เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2559 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่าที่ประชุมมีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ต่อปี โดยการประชุมครั้งนี้ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ลาประชุม
เนื่องจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ตามคาด แต่การลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวในระดับต่ำและการส่งออกสินค้ายังคงหดตัวตามเศรษฐกิจเอเชียที่ชะลอลงมากกว่าคาด ในภาพรวมแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศและการท่องเที่ยวช่วยชดเชยการส่งออกสินค้าที่ปรับลดลง ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน
อีกด้านหนึ่ง แรงกดดันเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคมปรับเป็นบวกมากขึ้นจากราคาพลังงานและอาหารสดที่เร่งขึ้น และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เริ่มปรับสูงขึ้นเล็กน้อย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับสูงขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี ประกอบกับภาวะการเงินอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากอัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่อยู่ในระดับต่ำ การระดมทุนโดยรวมของภาคธุรกิจและสินเชื่อภาคครัวเรือนยังขยายตัวได้
ขณะที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยมีความสมดุลมากขึ้น จากเดิมที่มีความเสี่ยงด้านลบเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยความเสี่ยงด้านลบประกอบด้วยเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัวลงและความเชื่อมั่นของเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่วนความเสี่ยงด้านบวกประกอบด้วยภาวะภัยแล้งที่บรรเทาไปและราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันที่เริ่มฟื้นตัว
โดยสรุป กนง. จึงมองว่าการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ยังเป็นเรื่องส่าคัญ เพราะเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงในระยะต่อไป เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง, ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก, ผลการลงประชามติในสหราชอาณาจักร (Brexit) ซึ่ง ธปท. ได้เตรียมรับมือแล้ว แต่ไม่ขอลงรายละเอียด เช่นเดียวกับภาคเอกชนที่จากการสำรวจได้ระบุว่าเตรียมความพร้อมแล้วเช่นกัน และประเด็นความเสี่ยงในภาคการเงินจีน
โครงสร้างการค้าโลกหยุดโต แต่“ท่องเที่ยว” 14 ปี โต 176%
ในครั้งนี้ ธปท. ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง โดยมีประเด็นสำคัญอยู่ที่ตัวเลข “มูลค่าส่งออกสินค้า” ของไทยที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของจีดีพี ถูกปรับให้ลดลงอีก 0.5% จาก -2% ในการประมาณเดือนมีนาคม 2559 เป็น -2.5% แม้ว่าช่วงที่ผ่านมา “ราคา” สินค้าส่งออก จะปรับตัวดีขึ้นชดเชยการหดตัวของ “ปริมาณ” สินค้าส่งออก แต่ยังไม่เพียงพอที่จะทดแทนกัน
อย่างไรก็ตาม หากรวมการส่งออกภาคบริการ “ปริมาณส่งออกสินค้าและบริการ” ปรับขึ้นจาก 1% ในการประมาณการเดือนมีนาคม 2559 เป็น 2.2% ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นการเติบโตอย่างเข้มแข็งของภาคบริการและแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยที่กำลังเคลื่อนย้ายจาก “การผลิตภาคอุตสาหกรรม” ไปยัง “การผลิตภาคบริการ” มากขึ้น
“จริงๆ เราเริ่มเห็นการย้ายรูปแบบเศรษฐกิจไทยไปสู่ภาคบริการ การจ้างงานในภาคการบริการก็ปรับตัวดีขึ้นด้วย แต่การลงทุนใหม่ๆ ภาคบริการโดยปกติอาจจะไม่ต้องการเม็ดเงินลงทุนมากเท่าการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น มีประเด็นตอนนี้ที่กำลังศึกษาว่าเวลาที่เศรษฐกิจย้ายไปสู่ภาคบริการมากขึ้นจะทำให้ความต้องการลงทุนหรือเม็ดเงินการลงทุนของเอกชนลดลงหรือไม่ เป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนและการเปลี่ยนโครงสร้างของเศรษฐกิจ” นายจาตุรงค์กล่าว (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
นายจาตุรงค์กล่าวต่อไปถึงโครงสร้างการค้าโลกที่เปลี่ยนไปว่า ช่วงหลังจะเริ่มเห็นปรากฏการณ์ว่าเศรษฐกิจคู่ค้าฟื้นตัวขึ้นมา แต่การค้าขายของโลกกลับไม่ฟื้นตัวตาม โดยมีสาเหตุ 2 ประการ คือ 1) การปรับโมเดลเศรษฐกิจของจีนจากที่ก่อนหน้านี้มีความต้องการสินค้านำเข้าจำนวนมากเพื่อนำไปลงทุนภายในประเทศ แต่ช่วงหลังกลับมีความต้องการลดลงและเปลี่ยนมาเป็นผู้ส่งออกสินค้าป้อนตลาดโลกแทน จึงทำให้การส่งออกของประเทศคู่ค้ากับจีนไม่เติบโต แม้ว่าประเทศจีนจะเติบโตที่ระดับสูง 2) การค้าภายในกลุ่มการค้าต่างๆ มีสัดส่วนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น กลุ่มอียู เป็นต้น ทำให้คู่ค้าที่อยู่นอกกลุ่มไม่สามารถแทรกเข้าไปในสายการผลิตได้
“ถ้าไปดูการค้าโลกที่เติบโตมันเป็นการเติบโตในกลุ่มการค้ากันเอง ดังนั้น โครงสร้างความต้องการนำเข้าสินค้าไปเป็น supply chains ของการผลิตสินค้าของโลกจะลดลง เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เราเริ่มเห็นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ห่วงโซ่การผลิตหดสั้นลง เป็นปัจจัยความเสี่ยงหลักที่มองไปข้างหน้าของการส่งออกไทย” นายจาตุรงค์กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ช่วง 14 ปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตกว่า 176% จาก 10.8 ล้านคนในปี 2545 เป็น 29.88 ล้านคนในปี 2558 และหากการเติบโตของนักท่องเที่ยวในปี 2560 เป็นไปตามที่ ธปท. ประเมิน ในช่วงเวลา 16 ปี จำนวนนักท่องเที่ยวของไทยจะเติบโตไปกว่า 240% ทั้งนี้ หากดูในรายละเอียดจะพบว่านักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญกว่า 890% ในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา จาก 8 แสนคนในปี 2545 เป็น 8 ล้านคนในปี 2558 ขณะที่นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศอาเซียนและยุโรปเติบโต 218% และ 112% (ดูกราฟิก)