ThaiPublica > คอลัมน์ > D.P. ทหารมีไว้ทำไม

D.P. ทหารมีไว้ทำไม

3 ตุลาคม 2021


1721955

“ชายสัญชาติเกาหลีทุกคนต้องเข้ารับราชการทหารโดยสุจริต ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติ” — กฎหมายรับราชการทหารสาธารณรัฐเกาหลี มาตราที่ 3

นี่คือประโยคเปิดหัวซีรีส์ทุกตอนตลอดทั้ง 6 ตอนของมินิซีรีส์เกาหลีเรื่องนี้ D.P. ที่ดัดแปลงจาก D.P. Dog’s Day เว็บตูนยอดนิยมที่มียอดผู้อ่านสูงกว่า 10 ล้านคน โดยได้ผู้กำกับ ฮัน จุน-ฮี ที่เคยกำกับหนังแอ็กชั่นกวาดรายได้อย่าง Hit-and-Run Squad (2019) และ Coin Locker Girl (2015 หนังที่ทำให้เขาคว้ารางวัลผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยม จากเวทีแบคซางอาร์ตอะวอร์ด ครั้งที่52)

เรื่องราวโดยรวมของซีรีส์นี้คือ หน่วยงาน D.P. (Deserter Pursuit) หรือกลุ่มสารวัตรทหารผู้มีหน้าที่ตามล่าทหารหนีทัพกลับเข้ากรม อันตีแผ่วัฒนธรรมกองทัพเกาหลีที่ยังคงมีระบบแบบบังคับเกณฑ์ทหาร (คล้ายกับระบบของประเทศไทย ขณะที่ในประเทศอย่างอเมริกาได้เปลี่ยนเป็นระบบแบบสมัครใจ หรือ all volunteer forces มาตั้งแต่ปี 1973 แล้ว โดยปัจจุบันทหารอาสามีฐานรายได้ขั้นต่ำเริ่มที่เดือนละ 5 หมื่นบาท และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุงาน)

ประเด็นทหารหนีทัพในซีรีส์นี้เกี่ยวเนื่องจากการใช้ความรุนแรง การกลั่นแกล้ง การยิงกราดล้างแค้น การฆ่าตัวตาย อันมีสาเหตุจากการใช้อำนาจในระบบอาวุโส ไปจนถึงการปฏิบัติตามคำสั่งในแบบห้ามตั้งคำถาม และสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าคือ แม้ซีรีส์จะลากไส้สาวด้านดาร์กของกองทัพออกมาตีแผ่ชนิดไม่ไว้หน้ากองทัพ แต่เกาหลีก็ให้เสรีภาพในการถกเถียงตั้งคำถาม โดยรัฐบาลไม่ได้ออกมาห้ามหรือแบนว่าประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรนำเสนอ ซึ่งแน่นอนว่าประเด็นทำนองนี้ไม่น่าจะสามารถเกิดขึ้นได้ในหนังหรือซีรีส์ไทย บ้านเราจึงมีแต่ละครเลิฟทหารสุดใจอย่างผู้กองยอดรัก ชื่นชีวานาวี เจ้าเวหา ราชนาวีที่รัก กองพันทหารเกณฑ์ เหนี่ยวหัวใจสุดไกปืน ยึดฟ้าหาพิกัดรัก ฯลฯ

ซีรีส์ D.P. ได้นักแสดงนำฝีมือดี 4 คน

ซีรีส์ D.P. ได้นักแสดงนำฝีมือดี 4 คน (จากซ้ายไปขวา) คือ

คิม ซ็อง-คยุน ในบทหัวหน้าหน่วยควบคุมดูแลทหารหนีทัพ จ่าสิบโท พัค บอม-กู จากหนัง Sinkhole (2021) และ The Divine Move 2: The Wrathful เขาเคยคว้ารางวัลนักแสดงจอมขโมยซีน จากซีรีส์ Reply 1988 เวที tvN อะวอร์ด, รางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมจากซีรีส์ The Fiery Priest เวที SBS อะวอร์ด

กู่ เกียว-ฮวาน ในบทพลทหารฮัน โฮ-ยอล รุ่นพี่หน่วย D.P. เขาเคยรับบทกะเทยแต่งหญิงในหนัง Jane ที่ทำให้เขาคว้ารางวัลนักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยม แบคซางอาร์ตอะวอร์ด ครั้งที่ 54, หนังซอมบี้ภาคต่อยอดฮิต Peninsula และบทหัวหน้าเผ่าคนเถื่อนพาจอวีใน Kingdom: Ashin of the North

