ThaiPublica > เกาะกระแส > คำวินิจฉัยศาล รธน. ฉบับเต็ม กรณี “คุณสมบัติ ธรรมนัส” ยังถูกวิพากษ์การหาหลักฐาน-เติมคำวินิฉัย

คำวินิจฉัยศาล รธน. ฉบับเต็ม กรณี “คุณสมบัติ ธรรมนัส” ยังถูกวิพากษ์การหาหลักฐาน-เติมคำวินิฉัย

26 พฤษภาคม 2021


หมายเหตุ: ภาพนิ่งดังกล่าวไม่ใช่ภาพในขณะที่ศาลกำลังปฏิบัติหน้าที่อ่านคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าวแต่อย่างใด หากแต่เป็นภาพที่ได้มีการบันทึกไว้ในวาระอื่น และนำมาใช้เฉพาะวัตถุประสงค์สำหรับประกอบการถ่ายทอดทีวีวงจรปิดในช่วงเวลาที่ทำการตัดภาพการถ่ายทอดให้มีเฉพาะเสียงการอ่านคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ในการนี้จึงขอเรียนให้ทราบว่า ในขณะที่ศาลทำการอ่านคำวินิจฉัยอยู่นั้น คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกท่านได้สวมหน้ากากอนามัย ได้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัดตลอดเวลา จนภารกิจดังกล่าวเสร็จสิ้นในเวลา 15.30 น.

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำวินิจฉัย ที่ 6/2564 (ฉบับเต็ม) กรณีคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีการอ่านคำวินิจฉัยไปเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา

โดยคำพิพากษาฉบับเต็มนี้มีความยาว 10 หน้ากระดาษ แม้ผลของคำวินิจฉัยจะยังคงเดิม แต่คำวินิจฉัยฉบับเต็มนี้มีรายละเอียดที่มากขึ้นกว่าเมื่อครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัย ทำให้ยังคงได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการด้านกฎหมาย ซึ่งล้วนมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน

เมื่อวันที่ 21 พฤษาคม 2564 รศ. ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยได้ตั้งคำถามถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถแสวงหาหลักฐาน คือ คำพิพากษาศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย มาประกอบการพิจารณาได้ เนื่องจากรัฐบาลไทยเคยมีหนังสือสัญญากับออสเตรเลียเรื่องความร่วมมือกันทางอาญา และได้มีการออกกฎมารองรับเรื่องนี้ไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งภายหลัง รศ. ดร.ณรงค์เดช ได้ชี้แจงว่า ได้รับทราบข้อมูลแล้วว่าความร่วมมือนี้ใช้ได้เฉพาะคดีอาญา ไม่รวมถึงคดีรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตาม มีผู้แสดงความคิดเห็นว่าไม่ว่าอย่างไรศาลรัฐธรรมนูญสามารถดำเนินการขอหมายเรียกเอกสารไปยังศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ได้

ด้าน รศ.อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นต่อคำพิพากษาฉบับเต็มดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวใน 2 ประเด็น ดังนี้

ข้อความในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เพิ่งประกาศไม่ตรงกับข้อความในวันที่อ่าน: คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2564 (คดีธรรมนัส) ที่ได้ประกาศเผยแพร่ พบว่ามีปัญหาเรื่องข้อความไม่ตรงกับข้อความที่ตุลาการได้อ่านในวันที่ตัดสินคดี

ผมขอแบ่งแยกเป็น 2 ส่วน

  • ส่วนที่ 1 ข้อความในส่วนการรับฟังพยานหลักฐาน
  • ส่วนที่ 2 ข้อความในส่วนการวินิจฉัย

ส่วนที่ 1 พบว่า ตุลาการอ่านข้อความในส่วนการรับฟังพยานหลักฐานเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลออสเตรเลียอย่างสั้นและกระชับ เมื่อเทียบกับข้อความในคำวินิจฉัยที่ประกาศ ซึ่งปรากฏข้อมูลโดยละเอียดกว่า ขอให้ลองพิจารณาคำวินิจฉัยตั้งแต่หน้า 1 ถึงหน้า 7 จะเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญเขียนคำวินิจฉัยโดยเพิ่มเติมข้อความอย่างละเอียดละออ และทิ้งท้ายด้วยการกล่าวถึงการพิจารณาคดีของศาลออสเตรเลียว่า

