ThaiPublica > คอลัมน์ > Girl from Nowhere ซีรีส์จากประเทศพูดความจริงไม่ได้

Girl from Nowhere ซีรีส์จากประเทศพูดความจริงไม่ได้

22 พฤษภาคม 2021


1721955

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “จงทำดีจะได้ดี ทำชั่วจักรับผลกรรม” เป็นสิ่งที่แฝงฝังอยู่ในทุกอณูร่างกายและจิตวิญญาณเราชาวไทย ไม่ว่าจะเชื้อชาติ หรือศาสนาใด ก็ไม่มีวันหลุดพ้นต่อความเชื่อนี้ที่หลอมหลอนเราชาวไทยมาตั้งแต่ก่อนเราจะเกิดไปยันเราตายไปแล้ว… เช่นกันกับ Girl from Nowhere (เด็กใหม่) ทั้ง 2 ภาค คือ ผลผลิตซ้ำอีกครั้งที่ปัดฝุ่นใหม่ให้โดนใจคนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลางให้สำนึกสำเหนียกใน “กงกำกงเกวียน” ย้ำวนลูปซ้ำทุกชาติไป เช่นเดียวกับละครสอนใจอย่าง กฎแห่งกรรม, บาปบริสุทธิ์, น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์, ฟ้ามีตา, บันทึกกรรม และล่าสุด เด็กใหม่ 2

กรรมในรูป “เด็กใหม่” นาม “แนนโน๊ะ”

ผลกรรม หรือผลแห่งการกระทำ เป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถามในสื่อบันเทิงประเทศนี้น้อยมาก เพราะในชีวิตจริงคนไทยก็ถูกปล่อยลอยแพให้เป็นไปตามยถากรรมอยู่เสมอ ตัวอย่างใกล้ตัวง่ายๆ ไม่นานนี้ เมื่อมีคลัสเตอร์ไวรัสระบาด สิ่งแรกที่รัฐบาลทหารของนายประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทำคือออกมาประณามว่า “ประชาชนการ์ดตก” หมายความว่า…

เหตุเพราะ “ประชาชนการ์ดตก” >>> ผลกรรมจึงเกิด “คลัสเตอร์ไวรัสระบาด”

โดยไม่เคยมองย้อนกลับไปว่าที่ผ่านมาประชาชนตั้งการ์ดจนต้องฆ่าตัวตายไปหลายรายแล้ว นี่ยังไม่นับผู้ติดเชื้อที่ต้องตายคาบ้าน เพราะสิ่งที่รัฐกระทำไม่ได้ คือ จัดการสถานการณ์ให้มีประสิทธิภาพได้อย่างมีระบบระเบียบ หรือใช้จ่ายภาษีอย่างคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างทั่วถึง รวมไปถึงหลายต่อหลายคลัสเตอร์ นับตั้งแต่คลัสเตอร์สนามมวยไปยันคลัสเตอร์ไฮโซทองหล่อ ล้วนไม่เกี่ยวข้องกับการการ์ดตกของประชาชนเลย แต่เพราะบรรดาทีมงานและการจัดการของฝ่ายรัฐบาลล้วนๆ

แปลว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง ประชาชนรับผลกรรมจากน้ำมือของฝ่ายชนชั้นปกครองเสมอมา แต่ความเชื่อในเรื่องผลกรรมนี้เองที่หลอมหลอนให้เราประชาชนจำต้องสยบยอมทนรับสภาพว่า ที่เราต่างต้องได้รับผลกรรมเหล่านี้ เพราะเราต่างหากที่กระทำการการ์ดตก ที่น่าตลกคือ เมื่อมีใครสักคนตั้งคำถาม อย่างกรณีล่าสุดที่คุณฮาร์ท สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล โพสต์วิจารณ์ปมวัคซีนบนเฟซบุ๊ก ฝ่ายรัฐก็โต้กลับทันทีด้วยการแจ้งความเอาผิดคุณฮาร์ทว่าเข้าข่ายคดีหมิ่น 112

เยี่ยงนี้แล้วจะเรียกรัฐบาลนี้ว่าเป็นคนดีได้อีกหรือ หากคำโบราณว่า “คนดีชอบแก้ไข” แต่รัฐบาลนี้ไม่เคยแก้ไขที่ต้นตอปัญหา แต่กลับมุ่งกำจัดฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ด้วยข้อหาร้ายแรง

