ThaiPublica > เกาะกระแส > คำถามเชื่อถือได้หรือไม่!! มารู้จัก The Sydney Morning Herald กับชื่อเล่น “Granny” 188 ปี นสพ.เก่าแก่ออสเตรเลีย ผู้เจาะลึกคดี “ธรรมนัส”

คำถามเชื่อถือได้หรือไม่!! มารู้จัก The Sydney Morning Herald กับชื่อเล่น “Granny” 188 ปี นสพ.เก่าแก่ออสเตรเลีย ผู้เจาะลึกคดี “ธรรมนัส”

14 กันยายน 2019


ที่มาภาพ: https://www.smh.com.au/opinion/play-your-part-in-the-future-of-the-herald-20170214-guc66f.html

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 ไมเคิล รัฟเฟิลส์ บรรณาธิการข่าว และไมเคิล เอแวนส์ บรรณาธิการข่าวสืบสวนสอบสวนของเดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ (The Sydney Morning Herald) หรือ SMH สื่อออสเตรเลีย ได้ร่วมกันรายงานข่าว เรื่อง From sinister to minister: politician’s drug trafficking jail time revealed กรณีร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ว่า เคยถูกดำเนินคดีและตัดสินลงโทษ 4 ปีในซิดนีย์ ข้อหาลักลอบขนยาเสพติด

การถูกตัดสินลงโทษทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับคุณสมบัติของร้อยเอก ธรรมนัส ว่าน่าจะขัดกับคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามกฏหมายรัฐธรรมนูญ แต่ร้อยเอก ธรรมนัสได้ออกมาตอบโต้พร้อมกับ แถลงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 11 กันยายน ว่า ไม่เคยรับสารภาพว่าลอบขน ค้า หรือนำเข้ายาเสพติด และย้ำว่าไม่เคยถูกตัดสิน ส่วนสาเหตุที่ต้องอยู่ในออสเตรเลียนานถึง 4 ปี เพราะศาลออสเตรเลียเสนอให้เป็นพยาน และอยู่ในวาระการเป็นพยานจนครบ 4 ปี โดยรอการตัดสินอยู่ในสถานที่ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้ และมีหน้าที่เป็นพยานให้กับผู้ถูกกล่าวหาอีกคนหนึ่งที่เป็นชาวต่างชาติ

แต่ SMH ได้รายงานข่าวต่อเนื่องด้วยการนำเอกสารซึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลนิวเซาท์เวลส์ ที่บ่งชี้ว่า ร้อยเอก ธรรมนัสเคยถูกลงโทษจำคุกเป็นเวลา 4 ปี ในข้อหาลักลอบนำเข้าและค้ายาเสพติด มาเผยแพร่ในรายงานข่าว Ex-con cabinet minister changes story over Sydney jail time เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562

การรายงานข่าวของเดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ ร่วมกับดิเอจ (The Age) สื่อในเครือเดียวกัน ส่งผลให้สื่อยักษ์ใหญ่ทั่วโลก เช่น เซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์, เดอะไทมส์ (The Times) ของอังกฤษ, แชนแนลนิวส์เอเชีย (Channel NewsAsia) ต่างพากันรายงานข่าวร้อยเอก ธรรมนัสอย่างพร้อมเพรียง

ขณะที่ร้อยเอก ธรรมนัสยืนยันว่าคดียาสเพติดเป็นเรื่องเก่าและจะส่งฝ่ายกฎหมายจัดการ รวมทั้งได้ตั้งคำถามกลับไปว่า “ก่อนหน้านี้ ผมเคยได้รับการติดต่อจากนักข่าวออสเตรเลียมาแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ ผมไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไร นายไมเคิล รัฟเฟิลส์ ผู้สื่อข่าวเดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ได้ส่งอีเมลมาหาหลายรอบแล้ว นักข่าวต่างประเทศคนนี้เป็นเครือข่ายอะไร ไม่เช่นนั้นอยู่ดีๆ ออสเตรเลียจะพาดหัวข่าวโจมตีผมทำไม”