จอง แฮ-อิน ในบทพลทหารอัน จุน-โฮ ทหารเกณฑ์ที่จู่ๆ ก็ได้รับหน้าที่ D.P. เขาเคยรับบททหารเกณฑ์ที่ถูกศาลตัดสินว่าฆ่าเพื่อนใน Prison Playbook, พระเอกสุดอาภัพและรักข้ามรุ่นจาก Something in the Rain กับ One Spring Night ที่ทำให้เขาคว้านักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเวที MBC ดราม่าอะวอร์ด

ซอน ซ็อก-กู ในบท ร้อยเอกลิม จี-ซบ ที่ถูกเรียกตัวมาช่วยในหน่วย D.P. เขาร่ำเรียนมาทางภาพยนตร์ในอเมริกา สนใจอยากเป็นผู้กำกับหนังสารคดี ก่อนจะผันตัวไปเป็นทหารอาสาในอิรัก แล้วโดดไปเรียนการแสดงในแคนาดา ก่อนจะกลับมาเกาหลีแล้วถูกเลือกเป็นนักแสดงในซีรีส์ Sense8 ซีซัน 2 (กำกับโดยคู่พี่น้องวาชอว์สกีจากหนังไตรภาคสุดฮิต The Matrix) และเป็นนักแสดงคนแรกที่เข้าชิง 2 สาขาจากเวทีแบคซางอาร์ตอะวอร์ด ในซีรีส์ Matrimonial Chaos และหนัง Hit-and-Run Squad แม้จะชวดทั้ง 2 รางวัลแต่กลับดันให้เขาเป็นที่จับตามอง ก่อนเขาจะรับบทเลขาประธานาธิบดีใน Designated Survivor: 60 Days และกำลังจะได้แสดงใน Woo-Ri, Ja-Young ประกบ จุน จอง-ซอ นางเอกจากหนังคานส์ Burning และหนังเน็ตฟลิกซ์ The Call

“มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับกองทัพ ขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนภาพจำลองของสังคมโลกที่เราอยู่ร่วมกันทุกวันนี้” ผู้กำกับฮัน จุน-ฮี ให้สัมภาษณ์หลังจากพบว่าซีรีส์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในหลากหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และประเทศไทย “พล็อตเรื่องเจือด้วยเรื่องราวของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นได้ในทุกแห่งทุกสังคม ผมเชื่อว่าบางทีคนดูไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าระหว่างดูซีรีส์เรื่องนี้ พวกเขาได้ย้อนกลับไปหวนคิดถึงหรือทบทวนอดีตส่วนตัวที่เคยผ่านเข้ามาในชีวิต”

ล่าสุดมีข่าวลือว่าซีรีส์นี้กำลังอยู่ระหว่างเตรียมงานสร้างซีซัน 2

ซีรีส์ดัดแปลงจากเว็บตูนที่เขียนโดย คิม โบ-ตง ตีพิมพ์ในช่วงปี2015-2016 ผ่านเว็บคอมมิกส์ Lezhin แม้ว่าในการ์ตูนจะเล่าเหตุการณ์ในช่วง 2014 แต่จริงๆ แล้วคิมอิงจากประสบการณ์จริงสมัยที่เขาเคยถูกเกณฑ์ทหารให้เข้าไปอยู่ยังหน่วยงานนี้ในช่วงต้นปี 2000 ไปจนถึงปี 2005 โดยเฉพาะเหตุการณ์จริงในปี 2005 เมื่อนายทหารปลดประจำการ คิม ดอง-มิน ยิงสังหารทหาร 8 นาย และบาดเจ็บอีก 4 นาย โดยภายหลังกระทรวงกลาโหมออกมายอมรับว่า สาเหตุเกิดจากการที่นาย ดอง-มิน เคยถูกรุ่นพี่กลั่นแกล้งอย่างต่อเนื่องในค่ายทหาร

แต่แรงบันดาลใจที่ทำให้เขาลุกขึ้นมาเขียนการ์ตูนเรื่องนี้คือเหตุการณ์ในปี 2014 เมื่อเกิดการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในกองทัพจนกลายเป็นข่าวพาดหัว หลังจากทหารรายหนึ่งถูกนายทหารทุบตีจนเสียชีวิต และทหารอีกคนหนึ่งยิงทหารเสียชีวิต 5 นาย และบาดเจ็บอีก 5 คนเนื่องจากทนแรงกดดันจากการถูกกลั่นแกล้งจากรุ่นพี่ไม่ไหว

