ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามเล็งส่งออกข้าว 7 ล้านตันปี ’63 เมียนมาวางกฎต่างชาติเดินทางเข้ากักตัว 21 วัน

ASEAN Roundup เวียดนามเล็งส่งออกข้าว 7 ล้านตันปี ’63 เมียนมาวางกฎต่างชาติเดินทางเข้ากักตัว 21 วัน

7 มิถุนายน 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 31 พฤษภาคม-6 มิถุนายน 2563

  • เวียดนามเล็งส่งออกข้าว 7 ล้านตันปี ’63
  • เวียดนามลดภาษีอากรขาเข้าเนื้อหมู
  • อินโดนีเซียพัฒนา 89 โครงการยุทธศาสตร์ปี 2563-2567
  • อินโดนีเซียให้คนเดินทางเข้าจากต่างประเทศโชว์ผลตรวจไวรัส
  • เมียนมาวางกฎต่างชาติเดินทางเข้ากักตัว 21 วัน
  • เมียนมากำหนดเลือกตั้งทั่วไปพฤศจิกายนนี้
  • กัมพูชาเริ่มลดใช้เงินดอลลาร์
  • เวียดนามเล็งส่งออกข้าว 7 ล้านตันปี ’63

    ที่มาภาพ: https://vnexplorer.net/vietnam-to-export-400000-tonnes-of-rice-this-april-a202021097.html
    เวียดนามผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสามของโลก ตั้งเป้าที่จะส่งออกข้าว 7 ล้านตันในปีนี้ จากการเปิดเผยของรัฐบาล

    “การส่งออกในปีนี้จะมากกว่าปีก่อนราว 400,000-500,000 ตัน” นายมาย เทียน ดุง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวในการแถลงข่าว

    นายดุงกล่าวว่า การเก็บเกี่ยวข้าวในปีนี้ผิดไปจากปีก่อน เนื่องจากประสบกับภัยแล้งและน้ำทะเลรุกล้ำสามเหลี่ยมปากแม่น้ ำซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญของประเทศ

    ในปีที่แล้ว เวียดนามเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสามของโลกรองจากอินเดียและประเทศไทย โดยส่งออกข้าวรวม 6.37 ล้านตัน รวมมูลค่า 2.81 พันล้านดอลลาร์ โดยตลาดหลักอยู่ที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งซื้อข้าวกว่า 2.1 ล้านตัน

    นายดุงกล่าวอีกว่า ได้กันข้าวสำหรับการบริโภคในประเทศไว้แล้ว 270,000 ตัน ซึ่งรวมข้าวเปลือกที่ยังไม่ได้สี 80,000 ตัน เพื่อความมั่นคงทางอาหาร

    การส่งออกข้าวในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้เพิ่มขึ้น 3.7% จากปีก่อนเป็น 2.86 ล้านตัน รวมมูลค่า 1.41 พันล้านดอลลาร์ หรือมีรายได้จากการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น 18.9% ข้อมูลจากสำนักงานสถิติระบุว่า ราคาเฉลี่ยรอบ 5 เดือนอยู่ที่ 485 ดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มขึ้น 13%

    กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามเชื่อว่า เวียดนามมีโอกาสที่จะแซงหน้าประเทศไทยในการส่งออกข้าวปีนี้ เนื่องจากราคาข้าวอยู่ในระดับที่แข่งขันได้และจากการเร่งขนข้าวหลังจากยกเลิกโควตา

    นับตั้งแต่เวียดนามกลับมาส่งออกข้าวเต็มที่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ราคาข้าวในช่วงเดือนนั้นเพิ่มขึ้นมาที่ระดับสูงสุดของปีที่ 527 ดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มขึ้น 5.6% จากเดือนก่อนหน้าและ 21.4% จากระยะเดียวกันของปีก่อน

    เวียดนามลดภาษีอากรขาเข้าเนื้อหมู

    ที่มาภาพ: https://vietnamnews.vn/economy/653516/viet-nam-increases-pork-imports-to-reduce-price-on-local-market-mard.html