นอกจากนี้ยังมีคำถามอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรายงานข่าวของเดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ว่า เดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์เชื่อถือได้หรือไม่ หลังพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ได้ออกมายอมรับว่า เป็นคนให้สื่อออสเตรเลียหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้แล้วเปิดเผยเรื่องนี้เอง

จากคำถามที่ว่า “เชื่อถือได้ไหม” สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจึงสืบค้นประวัติเดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ เพื่อทำความรู้จักหนังสือพิมพ์จากออสเตรเลียรายนี้ให้มากขึ้น

“188 ปี”เดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ จนมีชื่อเล่น “Granny”

เดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 1831 โดย วิลเลียม แมกการ์วีย์ ในช่วงแรกได้ชื่อว่า หนังสือพิมพ์เดอะซิดนีย์เฮรัลด์ (The Sydney Herald) โดยวิลเลียม แมกการ์วีย์ซึ่งเลียนแบบจากเดอะกลาสโกว์เฮรัลด์ (The Glasgow Herald) เนื่องจากวิลเลียม แมกการ์วีย์เป็นคนสก็อตแลนด์ เกิดที่กลาสโกว์ ก่อนที่จะอพยพมาที่ออสเตรเลีย

วิลเลียม แมกการ์วีย์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ ขายหนังสือ และทำปศุสัตว์ สำเร็จการศึกษาด้านวรรณคดีคลาสสิก ร่วมงานกับเดอะกลาสโกว์เฮรัลด์ช่วงสั้นๆ ก่อนที่ตามพี่ชายมานิวเซาท์เวลส์ในออสเตรเลีย และได้รับผิดชอบงานด้านคลังสินค้าเครื่องเขียน ซึ่งแคตตาล็อกสินค้าที่วิลเลียมรับผิดชอบได้ตีพิมพ์ได้ในเดอะกาเซตต์ (The Gazette) ปี 1829

ในปี 1831 วิลเลียม ร่วมกับ เฟรเดอริก สโตกส์และอัลเฟรด วอร์ด สตีเวน ซึ่งทำงานที่เดอะกาเซตต์ ได้สั่งแท่นพิมพ์เข้ามา และเริ่มตีพิมพ์เดอะซิดนีย์เฮรัลด์

วิลเลียมกำหนดเป็นนโยบายตั้งแต่ฉบับแรก วันที่ 18 เมษายน 1831 ด้วยแนวคิดว่า ต้องมีความยับยั้งชั่งใจ และต้องยึดมั่นบนความจริง ถ้ายังมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง (‘wholesome restraint’ and ‘reasoning founded on truth’ as far as politics were concerned)

ส่วนหลักการอื่นๆ ได้แก่ ต้องมีความจงรักภักดีต่อสหราชอาณาจักร มีการเผยแพร่ความรู้ มีความสนใจในวรรณกรรมและความก้าวหน้าทางการศึกษา

สำหรับงานเป็นบรรณาธิการช่วงแรก วิลเลียมให้ความสำคัญกับชนพื้นเมืองออสเตรเลียและสนับสนุนให้รัฐบาลส่งเสริมให้มีความก้าวหน้า แต่วิลเลียมทำหน้าที่บรรณาธิการได้เพียง 6 ฉบับจากนั้นได้ขายหุ้นให้กับเฟรเดอริก สโตกส์ และอัลเฟรด วอร์ด สตีเวน และกลับไปยังสกอตแลนด์

ต่อมาปี 1839 เฟรเดอริก สโตกส์ ได้ขายหุ้นในส่วนตัวเองให้กับจอห์น แฟร์แฟ็กซ์ อดีตเจ้าของหนังสือพิมพ์ลีมิงตันคูเรียร์ (Leamington Courier) ในอังกฤษ ซึ่งได้อพยพไปอยู่ที่ออสเตรเลีย และชาร์ลี เคมป์ นักหนังสือพิมพ์เจ้าถิ่นในมูลค่า 10,000 ปอนด์

