ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ปฏิบัติการเร่งหาวัคซีนทางเลือกเพื่อ ปชช.หรือ เพื่อใคร…

ปฏิบัติการเร่งหาวัคซีนทางเลือกเพื่อ ปชช.หรือ เพื่อใคร…

10 พฤษภาคม 2021


ปฏิบัติการเร่งหาวัคซีนทางเลือก-คุณภาพดี ให้ ป.ป.ช. จาก 63 ล้านโดส เป็น 200 ล้านโดส ภายใน 2 สัปดาห์ โฆษกรัฐบาลยันไม่ปิดกั้นเอกชนแต่กำหนดเงื่อนไขเข้มในการนำเข้าวัคซีน

จากกรณีที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และหอการค้าไทย ออกแถลงการณ์กันไปคนละทิศทาง หลังเข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 เพื่อหารือแนวทางการจัดการวัคซีนทางเลือกจำนวน 37 ล้านโดส โดยภาคเอกชนรับอาสาจะไปจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับพนักงานของตน และจะออกค่าใช้จ่ายกันเอง หลังประชุมหารือกันเสร็จเรียบร้อย ปรากฏว่าในช่วงค่ำวันเดียวกัน หอการค้าไทยได้ออกแถลงการณ์ว่า “จากการประชุมร่วมกับรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน…รัฐบาลแจ้งว่าสามารถจัดหาวัคซีนได้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนแล้ว ภาคเอกชนไม่จำเป็นต้องไปหาวัคซีนเพิ่มเติม” ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์ว่า “จากการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรี…รัฐบาลย้ำว่าได้เปิดกว้างให้ภาคเอกชนนำเข้าวัคซีนได้ ภายใต้หลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข… โดยสภาอุตฯ จะทำหน้าที่ประสานงานกับภาคเอกชนที่นำเข้าวัคซีนและสมาคมโรงพยาบาลเอกชน”

จึงมีคำถามตามมาว่า ตกลงแล้วรัฐบาลปิดกั้นเอกชน ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนหรือไม่ อย่างไร

ที่มา “วัคซีนทางเลือก”

ก่อนที่จะไปต่อ ขอให้ย้อนกลับไปดูที่มาของแนวความคิดในการจัดหา “วัคซีนทางเลือก” โดยภาคเอกชน แนวความคิดนี้มีจุดเริ่มจากคณะกรรมการหอการค้าไทยชุดใหม่ ภายใต้การนำของนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย หลังจากเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการได้ประกาศนโยบาย ‘Connect the Dots’ ชูหอการค้าให้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยตั้งเป้าหมาย ‘ฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใน 99 วัน’ พร้อมสนับสนุนรัฐบาลให้เร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ

  • “สนั่น อังอุบลกุล” ประธานหอการค้าฯ คนใหม่ ชู “Connect the Dots” ฟื้น ศก.ไทยใน 99 วัน
  • คนไทยฉีดวัคซีนแล้ว 1.3% เทียบอาเซียนอยู่อันดับ 6

    จากนั้นทางหอการค้าไทยก็เริ่มตั้งทีมงานลงไปศึกษาเก็บข้อมูลการจัดหาและการฉีดวัคซีนโควิดฯ พบว่าในช่วงที่โควิดฯ ระบาดอย่างหนัก เริ่มจากคลัสเตอร์สมุทรสาครมาบางแคไปทองหล่อและมาคลองเตยนั้น กระทรวงสาธารณสุขฉีดวัคซีนให้กับประชาชนน้อยมาก คิดเป็นสัดส่วนแค่ 1.3% ของจำนวนประชากรทั้งหมด เปรียบเทียบกับอาเซียน ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 6 และเมื่อไปดูแผนการจัดหาวัคซีน เดิมทีนั้นกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายในการจัดหาวัคซีนไว้แค่ 63 ล้านโดส เพียงพอสำหรับการฉีดให้กับประชาชนแค่ 30 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 50% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ส่วนใหญ่จะเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มีวัคซีนซิโนแวคประมาณ 2.5 ล้านโดส หากจะสร้างให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ต้องไปหาวัคซีนมาเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 37 ล้านโดส รวมเป็น 100 ล้านโดส เพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชนจนครบ 50 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ตามเป้าหมายที่รัฐบาลประกาศไว้ ภูมิคุ้มกันหมู่ถึงจะเกิด ยิ่งฉีดเร็วเท่าไหร่ยิ่งส่งผลดีต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ แต่ถ้าปล่อยให้การจัดหาวัคซีนล่าช้าออกไปอย่างนี้ อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโดยภาพรวม นี่คือสิ่งที่ภาคเอกชนวิตกกังวล

    หอการค้าฯ ระดม “40 ซีอีโอ” จัดทำแผนหาวัคซีนทางเลือก 37 ล้านโดส

    วันที่ 19 เมษายน 2564 หอการค้าไทยจึงจัดประชุมทางไกลกับ CEO หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศกว่า 40 แห่ง ได้ข้อสรุปภาคเอกชนจะช่วยรัฐบาลจัดหาวัคซีนเพิ่ม, กระจายวัคซีนและช่วยหาสถานที่ฉีด, วางระบบลงทะเบียน และช่วยรัฐบาลทำประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นมาฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทางหอการค้าไทยจึงประสานมายังสภาอุตฯ และสมาคมธนาคารไทย ให้ช่วยสำรวจความต้องการของสมาชิกในการจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับพนักงานของตนเอง รวบรวมมาได้กว่า 1 ล้านคน จึงส่งแผนการจัดหาวัคซีนและข้อมูลต่างๆ ให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา โดยคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน ประกอบด้วย หอการค้าไทย, สภาอุตฯ และสมาคมธนาคารไทย ขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในวันที่ 28 เมษายน 2564 เวลา 13.30 น. เพื่อหารือแนวทางการจัดหาวัคซีนทางเลือกจำนวน 37 ล้านโดสมาช่วยรัฐบาล

    เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยนำคณะกรรมการชุดใหม่เข้าพบนายกรัฐมนตรี โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล
    ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

    สภาอุตฯ มึน หอการค้าไทยหารือนายกฯ นัดพิเศษ ก่อนประชุม กกร.

    ปรากฏว่าในช่วงเช้าของวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยนำคณะกรรมการชุดใหม่เข้าพบนายกรัฐมนตรี โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล เสร็จจากการประชุมรอบแรก ก็ได้มอบหมายโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาแถลงผลการหารือในช่วงที่หอการค้าไทยกับนายกรัฐมนตรีก่อนที่จะมีการประชุม กกร. ปรากฏว่าทั้งสภาอุตฯ และสมาคมธนาคารไทยไม่ใครรับทราบมาก่อนว่ามีกำหนดการดังกล่าว มารู้อีกทีคือตอนที่โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงข่าว

    เกิดคำถามตามมาว่า ทำไมรัฐบาลเรียกหอการค้าไทยเข้าพบก่อนการประชุม กกร. ในช่วงบ่าย ทำไม?

  • นายกฯ ถก กกร. ปมจัดหา-กระจายวัคซีน 100 ล้านโดส 50 ล้านคน
  • จากนั้นในเวลา 13.30 น. ของวันเดียวกัน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ก็นำคณะกรรมการหอการค้าไทย, สภาอุตฯ และสมาคมธนาคารไทย เข้าพบนายกรัฐมนตรี รอบ 2 เพื่อหารือแนวทางการจัดหาวัคซีนโควิดฯ โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมกันอีกรอบที่ห้องเดิม ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

    ช่วงบ่ายของวันที่ 28 เมษายน 2564 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ นำประธานสภาอุตฯ, หอการค้าไทยและสมาคมธนาคารไทย แถลงร่วมกัน
    ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

    หอการค้าไทยกลับลำ ยกเลิกจัดหาวัคซีน-สภาอุตฯ จับมือ รพ.เอกชน เดินหน้าต่อ

    เสร็จจากการประชุมรอบ 2 ได้มอบหมายให้นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ นำประธานสภาอุตฯ, หอการค้าไทยและสมาคมธนาคารไทย แถลงร่วมกัน โดยมีเนื้อหาใกล้เคียงกับการประชุมรอบแรก หลังจากร่วมแถลงข่าวกันเสร็จก็แยกย้ายกันกลับ

    พอตกช่วงค่ำ หอการค้าไทย ออกแถลงการณ์ว่า “จากการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 …รัฐบาลได้แจ้งว่าปริมาณวัคซีนที่ภาครัฐจัดหามานั้น มีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนทุกคน พร้อมกับเร่งดำเนินการนำเข้าวัคซีน ซึ่งทยอยเข้ามาเป็นลำดับ ดังนั้น ภาคเอกชนจึงไม่จำเป็นต้องจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม และจะได้ไม่เป็นภาระในเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งภาคเอกชนต่างก็ได้รับผกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดอยู่แล้ว ทางหอการค้าไทยจึงรวบรวมข้อมูลความต้องการวัคซีนทางเลือกที่จะนำมาฉีดให้กับพนักงานของตนเอง ส่งให้รัฐบาลใช้เป็นข้อมูลในการจัดลำดับการฉีดวัคซีนที่เหมาะสม”

    ต่อมานายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตฯ ก็ได้ออกแถลงการณ์ตามมาติดๆ มีใจความว่า “จากการประชุมกับนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 นายกรัฐมนตรีขอบคุณภาคเอกชนที่ร่วมแสดงเจตจำนงในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม โดยรัฐบาลจะเร่งจะหาวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดส เพื่อให้เพียงพอกับคนไทย และในเดือนพฤษภาคมนี้จะมีวัคซีนเพิ่มเข้ามาอีกอย่างแน่นอน ซึ่งรัฐบาลย้ำว่าได้เปิดกว้างให้ภาคเอกชนนำเข้าวัคซีนมาได้ภายใต้กฎเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข โดย สอท. ยังคงทำหน้าที่ประสานงานกับภาคเอกชนที่นำเข้าวัคซีนรวมทั้งสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เพื่อนำมาฉีดให้กับพนักงานของสมาชิกสภาอุตฯ และประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชน ยังคงเดินหน้าจัดหาวัคซีนมาฉีดต่อไป รัฐบาลไม่ได้ปิด

    เมื่อสถานการณ์สภาอุตฯ กับหอการค้าไทย ออกเอกสารข่าวกันไปคนละทิศละทาง สร้างความสับสนให้กับสังคม และเกิดเสียงวิพาพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลกันไปต่างๆ นานา ว่าทำไมหอการค้าไทยเตรียมการมาตั้งนาน อยู่ดีๆ ทำไมหอการค้าไทยถอย ถือเป็นการปิดกั้นเอกชนนำเข้าวัคซีนหรือไม่ หรือว่ารัฐบาลกลัวเสียหน้า เตรียมแผนจัดหาวัคซีนมาตั้งหลายเดือนได้มาแค่ 2 ล้านโดส ถ้าปล่อยให้เอกชนลงมือจัดหากันเอง เพียงไม่กี่วันก็สามารถจัดหาวัคซีนมาได้เป็นจำนวนมากกว่า แถมยังมีให้ประชาชนเลือกได้หลากหลายยี่ห้อด้วย เท่ากับว่าภาคเอกชนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าภาครัฐหรือไม่ บ้างก็ว่ามันจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ คนมีเงินก็สามารถไปฉีดวัคซีนกับโรงพยาบาลเอกชนได้ก่อน ส่วนคนจนก็ต้องรอฉีดวัคซีนฟรีกับรัฐบาลต่อไป และยังมีคำถามตามมาว่าแล้ววัคซีนที่รัฐบาลไปจองซื้อไว้ 63 ล้านโดส และกำลังจะนำมาฉีดให้กับประชาชน 16 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไปจะทำอย่างไร

    ศบค. เห็นชอบ สธ. หาวัคซีนยี่ห้ออื่นเพิ่ม 37 ล้านโดส

    หลังจากที่สภาอุตฯ หอการค้าไทยออกข่าวกันไปเป็นที่เรียบร้อย ช่วงเช้าของวันที่ 29 เมษายน 2564 กระทรวงสาธารณสุขก็เสนอแผนจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมให้ที่ประชุม ศบค. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาอนุมัติจัดซื้อวัคซีนหลากหลายยี่ห้ออีก 37 ล้านโดส เพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนเพิ่มเติมอีก 18.5 ล้านคน เมื่อมารวมกับแผนการจัดหาวัคซีนเดิม (63 ล้านโดส) ก็จะมีวัคซีนเตรียมไว้ฉีดให้กับประชาชนครบ 100 ล้านโดส ตามเป้าหมายของรัฐบาล

    โดยวัคซีนที่รัฐบาลจะจัดหามาเพิ่มเติมนั้น ประกอบด้วย วัคซีนไฟเซอร์จำนวน 5-20 ล้านโดส, วัคซีนสปุตนิกวีจำนวน 5-10 ล้านโดส, วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสันจำนวน 5-10 ล้านโดส, วัคซีนซิโนแวคจำนวน 5-10 ล้านโดส รวมทั้งวัคซีนชนิดอื่น เช่น วัคซีนโมเดอร์นา, วัคซีนซิโนฟาร์ม หรือวัคซีนยี่ห้ออื่นที่จะมีการขึ้นทะเบียนในอนาคต โดยมอบหมายกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการจัดหาวัคซีน ส่วนภาคเอกชนยังสามารถจัดหาวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ เพิ่มเติมได้

    เงื่อนไขคุมเข้ม “เปิดเหมือนปิด” รพ.เอกชนนำเข้าวัคซีนโควิด

    จากนั้นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นเอกชนนำเข้าวัคซีน และจากการประชุมคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนโควิดฯ ที่มีนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานคณะทำงาน เห็นควรกำหนดให้วัคซีนโควิดฯ เป็น “สินค้าควบคุม” โดยวัคซีนทางเลือกที่โรงพยาบาลเอกชนจะนำเข้าควรมียี่ห้อแตกต่างจากวัคซีนที่รัฐบาลจะนำเข้ามาเพิ่มเติมนอกเหนือจากแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค ส่วนภาครัฐก็จะมีการจัดวัคซีนเพิ่มเติม เช่น ไฟเซอร์, สปุตนิกวี และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน

    ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นวัคซีนทางเลือกอย่างแท้จริง และไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับภาครัฐ ในส่วนของวัคซีนโรงพยาบาลเอกชนที่จะนำเข้ามานั้น ควรเป็นวัคซีนโควิด-19 ในรายการอื่นๆ ที่ไม่ได้ให้บริการโดยภาครัฐและสถานพยาบาลของรัฐ เช่น โมเดอร์นา, ซิโนฟาร์ม หรือวัคซีนอื่นที่มีการขึ้นทะเบียนต่อไปในอนาคต

    โดยขอให้โรงพยาบาลเอกชนควบคุมราคาในการฉีดวัคซีนทางเลือกให้เหมาะสม ที่ประชุมคณะทำงานฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ช่วยผลักดันให้มีบริษัทผลิต และจัดจำหน่ายวัคซีนเข้ามาขึ้นทะเบียนในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น

    พร้อมกับกำหนดเงื่อนไขให้โรงพยาบาลเอกชนที่ประสงค์จะนำเข้าวัคซีน ต้องไปยื่นเรื่องผ่านที่องค์การเภสัชกรรมในฐานะผู้บริหารจัดการ และประสานกับบริษัทผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายวัคซีน โดยโรงพยาบาลเอกชนต้องรับรับผิดชอบต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย (product liability) และต้องจ่ายเงินค่าจองวัคซีนทางเลือกล่วงหน้าให้กับองค์การเภสัชกรรมตามมูลค่าที่สั่งซื้อเต็มจำนวน (100%) รวมทั้งต้องทำประกันให้กับประชาชน สำหรับกรณีที่มีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน

    มากไปกว่านั้นภาคเอกชนที่จะขอนำเข้าวัคซีนทางเลือก ต้องแต่งตั้งตัวแทนจากบริษัทวัคซีนต้นทาง และยื่นหนังสือต่อองค์การเภสัชกรรม และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดหาวัคซีนที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานด้วย

    พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
    ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

    นายกฯ สั่ง สธ. จัดหาวัคซีนเพิ่ม 150-200 ล้านโดส

    ล่าสุด พล.อ. ประยุทธ์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในรายการ PM Podcast เล่าเรื่องการแก้ปัญหาโควิดฯ เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้า ปรับเป้าหมายการจัดหาวัคซีนโควิดจากเดิม 100 ล้านโดส เพิ่มเป็น 150-200 ล้านโดส เพื่อรองรับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น จำเป็นต้องมีวัคซีนเผื่อเอาไว้

    ตรงนี้จึงถือเป็นความสำเร็จของภาคเอกชน ทั้งหอการค้าไทย สภาอุตฯ ที่ออกมาขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนทางเลือกเพียงวันเดียว ทำให้กระทรวงสาธารณสุขตื่น เสนอแผนการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมให้เข้าที่ประชุม ศบค. อนุมัติจนครบ 100 ล้านโดส ถัดมาอีกประมาณ 10 วัน นายกฯ ก็ประกาศว่าจะดำเนินการจัดหาวัคซีนให้ได้ 150-200 ล้านโดสแต่ไม่มีรายละเอียดใดใดว่าจะสั่งซื้อจากใคร อย่างไร!!!

    สธ. เผย 8 วัน ปชช. จองฉีด “แอสตร้าเซนเนก้า” แค่ 1.5 ล้านราย

    มาถึงตอนนี้ทั้งเรื่องการจัดหาวัคซีน การจัดหาสถานที่ฉีด ภาคเอกชนพร้อมให้การสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่ แต่ที่น่าเป็นห่วงมีอยู่เรื่องเดียว คือ “ความเชื่อมั่น” โดยดูจากข้อมูลการลงทะเบียน “หมอพร้อม” ตั้งเป้าฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 16 ล้านโดสให้กับประชาชน 16 ล้านคน พบว่ายังต่ำกว่าเป้าหมายมาก

    โดยข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1–8 พฤษภาคม 2564 ระบุว่ามีผู้มาจองคิวเพื่อฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าสะสมทั้งสิ้นแค่ 1,548,578 ราย คิดเป็นสัดส่วน 9.68% ของเป้าหมาย 16 ล้านคน แบ่งเป็นการจองคิวฉีดวัคซีนผ่าน “หมอพร้อม” 1,252,345 ราย และจองผ่านโรงพยาบาลของรัฐ, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และอาสาสมัครหมู่บ้านแค่ 296,233 ราย

    สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในเรื่องคุณภาพของวัคซีน เนื่องจากที่ผ่านมามีข่าวคนที่ฉีดวัคซีนไปแล้วมีอาการแพ้ เกิดผลข้างเคียงตามมาหลายราย

    ล่าสุดพบ 7 นศ.พยาบาล มธ. แพ้ ‘ซิโนแวค’ อย่างรุนแรง

    อย่างล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2564 องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ว่า มีนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 ไปฉีดวัคซีนซิโนแวคที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติทั้งหมด 88 ราย ในจำนวนนี้มีเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง 7 ราย และมีอาการแพ้เล็กน้อย 2 ราย โดยนักศึกษาที่แพ้ส่วนใหญ่มีอาการหายใจลำบาก หอบ เหนื่อย อ่อนเพลีย และมีอากรซึมร่วมด้วย บางคนมีอาการชาตามร่างกาย ชาปลายมือ และเท้า ปวดเมื่อย เจ็บหน้าอกขณะหายใจติดต่อกัน 3 วัน ทางคณะกรรมการนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรรวัคซีนชนิดที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมาแจกจ่ายให้กับประชาชนและบุคลากรทางแพทย์ เพื่อความปลอดภัยและป้องกันโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการได้รับวัคซีน

    ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก “องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

    ก่อนหน้านี้ ก็มี นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก “Thiravat Hemachudha” ว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ที่จังหวัดระยอง 6 ราย หลังฉีดวัคซีนซิโนแวคไปแล้วเกิดอาการแพ้ คล้ายจะเป็นอัมพฤกษ์ และอีก 1 รายที่โนงพยาบาลศรีราชา โดยแพทย์ที่ทำการรักษาได้ให้ยาละลายลิ่มเลือดจนอาการกลับมาเป็นปกติ

    ทั้งหมดเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะนี้ทั้งการจัดหาวัคซีน สถานที่ฉีด การขนส่งวัคซีนพร้อมแล้ว ก็เหลือแต่เรื่องการสื่อสาร ทำอย่างไรถึงจะเรียกศรัทธา ความเชื่อมั่นของประชาชน ให้หันมาฉีดวัคซีนตามเป้าหมายอย่างน้อย 100 ล้านโดส ภูมิคุ้มกันหมู่ถึงเกิด ถือเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิดฯ ของรัฐบาลว่าจะก้าววิกฤติความเชื่อมั่นนี้ได้อย่างไร…

    อ่านเพิ่มเติม

  • ถอดความสำเร็จ “อังกฤษ” ฉีดวัคซีนสู้โควิด
  • สหรัฐฯฉีดวัคซีนครบ 200 ล้านโดส ปรับกลุ่มฉีดเป็นเด็กอายุ 16 ปี-ประชาชนทั่วไป
  • สธ.ชี้แจงหลังพบผู้ฉีดซิโนแวค “อาการชาครึ่งซีก” คาดเกี่ยวกับวัคซีน แต่เป็นอาการชั่วคราว