ขณะที่ฮันผู้กำกับซีรีส์ให้ความเห็นว่า “ผมเชื่อว่าปี 2014 ถึง 2015 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของวัฒนธรรมกองทัพ ที่แม้ว่าจะดีกว่าแต่ก่อนมากแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ หลายคดีที่เราลืมไม่ลง และนั่นไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต จะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก ผมทำซีรีส์นี้เพื่อหวังว่าจะโยนคำถามไปยังผู้ชมว่า เราจะทำอะไรกันได้บ้างเพื่อแก้ไขแนวทางปฏิบัติเหล่านี้ หรือเราจะเฉยเมยต่อไป”

ในเว็บตูนจบลงที่ตัวละครหนึ่งหันหน้ากลับมาคุยกับผู้อ่านว่า “ตอนนี้คุณเป็นพยานต่อสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วนะ” เป็นเสมือนการส่งต่อความกล้าหาญให้ผู้อ่านลุกขึ้นมายืนหยัดต่อสู้ต่อความไร้มนุษยธรรมในวัฒนธรรมกองทัพ

ในส่วนของประเทศไทยช่วงหลายปีมานี้นับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2014 หลายฝ่ายต่างตั้งคำถามว่า “ทหารมีไว้ทำไม” กระทั่งเมื่อช่วงต้นปีนี้นายประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ตอบสื่อในช่วงวันทหารผ่านศึกว่า “ขณะที่ทหารทุกวันนี้ไม่ได้มีหน้าที่แค่รั้วของชาติ แต่ต้องช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรค การรักษาความมั่นคงภายใน การรักษาทรัพยากรประเทศ การช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติ และทุกมิติภายใต้รัฐธรรมนูญ อยากให้ช่วยกันชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่ามีทหารไว้ทำไม รวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มี ไม่ได้ไว้ใช้เพื่อการสงคราม แต่มีไว้เป็นศักยภาพและรักษาอำนาจที่ไม่มีตัวตนของประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามในวันข้างหน้า”

หรือย่อๆ ว่าทหารมีไว้ 1. ช่วยป้องกันช่วงโรคระบาด (เคยช่วย?) 2. รักษาความมั่นคงภายใน (ด้วยการปราบม็อบอย่างโหดและยัดคดีหรืออุ้มหายอุ้มฆ่าผู้เห็นต่าง?) 3. รักษาทรัพยากร (ป่าแหว่ง, คดีเสือดำ, คดีป่าแก่งกระจานใครหนุนหลัง?) 4. ช่วยประชาชนจากภัยพิบัติ (น้ำท่วม, ไฟไหม้ทหารหายหมดประชาชนต้องช่วยกันเอง ประยุทธ์สั่งให้สวดมนต์?)

แต่ในหน่วยความทรงจำ ในร่องรอยดิจิตอลฟุตปรินต์ และตามข่าวอีเหละเขละขละรายวันที่เกี่ยวข้องกับทหาร คือ

