ThaiPublica > คอลัมน์ > ย้อนรอยเส้นทางเศรษฐกิจ 3 ภูมิภาค…ต่อยอดจุดแข็ง

ย้อนรอยเส้นทางเศรษฐกิจ 3 ภูมิภาค…ต่อยอดจุดแข็ง

10 กุมภาพันธ์ 2022


รายงานโดย จิดาภา ช่วยพันธุ์, อนุสรา อนุวงค์, ธนพร ดวงเด่น, สิรีธร จารุธัญลักษณ์

สำนักเศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้จัดทำบทความเรื่อง “ย้อนรอยเส้นทางเศรษฐกิจ 3 ภูมิภาค…ไม่อ่าน ไม่รู้” เพื่อทำความเข้าใจว่า ตั้งแต่อดีต เศรษฐกิจใน 3 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ มีพัฒนาการและจุดเปลี่ยนสำคัญ (Journey) อะไรบ้างที่ทำให้แต่ละภูมิภาคมีโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างในปัจจุบัน เพื่อเป็นแนวทางเตรียมตัวให้สอดรับกับทิศทางนโยบายของประเทศในระยะข้างหน้าท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะในการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน ความรู้ความเข้าใจและการเรียนรู้จากประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจในอดีตจะเป็นบทเรียนที่ดีในการต่อยอดหรือยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะต่อไปให้ดียิ่งขึ้น

ภาคเหนือ

การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยภายนอกพื้นที่เป็นสำคัญ ทั้งนโยบายและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ การลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก

ก่อนปี 2500: เศรษฐกิจแบบยังชีพสู่เชิงพาณิชย์

  • ช่วงก่อนปี 2440 เน้นเศรษฐกิจเพื่อยังชีพ คือ เกษตรและค้าขาย โดยเริ่มจากแลกเปลี่ยนในท้องถิ่น แต่หลังจากมีพ่อค้าจีนยูนนานเดินทางเข้ามา ทำให้เริ่มมีการค้าข้ามพรมแดนระหว่างเมียนมาและจีนเพิ่มขึ้น ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์จากป่า และการเข้ามาของรถไฟสายเหนือ ปี 2440-2464 เปลี่ยนเศรษฐกิจยังชีพเป็นเชิงพาณิชย์ ทำให้การค้าและการส่งออกมีเพิ่มขึ้น และจังหวัดบนทางผ่านรถไฟ เช่น พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ลำปาง และเชียงใหม่ มีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น
  • ปี 2504-2524: เกษตรเชิงพาณิชย์รองรับภาคอุตสาหกรรม

  • แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1-4 เพิ่มบทบาทเกษตรเชิงพาณิชย์ เพื่อตอบโจทย์ตลาดและรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการแปรรูปสินค้าเกษตร เช่น โรงสีข้าว โรงงานน้ำตาล ทำให้รัฐบาลเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะถนน เพื่อเชื่อมโยงชนบทเข้ากับเมืองและภูมิภาคเข้ากับเมืองหลวง รวมถึงมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาการศึกษาในภูมิภาค
  • ปี 2526-2528: ก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของภาคเหนือ และการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศ

  • การกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 ทำให้มีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกที่ จ.ลำพูน เพื่อส่งเสริมการเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป แต่เมื่อนิคมฯ เสร็จในปี 2528 กลับยังไม่เป็นที่นิยมของนักลงทุน เพราะที่ดินในนิคมราคาสูงและนักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่น
  • ปี 2528-2540: มีการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศ

  • ข้อตกลง Plaza Accord ของกลุ่ม G51 ทำให้มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่เข้ามาผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในนิคมฯ ลำพูนตั้งแต่ปี 2531 เพราะ 1) มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก BOI 2) ใกล้สนามบินเชียงใหม่ ทำให้ขนส่งสินค้าสะดวก 3) มีแหล่งน้ำคุณภาพดี และ 4) ใกล้แหล่งวัตถุดิบ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเพื่อการส่งออกพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงปลายปี 2532 มีนักลงทุนซื้อที่ดินประมาณ 60% ของพื้นที่ มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 2,000 ล้านบาท ส่งผลให้การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในภาคเหนือมีสัดส่วนสูงเป็นอันดับสองรองจากการผลิตอาหารแปรรูป นอกจากนี้ นโยบายการพัฒนาเมืองหลักของภาครัฐ ทำให้เกิดการพัฒนาที่ดินอย่างจริงจังและส่งผลให้เชียงใหม่กลายเป็นศูนย์กลางความเจริญของภาคอสังหาริมทรัพย์ และมีโครงการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชนเกิดขึ้นมากในช่วงนี้ รวมถึงเริ่มมีห้างสรรพสินค้าและโมเดิร์นเทรดจากส่วนกลางขยายการลงทุนสู่ภูมิภาคตั้งแต่ปี 2535 ก่อนที่ไทยจะประสบปัญหาวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540
  • ปี 2550: ทุนจีนเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญ

  • ปี 2550 ทุนจีนเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเริ่มจากภาคเกษตรที่มีล้งจีนเข้ามารับซื้อลำไย ทำให้มีความต้องการลำไยมากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มปลูกลำไยนอกฤดูมากขึ้น ประกอบกับในปี 2551 มีการเปิดใช้งานทางหลวงนานาชาติ R3A อย่างเป็นทางการ เชื่อมโยงระหว่าง ไทย–ลาว–จีน จากด่านเชียงของ จ.เชียงราย สู่จีนตอนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว และทุนจีนเริ่มเข้ามามีบทบาทในสาขาเศรษฐกิจอื่น ๆ มากขึ้น ทั้งในรูปแบบการร่วมทุนกับไทยและนอมินีจีน
  • ปี 2554-2562: นักท่องเที่ยวหลั่งไหลหลังจีนเปิดประเทศ

  • หลังจีนเปิดประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวจีนหลั่งไหลเข้ามาตามกระแสภาพยนตร์จีน “Lost in Thailand” ซึ่งถ่ายทำที่ จ.เชียงใหม่ เป็นหลัก ส่งผลให้สัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนในภาคเหนือเพิ่มขึ้นจาก 4.2% ในปี 2555 เป็น 11.3% ในปี 2556 และเป็นอันดับ 1 จนถึงปัจจุบัน ภาคท่องเที่ยวจึงมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจภาคเหนือ แต่การเฟื่องฟูของภาคท่องเที่ยว ทำให้เริ่มเกิดปัญหา Over-tourism และ Oversupply ของห้องพัก รวมถึงมีปัญหาทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมตามมา
  • ปี 2563-2564: โควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว

  • โควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว โดยทำให้รายได้ในสาขาดังกล่าวลดลงกว่า 50% จากนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติที่หายไป
  • ภาคอีสาน

    การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายนอกพื้นที่และภูมิประเทศที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นโอกาสในการพัฒนาการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ แต่ความเจริญยังกระจุกตัวเฉพาะในจังหวัดหลัก

    ปี 2504-2517: ยุคของการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ

  • นโยบายส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อการส่งออกและการเข้ามาของเทคโนโลยีทางการเกษตร ทำให้พื้นที่ป่าในภาคอีสานลดลงเหลือเพียง 30% ของพื้นที่ทั้งภาค และเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทำการเกษตรเพื่อการค้ามากขึ้น โดยในช่วงระหว่างปี 2514-2517 มีการปฏิวัติพืชไร่ครั้งใหญ่ ภาครัฐได้ส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจมากขึ้น เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ทำให้เกิดโรงงานแปรรูปมันสำปะหลัง และโรงงานน้ำตาล กระจายตามแหล่งเพาะปลูกสำคัญ และตั้งแต่ปี 2514 เริ่มมีการศึกษาเพื่อพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้บริเวณอีสานตอนใต้ เพราะเป็นทุ่งโล่ง แห้งแล้ง และดินเค็ม ทำให้รัฐบาลสนใจเข้ามาพัฒนาเพื่อส่งเสริมให้เป็นแหล่งผลิตสำคัญของข้าวหอมมะลิคุณภาพดีสำหรับการส่งออก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตข้าวเพื่อการพาณิชย์
  • ปี 2518-2538: การค้า บริการ และอุตสาหกรรมเติบโตดี และนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ทำให้การค้าชายแดนมีบทบาทมากขึ้น