จอห์นและชาร์ลีได้ขอความช่วยเหลือทางการเงินจากเดวิด โจนส์ นักธุรกิจชาวเวลส์ที่ไปทำห้างสรรพสินค้าเดวิด โจนส์ ในออสเตรเลีย

จอห์นและชาร์ลีได้ร่วมกันผลักดันหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ที่ได้ตั้งชื่อใหม่ว่าเดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ โดยยึดหลักการว่าข่าวจะต้องมีความชัดเจนและรัดกุมปราศจากอคติ ไม่แบ่งสีผิว ไม่มีความมุ่งร้าย ไม่มีเรื่องอื้อฉาว (the news must be plainly and succinctly stated without prejudice, without colour, without malice, without scandal)

นอกจากนี้ยังยึดถือความเชื่อตามศาสนาคริสต์ และมุ่งมั่นที่จะเป็นแบบอย่างในการเป็นพันธมิตรสำหรับชาวซิดนีย์ทุกคนเพื่อให้ปฏิบัติตาม ไม่มีคำพูดที่ก้าวร้าวและไม่มีความคิดในชิงลบ และจะทำให้ดีที่สุดเพื่อการเติบโตของอาณานิคม ซึ่งหลักการนี้ช่วยให้ทั้งสองฝ่าฟันภาวะเศรษฐกิจถดถอยช่วงต้นปี 1840 มาได้

โดยช่วงนั้นจอห์นและชาร์ลีได้ลดเงินเดือนตัวเองลงมาที่ระดับต่ำสุดเพื่อให้พนักงานสามารถอยู่รอดได้แม้ถูกลดเงินเดือน ส่งผลให้ในปลายปี 1840 หนังสือพิมพ์เดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ก็ปักหลักได้อย่างมั่นคง มียอดพิมพ์กว่า 3,000 ฉบับ มีพนักงานมากกว่า 60 คน จอห์นและชาร์ลีมีฐานะการเงินที่มั่นคงขึ้นและสามารถใช้จ่ายเงินเพื่อธุรกิจได้เต็มที่

ในปี 1852 จอห์นได้เดินทางกลับไปอังกฤษชั่วคราว และเมื่อกลับมาที่ซิดนีย์ ยอดพิมพ์เดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ได้เพิ่มขึ้น 2 เท่า ทำให้เดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์เลื่อนชั้นขึ้นเป็นหนังสือพิมพ์ใหญ่อันดับสามแห่งสหราชอาณาจักร

ต่อมาชาร์ลีได้ขายหุ้นทั้งหมดให้กับจอห์น ซึ่งได้นำลูกชายเข้ามาช่วยบริหาร นับจากนั้น ครอบครัวและทายาทของจอห์นได้บริหารและสืบทอดเดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์มาจนทุกวันนี้ เป็นเวลาร่วม 188 ปี

เดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์จึงได้ชื่อว่า Granny หรือ คุณยาย เพราะทำหน้าที่สื่อมานานกว่าร้อยปี

ที่มาภาพ: https://www.smh.com.au/opinion/the-shrinking-newspaper-may-be-just-what-the-doctor-ordered-20130302-2fd94.html

ปรับตัวหลายระลอกเข้าสู่ยุคดิจิทัล

ปัจจุบัน เดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์อยู่ในความรับผิดชอบของ ออสเตรเลีย เมโทรมีเดีย (Australia Metro Media) บริษัทในเครือแฟร์แฟกซ์มีเดียลิมิเต็ด (Fairfax Media Limited) ซึ่งได้รวมกิจการกับไนน์ (Nine) ในเดือนธันวาคม 2018 ส่งผลให้ไนน์เป็นบริษัทสื่อจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Australian Stock Exchange รายใหญ่ ที่มีสื่อครบวงจรตั้งแต่ทีวี วิดีโอออนดีมานด์ ดิจิทัล สื่อสิ่งพิมพ์ และวิทยุ

