ThaiPublica > สู่อาเซียน > เมียนมา 100 วันแห่งการยึดอำนาจของกองทัพ เศรษฐกิจทรุด ระบบธนาคารวิกฤติ ยากจนและอดอยาก

เมียนมา 100 วันแห่งการยึดอำนาจของกองทัพ เศรษฐกิจทรุด ระบบธนาคารวิกฤติ ยากจนและอดอยาก

14 พฤษภาคม 2021


การต่อต้านรัฐประหารที่ต่อเนื่องในเมียนมา ที่มาภาพ: https://www.irrawaddy.com/news/burma/un-panel-calls-on-intl-business-community-to-take-stand-on-myanmar-juntas-abuses.html

เศรษฐกิจของเมียนมากำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่สำคัญของการล่มสลายและความยากจนชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2548 หลังจากการรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจเมียนมาเติบโตเฉลี่ยเกิน 6% แต่ในปีนี้ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าจะหดตัว 10% อันเป็นผลจากการรัฐประหาร เป็นการหดตัวมากสุดในเอเชียที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาอยู่แล้ว

เมียนมาซึ่งเคยเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การลงทุนกลับแห้งเหือดโครงการระหว่างประเทศหยุดชะงัก และมีการระงับการดำเนินการ ส่งผลให้ผู้คนหลายล้านต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารและตกอยู่ในความยากจน

รัฐบาลเมียนมาได้พยายามหลายครั้งเพื่อเริ่มต้นเศรษฐกิจใหม่ รวมถึงการข่มขู่นายจ้างและอ้างว่าธุรกิจยังดำเนินการตามปกติ แต่การเคลื่อนไหวของรัฐบาลทหารได้ประสบกับการต่อต้าน และทำให้ผลกระทบของ โควิด-19 รุนแรงขึ้น

ในรอบ 100 วันหลังการรัฐประหาร สำนักข่าวอิระวดี หรือ The Irrawaddy ได้ย้อนกลับไปมองว่าเหล่านายพลทหารได้ผลักดันเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดของภูมิภาคนี้ให้กลับไปสู่ความยากจนที่เลวร้าย และปล่อยให้เศรษฐกิจล่มสลายและส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วประเทศได้อย่างไร

โครงการใหญ่ระงับ

นับตั้งแต่มีการรัฐประหารที่ค้ำจุนรัฐบาลทหาร นักลงทุนต่างชาติระงับโครงการมูลค่ากว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (9.4 ล้านล้านจ๊าด) ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติ

ในบรรดาโครงการสำคัญ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐที่ได้รับการสนับสนุนจากอมตะคอร์ปอเรชั่น ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ถูกระงับเนื่องจากอาจมีการคว่ำบาตรจากนานาชาติ

โตโยต้าซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกได้ชะลอการเปิดโรงงานผลิตรถยนต์มูลค่า 52.6 ล้านเหรียญสหรัฐในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละลวา ชานเมืองย่างกุ้ง โดยบริษัทให้เหตุผลว่ากังวลเรื่องความไม่มีเสถียรภาพ

กลุ่มบริษัทเซมบ์คอร์ป (Sembcorp) ในสิงคโปร์ ระงับแผนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเขตเลกูของย่างกุ้ง และตัดสินใจที่จะรอจนกว่าสถานการณ์จะมีเสถียรภาพ โดยระบุว่า บริษัทจำเป็นต้องดูว่าลูกค้าตอบสนองอย่างไร

Electricite de France (EDF) ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของฝรั่งเศส ได้ระงับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำมูลค่ากว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ในรัฐฉาน จากความกังวลด้านสิทธิมนุษยชน เนื่องจากรัฐบาลเมียนมายังคงสังหารผู้ประท้วง

เศรษฐกิจหดตัว 10-20%

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของเมียนมาในปีที่แล้วลดลงมาที่ 1.8% เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียคาดการณ์ว่าจะกลับมาเติบโต 6% ในปีนี้ แต่นับตั้งแต่มีการยึดอำนาจ ธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจของเมียนมาจะหดตัวลง 10% ในปีงบประมาณนี้ ขณะที่รายงานของนักเศรษฐศาสตร์อื่นๆ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะหดตัว 20%

