ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ชาญชัย”ยื่นหนังสือถึง “นายกฯประยุทธ์” เอาผิดบอร์ดทอท.-ทวงเงินคิงพาวเวอร์ 1.4 หมื่นล้าน คืนแผ่นดิน

“ชาญชัย”ยื่นหนังสือถึง “นายกฯประยุทธ์” เอาผิดบอร์ดทอท.-ทวงเงินคิงพาวเวอร์ 1.4 หมื่นล้าน คืนแผ่นดิน

20 พฤษภาคม 2021


นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตรองประธานอนุกรรมาธิการวิสามัญป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

“ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” ยื่นหนังสือถึง “นายกรัฐมนตรี” รอบสองเอาผิดบอร์ดทอท. – ทวงเงินคิงพาวเวอร์ 1.4 หมื่นล้าน คืนแผ่นดินมาช่วยวิกฤติโควิด-19

หลังจากที่ชนะคดีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 โดยศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา คดีที่นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตรองประธานอนุกรรมาธิการศึกษาเสนอแนะมาตรการ และกลไกในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นจำเลย ถูก กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ในข้อหาหมิ่นประมาท กรณีจำเลยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยมีเจตนาให้ร้ายกลั่นแกล้งโจทก์ ทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง และมีผลกระทบต่อธุรกิจโจทก์หลายประเด็น อาทิ กล่าวหาโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และโครงการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์มีมูลค่าการลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2535 , ติดตั้งระบบรับรู้ข้อมูลยอดขายสินค้าแบบ Realtime หรือที่เรียกว่า “Point Of Sale” ล่าช้า 9 ปี , เรียกเก็บค่าสิทธิในการประกอบกิจการ หรือ “แป๊ะเจี๊ยะ” จากธนาคารพาณิชย์ โดยสัญญาที่ทำกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ไม่ได้มีข้อตกลงให้เรียกเก็บ รวมทั้งกล่าวหา โจทก์จ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทอท.ไม่ครบถ้วน ตามสัญญาอนุญาตบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์

  • ศาลฎีกายกคดี “คิง เพาเวอร์” ฟ้อง “ชาญชัย” กล่าวหาเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ-เรียกเก็บ “แป๊ะเจี๊ยะ”
  • ล่าสุดนายชาญชัยได้ทำหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อีกครั้งเนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับรายงานเกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งตนได้รวบรวมพยานหลักฐานเสนอไปไว้แล้ว แต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ในการสั่งการ หรือ หรือดำเนินการใดๆ เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย คงยังปล่อยปละละเลยให้เรื่องเงียบหายไปโดยปราศจากข้อมูลและความเคลื่อนไหว จากการนำเสนอข้อมูลและพยานหลักฐานดังกล่าว จึงได้มีหนังสือทวงถามมายังท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนและตรวจสอบหรือสั่งการ ดำเนินเนินการทางคดีเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษตามกฎหมาย และยึดเงินซึ่งได้จากการกระทำความผิดให้ตกเป็นแผ่นดินต่อไป

    ทั้งนี้ความเสียหายคิดเป็นเงินประมาณ 14,290 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีความจำเป็นต้องนำเงินดังกล่าวมาบรรเทาวิกฤตการณ์โควิด ๑๙ ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศ

    อ่านจดหมายฉบับเต็ม

    ทำที่ ๑๘/๑ หมู่ที่ ๓ ตำบลสาริกา
    อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ๒๖๐๐๐
    วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔
    เรื่อง ติดตามผลการดำเนินคดีกับผู้มีส่วนร่วมในการทุจริตฯ ภายในบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

    กราบเรียน ฯพณฯ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

    อ้างถึง หนังสือส่งถึง นายกรัฐมนตรี ของนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ รับไว้เมื่อวันที่ ๔มีนาคม ๒๕๖๔

    สิ่งที่ส่งมาด้วย สำเนาคำพิพากษา ที่ ๔๑๐๑-๔๑๐๒/๒๕๖๓ ของศาลฎีกา ลงวันที่วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๓

    ตามที่ข้าพเจ้านายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ซึ่งเคยได้รับการแต่งตั้งจากประธานกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปราบการทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้ดำรงตำแหน่งรองประธานอนุกรรมการวิสามัญ ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คำสั่งที่ ๖๙/๒๕๕๗ และคำสั่งที่ ๓/๒๕๖๑ ซึ่งท่านทราบดีอยู่แล้วนั้น

    จากการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ข้าพเจ้าได้ดำเนินการตรวจสอบพยานหลักฐาน พยานเอกสารและพยานบุคคล พบปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของ “คณะกรรมการบริหารท่าอากาศยานไทย” หรือ ทอท. โดยทอท. ได้บังอาจร่วมกันสมคบกับภาคเอกชนในการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ ข้อสัญญา และระเบียบต่างๆ โดยทุจริตเพื่อแสวงหาผลประโยชน์อันมิควรได้สำหรับตนเองและผู้อื่น เป็นเหตุให้รัฐ ซึ่งถือหุ้นใน ทอท. อยู่ร้อยละ ๗๐ ได้รับความเสียหายจากการต้องสูญเสียรายได้เป็นเงินจำนวนมหาศาล ​

    ข้าฯ จึงได้จัดทำรายงานเสนอต่อผู้บังคับบัญชาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไปตามขั้นตอนและข้อสั่งการของสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศโดยได้เสนอไปยังนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ใช้อำนาจบริหารสูงสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ในฐานะผู้ถือหุ้นโดยถือหุ้นในอัตราร้อยละ ๗๐) และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ในฐานะผู้กำกับดูแลหน่วยงานทอท.) เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบ สั่งการหรือดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคล ผู้มีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดตามพยานหลักฐานที่ตรวจสอบพบ ทั้งสามหน่วยงานได้รับรายงานเกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งได้รวมรวมพยานหลักฐานที่เสนอไปไว้แล้ว แต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ในการสั่งการ หรือ หรือดำเนินการใดๆ เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย คงยังปล่อยปละละเลยให้เรื่องเงียบหายไปโดยปราศจากข้อมูลและความเคลื่อนไหว จากการนำเสนอข้อมูลและพยานหลักฐานดังกล่าว

    ด้วยเหตุนี้ข้าฯ ในฐานะผู้เคยได้รับแต่งตั้งให้ทำการตรวจสอบ ในฐานะผู้ถือหุ้นของ ทอท. และในฐานะประชาชนคนไทย ซึ่งมีสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ ๒๕๖๐ มาตรา ๔๑ (๓) มีสิทธิฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดเนื่องจากการกระทําหรือการละเว้นการกระทําของข้าราชการฯเพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน จึงได้มีหนังสือทวงถามมายังท่านนายกรัฐมนตรีภายหลังที่ได้รับรายงาน การตรวจสอบการทุจริต ดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง โดยขอให้ชี้แจงความคืบหน้าว่า ท่านในฐานะผู้ใช้อำนาจบริหารสูงสุด ได้สั่งการในเรื่องดังกล่าวไปแล้วเป็นประการใดบ้าง ทั้งนี้โดยหนังสือฉบับดังกล่าวระบุชัดแจ้งแล้วว่าให้แจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินการให้ข้าพเจ้าทราบภายใน ๓๐ วันนับแต่วันรับท่านได้รับหนังสือ แต่ไม่ปรากฎว่าท่านได้ดำเนินการตามหนังสือที่แจ้งไปนั้นแต่ประการใด

    ​ในระหว่างที่ข้าฯ รอคำชี้แจงจากท่านนายกรัฐมนตรีนั้น ปรากฎว่า ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ ๑๔๐๑-๑๔๐๒/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๓ ในคดีระหว่าง บริษัทคิง เพาเวอร์ จำกัด ที่ ๑ กับพวกรวม ๓ คน โจทก์ ฟ้องนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ เป็นจำเลยต่อศาลในข้อหาหรือฐาน ความผิด หมิ่นประมาท (ซึ่งมีมูลเหตุจากการให้สัมภาษณ์สื่อในเหตุการณ์ที่ข้าฯได้พบเห็นจากการตรวจสอบการทุจริต)และทำให้ข้าฯ ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาล จำนวนหลายคดี ซึ่งแต่ละคดีข้าฯ ได้ต่อสู้ในประเด็นการปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติอันเป็นประโยชน์สาธารณะมาโดยตลอด โดยศาลฎีกาได้วินิจฉัยและมีคำพิพากษา โดยมีรายละเอียดดังนี้

    1. ประเด็นเรื่องสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานภูมิภาค ,สัญญาการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ศาลฎีกาให้เหตุผลว่า “…เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.๒๕๓๕ จึงไม่มีผลผูกพัน ” คำพิพากษาของศาลฎีกา หน้าที่ ๒๗-๒๙

    2. ประเด็นเรื่องกลุ่มคิงเพาเวอร์ไม่ได้ติดตั้งระบบ Point of sale หรือ POS โดยสัญญาระบุว่าผู้รับอนุญาตจะต้องนำส่งข้อมูลและรายได้ของโครงการแก่บริษัทท่าอากาศายานไทย จำกัด (มหาชน) แต่คำพิพากษาระบุว่า “ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบว่ายังไม่ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลตามสัญญาแต่อย่างใด ซึ่งทำให้ไม่สามารถควบคุมเกี่ยวกับการทำธุรกรรมการขายสินค้าปลอดอากรให้เป็นไปได้อย่างถูกต้องได้ โดยมีเอการหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่า เพิ่งมีการเริ่มดำเนินการติดตั้งระบบ POS เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เท่านั้น” คำพิพากษาของศาลฎีกา หน้าที่ ๓๐

