จากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำวินิจฉัย ที่ 6/2564 (ฉบับเต็ม) กรณีคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ทางเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ ต่อมาได้มีการเผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็มดังกล่าวลงในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา และได้มีการเผยแพร่ความเห็นส่วนตนขององค์คณะแต่ละท่านตามมา
- ความเห็นส่วนตนของ นายจิรนิติ หะวานนท์
- ความเห็นส่วนตนของ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์
- ความเห็นส่วนตนของนายนภดล เทพพิทักษ์
- ความเห็นส่วนตนของนายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
- ความเห็นส่วนตนของนายปัญญา อุดชาชน
- ความเห็นส่วนตนของนายวรวิทย์ กังศศิเทียม
- ความเห็นส่วนตนของ นายวิรุฬห์ แสงเทียน
- ความเห็นส่วนตนของนายอุดม สิทธิวิรัชธรรม
- ความเห็นส่วนตนของนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ
ประเด็นสำคัญที่หายไปในคำวินิจฉัยฉบับเต็ม
หากได้อ่านหรือได้ฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะพบว่าประเด็นหลักๆ ที่ถูกหยิบมาอธิบายให้ ร.อ. ธรรมนัส ยังคงมีคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่พ้นจากตำแหน่ง คือ เรื่องของอำนาจอธิปไตย และความลักลั่นไม่แน่นอนของกฎหมายแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดดูความเห็นส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน จะพบว่า
ตุลาการทั้ง 9 มีความเห็นพ้องในประเด็นของอำนาจอธิปไตยอย่างเป็นเอกฉันท์ ซึ่งอาจถือเป็นเหตุผลหลักในการให้ความเห็นเนื่องจากในการให้เหตุผลอื่นๆ สุดท้ายก็กลับมายังจุดตั้งต้นในประเด็นของอำนาจอธิปไตย
ส่วนประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญค่อนข้างให้น้ำหนักในลำดับถัดมา คือ ความลักลั่นและไม่แน่นอนของกฎหมาย กระบวนวิธีพิจารณา ของแต่ละประเทศที่ย่อมมีแตกต่างกันออกไป ความผิดตามกฎหมายประเทศหนึ่งอาจไม่เป็นความผิดตามกฎหมายของอีกประเทศหนึ่ง โดยมีตุลาการ 6 คนที่ให้ความเห็นถึงประเด็นนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ร้อยเอกธรรมนัส ได้ชี้แจงไว้ในคำให้การของตนเช่นกันว่า ความผิดฐาน “รู้เห็นเกี่ยวกับการนำเข้า” ที่ตนได้รับนั้นไม่มีอยู่ในกฎหมายไทย
ตามด้วยประเด็น เรื่องของบทบัญญัติจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่ถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญและหลักสากลนั้น เป็นเรื่องที่ต้องตีความอย่างเคร่งครัด ภายใต้กฎหมายลายลักษณ์อักษร หากไม่มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า ให้หมายความรวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ จะตีความขยายขอบเขตไปไม่ได้ ซึ่งปรากฏในความเห็นส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 ท่าน แต่กลับไม่ปรากฏประเด็นดังกล่าวนี้ในคำวินิจฉัยฉบับเต็มแต่อย่างใด
ในการพิจารณาคดีครั้งนี้แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามองข้ามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไป เนื่องจากในคำวินิจฉัยทั้งฉบับ วันอ่านและฉบับสมบูรณ์ที่เผยแพร่ออกมาภายหลังและได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษานั้น ไม่ปรากฏประเด็นดังกล่าว แต่ในความเห็นส่วนตนยังมีตุลาการ 2 คนที่กล่าวถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไว้เช่นกัน โดยมีความเห็นโดยสรุป ดังนี้
- มาตรา 98 (10) เป็นบทบัญญัติใหม่มีความมุ่งหมายเพื่อป้องกันมิให้บุคคลที่ขาดความน่าเชื่อถือในความสุจริต หรือผู้ที่เคยทำความผิดอันเป็นปฏิปักษ์ต่อประโยชน์สาธารณะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยต้องยึดถือการที่ศาลวินิจฉัยว่าได้มีการกระทำความผิดในเรื่องนั้นๆ หรือไม่เป็นสำคัญ โดยไม่คำนึงถึงเหตุบรรเทาโทษ หรือถูกลงโทษหรือไม่ หากเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดตามมาตรานี้แล้วก็ถือว่ามีลักษณะต้องห้าม
- มาตรา 98 มีความมุ่งหมายเพื่อกำหนดลักษณะต้องห้ามของบุคคลในการสมัครรับเลือกตั้งฯ เนื่องจากผู้จะเป็นผู้แทนประชาชนต้องได้รับการกลั่นกรองคุณสมบัติก่อน พิจารณาจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญประกอบกับอำนาจตุลาการของรัฐอันเป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตย ศาลในฐานะที่เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ คำพิพากษาของศาลที่จะมีผลบังคับในรัฐใดต้องเกิดจาการใช้อำนาจอธิปไตย คืออำนาจตุลาการในรัฐนั้น