ที่มาภาพ: https://www.frontiermyanmar.net/en/a-crisis-of-confidence-looms-over-myanmars-banks/

วิกฤติธนาคารทำขาดเงินสด

ระบบธนาคารของเมียนมาเป็นอัมพาตตั้งแต่การรัฐประหาร โดยมีการปิดสาขาไปเกือบ 3 เดือน เกิดการขาดแคลนเงินสด และการเข้าถึงสวัสดิการสังคมที่จำกัด รวมทั้งการส่งเงินกลับประเทศของครอบครัวที่ประสบความยากลำบาก

การค้าทางทะเลทั้งหมดหยุดลง เนื่องจากธนาคารไม่สามารถออกเอกสารที่จำเป็นในการนำเข้าและส่งออกสินค้าได้ บริษัทต่างๆ กำลังประสบปัญหาในการจ่ายเงินเดือน เพราะธนาคารไม่ได้ให้บริการจ่ายเงินเดือนผ่านบัญชี ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ธุรกิจต่างๆ ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนเงินสด หลายคนรีบไปที่ตู้เอทีเอ็มเพื่อถอนเงินสดทันทีหลังการรัฐประหาร เนื่องจากมีข่าวลือว่าธนาคารจะล่มสลาย

เพื่อป้องกันไม่ให้ธนาคารเจอการแห่ถอน รัฐบาลออกคำสั่งจำกัดการถอนเงินสดทั้งบุคคลและบริษัท แต่สร้างความกังวลว่าธนาคารไม่มีเงินสดและจะล้ม ในแต่ละวันจะมีการเข้าคิวที่ตู้เอทีเอ็มเพราะคนรอถอนเงินที่จำกัดไว้ 200,000 ถึง 300,000 จ๊าดต่อวัน

หลายคนกลับบ้านมือเปล่า เนื่องจากตู้เอทีเอ็มเงินหมดอย่างรวดเร็ว แต่ละเครื่องรองรับการถอนเงินสดได้ 30 ถึง 40 คนต่อวันเท่านั้น พนักงานภาคเอกชนหลายพันคนทั่วประเทศไม่สามารถกดเงินเดือนเดือนเมษายนได้

ในวันที่ 1 มีนาคม ธนาคารกลางประกาศจำกัดการถอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มไว้ที่ 500,000 จ๊าดต่อวัน และการถอนโดยใช้สมุดคู่ฝากจำกัดไว้ที่ 2 ล้านจ๊าดต่อสัปดาห์สำหรับลุกค้าบุคคล และ 20 ล้านจ๊าดสำหรับธุรกิจ

ในทางปฏิบัติ ธนาคารส่วนใหญ่จำกัดการวงเงินถอน โดยธนาคาร KBZ อนุญาตให้ใน 1 สัปดาห์ถอนเงินได้ 200,000 จ๊าดจากตู้เอทีเอ็ม และ 1 ล้านจ๊าดสำหรับการถอนด้วยสมุดคู่ฝาก ส่วนธนาคาร AYA และธนาคาร AGD จำกัดการถอนจากตู้เอมทีเอ็มไว้ที่ 150,000 จ๊าดต่อวัน รวมทั้งจำกัดจำนวนลูกค้าที่จะให้บริการที่สาขาในแต่ละวัน ทำให้ผู้ฝากเงินถอนเงินออกจากบัญชีได้ยากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ หลายบริษัทเริ่มหันมารับชำระเงินด้วยเงินสดมากขึ้นแทนการโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ นอกเหนือไปจากปัญหาการโอนเงินข้ามแดน

ผู้คนยังต้องการถอนเงินจ๊าดออกจากบัญชีเพื่อไปซื้อเงินดอลลาร์ หรือทองคำ เก็บไว้หลังจากเงินจ๊าดอ่อนค่าลง

สถานการณ์นี้ยังทำเกิดการขายลดเงินฝากในบัญชีเพื่อแลกกับเงินสด ตัวอย่าง ลูกค้า ก ตกลงที่จะโอนเงินเงินสด 10 ล้านจ๊าดให้กับลูกค้า ข ซึ่งจะได้รับเงินเพียง 9.7 ล้านจ๊าด และ ก จะได้กำไร 300,000 จ๊าด