วกกลับมาที่ซีรีส์เด็กใหม่ 2 เมื่อผลกรรมมาในนามแนนโน๊ะ (คิทตี้-ชิชา อมาตยกุล) เด็กใหม่ว้าวซ่าเฟียสมากที่คอยไปผลุบๆ โผล่ๆ ตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อตั้งคำถามกับระบบภายในโรงเรียน ทว่าสิ่งที่แนนโน๊ะยังคงผลิตซ้ำรายการทีวีเรียกน้ำตาแนวสั่งสอนศีลธรรมอย่าง “บันทึกกรรม” ก็คือมุ่งขจัดปัญหาไปที่ตัวบุคคล มากกว่าจะมุ่งแก้ปัญหาที่ตัวระบบ เช่น

Ep1: นักล่าแต้ม (Pregnant) กำกับ: ไพรัช คุ้มวัน

แนนโน๊ะ ทำให้นะนาย (เจมส์-ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ แสดงเป็นหนุ่มฮอตประจำโรงเรียน กีฬาเก่ง คนดีว่าที่ประธานนักเรียน) ผู้มีอีกด้านหนึ่งเป็นนักเรียนหนุ่มจอมล่าแต้มฟันแล้วทิ้ง ต้องรับผลกรรมด้วยการตั้งท้องเสียเอง แม้จะเป็นตอนหนึ่งที่ได้นักแสดงดี และได้ผู้กำกับฝีมือดี แต่สิ่งที่บ้งมากคือตรรกะที่มองเผินๆ เอาสะใจก็พอจะถูไถไปได้ แต่ถ้าคิดด้วยเหตุด้วยผลบนโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ผลกรรมที่ซีรีส์นี้พยายามจะสั่งสอนเรื่อง “กรรมใดใครก่อ” จึงไม่จริงเลย เพราะกรรมนี้นะนายก่อ แต่ในชีวิตจริง นะนายจะไม่มีวันตั้งท้องได้เลย แถมในชีวิตจริง ฝ่ายหญิงนั่นแหละคือผู้ได้รับผลกรรมเสมอ ทั้งถูกตราหน้าเป็นหญิงร่านแร่ดให้อับอาย ทั้งต้องพยายามกำจัดลูก ต่อสู้กับความผิดบาปที่ถูกปลูกฝังมาหากจะทำแท้ง หรือต้องจำทนแบกรับเลี้ยงลูกในสภาพไม่พร้อม ส่วนฝ่ายชายผู้กระทำก็ลอยนวลล่าแต้มต่อไป

นี่ยังไม่นับว่าซีรีส์ ep. นี้ยังคงผลิตซ้ำภาพความโหดเหี้ยมสาหัสของการทำแท้ง ทั้งที่ความรู้และเทคโนโลยีสมัยนี้ไปไกลแล้ว มีแต่เด็กไทยเท่านั้นที่พยายามจะหายาขับลูกมากิน (ที่มีให้เห็นในซีรีส์เดิร์นๆ แบบแนนโน๊ะด้วยเว้ยเฮ้ย!) โดยไม่กล้าจะหันหน้าคุยกับพ่อแม่หรือปรึกษาหมอว่ามีวิธีใดบ้างในการทำแท้งเมื่อไม่พร้อม หรือระบบการศึกษาเปิดโอกาสให้ตั้งครรภ์ได้ไหมในวัยเรียน หรือพ่อแม่จะมีส่วนร่วมช่วยเลี้ยงลูกของคุณแม่วัยใสให้เด็กเติบโตมาในบรรยากาศแม่เลี้ยงเดี่ยวได้อย่างไร

รวมไปถึงเวรกรรมที่ลงโทษเพศชายอย่างนะนายในประเทศสมมติที่ชื่อว่า Nowhere นี้ คือต้องแบกรับสภาวะเพศหญิงอันต่ำต้อยเสียเหลือเกิน ราวกับว่าการเป็นหญิงคือโทษทัณฑ์กรรมเก่าที่ตามมาทำลายชีวิตนะนายด้วยผลกรรมในนามว่า “ลูก” นี่ยังไม่นับ mindset ชายเป็นใหญ่จำพวกเป็นหญิงห้าม slut แต่เป็นชาย fuck around ได้นะโยมอีกต่างหาก

Ep.2: True Love กำกับ: คมกฤษ ตรีวิมล

เผื่อใครไม่รู้ ซีรีส์ชุดนี้เกิดขึ้นโดยตัวตั้งตัวตีเพื่อผู้หญิงอย่าง SOUR Bangkok เอเจนซีโฆษณาใหม่ที่มุ่งเนื้อหาประเด็นให้โดนใจผู้หญิงโดยเฉพาะ แต่ที่น่าตระหนกคือ เกินครึ่งจาก 8 ep. ในซีซัน 2 นี้ ยังคงมุ่งไปประเด็นผู้หญิงตบตี ควบคุม และคุกคาม โดยไม่มีแม้แต่ ep. เดียวที่กำกับโดยผู้หญิง