หลังจากได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการด้านกฎหมาย ซึ่งล้วนมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ต่อกรณีที่คำวินิจฉัยฉบับเต็มนี้ว่า มีรายละเอียดบางประการที่มากขึ้นกว่าเมื่อครั้งที่ศาลฯ ได้อ่านคำวินิจฉัย ร้อนถึงโฆษกศาลรัฐธรรมนูญต้องออกประกาศชี้แจงเกี่ยวกับการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (แนบมากับข่าวศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2564) โดยยืนยันว่าไม่มีผลกระทบเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยแค่อย่างใด
ฝ่ายวิชาการยันค้านคำวินิจฉัยฯ
แม้โฆษกศาลรัฐธรรมนูญจะมีการชี้แจง แต่เมื่อคำชี้แจงนั้นไม่สามารถตอบคำถามของสังคมได้ ฝ่ายวิชาการจึงยังคงยืนยันหนักแน่นถึงความไม่เห็นด้วย โดย รศ. ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผศ. ดร.นพดล เดชสมบูรณ์รัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมเสวนาในประเด็นดังกล่าว ซึ่งนิติฮับ ได้ร่วมกับประชาไท จัดขึ้นในหัวข้อ “นิติธรรมนัส”: ชำแหละคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณี “ธรรมนัส” เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งมีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
ปัญหาของการตีความบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ที่ขาดนิติวิธีบางประการไป
ทิศทางของคำวินิจอาจมีได้หลายแนวและอาจเป็นไปในทางทิศทางใดก็ได้ แต่หากได้ใช้กระบวนการในการตีความและให้เหตุผลอย่างครบถ้วน แม้ผลที่ออกมาจะไม่ตรงกับความคาดหวังของฝ่ายใด แต่เหตุและผลที่ชัดเจนจะสามารถทำให้ผู้คนเข้าใจผลที่ออกมาได้ โดยสิ่งที่นักวิชาการต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าขาดไปคือ การตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ผศ. ดร.นพดล ได้ให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า “วิธีการตีความไม่ใช่ศิลปะ แม้จะมีเรื่องการใช้ดุลยพินิจ แต่ดุลพินิจในการตีความนั้นไม่ใช่หยิบมาใช้กับอะไรก็ได้ ถ้ามีวิธีการที่ต้องตรงแก่กรณีศาลต้องหยิบมาใช้ทั้งหมด… เมื่อไม่นำหลักการสำคัญมาพิจารณาในคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยจะทำให้คำวินิจฉัยนั้นขาดความชอบธรรมในเนื้อหา เพราะมีหลักการสำคัญที่ไม่สามารถที่จะอธิบายได้ หรือไม่ถูกพูดถึง ซึ่งจริงๆ แล้วคำวินิจฉัยนี้ผลออกไปได้ 2 แนวเพราะมีนิติวิธีที่คานกันอยู่พอสมควร แต่พอคำวินิจฉัยไม่ได้กล่าวถึงการตีความที่มีความสำคัญ เช่น การตีความตามเจตนารมณ์ ทำให้มีคำถามขึ้นมาทันทีว่าอย่างนี้เป็นการเลือกผลไว้ก่อนหรือไม่แล้วเอาการตีความไปสนับสนุนหรือเปล่า”
แม้เวลาพูดถึงสิ่งที่เกิดจากการใช้อำนาจรัฐ เช่น กฎหมาย หรือคำพิพากษา ในรัฐใด ในความหมายปกติเราจะเข้าใจว่าต้องหมายถึงกฎหมายหรือคำพิพากษาในรัฐนั้น และโดยเฉพาะกรณีนี้ที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิ์การมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยหลักจึงต้องตีความอย่างเคร่งครัด และตามความเห็นของตุลาการ ที่ระบุว่า หากตีความรวมไปถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศซึ่งไม่สามรถรู้ได้ว่ากระบวนการชอบด้วยหลักนิติรัฐหรือไม่ อาจทำให้เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนได้หากนำคำพิพากษาที่ขัดกับนิติรัฐมาใช้จนไปขัดกับรัฐธรรมนูญมาตราอื่น
เมื่อดูเจตนารมณ์ของกฎหมาย คือ คำปรารภของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 จะพบส่วนที่ระบุว่า “วางกลไกป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เข้มงวด เด็ดขาดเพื่อมิให้ผู้บริหารที่ปราศจากคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลเข้ามามีอำนาจในการปกครองบ้านเมือง” ดังนั้น วิธีการบางอย่างเมื่อไม่ปรากฏจึงให้คำวินิจฉัยดูไม่สมเหตุสมผล หากตีความว่า “คำพิพากษาอันถึงที่สุด” ไม่รวมคำพิพากษาของศาลต่างประเทศจะมีประเด็นเกิดขึ้นมาทันที คือ
เกิดความลักลั่นในการบังคับใช้กฎหมาย
เนื่องจาก จะกลายเป็นว่ามีคนกลุ่มหนึ่งถูกจำกัดสิทธิ์เพราะต้องคำพิพากษาของศาลไทยแต่มีกลุ่มหนึ่งที่ไม่ถูกจำกัดสิทธิ์เพราะต้องคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ทำให้กฎหมายไม่สามารถมีผลได้อย่างเต็มที่ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย
อย่างไรก็ดี ผศ. ดร.นพดล กล่าวย้ำว่า เมื่อใช้การตีความตามเจตนารมณ์แล้ว ไม่ได้หมายความว่าต้องตีความรวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศเสมอไป เพราะเจตนารมณ์ไม่เพียงแต่เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่ง หรือข้อใดข้อหนึ่ง แต่เป็นเจตนารมณ์ของรัฐที่เป็นนิติรัฐหรือรัฐที่เป็นประชาธิปไตย กรณีนี้จึงเป็นกรณีที่มีการขัดกันหรือปะทะกันของการตีความระหว่าง การตีความอย่างเคร่งครัดที่คำนึงถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ และการตีความโดยคำนึงถึงเจตนารมณ์และประสิทธิผลของมาตรานั้น