” …ซึ่งศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้จริง แต่การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นอย่างไร วินิจฉัยพยานหลักฐานอย่างไร และมีคำพิพากษาในความผิดฐานใดจะตรงกับที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ (๑๐) บัญญัติหรือไม่ นั้น ยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ดี เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้วินิจฉัยแล้ว จึงมีปัญหาข้อกฎหมายสำคัญที่ต้องวินิจฉัยต่อไป”

ต่อถ้อยคำทิ้งท้ายที่ถูกใส่เข้ามานี้ มีข้อให้อภิปรายมากว่า ศาลรัฐธรรมนูญถูกกำหนดให้มีบทบาทแบบ “ระบบไต่สวน” มิใช่หรือ? นี่เป็นเรื่องเหลือวิสัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไร? เหตุใดจึงเลือกที่จะตัดประเด็นการค้นหาข้อเท็จจริงแล้วเข้าสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย?

ส่วนที่2 ข้อความในส่วนการวินิจฉัย ผมพบ 2 จุดสำคัญ

  • จุดที่ 1 ขอเรียกว่า “การเติมเพื่อสำทับเหตุผล”
  • จุดที่ 2 ขอเรียกว่า “การเติมเพื่อออกตัว”

จุดที่1 ความที่หายไปในวันอ่าน แล้วมาปรากฏในคำวินิจฉัย หน้า 9 คือความว่า “…ก็จะมีความหมายกว้างขวางครอบคลุมถึงคำพิพากษาอันถึงที่สุดในความผิดตามกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับที่มาตรา 98 (10)​ระบุ ซึ่งบางฉบับบัญญัติฐานความผิดแต่บางฉบับไม่ได้บัญญัติฐานความผิด เพียงระบุชื่อกฎหมายเท่านั้น เช่น กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นต้น จะทำให้ขอบเขตการยอมรับอำนาจศาลของรัฐอื่นขยายออกไปอย่างกว้างขวางอีกด้วย…”

นี่คือ การเติมเพื่อสำทับเหตุผล ด้วยการอธิบายความเพิ่ม ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยว่า คำว่า “เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด” ไม่ควรรวมถึงคำพิพากษาศาลต่างประเทศ เหตุใดศาลรัฐธรรมนูญจึงเพิ่งมาเติมเอาทีหลัง? เพิ่งคิดได้จึงขอแถมอย่างนั้นหรือ?

จุดที่2 ความที่มาปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัย หน้า 10 แต่ไม่มีเลยในวันอ่าน คือความว่า “ส่วนปัญหาว่าข้อกล่าวอ้างตามคำร้องเป็นเรื่องความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัย”

อย่างที่หลายคนทราบ นับแต่วันอ่านคำตัดสิน เราได้เห็นข้อวิพากษ์วิจารณ์การให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญและข้อวิพากษ์วิจารณ์ความเหมาะสมในทางการเมืองของธรรมนัสอย่างรุนแรงและกว้างขวาง

จริงอยู่ ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่มีบทบาทในการตรวจสอบความเหมาะสมในทางการเมือง จึงน่าจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเพิ่มข้อความออกตัวว่า ตนไม่มีอำนาจในการพิจารณาความเหมาะสมในทางการเมือง เพราะเรื่องความเหมาะสมทางการเมืองในกรณีนี้เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะต้องตระหนักอยู่แล้วโดยสภาพ

อาจเป็นไปได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญคาดไม่ถึงกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การต้องเผชิญกับข้อโต้แย้งสำคัญในประเด็นข้อกฎหมายที่ว่า เรื่องความเหมาะสมนี้เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถตีความให้เป็นส่วนหนึ่งในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพื่อตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการดำรงตำแหน่งให้สมความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญได้ ไม่ใช่เรื่องความเหมาะสมทางการเมืองอย่างโดด ๆ

ถึงกระนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ใส่ข้อความเพื่อออกตัวดังที่ปรากฏในคำวินิจฉัย ก็น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญพยายามดึงประเด็นเรื่องนี้ให้กลับไปที่จุดความเหมาะสมทางการเมือง และทิ้งท้ายในทางปัดป้องว่า นี่ไม่ใช่เรื่องของศาลรัฐธรรมนูญที่จะไปเกี่ยวข้อง

การเติมข้อความในภายหลังเพื่อออกตัว อาจเป็นความพยายามรักษาภาพลักษณ์ของศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ขอให้ลองพิจารณาขบคิดกัน แต่เหนือสิ่งอื่นใด “สาร” ที่เพิ่งเติมเข้ามา ย่อมมี “หน้าที่สื่ออะไรบางอย่าง” อยู่ในตัวของมันเอง