หนังสือพิมพ์ที่อยู่ในเครือเดียวกับเดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ ได้แก่ ดิเอจ และดิออสเตรเลียนไฟแนนเชียลรีวิว (The Australian Financial Review)

เฟซบุ๊กของ The Sydney Morning Herald ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองไว้ว่า นำเสนอข่าวทันสถานการณ์ มีคอลัมนิสต์ที่พลาดไม่ได้ และได้รับรางวัลการรายงานข่าวเจาะลึก

ในปี 1995 ที่เดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ซื้อแท่นพิมพ์ใหม่ทันสมัยมูลค่า 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หนังสือพิมพ์ฉบับวันเสาร์มีความหนาถึง 400 หน้าและบริษัทคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 600 หน้า ในช่วงนั้นมีการพิมพ์โฆษณาทั้งการสมัครงาน ขายรถ และขายอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก จึงเป็นแหล่งรายได้สำคัญ ในวันที่ 25 เมษายน ปีเดียวกัน บริษัทแฟร์แฟกซ์ได้เปิดเว็บไซต์ smh.com.au i

ต่อมาจำนวนหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับวันเสาร์ลดลงเหลือ 200 หน้า บริษัทจึงได้ลดพนักงานลง 500 ตำแหน่งในรอบ 5 ปี ขณะที่ ปี 2015 ได้ขายแท่นพิมพ์ออกไปด้วยมูลค่า 34 ล้านดอลลาร์

เว็บไซต์The Sydney Morning Herald วันที่ 17 เมษายน 2005 ได้นำเสนอไทม์ไลน์วิวัฒนาการของเว็บไซต์ smh.com.au นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง โดยหลังจากเปิดตัวเว็บไซต์ในเดือนเมษายน 1995 แล้ว เดือนกันยายนปีเดียวได้เพิ่มเซ็กชั่นบันเทิงเข้ามา

เดือนมีนาคมปีต่อมาได้พัฒนาหน้าข่าวรายวันขึ้นในชื่อ News on the Net ส่งผลให้เว็บไซต์ SMH เป็นเว็บไซต์ที่ใหญ่และครบวงจรมากที่สุดในกลุ่มหนังสือพิมพ์ทั่วออสเตรเลีย

วันที่ 10 เดือนสิงหาม 1996 ได้รับรางวัลเกียรติยศ Dvorak Award ในด้านบริการออนไลน์ยอดเยี่ยม Outstanding On-line Wire Service category

ต่อมากลางปี 1998 ได้เริ่มรายงานข่าวทันเหตุการณ์ หรือ Breaking News ทำให้ เว็บไซต์ไม่ได้เป็นเพียงหนังสือพิมพ์ฉบับออนไลน์อีกแล้ว และปี 2004 มีการปรับโฉมเว็บไซต์ครั้งใหญ่

ปี 2011 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 180 ปีของ The Sydney Morning Herald ที่ แต่งตั้งผู้หญิงเป็นบรรณาธิการ โดยตั้ง อแมนดา วิลสันซึ่งมีประสบการณ์ในการรายงานข่าวมากว่า 30 ปีมารับหน้าที่สำคัญนี้

ในวันที่ 4 เดือนมีนาคม ปี 2013 ทั้งเดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์และดิเอจ ได้ปรับโฉมและลดขนาด มาเป็นหนังสือพิมพ์แทบลอยด์แต่ใช้ชื่อว่า คอมแพกต์ (Compact) พร้อมกับปรับวิธีการเล่าข่าวใหม่ มีการขยายตัวอักษรให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม 10% เพื่อให้อ่านสบายตาขึ้น แต่ยังใช้พาดหัวแบบเดิม นอกจากนี้มีการเพิ่มเซกชันใหม่ประจำสัปดาห์