ดังนั้น การกำหนดความผิดบางอย่างไม่ให้เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ใช่จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของมาตรานี้ การเมืองที่สะอาด ควรจะถูกตีความว่าเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะถ้าคนที่มีคุณสมบัติต้องห้ามบางอย่างเข้ามาเขาอาจจะใช้อำนาจโดยมิชอบ ดังนั้น ควรตีความให้ประสานกันระหวางมาตรา 98 (10) และตัวบทกฎหมายที่คำนึงถึงสิทธิของผู้ถูกร้อง โดยนำเจตนารมณ์มาวินิจฉัยร่วม แล้วจึงพิจารณาว่าเลือกอย่างใดแล้วจะเกิดการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพมากที่สุด เพราะบางครั้งการจำกัดสิทธิ์ก็เป็นการคุ้มครองสิทธิ์ด้วยเช่นกัน เช่นนี้จะทำให้คนไม่รู้สึกกังขาเพราะได้ใช้นิติวิธีครบถ้วนแล้ว แม้คำวินิจฉัยจะยังคงเห็นว่าไม่ควรจำกัดสิทธิทางการเมืองของ ร.อ. ธรรมนัส ก็ตาม
การรับรู้คำพิพากษาของศาลต่างประเทศ
ผศ.ดร.นพดล กล่าวว่า “การบังคับตาม” ต้องหมายความว่า บังคับสิ่งที่คำพิพากษาต้องการให้เกิดขึ้น คือ การจำคุก ซึ่งการจำคุกนั้นสิ้นสุดไปแล้วตามคำพิพากษาของรัฐนิวเซาท์เวลส์ฯ จึงไม่ใช่การบังคับตามผลของคำพิพากษาแต่อย่างใด หากไปดู มาตรา 98 (10) ที่ว่า “เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด” ผลทางกฎหมายที่เกิดขึ้น คือ จะเป็นการกระทบต่อคุณสมบัติซึ่งเป็น เป็นการนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นเงื่อนไขไปสู่ผลทางกฎหมาย
ส่วน รศ. ดร.ณรงค์เดช เห็นว่า ที่ฝ่ายวิชาการไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้เนื่องจาก รัฐธรรมนูญเราเขียนเอง การตีความเพื่อวินิจฉัยก็เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไทยเอง ไม่ได้กระทบต่ออำนาจอธิปไตย เพราะไม่ใช่ “การบังคับตาม” คำพิพากษาของศาลต่างประเทศอย่างแน่นอน ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของการพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ คือ เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในข้อหาตามที่บัญญัติไว้ เมื่อมีข้อเท็จจริงนี้เกิดขึ้น คำถามคือศาลไทยจะยอมรับรู้ข้อเท็จจริงนี้แล้วนำมาใช้ตีความอย่างไรนี่คือประเด็น
“ปัญหาจริงๆ ในคำวินิจฉัยนี้มันคือเหตุผล ผลแห่งคดีนั้นจะหลุดหรือไม่หลุดไม่ได้สนใจเวลามองหรือตีความกฎหมายเราต้องเอาอารมณ์หรือความรู้สึกนึกคิดออกไปต้องตีความแบบภาวะวิสัย ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นของคดีคุณธรรมนัสที่เรียกร้องจากเสียงนักวิชาการมากมายก็คือเหตุผล”
ข้อเท็จจริงไม่สะเด็ดน้ำ ข้ามไปวินิจฉัยข้อกฎหมาย
ผศ. ดร.นพดล กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ประเด็นน่าสนใจ กลับไปเรื่องของตัวหลักฐานซึ่งโดยทั่วไปนั้นจะมีหลักที่จะไม่ให้เกิดความสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจ (judicial economy) ถ้าไม่มีหลักฐานที่เพียงพอว่าเป็นข้อเท็จจริงนี้แม้เป็นคำพิพากษาของศาลต่างประเทศก็ตามศาลมีสิทธิ์ที่จะยุติการตัดสินได้ แต่สิ่งที่ประหลาดใจคือเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะแสวงหาหลักฐานตามระบบไต่สวนแต่ศาลกลับไม่ทำเช่นนั้น บอกว่าหลักฐานไม่ชัดเจนแต่สามารถไปพิจารณาในประเด็นข้อกฎหมายได้
เมื่อเป็นประเด็นข้อกฎหมาย ก็มีเรื่องที่จะเข้าไปตรวจสอบในหลักกฎหมายว่า กฎหมายออสเตรเลียมีความแตกต่างไปจากของไทยหรือไม่ เมื่อไม่มีการตรวจสอบตรงนี้แล้วศาลวินิจฉัยออกมาจึงมีปัญหาว่าเป็นคำวินิจฉัยที่หลักฐานไม่ครบ แล้วข้ามไปวินิจฉัยในข้อกฎหมายอื่น ไปออกในเรื่องของเหตุผลเรื่องอำนาจอธิปไตย
“ก็จะมีในส่วนที่บอกว่าคำวินิจฉัยนี้มันผูกพันต่อไปด้วย จึงมีความน่าประหลาดใจอยู่ระดับหนึ่งเหมือนกันเพราะดูขัดกับเรื่องของวิธีการไต่สวนของศาลด้วย กลายเป็นว่าศาลกลับไปดูข้อกฎหมายแทนที่จะสามารถวินิจฉัยได้ว่าไม่เอาเลยหรือเอาทั้งหมดถ้ามีเงื่อนไขบางอย่าง ซึ่งก็มีหลักกฎหมายปรากฏอยู่”
ด้าน รศ.อานนท์ ระบุว่า หากศาลปักธงแน่วแน่ว่าจะตัดสินเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายอย่างเดียว ในเรื่องของคำพิพากษาศาลต่างประเทศก็จะจบ ไม่ว่าจะเป็นคดียาเสพติดหรือไม่ ไม่น่าที่จะมาพูดถึงข้อเท็จจริง แล้วมาบอกว่าข้อเท็จจริงไม่มีไม่ปรากฏ เพราะเมื่อมันไปไม่สุด ก็ทำให้เกิดคำถามว่าตกลงจะเอาอย่างไร
ศาลรัฐธรรมนูญไม่พยายามแสวงหาข้อเท็จจริง