“ครูนฤมล” (ต่าย-เพ็ญพักตร์ ศิริกุล) คุณครูสุดเฮี้ยบจอมเข้มงวดแห่งโรงเรียนหญิงล้วน ต้องจัดการกับสถานการณ์วิกฤติเร่งด่วน เนื่องจากโรงเรียนอันเป็นที่รักของเธอประสบปัญหาทางการเงิน ครูใหญ่จึงตัดสินใจรวมกับโรงเรียนชายล้วนที่อยู่ติดกัน ซึ่งครูนฤมลไม่เห็นด้วยกับแนวทางโรงเรียนแบบสหศึกษาอย่างมาก เพราะเชื่อมั่นว่าเด็กผู้ชายคือตัวบ่อนทำลายความเหมาะสมดีงามของโรงเรียน

โอเค้! นี่พยายามจะเข้าใจเหตุผลแบบผู้หญิงที่ว่า เนื้อหาโดนใจผู้หญิงก็คือการเม้าท์มอยวิจารณ์ความเป็นหญิงด้วยกันเอง ว่าหญิงเองก็มีความเอิงเอยเชยโคตร เฮี้ยบระเบียบจัด แล้วทางออกที่หญิงอย่างแนนโน๊ะจะลงทัณฑ์เธอเอง (ใช้โทนเสียง 3 แบบเซลเลอร์มูน) ก็คือการบันดาลให้ครูผู้นั้นเปิดใจในความเป็นหญิงรักหญิงจากครูสาวอีกคนต่อหน้าเสาธงหน้าโรงเรียน เป็นอันเสร็จพิธี ง่ายดีนะฮะ… แต่มันงงๆ ไปไหม

เหตุเพราะ 1. ครูสาวเชื่อว่า 2. เด็กผู้ชายเป็นตัวทำลายความดีงาม >> ผลกรรม 3. จึงได้ค้นพบว่ามีหญิงอีกคนที่เลิฟครู

ไม่มีใครรู้สึกเลยเนอะว่าการเป็นหญิงรักหญิงคือบทลงโทษ ไม่มีใครดูออกหรอกว่านี่คือการตีตราตอกย้ำความเชื่อว่า LGBTQ คือผลกรรม เพราะเวรกรรมที่คุณมึงกีดกันความรักระหว่างชายกับหญิง ผลกรรมที่ได้รับคือคุณมึงจะถูกสาปให้รักกับคนเพศเดียวกัน…มันไม่ใช่บันทึกกรรม หรือฟ้ามีตาฉบับแกรมมี่ตรงไหนหว่า?

Ep.3: มินนี่ 4 ศพ (Minnie and the Four Bodies) กำกับ: ไพรัช คุ้มวัน

มองลงมาจากดาวอังคารก็รู้ว่า ep. นี้ดัดแปลงจากข่าวดังปี 2010 แพรวา เทพหัสดิน ณ อยุธยา ตีนผีขับชนท้ายรถตู้บนทางด่วนจนมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 9 ศพ คดีสะเทือนขวัญที่ล่าสุดยิ่งดราม่าน้ำตาท่วมสะเทือนใจสังคมเป็นอันมาก เมื่อนางถวิล เช้าเที่ยง แม่เลี้ยงของ ดร.เป็ด (ศาสตรา เช้าเที่ยง) ที่ทำงานร้อยมาลัยหามรุ่งหามค่ำส่งลูกเรียนจนสำเร็จ ดร. เพิ่งเสียชีวิตลงเมื่อ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คดีนี้ถูกหยิบมาดัดแปลง อย่างน้อยเรื่องหนึ่งในปี 2012 ก็เคยกลายเป็นพล็อตหลักในภาพยนตร์ เคาท์ดาวน์ (กำกับ: นัฐวุฒิ พูนพิริยะ) มาก่อน ที่น่าสนใจคือทั้งเรื่องนั้น และ ep. นี้ยังคงย้ำวนถึงเคราะห์กรรมต่างๆ ที่ตัวละครตีนผีได้รับในเวย์เดียวกันด้วย เมื่อจู่ๆ มีตัวละครลับโผล่หน้ามาทวงความยุติธรรมให้เหยื่อ เช่นเดียวกับในซีรีส์นี้ เมื่อมินนี่ (แพทริเซีย กู๊ด) ไฮโซสาว เอาแต่ใจ พ่อรวย เมาแล้วขับจนชนคนตาย 4 ศพรวด ก่อนจะถูกแนนโน๊ะจัดการในแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน โดยดอกแรกแนนโน๊ะเสกหนุ่มทรงโจร 2 คน (ว่าแต่ทำไมโจรต้องทรงบึกถึกดำแบบนี้เสมอ สิ่งนี้เกิดขึ้นซ้ำใน ep.4 ด้วย) จากไหนไม่รู้ มารุมหักขาและตบนังมินนี่จนฟันร่วง โดยแนนโน๊ะอ้างว่าเป็นตัวแทนคนทั่วไปที่โกรธแค้นในสังคม (แบบนี้ก็ได้หรือ!?) ตามด้วยดอกสอง ให้พ่อแม่เหยื่อมาเลื่อยแขนมินนี่อย่างโหด ปิดท้ายด้วยพ่อของมินนี่เอง