    3. ประเด็นเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนตามสัญญา สืบเนื่องจากโจทก์ที่ ๑ บริษัทคิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ได้รับสิทธิในการประกอบกิจการบริหารจัดการพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)ในอัตราร้อยละ ๑๕ ของราคาสินค้าที่ขายได้ ทั้งนี้โจทก์ที่ ๑ ได้ให้โจทก์ที่ ๓ บริษัทคิง เพาเวอร์สุวรรณภูมิ จำกัด ดำเนินการแทน ดังนี้โจทก์ที่ ๓ จึงมีหน้าที่จ่ายค่าตอบแทนเช่นเดียวกับโจทก์ที่ ๑ แต่ปรากฎว่า โจกท์ที่ ๑ ตั้งร้านค้าปลอดอากรขึ้นที่ ถนนรางน้ำ โดยมีจุดส่งมอบสินค้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจำนวน ๒ จุด ต่อมาโจทก์ที่ ๑ ให้ บริษัทคิง เพาเวิร์ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ไปขออนุญาตตั้งจุดส่งมอบสินค้าใสจุดเดียวกัน ซึ่งต้องถือว่าบริษัทคิง เพาเวิร์ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด เป็นตัวแทนโจทก์ที่ ๑ แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฎว่าโจทก์ที่ ๓ จ่ายค่าตอบแทนให้ร้อยละ ๑๕ ของร้อยละ ๓ ของค่าบริการที่บริษัทคิง เพาเวิร์ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้รับจากโจทก์ที่ ๑ ในการนำสินค้าจากถนนรางน้ำไปส่งยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจึงเป็นการผิดสัญญา คำพิพากษาของศาลฎีกา หน้า ๓๑-๓๒

    4. ประเด็นเรื่องการเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายสินค้าจากร้านค้าไม่เกินร้อยละ ๒๐ ของรายได้ของร้านค้า ซึ่งเป็นข้อตกลงตามสัญญาที่โจทก์ที่ ๓ (บริษัทคิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด) ทำกับบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) แต่ในการประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง การดำเนินงานตามสัญญาของบริษัท กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ ตามเอกสรหมาย ล. ๒๙ ตรวจพบว่า โจทก์ที่ ๓ เรียกเก็บค่าสิทธิในการประกอบกิจการ ซึ่งค่าสิทธิดังกล่าวตามสัญญาบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ไม่ได้มีข้อตกลงให้เรียกเก็บแต่อย่างใด แต่โจทก์ที่ ๓ เรียกเก็บจากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เป็นค่าสิทธิในการประกอบกิจการรวมเป็นเงิน ๑๐๐ ล้านบาท และเรียกเก็บจากธนาคารไทยพิณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นค่าสิทธิในการประกอบกิจการรวมเป็นเงิน ๑๐๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อสัญญาเหตุผลปรากฎในคำพิพากษาของศาลฎีกา หน้าที่ ๓๒-๓๓

    5. ประเด็นเรื่องการผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาร่วมประชุม เนื่องจากคณะกรรมการบริหารและพัฒนากิจการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีการประชุมกันเป็นการภายในแต่กลับมีการเชิญตัวแทนบริษัทคิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ปจำกัด มาร่วมในการประชุมด้วย เพื่อร่วมเสนอแนวความคิดในการออกแบบพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดเผยข้อมูล มำให้โจทก์ที่๑ ได้รับทราบข้อมูลมากกว่าผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่น จนในที่สุดโจทก์ที่ ๑ ก็ชนะการประมูล ซึ่งการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวมุ่งหาข้อเท็จจริงซึ่งมีวัตถุประสงค์ไปที่เจ้าหน้าที่ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่กระทำการโดยไม่สุจริต มากกว่าทำให้โจทก์ทั้งสามเสียหาย เหตุผลปรากฎในคำพิพากษาของศาลฎีกา หน้าที่ ๓๓-๓๕

    จากการให้สัมภาษณ์ของจำเลย ศาลให้เหตุผลว่า จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นเรื่องที่เป็นความจริง ทั้งยังเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานของจำเลยซึ่งมีเหตุอันทำให้จำเลยควรเชื่อได้ว่าโจทก์ทั้งสามมีส่วนร่วมกระทำการในสิ่งไม่ถูกต้องอยู่ด้วย จึงอยู่ในวิสัยที่ประชาชนทั่วไปจะติชมด้วยความเป็นธรรมได้ เป็นการกระทำโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ทั้งยังเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งอื่นใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙(๑)(๓) จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสาม เหตุผลปรากฎในคำพิพากษาของศาลฎีกา หน้าที่ ๓๗-๓๘

    นอกจากคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ ๔๑๐๔-๔๑๐๒/๒๕๖๓ ซึ่งได้สรุปประเด็นในเรื่องของสัญญาและความเสียหาย ไว้ตามที่กล่าวแล้ว ยังมีคำพิพากษา ที่ข้าฯได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในคดีหมายเลขดำที่ อท.๓๕๒/๒๕๖๐ คดีหมายเลขแดงที่ อท. ๔๖๒/๒๕๖๒ โดยสรุปประเด็นดังนี้

    1. ศาลชั้นต้น ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้ทำการไต่สวนแล้วเห็นว่า ข้าฯยังไม่ใช่ผู้ถูกกระทบกระเทือนสิทธิ จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย พิพากษายกฟ้อง แต่เนื้อหาในคำพิพากษานั้น ยังพิพากษาว่าจำเลยที่ถูกฟ้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ปรากฎตามสำเนาคำพิพากษาที่เคยแนบส่ง

    2. ศาลอุทธรณ์ ได้วินิจฉัยว่า “…การกระทำของจำเลยี่ ๑ ถึง ๑๓ เป็นการกระทำในฐานะกรรมการของ ทอท. โดยไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ ๑ ถึง ๑๓ กระทำการเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้สำหรับตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่ ทอท. เพราะการบริหารงานของจำเลยที่ ๑ ถึง ๑๓ ดังกล่าว มิได้เป็นข้อบ่งชี้ว่า กรรมการของ ทอท. กระทำการโดยทุจริตเสมอไป…” ปรากฎตามสำเนาคำพิพากษาที่แนบส่ง

    3. ข้าฯ เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นถ้อยคำที่คลุมเครือไม่ชัดเจน จึงได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกาได้อนุญาตให้ข้าพระพุทธเจ้า ยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาได้ โดยมีคำสั่งลงวันที่ ๒๔ เดือน ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ ว่า ศาลฎีกาแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า ปัญหาตามฎีกาของโจทก์นั้น เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ๒๕๕๙ มาตรา ๔๖ “จึงมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฎีกา และรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณา ให้ศาลชั้นต้น” ปรากฎตามสำเนาคำร้องพร้อมคำสั่งศาลฎีกา (๕-๖)

    4. ภายหลังทราบคำสั่ง ข้าฯได้ยื่นฎีกาไปตามเนื้อหาคำสั่งของศาลฎีกา โดยต่อสู้ในเรื่องประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยึดเงินให้ตกเป็นของแผ่นดิน

    5. ชั้นศาลฎีกา ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒ เดือน กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓ โดยคำพิพากษาได้มีประเด็นการทำคำพิพากษาอยู่ ๒ ประการคือ

    ประการแรก พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มีรายละเอียดปรากฎในสำเนาคำพิพากษา ที่แนบส่ง (หน้า ๓๓-๓๖)

    ประการที่สอง ความผิดต่อ พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และความผิดต่อพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน พ.ศ. ๒๕๓๕

    และมีคำวินิจฉัยบางตอนในประการที่สองว่า “โจทก์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ ทอท.จึงอาจเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาเองได้ อย่างไรก็ตาม ความเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีอาญาของโจทก์ ต้องเกิดขึ้นและมีอยู่ในช่วงเวลาที่โจทก์ กล่าวหาจำเลยทั้งหลายเป็นผู้กระทำความผิด”

    จากคำพิพากษาดังกล่าว ถึงแม้ข้าฯ ไม่ใช้ผู้เสียหายที่มีสิทธิ ดำเนินคดีได้ แต่บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามฟ้องยังคงอยู่และความเสียหายยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันประมาณ ๑๔,๒๙๐ ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีความจำเป็นต้องนำเงินดังกล่าวมาบรรเทาวิกฤตการณ์โควิด ๑๙ ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศ ดังนี้ จึงเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ เป็นความเสียหายต่อส่วนรวมในฐานะที่หน่วยงานรัฐ (กระทรวงการคลัง) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ทอท. เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นเท่ากับประเทศชาติได้รับความเสียหาย ข้าฯ ในฐานะประชาชนชาวไทยจึงมีสิทธิโดยชอบที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ

    ข้าฯ จึงมีหนังสือมายังนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง เพื่อขอให้ทบทวนและตรวจสอบหรือสั่งการ ดำเนินเนินการทางคดีเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษตามกฎหมาย และยึดเงินซึ่งได้จากการกระทำความผิดให้ตกเป็นแผ่นดินต่อไป หากท่านมีหน้าที่แต่ไม่ดำเนินการใดๆกลับปล่อยปะละเลยเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามที่ร้องเรียน อาจจะถือว่าท่านละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมายต่อไป

    ​จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

    ​​​​​​ขอแสดงความนับถือ