รศ.อานนท์ ให้ความเห็นว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญยุติปัญหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำพิพากษารัฐนิวเซาท์เวลส์ฯ เท่าที่รับกันในชั้นพิจารณา รับกันในคำร้อง ซึ่ง ร.อ. ธรรมนัส รับอย่างเดียวว่าต้องคำพิพากษาของรัฐนิวเซาท์เวลส์ฯ โดยไม่ได้รับเรื่องยาเสพติด ขณะที่เรื่องนี้มีประเด็นเรื่องยาเสพติด แต่ศาลกล่าวถึงเรื่องนี้เพียงแค่ว่าไม่ได้คำพิพากษามา โดยยอมรับทันทีที่กระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่าไม่มีสำเนา (สำเนาคำพิพากษา)
ทำให้มองได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่พยายามแสวงหาหลักฐานที่เป็นข้อเท็จจริง ทั้งที่กลไกของศาลรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ศาลมีอำนาจสามารถสั่งการไปยังกระทรวงการต่างประเทศ หรือใช้ความสัมพันธ์ทางการทูตเพื่อให้ได้มา และทั้งที่คำพิพากษารัฐนิวเซาท์เวลส์ฯ นี้สามารถสืบค้นจากอินเทอร์เน็ตได้
ทั้งนี้ แนวความเห็นกฤษฎีกาที่ 562/2554 มีอิทธิพลต่อการยกร่างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาก เพราะถ้อยคำหลายๆ อย่างเหมือนกันมาก ทั้ง 1. การอ้างเรื่องหลักอำนาจอธิปไตย 2. เรื่องการรับรู้คำพิพากษาศาล และ 3. การอ้างเหตุปฏิเสธไม่ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลต่างประเทศเนื่องจากความลักลั่น ไม่ได้มาตรฐานเดียวกัน คือ ความผิดที่เกิดขึ้นในต่างประเทศว่าจะเป็นความผิดในกฎหมายไทยหรือไม่ มาตรฐานในการดำเนินคดีจะเหมือนกับไทยหรือไม่
ซึ่งจุดอ่อนเรื่องความลักลั่นไม่แน่นอนในมาตรฐานของความผิดตามกฎหมายแต่ละประเทศนี้ ได้ถูกแก้โดยนัยยะของความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาที่1271/2563 ที่ยอมรับถึงความผิดยาเสพติด เนื่องจากมีลักษณะเป็นความผิดสากล เช่น เฮโรอีน ยาบ้า และเมื่อเป็นความผิดที่ระบบกฎหมายไทยรับรู้ว่ามีความผิด ก็ต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญถึงระบบกฎหมายเราเองทั้งหมดว่าถ้าเป็นยาเสพติดแบบเฮโรอีนนั้นร้ายแรง รับไม่ได้ เป็นต้น
“กรณีของ ร.อ. ธรรมนัส นั้น เป็นที่ทราบทั่วไปว่ามีการเข้าออกระบบราชการอย่างน้อย 2 รอบ มีการถูกปลดเนื่องจากทิ้งราชการ (ขณะต้องคดีที่ประเทศออสเตรเลีย) และถูกถอดยศเนื่องจากประพฤติตนไม่สมควร เพียงตรวจสอบว่ากรณีดังกล่าวมีเหตุเกี่ยวโยงถึงยาเสพติดหรือไม่ หากมีก็จะสอดรับกันทันทีว่ากระทรวงกลาโหมหรือรัฐไทยรับรู้ถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศถึงขนาดเป็นเหตุในการลงโทษทางวินัยเรื่องหนีราชการ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้แต่อย่างใด”
ศาลไม่รับรู้เรื่องยาเสพติด
รศ.อานนท์ กล่าวถึงคำวินิจฉัยที่เผยแพร่อยู่ในราชกิจจานุเบกษาในหน้า 39 ที่ระบุว่า “…ซึ่งศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ได้ดำเนินกระบวนพิจารณานี้จริง แต่การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นอย่างไร วินิจฉัยพยานหลักฐานอย่างไร และมีคำพิพากษาในความผิดฐานใด จะตรงตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) บัญญัติหรือไม่ นั้นยังไม่ชัดเจน” ในมุมหนึ่งเท่ากับว่ารัฐไทยเองไม่เคยมีการรับรู้รับรองว่า ร.อ. ธรรมนัส เคยต้องคดียาเสพติด จากนั้นเปลี่ยนไปพิจารณาที่ข้อกฎหมายเลย จากที่ระบุในคำวินิจฉัยประโยคหลังว่า “…อย่างไรก็ดีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาแล้วจึงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยต่อไป…” หมายความว่ายุติแล้วในเรื่องข้อเท็จจริง
“คำวินิจฉัยขอศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือที่สามารถเอาไปพูดได้ว่า ร.อ. ธรรมนัส ไม่เคยถูกศาล โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญที่มีอิทธิพลมากในเชิงการเมืองรับรู้รับรองว่าเขาต้องคดี ว่าเขาต้องคดียาเสพติด เพราะศาลออกตัวสุดๆ ว่าไม่รับรู้ ยังไม่ชัดเจนพูดเอาไว้ในหน้า 39 ซึ่งกรณีนี้มีปัญหามาก”
ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีการชี้สองสถาน (ไม่แจ้งประเด็นแก่คู่ความ)
รศ.อานนท์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีการแจ้งประเด็นที่จะพิจารณาทั้งในประเด็นข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายให้กับคู่ความทั้งสองฝ่ายทราบ (การกำหนดประเด็นแห่งคดี หรือชี้สองสถาน) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากคู่ความทราบว่าเขามีประเด็นอะไรที่เกี่ยวข้องที่ต้องมาสู้กันแล้วเขาจะได้สู้กันอย่างเต็มที่ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่มีกลไกส่วนนี้ จึงทำให้ผู้ร้องหรือผู้ถูกร้อง จะไม่เห็นภาพว่าตนเองมีภาระในแต่ละประเด็นที่จะโต้แย้งกันอย่างไรบ้าง
