ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามวางยุทธศาสตร์ขึ้น 1 ใน 5 ผู้นำอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปของโลก

ASEAN Roundup เวียดนามวางยุทธศาสตร์ขึ้น 1 ใน 5 ผู้นำอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปของโลก

22 สิงหาคม 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 15-22 สิงหาคม 2564

  • เวียดนามวางยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป
  • สิงคโปร์ผ่อนปรนมาตรการชายแดน เปิด Vaccinated Travel Lane
  • สิงคโปร์ จีน หารือความร่วมมือการค้าดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว
  • เมียนมาอนุญาตการลงทุนต่างประเทศ 45 ราย
  • เวียดนามวางยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป

    ที่มาภาพ:https://en.nhandan.vn/business/item/10326902-vietnam-poised-to-become-world%E2%80%99s-leading-seafood-processing-centre.html
    การเติบโตของผลผลิตอาหารทะเลแปรรูปในเวียดนามจะสูงถึง 6% ต่อปีภายในปี 2573 ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาแปรรูปอาหารทะเลแห่งชาติ ปี 2564-2573 ซึ่งได้รับการอนุมัติจากนายกรัฐมนตรี

    ยุทธศาสตร์นี้มีเป้าหมายผลักดันเวียดนามให้เป็นศูนย์แปรรูปอาหารทะเลและติด 5 อันดับแรกของประเทศแปรรูปอาหารทะเลในโลกภายในปี 2573 นอกจากนี้ยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน ตอบสนองความต้องการของตลาดการบริโภค ปรับปรุงความสามารถในการแข่งขัน และมีส่วนร่วมอย่างลึกในห่วงโซ่คุณค่าของโลก

    ภายใต้ยุทธ์ศาสตร์นี้ ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มูลค่าเพิ่มจะมีสัดส่วนมากกว่า 40% ของมูลค่าการส่งออกอาหารทะเลทั้งหมด และสถานประกอบการแปรรูปอาหารทะเลอย่างน้อย 70% จะมีเทคโนโลยีการผลิตตั้งแต่ระดับกลางถึงขั้นสูง

    ยุทธ์ศาสตร์นี้ยังตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2573 มูลค่าของการแปรรูปอาหารทะเลเพื่อการบริโภคภายในประเทศจะสูงถึง 40 – 45 ล้านล้านด่อง (1.7-1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) นอกเหนือจากมูลค่าการส่งออกอาหารทะเลที่ มีมูลค่า14-16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะมีการจัดตั้งบริษัทแปรรูปอาหารทะเลสมัยใหม่จำนวนหนึ่งที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและการจัดการที่ทัดเทียมกับระดับโลกอีกด้วย

    เพื่อให้บรรลุเป้าหมายจึงได้กำหนดภารกิจบางด้านไว้ในยุทธศาสตร์รวมถึงการพัฒนาและการจัดการการผลิตวัตถุดิบสำหรับการแปรรูปอาหารทะเลเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการและสอดคล้องกับข้อกำหนดของการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก
    โดยต้องมีการปฏิบัติตามกฎระเบียบทั้งภายในประเทศและแนวปฏิบัติระหว่างประเทศและข้อกำหนดรวมถึงการตรวจสอบย้อนกลับและแหล่งกำเนิด

    นอกจากนี้มีความจำเป็นต้องดึงดูดการลงทุนเพื่อจัดตั้งบริษัทแปรรูปอาหารทะเลขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและการบริหารธุรกิจที่ทัดเทียมกับระดับโลกและยกระดับเทคโนโลยีและขีดความสามารถของโรงงานแปรรูปอาหารทะเลเพื่อการส่งออก ตลอดจนควรปรับโครงสร้างห่วงโซ่การผลิตเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป

    สิงคโปร์ผ่อนปรนมาตรการชายแดน เปิด Vaccinated Travel Lane

    ที่มาภาพ: https://www.visitsingapore.com/see-do-singapore/recreation-leisure/viewpoints/merlion-park/
    ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน ชาวสิงคโปร์ที่ได้รับวัคซีนครบจะสามารถบินไปเยอรมนีและเดินทางกลับได้โดยไม่ต้องแจ้งผ่านการกักตัว(SHN) โดยมาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการผ่อนคลายชายแดนสำหรับนักเดินทางจากบางเมืองและบางประเทศ

    นายเอส. อิสวารัน รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมกล่าวในการแถลงข่าวว่า สิงคโปร์จะใช้ “แนวทางที่รอบคอบระมัดระวัง เป็นขั้นเป็นตอน” เพื่อเปิดพรมแดนอีกครั้ง และยังเน้นว่าความเชื่อมโยงของสิงคโปร์กับโลกเป็นสิ่งสำคัญ โดยกล่าวว่า “ยิ่งพรมแดนของเรายังคงปิดอยู่นานเท่าไร ความเสี่ยงของความเสียหายต่อเศรษฐกิจของเรา การดำรงชีวิต และสถานะของเราในฐานะศูนย์กลางการบินก็ยิ่งสูงขึ้นและนานขึ้น”

    การผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางครั้งล่าสุดนี้อยู่ภายใต้โครงการ Vaccinated Travel Lane ที่ประกาศเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม โดยสิงคโปร์จะเปิดพรมแดนสำหรับนักเดินทางที่ได้รับวัคซีนจากบางประเทศที่ผ่านการพิจารณาแล้ว โดยเริ่มจากเยอรมนีและบรูไน

    เนื่องจากขณะนี้เยอรมนีอนุญาตให้ผู้พำนักในสิงคโปร์เข้าประเทศได้ไม่มีข้อจำกัด ดังนั้นภายใต้โครงการนี้ผู้คนจะสามารถบินไปที่เยอรมนีและกลับมาได้โดยไม่ต้องกักตัว แต่จะต้องผ่านการทดสอบหาเชื้อแบบ PCR ลีเมอเรสหลายครั้งและการแยกตัวออกมาในช่วงเวลาสั้น ๆ

    สิงคโปร์จะยกเลิกข้อจำกัดสำหรับนักเดินทางขาเข้าจากมาเก๊าและฮ่องกงเพียงฝ่ายเดียว ผู้ที่เดินทางเข้ามาแบบระยะสั้นจากทั้งมาเก๊า และฮ่องกงสามารถเข้าสิงคโปร์ได้โดยไม่ต้องกักตัว ไม่ว่าฉีดวัคซีนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม จะต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 เมื่อเดินทางมาถึงและต้องมีประกันโรค

    สิงคโปร์จะแบ่งประเทศและภูมิภาคออกเป็นสี่ประเภทตามความเสี่ยง พร้อมมาตรการชายแดนที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละกลุ่ม

    นายอ๋อง เย กุง รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ยังให้ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม โดยระบุว่าจำนวนผู้ป่วยได้ลดลงเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ในการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 2 ของสิงคโปร์

    นายอ๋องกล่าวว่า แสดงให้เห็นว่าการแพร่เชื้อไวรัสสามารถควบคุมได้ด้วยอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงและมาตรการจัดการความปลอดภัย ซึ่งแตกต่างตามสถานะการฉีดวัคซีน

    คณะทำงานเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์โควิด-19 ยังได้ประกาศการเปลี่ยนแปลงวิธีที่สิงคโปร์จะจัดการกับการฉีดวัคซีนและกรณีที่ป่วยไม่รุนแรงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
    ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงอาจได้รับอนุญาตให้พักฟื้นที่บ้านได้ ภายใต้โครงการนำร่องใหม่

    ทางการกำลังศึกษาการวัคซีนเข็มสามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันสำหรับประชากรทั่วไป และวางแผนที่จะให้อนุญาตให้ฉีดวัคซีนเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีได้ในต้นปีหน้า

    นายลอว์เรนซ์ หว่อง รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสิงคโปร์ ระบุว่า สิงคโปร์อยู่ในสถานะที่ดีขึ้นในการเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง เนื่องจากมีวัคซีนครอบคลุมในระดับสูง

    แต่ประชาชนควรระลึกไว้เสมอว่า จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นตามที่มีการแพร่กระจาย และเตรียมพร้อมสำหรับ “มาตรการที่หนักและยาว” เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศที่ต้านทานโควิดได้

    นายลอว์เรนซ์กล่าวว่า ประเทศไม่สามารถรับความเสี่ยงจากการเปิดประเทศแบบใหญ่ในทันที อีกครั้งซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ ดังนั้นจึงใช้วิธีการทีละขั้นตอนแทน

    “ทุกครั้งที่เราดำเนินการ เราจะติดตามข้อมูล เราจะตรวจสอบหลักฐาน และทำให้แน่ใจว่าระบบโรงพยาบาลของเราสามารถรับมือกับสถานการณ์การติดเชื้อได้ก่อนที่เราจะดำเนินการในขั้นต่อไป”

    สิงคโปร์ จีน หารือความร่วมมือการค้าดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว

    รัฐมนตรีการค้าจากสิงคโปร์และจีนเห็นพ้องที่จะ สำรวจโอกาสเพิ่มเติมในการค้าดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียวหลังจากการประชุมผ่านระบบออนไลน์ในวันที่ 20 สิงหาคม แถลงกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (MTI) ระบุ

    การเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทวิภาคีเป็นประเด็นหลักในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (IPC) ครั้งที่ 6 ซึ่งมีรัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ นายกัน กิม หยง และนายหวัง เหวินเทา รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธานร่วม กระทรวง MTIระบุในแถลงการณ์

    การประชุมครั้งล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2560 เป็นเวทีสำหรับสิงคโปร์และจีนในการหารือเกี่ยวกับนโยบายและการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความเชื่อมโยงและความร่วมมือด้านการลงทุนของสอง

    “การประชุม IPC เป็นเวทีที่มีคุณค่าสำหรับสิงคโปร์และจีนในการสำรวจโอกาสใหม่ๆ สำหรับความร่วมมือ ในขณะที่ทั้งสองประเทศจัดการการระบาดใหญ่ของ Covid-19 และแสวงหาโอกาสการเติบโตใหม่” นายกันกล่าวหลังการประชุม “การประชุมในวันนี้สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องระหว่างสิงคโปร์และจีน และแสดงให้เห็นว่าสิงคโปร์และจีนมีความมุ่งหมายในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และให้โอกาสมากขึ้นสำหรับธุรกิจและประชาชนของเรา”

    กระทรวง MTI ระบุว่า นายกันและนายหวังยืนยันความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทวิภาคีที่แข็งแกร่งและยาวนานระหว่างสิงคโปร์และจีน

    เมียนมาอนุญาตการลงทุนต่างประเทศ 45 ราย

    ที่มาภาพ:
    https://www.gnlm.com.mm/singapore-tops-source-of-fdis-in-myanmar-in-2020-2021fy/

    เมียนมาดึงดูด การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากกว่า 3.767 พันล้านดอลลาร์ในช่วงสิบเดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2563-2564 จาก 45 องค์กร รวมถึงการขยายการลงทุนของกิจการที่ดำเนินการอยู่และการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา จากรายงานของคณะกรรมการการลงทุน และการจัดการบริษัท (Directorate of Investment and Company Administration :DICA)

    กระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่างประเทศได้เชิญธุรกิจที่ดำเนินการกิจการอย่างมีความรับผิดชอบให้เข้ามาลงทุนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศ

    สำนักงานคณะกรรมการการลงทุนแห่งเมียนมา (MIC)ให้ความมั่นใจว่าจะอนุมัติธุรกิจที่ดำเนินกิจการอย่างมีความรับผิดชอบโดยการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม คณะกรรมการกำลังทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกลั่นกรองโครงการ

    ในเดือนพฤษภาคม องค์กรที่จดทะเบียนในอังกฤษใช้เงินลงทุนจำนวน 2.5 ล้านดอลลาร์ และกลายเป็นแหล่งเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเมียนมาในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา สถิติของ DICA ระบุ

    ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับสองของปีงบประมาณนี้ ด้วยทุนประมาณ 518.76 ล้านดอลลาร์จากสามโครงการ รองลงมาคือสิงคโปร์ลงทุน 428.336 ล้านดอลลาร์ในเมียนมา

    บริษัทจากบรูไน จีน ไทย อินเดีย มาเลเซีย สาธารณรัฐเกาหลี เวียดนาม เกาะมาร์แชลล์ ซามัว ฮ่องกง (SAR) และจีน (ไทเป) ก็เข้าลงทุนด้วยเช่นกัน

    ในบรรดาผู้ประกอบการต่างประเทศ 45 แห่งที่ได้รับอนุญาตและรับรองโดย MIC และคณะกรรมการการลงทุน ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคมถึง 31 กรกฎาคมของปีงบประมาณปัจจุบัน มีบริษัท 24 แห่งได้ลงทุนในภาคการผลิต ส่วนภาคไฟฟ้ารับ 6 โครงการใหญ่ และภาคปศุสัตว์และประมงดึงดูด 6 โครงการ ภาคบริการอื่นๆ ดึง 5 โครงการ ขณะที่ภาคเกษตรกรรมดึง 2 โครงการ และบริษัทต่างชาติ 1 รายเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรม และภาคการโรงแรมและการท่องเที่ยว

    การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีจำนวน 6.9 ล้านดอลลาร์จาก 158 องค์กรในปีงบประมาณ 2559-2560 ในปีงบประมาณ 2560-2561 มีจำนวน 6.119 พันล้านดอลลาร์จาก 234 ธุรกิจในปีงบประมาณย่อย 2561 มีจำนวน 1.94 พันล้านดอลลาร์จาก 89 โครงการ ในปีงบประมาณ 2561 -2562 มีจำนวน 4.5 พันล้านดอลลาร์จาก 298 ธุรกิจ และ ในปีงบประมาณ 2562-2563 มีจำนวน 5.689 พันล้านดอลลาร์จาก 253 ธุรกิจ

    บริษัทเหล่านั้นสร้างงานมากกว่า 96,000 ตำแหน่งในปีงบประมาณ 2559-2560 โดยสร้างาน 110,000 ตำแหน่งในปีงบประมาณ 2560-2561 สร้างานมากกว่า 53,000 ตำแหน่งในช่วงปีงบประมาณย่อย 2561 สร้างงานมากกว่า 180,000 ตำแหน่งในปีงบประมาณ 2561 -2562และสร้างงาน 210,000 ตำแหน่งในปีงบประมาณ 2562-2563