เดือนกุมภาพันธ์ 2016 แฟร์แฟ็กซ์ประกาศ แคมเปญการตลาดใหม่ Independent News for Independent Thinkers สำหรับ The Sydney Morning Herald และ The Age เพื่อเสริมคุณภาพการนำเสนอข่าวและบทบรรณาธิการที่เข้มแข็ง และเป็นการแสดงถึงคุณค่าและความลึกของการรายงานของความเป็นสื่อของแฟร์แฟ็กซ์ ในด้านการรายงานข่าวเจาะลึก ข่าวทั่วไป ข่าวธุรกิจ การเมือง กีฬา บันเทิงและไลฟ์สไตล์ ทั้งแบบดิจิทัลและสิ่งพิมพ์

ในปี 2016 เดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์และดิเอจ กับสิ่งพิมพ์อื่นในเครือเดียวกัน ก็ประสบปัญหาจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เจอการแข่งขันกับเฟซบุ๊กขณะที่สื่อออนไลน์อื่น เช่น บัซซ์ฟีด (BuzzFeed) และเดอะฮัฟฟิงตันโพสต์ (The Huffington Post) มีต้นทุนที่ต่ำกว่า อีกทั้งรายได้จากแหล่งรายได้หลักหายไป โฆษณากับยอดสมาชิกมีสัดส่วนเพียง 2 ใน 3 ของรายได้รวม

เดือนกุมภาพันธ์ 2017 ซึ่งเป็นปีที่เดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ครบรอบ 186 ปี จึงมีการ สอบถามความเห็นผู้อ่าน ว่าต้องการให้ปรับเปลี่ยนโฉมหนังสือพิมพ์อย่างไร

แต่เดือนพฤศจิกายน 2018 ยอดผู้อ่านเดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์เพิ่มขึ้น 2.8% มีจำนวนทั้งสิ้น 7.64 ล้านทั้งหนังสือพิมพ์และรูปแบบดิจิทัล ชนะคู่แข่งอย่างนิวส์คอร์ป (News Corp) ที่ตีพิมพ์เฮรัลด์ซัน (Herald Sun) ซึ่งมีผู้อ่าน 4.51 ล้านคน อันดับสามคือเดอะเดลีเทเลกราฟ (The Daily Telegraph) มีผู้อ่าน 4.2 ล้านคน

ปัจจุบันช่องทางการอ่านเดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์มีหลายช่องทาง ตั้งแต่ผ่านเว็บไซต์ Your SMH หรือ Today’s Paper, อ่านผ่านแอปพลิเคชันหรือแท็บเล็ต และยังสมัครอ่านแบบเป็นสมาชิกได้อีกด้วย

ปี 2018 รายงานข่าวเรื่อง Don Burke Investigation โดย เคท แม็คคลีมอนท์ ลอร์น่า โนวลส์ เทรว๊่ สไปเซอร์ และอลิสัน แบรนเล่ย์ จาก The Sydney Morning Herald ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านสิ่งพิมพ์ จากมูลนิธิ วอล์เล่ย์ (Walkley Foundation)

ในเดือนสิงหาคม 2019 ที่ผ่านมา นักข่าวของ The Sydney Morning Herald คว้า 5 รางวัลจากมูลนิธิเคนเนดี้ในออสเตรเลีย จากการพิจารณา ของ NRMA Kennedy Awards ประจำปี

ที่มาภาพ: https://www.smh.com.au/business/companies/readership-of-the-sydney-morning-herald-and-age-surges-20190217-p50ybm.html

จรรยาบรรณ…ยึดความซื่อสัตย์ไม่สร้างความเข้าใจผิด

เดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์บัญญัติและยึดถือหลักจรรยาบรรณซึ่งประกาศไว้ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 1831 ว่า “การจัดการบรรณาธิการของเราจะต้องดำเนินการตามหลักการของความจริงใจ ความซื่อสัตย์ และให้เกียรติ เราไม่ต้องการที่จะทำให้เข้าใจผิด ไม่มีผลประโยชน์ที่จะทำให้พอใจ ด้วยการละเมิดหรือเลือกปฏิบัติ”

หลักการที่ยึดถือกันมานี้เป็นคุณค่าขององค์กรและได้มีการนำไปใช้เป็นหลักจรรยาบรรณของสมาคมนักหนังสือพิมพ์ออสเตรเลียด้วย (Australian Journalists Association)

หลักจรรยาบรรณนี้ใช้กับพนักงานในกองบรรณาธิการของเดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ ทั้งพนักงานประจำ ฟรีแลนซ์ และนักเขียนนอก การตีความและการนำไปปฏิบัติจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ เมื่อคุณค่าของชุมชนเปลี่ยนแปลงไป หลักจรรยาบรรณนี้ก็ต้องมีการทบทวนเป็นระยะเพื่อให้สอดคล้องกับความคาดหวังของผู้อ่าน หลักจรรยาบรรณดังกล่าวมีทั้งหมด 23 ข้อ อาทิ

  • ความซื่อสัตย์ พนักงานของเดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์จะต้องรายงานและแปลอย่างซื่อสัตย์ ยึดมั่นในความถูกต้อง เป็นธรรม และเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญให้ครบถ้วน รวมทั้งจะต้องไม่ปิดบังหรือบิดเบือนข้อมูล ตลอดจนจะต้องพยายามอย่างที่สุดที่จะให้สิทธิในการตอบกลับ และต้องแยกความเห็นออกจากข่าว
  • ความเที่ยงตรง พนักงานจะต้องไม่ปล่อยให้ผลประโยชน์ส่วนตัว หรือความเชื่อ หรือความคิดเห็น มาครอบงำความถูกต้อง ความเป็นธรรม และความเป็นอิสระ
  • ความเป็นธรรม พนักงานจะต้องหาข้อมูลในแนวทางที่เป็นธรรม ซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบ รวมทั้งจะต้องแจ้งชื่อพร้อมสังกัดก่อนที่จะสัมภาษณ์หรือถ่ายภาพ
  • ความเป็นอิสระ พนักงานจะต้องไม่ปล่อยให้การโฆษณาหรือ ข้อเสนอทางธุรกิจมาปิดกั้นความถูกต้อง ความเป็นธรรมและความเป็นอิสระ หรือมีอิทธิพลต่อแนวทางการทำข่าวของ The Sydney Morning Herald งานโฆษณาที่อาจจะสร้างความสับสนกับงานข่าวให้ระบุชัดเจนว่าเป็นการส่งเสริมการขาย (special promotion)
  • ความเป็นส่วนตัว พนักงานต้องรักษาความสมดุลระหว่างสิทธิของสาธารณะในการเข้าถึงข้อมูลและสิทธิการรักษาความเป็นส่วนตัวของบุคคล รวมทั้งต้องตระหนักว่าบุคคลมีสิทธิในการปกป้องข้อมูลของตัวเองมากกว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐและอื่นๆ ที่มีอำนาจในมือ หรือมีอิทธิพล และจะต้องไม่ย่ำยีคนที่เปราะบางหรือละเลยแนวปฏิบัติของสื่อ
  • ให้ความเคารพ พนักงานจะต้องให้เกียรติกับคนที่ตกอยู่ในความเศร้าโศกเสียใจ เพราะเขามีสิทธิที่จะตอบโต้แรงกดดันที่จะเข้ามาก้าวก่าย
  • คัดเฉพาะสิ่งสำคัญและที่เกี่ยวข้อง พนักงานจะต้องไม่ย้ำบุคลิกส่วนตัวโดยไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ชนกลุ่มน้อย สัญชาติ เพศ อายุ รสนิยมทางเพศ ความสัมพันธ์ในครอบครัว ความเชื่อทางศาสนาและความพิการทางร่างกาย
  • การขโมยความคิด พนักงานจะต้องไม่ขโมยความคิด
  • แสดงแหล่งข้อมูล พนักงานจะต้องระบุแหล่งที่มาของข้อมูล จะต้องเปิดเผยถึงการใช้นามแฝงในเนื้องาน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้แหล่งข่าวหรือแหล่งข้อมูลเพียงแหล่งเดียว แต่ต้องใช้หลายแหล่งข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และกรณีที่แหล่งข่าวขอให้ปกปิดชื่อ ควรจะพิจารณาถึงแรงจูงใจและหาแหล่งข่าวอื่น เนื้อหาที่ไม่มีการระบุชื่อแหล่งข่าวต้องได้รับการอนุมัติจากบรรณาธิการ และหากมีการขอให้ปิดเป็นความลับ นักข่าวก็ต้องให้ความเคารพและปกป้องแหล่งข่าวอย่างเหมาะสม
  • นำเสนออย่างซื่อสัตย์ พนักงานจะต้องนำเสนอรูปภาพ เสียงที่เป็นของจริงและถูกต้อง
  • การร้องเรียนและการแก้ไข การร้องเรียนและการแก้ไขจะต้อวมีการตอบสนองอย่างทันทีและด้วยความเคารพ ข้อมูลที่ผิดพลาดในหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์จะต้องแก้ไขและประกาศต่อสาธารณโดยทั่วไปเท่าที่จะทำได้ หากมีข้อกล่าวหาจากสมาคมนักหนังสือพิมพ์ออสเตรเลียหรือการหมิ่นประมาทศาลที่เกี่ยวกับเดอะซิดนีย์มอร์นิงเฮรัลด์ จะต้องมีการรายงานทันที
  • กิจกรรมสาธารณ พนักงานควรหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณที่ทำให้เกิดการสมยอม หรือดูเหมือนว่าจะสมยอมกับนักข่าวหรือต้นสังกัด การเป็นสมาชิกขององค์กรหรือกิจกรรมใดที่อาจจะมีผลต่อชื่อเสียงของนักข่าวหรือต้นสังกัดจะต้องแจ้งกองบรรณาธิการทันที พนักงานที่รับผิดชอบทำข่าวความเคลื่อนไหวหรือความคิดเห็น ไม่ควรเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือเป็นตัวแทนพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง และไม่ควรเกี่ยวข้องกับการรายงานข่าวหรือบทความที่เกี่ยวกับองค์กรสาธารณที่เป็นสมาชิกอยู่
  • นักเขียนนอก หรือคอลัมนิสต์ หากเขียนบทความเกี่ยวกับประเด็นที่ผู้เขียนมีผลประโยชน์โดยตรงหรือโดยอ้อม ต้องแจ้งผู้อ่านด้วยหลังจากได้รับอนุญาตจากบรรณาธิการประจำเซกชันนั้น
  • ผลประโยชน์ทางการเงิน พนักงานจะต้องหลีกเลี่ยงการรับผลประโยชน์ทางการเงิน หรือเข้าร่วมในกิจกรรมทางการเงิน หรือข้อตกลงทางการเงิน ที่อาจจะมีความขัดแย้งกับเงื่อนไขความเป็นธรรมและความซื่อสัตย์ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเขียนเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นที่ได้รับผลประโยชน์ทางการเงินไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม หรือผ่านมาทางครอบครัว และหากจะเขียนต้องได้รับอนุญาตจากบรรณาธิการก่อน รวมทั้งต้องแจ้งการลงทุนในหลักทรัพย์แก่บรรณาธิการบริหารเป็นระยะ
  • นอกจากนี้ กฎหมาย Corporations Act 2001 กำหนดให้นักข่าวสายการเงินแจ้งรายละเอียดและเปิดเผยต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นักข่าวที่เขียนข่าวเกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนไม่ควรซื้อขายหุ้นหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นภายใน 3 เดือน ยกเว้นได้รับอนุญาตจากบรรณาธิการ
  • ของขวัญ ห้ามพนักงานรับของขวัญที่ไม่ใช่ของชิ้นเล็กๆ น้อย ของขวัญที่มีมูลค่าเกิน 10 ดอลลาร์จะต้องนำไปบริจาคให้องค์กรการกุศล

เรียบเรียงจาก fairfaxmedia, nytimes, garciamedia, 1079life, adb,smh