ช่างเป็นบทสรุปที่สาแก่ใจอีช้อยยิ่งนัก แต่มันเป็นเพียงบทสรุปที่เกิดขึ้นแต่ในละครประเทศโลกที่สาม โดยไม่เคยหันไปตั้งคำถามต่อสังคมว่าเหตุใดคดีทำนองนี้ยังคงเกิดขึ้นอยู่เสมอ คนรวยลอยนวล ส่วนตาสีตาสาหาเช้ากินค่ำไม่เคยได้รับความยุติธรรมที่สมน้ำสมเนื้อแต่อย่างใด แถมชีวิตจริงแพรวาก็ไม่เคยแม้แต่จะออกมาขอโทษต่อเหยื่อ ยังไม่รวมถึงกระบวนการยุติธรรมในศาลแบบไทยๆ ที่มีแต่ประเทศนี้เท่านั้นที่ไม่สามารถวิจารณ์ได้ แถมพ่วงมาด้วยบทลงโทษ ไม่ว่าการตัดสินนั้นจะไม่เป็นธรรมอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าคุณวิจารณ์คุณอาจโดนคุกฐานหมิ่นศาลได้!?

“เป็นคนไทยต้องอดทน เพราะเวรกรรมทำให้ชาตินี้เกิดมาเป็นคนไทย ที่มีหลายอย่างไม่เหมือนชาติใดในโลก” แล้วด้วยความไม่เป็นธรรมของศาลที่ไม่ค่อยจะยุติธรรมอย่างที่รู้ๆ กัน คนไทยจึงผลิตซ้ำสนับสนุนความเชื่อที่ว่า “กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ” ได้แต่อดทนถูกย่ำยี และฝันเพ้อๆ ว่าเวรกรรมจะมีจริงและตามมันทัน โดยไม่กล้าหือกล้าอือใดใดต่อระบบอันฉ้อฉลไม่ชอบธรรม ไม่กล้าแม้แต่จะตั้งคำถามในสื่อบันเทิงด้วยซ้ำไป ลองหันไปดูซีรีส์เกาหลีนู่น เขาตั้งคำถามนี้ต่อศาล ต่อรัฐ อย่างไม่เกรงใจเวรกรรมแต่อย่างใด

สิ่งใดหายไปในแนนโน๊ะสคูล

จงอภิปรายว่ามีสิ่งใดที่หายไปในโลกของแนนโน๊ะ
2 รูปบนจากซีรีส์, 2 รูปล่างจากโลกแห่งความเป็นจริง

จะว่าไปในบรรดา 8 ep. มีอยู่หนึ่งที่เริ่มต้นได้ไม่เลว แต่เละเหลวไม่เป็นท่าในตอนจบ คือ

Ep.6: ห้องสำนึกตน (Liberation) กำกับ: ปวีณ ภูริจิตปัญญา และสุรวุฒิ ตุงคะรักษ์

เมื่อแนนโน๊ะก้าวเข้าไปในรั้วโรงเรียนที่มีกฎล้าหลังคร่ำครึและไม่เป็นธรรม เธอจึงทำตัวเป็นแกนนำละเมิดกฎอันศักดิ์สิทธิ์ ก่อนจะถูกลงโทษธำรงวินัยปรับทัศนคติในห้องสำนึกตน อันทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้นักเรียนตาสว่างลุกฮือขึ้นตอบโต้ครูด้วยความรุนแรงเฉกเช่นเดียวกัน