    ในไตรมาสแรกปี 2563 นี้ เวียดนามนำเข้าหมูและเนื้อหมูหลายแบบจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 251% จากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยมีปริมาณทั้งสิ้น 4,382 ตัน เนื่องจากการเลี้ยงหมูในประเทศได้รับผลกระทบจากโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever: ASF) ระบาด

    เวียดนามได้ประกาศลดอัตราอากรขาเข้าตามกรอบทั่วไป MFN (most favoured nation) สำหรับหมูนำเข้า มีผลตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคมนี้ โดยอัตราอากร MFN สำหรับเนื้อหมูที่มีกล้ามเนื้อลายแช่แข็งลดลงจาก 15% เป็น 10% ไปจนถึงสิ้นปีนี้ ส่วนอัตราอากร MFN สำหรับเนื้อหมูแช่แข็งส่วนอื่นๆ ยังคงอยู่ที่ 8% และลดอัตราอากร MFN สำหรับเนื้อหมูที่มีกล้ามเนื้อลายแช่เย็นลดลงจาก 25% เป็น 22%

    “กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ประเมินว่าการผลิตหมูของเวียดนามในปีก่อนลดลงอย่างน้อย 15% และลดลงแล้วมากกว่า 5%” นายเอริน โบร์โรว์ นักเศรษฐศาสตรจากสมาพันธ์ส่งออกเนื้อของสหรัฐฯ ให้ความเห็น “และในปีนี้สต็อกหมูได้ลดลง 13% และมีข่าวว่าเวียดนามจะลดลงอัตราอากรขาเข้า แม้ราคาสุกรและเนื้อหมูเพิ่มขึ้น และการนำเข้าไม่มากพอที่จะลดการขาดแคลน และราคาสุกรในเวียดนามไม่ได้ลดลงเหมือนในประเทศอื่นๆ เช่น จีน ที่เพิ่งลดลง แต่ราคาในเวียดนามกลับเพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่ ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลจึงหาทางเพิ่มการนำเข้าและรักษาเสถียภาพราคาเนื้อหมูในประเทศ”

    การลดอัตราอากร MFN ของเวียดนามเป็นจังหวะดีสำหรับอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เพราะอัตราอากรนำเข้าที่เก็บจากเนื้อหมูแช่แข็งจากแคนาดาภายใต้ความตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) สำหรับชิ้นเนื้อหมูส่วนกล้ามเนื้ออยู่ที่ 9.3% และอยู่ที่ 4% สำหรับเนื้อหมูส่วนอื่นๆ และการนำเข้าเนื้อหมูของเวียดนามจากสหภาพยุโรปก็จะต้องเรียกเก็บในอัตราอากรใกล้เคียงกันตามข้อตกลงความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EU-Vietnam Free Trade Agreement) ซึ่งคาดว่าสภาแห่งชาติเวียดนามจะให้การรับรองภายในเดือนนี้

    อินโดนีเซียพัฒนา 89 โครงการยุทธศาสตร์ปี 2563-2567

    โครงการทางด่วนเชื่อมเมืองในเมดานกับตบิง ติงงี ในสุมาตราเหนือ ที่มาภาพ: https://www.thejakartapost.com/news/2020/06/03/indonesia-to-develop-89-new-strategic-projects-in-2020-2024.html
    รัฐบาลอินโดนีเซียเดินหน้าพัฒนาโครงการยุทธศาตร์เพิ่มเติมอีก 89 โครงการ รวมมูลค่าลงทุน 1.422 ล้านล้านล้านล้านรูเปียะห์ (1.422 quadrillion rupiah) แม้ยังมีการระบาดของไวรัสโควิด-19

    นายเอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานเศรษฐกิจเปิดเผยว่า โครงการใหม่ขึ้นเป็นโครงการที่เพิ่มเข้ามานอกเหนือจาก 223 โครงการยุทธศาสตร์เดิม ซึ่งคาดว่าจะสร้างงานราว 4 ล้านคนทุกปีตั้งแต่ปี 2563-2567