ธนาคารกลางยังได้ออกประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม ประชาชนสามารถเปิดบัญชีเงินฝากใหม่ได้ โดยไม่จำกัดวงเงินถอน เพื่อส่งเสริมให้คนนำเงินมาฝากธนาคารมากขึ้น แต่ไม่ได้ผลนักเพราะคนไม่เชื่อมั่นในระบบ

ธนาคารเอกชนส่วนใหญ่เริ่มเปิดให้บริการอีกครั้งในช่วงปลายเดือนเมษายน ท่ามกลางการขู่ลงโทษของรัฐบาลทหารหลายครั้ง และสั่งให้เจ้าหน้าที่ขึ้นบัญชีดำพนักงานที่ไม่ยอมกลับเข้าทำงาน ลูกค้ามาที่ธนาคารเพื่อถอนเงินสดเท่านั้น ยิ่งทำให้เกิดปัญหาต่อกระแสเงินสดมากขึ้น

ธนาคาร KBZ ธนาคารที่ใหญ่สุดของประเทศเปิดบริการที่สาขาได้มากขึ้นเป็น 25 แห่งในย่างกุ้งจากก่อนที่เปิดบริการเพียง 6 สาขา แต่สาขาส่วนใหญ่อีกครึ่งหนึ่งของ ทั้งหมด 500 สาขาทั่วประเทศได้เปิดบริการ ส่วนธนาคาร AYA ธนาคาร CB และธนาคาร Yoma เริ่มเรียกตัวพนักงานกลับไปทำงานให้บริการอีกครั้ง

ผู้สังเกตการณ์บางรายมีการประเมินว่า หากการถอนเงินสดยังคงดำเนินต่อไปในระดับปัจจุบัน ระบบธนาคารอาจล่มสลายในอีก 2 เดือนข้างหน้า และระบุว่า ธนาคารกลางแห่งเมียนมาไม่สามารถจัดหาสภาพคล่องที่จำเป็นให้กับธนาคารได้

“นี่คือวิกฤติความเชื่อมั่น ผู้คนไม่ไว้วางใจการปกครองของระบอบกองทัพ จึงไม่แปลกใจที่พวกเขาไม่ไว้วางใจระบบธนาคาร วิกฤตจะคลี่ คลายก็ต่อเมื่อรัฐบาลประชาธิปไตยกลับมา” นักวิเคราะห์รายหนึ่งที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อให้ความเห็น

ที่มาภาพ: https://www.frontiermyanmar.net/en/as-striking-staff-return-to-work-myanmars-banks-face-a-cash-crunch/

เงินจ๊าดร่วง

ค่าเงินจ๊าดร่วงลงเนื่องจากความเชื่อมั่นและการค้าลดลง โดยอ่อนค่าลงมากกว่า 20% นับตั้งแต่รัฐประหาร และแตะระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในรอบทศวรรษเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม

อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์อยู่ที่ 1,345 จ๊าดในเดือนมกราคมอ่อนคาลงเป็น 1,465 จ๊าดหลังการรัฐประหาร และแตะ 1,550 จ๊าดในเดือนมีนาคมจากนั้นอ่อนค่าต่อเนื่องมาที่ 1,680 จ๊าดในวันที่ 11 พฤษภาคม

การส่งออกลดลงประมาณ 45% และการนำเข้า ลดลง 65% เงินจ๊าดที่อ่อนค่าส่งผลให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น กระทบคนยากจนและทำให้เกิดการขาดแคลนสิ่งของจำเป็นบางอย่าง รวมทั้งค่าน้ำมันและค่ายา

ที่มาภาพ: https://www.irrawaddy.com/news/burma/100-days-since-myanmars-coup-looming-economic-collapse-poverty-and-hunger.html

คนตกงานกว่าครึ่งล้าน

สหภาพแรงงานของเมียนมาคาดว่าคนงานราว 600,000 คนตกงาน นับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มเป็นอัมพาตหลังจากแบรนด์ต่างประเทศรายใหญ่ระงับคำสั่งซื้อ และการปราบปรามในเขตอุตสาหกรรมบีบให้โรงงานต่างๆ ปิดตัวลง และคนงานต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา

เมียนมามีรายได้ระหว่าง 4-6 พันล้านเหรียญสหรัฐจากการส่งออกเสื้อผ้าในปี 2563 และอุตสาหกรรมนี้จ้างงานกว่า 500,000 คนก่อนรัฐประหาร แต่สัดส่วนกว่า 75% ของภาคอุตสาหกรรมนี้เจอแรงกดดันทำให้ต้องระงับการดำเนินงานตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์

สหภาพแรงงานระบุว่า คนงานตัดเย็บเสื้อผ้ากว่า 300,000 คนตกงานและบริษัท Benetton ของอิตาลีและ H&M ผู้ค้าปลีกสัญชาติสวีเดนได้งดการส่งคำสั่งซื้อใหม่ชั่วคราว

สหภาพแรงงานด้านการก่อสร้างระบุว่า แรงงานก่อสร้างราว 300,000 ถึง 400,000 คนหายไปเนื่องจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทั้งหมดในย่างกุ้งหยุดชะงัก

งานวิชาชีพก็กำลังหายไป บริษัทจัดหางานระบุว่าพนักงานหลายร้อยคนจาก บริษัทต่างชาติในเมืองใหญ่ๆ ตกงาน

คนงานโรงงานสิ่งทอในย่างกุ้ง ที่มาภาพ: https://www.irrawaddy.com/news/burma/100-days-since-myanmars-coup-looming-economic-collapse-poverty-and-hunger.html

คนนับล้านอดอยาก

โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (World Food Program: WFP) เตือนว่า ปีนี้พลเมือง 3.4 ล้านคนประสบกับความอดอยากท่ามกลางราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น และงานด้านการผลิต การก่อสร้าง และการบริการที่หายไป

WFP ประเมินว่า ความไม่มั่นคงด้านอาหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเมียนมาควบคู่ไปกับราคาอาหารและการไม่มีงานทำ นอกจากนี้ยังระบุว่า ความกังวลสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กำลังเร่งให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยและวิกฤติด้านมนุษยธรรม

WFP เรียกร้องให้มีการตอบสนองร่วมกันโดยทันทีเพื่อบรรเทาความยากลำบากและเพื่อป้องกันการถดถอยรุนแรงของความมั่นคงทางอาหาร ดัชนีชี้วัดของ WFP แสดงให้เห็นว่า ราคาขายปลีกน้ำมันปาล์มในย่างกุ้ง เพิ่มขึ้น 20% ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนราคาข้าวในย่างกุ้งและมัณฑะเลย์เพิ่มขึ้นถึง 4%

นอกจากนี้ยังคาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากภาคธนาคารใกล้จะเป็นอัมพาต การรับเงินโอนจากต่างประเทศชะลอตัว และการขาดเงินสดที่กระจายในวงกว้าง

คนยากจนเพิ่ม 2 เท่า

ด้านรายงาน COVID-19, Coup d’Etat and Poverty: Compounding Negative Shocks and Their Impact on Human Development in Myanmar ของ UNDP ระบุว่า โรคระบาดและวิกฤติทางการเมืองอาจส่งผลให้ประชากรครึ่งหนึ่งของเมียนมาต้องตกอยู่ในความยากจนภายในปี 2565

ผลกระทบร่วมกันของทั้งสองวิกฤติอาจทำให้การลดความยากจนในประเทศที่มีความคืบหน้าในทศวรรษที่ผ่านมามีความเสี่ยง

รายงานวิจัยของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติพบว่า หลังจากที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการขจัดความยากจนที่มีมานานกว่าทศวรรษ จำนวนคนยากจนในเมียนมาอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากผลกระทบร่วมกันของการแพร่ระบาดของโควิด -19 และวิกฤติทางการเมืองที่มีอยู่

:https://www.asia-pacific.undp.org/content/rbap/en/home/presscenter/pressreleases/2021/pandemic-and-political-crisis-could-result-in-half-of-myanmars-p.html