นายทหารชั้นประทวนยิงผู้บังคับบัญชา แล้วโพสต์ไลฟ์กราดยิงไม่เลือกหน้าในห้างที่โคราช มีคนตาย 20 บาดเจ็บ 21 และเจ็บหนักอีก 10, นักเรียนเตรียมทหารตายปริศนา อวัยวะภายในหาย, นักเรียนติวสอบเข้าเตรียมทหารถูกครูฝึกกระทืบตาย, ปีที่ผ่านมามีทหารตายในค่าย 6 ศพ มีอยู่ 3 ศพตายภายในเดือนเดียวกัน และคดีทั้งหมดตัดสินกันเองภายในศาลทหาร, ทหาร 114 นาย ฟาดงบ 12 ล้านบินไปฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่อเมริกา, ทหารอ้างเป็นด่านหน้าโพสต์โชว์ได้คิวฉีดไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากอเมริกา, ทหารบอกจะไปส่งคุณยายป่วยโควิดจนถึงบ้านแต่กลับทิ้งไว้กลางทาง, รัฐบาลทหารเอาเงินภาษีจ้างทหารปลอมเป็นไอโอโพสต์สร้างความขัดแย้งและเฟคนิวส์ตามสื่อโซเชียล, ไฟไหม้โรงงานโฟมประชาชนต้องเสี่ยงชีวิตมาช่วยกันเองโดยไม่มีทหารออกมาให้ความช่วยเหลือเลย และอ้างว่ารถจีโน่ที่ใช้ปราบม็อบไม่สามารถใช้ดับไฟได้ แต่กลับใช้ดับไฟในม็อบได้, การบริหารงานผิดพลาดหมกเม็ดมีเอี่ยวเงินทอนในช่วงโควิด,ไม่โปร่งใสในการจัดซื้อวัคซีน,ชายถือเครื่องดับเพลิงแต่กลับถูกทหารใส่ร้ายว่าเผาห้างเซ็นทรัลเวิร์ลในปี 2553 ทั้งที่มีหลักฐานหลายอย่างชี้ชัดว่าทหารทำ, โกหกว่าจะไม่ทำรัฐประหาร แต่สุดท้ายก็ทำ ทำแล้วยังสร้างภาพแต่งเพลงขอเวลาอีกไม่นาน แต่ปาไป 7 ปีก็ยังไม่ยอมออก, แสร้งทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญแต่ใครค้านก็จับยัดคุก, ส.ว. 250 เสียง, นาฬิกาเพื่อน, รถถัง เรือดำน้ำ เครื่องบินขับไล่ โดรน อาวุธปราบม็อบ, ป่าแหว่ง, ป่ารอยต่อ, เหมืองทองอัครา, ตั๋วช้าง, ห้ามตรวจสอบทรัพย์สินนายกทหาร ฯลฯ

บทความชิ้นแรกๆ ที่ตั้งคำถามนี้น่าจะเป็นของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 มกราคม 2016

“กองทัพในหลายรัฐชาติ จึงขัดขวางพัฒนาการสองอย่างของรัฐชาติ หนึ่งคือขัดขวางพัฒนาการของประชาธิปไตย และสองคือขัดขวางแม้แต่พัฒนาการของความเป็นชาติในรัฐนั้น เพราะบทบาทของกองทัพทำให้พลเมืองทั่วไปมองไม่เห็นว่าชาติเป็นสมบัติร่วมกันของทุกคนโดยเสมอภาค…ไม่ว่ากองทัพจะเน้นย้ำความรักชาติสักเพียงใดก็ตาม

และเราต้องไม่ลืมว่า กองทัพแห่งชาติบวกกับธุรกิจค้าอาวุธและยุทธบริการแก่ทหาร ทำให้กองทัพไม่ว่าของชาติใดทั้งสิ้นเป็นองค์กรรัฐที่สิ้นเปลืองอย่างมาก จนบางครั้งแทบทำให้รัฐพิการลงไปเพราะหมดสมรรถนะที่จะดูแลพลเมืองของตนเอง

ไม่มีกองทัพ เราจะสามารถทำให้ทุกคนเข้านอนได้ด้วยท้องที่อิ่ม ไม่มีกองทัพ จะมีเงินเหลือมาปรับปรุงระบบสุขภาพถ้วนหน้าได้มากกว่านี้อีก และในทุกประเทศทั่วโลก ไม่มีกองทัพ เด็กและผู้ใหญ่ทุกคนที่อยากเรียนรู้ จะได้เรียนรู้…ไม่มีกองทัพ เราจะสามารถขจัดโรคติดต่อร้ายแรงให้หมดไปจากโลกโดยสิ้นเชิงได้ ไม่มีกองทัพ ทั้งโลกจะยิ่งพัฒนากลไกระหว่างประเทศเพื่อระงับสงครามให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไม่มีกองทัพ…จะมีโลกใหม่ที่ชีวิตผู้คนอาจดำเนินไปอย่างสงบสุขและสร้างสรรค์กว่าที่เราเผชิญมา”

เกี่ยวกันอย่างไร เมื่อในบทความของนิธิทิ้งย่อหน้าสุดท้ายให้คิดว่า “ไม่มีกองทัพ เราจะสามารถทำให้ทุกคนเข้านอนได้ด้วยท้องที่อิ่ม…มีเงินเหลือมาปรับปรุงระบบสุขภาพถ้วนหน้าได้มากกว่านี้อีก”