ในคำวินิจฉัยที่ออกมาตามเอกสารข่าวของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 ระบุให้เห็นเพียงว่า ศาลรัฐธรรมนูญยุติประเด็นข้อเท็จจริงเรื่องเอกสารคำพิพากษาของศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ฯ เอาไว้ ซึ่งไม่ได้ทราบเหตุที่ยุตินั้นมาจากศาลไม่รู้ว่าคำพิพากษาของรัฐนิวเซาท์เวลส์ฯ นั้นมีอะไรในรายละเอียด ซึ่งหากได้ทราบเหตุผลดังที่ปรากฏในคำวินิจฉัยฉบับเต็มอย่างน้อยที่สุดผู้ร้อง หรือสังคมก็ต้องพยายามอย่างเต็มที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงให้
“กลายเป็นว่าศาลจะเป็นคนคัดกรองทุกอย่างที่เป็นประเด็นแห่งคดีตามความประสงค์ของศาลรัฐธรรมนูญเองและในที่สุดเมื่อศาลจะบอกว่าเรื่องนี้ยุติในข้อเท็จจริงศาลก็จะหยุดข้อเท็จจริง… ซึ่งทั้ง 2 ฝั่งยังไม่รู้ว่ายุติอะไร จึงเกิดเป็นปัญหาว่าที่ยุตินั้นยุติอะไร? ศาลรู้สึกพอในเรื่องอะไร? จริงๆ แล้วการรู้สึกพอของศาลนั้นเป็นการคิดเองหรือเปล่า? ทั้งที่คู่ความมีศักยภาพเพียงพอที่จะให้ได้มาซึ่งหลักฐานนี้”
5 เหตุเห็นต่าง แรงเสียดทานจาก “วรเจตน์ ภาคีรัตน์”
ทั้งนี้ ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ศ. ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านประชาไท ในทิศทางที่สวนกระแสจากความเห็นนักวิชาการส่วนใหญ่ สร้างแรงเสียดทานให้กับสังคม จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นอีกครั้ง เขาเรียกตนเองว่าเป็นเสียงส่วนน้อยหรืออาจจะเป็นเสียงเดียวในหมู่นักวิชาการ ที่เห็นว่า การตีความว่าหมายถึงคำพิพากษาของศาลไทยเท่านั้นในทางนิติศาสตร์ นั้นถูกต้องแล้ว ด้วยเหตุผล ดังนี้
เจตนารมณ์ไปไม่ถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ
ศ. ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวว่า ต้องดูตัวบทเป็นจุดเริ่มต้น หากพูดถึงกฎหมายหรือความผิดในมาตรา 98 (10) จะไม่เห็นความหมายของต่างประเทศเลย “คำพิพากษาของศาล” เป็นการใช้อำนาจทางมหาชนของรัฐชนิดหนึ่งผูกพันทั้งคู่ความและองค์กรรัฐต่างๆ เมื่อมีการอ้างอิงถึงตัวระบบหรือผลิตผลของการใช้อำนาจไม่ว่าจะเป็นคำพิพากษา คำสั่งทางปกครอง หรือกฎหมาย หลักต้องอ้างถึงตัวอำนาจที่เป็นที่มาของกฎหมายนั้น คืออำนาจของรัฐไทย
ดังนั้น การตีความต้องดูทั้งจากถ้อยคำและเจตนารมณ์ โดยเจตนารมณ์เกิดจากตัวบทกฎหมายและจากตัวผู้เขียน ส่วนคำปรารภมีขอบเขตกว้างมาก หากจะใช้อ้างอิงเป็นเจตนารมณ์ หากจะให้รวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ตัวบทจะต้องระบุไว้ และเมื่อมาตรานี้ไม่ได้เขียนถึงต่างประเทศ ตัวบทนี้จึงไปไม่ถึง
โทษที่ได้รับในต่างประเทศอยู่นอกเหนือบทบัญญัติ มาตรา 98(10)
ศ. ดร.วรเจตน์ เห็นว่า ความผิดตามมาตรา 98(10) มีการระบุอย่างเจาะจง ในความผิดเรื่องยาเสพติดในฐานผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก ซึ่ง ร.อ. ธรรมนัส ไม่ได้ยอมรับในจุดนี้ เขารับแค่เพียงว่าต้องคำพิพากษาของศาลต่างประเทศจริง ในความผิดฐานรู้เห็นการนำเข้า และคดีนี้จบที่ศาลแขวง ซึ่งตัดสินจำคุก 6 ปี เมื่อวิเคราะห์จากโทษที่ได้รับก็อาจเป็นความจริงได้ เนื่องจากบทลงโทษสำหรับผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก นั้นต้องสูงกว่านี้ ดังนั้นหากไม่ใช่ความผิดตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญก็ไม่อาจถือเป็นคุณสมบัติต้องห้ามได้
กฎหมายจำกัดสิทธิ ต้องตีความอย่างเคร่งครัด กฎหมายต้องกำหนดไว้
ศ. ดร.วรเจตน์ ระบุว่า ในบทบัญญัติที่ตัดสิทธิคนทั้งปวง หากจะบัญญัติตัดสิทธิใครก็ต้องเขียนให้ชัดเจน และหากกฎหมายไทยจะให้ยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วยจะต้องเขียนระบุไว้ให้ชัดเจนเช่นกัน การที่ ร.อ. ธรรมนัส ยอมรับว่ามีส่วนพัวพันกับการขนยาเสพติดนั้นอาจเพียงพอในแง่ความเหมาะสม แต่หากมองมุมของกฎหมาย ต้องมี 1. คำพิพากษาถึงที่สุด และ 2. ฐานความผิด ไม่ใช่แค่เพียงต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในทุกเรื่อง แต่ต้องประกอบกับฐานความผิดที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย หากไม่มีฐานความผิดกำกับจะทำให้ตีความไปได้กว้างขวางมาก
“เราไม่ควรเห็นดีเห็นงามกับการตัดสิทธิบุคคลตลอดชีวิต ไม่ควรในทุกเรื่อง ความผิดบางฐานบางประเทศไม่ติดคุก อาจเป็นแค่เพียงความผิดทางปกครอง แต่อีกประเทศหนึ่งอาจเป็นเรื่องต้องห้ามเด็ดขาด แล้วจะเรียกว่ายุติธรรมได้ไหมในกรณีแบบนี้”
นอกจากนี้ การอ้างถึงมาตรา 10 ตามประมวลกฎหมายอาญา นั้นไม่เกี่ยวข้องกับมาตรา 98(10) ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมาตรา 10 นั้นเขียนขึ้นมาเพื่อป้องกันการลงโทษซ้ำซ้อน และในมาตรา 10 นี้ก็เขียนถึงกฎหมายต่างประเทศไว้ชัดเจน แต่ในมาตรา 98(10) ไม่มี ดังนั้น นี่คือการรับเอาคำพิพากษาของศาลต่างประเทศเฉพาะกรณี หากมาตรา 98(10) จะทำก็ต้องเขียนให้ชัดเจนและต้องเขียนว่าฐานไหนด้วย หากไม่เขียนก็ไปไม่ถึง
