัยส่วนตนของ ศ. ดร.ทวีเกียรติ ระบุว่า “…สิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยเฉพาะสิทธิในการลงรับสมัครเลือกตั้งเพื่อใช้อํานาจนิติบัญญัติ สิทธิในการดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีเพื่อใช้อำนาจบริหารประเทศ เป็นสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานที่ถูกรองรับไว้ในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองข้อ 25…การตีความรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใดที่จำกัดสิทธิดังกล่าว ต้องกระทำโดยเคร่งครัดภายใต้ลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายของประเทศที่พลเมืองนั้นสังกัดอยู่เท่านั้น ดังนั้น การตีความว่าลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งเพราะต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าด้วยการกระทำความผิดในฐานความผิดใดๆ ในกรณีนี้จึงต้องเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลไทย…”

    ต่อมา ผศ. ดร.นพดล เดชสมบูรณ์รัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นถึงหลักการตีความกฎหมาย โดยสรุปได้ว่า ในการตีความเพื่อใช้คำพิพากษาของศาลต่างประเทศ แม้จะเป็นการจำกัดสิทธิ แต่ต้องเปรียบเทียบว่าประโยชน์ที่จะได้รับนั้นมีมากกว่าประโยชน์ที่จะเสียไปหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการพิจารณาไม่ให้ผู้ที่กระทำความผิดร้ายแรงเข้ามามีอำนาจทางการเมือง

    (อ่านความคิดเห็นฉบับเต็ม)

    ขณะที่ ศ. พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า “การตีความกฎหมาย ที่เข้าใจกันว่าแบ่งเป็นการตีความตามตัวอักษรอย่างหนึ่ง และการตีความตามเจตนารมณ์อีกอย่างหนึ่งนั้น

    เมื่อผมทำงานก็ดี หรือสอนหนังสือก็ดี ผมอธิบายกับตัวเองและผู้เป็นศิษย์ว่า หลักทั้งสองอย่างนี้ต้องใช้ควบคู่กันเสมอ หมายความว่าจะตีความตามตัวอักษรตะพึดตะพือไปโดยไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์เลยก็ไม่ได้ ขณะเดียวกันจะตีความตามเจตนารมณ์ไปสุดโต่งโดยขัดแย้งกับตัวอักษรแจ้งชัดก็ทำไม่ได้เหมือนกัน

    เหนือกว่าสิ่งอื่นใด คือ ความยุติธรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการมีกฎหมายและการใช้กฎหมายในบ้านเมือง ถ้าหลงลืมเรื่องนี้ไปเสียแล้ว ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบก็จะสูญเสียศรัทธาจากประชาชนไปอย่างน่าเสียดายเป็นที่สุด”

    อย่างไรก็ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีการเผยแพร่อยู่ในปัจจุบันยังคงเป็นเพียงความเห็นโดยสรุป ซึ่งหากมีการเผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็ม และคำวินิจฉัยส่วนตนขององค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านอื่นๆ ออกมาอาจทำให้ได้เห็นเหตุผล และแง่มุมต่างๆ ในการพิจารณาประเด็นดังกล่าวมากยิ่งขึ้น