รายงานเตือนว่า หากไม่สามารถจัดการได้ ผลรวมของทั้งสองวิกฤตินี้อาจผลักดันให้ผู้คนมากถึง 12 ล้านคนเข้าสู่ความยากจน และโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรเมียนมา ที่จะอยู่ใต้เส้นความยากจนของประเทศภายในต้นปี 2565 ซึ่งเป็นระดับความยากจนที่ไม่ได้ปรากฏในประเทศมาตั้งแต่ปี 2548

ผลการวิเคราะห์พบว่า ภายในสิ้นปี 2563 ครัวเรือน 83% ให้ข้อมูลว่าโดยเฉลี่ยแล้วรายได้ลดลงเกือบครึ่งเนื่องจากการระบาด ด้วยสถาน การณ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จำนวนผู้ที่อาศัยอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนในเมียนมาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 11% จากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากวิกฤติโควิด -19

รายงานได้คาดการณ์ว่า สถานการณ์ด้านความมั่นคง สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาที่เลวร้ายลงในเมียนมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 อาจทำให้อัตราความยากจนของประเทศเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง โดยจะเพิ่มขึ้นอีก 12% ภายในต้นปีหน้า

“ในช่วง 12 ปีตั้งแต่ปี 2548 ถึง 2560 เมียนมาสามารถแก้ไขความยากจนในกลุ่มประชาชนที่ยากจนได้เกือบครึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาทำให้การพัฒนาที่ได้ประสบความสำเร็จนี้ตกอยู่ในความเสี่ยง” อาคิม สไตน์เนอร์ จาก UNDP ให้ความเห็น

“หากปราศจากสถาบันประชาธิปไตยที่ทำหน้าที่ได้แล้ว เมียนมาต้องเผชิญกับการถอยหลังที่น่าเศร้าและหลีกเลี่ยงไม่ได้ไปสู่ระดับความยากจนที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในชั่วอายุคน”

จากการศึกษาคาดว่า ผู้หญิงและเด็กจะต้องรับกระทบหนักที่สุด โดยคาดว่าเด็กกว่าครึ่งของเมียนมาจะต้องอยู่อย่างแร้นแค้นภายในหนึ่งปี

ความยากจนในเมืองคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า และเงื่อนไขด้านความปลอดภัยที่เลวร้ายลงได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและขัดขวางการสัญจรของคน บริการ และสินค้า รวมถึงการจัดหาสินค้าเกษตร ธุรกิจขนาดเล็กซึ่งเป็นแหล่งงานและรายได้ส่วนใหญ่ให้กับกลุ่มประชากรที่ยากจนในเมืองได้รับผลกระทบอย่างหนัก

แรงกดดันต่อสกุลเงินจ๊าดของประเทศทำให้ราคานำเข้าและพลังงานเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันระบบธนาคารของประเทศยังคงเป็นอัมพาต ส่งผลให้ขาดแคลนเงินสดและมีข้อจำกัด ในการเข้าถึงเงินจากสวัสดิการสังคม นอกจากนี้ยังเป็นอุปสรรคต่อการโอนเงินกลับประเทศให้ครอบครัวที่ลำบาก

“เราได้เห็นวิกฤติที่ทวีความรุนแรงและซับซ้อนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เมียนมาสามารถลดความยากจนลงได้ครึ่งหนึ่ง และด้วยการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ก็แสดงให้เห็นถึงสัญญาณของการเพิ่มขึ้นของผลที่ได้จากการพัฒนามนุษย์ที่เปราะบาง ตอนนี้เหมือนกับย้อนกลับไปสู่ปี 2548 ผลกระทบของโควิด-19 และวิกฤติทางการเมืองร่วมกันทำให้สั่นสะเทือนทั้งระบบ ซึ่งอาจนำไปสู่การหยุดชะงักในเส้นทางการพัฒนาของเมียนมาในระยะยาว เว้นแต่จะได้รับการแก้ไขและแก้ไขเร็ว คานนี วิกนาราจา ผู้ช่วยเลขาธิการ UN และผู้อำนวยการภูมิภาค UNDP ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ให้ความเห็น