ส่วนนี้คลิปที่จัดทำโดยกลุ่มภาคีเครือข่าย WeFair น่าจะตอบได้ชัดเจน ในหัวข้อ “ทำไมไทยยังไม่มีรัฐสวัสดิการ” ที่ให้ข้อมูลน่าสนใจและชี้ให้เห็นว่าในจำนวนประชากรไทยกว่า 66 ล้านคน มีข้าราชการเพียง 1 ล้านคน แต่รัฐบาลเผด็จการทหารกลับทุ่มงบประมาณแผ่นดินให้สวัสดิการแก่ข้าราชการและกองทัพจนเกิดความเหลื่อมล้ำยากจน

ในคลิปกล่าวว่า “สวีเดนค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 461 บาท ต่อชั่วโมง (ของไทยคือ 300 บาทต่อวัน) อาทิตย์นึงทำงานแค่ 4 วัน วันละ 6 ชั่วโมง…ตอนแก่ทุกคนจะได้บำนาญราว 46,000 บาทต่อเดือนไปจนตาย และยังได้สาธารณสุขที่มีคุณภาพ ราคาไม่แพง การศึกษาที่ดีและฟรีจริงๆ ระบบขนส่งมวลชนที่ทั่วถึง และอัตราอาชญากรรมที่ต่ำมาก สิ่งที่สวีเดนมีเรียกว่า “รัฐสวัสดิการ”

ก่อนที่คลิปจะลากยาวย้อนกลับไปว่ามีความพยายามจะทำรัฐสวัสดิการมาตั้งแต่สมัยปรีดี พนมยงค์ ผ่านเค้าโครงเศรษฐกิจ และ พ.ร.บ.ประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร แต่แล้วฝ่ายอำนาจเก่าหรือข้าราชการยุคนั้นไม่ยอม เพราะผลประโยชน์ของชาติที่เคยถูกผูกขาดอยู่กับแค่ชนชั้นนำจำนวนน้อย กำลังจะถูกแบ่งปันกระจายไปให้คนทั่วประเทศ

หลังจากนั้นก็มีอีกหลายกรณี เช่น ปรีดีผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ที่นับว่าก้าวหน้าที่สุด โดยเฉพาะมาตรา 12 ที่ระบุว่า “บุคคลมีฐานะเสมอภาคกันตามกฎหมาย ไม่ว่าจะมีฐานันดรโดยกำเนิดก็ดี หรือฐานันดรสถานะทางเศรษฐกิจที่ได้มาแต่หนหลังก็ดี ไม่ทำให้บุคคลนั้นมีเอกสิทธิ์เหนือผู้ใดเลย” เพราะรากฐานของรัฐสวัสดิการคือ “เสมอภาคเท่าเทียม” แต่ตอนนั้นฝ่ายอนุรักษ์นิยมเจ้ากลับมามีอำนาจอีกครั้ง ทำให้ปรีดีโดนรัฐประหาร และถูกใส่ร้ายในกรณีสวรรคตของร.8

ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 2490 มีความพยายามผลักดันกฎหมายประกันสังคม กฎหมายสหภาพแรงงาน และการกำจัดการถือครองที่ดิน แต่สุดท้ายก็ถูกยกเลิกด้วยการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำไปสู่เผด็จการทหาร สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ที่ยาวนานถึง 15 ปี ทำให้แทนที่ประชาชนจะได้รัฐสวัสดิการ กลับกลายเป็นได้สวัสดิการแบบการสงเคราะห์แทน อันเป็นจุดเริ่มต้นของ “ศักดินาราชูปถัมภ์” หรือการให้สวัสดิการแบบสงเคราะห์พอเป็นพิธี ให้เพราะสงสาร โดยไม่คิดว่าสวัสดิการคือสิทธิ์ที่ประชาชนทุกคนพึงได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียม ประกอบกับเวลานั้นเกิดกระแสตื่นกลัวคอมมิวนิสต์ทำให้รัฐใช้เป็นข้ออ้างในการเพิ่มสวัสดิการให้ข้าราชการ

ต่อมาในยุค เปรม ติณสูลานนท์ ได้มีการออกกฎหมายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล และเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร 2523 ซึ่งทั้ง 2 ฉบับเป็นสวัสดิการข้าราชการ ทำให้ข้าราชการมีความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นค่านิยมอยากให้ลูกหลานเป็นค่าราชการเพราะได้รับอภิสิทธิ์พิเศษมากมาย

แต่หลังจากสะดุดมากว่า 30 ปี พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533 ถูกนำเข้าสภาด้วยแรงผลักดันของขบวนการแรงงาน นักศึกษา และนักวิชาการ แม้ตอนแรกจะถูก ส.ว. ตีตกก็ตาม แต่สภาก็มีมติเอกฉันท์ 330: 0 เราจึงมีระบบประกันสังคมในปี 2533 แต่ก็มีรัฐประหารในปี 2534 ที่นำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535

พอถึงตรงนี้ความจริงที่น่าเศร้าที่สุดในคลิปดังกล่าวได้ระบุว่า “ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารโดยตั้งชื่อสวยหรูว่า เพื่อความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ จริงๆ แล้วคือคณะรักษาความเหลื่อมล้ำและความยากจน เพราะทหารข้าราชการพวกนี้จะมาหยุดพัฒนาการทางกฎหมายที่เกี่ยวกับสวัสดิการเพื่อประชาชน แล้วหันไปเพิ่มผลประโยชน์ให้พวกพ้องทหารข้าราชการด้วยกันเอง

(จากซ้าย) ยู ซึง-จุน, เรน, ไซ, ซอง ซึง-ฮย็อน, จางฮย็อก, ชเว ดง-อุก, ชางซู, เอ็มซี มง และคิม อู-จู

FYI ดราม่าหนีทหารในเกาหลีใต้

เคสรุนแรงสุดน่าจะเป็น ยู ซึง-จุน อดีตดารานักร้องที่โดงดังในช่วงปลายยุค90 แต่อนาคตดับวูบในปี 2002 เพราะถูกขับออกจากเกาหลีใต้ เนื่องจากพยายามจะขอเปลี่ยนสัญชาติเพื่อหนีเกณฑ์ทหาร ทำให้เขาต้องไปเร่ร่อนทำงานอยู่ในจีนภายใต้สังกัดของเฉินหลง ล่าสุดในปี 2019 ศาลกรุงโซลเพิ่งตัดสินให้เขากลับเข้าประเทศได้

ในปี 2013 ดารานักร้องชื่อดัง เรน หนีทหารเพื่อแอบไปพบแฟนนักแสดงสาวรุ่นพี่ คิม แท-ฮี (ภายหลังทั้งคู่แต่งงานกันจนมีลูก 2 คน) จนกระทรวงกลาโหมเดือดพล่าน แถลงข่าวว่า “แม้เรนจะไม่ต้องเข้าคุกทหารที่จะทำให้กำหนดสิ้นสุดการรับราชการต้องเลื่อนออกไป แต่เขาต้องได้รับการสอบสวนลงโทษทางวินัย” ซึ่งต่อมาสื่อออนไลน์ได้ระบุว่าจริงๆ แล้วเรนเคยหนีออกจากค่ายอย่างน้อย 3 ครั้ง

ไซ เจ้าของเพลงฮิตสนั่นโลก Gangnam style ถูกจับได้ระหว่างรับราชการว่าหนีออกมารับงานร้องเพลงนอกรั้วทหาร จนทำให้เขาต้องเข้าประจำการ 2 รอบ

พระเอก ซอง ซึง-ฮย็อน ที่โด่งดังสุดๆ จาก Autumn in my Heart จริงๆ แล้วในปี 2005 เขาต้องรับบทพระเอกในซีรีส์ Sad Love Story แต่ติดต้องไปเกณฑ์ทหาร ทำให้เขาแกล้งป่วย ตั้งแต่การส่งผลตรวจฉี่ปลอมไปให้กองทัพ ไปจนถึงดอดไปขอให้ ส.ส. คนหนึ่งช่วยเจรจา แต่สุดท้ายไม่สำเร็จ ซีรีส์เรื่องนั้นต้องเปลี่ยนพระเอก

พระเอกหนุ่มจางฮย็อกออกมาสารภาพว่าเขาเคยใช้ยาบางอย่างทำให้ไม่ผ่านเกณฑ์ตรวจทหารในรอบแรก แต่หลังจากถูกสังคมกดดันอย่างมากทำให้เขาสำนึกและเข้าตรวจอีกรอบก่อนจะถูกเกณฑ์ทหารในที่สุด