    “ในช่วงการพัฒนาโครงการ 5 ปีข้างหน้า โครงการน่าจะจ้างงานได้ถึง 19 ล้านคน” นายเอร์ลังกากล่าวและว่า ทั้ง 89 โครงการนี้จะเป็นการสร้างถนนและสะพาน 15 โครงการ, สร้างเขื่อนและระบบชลประทาน 13 แห่ง, พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบริเวณพรมแดน 13 โครงการ, พัฒนาพลังงานอีก 12 โครงการ, โครงการเส้นทางรถไฟ 6 สาย, โครงการน้ำสะอาด 6 โครงการ, สร้างสนามบิน 5 แห่ง, นิคมอุตสาหกรรม 5 แห่ง, โครงการเทคโนโลยี 3 โครงการ, สร้างโรงหลอม 3 แห่ง, กำแพงกันคลื่นในทะเล 1 แห่ง, โครงการบำบัดของเสีย 1 โครงการ และโครงการจัดหาที่ดิน 1 แห่งในกาลีมันตันกลาง

    ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด กล่าวว่า แม้ยังมีการระบาดของไวรัส การพัฒนาโครงการยุทธศาสตร์ของประเทศต้องเดินหน้า แต่ต้องรักษามาตรฐานสุขอนามัย รวมทั้งได้เร่งให้มีการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มาจากคน ทั้งการรับรองที่ดิน การทำให้ที่ดินถูกกฎหมาย และโครงการสังคมอยู่ร่วมกับป่า

    นายบาสุกิ ฮาดิมุลโจโน รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและที่อยู่อาศัย กล่าวว่า แหล่งท่องเที่ยวหลัก 5 แห่งก็ได้จัดให้อยู่ในโครงการยุทธศาสตร์นี้เช่นกัน ได้แก่ ลาบวนบาโจ ในจังหวัดนูซาเติงการาตะวันออก, บูโรพุทโธ ในชวากลาง, ลิกูปังในสุลาเวสีเหนือ ทะเลสาปโทบาในสุมาตราเหนือ และมัณฑาริกาในนูซาเติงการาตะวันตก

    นายบาสุกิกล่าวว่า จะมีการเริ่มโครงการทางด่วนบางโครงการในปีนี้

    ก่อนหน้านี้อินโดนีเซียประกาศโครงการยุทธศาสตร์ 223 โครงการรวมมูลค่าลงทุน 4.2 ล้านล้านล้านรูเปียะห์ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนลำดับความสำคัญมากตั้งแต่ปี 2559

    ในช่วงปี 2559-2562 มีโครงการที่เสร็จสิ้น 92 โครงการ จาก 144 โครงการ ที่ตั้งเป้าว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563

    อินโดนีเซียให้คนเดินทางเข้าต่างประเทศโชว์ผลตรวจไวรัส

    ที่มาภาพ: https://en.antaranews.com/news/150144/new-protocol-requires-international-flyers-to-submit-swab-test-result

    อินโดนีเซียกำหนดให้ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศจากต่างประเทศโดยการบินจะต้องแสดงผลตรวจโควิด-19 แบบ PCR โดยต้องมีผลเป็นลบ ส่วนผู้ที่เดินทางกับเที่ยวบินในประเทศ จะต้องรับการตรวจแบบ rapid test

    “สำหรับเที่ยวบินในประเทศ ผู้โดยสารอาจจะแสดงผลตรวจไวรัสโควิด-19 แบบ PCR หรือยอมรับการตรวจแบบ rapid test” นายโดนี โมนาร์โด หัวหน้าคณะทำงานบริหารสถานการณ์โควิด-19แห่งชาติ (National Task Force for the Acceleration of COVID-19 Handling) เปิดเผย

    ทั้งนี้ผู้ที่เดินทางต้องปฏิบัติตามคำสั่งของคณะทำงานและกระทรวงสาธารณสุข โดยนายโมนาร์โดระบุว่า ภายใต้คำสั่งใหม่ “ผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไป หรือแรงงานที่ไปทำงานในต่างประเทศ จะต้องแสดงผลการตรวจไวรัสแบบ PCR”

    เมียนมาวางกฎต่างชาติเดินทางเข้ากักตัว 21 วัน

    ที่มาภาพ: https://www.mmtimes.com/news/myanmar-quarantine-or-turn-back-tourists-5-countries.html
    คณะกรรมการกลางด้านการป้องกัน ควบคุม และการรักษา เมียนมา ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ให้ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสุขอนามัย

    โดยชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าจะต้องกักตัวเป็นเวลา 21 วัน ซึ่งเป็นการกักตัวที่บ้านของตัวเอง 1 สัปดาห์ก่อนที่จะบินเข้าเมียนมา เมื่อเดินทางเข้ามาแล้วจะต้องกักตัวอีก 1 สัปดาห์ตามสถานที่ที่รัฐจัดไว้ จากนั้นเมื่อออกจากการกักกันในสถานที่ที่รัฐจัดไว้แล้ว จะต้องกลับมากักกันอีก 1 สัปดาห์ก่อนที่จะเริ่มกลับไปทำงานในเมียนมาได้

    นอกจากนี้ในการประชุมวันที่ 27 พฤษภาคม คณะกรรมการกลางฯ ได้กำหนดให้ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าเมียนมาต้องแสดงใบรับรองหรือผลตรวจโควิด-19 ว่าไม่ได้ติดเชื้อ และได้ผ่านการกักกันตัวที่บ้านจากประเทศของตัวเองก่อนที่จะบินเข้าเมียนมา และเมื่อมาถึงเมียนมาแล้วต้องกักตัวอีก 1 สัปดาห์ตามสถานที่ที่รัฐจัดไว้ และจะได้รับอนุญาตให้กลับไปทำงานเมื่อกักกันตัวที่บ้านต่ออีก 1 สัปดาห์และรับการตรวจ PCR swab อีกครั้งซึ่งต้องมีผลเป็นลบ

    สำหรับผู้ที่เดินทางเข้าเพื่อทำงานในโครงการ หรือธุรกิจ การก่อสร้างและห้างสรรพสินค้า จะต้องแสดงผลการตรวจจากประเทศต้นทางของตัวเองว่าไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 และต้องแสดงหลักฐานว่าได้มีการกักตัวที่บ่าน 1 สัปดาห์ก่อนขึ้นเครื่องเดินทางจริง

    คณะกรรมการกลางฯ ยังได้ขยายการบังคับใช้มาตรการป้องกันที่เข้มงวดไปจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน และกรมการบินก็ได้ประกาศขยายระยะเวลาห้ามสายการบินต่างชาติเข้าประเทศชั่วคราวไปถึงวันที่ 15 มิถุนายนเช่นกัน

    เมียนมากำหนดเลือกตั้งทั่วไปพฤศจิกายนนี้

    ที่มาภาพ: https://www.mmtimes.com/news/myanmar-2020-election-set-november-uec-official-says.html

    คณะกรรมการเลือกตั้ง (Union Election Commission: UEC) เมียนมายืนยันกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปในเมียนมาเป็นเดือนพฤศจิกายน 2563 นี้ และกำลังเตรียมการจัดการเลือกตั้งตามแผนที่วางไว้ จากการเปิดเผยของ อู มินท์ เนียง กรรมการ กกต. และได้ปฏิเสธข่าวลือว่าจะเลื่อนเลือกตั้งเพราะการระบาดของโควิด-19

    “การเลือกตั้งจะยังมีขึ้นตามที่กำหนด ไม่เปลี่ยนแปลง โดยจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนตามที่วางไว้” อู มินท์ เนียง กล่าวในการแถลงข่าวที่เนปิดอว์ วันที่ 4 มิถุนายน

    คณะกรรมการเลือกตั้งได้หารือที่จะย้ายหน่วยเลือกตั้งออกจากค่ายทหาร และการกำหนดเขตเลือกตั้ง รวมทั้งกำลังพิจารณาที่จะเพิ่มหน่วยเลือกตั้งให้มากขึ้นในเขตที่มีผู้มีสิทธิลงคะแนนหนาแน่น เพื่อสอดคล้องกับมาตรการรักษาระยะห่างทางกายภาพที่กระทรวงสาธารณสุขและกีฬาวางไว้

    คณะกรรมการฯ ได้เจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และรัฐบาล เพื่อการจัดการเลือกตั้งในรัฐยะไข่ และเขตปกครองตนเองว้า พร้อมกับได้ขอรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนที่เป็นบุคคลากรในกองทัพและครอบครัว

