ThaiPublica > เกาะกระแส > รู้ทันเศรษฐกิจภูมิภาคยุคโควิด 19…ต้องตามติดอะไร?

รู้ทันเศรษฐกิจภูมิภาคยุคโควิด 19…ต้องตามติดอะไร?

13 พฤษภาคม 2021


การจับชีพจรเศรษฐกิจภูมิภาคยุคโควิด 19 ซึ่งในแต่ละพื้นที่ได้รับผลกระทบไม่เท่าเทียมและการฟื้นตัวของแต่ละภาคส่วนไม่เท่ากัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เสริมมุมมอง “ภาพเศรษฐกิจภูมิภาค” (นอกจากเครื่องชี้และการจับชีพจรผ่านการพูดคุยกับผู้ประกอบการในพื้นที่) ได้ติดตามข้อมูลที่หลากหลายขึ้น ทั้งจาก Digital Platform และข้อเท็จจริงในพื้นที่ เพื่อให้มีความถูกต้อง แม่นยำและลุ่มลึกขึ้น เพื่อให้การกำหนดนโยบาย “เหมาะสม ตรงจุด และเพียงพอ”1 โดยยึดหลัก 2 เพิ่ม 1 เสริม กล่าวคือ

1. เพิ่มความไวและความลึกของข้อมูล ทำให้เห็นผลกระทบที่ไม่เท่าเทียมในแต่ละพื้นที่

ธปท.ได้เพิ่มการดูข้อมูลเร็วอย่างเช่น Facebook Movement Range Maps (รูป 1) ที่แสดงการเคลื่อนที่ของคนในแต่ละพื้นที่ มาช่วยสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและช่วยให้ภาพเศรษฐกิจที่เร็วขึ้น โดยข้อมูลจะล่าช้าเพียง 2 วัน จากรูปจะเห็นได้ว่าในช่วงการปิดเมือง (Total Lockdown) ในเดือนเมษายน ปี 63 จากการระบาดระลอกแรก ส่งผลให้การเคลื่อนที่และกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทุกภูมิภาคได้รับผลกระทบรุนแรง โดยการหดตัวอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับช่วงปกติ ขณะที่ การระบาดระลอก 2 (เดือนมกราคม ปี 64) ที่มีมาตรการจำกัดการเดินทางบางส่วน (Partial Lockdown) ช่วยลดผลกระทบนอกพื้นที่เสี่ยง ทำให้การเคลื่อนที่ในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ได้รับผลกระทบเพียง 1 ใน 3 ของระลอกแรก และเริ่มปรับดีขึ้นบ้าง ในช่วงเดือนเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม ปี 64 อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอกใหม่เดือนเมษายนกลับมารุนแรงและกระจายเป็นวงกว้าง หลังจากเทศกาลสงกรานต์เห็นการเดินทางที่ลดลงแล้วกว่าร้อยละ 20 ในทุกพื้นที่จากช่วงปกตินอกจากนี้ หากดูอีกข้อมูลที่เราติดตามคือ คีย์เวิร์ดสำคัญที่ค้นหาบน Google อย่าง “ประกันสังคม” ที่สะท้อนความกังวลของประชาชนในพื้นที่ต่อการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทั้งสามระลอก ก็ให้ภาพผลกระทบทางเศรษฐกิจในทิศทางเดียวกัน

2. เพิ่มความครอบคลุมของข้อมูล ให้รู้ทันการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากันในแต่ละสาขาเศรษฐกิจ

ในการพิจารณาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคให้ลึกขึ้น ดูข้อมูล: 1) ด้านการใช้จ่าย เพื่อสะท้อนภาพกำลังซื้อของแต่ละภาคให้ครบขึ้นในส่วนที่เครื่องชี้ปัจจุบันไม่ครอบคลุม เราได้ติดตามคำค้นหาที่เกี่ยวกับการขนส่งพัสดุบน Google และข้อมูลการซื้อสินค้าผ่านช่องทางเครื่องรูดบัตร พบว่ากำลังซื้อในภาคใต้ฟื้นตัวช้ากว่าภาคอื่น ขณะที่กำลังซื้อของภาคเหนือและภาคอีสานมีทิศทางปรับดีขึ้นต่อเนื่อง โดยการระบาดของโควิด 19 ทำให้ประชาชนออกไปจับจ่ายใช้สอยนอกบ้านน้อยลงและหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น สะท้อนจากคำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งพัสดุบน Google (รูป 2) ซึ่งในช่วงปิดเมือง (เมษายน ปี 63) เห็นการค้นหาสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ปกติเกือบเท่าตัวในทุกภูมิภาค แต่ภาคใต้มีการค้นหาน้อยที่สุด สอดคล้องกับการซื้อสินค้าผ่านเครื่องรูดบัตร ณ ร้านค้าปลีก (รูป 3) ที่รวมการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของภาคใต้ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งเป็นผลจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงกว่าภาคอื่น ๆ


2) ด้านการท่องเที่ยว จากระบบฐานข้อมูลจองห้องพักล่วงหน้า (SiteMinder) (รูป 4) ที่เป็นข้อมูลเร็วและครอบคลุมโรงแรมทุกขนาด ช่วยให้เห็นพฤติกรรมการท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัวในบางจังหวัด แต่ยังไม่ดีเท่าก่อนโควิด 19 และเห็นผลกระทบระลอกสามชัดเจนขึ้น โดยการท่องเที่ยวเริ่มทยอยปรับดีขึ้นหลังการระบาดระลอกสอง ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดภูเก็ต แต่ยังคงต่ำกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด 19 อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอกสามทำให้ยอดจองห้องพักล่วงหน้าในช่วงเดือนเมษายน ปี 64 ปรับลดลงมากอีกครั้ง

3.เสริมมุมมองเชิงพื้นที่ด้วยข้อมูลใหม่ ๆ และข้อมูลดิจิทัล

การประเมินภาพเศรษฐกิจภูมิภาคให้ครบยังต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงในเชิงพื้นที่อีกด้วย ธปท.ได้เสริมข้อมูลการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่สำคัญในแต่ละภูมิภาคมาช่วยในการติดตามภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค เช่น การเพิ่มข้อมูลการส่งออกสิ่งทอซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมภาคอีสาน ในดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) มาช่วยสะท้อนภาพการผลิตของอีสานได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการใช้ข้อมูลดิจิทัลมาช่วยในการติดตามในภาคเกษตร อาทิ ภาพถ่ายดาวเทียมจาก GISTDA เพื่อพยากรณ์ผลผลิตเกษตรรายแปลงให้แม่นยำมากขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทยตระหนักว่า“แม้สถานการณ์วิกฤตเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ แต่การติดตามเศรษฐกิจให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ ที่ต้องพัฒนาอยู่เสมอ” เพื่อให้ทำนโยบายได้อย่างถูกต้อง ทันการณ์ และตรงจุด

รายงานโดย สำนักเศรษฐกิจภูมิภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย

อ้างอิง
1. ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 1/2564