  • ตั้งแต่ปี 2518-2538 เศรษฐกิจอีสานเติบโตดีต่อเนื่องจากภาคการค้าเป็นสำคัญ
  • ปี 2531 ได้รับประโยชน์จากนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าที่ทำให้มีการค้าขายกับประเทศในกลุ่มอินโดจีนมากขึ้น
  • แต่ปี 2538 เกิดการเปลี่ยนแปลงจากที่เคยพึ่งพาภาคเกษตรในสัดส่วนสูงถึงประมาณ 50% เหลือเพียง 20% ของเศรษฐกิจอีสาน โดยภาคการค้าและภาคบริการเริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้น ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมเริ่มขยายตัว จากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของ BOI ที่ให้สิทธิประโยชน์กับเขตอุตสาหกรรมในภูมิภาคมากขึ้น โดยมีจำนวนโรงงานเพิ่มขึ้นกว่า 23 เท่าจากปี 2518 นอกจากนี้ การตั้งเขตอุตสาหกรรมสุรนารีที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกในอีสาน ทำให้โครงสร้างการผลิตเปลี่ยนจากโรงงานเกษตรขั้นพื้นฐานอย่างโรงสีข้าว โรงงานแป้งมัน และโรงงานปอ เป็นโรงงานแปรรูปเกษตรที่มีเครื่องจักรทันสมัยมากขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและอุตสาหกรรมที่รับช่วงการผลิตจากส่วนกลางเพิ่มขึ้นเช่นกัน อาทิ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น
  • 2539-2550: สะพานมิตรภาพ 1-2 หนุนการค้ากับลาว ภาคอุตสาหกรรมทันสมัยขึ้น และยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่

  • การสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 จ.หนองคาย ในปี 2537 และแห่งที่ 2 ที่ จ.มุกดาหาร ในปี 2549 ส่งผลให้การค้าชายแดนกับลาวเพิ่มขึ้น และยังพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรให้ทันสมัย โดยเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักร และผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้น เช่น โรงงานแปรรูปมันสำปะหลังที่หันมาผลิตมันเส้นที่มีคุณภาพ รวมทั้งแป้ง Modified Starch ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และโรงสีข้าวที่เปลี่ยนมาผลิตข้าวคุณภาพดี เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการย้ายฐานการผลิตโรงงานน้ำตาลจากภาคกลางและตะวันออกมายังอีสานมากขึ้น เนื่องจากยังมีพื้นที่ปลูกอ้อยอีกมาก
  • ปี 2548 นิคมอุตสาหกรรมนวนครที่ จ.นครราชสีมา เปิดดำเนินการแห่งที่ 2 ซึ่งเน้นผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เป็น Supply chain ให้อุตสาหกรรมรถยนต์ ทำให้นครราชสีมากลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญของอีสาน
  • ปี 2547-2549 ยางพารากลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ตามโครงการยางล้านไร่ ซึ่งทำให้พื้นที่ปลูกยางพาราในอีสานขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีพื้นที่ปลูกเป็นลำดับที่ 2 ของประเทศรองจากภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนปี 2547 ซึ่งมีพื้นที่ปลูกเพียง 5.6 แสนไร่ เป็น 5.2 ล้านไร่ในปี 2561 ทำให้มีโรงงานแปรรูปยางพาราจากภาคใต้และประเทศจีนมาตั้งในแหล่งผลิตสำคัญเพิ่มขึ้น
  • ปี 2551-2560: การค้ากับต่างประเทศเฟื่องฟู และการเข้ามาของธุรกิจขนาดใหญ่และการย้ายฐานการผลิต ทำให้อสังหาริมทรัพย์โตดี