ติงศาล รธน. เติมข้อความในคำวินิจฉัย สะท้อนการทำงานที่ไม่สมบูรณ์

นอกจากนี้ รศ.อานนท์ ได้ระบุเพิ่มเติมถึงปัญหาที่สะท้อนผ่านคำวินิจฉัยดังกล่าวว่า ท้ายสุด การที่ศาลรัฐธรรมนูญเติมข้อความในคำวินิจฉัย ให้ผิดแผกแตกต่างไปจากวันอ่าน เป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาหลายต่อหลายครั้งแล้ว

  • ปัญหาข้อที่ 1 คือสะท้อนการทำงานที่ไม่สมบูรณ์เรียบร้อยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานที่สำคัญเกี่ยวข้องกับความเป็นไปของบ้านเมือง สิทธิเสรีภาพของประชาชน และอำนาจขององค์กรทางการเมืองทั้งหลาย ในแง่นี้ ขอให้เทียบกับศาลปกครอง ซึ่งจากประสบการณ์ พบว่า ศาลปกครองอ่านวันใด ก็สามารถเห็นคำตัดสินฉบับจริงได้ในวันนั้นทันที ข้อนี้ขอชื่นชม

  • ปัญหาข้อที่ 2 คือกระทบกับความมั่นคงแน่นอนของคำตัดสิน

ขอให้นึกถึงเวลานักเรียนนักศึกษาส่งคำตอบข้อสอบ เมื่อส่งแล้วก็เป็นอันยุติ ครูบาอาจารย์ก็จะตรวจและให้คะแนนตามที่ส่ง ไม่ควรจะมาขอเติมขอปรับในภายหลัง หรืออ้างว่า ที่ตอบวันนั้นยังไม่สะเด็ด ขอมาตอบแถมในวันหน้า

  • ปัญหาข้อที่ 3 คือต้องเผชิญกับการถูกครหาว่าได้เวลาเพิ่มในการเก็บประเด็นจากสังคมไปเขียนเติม

จริงอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีทางเปลี่ยนผลคำวินิจฉัยให้แตกต่างจากวันที่อ่าน แต่การเติมข้อความเพิ่มในคำวินิจฉัยที่ออกมาภายหลัง อาจถูกตั้งข้อสงสัยได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจใช้โอกาสนี้ เติมข้อความเพื่ออุดช่องโหว่หรือเติมเหตุผลให้หนักแน่น หลังจากศาลรัฐธรรมนูญพบว่าตนถูกวิจารณ์ในเรื่องการให้เหตุผล

ทางแก้เรื่องนี้ง่ายมาก โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ คือ เขียนคำวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นในวันที่จะต้องอ่านคำที่อยู่ในตัวคำวินิจฉัยก็จะไม่ต่างจากคำที่ออกจากปากตุลาการบนบัลลังก์ ปัญหาทั้ง 3 ประการ ย่อมจะหายไป

ขณะที่ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์คลิปจากมติชนทีวี “ว่าด้วยอคติ 4 ที่ผู้พิพากษาตุลาการพึงละเว้น” ได้แก่ ฉันทาคติ คือ ลำเอียงเพราะรักชอบเห็นแก่อามิสสินบน โทษาคติ คือ ลำเอียงเพราะโกรธ ภยาคติ คือ ลำเอียงเพราะกลัว และโมหาคติ คือลำเอียงเพราะหลง ที่ตนได้กล่าวไว้ในงานคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาสาธารณะ ‘บทบาทตุลาการกับการธำรงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยั่งยืน’ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ยังไม่มีความเห็นจากทั้งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย หรือ ศ.พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมแต่อย่างใด และยังคงเหลือรายละเอียดในคำวินิจฉัยส่วนตนขององค์คณะตุลาการทั้ง 9 คน ที่ตอนนี้มีเพียงคำวินิฉัยส่วนตนของ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ เท่านั้นที่มีการนำมาเผยแพร่อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งองค์อีก 8 ท่าน ได้แก่ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม, นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, นายปัญญา อุดชาชน, นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม, นายวิรุฬห์ แสงเทียน, นายจิรนิติ หะวานนท์, นายนภดล เทพพิทักษ์ และนายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ยังคงไม่ถูกเผยแพร่ ซึ่งหากมีความคืบหน้าอย่างไร ไทยพับลิก้าจะหยิบมานำเสนอในตอนต่อไป