ต้องยอมรับในฝีมือกำกับที่เลือกจะใช้โทนขาวดำ ในโลกแบบดิสโทเปียเบาๆ ของ ep. นี้ ที่เล่นกับสีเป็นระยะๆ ตั้งแต่ลิปสติกสีแดงแจ๋ และเสื้อสีชมพูช็อกกิงพิงก์ของผู้อำนวยการโรงเรียน ที่เกิดความรุนแรงขึ้นเมื่อครูฆ่านักเรียนตาย ก่อนนักเรียนจะถูกครูฆ่าตายตกไปตามกัน พร้อมบทสรุปรวบรัดว่าโลกนี้มันเป็นสีเทา ทั้งสองฝ่ายมีดีมีชั่ว และต่างฝ่ายก็ได้รับผลกรรมของกันและกัน ทั้งครูและนักเรียน

อย่างไม่ต้องอ้อมค้อม นับตั้งแต่ชื่อเรื่องในภาษาอังกฤษที่ใช้คำว่า Liberation อันหมายถึงการปลดแอก หรือการให้เสรีภาพ ไปจนถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีความจงใจจะจำลองเหตุการณ์ปฏิวัติในฝรั่งเศส https://youtu.be/7wLz-QnLKp8 ที่ถูกแง้มๆ ให้เห็นอย่างโต้งๆ บนกระดานในฉากหนึ่งที่เขียนว่า “ยุคปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789” และแม้จะถูกแบ่งฝ่ายเป็นนักเรียนเสื้อสีขาวและครูชุดโทนดำตั้งแต่แรก แต่ทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ในโลกที่แต่ละคนคือสีเทา

ฝ่ายครู (หัวโบราณ ผู้กุมอำนาจ) = โทนดำ VS ฝ่ายนักเรียน (เด็กรุ่นใหม่ ผู้ต่อต้าน) = เสื้อสีขาว

โดยหากเปรียบเทียบการต่อสู้ของทั้ง 2 ฝ่ายกับยุคปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 มีการฆ่ากันไปมาทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งในซีรีส์แทนค่าด้วย

    ฝ่ายนักเรียนตาย 1 คน
    ฝ่ายครูตาย 1 คน

ย่อมหมายถึงมีจำนวนคนที่ถูกฆ่าตายทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายละเท่าๆ กัน คือ อัตรา 1:1

แต่หากตีความจากเนื้อหาของ ep. นี้แล้ว รวมถึงในเชิงสัญลักษณ์ไม่ว่าจะในการให้สีแดงกับลิปสติกที่มีรูปทรงเหมือนกระสุนปืน หรือสูทสีชมพูของท่าน ผอ. ย่อมกำลังบอกเป็นนัยว่า ep. นี้กำลังเสียดสีถึงประเทศไทย

คำถามคือ จำนวนคนตายจากทั้ง 2 ฝ่าย (และเอาเข้าจริง เหยื่อทั้ง 2 ฝ่ายในซีรีส์นี้ถูกฆ่าตายโดยฝ่ายนักเรียน/ฝ่ายต่อต้าน) มีฝ่ายละเท่าๆ กันจริงหรือถ้าเท่ากันจริง ทำไมจึงมีคำพูดที่ว่า “ขวาพิฆาตซ้าย” แล้วหากนับจำนวนคนตายมาตลอด 89 ปี นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง กรณีสลายการชุมนุม 2010 (94 ศพ), พฤษภาทมิฬ (ระบุได้ 52 ศพ), 6 ตุลา (ระบุได้ 46 ศพ), 14 ตุลา (77 ศพ) นี่ยังไม่นับรวมฝ่ายซ้ายอีกมากมายที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์อย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ หรือกรณีถีบลงเขาเผาถังแดง, วันเสียงปืนแตก ฯลฯ ยังไม่นับอีกกว่า 89 คนที่ถูกลอบสังหาร อุ้มหาย อุ้มฆ่า ต้องหนีออกนอกประเทศ และยังไม่นับผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดี 112 อีกกว่า 935 ราย++

คำถามคือ หากมีจำนวนคนที่ถูกฆ่าหรือทำร้ายเท่าๆ กันทั้ง 2 ฝ่าย ทำไมจำนวนตัวเลขจากฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายผู้ต่อต้านที่ถูกฝ่ายขวาฆ่าหรือทำร้ายจึงสูงลิบลิ่ว เมื่อเทียบกับฝ่ายขวาที่ถูกยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าถูกฝ่ายซ้ายทำร้ายหรือเข่นฆ่า…

จงอภิปรายและให้คำตอบมาอย่างน้อยสักหนึ่งชื่อเป็นตัวอย่าง

หรือเรากำลังอยู่ในประเทศที่พูดความจริงไม่ได้จนต้องพูดมันอย่างอ้อมแอ้มในแบบนิยายเหนือจริง