  • ปี 2554 การค้ากับประเทศเพื่อนบ้านเร่งขึ้น โดยเฉพาะหลังเปิดสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 ที่ จ.นครพนม ทำให้เกิดเส้นทางการค้าทางถนนแห่งใหม่ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังเวียดนามและจีนตอนใต้ได้สั้นกว่าทุกเส้นทาง ส่งผลให้อีสานเป็นช่องทางการค้าที่สำคัญ โดยเฉพาะผลไม้ไทย รวมถึงสินค้าด้านเทคโนโลยีของจีนและเวียดนาม โดยมูลค่าการค้ากับจีนขยายตัวกว่า 4 เท่า ขณะที่การค้ากับเวียดนามขยายตัวถึง 7 เท่า ประกอบกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมายังอีสาน นอกจากนี้ นโยบายส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเตรียมเปิด AEC ในปี 2558 และการเติบโตของเศรษฐกิจกลุ่ม CLV2 หลังเข้าเป็นสมาชิก WTO ทำให้การส่งออกขยายตัวดีต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสาขาอื่น ๆ รวมถึงภาคการค้า ทำให้ห้างสรรพสินค้าและธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้างขนาดใหญ่ เข้ามาลงทุนในพื้นที่มากขึ้น เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาในพื้นที่ทั้งกลุ่มคนทำงานและนักลงทุน ส่งผลดีต่อเนื่องถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะอาคารชุดที่ขยายตัวสูงในปี 2555-2556 อย่างไรก็ตาม นโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ในปี 2556 ส่งผลให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปบางส่วนย้ายฐานการผลิตไปกัมพูชาและเวียดนาม
  • ปี 2563-2564: โควิด-19 ส่งผลกระทบจำกัดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น

  • เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยภาคเกษตร ภาคการค้า และบริการ ขณะที่ภาคท่องเที่ยวมีสัดส่วนน้อย และส่วนใหญ่เป็นการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ซึ่งพึ่งพานักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีแรงงานอีสานคืนถิ่นประมาณ 8 แสนคน3 ซึ่งมากกว่าภูมิภาคอื่น
  • ภาคใต้

    โครงสร้างเศรษฐกิจในระยะแรกขับเคลื่อนโดยนโยบายโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเล ทำให้เป็นศูนย์กลางสำคัญของการค้าขายระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เน้นการส่งออกเป็นหลัก อย่างไรก็ดี ในระยะหลัง เศรษฐกิจพึ่งพาจีนมากขึ้น ทั้งการผลิต การท่องเที่ยว และการเกษตร

    ปี 2504-2524: นโยบายสนับสนุนการทำสวนยางพารา ทำให้มีการปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

  • รัฐบาลสนับสนุนการปลูกยางพารา โดยออก พ.ร.บ. กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางในปี 2503 และตั้งสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ในปี 2504 เกษตรกรจึงขยายพื้นที่ปลูกยางพาราเพิ่มขึ้น โดยยังเน้นการผลิตยางแผ่นรมควันเพื่อขายให้ผู้แปรรูป ขณะที่การทำเหมืองแร่ดีบุก โดยเฉพาะใน จ.ภูเก็ต ที่เคยเฟื่องฟูกลับถดถอยลง จากราคาดีบุกในตลาดโลกที่ตกต่ำในปี 2524 ทำให้ผลผลิตดีบุกลดลงกว่า 40% ผู้ประกอบการหลายรายจึงปรับตัวไปลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้ออำนวยและภาครัฐได้ผลักดันให้มีการส่งเสริมและพัฒนาภาคบริการและการท่องเที่ยว โดยระบุไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 เป็นครั้งแรก โดยเฉพาะในเมืองหลัก ทั้ง จ.ภูเก็ต และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
  • ปี 2530-2536: ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทเพิ่มขึ้น ทั้งจากนโยบายภาครัฐและการอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบสำคัญ

  • ตั้งแต่ปี 2530 BOI ส่งเสริมการลงทุนในภูมิภาค โดยให้สิทธิประโยชน์สูงที่สุดหากมีการลงทุนในภูมิภาคและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่งผลให้มีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมกระจายไปตามแหล่งวัตถุดิบสำคัญ อาทิ ยางพารา ที่ จ.สงขลา สุราษฎร์ธานี และ นครศรีธรรมราช ปาล์มน้ำมัน ที่ จ.กระบี่และตรัง และอาหารทะเลที่ จ.สงขลาและปัตตานี และในปี 2536 BOI หันมาเน้นเปิดเสรีการลงทุนมากขึ้น ทำให้มีการขยายโรงงานอุตสาหกรรมมายังภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น
  • การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งท่าเรือน้ำลึก 2 แห่ง (ท่าเรือน้ำลึกสงขลาและภูเก็ต) ที่แล้วเสร็จในปี 2531 ช่วยส่งเสริมการส่งออกยางพาราและดีบุก แต่เมื่อเหมืองดีบุกถดถอย ท่าเรือภูเก็ตจึงมีบทบาทด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น และปัจจัยด้านที่ตั้งที่อยู่ใกล้ชายแดนมาเลเซีย ซึ่งมีท่าเรือปีนังเป็นท่าเรือน้ำลึกสำคัญสำหรับการส่งออกที่เชื่อมต่อมายังภาคใต้ได้ทั้งทางรถและทางราง ทำให้มีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่มากขึ้น และในปี 2536 ยังมีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) เชื่อมฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ตามแผนแม่บทพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard: SSB)
  • ปี 2540-2560: จีนเริ่มเข้ามามีบทบาทในภาคการท่องเที่ยวและภาคเกษตร

  • อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปเริ่มเปลี่ยนจากการผลิตยางแผ่นรมควัน มาผลิตยางแท่ง STR (Standard Thai Rubber) มากขึ้น ตามความต้องการของอุตสาหกรรมยางล้อที่หันมาใช้ยางแท่งเป็นวัตถุดิบแทนยางแผ่นรมควัน เพราะมีกรรมวิธีผลิตและการขนส่งที่สะดวกกว่ายางแผ่น และหลังปี 2544 จีนเข้าร่วม WTO ทำให้อุตสาหกรรมยางล้อและยานยนต์ของจีนเติบโตปีละกว่า 10% ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางแท่งสำหรับผลิตยางล้อเพิ่มขึ้นมาก ผลักดันให้ราคายางพาราเพิ่มขึ้นสูงกว่า 100 บาท/กก. ภาครัฐจึงมีนโยบายขยายพื้นที่ปลูกยางพาราในภาคอีสานและภาคเหนือ
  • การเปิดประเทศของจีน ทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากเดินทางมาเที่ยวภาคใต้ โดยมีสัดส่วนสูงถึง 27.3% ในปี 2560 ส่งผลให้ภาคท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญคิดเป็น 16% ของมูลค่าทางเศรษฐกิจภาคใต้
  • ตั้งแต่ปี 2559 ยังมีการเพิ่มพื้นที่ปลูกทุเรียน โดยเฉพาะที่ จ.ชุมพร และส่งออกผลสดไปจีนกว่า 77% โดยจีนเริ่มเข้ามาลงทุนตั้งแต่กลางน้ำ (ล้ง) โดยหาตลาดให้เกษตรกร ตลอดจนถึงปลายน้ำ (แปรรูป) เพื่อส่งออกกลับไปยังตลาดจีน
  • ปี 2555-2559: วิกฤตในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงกุ้งและอุตสาหกรรมประมง

  • เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งประสบปัญหาโรคตายด่วนหรือ Early Mortality Syndrome (EMS) ตั้งแต่ปลายปี 2555 ทำให้ผลผลิตกุ้งขาวแวนาไมของไทยและภาคใต้ลดลงไปกว่า 50% และยังถูกซ้ำเติมด้วยการตัดสิทธิ์ GSP ทั้งการส่งออกกุ้งปรุงแต่งและกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งในตลาด EU และสหรัฐฯ จัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาการค้ามนุษย์ระดับร้ายแรง (Tier 3) ในปี 2557 และในปีต่อมา EU ได้ให้ “ใบเหลือง” ไทย เรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ทำให้มีมาตรการเข้มงวดการทำประมงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงและเกี่ยวเนื่องในภาคใต้
  • ปี 2563-2564: โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว

  • เศรษฐกิจพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 77% ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะฝั่งอันดามัน ได้รับผลกระทบรุนแรง โดยทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงจาก 8.8 แสนล้านบาทในปี 2562 เหลือเพียง 2.2 แสนล้านบาทในปี 2563
  • 4 ข้อสรุป Journey เศรษฐกิจ 3 ภูมิภาค

  • ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ภาคเกษตรยังคงมีบทบาทสำคัญต่อโครงสร้างเศรษฐกิจทั้ง 3 ภูมิภาค ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญรองลงมาในภาคเหนือและอีสาน และภาคท่องเที่ยวสำคัญรองลงมาในภาคใต้
  • เศรษฐกิจภูมิภาคนอกจากจะกระจุกตัวอยู่ในบางสาขาเศรษฐกิจแล้ว ยังกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดใหญ่หรือหัวเมืองสำคัญของแต่ละภูมิภาค
  • พัฒนาการของโครงสร้างเศรษฐกิจภูมิภาคที่ผ่านมาขึ้นอยู่กับทรัพยากรพื้นฐานในแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยภายนอก อาทิ นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนจากต่างประเทศ เป็นต้น
  • ในระยะหลัง การเติบโตของการค้าชายแดนมีบทบาทต่อเศรษฐกิจภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคอีสาน ซึ่งจังหวัดที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่มีการขยายตัวทางด้านการค้าและการขนส่งอย่างรวดเร็ว
  • การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ 3 ภูมิภาคในระยะต่อไป

  • จะเห็นว่าเศรษฐกิจภูมิภาคไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างมากนักในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา และปัจจุบันยังกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งในภาคเกษตร ที่พืชสำคัญในแต่ละภูมิภาคมีผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าคู่แข่ง ทำให้แข่งขันด้านราคายาก อีกทั้งราคาสินค้าเกษตรมีความผันผวนสูงและมีแนวโน้มปรับลดลง ทำให้ต้องพึ่งพาการอุดหนุนและความช่วยเหลือจากภาครัฐมาโดยตลอด ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างเปราะบาง เพราะพึ่งพาเพียงไม่กี่อุตสาหกรรมหลัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากภาคเกษตรและผลิตสินค้าขั้นกลางที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลกลดลง นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจภาคเหนือและภาคใต้กำลังเผชิญกับปัญหา over-tourism และ oversupply ของห้องพัก
  • มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยจะก้าวไปสู่การเป็นเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงและมีการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ของสภาพัฒน์ฯ และหากพิจารณาในเชิงภูมิภาค พบว่า ในช่วงที่ผ่านมา ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคจะสอดคล้องไปกับภาพรวมของประเทศ ซึ่งแผนพัฒนาฯ ฉบับดังกล่าวมุ่งเน้นการพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยผ่าน 4 มิติสำคัญ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต และปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ โดยในด้านเศรษฐกิจ จะเน้น (1) การผลิตสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง (2) การท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน (3) การเป็นผู้นำการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (4) การเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง (5) เป็นประตูการค้าและการลงทุนด้านโลจิสติกส์ และ (6) การเป็นศูนย์กลางดิจิทัลและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งยังคงสอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจภูมิภาคปัจจุบัน
  • การต่อยอดจุดแข็งและสร้างการเติบโตในสาขาเศรษฐกิจที่มีศักยภาพจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งปัญหาเชิงโครงสร้างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ทำให้ทุกภาคส่วนในแต่ละภูมิภาคต้องร่วมมือ เร่งพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านกายภาพ ปลดล็อกกฎระเบียบบางอย่างที่ไม่จำเป็นรวมถึงผลักดันการใช้เทคโนโลยีในภูมิภาคเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยสร้าง ecosystem ที่เอื้อต่อการปรับตัวและการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคให้สอดรับและตอบโจทย์การพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยต่อไป
  • อ้างอิง
    1. สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก และญี่ปุ่น
    2.กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม
    3.ที่มา: บทความ โควิดทุเลา แรงงานบ้านเฮาสิเฮ็ดเกษตรจังได๋ Regional letter ฉบับที่ 4/2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย

    บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย