ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > สธ.ชี้แจงหลังพบผู้ฉีดซิโนแวค “อาการชาครึ่งซีก” คาดเกี่ยวกับวัคซีน แต่เป็นอาการชั่วคราว

สธ.ชี้แจงหลังพบผู้ฉีดซิโนแวค “อาการชาครึ่งซีก” คาดเกี่ยวกับวัคซีน แต่เป็นอาการชั่วคราว

21 เมษายน 2021


รายงานโดย ปารณีย์ สิงหเสนี นักศึกษาฝึกงาน สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ ชี้แจงหลังพบผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ทั้ง 6 รายจากการรับวัคซีนซิโนแวค ซึ่งเป็นอาการคล้ายกับโรคทางระบบประสาท คาดเกิดจากการฉีดวัคซีน ยันเป็นอาการชั่วคราวรักษาหาย ร้องขอให้ประชาชนมั่นใจในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

วันที่ 21 เมษายน 2564 นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ชี้แจงถึงกรณีผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์หลังจากรับวัคซีน CoronaVac Lot No.J202103001 ทั้งสิ้น 6 รายในจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 5 รายและเป็นเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลอีก 1 ราย โดยมีอาการคล้ายคลึงกับโรคระบบทางระบบประสาทคือมีอาการชาครึ่งซีก หรือบางรายมีอาการแขนขาอ่อนแรง

นพ.ทวีทรัพย์กล่าวต่อว่า “ขอให้ประชาชนมั่นใจในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ทางกระทรวงสาธารณสุขก็จะปฏิบัติตามข้อแนะนำของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ และจะมีการดำเนินการรณรงค์เพื่อที่จะฉีดวัคซีนต่อไป โดยขณะนี้แผนดำเนินการฉีดวัคซีนยังดำเนินการไปเช่นเดิม”

ทางด้าน ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ชี้แจงถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่ามีอาการคล้ายกับกลุ่มอาการทางระบบประสาท และบางรายมีอาการคล้ายคลึงกับโรคหลอดเลือดสมอง หรือ สโตรก (Stroke) แต่อาการเหล่านี้เกิดขึ้นชั่วคราวและจะหายภายใน 1 – 3 วัน ซึ่งคาดว่าสาเหตุของอาการเหล่านี้เกิดจากการรับวัคซีนเนื่องจากเกิดอาการขึ้นหลังจากรับวัคซีน 5 – 10 นาที

ทั้้ง 6 รายพบว่าเป็นผู้หญิงทั้งหมดโดย 1 รายมีโรคประจำตัวคือเป็นมะเร็ง อีก 1 คน มีไขมันในเลือดสูง มี 2 คน น้ำหนักเกิน และมี 4 คนที่กินยาคุมกำเนิด แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีข้อห้ามหรือหลักฐานใด ๆ ว่ายาคุมกำเนิด ประจำเดือน หรือความเป็นผู้หญิงส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงขึ้นเป็นพิเศษ

พญ.กุลกัญญา เพิ่มเติมว่าทางคณะกรรมการฯและกองชีววัตถุได้ทำการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนในล็อตเดียวกันนี้แล้ว ไม่พบว่ามีความผิดปกติใด และวัคซีนในล็อตนี้ก็ได้มีแจกจ่ายไปแล้วทั่วประเทศกว่า 5 แสนโดส และได้มีการฉีดให้กับประชาชนไปแล้วกว่า 3 แสนโดส ซึ่งในตอนนี้ยังไม่ได้เจอปัญหาเช่นนี้ในรายอื่น ๆ แต่ก็ต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปว่าจะเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ขึ้นอีกหรือไม่

“คณะกรรมการฯจึงลงความเห็นว่าสามารถใช้วัคซีนล็อตนี้ต่อไปได้ เนื่องจากประโยชน์ของวัคซีนมีมากกว่าอาการข้างเคียงซึ่งเกิดขึ้นชั่วคราว”

พญ.ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวว่าทางทีมแพทย์ จ.ระยอง ได้ทำการวินิจฉัยทั้ง 6 รายพบว่ามีการอ่อนแรง ชา และพูดไม่ชัด รวมทั้งมีอาการปากเบี้ยวในบางราย ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นคล้ายคลึงกับโรคหลอดเลือดสมอง จึงให้ยาละลายลิ่มเลือดเพื่อเป็นการรักษาโดยอาการดีขึ้นหลังจากให้การรักษา และหายเป็นปกติโดยเคสที่หายช้าที่สุดประมาณ 3 วัน นอกจากนี้ได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยการส่งเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง และทำ MRI ก็ไม่พบอาการผิดปกติของสมอง

โดยการใช้ยาละลายลิ่มเลือดเป็นมาตรฐานในการรักษาผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อช่วยชีวิต ลดอาการและความพิการของคนไข้ ซึ่งเมื่อในภายหลังตรวจสอบแล้วว่าอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากโรค การรักษาที่ให้ไปก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้เกิดผลอันตรายต่อคนไข้

พญ.ทัศนีย์ เสริมอีกว่าอาการของทั้ง 6 รายอาจสัมพันธ์กับฉีดวัคซีน เนื่องจากมีรายงานว่าการฉีดวัคซีนอาจทำให้เกิดอาการทางกลุ่มประสาทได้แต่พบไม่บ่อย รวมถึงอาการอ่อนเพลียหรือง่วงนอนซึ่งจะพบได้บ่อยกว่า โดยจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ลึกลงไปต้องมีการศึกษาและวินิจฉัยเพิ่มเติม

“ไม่อยากให้ทุกท่านมีอาการตื่นตระหนกและตกใจกลัวเพราะอาการเหล่านี้จะเป็นชั่วคราว เหมือนกับการฉีดวัคซีนแล้วมีอาการปวดเมื่อยตามตัวหรือว่าเจ็บปวดกล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีดยา”

ในส่วนของ นพ.เมธา อภิวัฒนากุล นายแพทย์เชี่ยวชาญ รองเลขาธิการสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวหากเกิดอาการทางระบบประสาทหรือกลุ่มหลอดเลือดสมองขึ้นหลังจากรับวัคซีนไปแล้วว่า ขอให้ประชาชนที่เกิดอาการข้างต้นรีบไปโรงพยาบาลทันที

สำหรับแพทย์ที่ทำการรักษาให้ปฏิบัติตามมาตรฐานของการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง และขอให้รายงานเหตุการณ์เมื่อพบการเกิดภาวะไม่พึงประสงค์เข้ามาที่กองระบาด กระทรวงสาธารณสุข เพื่อที่จะนำข้อมูลเหล่านี้นะครับไปทำการศึกษาและสืบสวนต่อไป