2 หนุ่ม Se7en (ชเว ดง-อุก) และชางซู แห่งวง Mighty Mouth ถูกปาปารัซซีจับได้ว่าหนีไปเที่ยวร้านนวดในช่วงหลังเคอร์ฟิวกองทัพ ทำให้เขาต้องโทษจำคุก 10 วัน แล้วกองทัพก็ยุบหน่วยทหารดาราอันเป็นหน่วยประชาสัมพันธ์กองทัพ ที่ถูกสังคมวิจารณ์ว่าให้อภิสิทธิ์ดาราจนเกิดความไม่เท่าเทียมในกองทัพ

นักร้องแรปเปอร์ชื่อดัง เอ็มซี มง เคยถอนฟัน 10 ซี่อ้างว่าป่วยจนไม่ต้องเกณฑ์ทหาร แต่ 7 ปีผ่านไปหน่วยงานเกาหลียืนยันว่าโรคดังกล่าวไม่เป็นความจริง ส่งผลให้ต้องติดคุก 6 เดือน รอลงอาญา 1 ปี บำเพ็ญประโยชน์ 120 ชั่วโมง และต้องเสียค่าปรับด้วย

ในปี 2015 นักร้อง คิม อู-จู ถูกสังคมประณามหลังจากกองทัพออกมาจวกว่าเขาจงใจหนีทหาร โดยอ้างว่าป่วยทางจิตและเห็นผีหลอก

ปัจจุบันมีแผนการท่องเที่ยวเถื่อนที่เรียกว่า Birth Tourism ที่เพียงจ่ายค่าแพ็คเกจราว 1 ล้าน 5 แสนบาทก็จะพาคุณแม่ใกล้คลอดบินลัดฟ้าไปทำคลอดในอเมริกา เพื่อให้ได้สัญชาติโดยลูกชายไม่ต้องเกณฑ์ทหารในอนาคต เนื่องจากกฎหมายเกาหลีระบุชายผู้มีสัญชาติเกาหลีเท่านั้น

และมีอีกหลายคนตัดนิ้วให้พิการ หรือกินผงโปรตีนเป็นจำนวนมากเพื่อให้น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์

มีข้อยกเว้นว่านักกีฬาที่ได้เหรียญในโอลิมปิก หรือนักดนตรีคลาสสิกระดับโลกไม่ต้องเกณฑ์ทหาร

ล่าสุดในปี 2020 รัฐสภาเกาหลีใต้อนุมัติให้แก้กฎหมายเพื่อเปิดช่องทางให้ศิลปินชาย K-Pop สามารถเลื่อนเวลาการเข้ารับการเกณฑ์ทหารได้จนถึงอายุ 30 ปี ในฐานะผู้ที่สร้างคุณประโยชน์และเม็ดเงินแก่ประเทศชาติ

ในมุมหนึ่งสังคมเกาหลีอ่อนไหวต่อประเด็นรับใช้ชาติอย่างยิ่ง เมื่อกองทัพงัดเอาเหตุผลการเคยถูกเกาหลีเหนือรุกรานอย่างยาวนาน 3 ปี เมื่อปี 1950-1953 ถึงแม้จะผ่านไปกว่า 68 ปีแล้วก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าการรับใช้ชาติเป็นเสมือนจิตสำนึกและการแสดงออกในการรักชาติ จุดนี้เองมุมมองของซีรีส์และเว็บตูนเรื่องนี้จึงส่งผลอย่างยิ่งต่อการมองการเกณฑ์ทหารในมุมใหม่ที่ต่างออกไป โดยเฉพาะในข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่ง คือ ในเดือนกันยายน ปี2014 มีทหารผูกคอตายในค่ายในระยะเวลาไล่เรี่ยกันถึง 3 ราย จนมีการเปิดโปงว่าตั้งแต่ปี 2004-2014 มีทหารฆ่าตัวตายไปในค่ายทหารไปแล้วถึง 820 ราย และอีก 15 เปอร์เซ็นต์ล้วนเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ

บางทีสิ่งที่ตัวละครบอกในตอนหนึ่งของซีรีส์นี้อาจทำให้คนดูฉุกคิดได้บ้างว่า

“ถ้าพวกเขาไม่ต้องเข้ากรม ก็คงไม่มีเรื่องให้พวกเขาต้องหนีทหารหรือเปล่าครับ”

อ้างอิง
ทหารมีไว้ทำไม โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ https://www.matichon.co.th/columnists/news_2227
ทำไมไทยยังไม่มีรัฐสวัสดิการ?? https://youtu.be/l_rsZT_C0Ik