    ปัจจุบันมีพรรคการเมืองจดทะเบียนในประเทศ 97 พรรค โดย 79 พรรคลงรับสมัครเลือกตั้งทั่วประเทศ ส่วนที่เหลือ 18 พรรคมุ่งลงแข่งในรัฐใดรัฐหนึ่งหรือภูมิภาคหนึ่งเท่านั้น

    ในสัปดาห์ที่แล้ว รัฐสภาได้อนุมัติให้แก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งมีผลให้ย้ายหน่วยเลือกตั้งออกจากเขตทหาร และลดข้อจำกัดสำหรับผู้มีสิทธิลงคะแนนที่อยู่ต่างประเทศ

    พลเมืองเมียนมาจำนวนกว่า 37 ล้านคนมีสิทธิลงคะแนน ทั้งในหน่วยเลือกตั้งสำหรับบุคคลากรของกองทัพและครอบครัว 800 หน่วย และอีก 41,000 หน่วยเลือกตั้ง

    พรรคการเมืองบางพรรคได้เริ่มเตรียมการรับการเลือกตั้งแล้ว แต่ยังมีอีกหลายพรรคยังไม่เริ่มแคมเปญ เนื่องจากมาตรการป้องกันการระบาดของไวรัสที่บังคับให้สวมหน้ากากและห้ามรวมตัวยังมีผลจนถึงวันที่ 15 มิถุนายนนี้

    กัมพูชาเริ่มลดใช้เงินดอลลาร์

    ที่มาภาพ:https://www.khmertimeskh.com/50728069/central-bank-wants-end-to-1-2-and-5-notes/
    ธนาคารกลางกัมพูชามีคำสั่งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 ให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันไมโครไฟแนนซ์นำส่งธนบัตรดอลลาร์ชนิดราคาต่ำมายังธนาคาร หลังจากพิจารณาแล้วว่าการบริหารยุ่งยากและมีความต้องการใช้น้อย

    ธนาคารกลางจะให้เวลาธนาคารพาณิชย์และสถาบันไมโครไฟแนนซ์ 3 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ในการรวบรวมธนบัตรดอลลาร์ชนิดราคา 1 ดอลลาร์ 2 ดอลลาร์และ 5 ดอลลาร์ เพื่อที่ธนาคารกลางจะได้นำส่งไปยังต่างประเทศ ซึ่งในช่วง 3 เดือนนี้จะไม่มีการเก็บค่าบริการ แต่หลังจากวันที่ 31 สิงหาคม 2563 จะให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันไมโครไฟแนนซ์รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการส่งธนบัตรดอลลาร์ออกไป

    นอกจากนี้จะไม่มีค่าธรรมเนียมในการรับธนบัตรดอลลาร์ชนิดราคา 10 ดอลลาร์ และธนาคารกลางจะหารือกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันไมโครไฟแนนซ์เพื่อกำหนดวันที่จะยกเลิกใช้ธนบัตรดอลลาร์ชนิดราคาต่ำอย่างสิ้นเชิงกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันไมโครไฟแนนซ์

    “มาตรการนี้ไม่ได้ห้ามการซื้อขายธนบัตรเงินดอลลาร์ชนิดราคาต่ำ ไม่ว่าจะเป็น 1 ดอลลาร์ 2 ดอลลาร์และ 5 ดอลลาร์ ในตลาด”

    ธนาคารกลางชี้ว่า การดำเนินการนี้เป็นการเสริมความเป็นอิสระของนโยบายการเงินและทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมีประสิทธิภาพ กัมพูชาจะต้องผลักดันการใช้เงินเรียล (riel) ให้กว้างขึ้น เริ่มจากการใช้จ่ายสำหรับธุรกรรมรายการเล็กที่มีวงเงินต่ำ ดังนั้น การปล่อยให้ธนบัตรดอลลาร์ชนิดราคาต่ำยังซื้อขายกันในประเทศจะเป็นอุปสรรคต่อการใช้เงินเรียล

    ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาเงินเรียลอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ แต่ประเทศอื่นเกิดจากการส่งออกและกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย แต่กัมพูชามีที่ต่างออกไป คือ ความต้องการเงินเรียลในตลาดลดลงเพราะเศรษฐกิจชะลอตัว และการชำระภาษีด้วยเงินเรียลลดลง