ความลักลั่นในทางกลับกัน
ศ. ดร.วรเจตน์ กล่าวว่า การอ้างว่าหากไม่รวมคำพิพากษาของศาลต่างประเทศแล้วจะเกิดความลักลั่น แต่ในทางกลับกันจะรู้ได้อย่างไรว่าหากตีความรวมไปแล้วจะไม่เกิดความลักลั่น ในการตีความหากรวมคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ โทษจำคุกต้องหมายถึงโทษจำคุกของต่างประเทศด้วยได้ และต้องรวมถึงคำพิพากษาของศาลทุกประเทศ ทั้งเกาหลีเหนือ ยูกานดา ฯลฯ ด้วย
ไม่เช่นนั้นจะเกิดความลักลั่น กลายเป็นความไม่สม่ำเสมอกันในเรื่องที่ควรมีฐานเดียวกัน ซึ่งการตีความของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีผลไปถึงภายนอก แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่ากฎเกณฑ์ทางกฎหมาย การทำคำพิพากษาของแต่ละประเทศนั้นเป็นมาตรฐานเดียวกัน แน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่ลักลั่น
“เหตุผลเรื่องลักลั่นถูกในมิติหนึ่ง แต่ในอีกมิติหนึ่งก็ผิด คือไม่ใช่เหตุผลที่ไปได้ทั้งหมด ฝ่ายตรงข้ามก็ยันกลับได้เช่นกัน เพราะระบบกฎหมายในต่างประเทศไม่ได้มีระบบกฎหมายเดียว มันมีจำนวนมาก”
ไม่ใช่การรับฟังในฐานะข้อเท็จจริง แต่เป็นการตีความเพื่อให้ความหมาย
ศ. ดร.วรเจตน์ กล่าวว่า“การรับฟังในฐานะข้อเท็จจริง” ที่ตนเข้าใจ คือ การรับว่าเขาทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องโทษ และเป็นโทษที่ได้รับแล้ว มีความผิดจริง ซึ่งหากจะรับมาต้องมาพิจารณาเรื่องการปลดออกจากราชการเพราะเหตุประพฤติชั่ว หรือนำมาดำเนินการทางวินัย แต่กรณีนี้เป็นการตีความคำว่า “คดีถึงที่สุด” หากให้คำว่าคดีถึงที่สุดของศาลต่างประเทศ เท่ากับคดีถึงที่สุดตามระเบียบหรือกฎหมายไทยด้วย จะเป็นการให้ความหมายคำว่า “คดีถึงที่สุด” ไม่ใช่การรับฟังในฐานะข้อเท็จจริง
“การรับมาในฐานะข้อเท็จจริงนั้นต้องเป็นการดูว่าการทำผิดฐานนั้นมันเข้าข้อต้องห้ามของคุณสมบัติไหม เพราะการรับมาเพื่อให้ความหมายของถ้อยคำในระบบกฎหมายไทยแล้ว หมายถึงกฎหมายต่างประเทศด้วยนั้น จะไปกระทบกับกรณีอื่นต่อไปด้วย”
ทั้งนี้ ศ. ดร.วรเจตน์ ให้ความเห็นว่า การรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมานั้นสามารถมีได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข เช่น มีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้ง มีสนธิสัญญาระหว่างกัน หรือการรับอย่างที่เป็นข้อเท็จจริงแล้วนำมาใช้เป็นฐานต่อไปในการวินิจฉัยลงโทษอื่นๆ เช่น โทษทางวินัย เป็นต้น หากไม่ใช่กรณีเหล่านี้แล้วก็ต้องตีความหมายถึงคำพิพากษาของไทยเท่านั้น ซึ่งความเห็นเช่นนี้อาจถูกตำหนิว่าคับแคบ แต่เขายังคงเห็นว่าเป็นการตีความที่รับกับตัวบท และไม่ขยายความจนเกินเลยไป
“ตุลาการ” อำนาจที่อันตรายที่สุด เมื่อตาชั่งตั้งอยู่บนกลไกที่บิดเบี้ยว
อย่างไรก็ตามแม้จะมีความเห็นไปในทิศทางตรงกันข้าม แต่ปัญหาที่นักวิชาการมองไปในทิศทางเดียวกันคือ
ปัญหาของตัวรัฐธรรมนูญที่พยายามทำศีลธรรมให้เป็นกฎหมาย ปัญหาเรื่องความสม่ำเสมอในการตีความ ที่มักถูกผูกโยงและขึ้นกับการเมืองแต่ละยุคสมัย และการที่ไม่สามารถทำคำพิพากษาให้เสร็จสมบูรณ์ภายในวันเดียว
ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบย้อนกลับบั่นทอนความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชน เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นศาลชั้นเดียว และคำวินิจฉัยของศาลฯ ไม่ได้ผูกพันเฉพาะตัวคู่ความดังเช่นคดีแพ่ง หรือคดีอาญาทั่วไป แต่ผลนั้นผูกพันไปยังองค์กรอื่นด้วย
ปัญหาความไม่สม่ำเสมอในการตีความ
แม้จะมีความเห็นตรงกันข้ามแต่ทั้ง ศ. ดร.วรเจตน์ และฝ่ายวิชาการอื่นก็เห็นว่าประเด็นนี้เป็นปัญหา ซึ่งในอดีตก็มีการตีความทั้งยอมรับยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ปี 2525 และปี 2563 ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญเองก็มีการตีความเพื่อขยายหลักกฎหมายให้ครอบคลุมเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ในกรณีของนายสมัคร สุนทรเวช แต่ในครั้งนี้ศาลกลับผ่านเลยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในมาตรา 98(10) ให้กลายเป็นเพียงประเด็นรั้งท้ายเท่านั้น จึงเกิดเป็นปัญหาให้ถูกหยิบยกมาเปรียบเทียบ
ศ. ดร.วรเจตน์ ระบุว่า ปัญหาความสม่ำเสมอในการตีความของศาลรัฐธรรมนูญในอดีตที่ขยายขอบเขตของกฎหมายออกไปทำให้ประชาชนคุ้นชินกับการตีความรูปแบบดังกล่าว เมื่อเกิดกรณีที่ศาลตีความค่อนข้างเคร่งครัดเช่นกรณีนี้ คนจึงรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรม เนื่องจากทิศทางไม่เหมือนเดิม
“การตีความที่ควรเป็นคือการตีความตามระบบ (systematic interpretation แต่ไม่ปรากฏในคำวินิจฉัยนี้ ซึ่งหากให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาในหลายเรื่อง ปัญหาก็จะไม่เกิด ผมรู้สึกว่าถ้าเราต้องการให้ตัวกฎเกณฑ์ในทางกฎหมายเป็นรากฐานมั่นคงหนักแน่น เพื่อให้มีคุณค่าบางอย่างเกิดขึ้นในสังคม มันต้องมีความสม่ำเสมอและมีความเป็นภววิสัยอยู่ เราไม่ควรเอาสิ่งที่ไม่ถูกมาใช้เป็นรากฐานในการทำมันต่อไป”
ด้าน ผศ. ดร.นพดล ระบุว่า ศาลเองต้องไม่ดูเพียงการวินิจฉัยเฉพาะคดี แต่ต้องดูด้วยว่า ที่ผ่านมาก็มีการตีความขยายเช่นใด เพราะมีเรื่องความยุติธรรมระหว่างคดี ความสม่ำเสมอของการให้เหตุผลอยู่เช่นกัน แม้องค์คณะจะเปลี่ยนไปก็ยังต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ หากมีการตีความเคร่งครัดคุ้มครองคนกลุ่มหนึ่ง แต่อีกกลุ่มหนึ่งเป็นการตีความขยายขอบเขตของกฎหมายเพื่อรักษาคุณงามความดี ก็จะมีประเด็นว่า กฎหมายกลายเป็นแค่เครื่องมือ และจะกลายเป็นปัญหาอย่างยิ่งเมื่อประชาชนไม่เชื่อถือ
“จากผลคำพิพากษาประชาชนก็รับทราบได้ว่าใครทำหน้าที่อย่างไร สิ่งหนึ่งที่อยากฝากก็คือศาลเป็นผู้พิทักษ์ระบบกฎหมาย ฉะนั้นการปกครองโดยกฎหมายหรือนิติรัฐนิติธรรมจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ก็อยู่ที่บทบาทของศาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นศาลชั้นเดียว ไม่มีใครตรวจสอบได้อีกแล้ว และคำวินิจฉัยเองก็มีความผูกพันในลักษณะเป็นการทั่วไป เราก็อยากจะเห็นว่าตัวฉันเอง ต้องตรวจสอบตัวเองให้ได้มากที่สุด เพราะไม่ใช่แค่รักษาตัวศาลแต่เป็นการรักษาระบบกฎหมายและความน่าเชื่อถือ”
ผลกระทบจากการ “ไม่” เผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็มในวันเดียวกับที่อ่านคำวินิจฉัย
ศ. ดร.วรเจตน์ ระบุว่า ในการทำคำวินิจฉัยและอ่านคำวินิจฉัย ที่มีการตัดสินให้มีผลไปก่อนมีคำวินิจฉัยฉบับสมบูรณ์ซึ่งการให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีความสำคัญมาก แต่กลับถูกละเลย ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากคำวินิจฉัยนั้นมีบางส่วนที่ไม่ตรงกันทั้งหมด มีข้อความที่เหลื่อมกัน แม้ผลของคำวินิจฉัยจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไป แต่เมื่อคำวินิจฉัยไม่เหมือนเดิม มันเท่ากับว่าเป็นการอ่านแล้วเติม ซึ่งไม่ควรทำได้ เว้นแต่มีคำผิด หรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ติงศาลรัฐธรรนูญมานานกว่า 20 ปีแล้ว
การที่ทำคำวินิจฉัยให้มีมาตรฐานสูงจะเป็นเกราะป้องกันศาลเอง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม เพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลชั้นเดียว ไม่มีวิธีตรวจสอบวิธีอื่น นอกจากการวิพากษ์วิจารณ์ การพูดกันด้วยเหตุผล แต่คำวินิจฉัยที่ปรากฏในวันอ่านเมื่อไม่ใช่ฉบับสมบูรณ์ทำให้วิจารณ์ได้จำกัด เพราะคนไม่เห็นเหตุผลทั้งหมด
รศ.อานนท์ กล่าวว่า ศาลใช้คำว่า “ย่อ” สำหรับคำวินิจฉัยที่ออกมาในวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 แต่หากสังเกตเนื้อความที่เพิ่มมาในฉบับที่ลงในราชกิจจานุเบกษา เนื้อความนั้นเพิ่มออกมาไม่มากประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จะเรียกว่าย่อได้อย่างไร อีกทั้งไม่มีฐานอำนาจไหนของศาลรัฐธรรมนูญรับรองให้อ่านคำวินิจฉัยฉบับย่อบนบันลังก์ ประกอบกับในระหว่างที่รอประกาศในราชกิจจานุเบกษาไม่มีกฎหมายข้อใดให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการต่อเติมคำวินิจฉัย และกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องของการแก้ไขข้อผิดหลงเล็กน้อย ซึ่งปัญหาแก้ได้โดยการทำคำพิพากษาให้เสร็จสมบูรณ์ในวันอ่าน
ผศ. ดร.นพดล กล่าวว่า ศาลฯ ต้องคิดว่าเป็นผู้มีหน้าที่ต่อประชาชน ฉะนั้นการให้เหตุผลจึงควรจะอธิบายให้ชัดเจนสิ้นสุด ณ วันที่อ่านคำวินิจฉัยและพยายามตอบโจทย์หรือประเด็นของกฎหมายให้ครบถ้วน เพื่อทำให้ประชาชนมีความไว้เนื้อเชื่อใจว่าศาลเองก็เป็นผู้ที่ใช้กฎหมายเพื่อประชาชนและคิดว่าประชาชนเองก็ควรที่จะมีการพิจารณาหรือเข้ามาตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาลได้ ศาลจึงควรให้ผลที่ดีที่สุดไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเช่นนี้
อย่างไรก็ดี จากรายงานข่าวที่สำนักข่าวไทยพับลิก้านำเสนอความเห็นของทั้งสองฝ่ายเมื่อครั้งที่ศาลฯ ได้อ่านคำวินิจฉัย จะสังเกตได้ว่า ได้มีความเห็นส่วนตนของตุลาการท่านหนึ่งถูกเผยแพร่อย่างไม่เป็นทางการในเวลาไล่เลี่ยกับที่มีการอ่านคำวินิจฉัย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากลำบากหรือเป็นไปไม่ได้ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเปิดเผยและอ่านคำพิพากษาฉบับเต็มภายในวันเดียวกัน
การเมืองใน รธน. และเกณฑ์ “คุณสมบัติ” กับการเอาความดีมาบัญญัติ กม.
เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ฝ่ายวิชาการมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดย ศ. ดร.วรเจตน์ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า การทำให้ศีลธรรมเป็นกฎหมาย (moralization of law) นั้นอันตราย เนื่องจากศีลธรรมเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล กฎหมายควรเป็นเพียงสิ่งที่วางมาตรฐานขั้นต่ำในการอยู่ร่วมกัน ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายเท่านั้นจะเพียงพอ ในทางการเมืองนั้นต้องมีเรื่องอื่นประกอบด้วย แต่หากเห็นว่ามีกรณีที่เป็นปัญหา ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาใช้เหตุผลทางศีลธรรมจัดการ เราจะเผชิญอันตรายอีกแบบจากการเพิ่มพูนอำนาจศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความขยายออกไปได้หลายอย่าง
“ศาลเป็นอำนาจที่อันตรายน้อยที่สุดในสามอำนาจ (นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ) แต่หากไม่ระวัง ศาลอาจเป็นอำนาจที่อันตรายที่สุดได้เช่นกัน”
สอดคล้องกลับความเห็นของ รศ. ดร.ณรงค์เดช ที่ระบุว่า แม้ผู้ร่างจะมีเจตนาที่ดีในการพยายามเอาคุณงามความดีไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้เป็นมาตรวัดคัดคนเข้าสู่การเมือง โดยให้องค์กรทำการประเมิน แต่เรื่องนี้ก็เป็นปัญหา เพราะการประเมินนี้ส่งผลทางกฎหมายถึงขนาดตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตก็มี ขณะที่ “ความดี” นั้นยังค่อนข้างเป็นนามธรรม และการให้ค่าความดีของแต่ละบุคคลก็ล้วนแตกต่างกันไป เป็นเรื่องที่ประเมินได้ยาก
“คำถามคือ เราจะตีความอย่างไร ว่า อะไรคือซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ คือไม่โกงใช่ไหม แล้วถ้าไม่โกงแต่นั่งเฉยๆ ให้เพื่อนๆ ที่ทำงานด้วยกันโกง อย่างนี้ถือว่าซื่อสัตย์สุจริตไหม ตัวเองไม่โกงแต่คนที่นั่งทำงานด้วยกันโกงกันทุกคน อย่างนี้เรียกว่าอย่างไร”
รศ. ดร.ณรงค์เดช ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่ต่อเนื่องของเรื่องนี้ คือการให้องค์กรที่เป็นองคาพยพที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันกับคณะผู้ก่อการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ทั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือแม้แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีส่วนหนึ่งที่สภานิติบัญญัติ (สนช.) ที่มาจากการรัฐประหารเป็นผู้แต่งตั้ง แล้วเอาความดีตรงนี้ให้คนกลุ่มนี้เป็นคนตัดสิน
ทั้งนี้ ในหลักของประชาธิปไตย การกำหนดคุณสมบัติ การกำหนดลักษณะต้องห้ามของคนที่จะอาสาลงสนามเลือกตั้ง ข้อห้ามข้อจำกัดต้องน้อยที่สุด ควรมีเท่าที่จำเป็น และการจำกัดตัดสิทธิไม่ควรเป็นไปในลักษณะถาวรตลอดกาล ดังเช่น สโลแกนของกรมราชทัณฑ์ “คืนคนดีสู่สังคม” เพราะคนเราเป็นไปได้ที่จะกระทำผิด ซึ่งเขาอาจสำนึกผิดและกลับตัว แต่มาตรฐานของไทยคือตัดออกจากการเมืองตลอดไป ทางที่ควรเป็นคือเคารพต่อการตัดสินใจของประชาชน โดยให้ข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งว่ามีปูมหลังอย่างไร ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าบุคคลดังกล่าวเหมาะสมจะเป็นผู้แทนของเขาหรือไม่
รัฐธรรมนูญขาดความเป็นประชาธิปไตย ไม่เชื่อมั่นในวิจารณญาณ ปชช.
ศ. ดร.วรเจตน์ ระบุว่า ปัญหาสำคัญของเรื่องนี้คือรัฐธรรมนูญที่โครงสร้างขาดความเป็นประชาธิปไตย ทำให้ฝ่ายการเมือง หรือนายกรัฐมนตรีขาดความใส่ใจในเรื่องนี้ เพราะตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีนั้นยึดโยงกับสมาชิกวุฒิสภามากกว่าประชาชน ไม่ว่ามีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เท่าไร ก็ยังมี ส.ว. ค้ำจุนตำแหน่งอยู่ ซึ่ง ศ. ดร.วรเจตน์ เห็นว่าประเด็นนี้ควรแก้กันด้วยการเมืองมากว่าใช้วิธีการทางกฎหมาย เพราะกฎหมายมีข้อจำกัดมากกว่า ต้องมีการตีความ ต้องมีบทบัญญัติ
ด้าน รศ. ดร.ณรงค์เดช ให้ความเห็นสอดคล้องกับ ศ. ดร.วรเจตน์ ว่า สิ่งที่ขาดหายไป คือ “กลไกความรับผิดชอบทางประชาธิปไตย” (democratic accountability) ที่จะทำให้เสียงของประชาชนมีน้ำหนัก และฝ่ายการเมืองต้องรับฟัง เพราะประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเลือกผู้แทน หากหากผู้แทนไม่ทำหน้าที่หรือทำหน้าที่ไม่ดีก็จะไม่ได้รับเลือกอีก ดังนั้นหากมีเสียงคัดค้านต่อบุคคลที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี นายกฯ ก็ควรต้องปลดบุคคลดังกล่าวออก
“แต่ที่ไม่เกิดขึ้นกับเหตุการณ์ปัจจุบัน เพราะนายกฯ ไม่จำเป็นต้องใส่ใจเสียงประชาชน เพราะกลไกตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เกิดวงจรความรับผิดชอบทางประชาธิปไตย เพราะสุดท้ายแล้วผู้ที่มีสิทธิ์ออกเสียงในการเลือกนายกฯ จริงๆ หรือในการจะเป็นรัฐบาลหรือไม่นั้นอยู่ที่จำนวน 250 เสียงของสมาชิกวุฒิสภา”
จะเห็นได้ว่ากลไกบิดเบี้ยวไปหมด ตราบใดที่ยังเป็นแบบนี้ ประชาชนจะพูดแค่ไหนก็ตาม กระแสสังคมจะแรงแค่ไหนก็ตาม ถ้านายกฯ จะไม่สนใจก็คือไม่สนใจ หากเปลี่ยนใหม่ให้กลไกความรับผิดชอบต่อประชาธิปไตยเกิดขึ้นจริง กระแสแรงแบบนี้นายกฯ ก็จะหวาดกลัว แล้วจะต้องหาทางใดทางหนึ่ง ที่จะหาทางจัดการตรงนี้
รศ. ดร.ณรงค์เดช ได้ตั้งข้อสังเกตถึงประเด็นที่หลายคนมองเป็นความหวังในการที่จะให้ ร.อ. ธรรมนัส พ้นตำแหน่งได้ คือประเด็น “จริยธรรมร้ายแรง” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 แต่เขาเห็นว่า การตีความตัวบทดังกล่าวนั้นต้องเป็นกรณีที่เกิดขึ้น ณ ขณะเวลาที่เขาดำรงตำแหน่งอยู่
สุดท้ายแล้ว 4 ประเด็นนี้คือสิ่งที่สะเด็ดน้ำและนักวิชาการเสียงไม่แตก แม้แต่ ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกมาโต้แย้งความเห็น ศ.ดร.วรเจตน์ ก็เห็นด้วยในจุดเดียวกันนี้ หากไล่เรียงดู รากเหง้าของปัญหาอาจไม่ใช่ “คำวินิจฉัย” หรือ “ความเห็นของตุลาการ” แต่เป็นโครงสร้างที่บิดเบี้ยวผิดเพี้ยนของการเมือง กระบวนการยุติธรรม และการออกแบบกฎหมายสูงสุดของประเทศอย่างรัฐธรรมนูญ