    ธนาคารกลางระบุว่า การอ่อนค่าของเงินเรียลจะมีผลกระทบต่อเกษตรกรและประชาชนที่มีรายได้เป็นเงินเรียล ดังนั้นเพื่อกระตุ้นความต้องการเงินเรียลในระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะการทำธุรกรรมรายย่อย จึงควรใช้เงินเรียลแทนเงินดอลลาร์ชนิดราคาต่ำ นอกจากนี้ยังพบว่า ธนบัตรดอลลาร์ชนิดราคา 1 ดอลลาร์ 2 ดอลลาร์ และ 5 ดอลลาร์ ล้นธนาคารพาณิชย์และสถาบันไมโครไฟแนนซ์ ซึ่งสะท้อนว่าความต้องการธนบัตรดอลลาร์ชนิดราคาต่ำในตลาดกัมพูชามีน้อยมาก

    ในทางปฏิบัติธนาคารกลางเป็นสถาบันเดียวที่สามารถขนเงินดอลลาร์เข้าและออกในประเทศได้ ก่อนหน้านี้ธนาคารกลางได้ขนธนบัตรดอลลาร์รุ่นใหม่จากธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อนำมามาใช้ในกัมพูชา อย่างไรก็ตาม ธนบัตรดอลลาร์ชนิดราคา 1 ดอลลาร์ 2 ดอลลาร์ และ 5 ดอลลาร์ ที่หมุนเวียนปัจจุบันเป็นธนบัตรรุ่นเก่า สภาพยับเยิน ขาด หรือแหว่ง ทำให้ยากต่อการจัดการ อีกทั้งธนาคารพันธมิตรต่างประเทศที่อยู่นอกกัมพูชาซึ่งเคยรับธนบัตรดอลลาร์ชนิดราคาต่ำนี้ก็เริ่มมีจำนวนน้อยลงและไม่รับอีกแล้ว

    ชยันต์ เมนอน นักวิชาการอาวุโสรับเชิญแห่งสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ยูโซฟอิสฮัก (ISEAS-Yusof Ishak Institute) ให้ความเห็นว่า ระยะสั้นอาจจะขลุกขลักอยู่บ้าง แต่จะส่งเสริมการใช้เงินเรียลมากขึ้น โดยเฉพาะในรายการย่อย แต่สิ่งที่ท้าทายกว่าคือ การใช้เงินเรียลสำรหับการออม หรือเป็นสินทรัพย์เพิ่มความมั่งคั่ง

    “สิ่งที่ต้องดำเนินการคือ จัดการกับต้นตอของการใช้เงินดอลลาร์ (dollarisation) ซึ่งต้องเพิ่มเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบัน พัฒนาตลาดการเงินให้ลึกชึ้น เสริมสร้างการกำกับดูแลที่ดี และปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจของประเทศ”

    จัน โสพล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบาย (Centre for Policy Studies: CPS) กล่าวว่า เข้าใจว่ามาตรการที่ธนาคารกลางดำเนินการนี้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการเลิกการใช้เงินดอลลาร์ และการใช้เงินดอลลาร์มีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงิน ทั้งๆ ที่นโยบายการเงินควรจะได้ใช้ภาวะวิกฤติในแบบที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้

    “ธนบัตรดอลลาร์กำลังสร้างปัญหาในระบบมากขึ้น เพราะหลายคนไม่ยอมรับเนื่องจากสภาพของเงินเก่ามาก สกปรกและขาดวิ่น ซึ่งก็เห็นด้วยที่เริ่มไม่รับเงินดอลลาร์ชนิดราคาต่ำ”

    ในช่วงเย็นวันเดียวกันกับที่ธนาคารกลางประกาศนั้น สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า ธนบัตรดอลลาร์ชนิดราคา 1 ดอลลาร์ 2 ดอลลาร์ และ 5 ดอลลาร์ ยังคงใช้ได้และเป็นที่ยอมรับในตลาดทั่วประเทศ ยังไม่มีการห้ามใช้ตามที่มีข่าวลือ ซึ่งหากยกเลิกการใช้หรือห้ามใช้ ธนาคารกลางจะประกาศอย่างเป็นทางการ ประชาชนสามารถใช้ต่อไปได้ โดยไม่มีค่าธรรมเนียม